ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

“เลขพิจารณา” ข้อเขียนเชิงคณิตศาสตร์ กับการเมืองเรื่องเสียดินแดนไทย

25
กรกฎาคม
2564


ว่าด้วยการเมืองเรื่องเสียดินแดนไทย ปัจจุบันคงมิใช่สิ่งที่ใครๆ กระมิดกระเมี้ยนศึกษาและอ้อมแอ้มแสดงความคิดเห็น หากกลายเป็นประเด็นสำคัญซึ่งยลยินเสียงเอ่ยถึงเนืองๆ ผ่านหลากหลายแง่มุม ทั้งเชิงประวัติศาสตร์ชาตินิยม และเชิงวิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์ชาตินิยมในฐานะโครงเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นตามจินตนาการเพื่อส่งเสริมความรักชาติ

ถ้าสังเกตเนื้อหาประวัติศาสตร์เสียดินแดนตามที่รับรู้ทั่วไป จะพบว่า เมืองไทยเคยต้องสูญเสียดินแดนให้แก่อังกฤษและฝรั่งเศสเป็นจำนวนมากมายหลายครั้ง เรื่องราวเสียดินแดนยังได้รับการประกอบสร้างเป็นความทรงจำอันปวดร้าว มูลเหตุที่สยามจำยอมสละดินแดนส่วนหนึ่งก็เพื่อรักษาเอกราชพร้อมดินแดนส่วนใหญ่เอาไว้  เนื่องจากเผชิญแรงคุกคามบีบบังคับของพวกชาติมหาอำนาจเจ้าอาณานิคม  ในความเชื่อของคนไทย การหวนรำลึกเรื่องเสียดินแดนประหนึ่งสิ่งกระตุกเตือนความฮึกเหิมหวงแหนประเทศชาติ

‘ธงชัย วินิจจะกูล’ นักวิชาการเลื่องชื่อชี้ชวนให้ครุ่นคิดว่า ประวัติศาสตร์การเสียดินแดนของไทยอันแพร่หลาย มิแคล้วพล็อตเรื่องที่สร้างขึ้นตามขนบชาตินิยมและราชาชาตินิยม อาศัยแนวคิดความเป็นรัฐชาติแบบสมัยใหม่ ซึ่งรัฐชาติลักษณะนี้เพิ่งจะถือกำเนิดกับสยามภายหลัง “เหตุการณ์ ร.ศ. 112” สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 

ย้อนกลับไปอธิบายการเสียดินแดนในยุคที่สยามยังเป็นรัฐแบบเก่าค่อนข้างผิดฝาผิดตัว  อธิปไตยของรัฐแบบเก่าย่อมผูกติดกับอำนาจของราชา  หาใช่อำนาจเหนือดินแดน ขณะที่ประเทศราชต่างๆ ก็มิได้ตกเป็นดินแดนของสยามชัดเจนบริบูรณ์ เพราะผู้ครองดินแดนส่งบรรณาการไปยินยอมขึ้นต่อหลายเจ้าประเทศ ด้านความเชื่อฝังหัวแนบแน่นว่า พวกชาติมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมคุกคามรังแกสยาม มุ่งหมายจะเข้ายึดครองดินแดน ข้อเท็จจริงคือมหาอำนาจกับจักรวรรดิสยามพยายามแย่งชิงดินแดนกันเอง ตามทัศนะของธงชัย ข้อสรุปเรื่องเสียดินแดนไทยทำนอง “หมาป่าฝรั่งเศสกับลูกแกะสยาม” เฉกเช่นงานประวัติศาสตร์แนวชาตินิยมอธิบายเสมอมานั้น คงไม่ถูกต้องทีเดียว แท้แล้ว ทั้งสองฝ่ายต่างเป็นหมาป่าคอยแข่งขันล่าลูกแกะอันได้แก่บรรดาประเทศราชดั้งเดิม ท้ายสุด หมาป่าตัวเล็กเยี่ยงสยามพ่ายแพ้หมาป่าตัวใหญ่เยี่ยงฝรั่งเศส

นับแต่อดีตเรื่อยมา ได้ปรากฏการนำเสนอประวัติศาสตร์เสียดินแดนไทยในรูปแบบต่างๆ ทั้งหนังสือ บทความ งานวิจัย นวนิยาย และบทเพลง ผมเองใคร่นำเสนอหลักฐานเอกสารเก่าๆ เพิ่มเติมอีกสักชิ้นหนึ่งสู่สายตาคุณผู้อ่าน  นั่นคือ “เลขพิจารณา” ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ยุทธโกศ ปีที่ 5 เล่ม 9 ประจำวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2480 ซึ่งแม้จะเป็นข้อเขียนเชิงคณิตศาสตร์ธรรมดา แต่สามารถโยงใยไปพัวพันการเมืองเรื่องเสียดินแดน จนก่อความไม่สบายใจให้แก่นักการทูตชาวอังกฤษ

ย้อนกาลเวลาไปช่วงต้นทศวรรษ 2480 แนวคิดชาตินิยมและกลิ่นอายการเรียกร้องดินแดนที่เคยสูญเสียไปคืนจากชาติมหาอำนาจเริ่มอวลกรุ่นในสังคมไทย สำแดงออกมาผ่านข้อเขียนและข้อคิดเห็นบนหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ไม่น้อยฉบับ ทางการมิวายกังวล จึงได้ร้องขอให้สิ่งพิมพ์แต่ละฉบับระมัดระวังการเผยแพร่งานเขียนที่อาจกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

สิ่งพิมพ์หนึ่งที่ตอบรับจะให้ความร่วมมือคือ หนังสือพิมพ์ ยุทธโกศ ซึ่งออกทุกวันที่ 10 ของเดือน  จัดทำโดยกองทัพบก สำนักงานตั้งอยู่ในกรมยุทธศึกษาทหารบก โรงเรียนนายร้อยทหารบก ถนนราชดำเนินนอก จังหวัดพระนคร มี ‘พันตรี หลวงรณกรรมโกวิท’ (เพิ่ม ศิริวิสูตร) เป็นผู้อำนวยการ ‘พันตรี หลวงรามรณภพ’ (ทวนทอง สุวงศ์) เป็นบรรณาธิการ ดังถ้อยชี้แจงผ่าน “หน้าบรรณาธิการ” ของฉบับประจำวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2480 

 

“ข้าพเจ้าเคยเสนอต่อท่านผู้เขียนเรื่องลง “ยุทธโกศ” ไว้ครั้งหนึ่งแล้วว่า ยุทธโกศยินดีจะเป็นสนามความรู้ความเห็นของสมาชิกเสมอ แต่การเขียนนั้น จะเขียนอะไรก็เขียนเถิด ขอแต่อย่าให้เป็นไปในทาง “แหย่” และบัดนี้ทางการของหนังสือพิมพ์นี้ก็ได้กําชับมาอีกครั้ง ๑ ห้ามมิให้ลงเรื่องที่จะกระเทือนถึงสัมพันธไมตรีต่อนานาประเทศ ฉะนั้น ท่านที่เอื้อเฟื้อส่งเรื่องมาแล้ว ข้าพเจ้ามิได้นําลง ก็เนื่องด้วยเรื่องของท่านแรงกล้าไปในทางเขย่าเพื่อนไทยของท่านให้ตื่นจากภวังค์อย่างหนักเกินไป

โปรดอดออมใจไว้เถิดว่า เรายังเขียนเช่นนั้นไม่เหมาะ เราต้องรักษาความสงบไว้ด้วยการไม่เปล่งเสียงให้อื้ออึง”

 

อย่างไรก็ดี  ใน ยุทธโกศ ฉบับเดียวกัน กลับลงพิมพ์ผลงานของ ‘สุวรรณ ปิ่นฮุย’ เรื่อง “เลขพิจารณา” ซึ่งจะยกเนื้อความาแสดงต่อไปนี้

 

["เลขคิดในใจ”นี้ ผู้เขียนได้เขียนขึ้นในยามว่าง ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่เด็กชั้นหลังบ้าง ฉะนั้นถ้าไม่สพอารมณ์ท่านผู้อ่าน ก็ขอได้โปรดพลิกข้ามเลยไปเสีย ก่อนที่ท่านจะคิดว่าข้าพเจ้าเป็นอย่างไร! ผู้เขียน]

๑. เลขจํานวนหนึ่ง (จํานวนสมมุติ) ๘๖๙๖๐ ถ้าลบด้วยเลขจํานวน ๔๓๔๘๐ จะเหลือเท่าใด?

คําตอบ = ถ้าเหลือเท่าใด นั่นเป็นจํานวนเนื้อที่คิดเป็นตารางกิโลเมตรทั้งหมดที่ประเทศสยามได้เสียไปแก่พะม่า ครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก.

๒. เลขจํานวนหนึ่ง (จํานวนสมมุติ) ๖๐๗๐๐ จะลบด้วยเลขจํานวนเท่าใดจึงจะเหลือ ๓๐๓๕๐?

คําตอบ = ได้เท่าไรเป็นคําตอบของจํานวนเนื้อที่คิดเป็นตารางกิโลเมตรทั้งหมดที่ประเทศสยามได้เสียไปแก่อังกฤษ 

๓. เลขจํานวนหนึ่ง (จํานวนจริง) เป็นตัวลบ คือ ๖๐๐๕๐๐ จะใช้เลขจํานวนเท่าใดเป็นตัวตั้ง  จึงจะได้ผลลบ ๖๐๐๕๐๐?

คําตอบ = ตัวเลขได้จากผลลบเท่าไร นั่นเป็นจํานวนเนื้อที่ คิดเป็นตารางกิโลเมตรทั้งหมด ที่ประเทศสยามได้เสียไปแก่ฝรั่งเศส.

๔. เลขจํานวนหนึ่ง (จํานวนจริง) ๖๗๔๓๓๐ จะใช้เลขจํานวนเท่าใดคูณ และจะใช้เลขจํานวนเท่าใดเป็นตัวตั้ง ผลคูณและผลลบจึงจะได้ตรงกัน?

คําตอบ  = ถ้าผลคูณและผลลบได้ตรงกันเท่าไร นั่นเป็นจํานวนเนื้อที่ คิดเป็นตารางกิโลเมตร รวมทั้งสิ้น ที่ประเทศสยามได้เสียไปแก่ต่างชาติ.

๕. เลขจํานวนหนึ่ง (จํานวนสมมุติ) เป็นตัวตั้ง คือ ๒๐๑๒๔๑ ถ้าจะใช้เลขอีกจํานวนหนึ่ง (จํานวนสมมุติ) คือ ๓๑๑๑๔๑ มาบวกกัน ผลบวกจะได้เท่าใด?

คําตอบ = ได้ผลบวกเท่าไร นั่นเป็นตัวเลขแสดงจํานวนเนื้อที่คิดเป็นตารางกิโลเมตร ที่ประเทศสยามเหลือเป็นสมบัติติดกระดูกอยู่ในบัดนี้

๖. เลขจํานวนหนึ่ง (จํานวนจริง) ๖๗๔๓๓๐ เป็นตัวตั้ง ถ้าจะเอาเลขอีกจํานวนหนึ่ง (จํานวนจริง) คือ ๕๑๒๓๘๒ มาบวกกัน ผลบวกที่ได้รับจะเป็นเท่าใด?

คําตอบ = ผลบวกที่ได้จะเป็นจํานวนเนื้อที่คิดเป็นตารางกิโลเมตรทั้งหมดของราชอาณาจักรสยาม ซึ่งถ้าเมื่อรวมกันเข้าแล้ว.

๗. เลขจํานวนหนึ่ง (จํานวนจริง) คือ ๖๗๔๓๓๐ ถ้าจะลบด้วยเลขอีกจํานวนหนึ่ง (จํานวนจริง) คือ ๕๑๒๓๘๒ ผลลบที่ได้จะเป็นเท่าใด?

คําตอบ = ผลลบที่ได้ คิดเป็นเศษเกินของเนื้อที่ซึ่งคิดเป็นตารางกิโลเมตรที่สยามได้เสียไปมากกว่าเนื้อที่สยามมีอยู่ในบัดนี้.

(โปรคพลิกดูคําตอบอันถูกต้องในหน้าต่อไป ถ้าสงสัย)

 

ทั้งยังมี “บทเพิ่มเติมง่ายๆ” อีกสามข้อ

 

๑. เลขจํานวนหนึ่ง (จํานวนจริง) ๔๘ กับอีกจํานวนหนึ่ง ๓ และอีกจํานวนหนึ่ง ๗ ถ้าเอาเลขทั้ง ๓ จํานวนนั้นรวมกัน ผลที่ได้จะเป็นเท่าไร?

คําตอบ = ผลที่ได้ นั่นเป็นจํานวนทั้งหมดของเกาะต่าง ๆ ที่สยามได้เสียไปแก่ต่างประเทศ.

๒. เลขจํานวนหนึ่ง (จํานวนสมมุติ) ๒๘ จะใช้เลขจำนวนเท่าใดคูณจึงจะได้ผล ๒ เท่าของเลขจำนวนที่เป็นตัวตั้ง?

คําตอบ = ผลที่ได้รับ นั่นเป็นตัวเลขแสดงจำนวนของเกาะต่างๆทั้งหมดที่ประเทศสยามได้เสียไปแก่พม่า เมื่อคราวกรุงศรีอยุธยาแตก.

๓. เลขจํานวนหนึ่ง (จํานวนรวมของเลขจริง) ๑๐ จะใช้เลขจำนวนเท่าใดมาลบจึงจะเหลือ ๗? 

คําตอบ = ตัวเลขที่เอามาเป็นตัวลบ  เป็นจำนวนของเกาะสำคัญๆที่สยามได้เสียไปแก่อังกฤษ  และผลลบที่ได้ นั่นเป็นตัวเลขแสดงจำนวนของเกาะสำคัญที่สยามได้เสียไปแก่ฝรั่งเศส.

 

ในตอนท้ายก็เป็นคำเฉลย โดย “คําตอบเลขคิดในใจ” ได้แก่  “๑. เหลือ ๔๓๔๘๐ ๒. ลบด้วยเลข ๓๐๓๕๐. ๓. เลขตัวตั้ง คือ ๑๒๐๑๐๐๐. ๔. ตัวคูณคือ ๑ และตัวตั้งเพื่อให้ได้ผลลบตรงกับตัวคูณคือ ๑๓๔๘๖๖๐ ๕. ผลบวกคือ ๕๑๒๓๘๒.  ๖. ผลบวกคือ ๑๑๘๖๗๓๒. ๗. ผลลบคือ ๑๖๑๙๔๘.”  และ “คําตอบบทเพิ่มเติม” ได้แก่  “๑. ผลที่ได้ คือ ๕๘. ๒. ตัวคูณ คือ ๒. ๓. ตัวลบ คือ ๓ และผลลบก็คือ ๗.”

มองเผินๆ งานชิ้นนี้ของสุวรรณก็เหมือนๆ “เลขคณิตคิดในใจ” อันเป็นข้อเขียนที่ชาวไทยนิยมเรียบเรียงส่งไปลงตีพิมพ์กันในยุคสมัยนั้น ทว่า วิธียกตัวอย่างของเขาแฝงเร้นนัยยะการเสียดสีเรื่องประวัติศาสตร์เสียดินแดน เพราะกล่าวถึงเนื้อที่คิดเป็นตารางกิโลเมตรซึ่งฝ่ายสยามได้เสียไปแก่พม่า อังกฤษ และฝรั่งเศส  แน่นอน ความคิดของสุวรรณโน้มตามแนวทางชาตินิยมที่กำลังพรั่งพรู และเขาคงเชื่อมั่นแน่นแฟ้นในความทรงจำอันปวดร้าวของการสูญเสียดินแดน

 


ปกหนังสือพิมพ์ ยุทธโกศ ปีที่ 5 เล่ม 9 ประจำวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2480

 


ข้อเขียน “เลขพิจารณา” ผลงานของ ‘สุวรรณ ปิ่นฮุย’

 

หลังจาก “เลขพิจารณา” เผยแพร่ไม่นาน ‘จอห์น เบลลีย์’ (John Bailey) อุปทูตอังกฤษได้ส่งหนังสือกึ่งราชการหมายเลข ‘13/92/37’ ลงวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1937 (พ.ศ. 2480) มายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยขณะนั้นคือ ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ (Luang Pradist Manudharm) หรือ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ 

 

BRITISH   LEGATION

BANGKOK,

1st July, 1937

Dear Luang Pradist,

I was glad, with the reference to correspondence ending with my letter of June 18th (13/88/37) to read in the June issue of "Yuddhakos" that the management of that periodical had issued an order forbidding the publication of articles "which affect our friendly relations" with foreign countries. I am not sure, however, that the article on Page 41 of this number, of which I enclose a copy, is really calculated to affect such relations favourably. May I enquire what Your Excellency and the Ministry of Defence think of it? With a view to facilitating discussion I will give our Military Attaché a copy of this letter to pass on to the Ministry of Defence when he next makes contact.

Yours sincerely

(Signed) JOHN  BAILEY.

 

นายเบลลีย์มีความยินดีที่ทางบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ยุทธโกศ ย้ำเตือนเรื่องจะไม่ลงพิมพ์ข้อเขียนกระทบกระเทือนถึงสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ แต่เขาไม่แน่ใจว่า “เลขพิจารณา” จะช่วยส่งเสริมสัมพันธไมตรีอันดีเท่าไหร่ จึงขอทราบความเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีกทั้งจะส่งทูตทหาร (Military Attaché) ไปเจรจากับทางกลาโหม

ครั้นได้รับหนังสือของอุปทูตอังกฤษ ทางกระทรวงการต่างประเทศส่งหนังสือลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ไปยังกระทรวงกลาโหม เพื่อสอบถามว่าจะเห็นสมควรชี้แจงแก่อุปทูตอังกฤษประการใด

ต่อมาทางกระทรวงกลาโหมได้ส่งหนังสือลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 และลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขณะนั้นคือ ‘พันเอก หลวงพิบูลสงคราม’ (แปลก ขีตตะสังคะ) ตอบกลับ

 

ที่ ต. ๕๐๒๔/๒๔๘๐

กระทรวงกลาโหม

๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐

เรื่อง อุปทูตอังกฤษขอทราบความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง “เลขพิจารณา”

จาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 

ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

“ตามหนังสือที่ ห. ๓๙๘๕/๒๔๘๐ ลงวันที่ ๓ เดือนนี้ แจ้งข้อข้องใจของอุปทูตอังกฤษเกี่ยวกับเรื่อง "เลขพิจารณา" ของสุวรรณ ปิ่นฮุย ที่นําลงในหนังสือพิมพ์ยุทธโกศประจําเดือนมิถุนายน ศกนี้ว่า ไม่แนแก่ใจว่า ข้อความในบทประพันธ์นี้จะส่งเสริมความสัมพันธไมตรีด้วยดีนัก ใคร่ขอทราบความคิดเห็น และส่งสําเนาเรื่องเลขพิจารณากับสําเนาหนังสืออุปทูตอังกฤษมาเพื่อหารือว่า จะสมควรชี้แจงกับอุปทูตอังกฤษอย่างไร ดั่งความพิสดารแจ้งในหนังสือที่อ้างแล้วนั้น

ขอเรียนว่า บทประพันธ์ดั่งที่ว่านั้น ไม่เห็นว่าจะทําให้เสียความสัมพันธไมตรีแต่อย่างใด และข้อความที่กล่าวนี้ ก็เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เป็นข้อใหญ่ ส่วนการที่จะตอบกับอุปทูตไปอย่างใดนั้น แล้วแต่กระทรวงการต่างประเทศจะเห็นควร.

ขอแสดงความนับถืออยางยิ่ง

พิบูลสงคราม

 


หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ)

 

ถ้อยคำตอบกลับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นการปกป้องข้อเขียนเชิงคณิตศาสตร์ของสุวรรณ ปิ่นฮุยว่ามิใช่เรื่องเสียหายและมิได้ส่งผลกระทบต่อสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ หลวงพิบูลสงครามผู้เต็มเปี่ยมแนวคิดชาตินิยมย่อมเห็นพ้องกับงานเขียนชิ้นนี้  ไม่แปลกเลยที่พอก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปลายปี พ.ศ. 2481 และดำรงอำนาจเรื่อยมาจวบปลายทศวรรษ 2480 หลวงพิบูลสงครามจะสนับสนุนการเรียกร้องและใช้กำลังต่อสู้เพื่อนำดินแดนที่เคยสูญเสียไปในสมัยรัชกาลที่ 5 กลับคืนมา โดยเฉพาะดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่ได้คืนมาจากฝรั่งเศส ทั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังได้ดินแดนแหลมมลายูคืนมาจากอังกฤษ

ขณะที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พยายามดำเนินการอย่างประนีประนอม เล็งเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน นายปรีดีนำเรื่องหารือกับ ‘หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ’ ที่ปรึกษาประจำกระทรวง ซึ่งหม่อมเจ้าวรรณไวทยากรให้ความเห็นว่า ในเมื่อนายเบลลีย์มอบหมายทูตทหารไปเจรจากับกระทรวงกลาโหมเช่นกัน ก็น่าจะลองสอบถามทางกระทรวงนั้นดู ทูตทหารไปเจรจาแล้วหรือไม่ ถ้าไปแล้ว ทางกลาโหมชี้แจงแก่ทูตทหารอย่างไรบ้าง กระทรวงการต่างประเทศจะได้ยกมาประกอบการพิจารณาเพื่อร่างเอกสารตอบอุปทูตอังกฤษ

 


หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ

 

ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจึงส่งหนังสือไปถามย้ำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกฉบับ

 

ที่ ห.๔๖๕๒/๒๔๘๐.

กระทรวงการต่างประเทศ 

๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๐.

เรื่อง อุปทูตอังกฤษขอทราบความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง “เลขพิจารณา” ในหนังสือพิมพ์ยุทธโกศ. 

จาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

หนังสือที่ ต.๕๐๒๔/๒๔๘๐ ลงวันที่ ๑๗ เดือนนี้ ตอบชี้แจงมาในเรื่องอุปทูตอังกฤษใคร่ทราบความเห็นเกี่ยวกับบทประพันธ์ “เลขพิจารณา” ในหนังสือพิมพ์ยุทธโกศประจําเดือนมิถุนายน ศกนี้ว่า ไม่เห็นว่าจะทําให้เสียความสัมพันธ ไมตรีแต่อย่างใด และว่าการที่จะตอบกับอุปทูตไปอย่างใดนั้น แล้วแต่กระทรวงการต่างประเทศจะเห็นควรนั้น ได้รับทราบแล้ว

เรื่องนี้ ได้ทราบว่าอุปทูตอังกฤษได้ปรารภว่าจะให้ทูตทหารไปพูดจากับ กระทรวงกลาโหมเหมือนกัน ฉะนั้น จึงใคร่ขอทราบว่า ทูตทหารของอังกฤษได้ไปพูดจาในเรื่องนี้ประการใดหรือไม่ และถ้าได้ไปพูด กระทรวงกลาโหมชี้แจงแก่ทูตทหารอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อประกอบการพิจารณาในอันที่จะตอบอุปทูตอังกฤษต่อไป

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง 

(ลงนาม) ประดิษฐมนูธรรม

 


หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์

 

หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีหนังสือลงวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ตอบกลับเรื่องที่ทูตทหารอังกฤษมาเจรจากับทางกลาโหมนั้น “...ทูตทหารของอังกฤษได้มาพูดว่า เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เมื่อทางสถานทูตให้นำมาก็จำเป็น”

ถัดมาวันที่ 31 กรกฎาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ส่งหนังสือไปยังจอห์น เบลลีย์ อุปทูตอังกฤษ

 

Ministry of Foreign Affairs,

Saranromya Palace,

31st July, 1937.

Dear Mr. Bailey

I duly received your letter No. 13/92/37 of July 1, enclosing a copy of the article on page 41 of the June issue of “Yuddhakos”.

My colleague, the Minister of Defence, to whom I referred the matter informs me that the Military Attaché has already drawn his attention to the article in question in accordance with your wish and that he agreed that it was a matter of minor importance. I am inclined to think so too, especially as the Editor had issued and order forbidding the publication of articles “which affect our friendly relations" with foreign countries, and also there has been, as you will no doubt agree, a vast improvement in the general tone of the local press.

Yours sincerely,

   

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมชี้แจงสอดรับกับสิ่งที่ทางกระทรวงกลาโหมแถลงมา และแสดงความเห็นว่ากองบรรณาธิการสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ คงปรับปรุงและเข้มงวดต่องานเขียนที่จะลงตีพิมพ์ยิ่งขึ้น

ครั้นนายเบลลีย์ได้รับหนังสือจากกระทรวงการต่างประเทศ ก็ส่งหนังสือลงวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1937 (พ.ศ. 2480) มาอีกฉบับ

 

BRITISH   LEGATION

BANGKOK,

2nd August, 1937.

Dear Luang Pradist,

Thank you for your letter No. 4929/2480 of July 31st about the article in "Yuddhakos".

Though I think that it was not a very wise article I do not think it of any great importance and I quite agree, too, with you that there has been of late a vast improvement in the general tone of the Bangkok Press. For this I am sure that we have you very largely to thank as we do most sincerely.

Yours sincerely,

(Signed) JOHN  BAILEY.

 

แม้อุปทูตอังกฤษจะยอมรับว่าไม่พึงพอใจข้อเขียน แต่กรณีนี้ก็ดำเนินมาลงเอยอย่างราบรื่น ฝ่ายไทยและฝ่ายอังกฤษไม่ได้ขุ่นข้องระหองระแหงกัน นับเป็นความเอาใจใส่และความสุขุมรอบคอบของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ค่อยๆแก้ไขปัญหาจนลุล่วง

‘สุวรรณ ปิ่นฮุย’ ได้ใช้สามหน้ากระดาษในหนังสือพิมพ์ ยุทธโกศ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2480 เพื่อเสียดสีทางการเมืองจนนำไปสู่ความชุลมุนระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหม แต่ก็ยากปฏิเสธว่า “เลขพิจารณา” นับเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ไม่ค่อยเห็นใครหยิบยกมาศึกษาวิเคราะห์  ซึ่งนอกเหนือจากสื่อสารประเด็นประวัติศาสตร์เสียดินแดน ยังสะท้อนถึงแนวคิดของบุคคลสำคัญแห่งรัฐบาลคณะราษฎรเยี่ยง ‘นายปรีดี พนมยงค์’ และ ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’

 

เอกสารอ้างอิง:

  • หจช. กต.94.1/20 อุปทูตอังกฤษ (John Bailey) ถามความเห็นเกี่ยวกับบทประพันธ์ “เลขพิจารณา” ใน ยุทธโกศ เล่ม 9 ประจำ 10 มิถุนายน 2480 (ปีที่ 5) (พ.ศ. 2480)
  • ธงชัย วินิจจะกูล. โฉมหน้าราชาชาตินิยม. นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2559 “
  • 'ธงชัย 'ชี้  'ประวัติศาสตร์เสียดินแดน' วิธีวิทยาผิดฝาผิดตัว ผิดยุคสมัย และไม่เข้ากับข้อเท็จจริง”. ประชาไท https://prachatai.com/journal/2021/06/93493
  • สุวรรณ ปิ่นฮุย. “เลขพิจารณา.” ยุทธโกศ ปีที่ 5 เล่ม 9 (10 มิถุนายน 2480). หน้า 41-43
  • “หน้าของบรรณาธิการ.” ยุทธโกศ ปีที่ 5 เล่ม 9 (10 มิถุนายน 2480). หน้า 188

หมายเหตุ:

  • จัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ