ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปรีดี พนมยงค์ ตัวปลอม

12
กันยายน
2564

สายตานักอ่านที่เคยสัมผัสตัวอักษรในนวนิยาย ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ผลงานของ ‘วินทร์ เลียววาริณ’ ที่คว้ารางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือเรียกสั้นๆ ว่า “รางวัลซีไรต์” (S.E.A. Write Award) ประจำปี พ.ศ. 2540  คงพอจะคุ้นๆ กับตัวละคร ‘จอมพล ป.ตัวปลอม’ อันปรากฏในท้องเรื่อง ซึ่งแท้แล้วหาใช่ความจริงในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทย เป็นเพียงสิ่งที่วินทร์แต่งเติมขึ้นมา 

ฉะนั้น ตอนนวนิยายดังกล่าวตีพิมพ์ออกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2537 และสามปีต่อมายังได้ประทับตรารางวัลซีไรต์อีก จึงยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดุเดือดจากนักประวัติศาสตร์หลากหลายชื่อนาม  ด้านคณะกรรมการพิจารณามอบรางวัลและบุคคลในแวดวงหนังสือหลายรายพยายามสื่อสารว่า ทั้งหมดเป็นแค่การประพันธ์เพื่ออรรถรสของนวนิยาย แต่ก็ปฏิเสธมิได้เลยว่า มีนักอ่านจำนวนไม่น้อยที่เผลอหลงเชื่อเกี่ยวกับ ‘จอมพล ป.ตัวปลอม’ อย่างแน่นแฟ้น

 

ภาพ: จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ภาพ: จอมพล ป. พิบูลสงคราม

 

นั่นคือโลกแห่งวรรณกรรม หากผมใคร่จะเชิญชวนคุณผู้อ่านลองมาทำความรู้จักกับบุคคลหนึ่งผู้เคยมีตัวตนอยู่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  เขาคือ “ปรีดี พนมยงค์ตัวปลอม”

ข้อมูลว่าด้วยนายปรีดีตัวปลอมได้รับการเปิดเผยช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2491 ผ่านข่าวสารที่นำเสนอในหนังสือพิมพ์ ล๊อตเตอรี่ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ประจำวันพุธที่ 11 สิงหาคมปีนั้น โดยรายงานว่ามีนายทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งชื่อ มัสสุตะ เดินทางมาจากค่ายเขาชะโงกจังหวัดนครนายก อ้างตัวว่าตนคือ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ และจะขอเข้าพบเผชิญหน้ากับ ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ณ บ้านซอยชิดลม แต่เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลศาลาแดงรวบตัวไป และลงความเห็นว่าที่นายทหารญี่ปุ่นก่อความพิเรนทร์ขึ้น น่าจะเป็นเพราะพวกอดีตสมาชิกขบวนการเสรีไทยจงใจแกล้งยั่วประสาทจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงส่งตัวต่อไปยังกองตำรวจสันติบาลเพื่อสอบเค้นความจริงจากปากคำนายทหารลูกพระอาทิตย์

 

ภาพ: นายปรีดี พนมยงค์
ภาพ: นายปรีดี พนมยงค์

 

ช่วงเวลาที่เกิดเหตุขึ้น ‘นายปรีดี พนมยงค์’ ได้ลี้ภัยทางการเมืองออกจากประเทศไทยไปในต่างแดนแล้ว ภายหลังการรัฐประหารต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 แต่ฝ่ายรัฐบาลทหารที่มาจากการยึดอำนาจซึ่งมีจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี มิวายระแวงกังวลต่อความเคลื่อนไหวของนายปรีดีและพลพรรค โดยเฉพาะเกรงพวกอดีตเสรีไทยผู้สนับสนุนนายปรีดีจะร่วมมือกันทวงคืนอำนาจ

 

ภาพ: แผนที่แสดงที่ตั้งบ้านซอยชิดลมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ภาพ: แผนที่แสดงที่ตั้งบ้านซอยชิดลมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

 

ต้นเดือนถัดมา หนังสือพิมพ์ ล๊อตเตอรี่  ปีที่ 1 ฉะบับที่ 2 ประจำวันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2491 พาดหัว “ปรีดีฯ เก๊ ลวงจอมพลทำตำรวจหัวหมุน” รายงานข่าวตอนหนึ่งว่า

“บัดนี้ ตำรวจสันติบาลได้รับตัวมัสสุตะ นักเล่นกลผู้นี้ไปสอบสวนโดยสงสัยว่าจะรู้เห็นการหนีซ่อนตัวของนายปรีดีและ ร.อ.วัชรชัย จึงทำกลมาลวงจอมพล แต่ครั้นสอบสวนอยู่เปนเวลานาน ตำรวจสันติบาลก็สิ้นหวัง เพราะปรากฏว่ามัสสุตะเลือดซามูไร ผู้พูดภาษาไทยได้คล่องแคล่วผู้นี้ หาได้รู้เรื่องราวอะไรเกี่ยวกับนายปรีดีไม่”

“กำลังกินเหล้าคุยกับผู้หญิงที่โรงแรมบางรัก พอได้ยินวิทยุประกาศหาตัว ฉันก็นั่งสามล้อมาหาจอมพลเลย อยากรู้ว่าเรียกฉันทำไม?” มัสสุตะให้การกับตำรวจ....”

สรุปคือ นายทหารญี่ปุ่นนามมัสสุตะ เพียงแค่ดื่มสุรามึนเมา พอยินเสียงวิทยุประกาศหาตัวนายปรีดี เลยนั่งสามล้อมาจะขอเข้าพบจอมพล ป.

ข่าวคราว “ปรีดี พนมยงค์ตัวปลอม” ก็เป็นอันสิ้นสุด และถึงแม้กรณีนี้จะดูเหมือนเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ แต่ย่อมสะท้อนให้เห็นบรรยากาศทางการเมืองยุคต้นทศวรรษ 2490 อย่างชัดเจนทีเดียวว่า ทุกความเคลื่อนไหวของนายปรีดี พนมยงค์ และอดีตพลพรรคขบวนการเสรีไทยมักจะสร้างความตกตะลึงให้แก่รัฐบาลคณะรัฐประหารไม่น้อย

 

เอกสารอ้างอิง

  • ล๊อตเตอรี่.  1 (1),  (11 สิงหาคม 2491)
  • ล๊อตเตอรี่.  1 (2),  (1 กันยายน 2491)
  • วินทร์ เลียววาริณ. ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2537