ประชาธิปก ป.ร.
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)
เป็นรัฐมนตรี รับราชการสนองพระเดชพระคุณ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๓๖
พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา
นายกรัฐมนตรี
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
หลังจากที่ท่านปรีดีฯ กลับมาถึงกรุงเทพ ฯ เพียง ๒ วัน ก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท่านเป็นรัฐมนตรีร่วมในรัฐบาลท่านเจ้าคุณนายก พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา ในการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีครั้งนี้ ท่านเจ้าคุณนายกเสนอให้อยู่ในฐานะรัฐมนตรีลอย คือ ไม่ได้ประจำกระทรวงหนึ่งกระทรวงใดโดยเฉพาะ ในตำแหน่งรัฐมนตรีลอย ถ้าจะพูดถึงฐานะระดับชั้นของรัฐมนตรีโดยทั่วๆ ไปแล้วก็ย่อมต่ำกว่ารัฐมนตรีประจำกระทรวง แต่ถ้าพูดถึงงานในภาระหน้าที่ของท่านปรีดีฯ
ในขณะนั้น ก็ดูเหมือนจะมีความรับผิดชอบมากกว่าเจ้ากระทรวงหลายๆ กระทรวง และ งานในภาระหน้าที่ของท่านดังกล่าวนี้ ไม่ใช่เป็นงานประจำชนิดเช้าชามเย็นชาม แต่เป็นงานริเริ่มและเป็นงานหลักหรือจะเรียกว่าเป็นงานตอกเสาเข็มระบอบประชาธิปไตยก็ไม่เกินจากความจริง
ในการที่ท่านเจ้าคุณนายก เอาท่านปรีดี ฯ มาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีลอยนั้น ที่แท้จริงก็คือรับภาระหน้าที่เป็นผู้ช่วยท่านเจ้าคุณนายกนั้นเอง เพราะท่านเจ้าคุณนายกนั้น ท่านบอกว่าท่านเป็นนักการทหาร ท่านไม่ถนัดการเมือง ท่านไม่มีความรู้พอ ท่านจึงขอลาออกจากตำแหน่งนายกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๔๗๖ แต่สภาฯ และพระปกเกล้าฯ ไม่ยอมให้ออก ท่านจึงจำใจอยู่ในตำแหน่งต่อไปและขอตัวท่านปรีดีฯ กลับจากฝรั่งเศสเพื่อมาช่วยเหลือท่านรับใช้ชาติ
งานของท่านปรีดีฯ ในฐานะรัฐมนตรีจึงครอบคลุมไปหมดทุกกระทรวง ถึงแม้ว่าจะมีฐานะหรือชั้นต่ำกว่ารัฐมนตรีเจ้ากระทรวงก็จริง แต่ท่านปรีดีฯ ก็ภูมิใจและยินดีที่ได้ทำงานรับใช้ชาติโดยท่านไม่ได้คำนึงถึงฐานะหรือชั้นของเกียรติยศแต่ประการใด ท่านถือว่าการทำงานรับใช้ชาติเป็นสิ่งที่มีเกียรติและเป็นภาระหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของทุกๆ คน และทุกๆ คนจะต้องทำงานเพื่อรับใช้ชาติ เพราะชาติประกอบขึ้นด้วยมวลราษฎร เพราะฉะนั้นการทำงานรับใช้ชาติ ก็คือการทำงานรับใช้มวลราษฎรไทยทั้งหลายนั่นเอง ในเมื่อทุกๆ คนทำงานเพื่อรับใช้มวลราษฎร นั่นก็หมายถึงว่า แต่ละคนทำงานเพื่อทุกๆ คน และทุกๆ คนก็ทำงานเพื่อแต่ละคนด้วย
ในการเรียกตัวท่านปรีดีฯ กลับจากฝรั่งเศสและแต่งตั้งให้ท่านเป็นรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาล พ.อ. พระยาพหล ฯ ครั้งนี้ เท่ากับเป็นการท้าทายกลุ่มศักดินาปฏิกิริยา และก็เท่ากับเป็นการประกาศยืนยันแนวทางการอภิวัฒน์ของคณะราษฎร พระยาพหล ฯ หัวหน้าใหญ่ของคณะราษฎรและกัปตันใหญ่ของรัฐบาล ก็ได้ประกาศอย่างหนักแน่นที่จะปกปักรักษาระบอบประชาธิปไตยด้วยชีวิต
หลังจากที่ท่านปรีดีฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๖ แล้ว แต่ยังไม่ทันที่จะได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนตามรัฐธรรมนูญ ก็ได้เกิดการขบถขึ้นภายในราชอาณาจักร เมื่อ ๑๑ ตุลาคม ปีเดียวกัน ขบถครั้งนี้มี พลเอกพระองค์เจ้าบวรเดชกฤษดากร เป็นหัวหน้า ใช้ชื่อคณะในการขบถครั้งนี้ว่า “คณะกู้บ้านเมือง” แต่ชาวบ้านเรียกกันทั่วๆ ไปว่า “ขบถบวรเดช”
“ขบถบวรเดช” ได้เกลี้ยกล่อมหลอกลวงทหารหัวเมืองให้เข้าร่วมมือ โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลที่กรุงเทพ ฯ เป็นคอมมิวนิสต์ มีท่านปรีดีฯ เป็นผู้บงการ ซึ่งก็ทำเอาทหารหัวเมืองหลงเชื่อไปเหมือนกัน
ตามแผนการพวกขบถศักดินาปฏิกิริยามีกำลังที่จะสนับสนุนเข้าร่วมด้วยคือ กองทัพ
นครราชสีมา, สระบุรี, อยุธยา, นครสวรรค์, ราชบุรี, เพชรบุรี, ปราจีนบุรี, อุบล, อุดร
ฝ่ายแม่ทัพนายกองที่เข้าร่วมขบวนการขบถศักดินาปฏิกิริยา ๑๑ ตุลาคม มีที่สำคัญคือ
๑. พลตรี พระยาเสนาสงคราม
๒. พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม
๓. พันเอก พระยาสุรพันธ์เสนี
๔. พันเอก พระยาเทพสงคราม
๕. พันเอก พระยาไชเยนท์ฤทธิรงค์
๖. พันเอก พระยาฤทธิรงค์รณเฉท
๗. พันเอก พระยาเวหาสยาม
๘. พันเอก พระประยุทธอริยั่น
แต่ในที่สุดแผนการยึดกรุงเทพฯ เพื่อล้มล้างรัฐบาลของกลุ่มขบถศักดินาปฏิกิริยาภายใต้การนำของพระองค์เจ้าบวรเดชฯ ก็ต้องล้มเหลวลง ภายหลังจากที่กำลังของฝ่ายขบถและรัฐบาลได้ปะทะกันอย่างนองเลือด กำลังของฝ่ายรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม สิงห์หนุ่มแห่งกองทัพบก ได้บดขยี้กำลังของฝ่ายศักดินาอย่างแหลกราญ จนกระทั่งบุคคลสำคัญๆ ของฝ่ายศักดินาต้องเสียชีวิตลงในสนามรบอย่างเช่น พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เสนาธิการใหญ่ผู้สำเร็จการศึกษามาจากเยอรมัน และที่มีชีวิตรอดก็ละทิ้งทหารหนีออกนอกประเทศเอาตัวรอดไปตามๆ กันรวมทั้ง พลเอก พระองค์เจ้าบวรเดชฯ ด้วย
แผนการเดิมที่จะใช้ทหารหัวเมืองหลายฝ่ายเข้าสนับสนุนนั้นก็เป็นไปไม่ได้ตามแผน เพราะปรากฏว่าทหารหัวเมืองบางแห่งมารู้ตัวว่าถูกหลอกลวงก็ถอนกำลังกลับเสีย เช่น กองทัพอุบล, อุดร เป็นต้น เมื่อยกกำลังมาถึงนครราชสีมา ก็รู้ว่าถูกหลอกให้มาสู้รบกับรัฐบาลจึงถอยกลับ ส่วนกำลังทางใต้ เช่น กองทัพราชบุรีก็ถูกจับแผนการได้จึงไม่สามารถเคลื่อนกำลังได้ตามแผนที่กำหนดไว้
การล้มล้างรัฐบาลโดยใช้กำลังทหารเข้าประหัตประหาร หรือขบถศักดินาปฏิกิริยา ๑๑ ตุลาคม ๒๔๗๖ ภายใต้การนำของพลเอกพระองค์เจ้าบวรเดช ฯ ครั้งนี้ นับเป็นการใช้กำลังและการนองเลือดระหว่างคนไทยต่อคนไทยเป็นครั้งแรกในระบอบประชาธิปไตย และก็เป็นการเพิ่มจุดด่างให้กับระบอบประชาธิปไตยอีกจุดหนึ่ง หลังจากที่พระยามโนฯ ได้ทำให้เปรอะเปื้อนมาแล้ว
อนึ่ง ในกรณีขบถบวรเดชนั้น นอกจากฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชจะหยิบยกเอาข้อหาว่ารัฐบาลเป็นคอมมิวนิสต์ขึ้นมาหลอกลวงทหารหัวเมือง และกล่าวอ้างต่อประชาชนแล้ว ฝ่ายขบถยังได้ตั้งข้อโฆษณาเป็นการเรียกร้องต่อรัฐบาลในเงื่อนไขที่จะให้รัฐบาลปฏิบัติตามเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ
เงื่อนไขและข้อเรียกร้องของฝ่ายขบถซึ่งเรียกตัวเองว่า “คณะกู้บ้านเมือง” นั้น เป็นเงื่อนไขและข้อเรียกร้องที่หยิบยกขึ้นมาเป็นการอำพรางในเจตนาที่เป็นขบถ เพื่อแก่การช่วงชิงอำนาจโดยวิธีการใช้กำลังอาวุธเข้าประหัตประหาร เพื่อผลแห่งการที่จะได้อำนาจรัฐของกลุ่มพระองค์เจ้าบวรเดชฯ อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม แห่งสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทั้งนี้เพื่อเป็นทิศทางของการเมืองให้กลับไปสู่ทิศทางเดิม คือ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันจักอยู่ภายใต้การบงการของพระองค์เจ้าบวรเดชฯ ต่อไป
ข้อเรียกร้องของพวกขบถบวรเดช ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
๑. ต้องจัดการทุกอย่างที่อำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน
๒. ต้องดำเนินการโดยรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง เฉพาะอย่างยิ่งก็คือการตั้งและถอดถอนคณะรัฐบาลต้องเป็นไปโดยเสียงหมู่มาก ไม่ใช่ทำโดยจับอาวุธดังที่แล้วมา โดยเหตุนี้ ต้องยอมให้มีคณะการเมืองที่ชอบด้วยกฎหมาย
๓. ข้าราชการซึ่งในตำแหน่งประจำการทั้งทหารและพลเรือนต้องอยู่นอกการเมือง เว้นแต่ผู้อยู่ในตำแหน่ง ซึ่งมีหน้าที่อยู่ในการเมืองโดยตรง แต่ข้อความข้างต้นนั้นไม่ตัดสิทธิในการที่ข้าราชการประจำจะยึดถือการเมืองใดๆ ที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ห้ามมิให้ใช้อำนาจหรือโอกาสในตำแหน่งหน้าที่ เพื่อสนับสนุนเผยแพร่ลัทธิที่ตนนิยมหรือบังคับขู่เข็ญโดยทางตรงหรือทางอ้อมให้คนอื่นถือลัทธิที่ตนนิยมนั้นเป็นอันขาด ตำแหน่งฝ่ายทหารตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารบกทหารเรือลงไปต้องไม่มีหน้าที่ทางการเมือง
๔. การแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่ง จักต้องถือคุณวุฒิความสามารถเป็นหลัก ไม่ถือเอาความเกี่ยวข้องทางการเมืองเป็นความชอบหรือเป็นข้อรังเกียจ ในการบรรจุหรือเลื่อนตำแหน่ง
๕. การเลือกตั้งผู้แทนประเภทที่ ๒ ต้องถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือก
๖. การปกครองกองทัพ จักต้องมีหน่วยผสมตามหลักยุทธวิธีเฉลี่ยอาวุธสำคัญ แยกกันไปประจำท้องถิ่น มิให้มีกำลังส่วนใหญ่อยู่เฉพาะแห่งใดแห่งหนึ่ง
คำเรียกร้องแถมพกที่สำคัญนอกเหนือ ๖ ข้อนี้แล้วก็คือ
“ให้รัฐบาลลาออกโดยทันที และให้ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่คณะกู้บ้านเมืองด้วย”
จากข้อเรียกร้องดังกล่าว เราจะเห็นได้ว่าเป็นข้อเรียกร้องที่เละเทะเหลวไหลไร้สาระ เหมือนการกระทำของทารกที่ไร้เดียงสา เพราะข้อเรียกร้องเหล่านั้นหลายข้อที่ได้ปรากฏชัดอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
'ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม' คู่ชีวิตของ 'จอมพล ป. พิบูลสงคราม' แสดงความสลดใจในคำเรียกร้องของคณะบวรเดชฯ ไว้ในนิตยสาร วิทยาสารปริทัศน์ ฉบับวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๑๓ มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“ตามข้อเสนอบังคับของพระองค์เจ้าบวรเดชทุกข้อนั้น มีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรก พุทธศักราช ๒๔๗๕ ที่กล่าวถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เกือบทุกหมวด แม้แต่การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ ก็เป็นพระราชอำนาจระบุไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา ๖๕ อนุ (๒)”
ท่านผู้หญิงละเอียด ได้ให้ความเห็นไว้ในหนังสือฉบับดังกล่าวต่อไปอีกว่า
“การปกครองกองทัพตามในข้อเสนอข้อ ๖ นั้น ผู้เขียนเชื่อว่าการจัดกองทัพนั้น คณะปฏิวัติยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากหลักการของกระทรวงกลาโหมเดิม ซึ่งพระองค์เจ้าบวรเดชทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีว่าการกระทรวงกลาโหมก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง”
แล้ว ท่านผู้หญิงละเอียด ก็ได้แสดงความสลดใจในที่สุดว่า
“ฉะนั้นในฐานะผู้เขียน ไม่มีความรู้กลไกทางการเมืองเลย จึงดำมืดสนิทเมื่อมองดูผลอันจะเกิดจากเหตุที่พระองค์เจ้าบวรเดชได้ทรงปฏิบัติไปคือการนำทหารจากหัวเมืองมาปราบปรามรัฐบาลคณะผู้นำรัฐธรรมนูญมามอบให้แก่ประชาชนชาวไทย เปลี่ยนระบอบพระมหากษัตริย์ที่ทรงอยู่เหนือกฎหมายเป็นพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้กฎหมาย ซึ่งองค์พระมหากษัตริย์ก็ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานให้ด้วยเต็มพระทัย"
ส่วนข้อเรียกร้องที่ไม่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้นก็เป็นข้อเรียกร้องที่คณะราษฎร ได้แสดงเจตนารมณ์ให้ปรากฏออกมาต่อหน้าสาธารณชนอยู่แล้ว เช่นในข้อเรียกร้องข้อ ๔ ที่ ว่าการแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งราชการจักต้องถือคุณวุฒิความสามารถเป็นหลัก ฯลฯ นั้น
คำตอบข้อเรียกร้องข้อนี้ได้ปรากฏชัดอยู่แล้วใน “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของท่านปรีดีฯ ซึ่งบัญญัติไว้ในหมวดที่ ๒ ว่าด้วยการทำงานมาตรา ๘.๑ ความว่า
“ผู้ใดมีวุฒิอย่างใดก็ให้สมัครเข้าทำงานในประเภทที่ใช้คุณวุฒินั้น ถ้างานประเภทใดมีผู้สมัครมากกว่างานประเภทนั้นต้องการจำนวนคนก็ให้มีการสอบแข่งขัน ผู้ใดสอบได้ตามกำหนดก็ให้รับเข้าทำงานตามที่ผู้นั้นสมัคร”
แต่สำหรับข้อเรียกร้องอื่นๆ บางข้อก็เป็นข้อเรียกร้องที่ขัดกับหลักการอภิวัฒน์ และเงื่อนเวลาจึงเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่เดียงสาของเด็กอมมือที่ไม่มีความรับผิดชอบนั้นเอง
โดยประการสำคัญคณะบวรเดชเรียกร้องว่า
“..........การตั้งและถอดถอนคณะรัฐบาลต้องเป็นไปโดยเสียงหมู่มากไม่ใช่ทำโดยจับอาวุธดังที่แล้วมา”
คำเรียกร้องของคณะบวรเดช ดังกล่าวนี้ เป็นการฟ้องการกระทำของตัวเองอยู่แล้ว เพราะคณะบวรเดช กำลังกระทำการในสิ่งที่ตนเรียกร้องไม่ให้ฝ่ายอื่นกระทำ คือการจับอาวุธขึ้นล้มล้างรัฐบาล
คณะบวรเดช จะถือว่าการที่คณะราษฎรภายใต้การนำของ พ.อ. พระยาพหลฯ และ พ.ท. หลวงพิบูลสงครามบีบบังคับให้รัฐบาล พระยามโน ฯ ลาออกแล้วเปิดสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ เป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยนั้นก็เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ยุติธรรมและถูกต้อง
เพราะปฏิบัติการ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ เป็นปฏิบัติการป้องกันตัวและรักษาไว้ ซึ่งระบอบประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๖ ซึ่งถูกพระยามโนฯ และคณะทำการละเมิดและเหยียบย่ำด้วยการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เมื่อ ๑ เมษายน ๒๔๗๖
เพราะฉะนั้น ปฏิบัติการ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ จึงเป็นปฏิบัติการที่ชอบธรรม เพราะเป็นปฏิบัติการอันเป็นอุปกรณ์ของกฎหมาย เพื่อรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และ
เพราะฉะนั้น ปฏิบัติการ ๑ เมษายน ๒๔๗๖ ของ พระยามโนฯ จึงเป็นปฏิบัติการที่ไม่ชอบธรรม เพราะเป็นปฏิบัติการที่เหยียบย่ำกฎหมายและทำลายความสงบเรียบร้อยของสังคม
เพราะฉะนั้น ข้อเรียกร้อง และข้อกล่าวหาของคณะบวรเดช จึงเป็นข้อเรียกร้องและข้อกล่าวหาที่ไร้สาระ สักแต่เพียงยกขึ้นมาอ้างเป็นเหตุสนับสนุนเพื่อแก่การขบถของฝ่ายตนเท่านั้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น จึงไม่ได้รับความเชื่อถือเละสนับสนุนจากประชาชนและในที่สุดจึงถูกกำราบปราบปรามอย่างราบคาบโดยกำลังของฝ่ายรัฐบาล เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว
หลังจากปราบขบถบวรเดชลงได้อย่างราบคาบแล้ว ต่อมาในวันที่ ๒๘ เดือนเดียวกันได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ท่านเจ้าคุณนายกได้แถลงต่อสภาฯ ถึงกรณีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท่านปรีดีฯ เป็นรัฐมนตรี เพื่อขอความไว้วางใจ แต่ก่อนที่สภาฯ จะมีมติอย่างหนึ่งอย่างใด ท่านปรีดีฯ ได้ลุกขึ้นแถลงต่อสภาฯ เป็นใจความว่า
“เมื่อข้าพเจ้ากำลังอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ทางราชการขอให้ข้าพเจ้าเข้ามาและข้าพเจ้าได้ตอบมาแล้ว เมื่อได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้ากลับมาประเทศสยามได้ และได้ตั้งให้เป็นรัฐมนตรี บัดนี้ข้าพเจ้ากลับมาแล้ว และก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นรัฐมนตรี แต่การกลับมาครั้งนี้ ข้าพเจ้ายังไม่ได้รับความไว้วางใจของสภาฯ เพราะว่าตามรัฐธรรมนูญ รัฐมนตรีต้องได้รับความไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎร
เพราะฉนั้นขอท่านทั้งหลายได้โปรดพิจารณาโดยความบริสุทธิ์ใจเสียก่อน ถ้ามีความไว้วางใจ ข้าพเจ้าขอให้โว๊ต ถ้ามีเหตุใดหากว่าข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีจะนำความเสียหายและไม่สดวกแก่ราชการ ก็ขออย่าให้โว๊ตไว้วางใจในข้าพเจ้า สำหรับข้าพเจ้าเองที่ถูกหาครั้งก่อนๆ ว่าเป็นคอมมิวนิสต์นั้น เป็นความเข้าใจผิด กล่าวหาเอาฝ่ายเดียว ข้าพเจ้าจะขอปฏิญาณต่อไปว่าข้าพเจ้าจะไม่ดำเนินการเป็นคอมมิวนิสต์ ข้าพเจ้าได้ศึกษามาจริงเพราะเป็นหลักสูตรการศึกษา เพราะฉนั้นที่ข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีครั้งนี้ ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่า จะไม่ดำเนินวิธีการคอมมิวนิสต์เป็นอันขาด”
เมื่อท่านปรีดีฯ ได้แถลงต่อสภาจบแล้ว ประธานสภาฯ จึงขอมติต่อที่ประชุม และที่ประชุมก็ได้ยกมือให้ความไว้วางใจท่านปรีดีฯ เป็นเอกฉันท์ ต่อจากนั้นท่านปรีดีฯ จึงได้กล่าวขอบคุณสภาฯ อีกครั้งหนึ่ง
“ข้าพเจ้าขอโอกาสขอบพระคุณท่านสมาชิกทั้งหลาย และจะปฏิบัติตามคำที่ข้าพเจ้าได้กล่าวปฏิญาณมาแล้วอย่างที่ว่า ได้ลั่นวาจาไปอย่างใดแล้ว ก็จะรักษาความสัตย์ให้คงไว้อย่างนั้น”
ท่านเจ้าคุณนายก พ.อ.พระยาพหลฯ นั้น ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นทหารและเป็นมาตั้งแต่อายุไม่กี่ขวบ แต่ท่านก็เป็นทหารที่เป็นรั้วของชาติ ท่านไม่ต้องการเห็นคนไทยต้องรบราฆ่าฟันกันเอง กรณีขบถบวรเดช ทำความกระเทือนใจให้ท่านเป็นอย่างมาก แน่นอน การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ๒๔ มิถุนาฯ ย่อมยังความไม่พอใจให้กับผู้สูญเสียอำนาจและผลประโยชน์อย่างแน่นอน และพวกที่สูญเสียอำนาจและผลประโยชน์เหล่านี้ก็ได้ฝังรากลึกอยู่ในสังคมมาเป็นเวลาช้านาน และมีอิทธิพลทางการเงินมากมาย จึงง่ายต่อการที่จะหาสมัครพรรคพวก เพื่อต่อต้านหรือขบถต่อรัฐบาลอย่างกรณีพระองค์เจ้าบวรเดช เป็นต้น
ท่านเจ้าคุณนายกและท่านปรีดีฯ มีความเห็นพ้องกันว่า ถึงแม้ว่าผู้ที่สูญเสียอำนาจและผลประโยชน์จากการอภิวัฒน์ ๒๔ มิถุนา ฯ จะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลประชาธิปไตย หรือเป็นปฏิปักษ์กับคณะราษฎรในวันนั้น แต่ในวันข้างหน้าสภาพแวดล้อมและกาลเวลาอาจเปลี่ยนแปลงจิตใจเขาได้
แต่ในระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงนั้น รัฐบาลจำเป็นจะต้องมีมาตรการในการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์รุนแรงอย่างขบถบวรเดชเกิดขึ้นอีก เพราะรัฐบาลท่านเจ้าคุณนายกไม่ต้องการใช้วิธีการรุนแรงเข้าปราบปราม ไม่ต้องการให้เสียเลือดเนื้อและชีวิต และแม้การติดคุกติดตะรางตามคำพิพากษาของศาล รัฐบาลก็ไม่ปรารถนาให้มี
ดังนั้น รัฐบาลท่านเจ้าคุณนายก จึงแต่งตั้งท่านปรีดีฯ เป็นประธานกรรมการจัดมาตรการป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าว ในการนี้ท่านปรีดีฯ จึงได้เสนอ "ร่างกฎหมายป้องกันรัฐธรรมนูญ" ซึ่งท่านเจ้าคุณนายกและคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วย จึงได้เสนอเข้าสู่สภาฯ และประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๖
ความจริงกฎหมายป้องกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตามความตั้งใจของรัฐบาล ขณะนั้นจะใช้เป็นกฎหมายเฉพาะกาลในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการอภิวัฒน์เท่านั้น เพื่อความอยู่รอดของระบอบประชาธิปไตยดังเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ไม่วายที่จะถูกโจมตีจากฝ่ายปฏิปักษ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ได้ยกเอากฎหมายป้องกันรัฐธรรมนูญมาเป็นเงื่อนไขอันหนึ่งในการสละราชสมบัติครั้งนั้น
เกี่ยวกับกฎหมายป้องกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้คณะผู้แทนรัฐบาล อันมี เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ พระยาราชวังสัน และ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้เข้าเฝ้าพระปกเกล้าฯ ที่ Knowle Cranleigh ประเทศอังกฤษ และได้กราบบังคมทูลเพื่อความเข้าพระทัยอย่างถูกต้อง ซึ่ง นายดิเรก ชัยนาม เป็นผู้บันทึกการเข้าเฝ้าครั้งนั้นมีข้อความตอนหนึ่งว่าดังนี้
“ได้ทรงรับสั่งต่อไปว่า พระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญว่า พระราชบัญญัตินี้ เป็นการกดขี่และตัดไม่ให้บุคคลแสดงความคิดความเห็น เมื่อมีเรื่องขึ้นก็ไม่ให้โอกาสจำเลยสู้คดีในโรงศาล เมื่อผู้ใดออกความคิดความเห็นขัดต่อรัฐบาลฯ ก็หาว่าคิดร้ายต่อรัฐบาล คณะผู้แทนได้กราบบังคมทูลว่า ความมุ่งหมายในการที่ออกพระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นการให้ประโยชน์แก่จำเลยมากกว่าเป็นการให้โทษ เพราะหลักการในพระราชบัญญัตินี้ เป็นการป้องกันดีกว่าแก้ กล่าวคือรัฐบาลไม่อยากจะให้มีการขึ้นศาลต้องติดคุกติดตะราง นอกจากนี้วิธีบังคับในพระราชบัญญัตินีก็หาถือว่าเป็นการลงโทษตามกฎหมายอาชญาไม่ เป็นแต่ว่าจำเลยต้องอยู่ในเขตที่จำกัด พระราชบัญญัตินี้ไม่ตัดสิทธิ์ในการประกอบอาชีพ และดูเหมือนก่อนออกมานี้เรื่องเบี้ยหวัดบำนาญก็มิได้ถูกตัดด้วย...
...นอกจากนี้ ถ้าหากว่าจำเลย ให้คำมั่นสัญญาว่าจะรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญมิคิดร้ายแล้ว ก็เป็นอันว่าพ้นจากโทษนี้ได้ ยกตัวอย่างให้เห็นว่า ถึงแม้จะมีบุคคลบางหมู่บางเหล่าซึ่งไม่พอใจและหวาดเกรงในพระราชบัญญัตินี้ ก็ยังมีบุคคลบางหมู่บางเหล่าอีกซึ่งเห็นว่าเป็นประโยชน์ เช่น หลวงสงครามวิจารณ์ กับ หลวงเสนีย์สงคราม และนายไถง สุวรรณทัต เมื่อถูกฟ้องยังโรงศาลได้ร้องขอให้พิจารณาตนตามพระราชบัญญัตินี้โดยอ้างแบบอย่างรายพระยาวินัยฯ นอกจากนักฎหมายอาชญามาตรา ๑๐๔ กินความกว้างขวางมาก ถ้าแม้จะฟ้องจำเลยทุกคนตามกฎหมายอาชญามาตรา ๑๐๔ แล้ว ทุกคนก็ไม่มีโอกาสจะหลุดพ้นไปได้เลย เมื่อได้กราบบังคมทูลดังนี้แล้วก็ทรงนิ่งอยู่มิได้รับสั่งประการใด”
ท่านเจ้าคุณนายก พ.อ.พระยาพหลฯ ก็ได้แถลงในสภาผู้แทนราษฎร ตอบพระราชบันทึกไขความของพระปกเกล้าฯ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๔๗๗ มีความตอนหนึ่งว่า ดังนี้
“การพิจารณาโดยคณะกรรมการนั้น ได้พิจารณาตามทำนองลูกขุน (Jury) คือถือความบริสุทธิ์ใจเป็นใหญ่ ไม่ใช่ในถ้อยคำสำนวน เพราะเป็นที่ทราบอยู่ว่าผู้ที่คิดก่อการเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมจะทำลายหลักฐานที่เป็นเอกสาร เพื่อความสงบเรียบร้อยจึงควรป้องกันไว้ดีกว่าแก้ นอกจากนั้นกรรมการก็ต้องตั้งจากผู้พิพากษาทั้งนั้น”
ที่มา: สุพจน์ ด่านตระกูล, ประวัติรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ตอนจากปารีส ถึงกรุงเทพฯ. (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์. 2516), น.14-24
หมายเหตุ:
- ตั้งชื่อบทความและจัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ