คงมิได้เขียนเรื่องนี้ หาก ‘ณัฐธิดา ทองเกษม’ ไม่จุดประกาย หญิงสาวอาจจะชอบกินเงาะ ครั้นค้นเจอหลักฐานว่าด้วยผลไม้ลูกออกแดงๆ กับคณะราษฎร เธอเลยตื่นเต้นและเรียกผมไปอ่าน นั่นล่ะครับ ผมจึงพลอยล่วงรู้ข้อมูลใหม่ ทั้งยังฉุกคิด ถ้าลองนำมาบอกเล่าก็น่าจะสนุกมิน้อย
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ประชาชนและกลุ่มกิจการต่างๆ พยายามติดต่อมายังคณะราษฎรเพื่อแสดงความจำนงจะมอบสิ่งของ ซึ่งมีอยู่มากมายหลายรูปแบบ เช่น ข้าวสารและน้ำแข็ง เป็นต้น
เดือนกรกฎาคมปีนั้น ทางคณะราษฎรได้รับจดหมายจากกองอัยการจังหวัดจันทบุรี เนื้อความว่า
กองอัยยการจังหวัดจันทบุรี
วันที่ ๙ กรกฎาคม พระพุทธศักราช ๒๔๗๕
เรียน คุณหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ทราบ
คณะข้าราชการในกองอัยยการจังหวัดจันทบุรี ขอแสดงความยินดีด้วยเปนอย่างยิ่งในการที่คณะราษฎรได้จัดการเปลี่ยนการปกครองใหม่ลุล่วงไปโดยเรียบร้อย ข้าราชการในกองอัยยการจังหวัดนี้ จึงขอส่งผลเงาะมาให้คณะกรรมการราษฎรเปนจำนวน ๓๑๕๐ ผล ขอได้โปรดรับไว้ด้วยความหวังดีของพวกคณะผมด้วย
อนึ่งขอเรียนไว้เสียแต่บัดนี้ว่า คณะข้าราชการในกองอัยยการจังหวัดจันทบุรีมีความภักดีต่อคณะราษฎรอยู่เสมอ.
โอกาศนี้ ขอได้รับความนับถืออย่างสูง
จากคณะอัยยการ
ท้ายจดหมายลงนามอัยการจังหวัดจันทบุรี ตัวลายมืออ่านยากทีเดียว ที่สายตาผมพอจะแกะได้คือ ‘ขุนพิพัฒน์กรณี’ ไม่แน่ใจว่าจะใช่จริงๆ หรือเปล่า เพียรสืบค้นชื่อดังกล่าวดู เพื่อมาดหมายจะยืนยันชัดเจน แต่ยังไม่พบเจอร่องรอย
กองอัยการจังหวัดจันทบุรีน่าจะมีความมักคุ้นกับ ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ หรือ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ มาก่อน จึงเจาะจงส่งจดหมายเรียนถึงผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนเป็นหลัก คงเพราะทำงานทางด้านกฎหมายเหมือนกัน ย่อมเคยประสานงานกันเนืองๆ
ฉะนั้น นอกเหนือจากกองอัยการจังหวัดจะสื่อสารความยินดีต่อความสำเร็จของคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครองได้ราบรื่นแล้ว ยังเปี่ยมล้นน้ำใจส่งเงาะเมืองจันท์มาช่วยสนับสนุนจำนวนมากมายถึง 3,150 ผล
“จันทบุรี” เป็นจังหวัดที่ผลไม้ขึ้นชื่อลือชา แม้เดิมทีเมืองจันท์หาได้มีผลไม้เฉพาะถิ่นโดดเด่นเท่าไหร่นัก แต่ชาวเมืองนี้หมั่นนำเอาพันธุ์พืชผลแปลกๆ จากแหล่งอื่นๆ มาทดลองปลูก ประกอบกับเป็นดินแดนที่สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะแก่การทำสวน นับวันจึงทำให้ดกดื่นไปด้วยสวนผลไม้นานาชนิด
“เงาะเมืองจันท์” จริงๆ แล้วต้นตำรับมาจาก “เงาะบางยี่ขัน” ย่านสวนฝั่งธนบุรี ซึ่งจะมีผลสีแดงอมเหลือง เนื้อล่อน รสชาติออกหวานอมเปรี้ยว เป็นเงาะชั้นดี ราคาแพง และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดมาก ถึงกับทรงยกอากรสวนเงาะให้ชาวบ้านบางยี่ขัน
ทว่า เมื่อชาวสวนนำเมล็ดหรือกิ่งตอนของเงาะบางยี่ขันมาปลูกที่จันทบุรี โดยเฉพาะที่อำเภอขลุง ดินแดนแห่งสวนผลไม้ พลันงอกงามกลายเป็นเงาะพันธุ์ใหม่ ลักษณะผลค่อนข้างจะออกมาทางสีชมพูสด เนื้อหวานกรอบ ชาวบ้านเรียกขานติดปากว่า “เงาะพันธุ์หมาจู” เนื่องจากมีขนยาวสวยคล้ายๆ ขนหมาจู จนเริ่มโด่งดังนับแต่ปลายทศวรรษ 2460 เป็นต้นมา
ควรกล่าวด้วยว่า สืบเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มตกต่ำมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2460 มิหนำซ้ำ ยังเผชิญน้ำท่วมและภาวะฝนแล้ง สร้างความเดือดร้อนยากเข็ญให้ชาวเกษตรกรเหลือเกิน ยิ่งการทำนาปลูกข้าวก็ได้รับผลกระทบหนัก พ้นกลางทศวรรษ ทางกระทรวงมหาดไทยจึงมอบหมายเจ้าพนักงานปกครองตามท้องถิ่นเทศาภิบาลมณฑลต่างๆ พยายามช่วยส่งเสริมการหาเลี้ยงชีพของราษฎรให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น บรรเทาความอัตคัดขัดสน ซึ่งที่จังหวัดจันทบุรีนั้น เกษตรกรผู้ทำนาข้าวต้องทุกข์ทนเพราะผลผลิตข้าวเสียหายจากน้ำท่วมขัง ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกพริกไทยเจอวิกฤตจากการที่พริกไทยราคาตกต่ำ เลยคิดจะเปลี่ยนไปทำสวนปลูกพืชอย่างอื่นแทน ซึ่งเกษตรกรชาวอำเภอขลุงได้เปลี่ยนมาทำสวนปลูกเงาะ
ช่วงที่กองอัยการจังหวัดจันทบุรีส่งเงาะจำนวนมากโขมายังคณะราษฎรภายหลังการอภิวัฒน์มาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2475 จึงถือเป็นการส่งผลไม้สำคัญยิ่งและเป็นเอกลักษณ์ประจำเมืองมาเป็นของกำนัล
เรื่องเงาะเมืองจันท์กับคณะราษฎร อาจเป็นเพียงเกร็ดเล็กๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย หากแต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวของประชาชนตามหัวเมืองต่างจังหวัดที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามในคราวนั้น
เอกสารอ้างอิง
- หจช.สร. 0201.16/20 ผู้มีชื่อให้สิ่งของและเงินแก่คณะราษฎร (พ.ศ. 2475) กาญจนาคพันธุ์. คอคิดขอเขียน. พระนคร : บำรุงสาส์น, 2513
- นฤมล มานิพพาน. การปลูกและการขยายพันธุ์เงาะ ไม้ผลเศรษฐกิจสร้างรายได้ ทางเลือกธุรกิจที่น่าสนใจในการลงทุน. กรุงเทพฯ: เพชรกะรัต, 2549
- สยามราษฎร์. (4 กรกฎาคม 2475)
หมายเหตุ:
- คำสะกดในจดหมายถึงหลวงประดิษฐ์มนูธรรมคงตามต้นฉบับเดิม
- จัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ