ชีวประวัติของ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ กับความเคลื่อนไหวของ สายการบินแห่งชาติปากีสถาน อาจไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีส่วนเชื่อมโยงกัน หากแท้จริงแล้ว การโดยสารเที่ยวบินของสายการบินแห่งนี้ ถือเป็นการเดินทางครั้งสำคัญของอดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 7 เลยทีเดียว
ในหนังสือ ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน นายปรีดีหวนนึกคิดชีวิตอันผ่านมาแต่หนหลัง และบอกเล่าการย้ายถิ่นพำนักของตนจากเมืองจีนไปสู่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเปิดเผยว่า ออกเดินทางจากมณฑลกวางตุ้งมาถึงกรุงปารีสเมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1970 (ตรงกับ พ.ศ. 2513) โดยสายการบินแห่งชาติปากีสถาน
ข่าวคราวเรื่องนายปรีดีอำลาดินแดนจีนมุ่งหน้ายังทวีปยุโรปได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆ หลายสำนัก เฉกเช่นหนังสือพิมพ์ภาษาฝรั่งเศส Le Monde ช่วงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1970 (ตรงกับ พ.ศ. 2513) ลงพิมพ์ข้อเขียน “คาบสมุทรอินโดจีน: ผลไม้สุกสำหรับปักกิ่ง” (Péninsule Indochinoise: Fruit mûr pour Pékin) ผลงานของ ฌอง- โคลด โปมงตี (Jean-Claude POMONTI) ที่กล่าวพาดพิงไว้ตอนหนึ่งว่า
“การประชุมของฝ่ายซ้ายในอินโดจีน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 และ 25 เมษายนที่แล้ว ซึ่งประกอบด้วยเจ้าสีหนุ นายฟามวันดง เจ้าสุภานุวงศ์ และนายเหงียน ฮูโธนั้น อาจจะเป็นเพียงก้าวแรก ที่จริงเราได้ทราบกันหลังจากนั้นเล็กน้อยว่า
นายปรีดีอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งลี้ภัยอยู่ในกวางตุ้งหลายปี ได้ออกจากประเทศจีนไปประเทศฝรั่งเศสแล้ว นายปรีดีซึ่งเป็นผู้นำการต่อต้านญี่ปุ่นก่อนได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีและต่อมาถูกฝ่ายทหารโค่นล้ม ได้แสดงความคิดเห็นเป็นกลางอยู่เสมอระหว่างลี้ภัยอยู่ในกวางตุ้ง การเดินทางออกจากประเทศจีนของนายปรีดีกับเหตุการณ์ในอินโดจีนเมื่อเร็วๆ นี้ อาจไม่มีอะไรเกี่ยวพันกันเลยก็ได้ แต่เมื่อพิจารณาอีกด้านหนึ่ง การเดินทางครั้งนี้อาจมีความหมายที่น่าสนใจเมื่อคำนึงถึงชื่อเสียงที่ดีงามของอดีตผู้นำของไทยผู้นี้ อย่างไรก็ตาม มีบุคคลบางคนในรัฐบาลที่กรุงเทพฯ แสดงความไม่สบอารมณ์ในข่าวนี้...”
และ
“ประการที่สอง เราอาจจะมองเห็นการติดต่อที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยโดยเฉพาะแถบภาคอีสานกับสาธารณรัฐราษฎรจีนและแนวร่วมอินโดจีนใหม่ในการต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกัน อีกประการหนึ่ง จีนได้เริ่มสร้างทางตัดผ่านลาว ซึ่งอาจทำให้การติดต่อกับทางเหนือของไทยคล่องตัวขึ้น”
การเข้ามาพำนักในฝรั่งเศสของนายปรีดีย่อมเป็นที่รับรู้ แต่มิวายปรากฏข่าวสารแพร่กระจายว่า ช่วงเวลานั้น จีนกำลังจัดสร้างเส้นทางสายใหม่ตัดผ่านประเทศลาว นายปรีดีจึงจะยกกองกำลังจากเมืองจีนเข้ามาสู่ประเทศไทยผ่านทางชายแดนลาวด้วย ดังเสียงเล่าของเขา
“แม้ว่าการมาปารีสของข้าพเจ้าจะไม่เคยเป็นเรื่องลึกลับเลยก็ตาม แต่หน่วยสืบราชการลับบางแห่งก็ยังคงปั้นแต่งเรื่องราวสารพัด
อีกตัวอย่างหนึ่งอาจแสดงให้เห็นว่า รายงานของหน่วยสืบราชการลับเหล่านี้ ไม่น่าเชื่อถือเลย
ที่จริงข้าพเจ้ามาถึงปารีสเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2513 โดยสายการบินปากีสถานจากกวางตุ้ง และพักอยู่ที่ฝรั่งเศสตั้งแต่นั้นมา แต่หน่วยสืบราชการลับกลับปั้นแต่งเรื่องว่า จีนกำลังสร้างทางจากทางใต้ยูนนานผ่านชายแดนลาว เพื่อข้าพเจ้าจะได้เข้าสยามพร้อมกับกองกำลังของข้าพเจ้า”
กระทั่งนิตยสาร The Economist แห่งกรุงลอนดอน ก็รายงานข่าวทำนองเดียวกันในฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1971 (ตรงกับ พ.ศ. 2514)
“จีนจะเสริมกำลังยึดครองทางเหนือของลาว วิธีการของจีนแตกต่างจากวิธีการของเวียดนามเหนือ นับตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 6 แห่งศตวรรษนี้เป็นต้นมา จีนเห็นว่านโยบายสร้างความสัมพันธ์ของตนกับกลุ่มพื้นเมืองต่างๆ ไม่ประสบผลอันใด จีนเองก็ได้ละทิ้งหลักการอ่อนนอกแข็งใน และหันมาสร้างถนนตัดจากยูนนานเข้าปักบางข้ามแม่น้ำโขงใกล้ชายแดนไทย วิธีการนี้ทำให้จีนมีทางเข้าถึงกลุ่มชนพื้นเมืองลาวและไทยได้โดยตรง ไม่ต้องอาศัยเวียดนามเหนือเป็นคนกลาง...”
รวมถึงเอ่ยนามของนายปรีดีให้มาข้องเกี่ยว
อันที่จริง โครงการนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสนับสนุนปรีดี พนมยงค์ ผู้ทรยศในการรณรงค์เรื่อง “Pan-Thai” ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อรวบรวมชนเผ่าไทยในประเทศไทย พม่า ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ แต่โจวเอินไหลก็ได้คัดค้านปรีดีเมื่อคราวประชุมที่บันดุง พ. ศ. 2498 ระหว่างนั้นงานสร้างทางก็ได้เริ่มดำเนินการแล้ว รัฐบาลปักกิ่งตัดสินใจเร่งงานสร้างทาง
งานนี้กลับกลายเป็นเครื่องมือของขบวนการ “Pan-Meo” ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ใหม่ หรืออีกนัยหนึ่ง แม้ว่ารัฐบาลปักกิ่งจะปล่อยปรีดี แต่จีนได้ก็รักษาโครงการนี้ไว้ด้วยท่าทีใหม่ตามความคิดของรัฐบาลปักกิ่ง เส้นทางสายจีน-ลาว ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นเส้นทางคมนาคมของรัฐๆ หนึ่ง ซึ่งยังไม่เกิดในตอนนั้นได้แก่ สาธารณรัฐที่ปกครองตนเองของแม้วทางเหนือของไทยและลาวโดยได้รับความช่วยเหลือเล็กน้อยจากจีนและเวียดนามเหนือ
นี่คือข้อมูลสำคัญอันหนึ่งซึ่งรัฐบาลปักกิ่งนำออกเผยแพร่เมื่อปลายปี พ.ศ. 2513 และ สิ่งนี้ก็เกี่ยวพันกับการโค่นล้มรัฐบาลปัจจุบันของลาวอย่างชัดแจ้ง”
ครั้นทนายความชาวอังกฤษผู้เป็นมิตรสหายของนายปรีดีพยายามช่วยไกล่เกลี่ย ทางนิตยสาร The Economist ก็ยินดีขอโทษนายปรีดีและยอมแก้ไขข้อผิดพลาด โดยลงตีพิมพ์ข้อความต่อไปนี้ในนิตยสารฉบับที่ 1221 ประจำวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1971 (ตรงกับ พ.ศ. 2514)
“เรียน นายปรีดี พนมยงค์
เรารู้สึกเสียใจที่บทความของเราเกี่ยวกับท่านในหัวข้อเรื่องกิจการต่างประเทศ ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2514 ได้ก่อให้เกิดความคลางแคลงในความซื่อตรงของท่าน ทั้งนี้เรากระทำไปโดยไม่เจตนา และเราเองก็มิได้ต้องการที่จะแสดงนัยว่า ท่านละทิ้งความเห็นที่ว่า ประเทศไทยจะต้องวางตัวเป็นกลางเกี่ยวกับกิจการระหว่างประเทศ โดยสอดคล้องกับสัมพันธภาพที่ได้รักษาไว้กับประเทศทางตะวันตกและตะวันออก
ท่านได้คัดค้านอย่างเต็มที่ในการรณรงค์เกี่ยวกับ Pan-Thai” ซึ่งนำโดยจอมพลพิบูลฯ และได้แจ้งให้เราทราบว่า ท่านมิได้มีส่วนในการเสนอสร้างถนนเชื่อมจีน-ลาวแต่ประการใด”
วกกลับไปที่ สายการบินแห่งชาติปากีสถาน หรือ Pakistan International Airlines (PIA) อันเป็นเจ้าของอากาศยานซึ่งนายปรีดีโดยสารจากเมืองจีนมายังฝรั่งเศส ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1946 (ตรงกับ พ.ศ. 2489) ช่วงที่อินเดียได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ พอปีถัดมาปากีสถานได้แยกดินแดนออกมาจากอินเดียพร้อมสถาปนาประเทศของตนเอง (ยุคนั้นยังมีทั้งปากีสถานตะวันตกและปากีสถานตะวันออก จวบจนในปี ค.ศ. 1971 ปากีสถานตะวันออกประกาศเอกราชเป็นประเทศใหม่คือ บังกลาเทศ)
นายโมฮัมหมัด อาลี จินนาห์ (Mohammad Ali Jinnah) ผู้นำแห่งปากีสถานเล็งเห็นประสิทธิภาพของการเดินทางโดยอากาศยานเพื่อการขนส่งที่รวดเร็ว จึงออกคำสั่งให้ นายเอ็ม.เอ. อิสปาฮานี (M.A. Ispahani หรือ Mirza Ahmad Ispahani) นักอุตสาหกรรมลือนามดำเนินการจัดตั้งสายการบินของปากีสถาน ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีใช้ชื่อ “Orient Airways” เปิดเป็นบริษัทเอกชนอยู่ที่มหานครกัลกัตตา (Calcutta) ในรัฐเบงกอลตะวันตกของประเทศอินเดีย
เครื่องบินของสายการบินนี้ทะยานจากพื้นดินสู่ท้องฟ้าปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. 1946 (ตรงกับ พ.ศ. 2489) ก่อนจะได้รับใบอนุญาตประกอบการในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1947 (ตรงกับ พ.ศ. 2490) ลำเลียงขนส่งผู้โดยสารระหว่างกรุงเดลี (Delhi) เมืองหลวงของอินเดียกับนครการาจี (Karachi) ของปากีสถาน
ต่อมาสายการบินของบริษัท Orient Airways ย้ายฐานมาตั้งอยู่ในปากีสถาน พร้อมเริ่มเปิดเที่ยวบินสัญจรระหว่างแต่ละเมืองในประเทศของตนครั้งแรก อันได้แก่ การาจี-ละฮอร์-เปชาวาร์ (Karachi-Lahore-Peshawar), การาจี-เควตตา-ละฮอร์ (Karachi-Quetta-Lahore) และ การาจี-เดลี-กัลกัตตา-ดักกา (Karachi-Delhi-Calcutta-Dacca)
กระทั่งเดือนมกราคม ค.ศ. 1955 (ตรงกับ พ.ศ. 2498) รัฐบาลปากีสถานตัดสินใจจัดตั้งสายการบินแห่งชาติขึ้นอย่างจริงจัง โดยรวมกิจการของบริษัท Orient Airways มาผนวกเข้าด้วยกับสายการบินของรัฐ และเปิดบริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ เริ่มมีเครื่องบินเดินทางไปกลับจากปากีสถานสู่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ผ่านทางกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ และกรุงโรม ประเทศอิตาลี อีกทั้งขยับขยายเส้นทางสู่ประเทศในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาอีกหลายแห่ง เช่น กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ในปี ค.ศ. 1964 (ตรงกับ พ.ศ. 2507) สายการบินแห่งชาติปากีสถานถือเป็นสายการบินแรกของประเทศที่มิได้ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งเปิดเส้นทางโดยสารเข้าไปในประเทศจีน อันเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ เที่ยวบินแรกสุดออกเดินทางเมื่อวันพุธที่ 29 เมษายน จากมหานครการาจีไปยังมหานครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai) ของจีนผ่านทางแคนตัน (Canton) หรือกว่างโจว (Guangzhou) แห่งมณฑลกวางตุ้ง
ตรงจุดนี้แหละเป็นเหตุผลว่า ทำไมในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1970 (ตรงกับ พ.ศ. 2513) เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งพำนักอยู่ที่เมืองกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง และปรารถนาจะเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส จึงต้องโดยสารเที่ยวบินของสายการบินแห่งชาติปากีสถาน นั่นก็เพราะเป็นเพียงสายการบินเดียวที่มีเส้นทางสัญจรระหว่างเมืองจีนกับทวีปยุโรป
เสริมข้อมูลสักนิด ในปีเดียวกันกับที่นายปรีดีเป็นผู้โดยสารนั้น สายการบินแห่งชาติปากีสถานยังเริ่มริจัดตั้งฝ่ายจัดเตรียมอาหารที่ให้บริการแก่ผู้โดยสารของสายการบินหรือ “Flight Kitchen” ของตนเองขึ้นในมหานครการาจีด้วย
ที่ผมสาธยายมาหลายบรรทัด น่าจะทำให้คุณผู้อ่านเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นกระมังว่า สายการบินแห่งชาติปากีสถานมีความสัมพันธ์และสำคัญอย่างไรกับนายปรีดี พนมยงค์ จะเรียกได้ว่าการเกิดขึ้นของสายการบินนี้ในปี ค.ศ. 1970 (ตรงกับ พ.ศ. 2513) เข้ามามีส่วนในการเดินทางลี้ภัยของอดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 7 และสบโอกาสอย่างพอดีให้ได้เดินไปทางพำนักอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลาที่ยาวนานจวบจนลมหายใจสุดท้าย
เอกสารอ้างอิง
- ปรีดี พนมยงค์. ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน. แปลจาก Ma vie mouvementee’ et mes 21 ans d’exil en chine populaire โดย พรทิพย์ โตใหญ่ และจำนง ภควรวุฒิ. กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, 2529
- historyofpia.com
- piac.com.pk