ในชีวิตของนายปรีดี พนมยงค์นั้น ได้รู้จักผู้คนมากหน้าหลายตา ในบรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับแวดวงเศรษฐกิจการคลังและการธนาคาร คุณเสริม วินิจฉัยกุล เป็นผู้หนึ่งที่มีความน่าสนใจมาก
ชีวิตครอบครัวและการศึกษา
คุณเสริมเป็นบุตรชายคนโตของพระยานิมิราชทรงวุฒิ (สวน วินิจฉัยกุล) กับคุณหญิงนิมิราชทรงวุฒิ (เนือง) สกุลเดิมบุณยรัตพันธุ์ ซึ่งในวัยเด็กของคุณเสริมนั้น บิดาและมารดาประสงค์จะให้ได้เติบโตและดำเนินอาชีพเป็นผู้พิพากษาเช่นเดียวกันกับบิดา จึงได้พาคุณเสริมในวัย 7 ขวบ ไปเข้าศึกษา ณ โรงเรียนอัสสัมชัญ ตามคำแนะนำของเจ้า พระยาศรีธรรมาธิเบศร์ (แต่เมื่อเป็นหลวงจินดาภิรมย์) เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายจะจัดทำประมวลกฎหมายเช่นเดียวกับประเทศฝรั่งเศส และโรงเรียนอัสสัมชัญก็เป็นโรงเรียนมีการเรียนการสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสในขณะนั้น บิดาและมารดาของคุณเสริมจึงตัดสินใจส่งคุณเสริมเรียน ณ โรงเรียนอัสสัมชัญ เป็นนักเรียนประจำ
เมื่อคุณเสริมเรียนอยู่โรงเรียนอัสสัมชัญได้ 9 ปี ก็จบหลักสูตรมัธยม 6 ภาษาฝรั่งเศสแล้ว คุณเสริมและเพื่อน ๆ ได้ปรึกษาหารือกันว่าอยากจะเรียนภาษาฝรั่งเศสต่ออีกสัก 1 ปี จึงได้ไปร้องขอให้ท่านเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ ได้มีเมตตาตั้งชั้น 7 ให้เป็นกรณีพิเศษ
เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ คุณเสริมได้สมัครเข้าศึกษาต่อโณงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ซึ่ง ณ โรงเรียนกฎหมายแห่งนี้เองกำลังเปิดรับสมัครล่ามภาษาฝรั่งเศส โดยทางกระทรวงยุติธรรมได้ขอให้ทางโรงเรียนอัสสัมชัญหาล่ามภาษาฝรั่งเศสให้ ซึ่งท่านเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ ได้เรียกคุณเสริมไปสอบถามว่าสนใจจะรับงานนี้หรือไม่ ประกอบกับในขณะนั้นโรงเรียนกฎหมายได้กำหนดอัตราเงินเดือนไว้ 80 บาทต่อเดือน ทำให้คุณเสริมตกลงรับงานเป็นล่ามแปลภาษาที่โรงเรียนกฎหมาย โดยคุณเสริมได้ทำงานเป็นล่ามแปลภาษาอยู่โรงเรียนกฎหมาย จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมาย เป็นเนติบัณฑิตในปี พ.ศ. 2472
ชีวิตเมื่อครั้งเป็นผู้ช่วยจัดทำตำรา
ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ไม่เพียงแต่สถาบันการเมืองสำคัญ ๆ ของประเทศจะได้เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ก็ได้แปลงสภาพมาเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พร้อมกับได้มีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนเดิมของโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เสียใหม่เป็นการใหญ่ ทั้งในสาขาวิชากฎหมายและวิชาบัญชี
ในขณะนั้นคุณเสริมก็ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง โดยได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยจัดทำตำราของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญและมีการจัดสอบเป็นกิจลักษณะ เพราะด้วยมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองประสงค์จะให้มีตำราประกอบคำสอนให้ครบถ้วน ซึ่งในช่วงเวลานั้นคุณเสริมได้เข้ามาเป็นผู้ช่วยจัดทำตำราของบุคคลสำคัญหลายท่าน เช่น ศาสตราจารย์ เอกูต์ (Henri EYGOUT)นักกฎหมายชาวฝรั่งเศสผู้บทบาทสำคัญต่อการเรียนการสอนกฎหมายอาญาของประเทศไทย ซึ่งในบางครั้งศาสตราจารย์ เอกูต์ ก็ให้คุณเสริมเป็นผู้บรรยายแทน เป็นต้น
ในเวลาต่อมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความประสงค์จะมีอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย และได้จัดตั้งทุนการศึกษาเพื่อให้บุคคลไปศึกษาต่อต่างประเทศเพื่อกลับมาเป็นอาจารย์ประจำนั้น คุณเสริมได้มีโอกาสสอบและได้รับทุนการศึกษาเพื่อไปศึกษาต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศสพร้อมกันกับคุณทวี ตะเวทิกุล ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของคุณเสริม
ในการไปศึกษาต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศสนั้น นายปรีดีในฐานะผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้กำหนดให้คุณเสริมไปศึกษาต่อทางด้านสาขากฎหมายเอกชนและสาขาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งคุณเสริมใช้เวลาศึกษาอยู่ประเทศฝรั่งเศสประมาณ 3 ปี จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกเป็นดอกเตอร์อังดรัวต์ (Docteur en droit) พร้อมกับได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงทางกฎหมายเอกชนและประกาศนียบัตรชั้นสูงทางเศรษฐศาสตร์
เข้ารับราชการ ณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เมื่อสำเร็จการศึกษากลับมาประเทศไทย รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายจะปรับปรุงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ให้ทันสมัย ดังนั้น เมื่อคุณเสริมกลับมาจากการไปศึกษาต่อ จึงถือว่าเป็นจังหวะอันดีในการเข้ารับราชการต่อ ณ คณะกรรมการกฤษฎีกาในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการร่างกฎหมาย
คุณเสริมรับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการร่างกฎหมายเป็นเวลา 2 ปี ก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการร่างกฎหมาย เรื่อยมาจนกระทั่งศาสตราจารย์ ดร. เดือน บุนนาค เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในเวลานั้น ได้ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี คุณเสริมจึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีภารกิจหลักคือการเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี คอยให้ความเห็นทางกฎหมาย และรับนโยบายของรัฐบาลไปร่างกฎหมาย
ในช่วงที่รับราชการเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา คุณเสริมมีบทบาทสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การเป็นสมาชิกเสรีไทย โดยเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้นนั้น นายปรีดี พนมยงค์ เล็งเห็นผลกระทบจากสงครามที่เกิดขึ้นและได้เตรียมแผนการสำหรับการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นมา โดยในระยะแรกนั้นขบวนการเสรีไทยประกอบด้วยสมาชิกเพียงไม่กี่คนที่เข้ามาร่วมกันรับฟังนโยบายจากนายปรีดี โดยการนัดพบกันนั้นจะใช้วิธีการนัดทานอาหารกลางวันกันที่ห้องเล็ก ๆ ห้องหนึ่งของตึกโดมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยสมาชิกนัดทานอาหารกลางวันนี้ประกอบไปด้วยตัวนายปรีดีเอง และสมาชิกอีก 4 คน คือ ศาสตราจารย์ ดร. เดือน บุนนาค ศาสตราจารย์ วิจิตร ลุลิตานนท์ คุณทวี ตะเวทิกุล และตัวคุณเสริมเอง
ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง และในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิคนั้นจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ประกาศยอมแพ้สงครามต่อกองทัพของประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยซึ่งร่วมเป็นพันธมิตรกับจักรวรรดิญี่ปุ่น จึงพลอยมีสถานะเป็นผู้แพ้สงครามไปด้วยเช่นกันในสายตาของชาติสัมพันธมิตรบางชาติ เช่น รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรได้แสดงความจำนงขอให้รัฐบาลไทยส่งผู้แทนไทยไปเจรจาสัญญาความตกลงสมบูรณ์แบบ ซึ่งเป็นสนธิสัญญายุติสงครามระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหราชอาณาจักร (อ่านรายละเอียดต่อได้ที่ ความตกลงสมบูรณ์แบบและปัญหาข้าว) ซึ่งคณะผู้สำเร็จราชการในขณะนั้นได้แต่งตั้งหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยยันต์ (ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย) พลโท พระยาอภัยสงคราม และคุณเสริม ไปเป็นผู้แทนของรัฐบาลไทยไปเจรจากับรัฐบาลสหราชอาณาจักร ณ เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม คณะผู้แทนในครั้งนั้นไม่สามารถเจรจาได้เป็นผลสำเร็จ
จากนักร่างกฎหมายสู่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 2
เมื่อกลับมาจากประเทศศรีลังกา คุณเสริมได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง จนหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เกิดมีเหตุขัดใจกับรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนลาออกจากตำแหน่ง พร้อมกับรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอีก 2 คน (อ่านรายละเอียดต่อได้ที่ ภาวะเงินเฟ้อกับชีวิตคนไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) ทำให้รัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ต้องหาบุคคลอื่นมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งคุณเสริมได้บรรยายเหตุการณ์นั้นเอาไว้ในอัตชีวประวัติว่า
“...วันหนึ่งคุณหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งข้าพเจ้าคุ้นเคยกับท่านเป็นอันดี เพราะเป็นเนติบัณฑิตรุ่นเดียวกัน และนับถือท่าน ได้เรียกข้าพเจ้าไปพบ และขอร้องให้ข้าพเจ้าไปเป็นผู้ว่าการธนาคารชาติ...”
แม้ว่าคุณเสริมจะได้สงสัยและรู้สึกแปลกใจถึงเหตุผลดังกล่าว แต่ด้วยหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นบุคคลที่คุณเสริมเคารพ และเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาได้ขอร้องและคาดคั้น คุณเสริมจึงตกลงยอมรับในการไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยต่อจากหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ซึ่งขณะนั้นคุณเสริมมีอายุเพียง 39 ปีเศษเท่านั้น
ความท้าทายของคุณเสริมในการเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยต่อจากหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ก็คือ ธนาคารแห่งประเทสไทยเกือบไม่มีเงินตราต่างประเทศเหลืออยู่เลย รัฐบาลได้ออกกฎหมายอนุมัติให้ขายทองคำสำรองที่รัฐบาลได้เอาไปฝากไว้ในประเทศสหรัฐอเมริกาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเริ่มต้นภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องซื้อกลับคืนมาภายใน 5 ปี ซึ่งผลจากการขายทองคำนั้นทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีทุนสำรองเป็นเงินจำนวน 5,000,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในเรื่องนี้หม่อมเจ้าวิวัฒนไชยได้ดำเนินการไปแล้วเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และได้ขอร้องให้คุณเสริมดำเนินการซื้อทองคำคืนให้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งคุณเสริมได้ทำสำเร็จภายในระยะเวลา 2 ปีต่อมา
การหาเงินตราต่างประเทศเข้ามานั้นทำได้ยากลำบากมากในขณะนั้น รัฐบาลต้องอาศัยวิธีการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงิน และควบคุมการส่งเงินออกไปนอกประเทศ โดยกำหนดให้จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นอกจากนี้อัตราแลกเปลี่ยนก็ไม่คงที่ทำให้ต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนระบบหลายอัตราคือ ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยไปพร้อมกับการใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามตลาด (อ่านรายละเอียดต่อได้ที่ ภาวะเงินเฟ้อกับชีวิตคนไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2)
ในระหว่างที่คุณเสริมดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นสมัยที่ 2 (พ.ศ. 2495 - 2498) ในปี พ.ศ. 2497 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แต่งตั้งให้คุณเสริมดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังเพิ่มอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยเป็นปลัดกระทรวงการคลังคนแรกของประเทศไทย
ในช่วงดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังนั้น คุณเสริมได้รับความไว้วางใจจากพระบริภัณฑ์ยุทธกิจ (เภา เพียรเลิศ) ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยพระบริภัณฑ์ยุทธกิจได้มอบหมายภารกิจสำคัญ ๆ ให้แก่คุณเสริมทำเป็นจำนวนมากทั้งการต้อนรับแขกสำคัญของรัฐบาล เช่น อดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้คุณเสริมเข้าประชุมธนาคารโลกแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
คุณเสริมเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2500-2501 ซึ่งเป็นการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพียงชั่วคราวและในขณะเดียวกันคุณเสริมก็ดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงการคลังไปด้วย จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2508 คุณเสริมได้ลาออกจากตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังเพื่อรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพียงตำแหน่งเดียว โดยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร
บทบาทของคุณเสริม วินิจฉัยกุลนั้น เปลี่ยนแปลงไปจากความตั้งใจเริ่มต้นของบิดาและมารดาเป็นอย่างมาก คุณเสริมไม่ได้มีโอกาสเป็นผู้พิพากษาดังความตั้งใจของบิดา แต่ที่ผ่านมาคุณเสริมได้ทำกิจการงานต่าง ๆ เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติมาโดยตลอด
ที่มาภาพ
- อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ นายเสริม วินิจฉัยกุล ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม. นายกราชบัณฑิตยสถาน
บรรณานุกรม
- อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ นายเสริม วินิจฉัยกุล ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม. นายกราชบัณฑิตยสถาน ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 19 ตุลาคม พุทธศักราช 2528
- จารุบุตร เรืองสุวรรณ, “นิทานเสรีไทย,” สถาบันปรีดี พนมยงค์, สืบค้น จาก https://pridi.or.th/th/content/2020/08/377.
- ธนาคารแห่งประเทศไทย, “นายเสริม วินิจฉัยกุล,” ธนาคารแห่งประเทศไทย, สืบค้นจาก https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/RolesAndHistory/Governor/Pages/Serm.aspx