ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เมื่อจำกัด พลางกูร น้อยใจ ปรีดี พนมยงค์

16
ตุลาคม
2564

ไม่นานมานี้ ผมเห็นข่าวการเปิดตัว “บันทึกของนายเตียง ศิริขันธ์” ที่ค้นพบจากแฟ้มเอกสารลับของ OSS ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NARA) ประกอบกับได้มีหนังสือเรื่อง  จากแฟ้มเอกสารลับที่สุด : เผย “ข้อมูลใหม่” ทางประวัติศาสตร์ไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NARA)  ผลงานของ 'พันเอก ดร.สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ' ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมากลางปี พ.ศ. 2564 ซึ่งในหนังสือเล่มนี้นำเอาบันทึกที่เชื่อว่าเขียนโดยนายเตียงมาเปิดเผยไว้อย่างสมบูรณ์

แท้จริง ผมเองรับทราบการมีอยู่ของ “บันทึกของนายเตียง ศิริขันธ์” มาตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2557 เพราะตอนนั้นทางภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พานักศึกษาปริญญาโทไปเข้าชมหอจดหมายเหตุที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก และท่านวิทยากรก็เอ่ยถึงหลักฐานชิ้นดังกล่าว

กว่าสายตาผมจะได้สัมผัสทุกตัวอักษรใน “บันทึกของนายเตียง ศิริขันธ์” กาลเวลาก็ล่วงผ่านมาเจ็ดปี นั่นคืออ่านจากหนังสือของพันเอก ดร.สรศักดิ์ ที่เพิ่งจัดพิมพ์

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ให้ข้อมูลน่าสนใจอย่างมาก  น่าจะเป็นบันทึกที่เขียนขึ้นช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และดูจะยังไม่จบสิ้น เพียงแต่หลงเหลือมาให้ค้นพบประมาณ 24 หน้ากระดาษ ส่วนใหญ่แล้ว นายเตียงได้บันทึกเรื่องราวภาพหลังเกิดเหตุที่กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเข้ายึดครองเมืองไทยเมื่อวันที่ 8  ธันวาคม พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา เอ่ยถึงการก่อตัวของขบวนการเสรีไทยและแผนการต่างๆ แน่นอนทีเดียวว่า บุคคลหนึ่งที่ย่อมได้รับกล่าวถึงในบันทึกคือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ (ในบันทึกจะเรียก “ท่านอาจารย์” หรือ “อาจารย์หลวงประดิถ”) ส่วนอีกบุคคลที่นายเตียงกล่าวถึงในฐานะเพื่อนสนิทสนมแน่นแฟ้นคือ นายจำกัด พลางกูร  เคยคบหากันมาแต่ครั้งยังเป็นนักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศ

หลังจากกองทัพญี่ปุ่นยึดครองเมืองไทย เพื่อนสองคนได้แก่ นายเตียงและนายจำกัดมีความเห็นตรงกันว่า จะต้องหาทางออกไปนอกประเทศเพื่อปฏิบัติการอะไรสักอย่างต่อต้านพวกทหารญี่ปุ่น หรือไปตั้ง “คณะกู้ชาติ” ขึ้น แต่ทั้งสองก็มานึกทบทวนว่า การเดินทางออกไปนอกประเทศห้วงยามนั้นเป็นสิ่งยากยิ่งเหลือเกิน ไหนจะต้องมีเงินทุน ไหนจะต้องเสี่ยงภัยอันตราย นั่นเป็นเหตุให้นายจำกัดชักชวนนายเตียงไปเข้าพบนายปรีดี

นายเตียงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็จริง แต่หาใช่คนที่ใกล้ชิดนายปรีดีมาก่อน ดังเขาบันทึกว่า

“ไนชั้นนี้ข้าพเจ้าเองก็ยังไม่เคยคิดว่าจะได้มาร่วมงานกับท่านอาจารย์ปรีดี อาจารย์กับข้าพเจ้าไม่เคยรู้จักคุ้นเคยกันเป็นส่วนตัวแต่อย่างใด (ข้าพเจ้าเองไม่ใช่เป็นนักเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เคยเป็นนักเรียนกฎหมายครั้งเก่า เมื่อครั้งอาจารย์สอนวิชากฎหมายปกครอง แต่แล้วก็ออก และละทิ้งมาเสียไม่ได้เอาไจไส่ เพราะฉะนั้นความสนิทชิดชอบเฉพาะตัวท่านกับข้าพเจ้าจึงไม่มีทุนเดิมแต่อย่างไรเลย”

หากความที่นายเตียงแทบจะตัวติดกันกับนายจำกัดซึ่งถือเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดกับนายปรีดี โชคชะตาจึงชักนำให้นายเตียงมาร่วมคลุกคลีกับ “ท่านอาจารย์” ด้วยอีกคน

สถานการณ์หนึ่งซึ่งนายเตียงอธิบายผ่านบันทึกชิ้นนี้คือกรณีที่จอมพล ป. พิบูลสงครามบอกว่าจะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 โดยยื่นหนังสือขอลาออกไปยัง 'พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา' ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีการประกาศผ่านทางวิทยุว่าจะลาออก พอวันถัดมาก็ประกาศผ่านทางวิทยุว่าไม่ลาออกแล้ว นี่เป็นยุทธวิธีทางการเมืองของจอมพล ป. จนเกิดการโต้เถียงกันในสภาผู้แทนราษฎรว่าหนังสือขอลาออกสูญหาย 'หลวงเชวงศักดิ์สงคราม' (ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม) และ 'ขุนนิรันดรชัย' (เสวก นิรันดร) แก้ต่างให้ว่า จอมพล ป. ไม่ได้ลาออก ไม่มีหนังสือขอลาออกเลย นายเตียงเล่าว่า นายปรีดีได้ถ่ายภาพหนังสือขอลาออกของจอมพล ป. ไว้เรียบร้อย แต่ห้ามมิให้นายจำกัดและนายเตียงเอ่ยถึงเรื่องนี้ นายเตียงรู้สึกอึดอัดเพราะเขาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน กลับทำอะไรฝ่ายรัฐบาลจอมพล ป. มิได้จนพ่ายแพ้ผลโหวตที่จะล้มรัฐบาล ทั้งๆ ที่เขาล่วงรู้ความจริง เหตุที่นายปรีดีถ่ายภาพหนังสือขอลาออกของจอมพล ป. ก็คงเพราะท่านจอมพลเคยทำทีจะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่หลายหน แต่สุดท้ายก็ไม่ลาออก

เกร็ดสนุกๆ ที่ผมมองว่าชวนขบคิดใน “บันทึกของนายเตียง ศิริขันธ์” คือ เรื่องราวที่นายจำกัดน้อยใจหรือ ‘งอน’ นายปรีดี  ซึ่งนายเตียงเป็นประจักษ์พยาน เนื่องจากพอเขาในฐานะ ส.ส.ฝ่ายค้านแพ้การอภิปรายในสภาเรื่องการลาออกของจอมพล ป. ก็ได้มาปรึกษาหารือกับนายปรีดีและนายจำกัด พร้อมนอนพักค้างแรมที่บ้านทำเนียบท่าช้าง ตอนนั้นมีเพื่อนๆ ผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนการปกครอง พ.ศ. 2475 แวะเวียนมาสนทนากับนายปรีดีบ่อยๆ ดังน้ำเสียงของเตียงที่ว่า

“ไนครั้งนี้เมื่อฝ่ายเราเป็นฝ่ายแพ้ พวกเราก็พากันมานอนค้างที่บ้านอาจารย์  ไนชั้นต้นอาจารย์ก็เรียกเราไปปรึกสาหารือและกำชับสั่ง แต่ไนตอนหลังมีผู้ก่อการมาที่บ้านอาจารย์หลายคน ข้าพเจ้าก็จำหน้าจำตาไม่ได้ ไนขณะนี้เองจำกัดคงไปทำขวางๆ รีๆ อะไรข้างบน ซึ่งอาจารย์คงมุ่งหวังที่จะพูดกับพวกก่อการด้วยกันและคงขนาบเอาจำกัดเข้าไห้ จำกัดถึงกับร้องไห้ลงมาจากข้างบนและบ่นพึมพำกับข้าพเจ้า แล้วบอกว่าจะไม่กลับมาเหยียบบ้านอาจารย์อีก เพราะอาจารย์หลงเชื่อผู้ก่อการมากเกินไป ไม่ทำตามความคิดความเห็นที่เขาเสนอไว้ จำกัดขอให้ข้าพเจ้าไปส่งบ้าน ข้าพเจ้าเห็นว่าจำกัดกำลังร้อนแรง จึงจำเป็นต้องพาจำกัดไปส่งบ้านและได้พยายามปลอบเอาอกเอาไจจึงค่อยซาลง รุ่งขึ้นข้าพเจ้าได้ปลอบจำกัดอีกและพยายามชักชวนไห้จำกัดมาพบอาจารย์แต่จำกัดไม่ยอม ส่วนอาจารย์นั้นก็คงรู้เรื่องว่าจำกัดโกธรจึงได้ส่งท่านผู้หญิงมาติดตามให้จำกัดไปพบ ไนชั้นต้นจำกัดทำท่าเดือดดานมาก แต่เมื่อข้าพเจ้าได้ปลอบโยนพร้อมกับคุณฉลบชลัยได้ชี้แจงเหตุผลว่า งานของชาติยังมีอยู่ จำกัดจึงได้ยอมไปพบอาจารย์ และร่วมดำเนินงานกันอีก”

น้อยคนนักจะทราบว่านายจำกัดเคยน้อยใจหรือ ‘งอน’ ที่ถูกนายปรีดีเอ็ดเข้า จนเกือบจะล้มเลิกการทำภารกิจเพื่อประเทศชาติ ไม่ยอมมาร่วมมือกับผู้เป็นอาจารย์ของตนอีก ทว่าพอภรรยาคือฉลบชลัยย์ และมิตรสหายคือนายเตียง ศิริขันธ์ปลอบประโลม พร้อมเตือนสติให้คำนึงถึงงานของชาติ จำกัดก็ผ่อนคลายความขุ่นเคืองหมองหม่น หันกลับมากระตือรือร้นวางแผนการเดินทางออกนอกประเทศไปปฏิบัติการเพื่อชาติอีกหน

ด้านนายปรีดีเอง ถึงจะครองสถานะอาจารย์และเป็นผู้อาวุโสกว่า แต่ครั้นรู้ตัวว่าตนแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวต่อนายจำกัด อันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ปุถุชนที่จะเผลอพลั้ง ทั้งยังทราบว่าลูกศิษย์เกิดความไม่สบายใจ ก็มิได้ถือตนว่าเป็นผู้ใหญ่กว่า ต้องวางมาดไม่ยอมง้อ กลับพยายามติดต่อนายจำกัดให้หวนย้อนมาร่วมภารกิจเพื่อประเทศชาติ โดยส่งท่านผู้หญิงพูนศุข ภรรยาของตนมาตามด้วยตนเอง

'นายปรีดี พนมยงค์' และ 'นายจำกัด พลางกูร' ต่างเป็นผู้เล็งเห็นประโยชน์ของส่วนรวมสำคัญที่สุด แม้บางช่วงอาจจะเกิดความไม่พ้องพานทางอารมณ์กันบ้าง แต่ด้วยปณิธานทำนอง “เพื่อชาติ เพื่อ humanity” ทั้งสองจึงร่วมมือกันดำเนินภารกิจอย่างราบรื่น นายจำกัดตัดสินใจออกเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในเมืองจีน มีจุดหมายปลายทางคือจุงกิง (Chungking) จนท้ายสุดเขาต้องนำชีวิตไปทิ้งเสียที่นั่น

ครับ ผมคงจะได้นำเนื้อหารายละเอียดการข้ามฝั่งโขงของนายจำกัด และการให้ช่วยเหลือเต็มที่ของนายเตียง ศิริขันธ์ มาสาธยายในคราวต่อไปอีก

 

เอกสารอ้างอิง

  • คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม : เอกสารประวัติศาสตร์. ทศสิริ พูนนวล และ กานต์ ธงไชย (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปีชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, 2545
  • มาลัย ชูพินิจ. บันทึกจอมพล : สัมภาษณ์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม. กรุงเทพฯ : กระท่อม ป.ล., 2544
  • วิสุทธ์ บุษยกุล. เตียง ศิริขันธ์ วีรชนนักประชาธิปไตย ขุนพลภูพาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : แม่คำผาง, 2553.
  • สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ, พันเอก ดร.. จากแฟ้มเอกสารลับที่สุด : เผย “ข้อมูลใหม่” ทางประวัติศาสตร์ไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NARA). กรุงเทพฯ: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), 2564