ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ผู้มีปัญญาแม้ประสบทุกข์ก็ยังหาสุขพบ

21
มกราคม
2565

‘ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์’ เป็นปูชนียบุคคลที่หาได้ยาก ความสำคัญของท่านไม่ได้จำกัดอยู่ตรงที่ว่าท่านเป็นภรรยาของรัฐบุรุษอาวุโสคนแรกและคนเดียวของประเทศไทยเท่านั้น แต่ท่านยังมีความสำคัญโดยตัวท่านเอง เพราะท่านเป็นแบบอย่างแห่งทางจริยธรรมที่เราควรจะดำเนินตามเป็นอย่างยิ่ง ท่านเป็นผู้ที่ประกอบไปด้วยคุณธรรมมากมายหลายประการ สมกับได้ชื่อว่าเป็น “ธรรมจารี” หรือผู้ประพฤติธรรม อาทิเช่น ความซื่อสัตย์สุจริต ความสันโดษ ความเสียสละ ความกล้าหาญ ความกตัญญู และความเมตตากรุณา

 

และที่สำคัญก็คือว่าท่านเป็นผู้ที่ไม่ได้ยึดติด ไม่ได้ใฝ่หา ไม่ได้ปรารถนาลาภยศสุขสรรเสริญ เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ไม่ว่าฝ่ายบวกหรือฝ่ายลบ อันได้แก่ ได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ และสุข  และ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และทุกข์ กล่าวได้ว่า ท่านเป็นผู้ที่แม้จะได้อยู่ในสถานภาพที่สูงมาตั้งแต่เกิด จนกระทั่งได้เป็นสตรีผู้สูงศักดิ์ คือ สตรีหมายเลข 1 ของประเทศไทย แต่ว่าชีวิตของท่านประสบกับความผันผวนปรวนแปรมาก

 

จากสตรีสูงศักดิ์ สตรีหมายเลข 1 ของไทย ได้กลายเป็นผู้ต้องหาคดีกบฏจากเสรีชนกลายเป็นนักโทษ จากธิดาของขุนนางชั้นผู้ใหญ่กลับกลายเป็นคนพลัดถิ่น พลัดจากบ้านเกิดเมืองนอน จากผู้ที่มีชีวิตที่สุขสบายกลับต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างลำบาก จากเดิมที่ผู้คนห้อมล้อม มีบริษัทบริวารมาก ก็กลายเป็นผู้ที่ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ แล้วก็ไม่มีผู้ใดที่อยากจะมาร่วมชะตากรรมกับท่านด้วย

แต่แม้ท่านจะประสบกับความผันผวนปรวนแปรเช่นนี้ ท่านก็สามารถที่จะดำรงตนอยู่ในธรรม มั่นคงอยู่ในคุณธรรม ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ระทม หรือคับแค้น อันนี้เป็นเพราะว่าท่านเข้าใจสัจธรรมความจริงของโลกของชีวิต ว่าไม่มีอะไรที่เที่ยง ความผันผวนปรวนแปรเป็นเรื่องธรรมดา ท่านผู้หญิงพูนศุขท่านเชื่อมั่นในพุทธภาษิต ข้อหนึ่งก็ว่า “ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” ในชีวิตของท่าน จริยวัตรของท่านก็เป็นแบบอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมจริงๆ

เพราะแม้ว่าท่านจะตกระกำลำบาก ถูกกล่าวหาด้วยข้อกล่าวหาที่รุนแรง แม้ผู้คนจำนวนมากจะหันหลังให้ท่านเมื่อท่านตกต่ำ แต่ว่าท่านก็ไม่ได้ทุกข์ระทม ทั้งที่ผู้ที่สูงศักดิ์และตกอยู่ในสถานะชะตากรรมอย่างเดียวกับท่านนับว่าหาได้ยากมาก

การที่คนเราต้องประสบกับความผันผวนปรวนแปรในชีวิตเช่นนี้ ในทางธรรมก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะปรากฏเป็นเหตุการณ์ทางโลกอยู่บ่อยๆ การที่เราทำความดี ประพฤติธรรมอยู่เป็นนิตย์ มันไม่ได้เป็นหลักประกันเสมอไปว่า จะไม่มีความผันผวนปรวนแปรเกิดขึ้นกับชีวิตของเรา กับทรัพย์สินของเรา กับสภาพของเรา หรือแม้กระทั่งกับอิสรภาพของเรา แต่ว่าเมื่อเหตุการณ์เลวร้ายแบบนี้เกิดขึ้น มันไม่สามารถที่จะกระทบใจได้ ไม่สามารถทำให้ใจเป็นทุกข์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือความทุกข์ไม่สามารถที่จะครอบงำ บีบคั้นจิตใจได้ นั่นเป็นเพราะว่าธรรมะช่วยรักษาใจ ช่วยคุ้มครองจิตใจของผู้ประพฤติธรรม โดยเฉพาะธรรมะข้อที่ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ ไม่มีความจีรังยั่งยืน โลกธรรมมีขึ้นและมีลง ได้ลาภกับเสื่อมลาภเป็นของคู่กัน ได้ยศกับเสื่อมยศเป็นของคู่กัน สรรเสริญและนินทาก็เป็นของคู่กัน เช่นเดียวกันกับสุขและทุกข์ ผู้ที่เข้าใจความจริงเช่นนี้ ย่อมไม่ยึดติดในลาภ ยศ สุข สรรเสริญ

แล้วเพราะฉะนั้นเมื่อเกิดความแปรปรวนผันผวนในสิ่งเหล่านี้ จิตใจก็ไม่หวั่นไหว ไม่เครียด และไม่คับแค้น จิตใจก็ยังทรงดำรงความปกติเอาไว้ได้ อย่างนี้เรียกว่าธรรมะได้รักษาใจของผู้ประพฤติธรรมเอาไว้

แบบอย่างของท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นแบบอย่างที่เราทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติ ดำเนินรอยตาม โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเพื่อสังคม ผู้ที่มุ่งช่วยเหลือเกื้อกูลประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยาก หรือผู้ที่มุ่งอุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน และความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ เพราะว่าในการทำกิจดังกล่าว แม้จะเป็นสิ่งที่ดีสิ่งที่น่ายกย่อง แต่ก็เต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย แล้วก็เป็นผู้ที่ถูกมุ่งร้าย หมายเอาชีวิตจากผู้ที่สูญเสียผลประโยชน์ก็มีไม่ใช่น้อย อันนี้เป็นธรรมดาโลก

ดังนั้น การที่ผู้ที่ทำงานเพื่อสังคมจะประสบกับอุปสรรค จะเกิดการถูกกลั่นแกล้ง ยังไม่ต้องพูดถึงการกล่าวหาด่าทอ จึงเป็นเรื่องที่ธรรมดามาก แต่ถ้าหากว่ามีจิตใจมั่นคงในธรรมะ ประพฤติธรรมอยู่เป็นอาจิณ ไม่ใช่เฉพาะคุณธรรม อันได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความเสียสละ ความกล้าหาญ แต่ว่ายังรวมถึงการที่รักษาใจไม่ให้หลงใหลยึดติดในลาภ ยศ สุข สรรเสริญ

คุณธรรมประการหลังนี่แหละที่มันจะช่วยรักษาใจของเรา ไม่ให้ทุกข์ระทม ไม่ให้คับแค้นในยามที่ประสบกับความทุกข์ ถูกกลั่นแกล้ง อันที่จริงคุณธรรมอันได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ความเสียสละ ก็สามารถทำให้ช่วยเหลือเกื้อกูล และรักษาผู้ประพฤติธรรมได้ ช่วยทำให้ไม่มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ อยู่เย็นเป็นสุข เพราะว่าไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร ไม่มีเรื่องที่จะต้องปกปิดหรือว่ารู้สึกผิดที่ทำให้รุ่มร้อน

ธรรมะดังกล่าวสามารถที่จะช่วยปกป้องไม่ให้ผู้ที่มุ่งร้ายสามารถจะทำได้ดั่งใจ เพราะความซื่อสัตย์สุจริตของเราจะเป็นเสมือนสิ่งคุ้มครองรักษาไม่ให้ภัยร้ายเกิดขึ้นกับเราได้ แต่บางครั้งมันก็เป็นธรรมดาที่ความเดือดร้อนอาจจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ประพฤติธรรมแต่แม้กระนั้น มันก็ไม่สามารถกลายเป็นทุกข์ได้ ถ้าหากว่าใจได้เข้าถึงคุณธรรม นั่นคือ การที่ไม่โหยหาปรารถนาหรือยึดติดในลาภยศสุขสรรเสริญ ยิ่งมีปัญญาเห็นแจ้งแจ่มชัดในสัจธรรมความจริงว่า โลกธรรมไม่ว่าบวกหรือลบ มันย่อมผันผวนแปรปรวนมีขึ้นมีลง เมื่อได้รับความยกย่องสรรเสริญ ได้ลาภ ได้ยศ ก็ไม่ได้หลงใหลปลาบปลื้ม เพราะรู้ว่ามันไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นเมื่อมันแปรเปลี่ยนไป จิตใจก็ไม่ได้ทุกข์ไม่ได้คับแค้น ยังคงความปกติสุขอยู่ได้ อันนี้เรียกว่าธรรมะได้รักษาจิตใจของผู้นั้น

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม จึงไม่ควรมองข้ามคุณธรรมที่กล่าวมา ไม่ใช่เพียงแค่ความซื่อสัตย์สุจริต ความเสียสละ ความกล้าหาญ ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล แต่รวมถึงการตระหนักถึงสัจธรรมของความจริงว่า โลกธรรมนั้นมันไม่เที่ยง มันมีขึ้นมีลง เพราะฉะนั้นในยามที่ลาภยศสุขสรรเสริญถูกกระทบกระเทือน สถานภาพถูกบั่นทอน หรือบางครั้งสูญเสียอิสรภาพ จิตใจก็ไม่ทุกข์ แม้จะประสบเหตุ ถึงขั้นถูกจองจำ แต่คุกก็ขังได้แต่เพียงแต่ร่างกาย แต่จิตใจนั้นมีอิสระ ไม่ถูกครอบงำ แม้กระทั่งความทุกข์ ความระทม ความคับแค้น ความห่อเหี่ยวสิ้นหวัง อันนี้เพราะอำนาจหรืออานุภาพของธรรม

ยิ่งกว่านั้นแม้ในยามทุกข์ ยามเกิดเหตุร้าย ก็ยังสามารถพบสุขได้ นั่นคือความสงบเย็น ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ผู้มีปัญญาแม้ประสบทุกข์ก็ยังหาสุขพบ” ปัญญาในที่นี้หมายถึง ปัญญาเห็นความจริงหรือสัจธรรมว่า ไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืน ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน ลาภยศสุขสรรเสริญเป็นของที่ไม่สามารถยึดติด หรือ ฝากความหวังความสุขเอาไว้ได้ มีแต่ความสงบภายในที่เราสามารถจะพึ่งพาได้ โดยเฉพาะเมื่อมีธรรมะ

ทีนี้ถ้าหากว่าผู้ที่ทำงานเพื่อสังคม ผู้ที่มีอุดมคติ มีอุดมการณ์ ได้น้อมนำธรรมะดังที่กล่าวมา มาสถิตไว้ในใจ นอกจากจะช่วยทำให้ไม่ถูกความทุกข์ครอบงำ หรือว่าไม่คับแค้นผิดหวังยามที่ถูกกลั่นแกล้ง หรือว่าไม่รู้สึกห่อเหี่ยว ยามที่เจออุปสรรคมากมาย จนถึงขั้นสะดุดหรือว่าหยุดทำกลางคัน คุณธรรมดังกล่าวจะช่วยทำให้ทำงานได้ต่อเนื่อง และก็มั่นคง ไม่ผิดเพี้ยน จนถึงกับละทิ้งอุดมการณ์ อย่างมีตัวอย่างของผู้คนในจำนวนมากที่หลงใหลสิ่งเร้าเย้ายวน อันได้แก่ลาภยศสุขสรรเสริญที่ผู้เสียผลประโยชน์หยิบยกมาให้ ก็กลายเป็นว่า ละทิ้งอุดมคติ เลิกนึกถึงการทำเพื่อส่วนรวม แต่หันมาแปรเปลี่ยนทำงานเพื่อรับใช้ผู้ที่มีผลประโยชน์ เพราะว่าเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว

ถ้าเป็นเช่นนั้นสุดท้ายตัวเองก็ประสบทุกข์ในที่สุด ถ้าหากว่าเราปรารถนาที่จะทำงานเพื่อสังคม เพื่อส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง ไม่ท้อง่าย ไม่ถอยกลางคัน และยังสามารถที่จะดำรงความสุขอยู่ได้ การที่เราน้อมนำธรรมะมาไว้ในใจ แล้วก็เป็นผู้ที่ประพฤติธรรมสมกับที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่า ธรรมจารี นั่นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ช่วยเอื้ออำนวยให้การทำงานตามอุดมคติของเราเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ล้มเลิกกลางคัน หรือว่าไม่ผัดเพี้ยนผันผวน หรือกลายเป็นสิ่งตรงข้าม และสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราสามารถจะเรียนรู้ได้จากท่านผู้หญิงพูนศุข ซึ่งเป็นแบบอย่างของคุณธรรมและเป็นผู้ที่ได้ฉายฉางสัจธรรมความจริงว่า “ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”

ด้วยเหตุนี้ท่านผู้หญิงพูนศุขจึงเป็นปูชนียบุคคลที่หาได้ยาก ที่เราควรจะไม่เพียงยกย่อง แต่ว่าดำเนินรอยตาม ดังนั้นจึงเป็นนิมิตรดี ที่ในโอกาสที่ท่านมีอายุครบ 110 ปี เราจึงมาทำความความดีเพื่อระลึกถึงท่าน เพื่อทำให้คุณธรรมความดีของท่านได้โดดเด่น เพื่อคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นหลังจะได้น้อมนำปฏิบัติตาม เพื่อประโยชน์สุขของตนเอง และเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน ทั้งในปัจจุบันและภายภาคหน้า