ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สรุปประเด็นสำคัญจาก PRIDI Talks #11 “89 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม: สวัสดิการและบทบาทของรัฐในการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน”

25
มิถุนายน
2564

เนื่องในโอกาสครบรอบ 89 ของการปีอภิวัฒน์สยามหรือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยคณะราษฎรในปี พ.ศ. 2475 นั้น สถาบันปรีดี พนมยงค์ได้ดำเนินการจัดงานเสวนาออนไลน์ PRIDI Talks #11 “89 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม: สวัสดิการและบทบาทของรัฐในการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรหลายท่านที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในประเด็นด้านเศรษฐกิจได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ศาสตราภิชานแล ดิลกวิทยรัตน์ ศาสตราจารย์กิตติคุณผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รองศาสตราจารย์ ดร.โภคิน พลกุล รองศาสตราจารย์ ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี และ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ดำเนินรายการโดย อาจารย์วิโรจน์ อาลี

 

 

รองศาสตราจารย์ ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ แนะนำวิทยากร และปาฐกถา “เศรษฐกิจดุลยธรรมและแนวคิดโลกพระศรีอาริย์ของท่านปรีดี: ทางออกจากวิกฤตการณ์” เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง บทบาทของคณะราษฎรและนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะตัวแทนความคิดก้าวหน้า เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สังคมในอุดมคติหรือโลกพระศรีอาริย์ในแนวคิดของปรีดี พนมยงค์ และปาฐกถาเกี่ยวกับปัญหาเรื่องของความเหลื่อมล้ำที่ถูกทำให้เด่นชัดมากขึ้นเมื่อเกิดการอุบัติของไวรัสโควิด19

 

 

ศาสตราภิชานแล ดิลกวิทยรัตน์ เข้าร่วมการเสวนาผ่านทาง ZOOM และปาฐกถาในประเด็นประวัติศาสตร์การพัฒนาของระบบประชาสังคม ตั้งแต่ช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เนื่องจากการอภิวัฒน์สยามในปีพ.ศ. 2475 ถึงแม้จะไม่มีประเด็นด้านเศรษฐกิจในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดีสามารถเห็นได้ถึงเจตนารมณ์ ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของราษฎรที่เป็นหัวใจของเค้าโครงการเศรษฐกิจ และอธิบายเกี่ยวกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทยตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง การรัฐประหาร การเปลี่ยนผ่านของรัฐบาลซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการต่อสู้การเคลื่อนไหวทางสังคม ประกันสังคมก็เช่นเดียวกัน ไม่เคยเป็นสิ่งที่ได้รับจากภาครัฐ การประกันสังคมจึงกลายเป็นการประกันลูกจ้างมากกว่า

 

 

ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ปาฐกถา “89 ปี การอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475” ในประเด็นปัญหาและอุปสรรคของการเป็นรัฐสวัสดิการของประเทศไทย โดยกล่าวเท้าความกลับไปตั้งแต่การช่วงการอภิวัฒน์สยาม โดยเป็นการเชื่อมโยงความคล้ายคลึงกันเกี่ยวกับสถานการณ์ทางสังคมในช่วงการอภิวัฒน์และช่วงปัจจุบัน และชี้ให้เห็นว่าลักษณะสังคมไทยส่วนใหญ่แล้วเป็นลักษณะการให้ทาน ซึ่งไม่ได้แก้ไขปัญหาให้แก่ประเทศอย่างแท้จริง และเสนอแนวทางการแก้ไข การนำไปสู่รัฐสวัสดิการมากยิ่งขึ้น ผ่านการลดภาษี ลดรายจ่ายของราษฎร ลดการใช้จ่ายเพื่อเอื้ออำนาจของคนเฉพาะกลุ่ม ตัดทอนอำนาจของระบบราชการ

 

 

รองศาสตราจารย์ ดร.โภคิน พลกุล ในประเด็นอำนาจในการปกครองของประเทศ ที่จะเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเห็นได้ตามรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ความเสมอภาค ความเท่าเทียม และกล่าวย้อนกลับไปยังเค้าโครงการเศรษฐกิจ การที่รัฐจะต้องวางแผนและประชาชนจะต้องปรับตัว แต่มีอำนาจในการต่อรอง ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากอำนาจนิยม และระบบราชการที่แย่งชิงทรัพยากรของประชาชนนั้นสนับสนุนให้อำนาจนิยมยังอยู่ได้ต่อไป จากนั้นเสนอให้ ปลดปล่อยและเสริมพลังให้แก่ประชาชน เพื่อที่จะเป็นกระบอกเสียงแก่ประชาชน เสนอกฎหมายเพื่อประชาชน และการสร้างกองทุนสำหรับประชาชน เพื่อที่ประชาชนจะได้ทำมาหากินอย่างสุจริต และยั่งยืน

 

 

ศาสตราจารย์กิตติคุณผาสุก พงษ์ไพจิตร ปาฐกถา “โควิดเป็นโอกาสให้ปรับสู่สวัสดิการถ้วนหน้า” โดยพูดถึงภาคประชาชนในการผลักดันด้านนโยบาย และการแก้ไขปัญหาต้องเกิดจากการแก้ระบบภาษี ถึงแม้ว่าจะสามารถกู้เงินได้ แต่ในระดับขนาดของประเทศนั้นจะทำให้การกู้เงินจะต้องทำอย่างระมัดระวัง และจะต้องใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ และชี้ให้เห็นนโยบายด้านเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นเนื่องจากวิกฤตโควิด เพราะฉะนั้นวิกฤติโควิดจะเป็นโอกาสในการปรับระบบภาษี รายได้นิติบุคคลและงบประมาณให้เป็นระบบที่ยุติธรรม เก็บภาษีเงินได้จากทุนในการซื้อหลักทรัพย์ ยกเลิกสิทธิพิเศษในระบบภาษี และปรับมูลค่ามรดกสิทธิ  การปรับภาษีดังกล่าวทำให้บำนาญแห่งชาติเป็นไปได้และสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้

 

 

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปาฐกถา “จากน้ำประปาถึงภาษี การเมืองท้องถิ่นกับคุณภาพชีวิตประชาชน” ผ่านประสบการณ์การทำงานในส่วนการปกครองท่องถิ่น เนื่องจากน้ำมีความสำคัญและเป็นหนึ่งในต้นทุนของการดำรงชีวิตของประชาชน

และเมื่อพูดถึงระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม แต่ภาษีของประชาชนจะถูกส่งไปที่ส่วนกลางและประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการเลือกว่าภาษีของเขาจะไปอยู่ที่ใด ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของระบบอุปถัมภ์ ส่งผลให้ปัจจุบันเราจะเห็นสิ่งก่อสร้างที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ประชาชนไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของประเทศ ไม่สามารถกำหนดอนาคตของตัวเองได้ งบประมาณของท้องถิ่นในประเทศไทยจึงอยู่ในคอขวด การแก้ไขความเหลื่อมล้ำในชนบทกับเมืองจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

 

 

รองศาสตราจารย์ ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ปาฐกถาถึงขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในปัจจุบันซึ่งมีการกล่าวถึง “รัฐสวัสดิการ” มากยิ่งขึ้น สิ่งที่ขับเคลื่อนให้รัฐสวัสดิการขับเคลื่อนนั้นเกิดจากกระแสการต่อสู้ของประชาชน โดยปัญหาที่เกิดขึ้นคือคนรุ่นก่อนไม่เข้าใจเรื่องความต้องการความเท่าเทียมของประชาชน และความเหลื่อมล้ำสามารถถูกถ่ายทอดไปยังบุตรหลานได้ เพราะชนชั้นนำผูกขาดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเป็นไปได้และไม่ได้ อีกทั้งผูกขาดข้อมูล เหตุผลที่ความเหลื่อมล้ำยังอยู่ สวัสดิการถูกทำให้เป็นของคนจนเพียงอย่างเดียว และมองว่าความเท่าเทียมไม่ใช่เรื่องสำคัญ ประเด็นที่สำคัญคือมายาคติว่าคนไทยไม่พร้อมที่จะเสียเงินภาษีที่เยอะขึ้นเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ สิ่งที่สำคัญที่สุดในขณะนี้คือการกดดันให้ข้อเสนอสวัสดิการต่าง ๆ เมื่อตอนหาเสียง กดดันให้เกิดขึ้นจริง ท้ายที่สุดแล้วการประนีประนอมและการกราบไม่ทำให้สังคมเสมอภาคมากขึ้น สิ่งที่ทำให้เสมอภาคมากขึ้นคือการยืนยันข้อเสนอของเรา

 

ช่วงเสวนา

 

วิทยากรแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นด้านเศรษฐกิจและสวัสดิการ ปัญหาเรื่องของความยากจนของประชาชน ซึ่งนำมาสู่ปัญหาครอบครัว ความมั่นคงของชีวิต และกลายเป็นปัญหาทางสังคมต่อไป นอกจากนั้นยังพูดถึงในระดับมหภาค SME ภาษีมูลค่าเพิ่ม ระบบข้าราชการ

 

 

 

 

สุดา พนมยงค์ ประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ มอบของที่ระลึกให้แก่วิทยากร

 

 

 

 

 

 

 

 

ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันปรีดี พนมยงค์ มอบของที่ระลึกให้แก่ศาสตราจารย์พิเศษชาญวิทย์ เกษตรศิริ ตัวแทนวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์
ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันปรีดี พนมยงค์ มอบของที่ระลึกให้แก่ศาสตราจารย์พิเศษชาญวิทย์ เกษตรศิริ ตัวแทนวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์

 

ศาสตราจารย์พิเศษชาญวิทย์ เกษตรศิริ ตัวแทนวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มอบของที่ระลึก
ศาสตราจารย์พิเศษชาญวิทย์ เกษตรศิริ ตัวแทนวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มอบของที่ระลึก