แม้วิถีชีวิตของท่าน ‘รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์’ จะบอกให้เรารู้ว่า ชีวิตของผู้ประพฤติธรรมนั้น หาได้ราบรื่นเสมอไปไม่ กระนั้น ก็มิพึงเข้าใจไปว่า อุปสรรคขวากหนามที่บังเกิดขึ้นกับท่านนั้น เป็นผลโดยตรงมาจากธรรมที่ท่านบำเพ็ญ เพราะกรรมอันดีงามนั้น ย่อมเป็นคุณความดีเฉพาะตัวของผู้ปฏิบัติ และส่งผลดีต่อชีวิตด้านในของผู้นั้นอย่างเป็นอื่นไปไม่ได้ แต่ปฏิกิริยาตอบสนองของบุคคลแวดล้อมนั้น จะเป็นไปในทางดีหรือร้ายเพียงใด เป็นเรื่องของปัจจัยภายนอกที่ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบนานัปการอันอยู่นอกเหนือวิสัยที่ผู้ประพฤติธรรมนั้นจะดลบันดาลได้
ในกรณีของท่านรัฐบุรุษอาวุโสนั้น ภัยที่คุกคามทรัพย์สิน เกียรติยศ ชื่อเสียง จนเกือบจะพรากชีวิตของท่านไป มีสาเหตุมาจากธรรมที่ครอบงำผู้มีอำนาจในบ้านเมือง และเป็นผลจากอวิชชาที่บดบังเขาเหล่านั้นจนเห็นท่านเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากเห็นเป็นศัตรู โดยที่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ตามความคิดอันหลักแหลมของท่านไม่ทัน จึงพลอยหลงเชื่อข่าวลือและข่าวแจกอันเป็นอสัตย์ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นขบวนการสืบเนื่องมาหลายทศวรรษ
บางทีอาจกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญแล้วกระมังที่ว่า ใครก็ตามที่บำเพ็ญกรณียกิจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยยึดมั่นในคุณธรรมอย่างอุทิศตน และทำการด้วยปัญญาที่แหลมคมและเห็นการณ์ไกล เขาผู้นั้นย่อมตกเป็นเป้าแห่งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง มหาชนส่วนใหญ่นอกจากจะไม่เห็นค่าแล้ว ยังอาจประนามติเตียน
ในขณะที่เสียงสรรเสริญนั้น จะมีก็จากคนส่วนน้อยเท่านั้น ต่อมาเมื่อกาลเวลาผ่านไป บุคคลดังกล่าวจึงจะอยู่ในสายตาและความทรงจำของมหาชนในที่สุด ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะบุคคลดังกล่าวมีสายตาอันยาวไกลจนแลเห็นสิ่งที่ผู้อื่นคาดไม่ถึง เขาจะเคี่ยวเข็ญสังคมให้มุ่งประโยชน์ระยะยาวซึ่งจีรังยั่งยืนและทรงคุณค่ากว่าประโยชน์ระยะสั้น ที่ผู้คนส่วนใหญ่หลงใหลอยู่ และความที่เขามีสายตาแหลมคมลึกซึ้ง เขาย่อมเห็นปัญหาแฝงเร้นในสังคม ขณะที่ผู้คนมองไม่เห็น
ด้วยเหตุนี้ เขาจึงพยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมขั้นพื้นฐาน เพื่อวัฒนาสถาพรภายภาคหน้า แต่คนส่วนใหญ่นั้นมักคิดยึดกับผลประโยชน์เฉพาะหน้าและเฉพาะตัวอันฉาบฉวย จนมืดบอดต่อผลเบื้องหน้าที่เป็นแก่นสารว่า จึงไม่คิดที่จะอด “เปรี้ยว” เพื่อกิน “หวาน” หากกลับมองเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นการก่อความวุ่นวาย
ในขณะเดียวกันผู้ที่สูญเสียผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนั้น ก็จะตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับบุคคลดังกล่าว และความที่บุคคลดังกล่าวยืนยันในคุณธรรม ไม่ยอมใช้วิธีอันฉ้อฉลหรือใช้อามิสสินจ้าง สร้างบริษัทบริวารเพื่อเชิดชูอำนาจของตน เขาจึงเป็นที่รังเกียจของนักฉวยโอกาสที่ต้องการไต่เต้าด้วยวิถีแห่งกโลบาย และเนื่องจากบุคคลดังกล่าวมีคุณธรรมและความกล้าหาญทางจริยธรรม เขาจึงยินดีรับผิดยิ่งกว่ารับชอบ โดยไม่ยอมผลักไสให้ใครรับหน้าแทนเพื่อตนจะได้สะสมคะแนนนิยมฝ่ายเดียว
เขาจึงได้รับแต่คำติฉินมากกว่าคำสรรเสริญ และเพราะเขาเชื่อมั่นในสัจจะประชาชนจึงยากจะได้รับคำมั่นสัญญาที่เพ้อฝัน หรือถ้อยคำอันหวานหูแต่ไร้ความจริงใจ หากบุคคลผู้มีสัจจะ คุณธรรมและปัญญาดังกล่าวรับหน้าที่เป็นผู้ปกครองหรือรับผิดชอบกิจการสาธารณะ เขาย่อมมีชะตากรรมไม่ต่างจากท่านปรีดี พนมยงค์
หากท่านรัฐบุรุษอาวุโสท่านนี้มีปัญญาไม่ล้ำหน้าคนร่วมสมัยมากนัก โดยมองเห็นเหมือนกับที่คนส่วนใหญ่เห็นกันอย่างง่ายๆ ว่า ภัยของบ้านเมืองมาจากนอกประเทศเท่านั้น วิถีชีวิตทางการเมืองของท่านก็จะราบรื่น และเจริญในยศศักดิ์อัครฐานอย่างที่นักการเมืองน้อยคนจะเทียบได้ในยุคเดียวกัน
ทั้งนี้ก็เพราะในทุกกรณีที่ท่านต้องเข้าไปมีบทบาทแก้ไขปัญหากับต่างประเทศ ทั้งในยามปกติและในยามสงคราม และไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือการทูต ท่านจะประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ใช่แต่เท่านั้นยังได้รับคำยกย่องสรรเสริญจากมหาชนเป็นอเนกอนันต์
เมื่อท่านเดินทางไปเจรจากับมหาอำนาจต่างๆ นับปี 2478 ถึง 2481 เพื่อยกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคที่สยามทำกับประเทศเหล่านั้น ไม่เพียงแต่ท่านจะบรรลุภารกิจอย่างงดงาม หากยังได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากบ้านเกิดเมืองนอน ได้รับเหรียญตราเป็นเกียรติยศมากมาย และเมื่อท่านเข้าไปมีบทบาทสำคัญท่ามกลางกระแสการเมืองโลกอันผันผวน ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นโยบายทางการเมือง การทูตและการทหารที่ท่านดำเนินในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็มีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูสถานะของประเทศไทย จนพ้นจากการเป็นประเทศแพ้สงคราม สามารถรักษาเอกราชอธิปไตยไว้ได้
รางวัลที่ท่านได้รับเป็นเกียรติประวัติ คือ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเป็น “รัฐบุรุษอาวุโส” ทั้งยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด มีชื่อเสียงเลื่องลือระบือไกลทั้งในเมืองไทยและนานาประเทศ ไม่น้อยไปกว่าวีรชนผู้กู้ชาติคนอื่นๆ ในภูมิภาคแถบนี้
แต่เพราะท่านหาได้มองปัญหาของบ้านเมือง เพียงเท่านั้นไม่ หากยังเห็นลึกลงไปอีกว่า อุปสรรคที่ขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของชาติและราษฎรไทยนั้น ฝังลึกอยู่ในโครงสร้างของสังคม ซึ่งจะต้องมีการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในทางการเมืองและเศรษฐกิจ
ปัญหาดังกล่าว คนไทยส่วนใหญ่หาแลเห็นไม่ ดังนั้น เมื่อท่านก้าวเข้ามาผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม ท่านจึงไม่เพียงแต่จะเผชิญกับการมุ่งร้ายจากผู้เสียผลประโยชน์ในทางการเมืองและเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังต้องประสบกับการต่อต้านและการกล่าวร้ายจากประชาชน ซึ่งมองไม่เห็นเจตนาของท่าน ผลก็คือ เมื่อท่านเป็นแนวหน้าในการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ เพื่อมุ่งกระจายอำนาจทางการเมืองไปสู่ประชาชนอย่างจริงจัง ท่านก็ถูกอาฆาตมาดร้ายจากกลุ่มผู้ปกครองเดิม ซึ่งถูกพยาบาทมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ และเมื่อท่านเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ เพื่อหมายกระจายโภคทรัพย์และอำนาจทางเศรษฐกิจไปสู่ประชาชน ท่านก็ถูกประนามเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศ
หลังจากนั้นหนึ่งทศวรรษเศษ เมื่อท่านได้กลับเข้ามาเป็นกำลังเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตย โดยอาศัยรัฐธรรมนูญปี 2489 ซึ่งถือว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา ท่านก็ถูกขัดขวางจากผู้เสียประโยชน์ทั้งเก่าและใหม่ จนเกิดรัฐประหารในปีต่อมา คราวนี้ท่านต้องลี้ภัยไปต่างประเทศตราบจนชีวิตหาไม่โดยอีกฝ่ายหนึ่งใช้กรณีสวรรคตเป็นเครื่องมือประทุษร้ายชื่อเสียงเกียรติยศของท่านมาโดยตลอด
มีพระพุทธพจน์บทหนึ่ง ทรงตรัสไว้ว่า
“อกฺกฎฺเฐ สูรมิจฺณนฺติ” เมื่อเกิดเหตุร้ายแรงย่อมต้องการกล้าหาญ
“อตฺเถ ชาเต จปณฺฑิตํ” เมื่อเกิดเรื่องราวลึกซึ้งย่อมต้องการบัณฑิต
ในกรณีสังคมไทย เหตุร้ายแรงนั้น คนส่วนใหญ่มองเห็นกันได้ชัดอยู่แล้ว ดังนั้นในยามวิกฤต เราจึงต้องการคนกล้าหาญอย่าง “รู้ธ” หัวหน้าขบวนการเสรีไทย เพื่อมากู้สถานะของบ้านเมืองให้กลับมีเอกราชดังเดิม แต่กรณีที่เป็นเรื่องราวอันลึกซึ้งนั้น คนส่วนใหญ่หาได้มองเห็นไม่ เราจึงไม่ต้องการบัณฑิตอย่างท่านปรีดี พนมยงค์ ผู้มีปัญญาหลักแหลม และเห็นการณ์ไกลกว่าคนยุคเดียวกันว่า ประเทศชาติจะก้าวหน้าไปได้ก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถึงรากฐาน เพื่อให้ประชาชนมีความเข้มแข็งทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ และมีส่วนกำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง ได้อย่างเสมอบ่าเสมอไหล่กับชนชั้นนำ เป็นเพราะเรามองไม่เห็นสิ่งลึกซึ้ง สังคมไทยจึงมีแต่การเปลี่ยนแปลงอย่างฉาบฉวยมาตลอด คิดแต่ประโยชน์เฉพาะหน้าเฉพาะตัวยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนรวมที่เป็นเรื่องระยะยาว โดยที่คุณธรรมก็ไม่เป็นที่นำพากัน พร้อมกันนั้น บัณทิตผู้รอบรู้ในเรื่องอันลึกซึ้งก็ถูกรุมประนามว่าเป็นตัวเลวร้าย กลายเป็นเหยื่อของชาวมดเท็จ นี่คือชะตากรรมของผู้อุทิศตนเพื่อบ้านเมือง โดยใช้สติปัญญาอย่างถึงที่สุด ด้วยสายตาอันยาวไกล และด้วยใจที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม
ไม่แต่ท่านปรีดี พนมยงค์เท่านั้น ก่อนหน้านั้นขึ้นไปเพียงชั่วอายุเดียว เราก็ได้เห็นตัวอย่างจาก ‘สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ’ และหลังจากท่านรัฐบุรุษอาวุโสไม่ถึงชั่วอายุคน เราก็ได้เห็น ‘อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์’ เป็นตัวอย่างถัดมา และเชื่อแน่ว่าต่อไปภายภาคหน้าเราก็ยังจะได้เห็นคนแล้วคนเล่าที่จะถูก “พิพากษา” โดยสังคมอย่างไม่เป็นธรรม และที่ร้ายก็คือ เราอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมในการตัดสินและประนามบุคคลผู้เห็นเหตุการณ์ไกลดังกล่าวด้วย
เพราะเราแต่ละคนนั้น ต่างมีโอกาสที่จะตกอยู่ในปลักแห่งความเขลา โดยมีอวิชชามาบดบัง จะเป็นเพราะการโฆษณาชวนเชื่อของผู้มีอำนาจ หรือเพราะกิเลสตัณหาของเราเองก็แล้วแต่ ดังที่เราหลายคน (รวมทั้งผู้เขียน) ได้เคยโง่เขลาต่อคุณงามความดีของท่านรัฐบุษอาวุโสมาแล้ว แต่ตราบใดที่เรายังมีใจเปิดกว้างต่อสัจจะ รู้จักไต่สวนหาข้อเท็จจริงยิ่งกว่าจะพอใจคำบอกเล่าที่สืบต่อกันมา มีใจที่ยึดมั่นในคุณธรรม ไม่หลงไหลติดยึดในยศ ทรัพย์ อำนาจ จนตกเป็นทาสของตัณหา และมานะถึงกับเป็นศัตรูกับผู้ที่อุทิศตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งอาจมากระทบผลประโยชน์ของเรา หรือ โดดเด่นเกินหน้าเรา และตราบใดที่เรายังไม่คิดยึดกับความเห็นข้อสรุปของตน จนปล่อยให้ทิฐิความเห็นนั้นมาบดบังคุณค่าของบัณฑิตที่คิดต่างจากเรา ตราบนั้นเราแต่ละคนก็มีโอกาสที่จะหลุดพ้นจากความเขลาและกลับแลเห็นประกายแห่งปัญญา และคุณธรรมของบัณฑิต ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งได้ถูกหลงลืม ดังที่บัดนี้เราได้เห็นแล้วว่าบัณฑิตอย่างท่านปรีดี พนมยงค์ นั้นมีความหมายอย่างไรต่อบ้านเมืองและต่อมาตรฐานทางคุณธรรมของเรา
รัฐบุรุษอาวุโสท่านนี้ เป็นดังเพชรเม็ดงามที่ครั้งหนึ่งถูกโกลนตมปิดบัง แต่เมื่อกระแสแห่งสัจจะได้ชำระล้างมลทินแปดเปื้อนออกไป ประกายเจิดจรัสย่อมฉายฉานจากทุกเหลี่ยมของเพชรเม็ดนั้น ฉันใดก็ฉันนั้น ไม่ว่าเราจะศึกษาชีวิตของท่านจากแง่มุมใด เราย่อมได้อนุสติประดับใจและปัญญาอยู่เสมอ อนุสติสำคัญประการหนึ่งก็คือ อานุภาพแห่งธรรม มิใช่เพราะธรรมที่ท่านได้บำเพ็ญมาโดยตลอด ทั้งในชีวิตส่วนตัวและส่วนรวมดอก หรือ ท่านจึงมีจิตตั้งมั่นและเด็ดเดี่ยวนสามารถเผชิญกับทุกข์ภัยนานัปการอย่างงามสง่าสมบุรุษอาชาไนย โดยที่อสัตย์และอธรรมที่กระหน่ำท่านมีแต่จะถดถอยเพราะแพ้ภัยตนเอง และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือ ชีวิตของท่านได้เป็นประจักษ์พยานรับรองยืนยัน พระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสว่า
“ปญฺญาสหิโต นโร อิธ ทุกฺเข สุขานิ วินฺทติ”
คนมีปัญญา ถึงแม้ตกทุกข์ ก็ยังหาสุขพบ
ท่านรัฐบุรุษอาวุโส แม้ในยามตกอับ เสื่อมยศ เสื่อมลาภ และเสื่อมอำนาจ แต่ชีวิตของท่านก็ยังเปี่ยมไปด้วยสุข สุขจากธรรมที่ท่านบำเพ็ญ สุขจากชีวิตสมถะสันโดษและสุขจากศิลปวิทยาที่ท่านรัก ทั้งท่านยังเป็นสุขเพราะน้ำใจและความเคารพรักจากกัลยาณมิตรอันประเสริฐ นับแต่ภริยาคู่ทุกข์คู่ยากซึ่งชื่อตรงไม่เสื่อมคลาย มิตรและศิษย์หาที่ซื่อสัตย์ภักดี ตราบจนชีวิตหาไม่ สุขดังกล่าว แม้จะเป็นที่ใฝ่หาจากผู้คนเป็นอันมาก แต่ก็ยากจะได้มีโอกาสสัมผัสดังท่าน ความสุขนี้แลที่ยังจิตของท่านให้สงบแม้ในวาระสุดท้ายของชีวิต
แต่อานุภาพแห่งธรรมที่ท่านบำเพ็ญจะไม่ดับไปพร้อมกับสังขารของท่าน สักวันหนึ่งชัยชนะแห่งธรรมที่ท่านสั่งสมจะเป็นที่ประจักษ์แก่มหาชน และเมื่อนั้นธรรมและสัจจะฟื้นเกียรติคุณและชื่อเสียงของท่านกลับคืนมา ท่านเองก็ได้ประจักษ์ในอานุภาพแห่งธรรมดังกล่าวจึงได้กล่าวยืนยันไว้แต่นามแล้วว่า
“ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” อุดมคติข้อนี้ ควรที่บุคคลทุกหมู่ทุกเหล่าจะต้องประพฤติที่ยิ่งในทางการเมืองแล้ว แม้ว่าศิลปะทางการเมืองที่โต้แย้งชิงชัยกันนั้น จะเห็นได้ว่าในบางครั้ง ธรรมจะสู้อธรรมไม่ได้ก็ดี แต่ก็คงเป็นการชั่วคราวเท่านั้น
เราแต่ละคนซึ่งสามารถหลุดพ้นจากกระแสแห่งการโฆษณาชวนเชื่อ และมีโอกาสได้เห็นคุณค่าและความบริสุทธิ์ของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ บัดนี้กำลังเป็นประจักษ์พยานแห่งชัยชนะโดยธรรม ซึ่งกำลังคืนกลับมาให้เห็นเป็นลำดับแล้วในยุคของเรา
ที่มา: พระอธิการไพศาล วิสาโล (วงศ์วรวิสิทธิ์). “อนุสติจากชีวิตของรัฐบุรุษอาวุโส”, ใน, วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2530, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์และทำปกเจริญผล, 2530), น.39-44
หมายเหตุ:
- ขอบคุณภาพประกอบจาก สถาบันอาศรมศิลป์
- จัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ
- อ่านความหมายของ “อนุสติ” ใน พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)