อาจารย์พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม ได้เคยเล่าถึงบทบาทของปรีดี พนมยงค์กับธนาคารชาติ ซึ่งในเวลาต่อมาธนาคารชาติไทยนี้ได้พัฒนาเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันที่มีความสำคัญทั้งในฐานะผู้กำหนดนโยบายการเงิน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ เป็นนายธนาคารของรัฐบาล และการเป็นหน่วยงานของรัฐที่กำกับการประกอบกิจการธนาคาร
ในวาระ 75 ปี วันสันติภาพไทย (16 สิงหาคม 2488-2563) ที่จะมาถึงนี้ ผู้เขียนจึงขอเล่าถึงบทบาทและความสำคัญของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ในครั้งแรกเริ่มสำนักงานธนาคารชาติไทย
เมื่อแรกเริ่มนั้นการก่อตั้งนั้น สำนักงานธนาคารชาติไทยมีสถานะเป็นส่วนราชการภายใต้กระทรวงการคลัง (ทบวงการเมือง)[1] โดยมีวัตถุประสงค์ตั้งต้นเพื่อเป็นหน่วยงานในการจัดหาเงินกู้ให้กับรัฐบาลผ่านทางพันธบัตรรัฐบาล[2] จัดระเบียบเงินตราและรักษาทุนสำรองไว้ให้เป็นหลักแห่งความมั่นคงในการเงิน และดำเนินวิธีเงินตราและเครดิตของประเทศ[3] อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจในการตรากฎกระทรวงการคลังเพิ่มอำนาจให้แก่สำนักงานธนาคารชาติไทยได้
ในช่วงที่ปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น ได้ตรากฎกระทรวงขึ้นมา 2 ฉบับ[4] กำหนดอำนาจหน้าที่ให้กับสำนักงานธนาคารชาติไทยเพิ่มเติมซึ่งปรับเปลี่ยนบทบาทของธนาคารชาติไทยให้เป็นธนาคารกลางมากขึ้น ได้แก่
(1) การรับฝากเงินและให้กู้ยืมเงินแทนรัฐและองค์การสาธารณะ และเกี่ยวแก่องค์การสาธารณะ ธนาคาร และเครดิตสถาน
(2) การออกกู้เงินและจัดการเงินกู้ แทนรัฐและองค์การสาธารณะ
(3) การธนาคารอื่นใดอันคล้ายคลึงกัน แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะต้องอนุมัติเป็นราย ๆ ไป
(4) ให้สำนักงานธนาคารชาติไทยจัดการออกประกาศเป็นครั้งคราวแจ้งอัตราภายในประเทศสำหรับการซื้อและขายค่าปริวรรตแห่งเงินตราต่างประเทศเมื่อเห็น
จากธนาคารชาติไทยสู่ธนาคารแห่งประเทศไทย
ในช่วงที่สำนักงานธนาคารชาติไทยได้จัดตั้งขึ้นมานั้น สงครามครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มปะทุขึ้นแล้วในฝั่งภาคพื้นทวีปยุโรป สถานการณ์ในประเทศไทยในขณะนั้นรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศให้ประเทศไทยเป็นกลาง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ตั้งแต่เวลาประมาณ 2.00 น. กองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่จังหวัดสมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี และปัตตานี และบุกเข้าประเทศไทยทางบกผ่านอรัญประเทศ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2
การบุกครองไทยของญี่ปุ่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการและเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและเป็นพันธมิตรทางการทหารกับฝ่ายอักษะอย่างเต็มตัวและยกเลิกความสัมพันธ์กับฝ่ายสัมพันธมิตร
การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรส่งผลต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในเวลานั้นหลายอย่าง โดยก่อนหน้าสงครามมหาเอเชียบูรพาจะเริ่มต้น ประเทศไทยผูกค่าเงินบาทไว้กับเงินปอน์ดสเตอร์ลิงของประเทศสหราช-อาณาจักร เนื่องจากเศรษฐกิจของไทยขึ้นอยู่กับการค้าต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ การผูกค่าเงินบาทไว้กับเงินปอน์ดสเตอร์ลิงนี้ช่วยรักษาเสภียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับมั่นคง[5] โดยไม่ได้มีการบังคับควบคุมการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแต่อย่างใด แต่ผลจากสงครามมหาเอเชียบูรพาที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมกับจักรวรรดิญี่ปุ่นนั้นทำให้ไทยต้องตัดความสัมพันธ์กับประเทศในกลุ่มสัมพันธมิตรและเปลี่ยนมาค้าขายกับจักรวรรดิญี่ปุ่นแต่เพียงประเทศเดียว ทั้งยังต้องยอมรับเงื่อไขทางการเงินอีกด้วย
การเข้ามามีบทบาทของจักรวรรดิญี่ปุ่นต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความต้องการสร้าง “วงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา” ซึ่งหนึ่งในปัจจัยนั้น ก็คือ การจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นมาในประเทศต่าง ๆ ที่จักรวรรดิญี่ปุ่นได้แผ่อิทธิพลเข้าไป จักรวรรดิญี่ปุ่นได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นมาเป็นเจ้าหน้าที่เงินตรา โดยมีที่ปรึกษาและหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ เป็นชาวญี่ปุ่น[6] ซึ่งทำให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นต้องเร่งรัดกระบวนการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นผิดจากเดิมที่จะคอยให้ธนาคารพาณิชย์มีจำนวนเพิ่มขึ้นและสำนักงานธนาคารชาติไทยมีความพร้อมจะขยับขยายขึ้นมาเป็นธนาคารกลาง
เพื่อป้องกันมิให้จักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ามาครอบงำและมีอิทธิพลควบคุมเหนือการเงินของประเทศไทย รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายไทยของกระทรวงการคลังเร่งร่างกฎหมายในการจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นมาเพื่อที่จะประกาศใช้โดยเร็วที่สุด ซึ่งในเวลาต่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยก็ได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นพระองค์แรก
เมื่อร่างกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับอนุมัติผ่านสภาผู้แทนราษฎรประการใช้เป็นพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ได้ทรงเสด็จไปเจรจากับทางการญี่ปุ่นจนสำเร็จและสามารถป้องกันไม่ให้จักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ามามีอำนาจควบคุมระบบเงินตราและเครดิตของไทย[7] ซึ่งในเวลาต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดดำเนินการในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ณ อาคารที่ทำการเดิมของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ถนนสี่พระยา ซึ่งยุติการดำเนินกิจการลงเนื่องจากเป็นธนาคารดังกล่าวเป็นธุรกิจของชาติคู่สงคราม
บทบาทธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดตั้งขึ้นมา บทบาทการปฏิบัติหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการออกธนบัตรและการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยเฉพาะจากปัญหาเงินเฟ้อ สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงเวลานั้นผูกพันอยู่กับประเทศญี่ปุ่น
1. การพิมพ์ธนบัตร
ในสภาวะสงครามทำให้รัฐบาลมีรายจ่ายสูงมากกว่าสถานการณ์ปกติ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยมีบทบาทในการต้องจัดหาเงินส่วนที่ขาดให้รัฐบาลกู้ยืมก่อน อย่างไรก็ตาม ผลของจากการเข้าร่วมสงครามทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยตัดขาดกับฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งรวมถึงสหราชอาณาจักร และเปลี่ยนมาค้าขายแต่กับญี่ปุ่นและดินแดนที่ประเทศญี่ปุ่นยึดครองเท่านั้น ประกอบกับรัฐบาลจักรวรรดิญี่ปุ่นเสนอให้รัฐบาลไทยปรับให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินเยนเป็น 100 บาท ต่อ 100 เยน[8] ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นค่าเงินบาทมีมากกว่าค่าเงินเยน โดยอัตราเปรียบเทียบอยู่ที่ 100 บาท ต่อ 155.70 เยน[9] ทำให้ประเทศไทยต้องตรากฎหมายเข้ามาควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา คือ พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485 ผลของการที่รัฐบาลไทยตกลงปรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินเยน และรัฐบาลทั้งสองประเทศได้ทำความตกลงยอมรับการชำระเงินระหว่างประเทศทั้งสองประเทศเป็นเงินเยน ส่งผลต่อเสถียรภาพเงินตราภายในประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกธนบัตรมากกว่าปกติ เพื่อที่จะรับรองการแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินเยนที่ญี่ปุ่นนำมาเป็นค่าใช้จ่ายของกองทัพญี่ปุ่นและการค้าของคนญี่ปุ่นในประเทศไทย
ความท้าทายของธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้นเกิดมาจาก 2 สาเหตุ คือ
ประการแรก การพิมพ์ธนบัตรเพิ่มจำเป็นต้องคำนึงถึงทุนสำรองเงินตราของประเทศไทยอันประกอบไปด้วยทองคำและเงินปอนด์สเตอร์ลิง ซึ่งส่วนใหญ่เก็บรักษาไว้ในประเทศคู่สงครามของไทยคือ สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ทำให้ทุนสำรองถูกกักกัน รัฐบาลจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงสัดส่วนทุนสำรองเงินตราของประเทศไทยเสียใหม่[10] รัฐบาลจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสัดส่วนทุนสำรองเงินตราของประเทศไทยโดยเพิ่มพันธบัตรเงินกู้ของรัฐบาลและพันธบัตรคลังเข้าประกอบเป็นทุนสำรอง[11] ซึ่งรัฐบาลสามารถที่จะพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นได้เท่ากับจำนวนทุนสำรอง นอกจากนี้ รัฐบาลเข้าควบคุมโดยงดการรับหรือจ่ายเงินปอนด์สเตอร์ลิง เว้นแต่จะแลกเปลี่ยนกับทองคำในอัตราหนึ่งบาทต่อ 0.32639 กรัม อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นตกลงกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินเยนที่ 100 บาท ต่อ 100 เยน ทำให้ต้องกำหนดค่าเงินบาทกับทองคำลดลงเป็น 0.25974 กรัม ต่อ 1 บาท[12]
ประการที่สอง การลดค่าเงินบาทลงเท่ากับเงินเยนทำให้สินค้าออกของไทยมีราคาถูกลงมากเมื่อเทียบเป็นเงินเยน ประกอบกับญี่ปุ่นมีความต้องการในสินค้าเหล่านั้นเป็นอันมาก แต่ในเวลาเดียวกันสินค้าเข้าจากญี่ปุ่นมีน้อย เนื่องจากญี่ปุ่นในขณะนั้นปรับเปลี่ยนการผลิตไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหาร ทำให้สินค้าออกจากไทยมีมากกว่าสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม เมื่อมีสินค้าออกมากกว่าสินค้าเข้า แต่ในสภาวะสงครามบีบให้รัฐบาลไทยต้องลดค่าเงินบาทลง และคงอัตราแลกเปลี่ยนไว้คงที่ในอัตรา 100 บาท ต่อ 100 เยน ทำให้ปริมาณเงินตราภายในประเทศมีมากจนเกินไปไม่สัมพันธ์กับปริมาณสินค้าทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ[13]
2. การแก้ปัญหาเงินเฟ้อ
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ทรงอธิบายสาเหตุของการเกิดเงินเฟ้อมาจากปัจจัย 3 ประการ คือ[14] ประการแรก การใช้จ่ายของทหารญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลมาจากความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับจักรวรรดิญี่ปุ่นในการชำระเงินระหว่างประเทศทั้งสอง ประการที่สอง รัฐจ่ายเงินกว่ารายได้ โดยรัฐบาลไทยในขณะนั้นกู้ยืมเงินจากรัฐบาลจักรวรรดิญี่ปุ่นเป็นเงิน 200 ล้านเยน และผลของพระราชบัญญัติกู้เงินเพื่อความมั่นคงแห่งเงินตราและการอื่น ๆ พุทธศักราช 2485 ซึ่งได้ทำให้เงินไหลเข้าสู่ระบบมากขึ้น และประการที่สาม การกำหนดอัคราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินเยนดังได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น
สำหรับวิธีในการจะแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อจึงต้องดึงเงินออกจากมือของประชาชนให้ได้มากที่สุดทั้งในทางตรงและทางอ้อม เช่น การกำหนดให้ข้าราชการที่มีเงินเดือนสูงเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคาร เพื่อรับเงินเดือนโดยใช้วิธีเครดิตบัญชี หรือการให้กระทรวงการคลังออกพันธบัตรเพื่อกู้เงิน ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า “พันธบัตรทองคำ” เป็นต้น
นอกจากการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้ดูแลเครดิตของธนาคารพาณิชย์ตามพระราชกำหนดควบคุมเครดิตในภาวะคับขัน พุทธศักราช 2486 กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์มีเงินสดสำรองไว้เป็นจำนวนตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเป็นคราว ๆ ไป และกำหนดให้พันธบัตรรัฐบาลเป็นสัดส่วนของเงินฝากตามที่กำหนดไว้ด้วย[15]
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อนั้นทำได้ยากมากในสถานการณ์สงคราม เพราะแม้จะสามารถดึงเงินออกจากมือของประชาชนผ่านมาตรต่าง ๆ ก็ตาม แต่มาตรการดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงชั่วคราว เพราะปัญหาใหญ่ของเงินเฟ้อนั้นก็มาจากการใช้จ่ายของทหารญี่ปุ่น ซึ่งจากจะในสถานการณ์นั้นรัฐบาลจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ติดต่อมายังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอให้รัฐบาลไทยจัดหาเงินไว้เพื่อกิจการทางทหารของกองทัพญี่ปุ่น เช่น ตามหนังสืออีดี 143/45 ลงวันที่ 3 มกราคม 2488 เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นได้แจ้งให้รัฐบาลไทยจัดหาเงินจำนวน 420 ล้านบาทไว้ให้ใช้ราชการทหารญี่ปุ่น ป็นต้น[16] ซึ่งการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในลักษณะดังกล่าวเป็นแรงผลักดันให้เกิดเงินเฟ้ออย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะหากไม่มีการแก้ไขใด ๆ เลย ย่อมทำให้ค่าครองชีพและราคาสินค้าสูงขึ้น้กว่าที่เป็น ปัญหาเงินเฟ้อได้ดำเนินไปจนกระทั่งแม้ในภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ทั้งมาตรการทางการคลังและมาตรการทางการเงิน สำหรับในส่วนของมาตรการทางการคลังนั้นรัฐบาลจะดำเนินผ่านทางการจัดงบประมาณแผ่นดิน เช่น จะต้องจัดงบประมาณให้มีรายได้มากกว่ารายจ่ายให้มากที่สุดที่จะมากได้ เพื่อถอนธนบัตรที่ไม่มีทุนสำรองหนุนหลังออก เป็นต้น สำหรับในส่วนของมาตรการทางการเงินนั้นธนาคารจะต้องพยายามยับยั้งการหมุนเวียนของเงินให้มากที่สุด ต้องไม่มีการใช้เงินไปในทางเก็งกำไรในการกักตุนสินค้า หลักทรัพย์หรือที่ดิน แต่ควรสนับสนุนและส่งเสริมในการผลิตสินค้า ในการนี้ธนาคารจะต้องปฏิบัติคือ ส่งเสริมการออมทรัพย์ตามวิธีการของธนาคารออมสิน กู้เงินจากประชาชนเพื่อให้รัฐบาลใช้ในทางที่เกิดดอกออกผล และควบคุมการให้กู้ยืมเงินของธนาคารต่าง ๆ ให้เป็นไปตามความประสงค์ และกักเงินสดของธนาคารให้มีมากกว่าปัจจุบัน ตามพระราชกำหนดควบคุมเครดิตในภาวะคับขัน พ.ศ. 2486[17]
แม้เจตนารมณ์ในช่วงแรกที่ต้องการให้สำนักงานธนาคารชาติไทยได้พัฒนาบทบาทขึ้นมาเป็นธนาคารกลางในอนาคต แต่เมื่อสถานการณ์บีบบังคับจากปัจจัยภายนอกทำให้ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตั้งขึ้นมานั้นมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในสภาวะสงคราม
[1] พระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย พุทธศักราช 2482, มาตรา 3.
[2] ในการจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยปรีดี พนมยงค์ ได้โน้มน้าว W.A.M. Doll ที่ปรึกษากระทรวงการคลังชาวอังกฤษในขณะนั้นเห็นพ้องด้วยถึงความจำเป็นในการมีธนาคารกลางทำหน้าที่ในการจัดหาเงินกู้ให้แก่รัฐบาล ซึ่งขณะนั้นไม่เห็นด้วยกับการตั้งธนาคารกลางขึ้นเพื่อกำกับการประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ในขณะนั้นมีจำนวนไม่มาก; โปรดดู พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่อม, “ปรีดี พนมยงค์กับธนาคารชาติ,” สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563, จาก https://pridi.or.th/th/content/
2020/04/38.
[3] พระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย พุทธศักราช 2482, มาตรา 4.
[4] กฎกระทรวงฉบับแรกได้ประกาศใช้ในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2482 และฉบับที่สองได้ประกาศใช้ในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483.
[5] ค่าเงินบาทต่อเงินปอน์ดสเตอร์ลิงคือราวๆ ประมาณ 11 บาท ต่อ 1 ปอน์ดสเตอร์ลิง; โปรดดู ธนาคารแห่งประเทศไทย, เดช สนิทวงศ์, (กรุงเทพมหานคร : ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2518), น. 1.
[6] ธนาคารแห่งประเทศไทย, 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย 2485–2535, (กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ, 2535), น. 71.
[7] ธนาคารแห่งประเทศไทย, “การจัดตั้งและการดำเนินงานในช่วงแรกของธนาคารแห่งประเทศไทย,” สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563, จาก https://www.botlc.or.th/item/archive_collection/00000134664?fbclid=IwAR022bl2KfgD-BD6rqe9wSYKfBbnb1POreaLdHwX5J_DMbhZAgsykJs-HOA.
[8] รวิพรรณ สาลีผล, “ประวัติของเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่ 2475,” สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563, จาก https://econ.swu.ac.th/wp-content/uploads/2019/06/Ravipan_ประวัติของเศรษฐกิจไทย.pdf
[9] เพิ่งอ้าง.
[10] รัฐบาลไทยได้ปรับเอาเงินเยนเข้ามาเป็นสัดส่วนเงินทุนสำรอง พร้อมกันกับพันธบัตรเงินกู้ของรัฐบาลและพันธบัตรคลัง.
[11] กฎกระทรวงการคลังออกตามความในพระราชบัญญัติเงินตราในภาวะฉุกเฉิน พุทธศักราช 2484 (ฉบับที่ 2), ข้อ 3.
[12] กฎกระทรวงการคลังออกตามความในพระราชบัญญัติเงินตราในภาวะฉุกเฉิน พุทธศักราช 2484 (ฉบับที่ 3).
[13] รวิพรรณ สาลีผล, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 9.
[14] ธนาคารแห่งประเทศไทย, “เงินเฟ้อและการแก้ปัญหาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2” สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563, จาก https://www.botlc.or.th/item/archive_collection/00000134666.
[15] เอกสารจดหมายเหตุธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การควบคุมเครดิตและพระราชกำหนดควบคุมเครดิตในภาวะคับขัน, เลขเอกสาร DAC004-000-004.
[16] เอกสารจดหมายเหตุธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง บันทึกเรื่องเงินค่าใช้จ่ายเพื่อการทหารญี่ปุ่น งวดมกราคม-มิถุนายน 2488, เลขเอกสาร DAC004-001-013.
[17] เอกสารจดหมายเหตุธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2, เลขเอกสาร DAC004-000-015.
- ธนาคารแห่งประเทศไทย
- ธนาคารชาติ
- พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม
- วันสันติภาพไทย
- ขบวนการเสรีไทย
- ปรีดี พนมยงค์
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- 24 มิถุนายน 2475
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- สงครามมหาเอเชียบูรพา
- ค่าเงินบาท
- จักรวรรดิญี่ปุ่น
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย
- พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485
- เขมภัทร ทฤษฎิคุณ