“การอภิวัฒน์ 2475” นับว่าเป็นความกล้าหาญของคณะผู้ก่อการ ซึ่งเรียกว่า “คณะราษฎร” ท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็มีเป้าหมายที่จะให้สยามประเทศได้เจริญก้าวหน้าเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยยึดโยงกับหลัก 6 ประการ
ถ้าพูดย่อๆ ก็คือ หลักเอกราช หลักความปลอดภัย หลักเศรษฐกิจ หลักความเสมอภาค หลักเสรีภาพ และหลักการศึกษา ซึ่งเรียกว่าหลัก 6 ประการของคณะราษฎร
89 ปีที่ผ่านมา การอภิวัฒน์ในวันนั้นมีอุปสรรคมากมาย ไม่เหมือนกับการปฏิวัติประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา และไม่เหมือนกับการปฏิวัติสังคมนิยมของประเทศจีน ซึ่งทั้งสองประเทศนั้นสามารถแก้ไขปัญหาและดูแลพี่น้องประชาชนได้อย่างดี ผมคิดว่าเหตุผลที่สำคัญก็คือเรื่องของลักษณะของคนไทย โดยเฉพาะในระดับที่มีสถานภาพ ก็คือลักษณะที่มีความประนีประนอมมากกว่า
พ.ศ. 2475 พอเริ่มอภิวัฒน์ได้สำเร็จ มีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย คณะราษฎรสามารถอยู่ได้ 15 ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2490 ได้ถูกปราบไปทั้งหมดในเหตุการณ์รัฐประหาร เหลือ ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ เพียงคนเดียว ซึ่งกลายเป็นลักษณะรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหาร และมีมีจอมพล ป. คนเดียวที่อยู่ในรัฐบาล
หลังจากการปฏิวัติ 2475 ได้ตั้งบุคคลคนหนึ่งขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ซึ่งเป็นคนที่มีฐานความคิดต่างกันโดยสิ้นเชิง ตอนนั้นก็เข้าใจว่าคณะราษฎรคงคิดว่าสามารถที่จะพูดคุยกันได้ นี่ถือว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ซึ่งหลังจาก 89 ปีแล้วจนถึงวันนี้จะมีลักษณะสังคมที่ประชาชนยากจนมากๆ อันเนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจและโรคระบาด ซึ่งมีปัญหาคล้ายๆ กับปี 2475
แต่ในปัจจุบันนี้ ในปี พ.ศ. 2564 ฝ่ายที่ขอเรียกว่าฝ่ายขุนนาง ขุนศึก และศักดินาเข้มแข็งมาก ซึ่งเข้มแข็งมากกว่าปี 2475 เรามีคณะราษฎรใหม่ ประกอบด้วยเยาวชนอายุน้อยๆ ขึ้นมาเรียกร้องอนาคตของตัวเอง เพราะเขาเห็นว่าประเทศไทยไม่มีอนาคต วันนี้ประเทศไทยก็ไม่มีอนาคต เหตุที่ไม่มีอนาคตก็คือวิธีคิดของผู้มีอำนาจ ซึ่งดูจากฐานของท่านเหล่านั้น มันเปลี่ยนไม่ได้ เขาคิดแบบนั้น เพราะว่าผลประโยชน์เขาเป็นแบบนั้น
ความเห็นต่างๆ ที่เสนอนะครับ เมื่อสักครู่ รศ.ดร.อนุสรณ์ ได้เสนอไปเยอะตามหลักวิชาการ แต่ความเห็นเหล่านี้ถูกจำกัดกรอบอยู่ในระบอบขุนศึก ศักดินา คือ กรอบทั้งหมดเป็นกรอบกะลาที่ครอบอยู่ และคนก็ไม่กล้าที่จะทะลุกรอบกะลานั้น ซึ่งเคยทะลุไปแล้วเมื่อตอน 2475 แต่วันนี้กลับเข้ามาอยู่ในกะลาใหม่ เห็นว่าถูกจับเข้าไปคุมขังกันหลายคน จำนวนมาก นี่ก็เป็นปัญหาว่าผู้มีอำนาจทั้งหลายในประเทศไทยปัจจุบันไม่ได้เกรงกลัว ไม่ได้ละอายใจต่อการกระทำในเชิงวัฒนธรรมคุณธรรมก็ดี หรือในเชิงเศรษฐกิจก็ดี
วันนี้ประเทศเรายังคล้ายๆ อยู่ในระบอบอยุธยา คือ กรอบคิดเป็นกรอบอยุธยา เราเคยมีการนำเสนอนโยบายต่างๆ แต่ไม่ว่าจะนำเสนอวิชาการใดๆ ฝ่ายผู้มีอำนาจเขาก็จะเอาไปใช้ในเชิงว่าแทนที่ประชาชนจะเป็นผู้มีสิทธิที่จะใช้สิ่งเหล่านั้น เช่น รัฐสวัสดิการ การศึกษา การสาธารณสุข การรักษาพยาบาล แต่ผู้มีอำนาจกลับเอาไปใช้ในเชิงว่าเป็นการให้ทาน
ในวันนี้มีเพียงสิ่งเดียว ก็คือระบบการสาธารณสุขที่ต่อไปนี้ประชาชนใช้เป็นสิทธิ ไม่ใช่เป็นการให้ทาน แต่ในระบบอื่นๆ ยังคงติดขัดอยู่ แม้กระทั่งการบริหารเศรษฐกิจปัจจุบัน รัฐบาลก็ทำให้ประชาชนยากจน ห้ามทำอะไรทั้งนั้น โดยอ้างเรื่องโรคระบาดโควิด แต่ว่าไปกู้เงินที่ประชาชนจะเป็นหนี้เอามาแจก แล้วก็ทำเสมือนหนึ่งว่าการแจกเงินเป็นสิ่งที่ดี คราวนี้แจกกันมากมายจนกระทั่งหนี้ของรัฐบาลต่อรายได้ของชาติ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า GDP กำลังจะทะลุเพดานแล้ว ซึ่งเดือนกันยายนตัวเลขอยู่ที่ 59% แต่มีเพดานตั้งไว้ที่ 60%
มีบางโครงการที่รัฐบาลทำซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องของโรคระบาด เช่น โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ตั้งไว้ 3.6 ล้านคน มีคนไปใช้ 3.7 แสน 10% คือประชาชนเขาเห็นว่ามันไม่ถูกแล้ว ไม่เอา รัฐบาลก็พยายามที่จะทำสิ่งเหล่านี้ เพราะคิดว่าสามารถซื้อเสียงล่วงหน้า เพื่อที่จะกลับมาเป็นรัฐบาลใหม่
ผมมองเห็นว่าหลังจาก 89 ปีที่ผ่านมา เราวนเวียนอยู่กับการที่จะให้ภาครัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่มาจากชนชั้นเดิมๆ แล้วก็ให้รัฐบาลช่วยเหลือมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลวันนี้เก็บภาษีไปประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ แล้วก็ใช้จ่ายประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นจะกู้มา 7-8 แสนล้านต่อปี คือกู้ปกติ มีกู้พิเศษไปแล้ว 1.5 ล้านล้าน ตอนนี้ถ้าไปดูรายจ่ายรัฐบาลจะเห็นได้ว่าหลายแสนล้าน เฉพาะโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เห็นตามทีวี ซึ่งถ้าเราไปในประเทศตะวันตกจะไม่มี รัฐบาลนำงบไปใช้เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ส่วนตนในระดับต่างๆ ของผู้ปกครอง นี่ถือว่าเป็นการใช้จ่ายเงินที่ประชาชนหามาได้ด้วยความยากลำบากอย่างไม่มีสาระ มี กอ.รมน. ซึ่งไม่มีข้าราชการอยู่ในนั้น มาเขียนกระดาษทำโครงการปีละ 8 พันถึง 1 หมื่นล้าน เพื่อที่จะไปทำอะไรอย่างหนึ่ง เพื่อที่จะได้เงินเข้ามา มีการทำไอโอตรวจสอบประชาชน ซึ่งในประเทศประชาธิปไตยไม่สามารถที่จะทำได้ แต่ที่นี่ มีการทำสิ่งเหล่านี้
ผมจึงเรียกร้องในทางตรงกันข้ามว่า หนึ่ง ให้เลิกทำสิ่งเหล่านี้ แล้วก็ลดงบประมาณไปใช้ตามหน้าที่ของรัฐบาลที่ควรจะทำ นอกจากหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ยังมีแนวคิดของ ‘อดัม สมิธ’ ซึ่งเคยได้กล่าวไว้ตั้งแต่ปี 1776 ว่ารัฐบาลมีหน้าที่ 3 ประการ คือ
หนึ่ง คือมีกองกำลังดูแลรักษาประเทศ รักษาประชาชน
สอง คือ มีตำรวจ อัยการ และศาลซึ่งให้ความยุติธรรมต่อสังคม ให้ความสงบเรียบร้อยในสังคม
สาม คือทำของใหญ่ๆ ทำถนน ไฟฟ้า โทรศัพท์ แล้วรัฐบาลก็ไม่ควรจะทำเอง ควรที่จะประมูลออกไปเพราะว่าจะมีการเบียดบังงบประมาณจำนวนมาก
“ระบบสวัสดิการของประชาชน” เช่น เรื่องคนยากจน เรื่องคนสูงอายุ เรื่องภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งถ้าจะให้เกิดสิ่งเหล่านี้ ผมก็พอที่จะเห็นด้วยว่าควรเก็บภาษีอีกชนิดหนึ่งแบบสิงคโปร์ นั่นก็คือสิงคโปร์มีรายได้ภาษีเพื่อใช้จ่ายของตัวรัฐบาลเองประมาณ 16-17 % แล้วก็รายได้เพื่อบำเน็จบำนาญของประชาชนทุกคนเก็บอีก 20 % ก็จะตามที่ท่านอาจารย์อนุสรณ์ได้พูดไว้คือจะมี 30-35 % ต่อ GDP แต่ว่าควรแยกเรื่องสวัสดิการประชาชนออกเป็นโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้มีการนำเงินเหล่านี้ไปใช้จ่ายแบบปัจจุบัน ถ้าปนกันก็จะมีแต่เกิดปัญหา ส่วนที่เหลือรัฐบาลควรลดรายจ่าย 20 % นี่น่าจะมากเกินไป และในช่วงนี้ที่การเรียกร้องประชาธิปไตยยังใช้เวลาอีกนาน ผมว่ารัฐบาลควรลดภาษีเพื่อลดรายจ่าย ที่เห็นๆ เป็นมูลค่าแสนกว่าล้าน นี่ยังไม่รวมการซื้ออาวุธต่างๆ อาวุธนี่ลดได้อีกแสนล้านเพราะว่าไม่เคยรบกับใคร รัฐบาลก็ควรที่จะเลิกการเกณฑ์ทหาร เลิกมีกฎหมายที่บังคับขู่เข็ญประชาชน และ “รัฐบาลต้องเข้าใจว่า รัฐบาลเป็นลูกจ้างประชาชน รัฐบาลไม่ใช่นายประชาชน และรัฐบาลก็ควรใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น”
ผมเสนอให้เป็นรูปธรรมก็คือให้ลดภาษีมูลค่าเพิ่มไป 1 % จากวันนี้ 7 % เหลือ 6 % เงินจะอยู่ในมือประชาชนอีกหนึ่งแสนสองหมื่นล้าน หมายถึงว่ารายจ่ายรัฐบาลก็จะหายไปแสนสองหมื่นล้าน ที่จะเบียดบังกัน ที่เรียกว่าคอร์รัปชั่น ที่เรียกว่าใช้จ่ายเพื่ออำนาจของตัวเองก็จะได้ถูกจำกัดลงไป
ผมเสนออีกว่าน้ำมันที่ผลิตในในประเทศไทย ถ้าไปขายในพม่าก็ 13-14 บาทต่อลิตร ถ้าขายในเมืองไทยก็ 30 กว่าบาท มีการเก็บภาษีหลายขั้น เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสองหน แล้ววันนี้น้ำมันไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือยอีกแล้ว เป็นต้นทุนทางการผลิต ผมคิดว่าควรปรับให้เป็นราคาตลาด ปัจจุบันน้ำมันของเราผลิตและขายภายในประเทศก่อน ภาษียังแพงกว่าที่ส่งออกไปต่างประเทศ แล้วก็มีคนเขาบอกว่า “นี่แหละเป็นสิ่งที่ดี น้ำมันในประเทศที่หน้าโรงกลั่นแพงกว่าส่งออก คนในชาติจะได้มีน้ำมันใช้” นี่เป็นเรื่องเรื่องตลก เป็นเรื่องไร้สาระของคนที่เกี่ยวข้องในวงการนี้
อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่อยู่ในระบบภาษี ก็คือเรื่องค่าไฟ ยกตัวอย่างง่ายๆ วันนี้มีนักวิชาการทั้งหลาย จะคิดในเชิงของเป็นผู้หวังดีต่อประชาชน ผมก็เคยเป็นนักวิชาการประเภทนั้น เคยไปช่วยงานสภาพัฒน์ฯ เรียกว่า "ขุนนางนักวิชาการ" ไปตั้งทฤษฎีค่าไฟ ซึ่งในปัจจุบันนี้ ค่าไฟมันแพงกว่าที่ควรจะเป็นเกือบสองเท่า
เราก็บอก อ้าว โรงไฟฟ้า อย่างนี้คุณไม่ต้องผลิตเลย รัฐบาลจ่ายให้ 80 เปอร์เซ็นต์ เอามาจากไหน ก็เก็บมาจากประชาชน จนกระทั่งวันนี้เนี่ย เรามีเศรษฐีใหม่ขึ้นมาเป็นเพราะว่าระบบราชการแบบนี้ ระบบขุนนางนักวิชาการ
เพราะฉะนั้น กรอบความคิดอันนี้ผมก็เลยเสนอใหม่ครับว่าให้ประชาชนมีอำนาจ ไม่ใช่ให้ข้าราชการ ให้ใครที่อยู่ในองค์กรของรัฐมีอำนาจแล้วเป็นผู้หวังดีต่อประชาชน ให้ระบบไฟฟ้า เช่น เขาบอกมันมีระบบกริดใช่ไหมครับ มันต้องวิ่งเป็นเส้นเดียว คุณเอาสองเส้นสิ วิ่งขนานเข้าไป ผมผลิตไฟฟ้าได้ในพลังงานแสงอาทิตย์ ให้ผมตัดสินใจได้ว่าผมจะขายผ่านระบบไหน เมื่อไหร่มีการแข่งขันของเหล่านั้นที่ผูกขาดอยู่ก็จะมีราคาลดลง
ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ในช่วงนี้ที่มีการเรียกร้อง เราคิดว่าเราตัดเรื่องพลังอำนาจของระบบราชการ ระบบขุนนาง ระบบขุนศึกต่างๆ ที่ทุกวันนี้ไปเรียกร้องเอาเงินจากสังคมมาใช้ แล้วก็บอกว่าคุณจะได้ประโยชน์อย่างนั้น คุณจะได้ประโยชน์อย่างนี้ ทำไปทำมาล่าสุดก็เห็นได้ว่าขนาดกู้เงินมาแจก และแจกอยู่ตลอดเวลา เงินที่แจกอยู่ประจำ เขาเรียกโครงการไทยเข้มแข็ง ในปีหนึ่งผมลองคำนวณดู น่าจะใช้เงินประมาณแสนแปดหมื่นล้าน ซึ่งจริงๆ แล้วหากจะช่วยเหลือคนยากคนจนจริงๆ ควรใช้ระบบคืนภาษี มันจะมีหลักมีฐานโกงกันไม่ได้ เรียกว่า Negative Income Tax
ในบางครั้งที่ไม่เกี่ยวกับโรคระบาดก็ยังคงแจกเงินอยู่ แจกหมดเลยทุกวันนี้ แจกอยู่ตลอดเวลา ผมคิดว่าเป็นเรื่องของคนที่ขาดสติ เป็นเรื่องของคนที่มีอำนาจล้นมือแล้วทำลายประเทศ ณ ขณะนี้
ถ้ายังเป็นลักษณะนี้จะต่างอะไรกับประเทศซิมบับเวหรือเวเนซุเอลา ที่ห้ามประชาชนทำงานแล้วก็ไปกู้เงินมาแจก ประชาชนบางส่วนก็ไม่รู้ว่าเงินที่มาแจกนั้นก็คือหนี้ของชาติ แล้วคุณก็ต้องเสียภาษีในอนาคต วันหนึ่งก็จะเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว จนประเทศไม่มีทางเจริญเติบโตเพราะมีหนี้มากเกินไป
ที่มา: ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช. PRIDI Talks #11 “89 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม: สวัสดิการและบทบาทของรัฐในการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ห้องประชุมพูนศุข
หมายเหตุ: เรียบเรียงและปรับปรุงโดยบรรณาธิการ