Focus
- ในวาระชาตกาลของกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา ในเดือนมีนาคม ชมัยภร บางคมบาง เสนอประวัติ ชีวิตของกุหลาบไว้ 5 ประการ ได้แก่ ประการแรก ว่าด้วยการอ่าน ประการที่สอง ว่าด้วยการแปรรูปผลงานไปเป็นสื่อแบบอื่น ๆ ประการที่สาม ผลงานมีบทบาทต่อวงการวรรณกรรมศึกษา ประการที่สี่ การเผยแพร่ผลงานไปสู่ระดับโลกโดยการแปล และ ประการที่ห้า กองทุนศรีบูรพาและบ้านศรีบูรพา โดยขับเน้นไปที่ผลงานด้านวรรณกรรมเป็นสำคัญ
- ผู้เขียนสรุปหัวใจของบทความและบทบาทของกุหลาบ หรือ ศรีบูรพา ว่า “ยังอยู่ในใจชน ทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ ทั้งในประเทศ (ไทย) และนอกประเทศด้วย สมกับที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก” และยังชี้ว่าลิขสิทธิ์ผลงานของศรีบูรพาเป็นสาธารณสมบัติทางวรรณศิลป์ซึ่งหมดอายุลิขสิทธิ์สิ้นปี 2567 ซึ่งส่งผลให้ผลงานของกุหลาบเผยแพร่สู่วงกว้างมากยิ่งขึ้น

กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา ภาพถ่ายที่โต๊ะทำงานของกุหลาบ ที่คาดว่าเป็นสำนักงานของหนังสือพิมพ์ประชามิตรและสุภาพบุรุษ ย่านบางขุนพรหม ในช่วงหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ที่มา: หนังสือคืออิสสรชน คือคนดี คือศรีบูรพา

ภาพถ่ายส่วนหนึ่งของคณะสุภาพบุรุษ แถวนั่งคนที่ 2 จากซ้ายมือคือ กุหลาบ สายประดิษฐ์
ที่มา: หนังสือคืออิสสรชน คือคนดี คือศรีบูรพา

ภาพประกอบบทความเรื่องมนุษยภาพของกุหลาบ สายประดิษฐ์ พ.ศ. 2474
ที่มา: หนังสือคืออิสสรชน คือคนดี คือศรีบูรพา
กุหลาบ สายประดิษฐ์ เกิดเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๔๔๘ ดังนั้น ในปี ๒๕๖๘ นี้จะครบรอบชาตกาล ๑๒๐ ปี เขาเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมปลาย แต่มีผลงานปรากฏจนกลายเป็นหมุดหมายในเส้นทางหนังสือพิมพ์ก็คือ ปี ๒๔๗๔ ปีที่เขาเขียนบทความชื่อ มนุษยภาพ เรียกร้องหาความเสมอภาคของความเป็นมนุษย์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงในหนังสือพิมพ์ และปีถัดมา ๒๔๗๕ บทความชิ้นนี้ได้ถูกตีพิมพ์อีกครั้งในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง จนเป็นเหตุให้ศรีกรุงถูกสั่งปิดไป ๙ วัน เป็นที่เกรียวกราวในสมัยนั้น และในปีเดียวกันนั้น นวนิยายเรื่องที่โดดเด่นในแนวคิดความเสมอภาคของมนุษย์ ของศรีบูรพาคือ สงครามชีวิต ก็ตีพิมพ์ออกมา นั่นหมายความว่า จากปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ตามด้วย ๒๔๗๕ เป็นต้นมา ชื่อของเขาก็ถูกจารึกไว้ในฐานะนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนที่ต้องจับตามอง และในปี ๒๕๔๘ เป็นปีครบรอบชาตกาล ๑๐๐ ปี “ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์) เขาได้รับการประกาศเกียรติจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก และจากปีที่เริ่มสร้างสรรค์งานสำคัญจนถึงปีนี้ (๒๕๖๘) เป็นเวลา ๙๐ กว่าปีแล้ว ชื่อและผลงานของเขายังโลดแล่นอยู่ในบรรณพิภพอย่างมั่นคงและงดงาม

ปกหนังสือสุภาพบุรุษ ฉบับที่ 1
ที่มา: หนังสือคืออิสสรชน คือคนดี คือศรีบูรพา
ข้อสำคัญมาก ๆ ก็คือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ถึงแก่มรณกรรมเมื่อ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๑๗ ดังนั้น ในปี ๒๕๖๘ นี้ ลิขสิทธิ์ผลงานของกุหลาบ สายประดิษฐ์ และ “ศรีบูรพา” ได้กลายเป็นสาธารณสมบัติทางวรรณศิลป์แล้ว นั่นหมายความว่า ใครจะนำผลงานของเขาไปเผยแพร่ในรูปแบบใด ๆ ก็ได้ นับเป็นวาระอันงดงามยิ่ง
อะไรคือหลักฐานที่ยืนยันว่า ผลงานของศรีบูรพา ยังอยู่ในหัวใจของชนรุ่นหลัง ทั้งที่ผ่านมากว่าเก้าสิบปีแล้ว
ประการแรก ว่าด้วยการอ่าน
ในจำนวนผลงานประมาณ ๔๐ เรื่องของ “ศรีบูรพา” แน่นอนที่สุด ผลงานย่อมเป็นที่รู้จักของนักอ่านจำนวนหนึ่ง แต่ก็นับว่ามากอยู่ น่าจะเกินครึ่งด้วยซ้ำไป แต่ก็มีผลงานโดดเด่นด้วยเหตุคุณภาพและเป็นหมุดหมายบางอย่างบนเส้นทางวรรณกรรม ที่สมควรแก่การจารึกไว้ ดังนี้

ภาพปกหนังสือข้างหลังภาพ พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2486
ที่มา: หนังสือคืออิสสรชน คือคนดี คือศรีบูรพา
ประเภทนวนิยาย เป็นที่โด่งและมีคนรู้จักมากที่สุดคือ ข้างหลังภาพ ซึ่งมีการตีพิมพ์ถึง ๔๙ ครั้ง (๒๕๖๔) เป็นเรื่องที่มีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องรักต่างวัยในสมัยก่อน ที่ผู้หญิงยังต้องแต่งงานแบบคลุมถุงชนตามที่บุพการีเลือกให้ หนังสือเล่มนี้ได้รับการประกาศจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นหนังสืออ่านประกอบการเรียน หรือเรียกต่อมาว่าหนังสืออ่านนอกเวลา รวมกับหนังสืออื่น ๆ อีกหลายเล่ม เป็นการประกาศหลังมีการประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๐ นั่นหมายความว่า ตอนนั้นศรีบูรพา เพิ่งเสียชีวิต ( ๒๕๑๗) ไปไม่นานนัก และภรรยาคือ คุณชนิด สายประดิษฐ์ ยังไม่กลับมาอยู่เมืองไทย ข้างหลังภาพ ก็มีบทบาทในฐานะหนังสืออ่านประกอบการเรียนหรือหนังสืออ่านนอกเวลาในสังคมไทยแล้ว และแม้จนปัจจุบัน โรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนนานาชาติยังนิยมใช้นวนิยายเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหนังสืออ่านนอกเวลาอยู่
นวนิยายเรื่องนี้เป็นตัวอย่างของการสะท้อนภาพสังคมไทยในยุคสมัยหนึ่งที่ผู้หญิงยังไม่มีเสรีภาพเท่าเทียมผู้ชาย ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวอย่างของนวนิยายที่มีกลวิธีทางวรรณศิลป์เป็นเลิศ มีการใช้ภาษาอันงดงาม ไพเราะสละสลวยเป็นที่ชื่นชมของนักอ่านเป็นจำนวนมาก

ภาพปกหนังสือข้างหลังภาพ ฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2496
ที่มา: หนังสือคืออิสสรชน คือคนดี คือศรีบูรพา
นวนิยายอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งได้รับความนิยมมากพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ปัญญาชนนักอ่าน นั่นคือ จนกว่าเราจะพบกันอีก ซึ่งพิมพ์เป็นครั้งที่ ๒๑ แล้ว (พ.ศ. ๒๕๖๔) นวนิยายเรื่องนี้เป็นนวนิยายให้ความคิดใหม่แก่สังคมไทย ตัวละครมีอุดมการณ์ในการทำงานเพื่อสังคม ทำให้เป็นที่นิยมอย่างยิ่งในหมู่นักศึกษาปัญญาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยวรรณกรรมเพื่อชีวิตเฟื่องฟู (๒๕๑๖-๒๕๑๙) จึงได้รับการตีพิมพ์หลายครั้ง และยังตีพิมพ์ซ้ำมาจนสมัยปัจจุบัน
นวนิยายอีกเล่มหนึ่งซึ่งได้รับความนิยมตามมาติด ๆ คือ สงครามชีวิต (พิมพ์ครั้งที่ ๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๔) ในแง่มุมของนวนิยายรัก อาจเปรียบเทียบได้กับข้างหลังภาพ แม้จะไม่ได้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาแบบนั้น แต่ก็เป็นที่นิยมเป็นรองลงมา ทั้งนี้ เพราะหนังสือเล่มนี้เป็นนวนิยายรัก มีพระเอกนางเอกที่ตรึงตราใจนักอ่าน และมีแนวทางในการนำเสนอคล้ายจนกว่าเราจะพบกันอีกคือ ชีวิตตัวละครสะท้อนภาพสังคมที่มีความแตกต่างทางชนชั้น แต่มีความหวานของความรักแบบเดียวกับข้างหลังภาพ อีกทั้งภาษายังไพเราะจนกระทั่ง ครูชาลี อินทรวิจิตร บทประพันธ์ในนวนิยายย่อหน้าหนึ่งมาแต่งเป็นเพลงชื่อ “อาลัยรัก” ทำให้คนฟังเพลงและนักอ่านโยงเข้าหากันโดยมีนวนิยายเป็นสื่อกลาง สงครามชีวิตจึงได้รับความนิยมยิ่งขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ ยังมีบทประพันธ์ของศรีบูรพา อีกหลายเล่มที่มีการตีพิมพ์ซ้ำ ๆ มากกว่า ๑๐ ครั้งขึ้นไป อาทิ นวนิยายเรื่องลูกผู้ชาย พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ เมื่อ พ.ศ.๒๕๖๔ รวมเรื่องสั้น ขอแรงหน่อยเถอะ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๔ แต่ที่เป็นพิเศษคือนวนิยายเรื่อง แลไปข้างหน้า ซึ่งเป็นนวนิยายการเมือง และเขียนไม่จบ ก็ยังได้รับการตีพิมพ์เป็น ครั้งที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๕
ประการที่สอง ว่าด้วยการแปรรูปผลงานไปเป็นสื่อแบบอื่น ๆ

ภาพโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่องข้างหลังภาพ พ.ศ. 2528
ที่มา: https://raremeat.blog/ข้างหลังภาพ-1985/
นอกจากจะมีการตีพิมพ์ผลงานซ้ำ ๆ หลายครั้งแล้ว นวนิยายของศรีบูรพาจำนวนหนึ่งจะได้รับการแปรรูปไปเป็นสื่อภาพยนต์ และโทรทัศน์ อันจะส่งผลให้ผลงานเหล่านั้นได้รับความนิยม เป็นที่รู้จักของคนในสังคมมากขึ้น ดังนี้ นวนิยายเรื่อง ข้างหลังภาพ เป็นภาพยนตร์ ๒ ครั้ง (พ.ศ.๒๕๒๘ โดยเปี๊ยก โปสเตอร์ กับ พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยเชิด ทรงศรี) เป็นละครโทรทัศน์ ๑ ครั้ง (พ.ศ. ๒๕๒๕ โดย กนกวรรณ ด่านอุดม) เป็นละครเวที ๒ ครั้ง (โดยรัชดาลัย เธียเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๑ กับ พ.ศ. ๒๕๖๑) และเป็นละครบรอดเวย์ นำเสนอในสหรัฐอเมริกา ๑ ครั้ง (โดยถกลเกียรติ วีรวรรณ พ.ศ. ๒๕๕๘)
ส่วนนวนิยายเรื่องอื่น ๆ ที่เคยทำเป็นสื่ออื่น ๆ ได้แก่ เรื่อง ลูกผู้ชาย เคยเปิดการแสดงเป็นละครที่เวทีเฉลิมไทย ในยุคละครเวทีเฟื่องฟู และสงครามชีวิต เคยเกือบเป็นภาพยนตร์แล้ว โดยเชิด ทรงศรี (เสียชีวิต พ.ศ. ๒๕๔๙) ได้เขียนเป็นบทภาพยนตร์แล้ว และประวัติส่วนนี้ได้รับการบันทึกไว้โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
ประการที่สาม ผลงานมีบทบาทต่อวงการวรรณกรรมศึกษา
ผลงานของศรีบูรพา เป็นที่สนใจของครู อาจารย์ นักเรียน นิสิตนักศึกษา โดยมีการเขียนบทวิจารณ์แต่แรกเริ่มพิมพ์จนแม้ปัจจุบัน มีการทำวิจัย วิเคราะห์ วิจารณ์ หรือทำวิทยานิพนธ์ รวมทั้งอภิปราย หรือเสวนา มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเล่มเด่น ๆ ที่ได้กล่าวมาคือ ข้างหลังภาพ จนกว่าเราจะพบกันอีก สงครามชีวิต ขอแรงหน่อยเถอะ ผลงานบทวิจารณ์แสดงให้เห็นถึงความลุ่มลึกของบทประพันธ์ที่ทำให้นักอ่านต่างวิจารณ์ไปคนละแง่มุม และเปลี่ยนไปได้ตามยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องข้างหลังภาพ ที่มีผู้วิจารณ์สืบเนื่องกันมาทุกยุคสมัย ตั้งแต่ บัวหลวง สมจิตต์ ศิกษมัต กอบอุล อิงคุทานนท์ บรรจง บรรเจิดศิลป์ จนแม้ปัจจุบัน บทวิจารณ์ที่แลกแตกต่างมากคือ ของชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ที่เกรียวกราวเอิกเกริกในแวดวงวรรณกรรม (ปริศนาข้างหลังภาพของ “ศรีบูรพา”)
ข้าพเจ้าลองใช้วิธีหาทางกูเกิ้ลในปัจจุบันขณะ พบรายชื่อบทวิจัยและวิทยานิพนธ์ที่น่าสนใจ จำนวนหนึ่ง
บทความวิชาการ อาทิ
จาก จนกว่าเราจะพบกันอีก ถึง แลไปข้างหน้า : การศึกษาพัฒนาศิลปะการสร้างนวนิยายเพื่อชีวิตของศรีบูรพา (๒๕๖๖) เซิงหยาง อู๋ วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ่านใหม่จึงเกิดใหม่ : การชุบชีวิตศรีบูรพาผ่านนวนิยาย:กุหลาบในสวนเล็ก ๆ โดยนัทธนัย ประสานนาม วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (๒๕๖๓)
หรือ วิทยานิพนธ์ อาทิ
ความคิดทางการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ โดยสมชัย ศรีเจริญเวช (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๓๒)
ภาพ (ไม่นิ่ง) ของกีรติ : การสร้างภาพชนชั้นนำไทยผ่านวิดีโออาร์ต โดยจุฬญาณนนท์ ศิริผล มหาวิทยาลัยศิลปากร (๒๕๕๙)
ตัวละครหญิงในนวนิยายของศรีบูรพา : ศึกษาสถานภาพ บทบาท และสำนึกทางสังคม โดยอรรคภาค เล้าจินตนาศรี (๒๕๔๘) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การศึกษาเปรียบเทียบนวนิยายเรื่อง “รักใดไหนจะปาน” และ “ข้างหลังภาพ” ของศรีบูรพา โดย Wang Jianshe กับ สุธินี วงศ์วัฒนานุกุล (๒๕๕๓) มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
เป็นต้น
เหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
ประการที่สี่ การเผยแพร่ผลงานไปสู่ระดับโลกโดยการแปล
อาจกล่าวได้ว่า ผลงานของศรีบูรพา ไม่เพียงแต่อยู่ในใจคนไทยเท่านั้น แต่ยังไปอยู่ในชนชาติอื่นอีกด้วย เพราะผลงานของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นวนิยายเรื่องข้างหลังภาพ ได้รับการแปลเผยแพร่ไปในชาติต่าง ๆ มากมาย อาทิ เดวิด สไมธ์ แปลเป็นภาษาอังกฤษ หลวน เหวินหวา แปลเป็นภาษาจีน บุญทัน พงษ์พิชิต แปลเป็นภาษาลาว มะซะกิ โอะโนะซะวะ และนิตยา โอโนะซะวะ แปลเป็นภาษาญี่ปุ่น เป็นต้น
ประการที่ห้า กองทุนศรีบูรพาและบ้านศรีบูรพา

ภาพของกุหลาบ และชนิด สายประดิษฐ์ ที่ด้านหน้าโรงแรมในปักกิ่ง ประเทศจีน เป็นภาพสุดท้ายของกุหลาบก่อนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ปักกิ่ง
ที่มา: หนังสือคืออิสสรชน คือคนดี คือศรีบูรพา
ด้วยเหตุที่สุวัฒน์ วรดิลก นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย (๒๕๓๐-๒๕๓๔) ได้ก่อตั้ง “กองทุนศรีบูรพา” ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ เพื่อฟื้นคืนชื่อศรีบูรพาขึ้นในสังคมไทย (เนื่องจากกุหลาบ สายประดิษฐ์ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และเสียชีวิตที่นั่น (พ.ศ. ๒๕๑๗) จนชื่อ “ศรีบูรพา” เกือบจะถูกลืมเลือนไป) โดยตั้งเป็นรางวัล “ศรีบูรพา” มอบแด่นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ที่สร้างสรรค์งานในแนวทางเดียวกับ “ศรีบูรพา” และ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” และได้มอบรางวัลต่อเนื่องมาจนปัจจุบันรวมแล้ว ๔๒ คน เป็นรางวัลศรีบูรพา ประจำปี ๓๕ คน และรางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ ๗ คน นับเป็นรางวัลที่ได้รับการกล่าวขานและทำให้ชื่อศรีบูรพายืนยงมาโดยตลอดอีกโสดหนึ่ง

บ้านของกุหลาบ สายประดิษฐ์
ที่มา: หนังสือคืออิสสรชน คือคนดี คือศรีบูรพา
นอกจากนี้ ชนิด สายประดิษฐ์ ภรรยาของกุหลาบ สายประดิษฐ์และทายาท สุรพันธ์ สายประดิษฐ์ได้จัดทำ “บ้านนักเขียนศรีบูรพา” (ลักษณะเดียวกับพิพิธภัณฑ์นักเขียน) ขึ้นที่บ้านเลขที่ ๓๕ ซอบราชวิถี ๔ ถนนพญาไท เขตพญาไท กทม. ซึ่งบ้านหลังนี้คือเรือนหอของกุหลาบ สายประดิษฐ์ กับชนิด สายประดิษฐ์ เพื่อให้นิสิตนักศึกษา นักเรียน เยาวชนและผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมได้ รวมทั้งเป็นสถานที่จัดงานเพื่อระลึกถึงศรีบูรพาในโอกาสต่าง ๆ ที่จัดโดยกองทุนศรีบูรพาอีกด้วย
ดังที่ได้กล่าวมา จะเห็นได้ว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” ยังอยู่ในใจชน ทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ ทั้งในประเทศ (ไทย) และนอกประเทศด้วย สมกับที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ยิ่งในปี ๒๕๖๘ นี้ เป็นวาระครบรอบชาตกาล ๑๒๐ ปีของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) และเป็นวาระที่ลิขสิทธิ์ผลงานของศรีบูรพาเป็นสาธารณสมบัติทางวรรณศิลป์แล้ว (เสียชีวิตปี ๒๕๑๗ หมดอายุลิขสิทธิ์สิ้นปี ๒๕๖๗) ดังนั้น ใครจะนำผลงานของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ไปพิมพ์ หรือแปล หรือเผยแพร่ในสื่ออื่นใดย่อมทำได้เต็มที่
จึงเชื่อได้ว่า ผลงานของศรีบูรพา นับแต่นี้ไปจะยิ่งเผยแพร่กว้างขวางขึ้นไปอีก ตราบนานเท่านาน