รัฐบาลพระยาพหลฯ ต้องเผชิญกับปัญหาการคุกคามเสถียรภาพจากระบอบเก่าและจากภายในกองทัพด้วยกัน ทั้งนี้เพราะจากการยึดอำนาจสองครั้งภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี โดยที่กำลังสำคัญในการยึดอำนาจมาจากฝ่ายทหารบกเองก็ทำให้ทหารได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างสูง
นับตั้งแต่เริ่มแรกของยุครัฐธรรมนูญ การยึดอำนาจและการขึ้นมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองย่อมไม่เป็นที่พอใจของผู้สูญเสียอำนาจเป็นธรรมดา และในขณะเดียวกันก็สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ที่เชื่อในความคิดที่ว่า ทหารไม่ควรเกี่ยวข้องกับการเมืองในลักษณะเช่นนี้ด้วย ในสมัยของรัฐบาลพระยาพหลฯ มี “กบฏ” ที่นำโดยทหารสองครั้ง ที่รู้จักกันในนามของ “กบฏบวรเดช” และ “กบฏนายสิบ” รัฐบาลได้ปราบปรามกบฏทั้งสองครั้งสำเร็จ และได้ตั้ง “ศาลพิเศษ” ขึ้นพิจารณาโทษผู้ก่อการกบฏ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังประสบปัญหาคุกคามจากพลเรือนฝ่ายตรงกันข้าม และได้ใช้พระราชบัญญัติป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ และกระบวนการศาลยุติธรรมตามปกติลงโทษอีกรวม 7 ครั้ง ทั้งหมดเป็นข้อหาในเรื่องการพยายามที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มล้างรัฐบาล ประทุษร้ายต่อบุคคลสำคัญ ไปจนกระทั่งถึงการยุยงเสี้ยมสอนให้เกลียดชังผู้นำในระบอบใหม่
ในบรรดาเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งหมด ไม่มีกรณีใดที่จะใหญ่โตและร้ายแรงเท่ากรณี “กบฏบวรเดช” ซึ่งความขัดแย้งปะทุไปถึงการใช้กำลังอาวุธต่อสู้กันในรูปของ “สงครามกลางเมือง” ขนาดย่อย และมีผลกระทบต่อการเมืองสูงในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับองค์พระมหากษัตริย์ รัฐบาลตั้งข้อสงสัยในความเกี่ยวพันของรัชกาลที่ 7 กับฝ่ายกบฏ
ในขณะเดียวกันรัชกาลที่ 7 ก็ขาดพระราชศรัทธาในความเป็นประชาธิปไตยของรัฐบาลคณะราษฎร อันเป็นผลให้รัชกาลที่ 7 เสด็จต่างประเทศภายในเวลาเพียง 3 เดือนหลังการกบฏ (12 มกราคม 2476) และเมื่อทรงเจรจาต่อรองเป็นที่ตกลงกันไม่ได้กับรัฐบาล ก็ทำให้สละราชสมบัติในเวลาอีก 1 ปีต่อมา (2 มีนาคม 2477) (ในทำนองเดียวกันภายหลังกบฏบวรเดช พระบรมวงศานุวงศ์จำนวนไม่น้อยก็เสด็จออกจากสยามไปพำนักอยู่ต่างประเทศ)
“กบฏบวรเดช” เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่าและระบอบใหม่ จากข้อโต้แย้งในเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ จากข้อกล่าวหาคอมมิวนิสต์ จากการทำรัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 และที่สำคัญที่สุดคือข้อโต้แย้งในเรื่องพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่
ภายหลังการรัฐประหาร 20 มิถุนายน รัฐบาลพระยาพหลฯ ได้เชิญ ‘หลวงประดิษฐ์ฯ’ ซึ่งถือได้ว่าเป็น “มันสมอง” ของคณะราษฎรกลับจากต่างประเทศ (29 กันยายน 2476) หลวงประดิษฐ์ฯ ถูกส่งไปลี้ภัยการเมืองดังที่กล่าวแล้วข้างต้นเป็นเวลาประมาณ 5 เดือน และเมื่อกลับมา ก็ได้รับการต้อนรับอย่างกระตือรือร้นจากสมาชิกคณะราษฎรด้วยกัน ดังจะเห็นได้จากการเดินทางเข้าประเทศเปลี่ยนจากเรือพาณิชย์ที่ปากน้ำเจ้าพระยาลงเรือยามฝั่งของราชนาวีสยาม และมี ‘หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์’ ออกไปรับ นำกลับมาเทียบท่าขึ้นเรือที่วังบางขุนพรหม ที่นั่น ‘พระยาพหลฯ’ นายกรัฐมนตรี และ ‘นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม’ ให้การต้อนรับ และเมื่อถึงวังปารุสกวันซึ่งเป็นทำเนียบรัฐบาล ก็มีนักเรียนกฎหมาย 400 นายกล่าวต้อนรับ (ในตอนนั้นโรงเรียนกฎหมายได้โอนสังกัดจากกระทรวงยุติธรรมไปขึ้นกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ‘ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ’ เป็นผู้รักษาการแทนคณบดี เมื่อ 25 เมษายน 2476 ภายหลัง “การรัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกา” และถูกโอนอีกครั้งให้กลับมาเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองโดยพระราชบัญญัติเมื่อ 17 มีนาคม 2476)
เมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ กลับมา ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีลอยในทันที เมื่อ 1 ตุลาคม 2476 ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ การล้างข้อกล่าวหาหลวงประดิษฐ์ฯ ว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่นั้น จะมากระทำภายหลังการกบฏบวรเดชโดยที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาเรื่องที่หลวงประดิษฐ์ฯ ต้องคำกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ มีมลทินจริงหรือไม่ โดยมี ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ เป็นประธาน เมื่อ 25 ธันวาคม 2476 คณะกรรมการได้ลงมติว่าตัวหลวงประดิษฐ์ฯ มิได้เป็นคอมมิวนิสต์ แต่มิได้มีการตั้งประเด็นพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาตินั้นแต่อย่างใด
การกลับมาของหลวงประดิษฐ์ฯ ทำให้กระแสการเคลื่อนไหวและกล่าวหารัฐบาลคึกคักขึ้น แม้กระทั่งก่อนหน้านี้คือเมื่อ 6 กรกฎาคม 2476 เพียงเดือนครึ่งหลังการรัฐประหาร 20 มิถุนายน หลวงพิบูลสงครามและหลวงศุภชลาศัยในฐานะผู้นำของการรัฐประหาร ก็ได้มีจดหมายไปยังเจ้าและขุนนาง 8 ท่าน คือ นายพลเอก พระองค์เจ้าบวรเดช, นายพลตำรวจศรี ม.จ.วงศ์นิรชร เทวกุล, นายพลโท พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ ม.จ.โสภณภราดัย, ม.จ.ฉัตรมงคล, ม.จ.ไขแสง รพีพัฒน์, นายพลตำรวจโท พระยาอธิกรณ์ประกาศ และ นายนาวาเอก พระยาศราภัยพิพัฒน์ มีข้อความว่า
“ในการยึดอำนาจการปกครองทั้ง 2 คราว (24 มิถุนายน 2475 และ 20 มิถุนายน 2476) คณะผู้ก่อการได้ยึดหลักและปฏิบัติไปในทางละมุนละม่อม เพื่อเห็นแก่ความสงบของบ้านเมือง และความอิสระภาพของชาติไทย แต่บัดนี้ปรากฏตามทางสืบสวนว่า ท่านได้มีการประชุมและคิดอยู่เสมอ ในอันที่จะทำให้เกิดความไม่สงบแก่บ้านเมือง และทำให้รัฐบาลเป็นกังวล ซึ่งเป็นเหตุให้การบริหารราชการบ้านเมืองไม่ก้าวหน้าไปเท่าที่จะเป็น ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงขอเตือนให้ท่านสงบจิตเสีย หากท่านยังขืนจุ้นจ้านอีก คณะก็ตกลงจะกระทำการอย่างรุนแรง และจำต้องถือเอาความสงบของบ้านเมืองเท่านั้นเป็นกฎหมายในการกระทำการแก่ท่าน ที่กล่าวมานี้มิใช่ขู่เข็ญ แต่เป็นการเตือนมาเพื่อความหวังดี”
อีกสองเดือนต่อมาหลังจากจดหมายเตือนดังกล่าว และอีกสิบวันหลังการแต่งตั้งหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นรัฐมนตรีลอย ในขณะที่รัชกาลที่ 7 ประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล ในวันที่ 11 ตุลาคม ‘นายพลเอก พระองค์เจ้าบวรเดช’ อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในฐานะแม่ทัพก็นำทหารจากนครราชสีมา อุบลราชธานี ลพบุรี สระบุรี และอยุธยา รวมทหารราบ 3 กองพัน ทหารปืนใหญ่ 2 กองพัน ทหารม้า 2 กองพัน ทหารช่าง 2 กองพัน เคลื่อนกองทัพมาโดยทางรถไฟเข้ายึดสนามบินดอนเมือง
ในวันเดียวกันนั้น ‘นายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม’ (ดิ่น ท่าราบ) อดีตผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้ากรมยุทธทหารบก (18-20 มิถุนายน 2476) ในฐานะของเสนาธิการ “คณะกู้บ้านกู้เมือง” อันเป็นนามที่กลุ่มกบฏบวรเดชเรียกตนเอง ได้ส่งหนังสือคำขาดให้รัฐบาลลาออก ทั้งนี้เพราะ “คณะรัฐมนตรีปล่อยให้คนดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเอาหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับมาเพื่อดำเนินการแบบคอมมิวนิสต์ต่อไป จึงขอให้คณะรัฐมนตรีกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง ภายใน 1 ชั่วโมง มิฉะนั้นจะใช้กำลังบังคับจนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ซึ่งไม่มีนายทหารประจำการเข้าเกี่ยวข้อง”
รัฐบาลของพระยาพหลฯ ตอบโต้ด้วยการประกาศในวันที่ 12 ตุลาคมถัดมา ให้ประชาชนย้ายออกจากบริเวณหลักสี่ บางเขน และดอนเมืองซึ่งฝ่าย “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ยึดครองอยู่ เป็นสัญญาณว่าจะปราบปรามอย่างเด็ดขาด และตั้ง ‘นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม’ เป็นผู้บัญชาการ “กองบังคับการผสม” ปราบปรามกบฏ (11 ตุลาคม) ในวันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งจะมีการรบอย่างรุนแรงในตอนเย็นแถบบริเวณวัดแคราย
ฝ่ายกบฏบวรเดชได้ยื่นข้อเสนอใหม่ 6 ข้อ ซึ่งมีใจความในลักษณะเดิม คือ ยืนยันในเรื่องสยามจะ “ต้องมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสานต์” และ “การเลือกตั้งผู้แทนประเภทที่ 2 ต้องถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือก” การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจะต้องมิใช่ได้มาด้วยการใช้อาวุธ (ดังเช่นกรณี 20 มิถุนายน 2476) ต้องอนุญาตให้มีคณะการเมือง (พรรคการเมือง) ข้าราชการประจำต้องอยู่นอกการเมือง (ยกเว้นบางตำแหน่ง) แต่ผู้บัญชาการทหารบก-ทหารเรือต้องไม่มีหน้าที่ในการเมือง และที่สำคัญคือกองทัพจะต้องกระจายไปตามท้องถิ่นมิใช่รวมอยู่ในพระนคร
น่าสังเกตว่าในคำขาดอันแรกของ “คณะกู้บ้านกู้เมือง” นี้ จะเป็นครั้งแรกของการเมืองไทยในระบอบใหม่ที่ข้อกล่าวหาในการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพผนวกกับข้อกล่าวหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์จะถูกนำมาใช้ในการขจัดฝ่ายตรงกันข้าม และเราจะเห็นข้อกล่าวหาดังกล่าวอีกหลายโอกาสแม้กระทั่งในการเมืองปัจจุบัน และก็น่าสังเกตว่า คำขาดนี้ก็ยังมีส่วนที่จะขจัดทหารประจำการเข้าเกี่ยวข้องดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกด้วย
ส่วนในคำขาดที่สองนั้นก็เป็นที่น่าสังเกตว่าได้มีการขยายความในประเด็นบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ นั่นคือ การที่จะยังทรงมีพระราชอำนาจอยู่ครึ่งหนึ่งในการที่จะทรงเลือกสมาชิกสภาประเภทสอง และก็ได้ขยายความในประเด็นของข้าราชการประจำที่จะต้องไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่สำคัญก็คือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะต้องมิใช่ด้วยการใช้กำลังอาวุธบีบบังคับ (แต่ฝ่าย “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ก็มิได้รวมไปถึงกรณีของ “การรัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกา”)
คำขาดที่สองของ “คณะกู้บ้านกู้เมือง” แม้จะดูอ่อนกว่าคำขาดแรก คือ ไม่มีการกำหนดให้รัฐบาลลาออกภายใน 1 ชั่วโมง (ซึ่งก็เผยให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของฝ่ายกบฏบวรเดช อันกลายเป็นสิ่งที่รัฐบาลมองว่าเป็นจุดอ่อน) และแม้จะมีข้ออ้างในทางประชาธิปไตยอยู่ไม่น้อย แต่การที่รัฐบาลพระยาพหลฯ จะยอมรับก็หมายถึงการสลายรัฐบาลไปโดยปริยายนั่นเอง
ในภาวะของความขัดแย้งและปัญหาของความอยู่รอดของรัฐบาลฝ่ายคณะราษฎรเอง จะเห็นได้ว่าข้อเรียกร้องดังกล่าว ไม่มีทางที่รัฐบาลจะยอมรับได้ โดยที่พระยาพหลฯ ได้มีหนังสือตอบในวันเดียวกันว่า “คณะรัฐบาลนี้เป็นคณะที่เคารพนับถือต่อรัฐธรรมนูญ กอปรด้วยความจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ประมุขของชาติ และดำเนินการตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดทุกประการ ตลอดทั้งการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นหลักพะยาน... ฉะนั้นคำขอของท่านก็เป็นอันตกไป และรัฐบาลมีความเสียใจอย่างยิ่งที่มีคณะก่อการจลาจลใช้กำลังทหารเพื่อจะเลิกล้มรัฐบาล อันเป็นการกระทำซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้พระราชทานพระราชกระแสมายังคณะรัฐมนตรีว่าทรงโทมนัสไม่พอพระราชหฤทัย และซึ่งเป็นเหตุให้รัฐบาลจำเป็นต้องปราบด้วยกำลังทหารทั้งๆ ที่ไม่สมัครเลย…”
ในวันที่ 12 ตุลาคมก่อนหน้า ข้อเสนอครั้งที่สองของพระองค์เจ้าบวรเดชและก่อนหนังสือตอบของพระยาพหลฯ ดังกล่าวข้างต้น ทหารฝ่ายรัฐบาลก็ได้เริ่มระดมยิงฝ่ายกบฏ พร้อมทั้งประกาศให้รางวัลจับ “หัวหน้าผู้ก่อการจลาจล” พระองค์เจ้าบวรเดช 1 หมื่นบาท ‘พล.ต.พระยาเสนาสงคราม’ (ม.ร.ว.อี๋ นพวงศ์ ผู้บาดเจ็บถูกยิงจาก 24 มิถุนายน 2475) ‘พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม’ และ ‘พ.อ.พระยาเทพสงคราม’ (สิน อัคนิทัต) คนละ 5 พันบาท
“กองบังคับการกองผสม” ได้เคลื่อนตัวเข้าโจมตีฝ่ายกบฏตามแนวสถานีบางซื่อ สนามเป้า สามเสน และมักกะสัน ซึ่งทำให้พระองค์เจ้าบวรเดชต้องสั่งถอยทัพออกจากที่มั่นหลักสี่ บางเขน และดอนเมืองตามลำดับเมื่อ 15 ตุลาคม และในวันที่ 16 ตุลาคมฝ่ายรัฐบาลก็สามารถยึดดอนเมืองได้ การรุกและการถอยดำเนินไปตามเส้นทางรถไฟ โดยที่ทางฝ่ายกบฏรื้อทางและสะพานไปตลอดทาง ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ซ่อมแซมเพื่อใช้รถไฟติดตามไป
ในวันที่ 23 ตุลาคม มีการปะทะกันรุนแรงที่สถานีหินลับ บนเส้นทางรถไฟสายสระบุรี-นครราชสีมา ‘พระยาศรีสิทธิสงคราม’ เสนาธิการของ “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ถูกยิงเสียชีวิต ทำให้ฝ่ายรัฐบาลรุกยึดนครราชสีมาได้ในวันที่ 25 ตุลาคม พร้อมกับการที่ ‘พระองค์เจ้าบวรเดช’ และชายาหลบหนีโดยเครื่องบินไปลี้ภัยการเมืองในอินโดจีนของฝรั่งเศสและในวันที่ 26 ตุลาคมต่อมา นายทหารสำคัญๆ ของฝ่ายกบฏก็แยกย้ายกันหลบหนีตามไป เป็นอันว่ารัฐบาลประสบชัยชนะเด็ดขาดวันนั้นเอง
“กบฏบวรเดช” เป็นเหตุการณ์ใหญ่และเกิดความเสียหายมาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติและหลักเมือง ประมาณว่ามีความเสียหายด้านทรัพย์สิน 3 ล้านบาท กรมรถไฟหลวงนับว่าเสียทรัพย์สินมากที่สุด รองลงมาก็เป็นกองทัพบก ฝ่ายรัฐบาลมีทหารเสียชีวิต 15 นาย โดยมีบุคคลสำคัญของคณะราษฎรรวมอยู่ด้วย คือ ‘พ.ต.หลวงอำนวยสงคราม’ (ถม เกษะโกมล) ถูกยิงตายที่วัดเทวสุนทรเมื่อ 14 ตุลาคม และมีทหารและพลเรือนบาดเจ็บ 59 คน โดยที่ ‘พ.ต.หลวงกาจสงคราม’ (เทียน เก่งระดมยิง) เสนาธิการจังหวัดทหารบกกรุงเทพ ประสบอุบัติเหตุจากการที่ฝ่ายกบฏได้ปล่อยขบวนรถไฟให้มาชนขบวนรถของฝ่ายรัฐบาลทำให้บาดเจ็บที่ท้ายทอยจรดหน้าผาก กกหูขวาขาด ‘ร.อ. ม.ล.ขาบ กุญชร’ บก.ทหารปืนใหญ่ ถูกกระสุน 2 นัด รัฐบาลได้จัดพิธีพระราชทานเพลิงศพทหารฝ่ายรัฐบาลที่ท้องสนามหลวง (18 กุมภาพันธ์ 2476) และได้สร้างอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญสำหรับบรรจุอัฐิที่วงเวียนหลักสี่ และก่อนหน้านี้รัฐบาลก็จัดงานฌาปนกิจศพทหารฝ่าย “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ที่จังหวัดนครราชสีมา (21 พฤศจิกายน 2476)
ทันทีที่ได้รับชัยชนะ รัฐบาลได้เสนอ “พ.ร.บ. จัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. 2476” เพื่อพิจารณาโทษฝ่ายกบฏ โดยนำเข้าสภาผู้แทนราษฎร (28 ตุลาคม) เสนอให้รัชกาลที่ 7 ทรงลงพระปรมาภิไธย (ที่จังหวัดสงขลา อันเป็นที่ประทับชั่วคราวหลังจากที่เสด็จไปจากหัวหินในช่วงของการกบฏ) และประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างรวดเร็ว (30 ตุลาคม)
ผู้ต้องหาในคดีนี้มีมากมายถึงประมาณ 600 คน แต่ตกเป็นจำเลย 318 คน รัฐบาลได้ทำการถอดยศและบรรดาศักดิ์ของฝ่ายกบฎที่เป็นทหารรวม 35 นาย และในการดำเนินคดีที่ยืดยาวเป็นเวลา 2 ปีนั้น ในที่สุดศาลได้พิพากษาโทษจำคุกตลอดชีวิต 47 คน (มี 5 คนถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ได้รับการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต) และมีถูกจำคุกระหว่าง 6 เดือนถึง 20 ปี 107 คน รวมทั้งหมดได้รับโทษ 154 คน บุคคล
สำคัญที่ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต เช่น ‘ม.จ.สิทธิพร กฤดากร’ เจ้ากรมตรวจกสิกรรม, ‘พระยาสุรพันธ์เสนีย์’ (อิ้น บุนนาค) สมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี, ‘พระยาวิเศษฤาไชย’ (ม.ล.เจริญ อิศรางกูร) ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี, ‘น.อ.พระยาศราภัยพิพัฒน์’ บรรณาธิการ นสพ. บางกอกเดลีเมล์, ‘ร.ท.จงกลไกรฤกษ์’, ‘หลวงมหาสิทธิโวหาร’ (สอ เสถบุตร) นักเขียน, ‘นายหลุย คีรีวัต’ หุ้นส่วนใหญ่สยามฟรีเปรส เจ้าของบางกอกเดลีเมล์ (ภาษาอังกฤษ) และบางกอกเดลีไทม์ (ภาษาไทย) ฯลฯ บรรดานักโทษสำคัญเหล่านี้ได้ถูกส่งไปกักขังที่เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล เมื่อ 16 กันยายน 2482 ในสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามส่วนผู้ที่ได้รับโทษน้อยลงมาก็เช่น ‘ร.ท. ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน’ (9 ปี)
ผลกระทบของกบฏบวรเดชมีมหาศาล ทำให้พระมหากษัตริย์และรัฐบาลขาดความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันยิ่งขึ้น และนำไปสู่การสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ในประเด็นนี้ Dr. Benjamin A. Batson ได้กล่าวว่า บทบาทของรัชกาลที่ 7 ในกรณีบวรเดชนั้น “เป็นเรื่องของข้อถกเถียงกันตลอดมา” หรือ has been a matter of controversy คือเมื่อเกิดการกบฏขึ้น รัชกาลที่ 7 ประทับอยู่ที่หัวหิน ต่อมาในช่วงที่เกิดการรบอย่างรุนแรง พระองค์และพระราชินีรำไพพรรณีก็เสด็จโดยทางเรือลงไปสงขลาซึ่งเป็นจังหวัดใกล้พรมแดนมลายู มีการตีความว่าเสด็จไปเพื่อหลีกเลี่ยงจากการที่ไม่ฝ่ายกบฏก็ฝ่ายรัฐบาลจะมาคุมพระองค์เพื่อใช้ประโยชน์ทางการเมือง
ฐานะของพระมหากษัตริย์นั้น สำคัญยิ่งต่อทั้งสองฝ่ายที่สู้รบกัน ดังจะเห็นได้ว่าทั้งรัฐบาลและฝ่ายกบฏต่างก็อ้างองค์พระมหากษัตริย์ในการกระทำของตน และเป็นที่เชื่อกันว่าหากรัชกาลที่ 7 ทรงแสดงพระองค์ออกมาเป็นฝ่ายใดอย่างเด่นชัด ฝ่ายนั้นก็จะได้เปรียบทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม โดยทางการแล้วรัชกาลที่ 7 ก็แสดงออกแต่ความเสียพระทัยที่เห็นคนไทยสู้รบกันเอง ในขณะที่มีการตั้งข้อสงสัยว่า ข้าราชสำนักบางท่านให้ความสนับสนุนและติดต่อกับฝ่ายกบฏ ถึงกลับปรากฏในข้ออ้างของรัฐบาลคณะราษฎรต่อมาว่า ราชสำนักให้การสนับสนุนกบฏเป็นเงิน 2 แสนบาท
ดังนั้น ความระแวงสงสัยซึ่งกันและกันระหว่างราชสำนักและรัฐบาลจึงเพิ่มมากขึ้นนับแต่เหตุการณ์นี้ และรัชกาลที่ 7 เองก็ทรงประทับอยู่ที่สงขลาถึง 2 เดือนแม้รัฐบาลจะกราบบังคมทูลเชิญกลับพระนครก็ตาม แม้ในระหว่างที่มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตลอดเดือนพฤศจิกายน 2476 ก็ยังทรงประทับที่สงขลา พระองค์เสด็จกลับพระนครก่อน 10 ธันวาคมเมื่อจะมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยที่ต้องทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาแต่งตั้งสมาชิกประเภทสอง (9 ธันวาคม) จำนวน 78 นาย อันกลายมาเป็นข้อขัดแย้งก่อนการสละราชสมบัติในข้อที่ว่าผู้ใดมีอำนาจเลือกผู้แทนประเภทนี้
ความขัดข้องระหว่างรัชกาลที่ 7 และรัฐบาลที่เริ่มมาแต่การรัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 และการกบฏบวรเดชเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้น ทำให้สถานการณ์ยุ่งยากยิ่งขึ้น กระทั่งมีกระแสข่าวว่าจะมีการสละราชสมบัติ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีพระราชดำริมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อหลังการยึดอำนาจ 24 มิถุนายนใหม่ๆ ในช่วงกลางปี 2475 ก็มีกระแสข่าวนี้เช่นกัน ในที่สุดความขัดข้องนี้ก็จบลงด้วยการที่รัชกาลที่ 7 เสด็จอังกฤษ “เพื่อรักษาพระเนตร”
แม้รัฐบาลจะพยายามทัดทานและเสนอที่จะจัดแพทย์จากต่างประเทศมาถวายก็ตาม ทรงมีพระราชดำรัสแก่ประชาชนทางวิทยุกระจายเสียง 11 มกราคมคล้ายเป็น “คำอำลา” และในวันที่ 12 มกราคม 2476 ก็เสด็จพระราชดำเนินออกจากสยามซึ่งเป็นเวลาเพียง 3 เดือนหลังกบฏบวรเดช (สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อดีตอภิรัฐมนตรี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)
สรุปได้ว่าภายในเวลาไม่ถึง 2 ปีภายหลังการยึดอำนาจ องค์บุคคลสำคัญๆ ของระบอบเก่าต่างก็ทยอยกันออกต่างประเทศ และส่วนใหญ่ก็สิ้นพระชนม์นอกสยาม ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเจ้านายชั้นสูงระดับอภิรัฐมนตรีได้ออกไปประทับกันในต่างประเทศ ดังนี้
เริ่มจากกรม ‘พระนครสวรรค์วรพินิต’ (2424-2487) เมื่อกรกฎาคม 2475 เป็นพระองค์แรกที่ถูกเชิญ (บีบ) โดยตรง เนื่องจากเชื่อกันว่าพระองค์ทรงมีอำนาจมากที่สุดในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระองค์สิ้นพระชนม์ในชวาเมื่อ 2487 ครั้นหลังการกบฏบวรเดช ‘สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ’ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอภิรัฐมนตรีอาวุโสที่อนุรักษนิยม และทรงไม่เห็นด้วยกับแนวพระราชดำริทางการเมือง เรื่องการพระราชทานรัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 ก็เสด็จออกไปปีนังในเดือนพฤศจิกายนหรือ 1 เดือนหลังการกบฏ ทรงพำนักที่นั่นจนญี่ปุ่นบุกเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมเวลาเกือบ 10 ปี เสด็จกลับเมืองไทยอีกครั้งก็เมื่อเกิดบรรยากาศทางการเมืองใหม่เมื่อ 2485 และสิ้นพระชนม์เมื่อธันวาคม 2488 พระชนมายุ 81 พรรษา
ใกล้ๆ กันนี้ อภิรัฐมนตรีอีกองค์ซึ่งก็ถือได้ว่าทรงมีบทบาทสำคัญในช่วงสมัยของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ ‘กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน’ (2424-2479) หลังจากเป็นผู้แทนพระองค์ไปในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าดารารัศมีแล้ว ก็เสด็จออกไปอยู่สิงค์โปร์ และสิ้นพระชนม์ 2479 ส่วนอภิรัฐมนตรีที่เหลืออีก 2 องค์ คือ กรมพระนริศฯนั้นประทับที่ตำหนักปลายเนินคลองเตย จนสิ้นพระชนม์เมื่อ 2490 และก็ได้ทรงมีจดหมายโต้ตอบกับกรมพระยาดำรงฯ เป็นเวลายาวนานในเรื่องของประวัติศาสตร์ โบราณคดีวรรณกรรม ศิลปะ ที่ได้รับการจัดพิมพ์ในชื่อ สาส์นสมเด็จ ส่วน ‘กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรทัย’ (พระองค์เดียวในคณะอภิรัฐมนตรีที่มิได้ถูกคณะราษฎรควบคุมพระองค์เมื่อ 24 มิถุนายน) นั้นเสด็จตามรัชกาลที่ 7 ออกไปต่างประเทศชั่วคราวแต่ก็เสด็จกลับเมืองไทยไม่นานหลังจากนั้น และสิ้นพระชนม์เมื่อ 2486
ในการเสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศ รัชกาลที่ 7 เสด็จผ่านอาณานิคมของฮอลันดา (อินโดนีเซีย) ก่อนบรรดาเจ้านายสำคัญๆ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รวมทั้งกรมพระนครสวรรค์ได้เฝ้าแห่แหนพร้อมกันที่นั่น และก็เสด็จต่อไปยังอังกฤษ ที่นั่นทรงใช้เวลาต่อรองเจรจากับรัฐบาล ในประเด็นของพระราชอำนาจของกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ (เรื่องการพระราชทานอภัยโทษ เรื่องการแต่งตั้งสมาชิกสภาประเภทสอง) เรื่องพระราชทรัพย์และผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งส่วนใหญ่รัฐบาลตอบปฏิเสธด้วยภาษาสุภาพ และภายหลังที่รัฐบาลส่งคณะผู้แทน 3 ท่าน (เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และนายดิเรก ชัยนาม) ไปเจรจาเมื่อพฤศจิกายน 2477 ไม่เป็นผลสำเร็จ ก็ทรงสละราชสมบัติ 2 มีนาคม 2477 ทรงพำนักอยู่ในเขตชนบทผู้ดีอังกฤษที่ “เซอร์เร่ย์” และทรงรับพระองค์เจ้าจีระศักดิ์เป็นโอรสบุญธรรม และสิ้นพระชนม์เมื่อพฤษภาคม 2484 ด้วยพระหทัยล้มเหลว
อนึ่ง ในบรรดาเจ้านายสำคัญๆ ที่เสด็จไปประทับ ณ ต่างประเทศนั้น ก็ยังมี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ขณะนั้นทรงเป็นหม่อมสังวาลย์ และพระโอรสธิดา คือ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเสด็จไปประทับ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อมีนาคม 2475 อีกด้วย น่าสนใจว่าทรงเลือกไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศเป็นกลาง และกลายเป็นคุณประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับไทยในช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2
ที่มา: ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติศาสตร์การเมืองไทย 2475-2500, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544), น. 152-164
หมายเหตุ:
- จัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ
- บทความนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว