ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

รัฐประหาร 2490 กับการดำเนินคดีสวรรคต ร.8

8
พฤศจิกายน
2564

ท่ามกลางกระแสข่าวความพยายามก่อการรัฐประหารที่ยังคงดำรงอยู่ตลอดเวลา แต่พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ยังคงมีความมั่นใจในเสถียรภาพในรัฐบาลของตนจนถึงขนาดกล่าวว่า “นอนรอปฏิวัติมานานแล้ว ไม่เห็นปฏิวัติเสียที”

ก่อนการรัฐประหารจะเกิดขึ้น มีการประชุมกันที่ทำเนียบท่าช้างของ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 โดยมี นายปรีดี พนมยงค์  พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์  นายกรัฐมนตรี พลเรือตรี สังวร ยุทธกิจ อธิบดีกรมตำรวจ และ พลเอก อดุล อดุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบก ประชุมกันเรื่องการปรับปรุงตำแหน่งในรัฐบาล โดยพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ต้องการลาออกในจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่ประชุมเห็นชอบ เสนอให้พลเอกอดุล อดุลเดชจรัส เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป โดยหวังว่าพลเอก อดุล อดุลเดชจรัสจะสามารถควบคุมไม่ให้มีการรัฐประหารโดยกลุ่มทหารบก และมีการเตรียมแผนการจับกุมผู้ที่วางแผนการรัฐประหารให้เสร็จสิ้นก่อนเช้าวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 การรัฐประหารจึงต้องเร่งลงมือก่อนที่คณะผู้ก่อการรัฐประหารจะถูกจับกุม

คืนวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดงานเต้นรำการกุศลชื่อ “เมตตาบันเทิง” ขึ้นที่สวนอัมพร โดยมีพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เข้าร่วมงานการกุศลนี้ด้วย ระหว่างนั้นพลเรือตรี ถวัลย์ ได้รับรายงานว่ามีทหารจำนวนหนึ่งได้เคลื่อนกำลังทหารตรงมาจะจับกุมพลเรือตรีถวัลย์ พลเรือตรีถวัลย์จึงได้ปลีกตัวออกจากงานทันที ในขณะเดียวกันคณะรัฐประหารได้ส่งกำลังทหารพร้อมด้วย ‘พันเอก เผ่า ศรียานนท์’ นำรถถังบุกไปที่ทำเนียบท่าช้างเพื่อจับกุมตัวนายปรีดี พนมยงค์ แต่การจับกุมไม่เป็นผล เนื่องจากนายปรีดี พนมยงค์ ได้ลงเรือหลบหนีไปได้ก่อน

การรัฐประหารที่เริ่มขึ้นตั้งแต่คืนวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 จนสำเร็จเสร็จสิ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกลุ่มทหารบกผู้สนับสนุน ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ นำโดย ‘พลโท ผิน ชุณหะวัณ’ และกลุ่มอนุรักษนิยม 

การรัฐประหารในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดของคณะราษฎร  โดยนายปรีดี พนมยงค์ ได้ให้สัมภาษณ์แก่นายโคทม อารยา ผู้แทนสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในโอกาสครบรอบ 48 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2523 ที่เมืองอองโตนี ชานกรุงปารีสไว้ตอนหนึ่งดังนี้

“เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2490 ได้มีบุคคลคณะหนึ่งใช้ชื่อว่า “คณะรัฐประหาร” ได้ยึดอำนาจปกครองประเทศไทย โดยล้มระบบประชาธิปไตยแห่งรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พ.ค. 2489 ที่ได้บัญญัติไว้โดยถูกต้องตามวิธีการของรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธ.ค. 2475 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้พระราชทาน

ครั้นแล้วคณะรัฐประหารได้สถาปนาระบบการปกครองใหม่โดยพลการ คือ ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ลงวันที่ 9 พ.ย. 2490 ที่มีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” ซึ่งได้บัญญัติให้มีวุฒิสภาที่สมาชิกได้รับการแต่งตั้ง มิใช่ด้วยการเลือกตั้งจากราษฎร  

ฉะนั้น จึงเป็นการดึงให้ประเทศไทยเดินถอยหลังเข้าคลองไปสู่ประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ ระบบของคณะรัฐประหารนั้นเป็นแม่บทให้แก่รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 และเป็นแม่บทให้แก่ระบบปกครองต่อๆ มาอีกหลายระบบ ซึ่งบางครั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้ที่ได้รับแต่งตั้งและบางครั้งไม่มีวุฒิสภา แต่ได้เอาวิธีการแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ของสภาผู้แทนราษฎรที่เลิกไปโดยรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พ.ค. 2489 นั้นกลับมาใช้อีก

คุณและสหภาพฯ ย่อมวินิจฉัยได้ว่า บุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นต้องรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย มิใช่คณะราษฎรต้องรับผิดชอบ”

และการรัฐประหาร 2490 ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมามีอำนาจของกลุ่มทหารและกลุ่มอนุรักษนิยม ตลอดจนเป็นการเพิ่มพระราชอำนาจแก่พระมหากษัตริย์ ตั้งแต่มีการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

สำหรับ ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ นั้น แม้ว่าจะเคยเป็นปรปักษ์กลุ่มอนุรักษ์มาก่อน แต่ก็ได้ฉวยสถานการณ์นี้มาเป็นประโยชน์ต่อตนเอง โดยให้สัมภาษณ์ผ่านหนังสือพิมพ์การเมืองรายสัปดาห์เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ว่า 

“รัฐประหารครั้งนี้ทหารอยากเปลี่ยนรัฐบาล และเพิ่มอำนาจพระมหากษัตริย์ให้มากขึ้น ท่านจะได้มีโอกาสดูแลบ้านเมือง”

ทันทีที่การรัฐประหารเสร็จสิ้นลง “คณะรัฐประหาร” นำโดย ‘นาวาอากาศเอก กาจ กาจสงคราม’ ได้ให้ ‘หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์’ ผู้เป็นบุตรเขยของตน พาไปเข้าพบ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวรวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้ทรงลงนามประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2490” หรือที่เรียกโดยนิยมว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” โดยมีกรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงพระนามแต่เพียงพระองค์เดียว 

ในขณะที่ ‘พระยามานวราชเสวี’ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกคนไม่ยอมลงนาม ทำให้การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนามไม่ครบถ้วน อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้มีการประกาศใช้ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

เหตุการณ์ดังกล่าว Edwin F. Stanton อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยได้บันทึกไว้ในเอกสาร Brief Authority: Excursions of a Common Man in an Uncommon World ตีพิมพ์ออกมาในปี ค.ศ. 1956 ระบุสิ่งที่กรมขุนชัยนาทนเรนทรทรงให้สัมภาษณ์ไว้โดยมีข้อความตอนหนึ่งแปลเป็นภาษาไทยดังนี้

“กรมขุนชัยนาทนเรนทรได้ตรัสแก่ข้าพเจ้าว่า มันน่าจะเป็นผลดีแก่ประเทศชาติที่สุด หากจำใจต้องยอมรับในสิ่งที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด และพระองค์ตรัสแก่ข้าพเจ้าว่าอีกว่าการนองเลือดเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจสำหรับเราในฐานะชาวพุทธ”

ภายหลังจากนั้นอีก 4 เดือน หลังจาก ‘นายควง อภัยวงศ์’ ถูกคณะรัฐประหารบีบให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 กรมขุนชัยนาทนเรนทรได้ตรัสกับ Edwin F. Stanton เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ปรากฏความตอนหนึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า 

“หลวงกาจสงครามที่เข้ามาด้วยท่าทีที่แข็งกร้าว พร้อมทั้งกลุ่มทหารได้เข้ามาแสดงเจตจำนงว่าจะไม่ยินยอมให้ใครดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนอกจากจอมพล ป. พิบูลสงครามแต่เพียงผู้เดียว”

คณะรัฐประหารได้ลงมือการกระทำเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 โดยอ้างวัตถุประสงค์ในการรัฐประหารว่า

  1. การทำรัฐประหารเป็นการกระทำเพื่อชาติอย่างแท้จริงไม่ใช่เพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ
  2. เพื่อล้มล้างรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แล้วสถาปนารัฐบาลใหม่ที่มีประสิทธิภาพ เทิดทูนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และประพฤติตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
  3. เพื่อเชิดชูเกียรติของทหารที่ถูกเหยียบย่ำทำลายให้กลับคืนดีดังเดิมและเพื่อปรับปรุงให้มีเกียรติและสมรรถภาพให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
  4. เพื่อแก้ไขตรงการปกครองที่เสื่อมลงให้มีประสิทธิภาพและแก้ไขการเศรษฐกิจลดค่าครองชีพของประชาชนให้ถูกลงให้ประชาชนได้อยู่ดีกินดี
  5. เพื่อจัดการสืบหาผู้ร้ายลอบปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ และจัดฟ้องร้องตามกฎหมาย
  6. เพื่อกำจัดลัทธิคอมมิวนิสต์ให้สูญสิ้นไปจากแผ่นดินไทย เชิดชูบวรพุทธศาสนาให้สถิตถาวรสืบไป

‘นายปรีดี พนมยงค์’ ได้ขยายความถึงการทำรัฐประหาร 2490 ด้วยการอ้างวัตถุประสงค์ในข้อที่ 5 นั้นว่าเป็นสาเหตุที่ นายเฉลียว ปทุมรส  นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน ต้องถูกประหารด้วยความไม่เป็นธรรม ปรากฏข้อมูลในคำฟ้องที่นายปรีดี พนมยงค์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ‘นายรอง ศยามานนท์’ มีข้อความสำคัญตอนหนึ่งดังนี้

“ทายาทของนายชิต สิงหเสนี ได้นำมากล่าวไว้ในหนังสือแจกงานศพนายชิต สิงหเสนี ซ้ำอีกครั้งหนึ่งในการฌาปนกิจศพนายชิต สิงหเสนี เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑ อันเป็นคำไว้อาลัยของลูกๆ นายชิต สิงหเสนี ดังต่อไปนี้

“เมื่อพ่อสิ้นชีวิตไปแล้ว นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้ให้เลขาธิการมาติดต่อให้เราขอความช่วยเหลือ เพราะต้องการจะอุปการะในด้านการศึกษาของลูกของพ่อ เราปรึกษากันว่าควรจะรับหรือไม่ ในที่สุดเราก็เห็นว่าควรรับไว้ เพื่อเป็นประจักษ์พยานว่ารัฐบาลเองก็ตระหนักดีว่าพ่อเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงต้องการอุปการะครอบครัวของเรา”

ทั้งนี้ แสดงให้เห็นได้ว่า จอมพล พิบูลฯ ทราบอยู่แก่ใจของท่านเองแล้วว่า นายชิต สิงหเสนี รวมทั้งนายเฉลียว ปทุมรส และนายบุศย์ ปัทมศริน เป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งต้องถูกบูชายัญเพื่อวัตถุประสงค์ในการร่วมรัฐประหารของจอมพล พิบูลฯ เพราะถ้าจอมพล พิบูลฯ ไม่มีความรู้สึกเช่นนั้นแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะให้เงินช่วยเหลือครอบครัวของนายชิต สิงหเสนี เพื่อเป็นการตอบแทน

อนึ่ง ถ้าจอมพล พิบูลฯ ต้องการที่จะช่วยผู้บริสุทธิ์อย่างแท้จริง โดยไม่เกรงว่าท่านจะเสียคำมั่นที่ให้ไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการรัฐประหารนั้นแล้ว ท่านก็มีทางทำได้โดยถูกต้องตามระเบียบราชการและตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ คือ ฎีกาของผู้ต้องหาทั้งสามนั้นต้องผ่านคณะรัฐมนตรีก่อน 

ในตอนนั้นจอมพล พิบูลฯ ก็มีหน้าที่แสดงความเห็นในฎีกานั้นได้ว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์ แล้วนำฎีกานั้นกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ หรือ ถ้าฎีกานั้น ผู้ต้องหาส่งไปถวายพระมหากษัตริย์โดยตรง พระมหากษัตริย์ก็มิได้วินิจฉัยโดยพระองค์เอง หากมีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการรับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น เพื่อให้การรัฐประหารนี้มีความชอบธรรมตามวัตถุประสงค์ที่คณะรัฐประหารอ้างไว้ คณะรัฐประหารจึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนชุดใหม่เพื่อมาคลี่คลายคดีสวรรคต โดยอ้างว่าทางราชการฝ่ายทหารได้ส่งหลักฐานแผนการของบุคคลคณะหนึ่งสมคบกันดำเนินการประทุษร้ายองค์พระมหากษัตริย์ มีการลอบปลงพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และเตรียมการเปลี่ยนระบอบการปกครองแผ่นดินโดยทำลายล้างรัฐบาล มาให้กรมตำรวจจัดการสอบสวนดำเนินคดี 

ประกอบกับข้อมูลในหนังสือ “2500 สฤษดิ์-เผ่า เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด” ของพลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ ที่ระบุว่าหลังจากการรัฐประหาร 2490 เพียง 7 วัน ในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 พันเอกกาจ กาจสงคราม หนึ่งในคณะผู้นำรัฐประหาร เจ้าของ “รัฐธรรมนูญฉบับตุ่มแดง” แถลงว่าได้ค้นพบ “แผนการมหาชนรัฐ” จากบุคคลลึกลับที่ “ตัวสั่นแต่หนักแน่น” ซึ่งขณะนี้ทางการได้ควบคุมตัวไว้แล้ว 

บุคคลนี้ได้เผยว่า ได้มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่เบื้องหลังกรณีลอบปลงพระชนม์เป็นผู้จัดเตรียมแผนนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะให้มีการยึดอำนาจทั่วประเทศในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2490 และแปรเปลี่ยนประเทศไปสู่ “มหาชนรัฐ” และให้รายละเอียดต่อไปว่า ผู้ปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศนั้น คือ นายทหารเรือนอกราชการผู้หนึ่ง ผู้ร่วมมือคือ เฉลียว ปทุมรส เป็นคนดูต้นทาง และกลุ่มยึดอำนาจ 30 พฤศจิกายนนี้ จะสังหารชีวิตนายทหารให้หมดทั่วประเทศ แล้วตั้งตนเป็นนายทหารแทน แม้แต่ในหลวงปัจจุบันก็จะฆ่าเสียโดยผลักตกเหว จึงให้โทรเลขไปแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ระวังพระองค์ ดังนั้นการรัฐประหารของตนครั้งนี้ชอบธรรม เพราะคณะทหารทราบเข้าจึงปฏิวัติตัดหน้า

แต่แท้ที่จริงแล้วการกล่าวหาโดยกลุ่มทหารว่านายปรีดี พนมยงค์ เกี่ยวข้องกับการลอบปลงพระชนม์เพื่อการก่อตั้ง “มหาชนรัฐ” เกิดขึ้นมาแล้วราว 2 เดือนก่อนการรัฐประหาร พ.ศ.2490 โดยหนังสือ “แผนชิงชาติไทย” ของสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า 

“พอพระยาวิชิตสรศาสตร์ (จินดา วัชรเสถียร) อดีตนายทหารกรมช่างแสง ได้แจ้งความต่อตำรวจเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2490 ว่านายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้บงการให้เกิดกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 โดยมีการลงข่าวในหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2490”

17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ที่ตั้งมาโดยคณะรัฐประหาร 2490 ดำเนินการกวาดล้างจับกุมบุคคลสำคัญครั้งใหญ่ เริ่มจาก พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร หัวหน้าแผนกตำรวจวัง นายเฉลียว ปทุมรส อดีตราชเลขานุการสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นางชอุ่ม ชัยสิทธิเวช ภรรยาเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช พร้อมด้วยมหาดเล็กอีก 2 คน คือ นายชิต สิงหเสนี และ นายบุศย์ ปัทมศริน ข้อหาเกี่ยวกับกรณีปลงพระชนม์ พร้อมกันนั้นก็ได้ออกประกาศจับเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ทหารเรือนอกราชการกับนายปรีดี พนมยงค์ ในข้อหาเดียวกันด้วย

ในวันเดียวกันนี้ รัฐบาลยังได้ออกพระราชกำหนดคุ้มครองความสงบสุขฯ มอบอำนาจให้แก่คณะรัฐประหารในการกวาดล้างจับกุม และคุมขังบุคคลหลายคน แล้วยังให้อำนาจในการตรวจค้นสถานที่เพื่อค้นหาหลักฐานต่างๆ ในระหว่างวันที่ 19 พฤศจิกายน ถึง 19 ธันวาคม พ.ศ. 2490 พระราชกำหนดฉบับนี้จึงแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างฝ่ายคณะรัฐประหารและรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ที่มุ่งกวาดล้างฝ่ายของนายปรีดี พนมยงค์ 

นอกจากนั้น นายควง อภัยวงศ์ ยังได้แถลงยอมรับว่าตนเป็นผู้อนุมัติให้คณะรัฐประหารดำเนินการตามพระราชกำหนดนี้ ระหว่างนี้หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ก็ได้อธิบายถึงความชอบธรรมในการใช้อำนาจของฝ่ายทหารว่า ระหว่างนี้จะได้ขอแรงจอมพลให้ช่วยเก็บอาวุธเสรีไทยเสียก่อนให้เรียบร้อยราบคาบ

การแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวน และการดำเนินคดีสวรรคต ร.8

การรัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อวันที่  8 พฤศจิกายน 2490 เป็นเหตุให้คณะกรรมการสอบสวนชุดเดิมในรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ สิ้นสุดลง  หลังจากนั้น พลตำรวจตรี พระพิจารณ์พลกิจ อธิบดีกรมตำรวจคนใหม่ ได้แต่งตั้งตำรวจ 10 นาย ขึ้นเป็นพนักงานสอบสวนกรณีพิเศษ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2490 โดยมี พันตำรวจตรี เนื่อง อาขุบุตร เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน โดยอ้างเหตุในการแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนนี้ว่า 

“โดยที่ทางราชการฝ่ายทหารได้ส่งหลักฐานแผนการของบุคคลคณะหนึ่งสมคบกันดำเนินการประทุษร้ายองค์พระมหากษัตริย์ มีการลอบปลงพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และเตรียมการเปลี่ยนระบอบการปกครองแผ่นดินโดยทำลายล้างรัฐบาล มาให้กรมตำรวจจัดการสอบสวนดำเนินคดี” 

ดังที่ พันเอกกาจ  กาจสงคราม แถลงในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2490

ต่อมาคำสั่งพิเศษของกระทรวงมหาดไทย สั่งให้ นายพันตำรวจโท หลวงแผ้วพาลชน เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน ผู้ซึ่งเคยแสดงฝีไม้ลายมือในการเป็นพนักงานสอบสวนและดำเนินคดีกบฏ พ.ศ. 2482 จนสามารถนำตัวจำเลยส่งฟ้องต่อศาลพิเศษที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลของหลวงพิบูลสงคราม จนมีจำเลยถูกประหารชีวิตทั้งสิ้น 18 ศพ และจำเลยอีกหลายรายถูกจำคุกตลอดชีวิต 

คณะรัฐประหารให้ความไว้วางใจหลวงแผ้วพาลชนเป็นอย่างมาก จนถึงขนาดต้องเรียกตัวมาเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 แม้ว่าในขณะนั้นหลวงแผ้วพาลชนจะบวชอยู่ก็ตาม และต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เสนอขออนุมัติบรรจุ นายพลตำรวจตรี พระพินิจชนคดี กลับเข้ารับราชการกรมตำรวจ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2491 โดยหลังจากนั้นก็ได้รับแต่งตั้งให้ประจำกองกำกับการกอง 2 ตำรวจสันติบาล และก็มีคำสั่งให้เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนกรณีสวรรคตแทนนายพันตำรวจโทหลวงแผ้วพาลชน โดยให้หลวงแผ้วพาลชนเป็นรองหัวหน้าพนักงานสอบสวนแทน โดยพระพินิจชนคดีนั้นเป็นพี่เขยของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช  และยังเป็นบุคคลที่นายปรีดีเคยปฏิเสธที่จะแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมตำรวจในสมัยที่หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชเป็นนายกรัฐมนตรี

การสอบสวนได้กระทำมาเป็นเวลานานถึง 7 เดือน โดยสอบปากคำจากบุคคลต่างๆ ถึง 280 คน การสอบสวนเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 คือหลังจากที่นายควง อภัยวงศ์ ได้ออกคำสั่งให้จับผู้ต้องหาแล้วเพียง 2 วัน

พระพินิจชนคดีระบุไว้ในบันทึกการสอบสวนของตนเองภายหลังจากที่จำเลยถูกประหารชีวิตไปแล้วว่าตนเองรู้ว่ากรณีการเสด็จสวรรคตนั้น ไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยพระองค์เอง โดยเนื่องมาจากพระแสงปืนของกลางไม่ได้ถูกใช้ยิงจริงในวันเสด็จสวรรคต โดยมีความตอนหนึ่งว่า 

หลังจากสวรรคตแล้วราว ๒๐ วัน ข้าพเจ้าพบกับเพื่อนหลายคนที่กระทรวงเศรษฐการ มีเพื่อนกระซิบบอกข้าพเจ้าว่า ทางการส่งปืนของกลางไปกรมวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ความว่า ปืนของกลางไม่ใช่กระบอกที่ยิงล้นเกล้าล้นกระหม่อม เป็นปืนที่ใช้ยิงมาครั้งสุดท้ายก่อนวันสวรรคตไม่น้อยกว่า ๘ วัน

อัยการตรวจสำนวนคดีสวรรคตลาออกกันเป็นแถวก่อนคณะรัฐประหารจะแต่งตั้งอัยการโจทก์ในคดีสวรรคต

หนังสือ “คำตัดสินใหม่กรณีสวรรคต ร.8”  เปิดเผยว่าหลังจากที่สำนวนการสอบสวนของพระพินิจชนคดีได้ส่งมาถึงกรมอัยการแล้ว พระสารการประสิทธิ์ อธิบดีกรมอัยการ ได้พิจารณาสำนวนคดีแล้วก็ขอลาออกจากตำแหน่งอธิบดีฯ ครั้นแล้ว หลวงอรรถไกวัลวที รักษาการแทนอธิบดีกรมอัยการอยู่เพียงชั่วขณะหนึ่ง ได้ตรวจสำนวนแล้วก็ลาออกจากราชการอีก ส่วน หลวงอรรถวาทประวิทย์ (ทองเติม บริสุทธิ์) หัวหน้ากองคดีกรมอัยการ ตรวจสำนวนสอบสวนของพระพินิจชนคดี กับพวกแล้วก็ได้ลาออกจากราชการ รัฐบาลของฝ่ายรัฐประการก็ได้แต่งตั้ง นายเล็ก จุณณานนท์ เป็นอัยการโจทก์ในคดีสวรรคต

ครั้นแล้วโจทก์ก็นำสำนวนขึ้นฟ้องร้องต่อศาล เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2491 ฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าสืบ 125 คน ฝ่ายจำเลยนำสืบ 35 คน เริ่มสืบพยานครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2491 และสืบพยานปากสุดท้ายเสร็จสิ้นลงในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2494 ซึ่งเป็นเวลาที่ต้องพิจารณาคดีในศาลนานถึง 3 ปี 4 เดือน

อัยการพยายามปรักปรำว่านายปรีดี พนมยงค์ มีส่วนรู้เห็นกับการลอบปลงพระชนม์ โดยปรากฏข้อมูลในหนังสือ “ใครปลงพระชนม์ในหลวงอานันท์?” ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า

“ความพิรุธของนายปรีดี หลังเกิดเหตุปรากฏว่า เมื่อมีคนไปบอกว่าในหลวงสวรรคตเพราะถูกปืน นายปรีดีพูดกับท่านนิกรเทวัญเป็นภาษาอังกฤษซึ่งแปลเป็นไทยว่า “ในหลวงปลงพระชนม์เอง” ซึ่งยังไม่มีเหตุอันใดให้นายปรีดีพูดเช่นนั้น ถ้าไม่รู้ความลับมาก่อนแล้ว ประกอบกับการโอ้เอ้ชักช้าไม่ทำการสอบสวนให้รัดกุมเหล่านี้ล้วนมีพิรุธ”

ทนายความจำเลยถูกเล่นงาน

ระหว่างการพิจารณาคดีนั้นปรากฏว่านอกจากทนายความบางคนจะถอนตัวออกไป ยังมีทนายหลายคนที่ได้รับความเดือดร้อนไม่ว่าจะถูกจับกุมดำเนินคดี จนไปถึงการอุ้มสังหาร โดยปรากฏข้อมูลในหนังสือ “ใครปลงพระชนม์ในหลวงอานันท์?” ระบุไว้ตอนหนึ่งมีข้อความดังนี้

“ทนายสองคนแรก คือ นายทองม้วน สถิรบุตร กับหลวงอรรถไกรวัลวที ก็มาชิงถอนตัวไปเสีย ต่อมาทนายสองอดีตรัฐมนตรี ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และ ถวิล อุดล ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่าได้พยายามค้นหาหลักฐานกรณีสวรรคตเพื่อนำมาต่อสู้คดีในช่วงสุดท้าย ก็มามีอันเป็นไปต้องถูกฆ่าตายเสียอีก ซ้ำที่เหลืออยู่อีกคนเดียว คือ นายฟัก ณ สงขลา ก็มาต้องคดีกบฏเข้าด้วย”

ขอปูนบำเหน็จกันเป็นแถบ

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เปิดเผยว่าหลังการตัดสินของศาลฎีกา และระหว่างที่จำเลยรอผลการขอพระราชทานอภัยโทษอยู่นั้น จอมพล ผิน ชุณหะวัณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานเสนอความดีความชอบข้าราชการซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่เกี่ยวกับกรณีสวรรคต เพื่อขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฯ ให้รวมทั้งหมด 26 ราย และเสนอขอเลื่อนบำเหน็จนอกจากบำเหน็จประจำปีให้อีกคนละ 1 ขั้น ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2497 แต่ที่ประชุมลงมติว่า เรื่องการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น ให้รอไว้ก่อน จนกว่าจะถึงโอกาสอันควร ส่วนการเลื่อนบำเหน็จให้ส่งกระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาต่อไป ปรากฏว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 19 ตุลาคมปีต่อมา จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ได้เป็นตัวตั้งตัวตีเสนอเรื่องการเลื่อนบำเหน็จให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกโดยปรากฏข้อความในเอกสารดังนี้

เรื่อง การพิจารณาปูนบำเหน็จข้าราชการผู้มีความชอบเกี่ยวกับกรณีสวรรคต เนื่องจากกระทรวงการคลังขออนุมัติเลื่อนเงินเดือนให้ พล.ต.ต. เนื่อง อาขุบุตร รองอธิบดีกรมศุลกากร เพื่อเป็นบำเหน็จความชอบที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีเกี่ยวกับกรณีสวรรคตแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 เป็นกรณีพิเศษอีก 1 ขั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2498 ท่านรองนายกรัฐมนตรี (จอมพล ผิน ชุณหะวัณ) ได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า มีข้าราชการที่มีส่วนร่วมดำเนินคดีนี้หลายท่านด้วยกัน จึงให้สอบถามไปยังทุกๆ แห่งก่อน เพื่อจะได้รวมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในคราวเดียวกัน

จากหลักฐานฉบับเดียวกันนี้ปรากฏรายนามของข้าราชการกรมตำรวจหลายรายได้แก่ พลตำรวจ เผ่า ศรียานนท์ พลตำรวจโท พระพินิจชนคดี พลตำรวจตรี หลวงแผ้วพาลชน พลตำรวจตรี เนื่อง อาขุบุตร ข้าราชการกระทรวงกลาโหมได้แก่ ร้อยเอก ณรงค์ สายทอง ข้าราชการกรมอัยการได้แก่ หลวงอรรถปรีชาธนูปการ นายเล็ก จุณณานนท์ ข้าราชการกระทรวงคมนาคมได้แก่ ขุนประสิทธิ์เทพไปรษณีย์ เป็นต้น

ผู้เขียนเห็นว่ามีข้อความหนึ่งในหนังสือ “ใครปลงพระชนม์ในหลวงอานันท์ฯ?” ของอนันต์ อมรรตัย มีนัยยะที่น่าสนใจ จึงอยากให้ผู้อ่านได้ทราบถึงข้อความดังกล่าวด้วยเช่นกัน ดังนี้

 

“พวกที่ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม และพวกที่สอพลอ ก็เหมือนหนอนที่อยู่ในอาจม ย่อมมองเห็นแต่สิ่งเน่าเหม็นเป็นอาหารที่น่าเสพย์ ดุจคนที่ต่ำช้าขาดมนุษยธรรม ย่อมถือเอาการตายของบุคคลอื่น เป็นสะพานทอดไปสู่ลาภยศ และสรรเสริญ”



หนังสือ “คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.8”

หนังสือ “คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.8”

สันติสุข โสภณสิริ บรรณาธิการ
ราคา 195 บาท ค่าจัดส่ง 30 บาท

สั่งซื้อได้ที่: https://shop.pridi.or.th/th/product/650099