ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ไม่มีสุขใดเสมอด้วยความสงบสันติ

18
มีนาคม
2565

นตฺถิ สนฺติปร สุขํ
ไม่มีสุขใดเสมอด้วยความสงบสันติ

 

พุทธภาษิตข้างต้นเป็นข้อความที่ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสได้นำมาปิดท้ายในหนังสือเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” อันเป็นนวนิยายเรื่องแรกและเรื่องเดียวของท่าน

 

 

นวนิยายเล่มนี้ซึ่งเดิมตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ เป็นเรื่องราวของพระเจ้าจักราผู้ครองกรุงอโยธยา พระองค์เป็นกษัตริย์ที่รักสันติภาพ หากจำต้องทำสงครามเพื่อปกป้องราชอาณาจักรจากการรุกรานของพระเจ้าหงสา

 

 

“พระเจ้าจักรา” เป็นกษัตริย์ที่ทรงคุณธรรม ไม่ประสงค์ให้ไพร่พลของพระองค์ต้องสูญเสียเลือดเนื้อ จึงเลือกใช้วิธีการรบแบบยุทธหัตถีกับพระเจ้าหงสา ครั้นประสบชัยชนะแล้วก็สั่งปล่อยแม่ทัพนายกอง และทหารกรุงหงสาทั้งหมด หาได้จับกุมคุมขังหรือทำร้ายแต่อย่างใดไม่

นวนิยายเล่มนี้ แม้มีสงครามเป็นแกนของเรื่อง แต่หัวใจของหนังสือ คือ การเชิดชูสันติภาพ ที่ตั้งอยู่บนความปรารถนาดีต่อกัน ไม่มีการอาฆาตพยาบาทจองเวรกัน ตามพุทธภาษิตที่ว่า “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” ดังสะท้อนจากคำตรัสของพระเจ้าจักราที่มีต่อเจ้าชายบุเรงนองว่า “ขอให้มีความเข้าใจกัน มีความปรารถนาดีต่อกันในระหว่างพวกเราทั้งสอง และขอให้สันติสุขกลับมาสู่พวกเราและบ้านพี่เมืองน้องของเราในโลกนี้อีกครั้งหนึ่งจงตลอดไปเถิด”

หนังสือเล่มนี้ ไม่อาจจัดว่าเป็นเพียงนิยายอิงประวัติศาสตร์เท่านั้น หากยังเป็นนิยายธรรมะและนิยายการเมืองไปพร้อมกัน ประการหลังเห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อพิจารณาบริบททางการเมืองที่แวดล้อมหนังสือเล่มนี้ “พระเจ้าช้างเผือก” เขียนขึ้นในระหว่างปี 2482-2483 อันเป็นช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังลุกลามทั่วยุโรป ขณะเดียวกันเอเชียตะวันออกก็กำลังเกิดสงครามจากการรุกรานของญี่ปุ่น และมีแนวโน้มว่าจะระบาดไปยังส่วนอื่นๆ ของเอเชีย ร่วมทั้งเอเชียอาคเนย์ หากญี่ปุ่นประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร

การเขียนนิยายเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษ แล้วนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ซึ่งมีบทพูดเป็นภาษาอังกฤษทั้งเรื่อง และออกฉายในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สิงคโปร์ เป็นเครื่องชี้ชัดว่า “นายปรีดี” ผู้เขียนและผู้อำนวยการสร้างต้องการส่ง “สาร” บางอย่างให้นานาประเทศได้รับรู้

“สาร” ดังกล่าวมิได้หมายถึงแค่ความใฝ่สันติภาพของคนที่ชื่อ ปรีดี พนมยงค์ เท่านั้น สิ่งที่นายปรีดีต้องการบอกให้ประชาคมโลกรู้ก็คือ สยามเป็นประเทศรักสันติภาพ ไม่ปรารถนาจะรบพุ่งกับใคร ลึกไปกว่านั้นนายปรีดียังปรารถนาย้ำเตือนให้คนทั้งโลกให้หันมาสู่วิถีแห่งสันติ แทนที่จะแก้ปัญหาด้วยสงคราม ดังได้เขียนไว้ในคำนำว่า “ชัยชนะแห่งสันติภาพนั้น มิได้มีชื่อเสียงบันลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด”

อย่างไรก็ตาม ปณิธานของนายปรีดี ไม่สัมฤทธิผล สยามไม่อาจธำรงสันติภาพได้ หากต้องกลายเป็นพันธมิตรร่วมรบกับญี่ปุ่น จนนายปรีดีผู้รักสันติต้องหันมาจัดตั้ง “ขบวนการเสรีไทย” จับอาวุธต่อสู้กับญี่ปุ่นเพื่อป้องกันชาติของตน ในทำนองเดียวกับที่พระเจ้าจักราผู้รักสันติ กรีธาทัพสู้กับพระเจ้าหงสา ต่างกันก็ตรงที่นายปรีดีไม่ต้องถึงกับจับอาวุธสู้ตัวต่อตัวกับผู้รุกราน

 

รากเหง้าของสงครามและความรุนแรง

มาถึงวันนี้ หน้าที่ของ “พระเจ้าช้างเผือก” ในการส่ง “สาร” ให้แก่ประชาคมโลกได้สิ้นสุดลง หรืออย่างน้อยก็หมดความจำเป็นแล้ว ในบางแง่ก็อาจเรียกว่าประสบความล้มเหลวด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการเรียกร้องให้โลกหันมาให้ความสำคัญกับ “ชัยชนะแห่งสันติภาพ” เพราะแม้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะยุติ แต่โลกก็ยังมีสงครามไม่หยุดหย่อน ผู้คนล้มตายหลายสิบล้านคนในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา

แม้กระนั้น หัวใจของหนังสือเล่มนี้ก็ยังมีคุณค่า ได้แก่การเน้นย้ำว่า สันติภาพที่แท้จริงนั้นต้องมีพื้นฐานมาจากคุณธรรมด้านใน อาทิ การไม่อาฆาตพยาบาท การให้อภัย ความเมตตากรุณา รวมถึงความเสียสละ และคำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่นยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนตน โดยผ่านคำพูดและการกระทำของพระเจ้าจักรา ในทางตรงข้าม สงครามก็มีรากเหง้ามาจากจิตสำนึกที่เห็นแก่อำนาจ ปราศจากคุณธรรม ดังมีพระเจ้าหงสาเป็นตัวแทน

อย่างไรก็ตาม มิพึงเข้าใจไปว่าสงครามเป็นเรื่องของตัวบุคคล ยิ่งสงครามในโลกสมัยใหม่ด้วยแล้ว ผู้นำเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งเท่านั้น การสู้รบได้กลายเป็นเรื่องของคนหมู่ใหญ่ที่มีสำนึกร่วมกัน ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการขับเคลื่อนของคนทั้งชาติ มิใช่เป็นแค่การรบพุ่งของผู้นำ (โดยมีไพร่พลเป็นองค์ประกอบ) ซึ่งสามารถยุติได้ด้วยการชนช้างตัวต่อตัวเท่านั้น

ขณะที่สงครามในอดีตสงวนศักดิ์ศรีและวีรกรรมไว้เฉพาะแม่ทัพ แต่ในสงครามยุคใหม่ซึ่งอาศัยกองทัพประจำการเป็นหลัก ทหารชั้นผู้น้อยก็มีสิทธิได้รับการยกย่องเป็นวีรชน ยิ่งไปกว่านั้นประชาชนพลเรือนในแนวหลังก็ยังมีบทบาทสำคัญในสงคราม จึงไม่นำแปลกใจที่ถิ่นอาศัยของพลเรือนได้กลายเป็นเป้าหมายทางทหารในสงครามต่างๆ นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา[1]

ด้วยเหตุนี้ ในโลกยุคใหม่ สงครามจึงมิได้ถูกกำหนดด้วยจิตสำนึกของผู้นำเท่านั้นหากจิตสำนึกของผู้คนทั่วทั้งสังคมก็มีบทบาทอย่างสำคัญ

ในการผลักดันให้เกิดความรุนแรงต่อกัน จิตสำนึกที่มีอิทธิพลอย่างสำคัญตลอดมาก็คือ ความถือตัวถือคนว่าสูงกว่า และเหยียดอีกฝ่ายหนึ่งให้ต่ำลงจนถึงกับไร้ความเป็นมนุษย์ “สงครามมหาเอเชียบูรพา” ได้รับการสนับสนุนจากชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศก็เพราะเชื่อกันว่า ญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่สูงส่ง

ขณะเดียวกันก็เห็นคนจีนและเกาหลีว่าป่าเถื่อน ทัศนะดังกล่าวคลุมไปถึงคนอมริกันว่าเป็น “สัตว์ที่สูญเสียความเป็นมนุษย์ไปแล้ว” ในอีกด้านหนึ่งคนอเมริกันก็เรียกคนญี่ปุ่นว่า “ลิงผิวเหลือง”

ท่าทีดังกล่าวไม่ต่างไปจากที่คนเยอรมันมีต่อชาวยิว “เชื้อโรค” “ไวรัส” “อสูร” “เดนมนุษย์” เป็นคำที่คนเยอรมันใช้เรียกชาวยิวในสมัยฮิตเลอร์ จนถึงปัจจุบัน จิตสำนึกเช่นนี้ยังมีอิทธิพลในสงครามทั้งหลาย ในอดีตยูโกสลาเวีย คนโครเอเชียถูกคนเซอร์เบียเรียกว่า “ค้างดาวผี” ส่วนคนโครเอเชียก็เรียกนักรบเซอร์เบียว่า “สัตว์สองขามีเครา” ในสงครามอ่าวเปอร์เชีย ทหารอเมริกันเรียกการสังหารทหารอิรักนับพันที่ล่าถอยว่า “การยิงไก่งวง” นาวิกโยธินอเมริกันคนหนึ่งบรรยายความรู้สึกเมื่อเห็นทหารอิรักจากบนเครื่องบินว่า “เหมือนกับเปิดไฟครัวกลางดึกแล้วเห็นแมลงสาปแตกตื่นจ้าละหวั่น”

นอกจากความถือตนว่าสูงและเหยียดผู้อื่นให้ต่ำลง (ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่า มานะ) แล้ว ความเชื่อหรือความติดยึดในลัทธิอุดมการณ์ (ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่า ทิฏฐิ) ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการก่อสงครามและความรุนแรงโดยเฉพาะกับคนชาติเดียวกัน

ในสหภาพโซเวียตมีผู้คนประมาณ 20 ล้านถูกฆ่าตายภายใต้การปกครองแบบทรราชย์ของสตาลินจำนวนไม่น้อยตายเพราะขวางอำนาจของสตาลิน แต่อีกมากมายตายเพื่อความยิ่งใหญ่ของลัทธิคอมมิวนิสต์ ในยุดนี้ผู้คนถูกทำให้เชื่อว่า การสังหารผู้คนในนามของลัทธินี้เป็นสิ่งชอบธรรม สะท้อนให้เห็นจากคำพูดของสมาชิกพรรคคนหนึ่งว่า “เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของเราคือชัยชนะของลัทธิคอมมิวนิสต์ในทุกหนแห่งเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวทุกอย่างทำได้ทั้งนั้น ไม่ว่ากล่าวเท็จ ขโมย หรือทำลายผู้คนนับแสนหรือแม้กระทั่งเป็นล้าน หากคนเหล่านี้ขัดขวางงานของเราหรือสามารถจะขัดขวางเรา”

ปรากฏการณ์อย่างเดียวกันนี้เกิดขึ้นในจีนและกัมพูชา ในประเทศหลัง แม้ 2 ล้านคนที่ตายเป็นจำนวนที่เทียบไม่ได้กับรัสเซียและจีน แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนประชากรแล้วก็สูงมาก คือ 1 ใน 4 ของประชากรเขมรทั้งประเทศ ในยุคเขมรแดงนี้เองมีคำขวัญว่า “คนหนุ่มหนึ่งหรือสองล้านคนก็พอแล้วสำหรับสร้างกัมพูชาใหม่” นอกนั้นไม่มีความจำเป็นเลย

การล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ มิได้หมายถึงความเชื่อในลัทธิอุดมการณ์จะหมดพลังในการผลักดันให้เกิดความรุนแรง ลัทธิชาตินิยมยังเป็นหนึ่งในอุดมการณ์ที่มีอิทธิพลอย่างมากในโลกปัจจุบัน สงครามในอดีตยูโกสลาเวีย ความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถาน สงครามกลางเมืองในศรีลังกา เป็นตัวอย่างน้อยนิดของความรุนแรงที่เกิดจากลัทธิชาตินิยม ที่น่าสนใจก็คือ ความเชื่อทางด้านศาสนาเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญด้วยทั้งในกรณีที่กล่าวมาและที่มิได้กล่าวถึงความถือตัวว่าสูงกว่า และความติดยึดในลัทธอุดมการณ์ เป็น 2 ใน 3 ของเหตุปัจจัยทางด้านจิตสำนึกที่นำไปสู่ความรุนแรงในทัศนะของพุทธศาสนา

อีกปัจจัยหนึ่ง ได้แก่ ความต้องการผลประโยชน์เพื่อปรนเปรอตัวตน (หรือที่เรียกว่า ตัณหา) ปัจจุบันเห็นได้ไม่ยากว่า สงครามและความรุนแรงตลอดจนความขัดแย้งทั่วโลก ล้วนเกี่ยวพันกับการแย่งชิงผลประโยชน์ไม่มากก็น้อย ที่เห็นได้ชัดก็คือ สงครามรุกรานอิรักโดยการนำของสหรัฐ ซึ่งหวังควบคุมแหล่งน้ำมันสำรองที่มีมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ผลประโยชน์จากน้ำมันยังเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งสหรัฐอเมริกาเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทั้งโดยผ่านอิสราเอลและซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น

นอกจากผลประโยชน์ระดับรัฐแล้ว ผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติ (รวมทั้งบริษัทค้าอาวุธ) ก็เป็นตัวการสนับสนุนสงครามในหลายประเทศ รวมทั้งในทวีปอาฟริกา ความขัดแข้งทางด้านผลประโยชน์ยังเป็นสาเหตุของความรุนแรงภายในประเทศ อาทิ ความรุนแรงอันเนื่องจากการแบ่งแยกดินแดนในรัฐอะเจห์ของอินโดนีเซีย และเชชเนียในรัสเซีย ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับแหล่งทรัพยากรที่มีค่ามหาศาล

ไม่แต่เท่านั้น ความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์ยังแสดงออกในรูปความขัดแย้งทางด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าระหว่างรัฐกับประชาชน หรือระหว่างประชาชนด้วยกัน ซึ่งพร้อมจะลุกลามไปเป็นความรุนแรง อาทิ กรณีเขื่อนปากมูล กรณีท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย กรณีโรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูด เป็นต้น

 

ที่มา : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ (บรรณาธิการ). “เสรีไทย : อุดมการณ์ที่ไม่ตาย”, พิมพ์ครั้งที่ 1, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพฯ, 2546), น.227-231


[1] ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้ที่บาคเจ็บล้มตายมีเพียงร้อยละ 15 ที่เป็นพลรือน แต่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 สัดส่วนเพิ่มเป็นร้อยละ 65 กระนั้นก็ยังเทียบไม่ได้กับสงครามครั้งหลังๆ อาทิในโซมาเลีย ชูดาน อดีตยูโกสลาเวีย ซึ่งรัอยละ 80 ของผู้ที่ตายเป็นพลเรือน