ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ขายเหรียญบาทไป ได้แบงก์ชาติมา

2
สิงหาคม
2564

หลวงประดิษฐ์ฯ นิมิต เศรษฐกิจ
เลิศมุ่งมั่น เปิดแบงก์ชาติ ตามปรารถนา
ขายเหรียญบาท สมปอง ซื้อทองมา
เพิ่มคุณค่า ทองคำหนุน ทุนสำรอง
ค่าเหรียญบาท สูงเกิน ได้เงินหลาย
กำไรจ่าย ทุนแบงก์ชาติ ผงาดผอง
ขายเหรียญไป กำไรอื้อ หมุนซื้อทอง
ด้วยสมอง ทุนเหรียญบาท “แบงก์ชาติไทย”



‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ (ปรีดี พนมยงค์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในคณะรัฐบาล สมัย ‘พลตรี หลวงพิบูลสงคราม’ (แปลก ขีตตะสังคะ) ผู้มีความคิดก้าวหน้าและมองการณ์ไกล ขณะดำรงตำแหน่ง ท่านคำนึงว่าเมืองไทยในอนาคตการเศรษฐกิจจะต้องเจริญขึ้น จะต้องมีธนาคารชาติเพื่อควบคุมกิจการของธนาคารต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นใหม่อีกหลายธนาคาร

การดำริเปิดธนาคารชาติดังกล่าว มีนักเศรษฐศาสตร์ลายครามอยู่ท่านหนึ่งคือ ‘พระยาสุริยานุวัตร’ (เกิด บุนนาค) เจ้าของตำรา “ทรัพยศาสตร์” ในครั้งกระโน้น และนักเศรษฐศาสตร์อีกสองสามท่าน รวมทั้งที่ปรึกษาชาวต่างประเทศท่านหนึ่งชื่อ ‘เซอร์ เบอร์นาร์ด ฮันเตอร์’ (Sir Bernard Hunter) มีความเห็นว่าควรจะรับกิจการของธนาคารไทยที่เปิดมานานแล้วคือ “ธนาคารสยามกัมมาจลทุน” จำกัด มาดำเนินการต่อไปโดยให้เพิ่มทุนและดำเนินนโยบายใหม่คงจะเหมาะสมดี

แต่หลวงประดิษฐ์ฯ ไม่เห็นด้วยกับความคิดที่จะเซ้งกิจการของใครมาและคิดว่าการเริ่มต้นสร้างใหม่จะดีกว่า ใช้คนไทยเราเองนี่แหละมาบริหารกิจการของเราเอง หาสถานที่ใหม่เอี่ยมดีกว่าไปทับที่ของคนอื่นอยู่มาก่อน ทั้งยังมีนักเรียนทุนของทางราชการและของกระทรวงการคลังอีกหลายคน ดีกว่าไปพึ่งผู้อื่นเขา 

ท่านมีความคิดที่จะเปิดแบงก์ชาติให้ได้ จึงนำดำรินี้ไปปรึกษากับนายกรัฐมนตรี ซึ่งกล่าวว่า “น่าจะใช้แบงก์สยามกัมมาจล เพราะสถานที่ก็มีอยู่แล้วทั้งพนักงานก็เคยทำงานธนาคารมาก่อน”

หลวงประดิษฐ์ฯ ตอบท่านนายกฯ ว่า กิจการคนละด้าน ทำงานต่างกัน จะเอาเขามาทำงานร่วมกับคนของเราไม่ได้ เพราะหน้าที่ต่างกันเป็นไหนๆ ประการสำคัญต้องมีเงินทุนก่อตั้งเสียก่อน เรื่องคนนั้นจะหามาเอง เพราะเชื่อในมันสมองนักเรียนนอกรุ่นที่กำลังจะเรียนจบกลับมา ท่านจะคัดเลือกบุคคลเอง ส่วนเรื่องเงินทุนนั้นให้ท่านนายกฯ หามาจากงบประมาณให้ก็แล้วกัน (เข้าใจว่าเงินงบประมาณคงยอบแยบ)

ท่านนายกฯ ตอบว่า “เงินงบประมาณของแผ่นดินไม่มีเหลือพอจะจ่ายให้ครั้งแรกตั้ง ๒๐ ล้านบาทจะหาจากงบไหน ให้คุณหลวงฯ หาเงินเองก็แล้วกันถ้าอยากจะตั้งแบงก์ชาติจริงๆ ผมสนับสนุนอย่างเต็มที่เลยทีเดียวไม่ว่าจะหาวิธีหาเงินทางไหน”

ท่านรัฐมนตรีฯ คลังตอบว่า หาได้แต่ไม่ใช่ทางตรงแต่เป็นทางอ้อมนิดหน่อยและปรารภว่าขณะนี้เนื้อเงิน (โลหะ) มีค่าสูงถ้าจะนำไปหลอมขายแล้วนำเงินไปซื้อทองคำฝากเพิ่มเป็นทุนสำรองเมืองนอกจะดีกว่าเก็บเอาไว้เฉยๆ ถ้าค่าเงินตกเวลาขายคงกำไรหดกว่าเดิมมาก เพราะเนื้อเงินเหรียญบาทเดิมที่มีอยู่ มีเนื้อเงินบริสุทธิ์มากทีเดียวหากจำหน่ายเสียแต่เนิ่นๆ พอจะมีกำไรได้และนำกำไรบางส่วนไปเป็นทุนให้สำนักงานธนาคารชาติไทย (ก่อนเป็นแบงก์ชาติ)

ตามข้อความจาก หนังสือ ธ.ป.ท. ปริทรรศน์ ฉบับที่ 1 ได้กล่าวไว้ว่า กระทรวงการคลังได้ซื้อทองคำด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาจำนวนหนึ่งซึ่งได้มาจากการจำหน่ายเหรียญบาทและด้วยเงินปอนด์สเตอร์ลิง จากเงินทุนสำรองของเงินตราอีกจำนวนหนึ่งใน ราคาออนซ์ละ 148 ชิลลิง 6 เพนนี ภายหลังเกิดสงครามแล้ว ราคาทองคำสูงขึ้นกว่าเดิม เป็นออนซ์ละ 168 ชิลลิง และมีกำไรจากการตีราคาหลักทรัพย์ทุนสำรองเงินตราประจำปี พ.ศ. 2483 ประมาณ 10 ล้านบาท ผลกำไรที่เกิดขึ้นนี้ กระทรวงการคลังได้จ่ายให้แก่สำนักงานธนาคารชาติไทยเพื่อเป็นทุนเสีย 10 ล้านบาท

ผู้ปฎิบัติงานเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดเหตุการณ์เล่าให้ฟัง พอสรุปได้ว่าสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติอนุมัติให้รัฐบาลไทยทำการขายเหรียญบาท (เนื้อโลหะเงิน) ที่ได้ออกใช้มาตั้งแต่รัชสมัย ‘พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ในขณะนั้นยังไม่นิยมพิมพ์ธนบัตรชนิดราคาหนึ่งบาทออกใช้ จึงได้จัดสั่งทำเหรียญกษาปณ์ชนิดราคา 1 บาท ออกใช้หมุนเวียนในหมู่ราษฎรและการค้าทั่วไปในราชอาณาจักร 



 

ภาพ: ธนบัตรหมุนเวียนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8)

แบบที่ 2 จากจำนวนทั้งสิ้น 4 แบบ ผลิตโดย บริษัทโทมัสเดอลารู
ซึ่งในแบบที่ 2 นี้จะมีลายเซ็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขณะนั้นคือ ‘นายปรีดี พนมยงค์’



 

ภาพ: ธนบัตรหมุนเวียนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) แบบที่ 3 จากจำนวนทั้งสิ้น 4 แบบ

ผลิตโดย บริษัทโทมัสเดอลารู ซึ่งในแบบที่ 3 นี้จะมีลายเซ็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขณะนั้นคือ ‘นายปรีดี พนมยงค์’
แต่ลงลายเซ็นโดยใช้ชื่อว่า ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’

 

ภาพ: ด้านหลังธนบัตร

 

ครั้นต่อมาในปีพุทธศักราช 2480 ทางรัฐบาลได้ประกาศใช้ธนบัตรชนิดราคา 1 บาท ออกใช้แทนเหรียญกษาปณ์โลหะ มีรูปลักษณะของธนบัตรด้านหน้า ทางเบื้องซ้ายมีพระบรมฉายาลักษณ์ ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล’ ทางเบื้องขวามีลายน้ำรูปรัฐธรรมนูญประดิษฐ์เหนือพานแว่นฟ้าบรรจุภายในวงกลมขาว พระครุฑพ่าห์อยู่ตรงกลาง เบื้องบนหมวดเลขหมายทางขวาและซ้ายรวม 2 แห่ง ถัดลงไปมีอักษรพิมพ์ทับลายเฟืองว่า “รัฐบาลสยาม ธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย” ฯลฯ ด้านหลังมีภาพพระที่นั่งอนันตสมาคม อักษรไทยบอกโทษปลอมแปลงธนบัตร ฯลฯ

 

ภาพ: ธนบัตรหมุนเวียนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8)

แบบที่ 1 จากจำนวนทั้งสิ้น 4 แบบ ผลิตโดย บริษัทโทมัสเดอลารู
 

หลวงประดิษฐ์ฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้คำนวณดูว่า เมื่อรัฐบาลไทยพิมพ์ธนบัตรออกใช้แทนเหรียญกษาปณ์แล้ว ให้ใช้ธนบัตรหมุนเวียนในท้องตลาดทั่วไป เหรียญกษาปณ์คงเหลือเก็บอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งน้ำหนักของเหรียญโลหะหนักกว่าธนบัตรซึ่งพิมพ์ด้วยกระดาษมากทีเดียว ทำให้เปลืองที่เก็บรักษาไว้ในห้องมั่นคง (Strongroom) ขืนทิ้งไว้เฉยๆ คงราคาตกสู้นำไปยุบเสียก่อน (ถลุงเป็นแท่ง) นำเนื้อเงินโลหะนี้ออกขายในต่างประเทศเสียแต่เนิ่นๆ คงจะได้กำไรดี แล้วนำเงินที่ขายเหรียญบาทไปซื้อทองคำเพิ่มเข้าฝากเป็นทุนสำรองต่อไป ส่วนกำไรที่เหลือนำไปเป็นทุนตั้งธนาคารชาติได้ดี

ท่านจึงได้นำเรื่องนี้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในปีพุทธศักราช 2481 ขอมติอนุมัติให้รัฐบาลนำเหรียญบาทออกขายโดยจ้างให้บริษัทในต่างประเทศทำการถลุงให้เป็นเนื้อเงินเสีย ก่อนนำไปขายต่อให้บริษัทช่างทำเครื่องเงินในสหรัฐอเมริกา 2 บริษัทคือ GORHAM SILVER SMITH และ REED & BARTON ให้ธนาคารสยามกัมมาจลเป็นนายหน้าในการจำหน่าย เพื่อนำไปทำเครื่องเงินจำหน่ายอีกที เพราะเนื้อเงินนี้บริสุทธิ์มากจะไม่ลอกไม่ดำได้ง่าย เป็นที่นิยมต่อผู้ใช้มาก

ครั้งเมื่อ ‘พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว’ เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 นั้น ยังมีเงินตราชนิดราคา 1 บาท ออกใช้หมุนเวียนอย่างเดียวพอจึงมิได้ผลิตขึ้นในขณะนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 จึงได้ผลิตเหรียญกษาปณ์ตราพระรูปไอราพตขึ้นมาเป็นครั้งแรกและได้ผลิตเพิ่มเติมอีกในปี พ.ศ. 2457 พ.ศ.2458 พ.ศ. 2459 พ.ศ. 2460 และ พ.ศ. 2461 ซึ่งเป็นปีที่โลหะมีราคาสูงมากจึงให้ยุติการผลิตเหรียญบาทด้วยเงินแต่ให้ผลิตธนบัตรชนิดราคา 1 บาท ขึ้นแทนตั้งแต่ พ.ศ. 2460 เป็นต้นมา (อ้างจากหนังสือเหรียญกษาปณ์กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 - 2525 ของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง)

ภาพ: เหรียญกษาปณ์ตราพระรูปไอราพต

 

เมื่อได้รับอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรจึงได้นำเงินเหรียญบาทดังกล่าวออกไปจำหน่ายยังประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้กรมพาหนะทหารบก (ชื่อเรียกอย่างเดิม) ซึ่งท่านเจ้ากรมในขณะนั้นมียศและนามว่า นาย ‘พันเอก พระอินทรสรศัลย์’ (สอาด แพ่งสภา) ให้ขนขึ้นรถบรรทุกทหาร เป็นรถยนต์ในตอนหน้า ด้านหลังต่อเป็นกระบะไม้กว้างพอดู ได้มีนายทหาร ในกองพันพาหนะฯ เป็นผู้อำนวยการ

ในการนี้ ไปทำการขนเหรียญบาทจากห้องมั่นคงในพระบรมมหาราชวังออกทางประตูวิเศษไชยศรีในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2461 มีจำนวน 2,900 ถุง บรรทุกได้ 138 เที่ยว วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2440 บรรทุกได้ 1,900 ถุง ไม่ได้แจ้งจำนวนเที่ยวไว้ เมื่อขนเสร็จไม่มีบันทึกจำนวนถุงเอาไว้จากประสบการณ์ของ คุณ ‘สรศัลย์ แพงสภา’ บุตรชายท่านเจ้ากรมพาหนะทหารบกนายพันเอก พระอินทรสรศัลย์ได้คำนวณน้ำหนักรถบรรทุกได้คันละ 0.280 กิโลกรัม (1 ตัน กับเศษ 280 กิโลกรัม) รถจะบรรทุกได้คันละ 20 ถุง น้ำหนักถุงละ 25 กิโลกรัม ต้องเผื่อน้ำหนักรถไว้ให้คนนั่งคุมไปอีก 6 นาย วันที่ 1 และวันที่ 2 รวมกันได้ 4,800 ถุง วันที่ 3 ประมาณ 1,200 ถุง จำนวนทั้งหมดควรจะได้ประมาณ 6,000 ถุง รวมคิดเป็นน้ำหนักที่บรรทุกได้ (เหรียญบาท) หนัก 15 ตัน (15,000 กิโลกรัม)

ในการขายเงินเหรียญครั้งนี้ได้ให้ ธนาคารสยามกัมมาจลทุน (ไทยพาณิชย์) จำกัด เป็นตัวแทนการขายและการรับเงินแทนกระทรวงการคลัง โดยได้โอนเงินไปเข้าบัญชีที่ธนาคารโปรวินเชียล ลอนดอน ตามเอกสารแนบ เมื่อได้เงินในการขายเหรียญเงินบาทในครั้งนี้จึงได้นำไปซื้อทองคำเพิ่มให้เป็นทุนสำรองและได้กำไรมาประมาณ 20 ล้านบาท เป็นอันว่าทางรัฐบาลได้ขายเงินเหรียญบาทไปได้เงิน 52,436,000 บาท ได้นำเงินกำไรนี้ซื้อทองคำเข้าทุนสำรองเงินตราและได้แบ่งเงิน 10 ล้านบาทนี้เข้าบัญชีชื่อ Deposit account at 15 days call National Banking Bureau ที่ National Povincial Bank London โดยได้โอนเงิน 909,090 ปอนด์ 18 ซิลลิง 2 เพนนี ไปจากบัญชี Free Deposit ทุนสำรองเงินตรา (ตามหนังสือ ธ.ป.ท. ปริทรรศน์ ฉบับที่ 1) หลังจากได้เงินทุนประเดิมจำนวน 10 ล้านบาทแล้ว จึงได้สรรหาบุคคล เพื่อจะมาเริ่มเค้าโครงงานครั้งนี้

การเริ่มดำเนินงานของสำนักงานธนาคารชาติไทยได้สรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาดำเนินกิจการโดยขอยืมตัวข้าราชการมาจากกรมบัญชีกลางบ้าง กรมสรรพากรบ้าง และจากบุคคลภายนอกบ้างมาเป็นพนักงาน 

‘คุณจำรัส จตุรภัทร’ ได้เล่าว่า คุณจำรัสเองเป็นบุคคลภายนอก ทำงานที่อื่นมาก่อนมีตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองกลางและทำหน้าที่เป็นเลขานุการของสำนักงานฯ ไปด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง เข้าทำงานโดยได้รับคำแนะนำจากเพื่อนคือ ‘คุณประยูร วิญญรัตน์’ ซึ่งเป็นคนเรียนเก่ง ได้ทุนหลวงมาตลอดจนกระทั่งสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ จบ A.C.A. มา 

ในขณะนั้นเมืองไทยเพิ่งมีคนจบมาได้เพียง 3 คน เขาเป็นคนที่ 4 ของเมืองไทย ชวนท่านให้มาทำงานที่นี่ ตอนนั้นท่านทำงานอยู่ที่บริษัท ดีทแฮล์ม เป็นเลขาของผู้จัดการ และคุณประยูรนี่แหละถือได้ว่ามีส่วนผลักดันให้มีธนาคารชาติเพราะสนใจเรื่องนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ครั้งอยู่เมืองนอกโดยศึกษาเรียนรู้จากตำรับตำรา เมื่อเข้ามาทำงานเป็นข้าราชการในกรมบัญชีกลางยังพูดอยู่เสมอๆ ว่า งานบางอย่างของกองประมวลบัญชีคือหน้าที่หาเงินให้รัฐนั่นเองซึ่งก็คืองานของธนาคารกลาง

คุณประยูรเป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินเรื่อง แม้จะมีบางคนไม่ค่อยจะเห็นด้วย ดังนั้นหากจะพูดว่าใครมีส่วนผลักดันให้งานของธนาคารชาติเป็นจริงขึ้นมาได้ก็ควรจะเอ่ยถึงชื่อ คุณประยูร วิญญรัตน์ ด้วย

คุณประยูรดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองวิชาการในสำนักงานธนาคารชาติไทย ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ต่อมาได้ รักษาการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการแทน ‘คุณเล้ง ศรีสมวงศ์’ ซึ่งออกไปเป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ คุณประยูรได้รักษาการแทน จนเปิดธนาคารแห่งประเทศไทยใน วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2485 และได้กลับไปสังกัดเดิมคือกรมบัญชีกลาง

อีกท่านหนึ่งที่เป็นมันสมองของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยนั้นก็คือ  ‘คุณพิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์’ นักเรียนทุนศุลกากร จบได้ปริญญา B.Sc. (Econ) จากสถาบัน London School of Economic ในแขนงวิชาเศรษฐศาสตร์ตัดสินใจเลือกทำปริญญา B Com. (Group a Banking and Finance) เป็นวิชาใหม่ไม่ค่อยมีผู้เรียน คิดว่าต่อไปข้างหน้าคงจะทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและบ้านเมืองได้ จึงเรียนหนักไปทาง B Com. 

ในปี พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1938) ทางราชการประกาศหาผู้สอบแข่งขันที่เป็นนักเรียนทุนส่วนตัว เพื่อเป็นนักเรียนทุนของกระทรวงการคลัง คุณพิสุทธิ์กำลังเรียนอยู่ปีสุดท้ายสอบชิงทุนของทางราชการได้ ทางราชการจึงเสียเงินให้เรียนอีกเพียงหนึ่งปีก็สอบปริญญาตรีได้เผอิญเกิดสงครามขึ้นที่ยุโรป ทางราชการจึงมีคำสั่งให้รีบเดินทางกลับประเทศไทยทันทีเพราะเกรงภัยในวันข้างหน้าจะรุนแรงขึ้น ทำให้ต้องตัดสินใจเดินทางกลับเมืองไทย 

เมื่อเดินทางกลับถึงเมืองไทย ได้ไปรายงานตัวที่ ก.พ. แต่ทาง ก.พ. ทำหนังสือไปยังปลัดกระทรวงการคลัง (พระยาชัยสุรินทร์) ให้ไปรายงานตัวต่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (หลวงประดิษฐ์ฯ) ท่านสั่งไว้ว่าจะสอบสัมภาษณ์โดยทันที เผอิญท่านติดธุระไปถ่ายภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก เลยคลาดกันวันต่อมาไปพบท่านอีกครั้งได้ไต่ถามวิชาที่เรียนสำเร็จ พอรู้ว่าจบมาทางธนาคารและการเงิน ท่านดีใจเห็นว่าเหมาะที่จะให้ไปทำงานกับคุณเล้ง เพราะคุณเลังกำลังตั้งแบงก์ชาติและกำลังหาตัวผู้ที่เรียนมาทางนี้อยู่พอดี เมื่อไปพบคุณเล้ง ศรีสมวงศ์ท่านนั่งอยู่ในมุมตึกของกรมบัญชีกลาง ในห้องนั้นมีคุณประยูร วิญญรัตน์ หัวหน้ากองประจำกรมและหัวหนักองประมวลบัญชี กรมบัญชีกลางนั่งอยู่ด้วย

ห้องนี้เองเป็นที่ก่อกำเนิดของธนาคารกลางของประเทศไทย ต่อมาได้รับแฟ้มจากคุณเล้งเรื่องการจะออกพันธบัตรเงินกู้การออกหนังสือชี้ชวนการคิดดอกเบี้ยการไถ่ถอนต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษของ Mr. Doll  ให้ไปอ่านดูเพื่อจะประชุมในวันต่อมา ให้เสนอแผนผังงานการกู้เงินและโครงการต่างๆ อย่างละเอียด 

 

ภาพ: พิธีเปิดสำนักงานธนาคารชาติไทยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483

 

ที่ประชุมได้พบท่านที่ปรึกษาฝ่ายไทย (ม.จ.วิวัฒนไชย ไชยันต์) คุณพิสุทธิ์ได้ทำทางและแสดงความสามารถฝากไว้โดยนึกหวังว่าคงได้ทำงานกับธนาคารชาติ ครั้นเมื่อเปิดสำนักงานธนาคารชาติไทยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 คุณพิสุทธิ์ได้รับคำสั่งจากกรมบัญชีกลางให้ไปดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองกู้เงิน จนกระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดทำการเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2485 จึงได้โอนงานมาด้วย คุณพิสุทธิ์ทำงานอยู่ในแบงก์ชาติ เลื่อนขั้นไปหลายตำแหน่งตำแหน่ง

สุดท้ายได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อจาก ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ซึ่งได้ลาออกไปเป็นอาจารย์ ณ ประเทศอังกฤษ ในปีพุทธศักราช 2415 จนครบวาระเกษียณ ในที่สุดหลวงประดิษฐ์ฯ ได้ผู้มีมันสมองทั้งหลายในโอกาสที่เปิดสำนักงานธนาคารชาติไทย ซึ่งต่อมาคือ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ดังที่ได้ตั้งปณิธานไว้ทุกประการ

 

 

สำนักงานธนาคารชาติไทยนี้อาศัยใช้สถานที่ทำการภายในกำแพงพระบรมมหาราชวัง ข้างประตูวิเศษไชยศรี ได้ทำการปรับปรุงและตกแต่งขึ้นใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับที่จะใช้เป็นสำนักงานธนาคารชาติไทยไปพลางก่อน มีการแบ่งส่วนราชการของสำนักงานนี้ออกเป็น 6 กองดังต่อไปนี้ กองกลาง กองวิชาการ กองกู้เงิน กองธนาคาร กองการเงิน และกองบัญชี

ผู้อำนวยการธนาคารชาติไทยคือ “อธิบดีกรมบัญชีกลาง” (พระยาทรงสุรรัฏ นามเดิม อ่อน อนุสนธิ บุนนาค) คุณเล้ง ศรีสมวงศ์ หัวหน้ากองธนาธิการ กรมบัญชีกลางเป็นรองผู้อำนวยการมีพนักงานครั้งแรก 18 นาย 

ครั้นต่อมาปี พ.ศ. 2484 เกิดสงครามเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นบุกประเทศไทยในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ญี่ปุ่นจะนำพนักงานของเขาเข้ามาขอเปิดธนาคารเองในประเทศไทย แต่ประเทศไทยไม่ยอม ต้องรีบเสนอพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นในปลายปีพุทธศักราช 2485 เพื่อไมให้ญี่ปุ่นมาเปิดธนาคารของเขาเองในเมืองไทยได้ 

ในปีนี้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 (ตามคำบอกเล่าของ คุณชลอ ศิลปกุล) คุณเล้ง ศรีสมวงศ์ รองผู้อำนวยการต้องย้ายไปเป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ดังนั้นตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานธนาคารชาติไทยจึงว่างลง ทางปลัดกระทรวงการคลังจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคุณประยูร วิญญูรัตน์ หัวหน้ากองวิชาการมารักษาการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการแทนในปลายปี พ.ศ. 2485 ก่อนจะเปิดเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการเปลี่ยนตัวบุคคลในตำแหน่งผู้อำนวยการเป็น ม.จ. วิวัฒนไชย ไชยันต์ (ฐานันดรศักดิ์เดิม) ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ เมื่อเปิดธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485

จึงให้โอนสินทรัพย์และพนักงานของสำนักงานธนาคารชาติไทยไปเป็นของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป พนักงานธนาคารแห่งประเทศไปเป็นพนักงานแบงก์ชาติตามที่เรียกกันทั่วไป ได้รับผลบุญทั้งเงินทุนสำรองกิจการต่างๆ  และสินทรัพย์ของสำนักงานธนาคารชาติไทยเป็นความภาคภูมิใจที่ไม่ได้รับเงินทุนสำรองมาจากงบประมาณแผ่นดินแต่อย่างใดเป็นผลงานของผู้ริเริ่มก่อตั้งอย่างแท้จริง



ที่มา: ตัดตอนจาก “ขายเหรียญบาทไป ได้แบงก์ชาติมา” เขียนโดย ปทุมรัตร์ ใน วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2542

หมายเหตุ: 

  • แก้ไข จัดรูปแบบประโยค ภาพประกอบโดยบรรณาธิการ

อ่าน: บทความเกี่ยวกับธนาคารแห่งชาติ