ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้

28
สิงหาคม
2564

 

‘พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์’ อดีตอธิบดีกรมตำรวจในช่วงพ.ศ. 2494 ถึง พ.ศ. 2500 ผู้เป็นเจ้าของคำขวัญ “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ในทางที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและกฎหมายบ้านเมือง”

ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับคำขวัญดังกล่าวหรือไม่ เราก็ควรพิจารณาจากการกระทำในอดีตของผู้เป็นเจ้าของคำขวัญดังกล่าวเสียก่อน

‘เผ่า ศรียานนท์’ เป็นทหารคนสนิท และมีความใกล้ชิดกับ ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ มาก โดยเฉพาะตั้งแต่จอมพล ป. ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมไปถึงช่วงที่จอมพล ป.ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งสองสมัย จนกระทั่งรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามถูกรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 เผ่าเป็นนายตำรวจที่ประชาชนชาวไทยในยุคสมัยนั้นรู้จักเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นเสมือนมือขวาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

‘เผ่า ศรียานนท์’ เริ่มเข้ารับราชการทหารครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 ในตำแหน่งยศนายร้อยตรี

นายทหารผู้นี้ได้เข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อพ.ศ. 2475 และได้รู้จักกับ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ จากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนี้

เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2482 หลังจากนายพันเอกหลวงพิบูลสงครามได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียง 1 เดือน รัฐบาลของหลวงพิบูลสงครามได้กวาดล้างศัตรูทางการเมืองด้วยการจับกุมและฟ้องจำเลยหลายคนในข้อหากบฏ โดยมีการตั้งศาลพิเศษขึ้นมา โดยจำเลยไม่สามารถแต่งตั้งทนายความ ไม่สามารถอุทธรณ์ และฎีกา มีผู้ถูกวิสามัญฆาตกรรมก่อนที่จะถูกนำมาฟ้องต่อศาลพิเศษนี้ถึง 3 คน 

ในท้ายที่สุด ศาลพิเศษนี้ตัดสินจำคุกจำเลยส่วนใหญ่ รวมไปถึงสั่งประหารชีวิตจำเลยทั้งสิ้น 18 คน นอกจากนี้ยังพบว่ามีตำรวจและทหารหลายนายที่ไปเป็นพยานโจทก์เบิกความเท็จในศาลเพื่อปรักปรำจำเลย และในคดีนี้เผ่า ศรียานนท์เองก็ได้เป็นพยานโจทก์เบิกความว่าได้อยู่กับหลวงพิบูลสงครามในช่วงที่ถูก ‘นายลี บุญตา’  ยิง และถูก ‘พันจ่าตรี ทองดี’ วางยาพิษในอาหารภายในบ้านพักของหลวงพิบูลสงคราม

หลังจากที่กวาดล้างศัตรูทางการเมือง หลวงพิบูลสงครามก็ได้บริหารประเทศด้วยนโยบายชาตินิยม ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ เป็น จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังจากที่ได้รับความช่วยเหลือจากจักรวรรดิญี่ปุ่นในการเรียกร้องดินแดนอินโดจีนคืนจากฝรั่งเศส 

ขณะเดียวกัน นายพันตรี เผ่า ศรียานนท์ ก็มีความเจริญเติบโตในหน้าที่การงานอย่างมาก ได้เป็นถึงผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ใน เป็นเจ้ากรมเสมียนตรา กระทรวงกลาโหม เป็นเจ้ากรมเชื้อเพลิง และลาออกจากราชการเป็นการชั่วคราวหลังจากที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของจักรวรรดิญี่ปุ่นและฝ่ายอักษะ

‘เผ่า ศรียานนท์’ มีส่วนร่วมในการรัฐประหารรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อ พ.ศ. 2490 ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อมาคลี่คลายปัญหากรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

หลังจากนั้นจึงได้กลับเข้ารับราชการ โดยโอนมาอยู่กรมตำรวจ มียศพลตำรวจตรีในตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจ ในปี พ.ศ. 2491

ในการดำเนินคดีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนั้น โจทก์นำสืบว่า ‘นายชาติ เศรษฐทัต’ ซึ่งเป็นคนสนิทของนายปรีดี พนมยงค์ในขบวนการเสรีไทย ได้จ้างวาน นายสี่ หรือ นายชูรัตน์ ให้ไปยิงบุคคลสำคัญ แต่นายสี่ หรือ นายชูรัตน์ ปฏิเสธเมื่อรู้ว่าเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โดยมี พล.ต.ต. เผ่า ศรียานนท์ เป็นพยานโจทก์เบิกความว่า ‘ร้อยตรี กรี พิมพกร’ ได้พานายสี่ หรือ นายชูรัตน์ มาพบตนเอง และเล่าเรื่องราวดังกล่าวให้ตนได้รับทราบ

พ.ศ. 2494 พล.ต.ต.เผ่า ศรียานนท์ มีตำแหน่งทางการเมืองเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในขณะเดียวกันก็ได้เลื่อนตำแหน่งข้าราชการประจำเป็นอธิบดีกรมตำรวจ  และได้รับพระราชทานยศเป็นพลตำรวจเอกในปี พ.ศ. 2495

‘พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์’ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาความสงบภายในทั่วราชอาณาจักร ในเหตุการณ์การรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2494 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกที่เรียกได้ว่า เป็นการรัฐประหารรัฐบาลตัวเอง เนื่องจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี อ้างว่าไม่ได้รับความสะดวกในการบริหารราชการแผ่นดิน เหตุสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2492 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ขณะนั้น ไม่เอื้อต่อการบริหารประเทศ โดยเฉพาะข้าราชการประจำจะไม่สามารถเป็นสมาชิกวุฒิสภา

ยุคของพล.ต.อ. เผ่า นั้น ถูกเรียกว่ายุค “รัฐตำรวจ” หรือ “อัศวินผยอง” เนื่องจาก พล.ต.อ.เผ่า ได้เสริมสร้างขุมกำลังตำรวจจนสามารถเทียบเท่ากับกองทัพๆ หนึ่งเหมือนทหารได้ โดยเริ่มให้มี ตำรวจน้ำ, ตำรวจพลร่ม, ตำรวจม้า, ตำรวจรถถัง ตลอดจนให้มีธงไชยเฉลิมพลเหมือนทหาร จนมีการกล่าวในเชิงประชดว่า อาจจะมีถึงตำรวจเรือดำน้ำ เป็นต้น โดยประโยคที่สะท้อนให้เห็นถึงตัวตนของตำรวจในสมัยนั้น ซึ่งเป็นประโยคของพล.ต.อ.เผ่าเอง คือ “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ในทางที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและกฎหมายบ้านเมือง”

ในยุคนั้นประชาชนทุกคนต่างรู้ดีว่า ไม่ควรจะกระทำการใดที่เป็นการต่อต้านอำนาจรัฐเพราะอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น กรณีสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรีที่ถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 13 เมื่อปี พ.ศ. 2492 หลังเหตุการณ์กบฏวังหลวง รวมไปถึงกรณีนายเตียง ศิริขันธ์และผู้ติดตามอีก 4 คน หายตัวไปหลังจากเข้าพบ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2494 ทั้งหมดถูกสังหาร และนำศพไปเผาที่ตำบลแก่งเสี้ยน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ รับรู้ว่าตำรวจเป็นผู้เลี้ยงบรรดานักเลงและอันธพาลในยุคนั้นเป็นลูกน้องซึ่งเรียกกันว่า “นักเลงเก้ายอด” อันมาจากการที่นักเลงอันธพาลเหล่านั้นสามารถเข้าออกกองบัญชาการตำรวจกองปราบได้โดยสบาย ซึ่งทำให้เหล่านักเลงอันธพาลเกลื่อนเมือง

พ.ศ. 2494 พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ได้เป็นรัฐมนตรี และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตราธิการ และต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในปี พ.ศ. 2497

ในทางการเมือง พล.ต.อ. เผ่า มีฐานะเป็นเลขาธิการพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ถูกกล่าวว่าสกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะมีตั้งแต่การข่มขู่ผู้ลงคะแนนให้เลือกแต่พรรคเสรีมนังคศิลา มีการเวียนเทียนลงคะแนนกันหลายรอบ ที่เรียกว่า “พลร่ม” หรือ “ไพ่ไฟ” ซึ่งนับคะแนนกันถึง 7 วัน 7 คืน

จากเหตุการณ์นี้ ส่งผลให้กลุ่มนายทหารที่นำโดย ‘พลเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์’ ไม่พอใจ โดยเริ่มทำการปราศรัยโจมตีตำรวจที่ท้องสนามหลวงบนลังสบู่ ที่เริ่มเรียกกันว่า “ไฮปาร์ค” จนในที่สุดนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ซึ่งเหตุการณ์ในวันนั้น พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ยังไม่ได้หลบหนีไปต่างประเทศเหมือนจอมพล ป. พิบูลสงครามแต่ยอมเข้ามอบตัวแต่โดยดี โดยกล่าวว่า “อั๊วมาแล้ว จะเอายังไงก็ว่ามา”

วันรุ่งขึ้น พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ลือกันว่า พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ มีทรัพย์สินอยู่มากมาย มีคฤหาสน์หลังใหญ่ติดทะเลสาบที่นครเจนีวา จนครั้งหนึ่งนิตยสารต่างประเทศฉบับหนึ่งจัดอันดับมหาเศรษฐี 10 อันดับของโลก ก็มีชื่อของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ติดอยู่ในอันดับด้วย

พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยอาการหัวใจวายเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2503 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยอายุเพียง 51 ปี

จากการกระทำของ ‘พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์’ ในอดีตนั้นได้ส่งผลกระทบต่อการเมืองการปกครองของประเทศไทยในปัจจุบัน รวมไปถึงส่งผลกระทบต่อองค์การตำรวจในปัจจุบันอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง ดังนั้นผู้เขียนมีความเห็นว่าคำขวัญดังกล่าวควรปรับให้เข้ากับสถานการณ์ในอดีตและปัจจุบัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2564 ที่ปรากฏเหตุการณ์ที่นายตำรวจหลายนายได้ร่วมกับซ้อมทรมานผู้ต้องหาด้วยการใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะจนกระทั่งเสียชีวิต คำขวัญที่สอดคล้องกับการกระทำของตำรวจในอดีตและปัจจุบันคือ

“ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้”