ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง: ยกแรกของการประกาศเอกราช

28
พฤศจิกายน
2564

การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประธานโฮจิมินห์ที่ฮานอยเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1945 ได้สร้างความเข้าใจด้านทฤษฎี แนวทางอภิวัฒน์ ให้แก่เจ้าสุพานุวงในการกอบกู้เอกราชของชาติเป็นอย่างยิ่ง จากนั้นมาเจ้าสุพานุวงได้รับการติดอาวุธทางความคิดอันถูกต้องเพื่อเข้าสู่รูปธรรมแห่งการปฏิบัติจริง ท่านโฮจิมินห์กล่าวเน้นถึงการสร้างความสามัคคีในหมู่ชาวลาวด้วยกัน ทั้งยังต้องสามัคคีกับชาวเวียดนาม และชาวเขมรด้วย เพราะดินแดนของทั้งสามชาติตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ที่ฝรั่งเศสขนานนามว่า “อินโดจีนของฝรั่งเศส”

การจัดตั้งขบวนการ “เวียดมินห์” ของชาวเวียดนามในลาว ได้แผ่ขยายครอบคลุมไปเกือบทั่วประเทศ เพราะพี่น้องชาวเวียดนามเข้ามาพำนักอาศัยบนผืนแผ่นดินลาวเป็นเวลาช้านาน มีการอพยพเคลื่อนย้ายหลายรุ่น ประสิทธิภาพการจัดตั้งของขบวนการเวียดมินห์เป็นที่ยอมรับว่ามีระเบียบวินัย ทรงประสิทธิผลในการดำเนินการยิ่งนัก ดังนั้น ในการต่อสู้กู้ชาติ ขบวนการเวียดมินห์จึงมีความพร้อมในการร่วมมือกับลาวและเขมรซึ่งเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสเช่นกัน

 

พบโฮจิมินห์ ที่เวียดบั๊ค ปี ค.ศ. 1950
พบโฮจิมินห์ ที่เวียดบั๊ค ปี ค.ศ. 1950

 

เจ้าสุพานุวง นั่งทำงานในฐานที่มั่น
เจ้าสุพานุวง นั่งทำงานในฐานที่มั่น

 

เจ้าสุพานุวง ทราบข่าวการเตรียมประกาศเอกราชที่นำโดย เจ้าเพ็ดชะลาด ที่เวียงจันทน์ จึงรีบเดินทางจากฮานอยลงมายังภาคกลางของประเทศ และอาศัยเส้นทางหมายเลข 9 ผ่านด่านชายแดนลาวบาวเข้ามายังเมืองเซโปนซึ่งท่านเป็นวิศวกรควบคุมการก่อสร้างทางในเขตนี้มาก่อน ประกอบกับเสด็จพี่เจ้าเพ็ดชะลาดเคยมาพำนักตรวจงานในอดีต อันทำให้ชาวเซโปนมีความเคารพรักและศรัทธาต่อเจ้าพี่และเจ้าน้องอย่างมาก และก็เป็นครั้งแรกที่เจ้าสุพานุวงได้กล่าวคำปราศรัยปลุกใจให้ชาวเซโปนเกิดความรักชาติและเข้าร่วมขบวนการกอบกู้เอกราช พร้อมทั้งทำใบปลิวแถลงความเป็นมาอย่างชัดแจ้ง เข้าใจง่าย ปรากฏว่ามีหนุ่มสาวชาวบ้านพร้อมที่จะติดตามและเข้าร่วมกับกองกำลังอิสระ ทำให้งานเคลื่อนไหวครั้งแรกของเจ้าสุพานุวงประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

ส. บุบผานุวง ผู้อยู่ในเซโปนขณะนั้นได้เล่าบรรยากาศ และถ่ายทอดคำปราศรัยช่วงตอนสำคัญไว้ว่า “เราคือเจ้าสุพานุวง น้องชายเจ้าเพ็ดชะลาด”

คำพูดประโยคนี้ ชาวเมืองเซโปนได้ยินจากลุงสุพานุวง ซึ่งพวกเขาไม่เคยเห็นท่านมาก่อน ชาวเมืองเซโปนไม่ได้มีนัดหมาย ไม่ได้รับคำสั่งจากใคร แต่วันนั้นพวกเขาพากันมารออยู่หน้าที่ทำการเจ้าเมือง และร้านค้าแห่งหนึ่งที่ถนนเมืองเซโปน เพื่อคำนับรับต้อนลุงสุพานุวง วันนั้นบรรยากาศเมืองเซโปนปลอดโปร่ง ท้องฟ้าสดใส ดอกจิก ดอกรัง ดอกยอและดอกคูนแบ่งบานเหลืองอร่ามไปทั่วภูเขาลำเนาไพร พร้อมทั้งส่งกลิ่นอันหอมหวนลอยมาตามสายลม ที่มีเสียงนกเขาขันดูกาเหว่าร้องจับใจเป็นที่น่าไพเราะยิ่งนักสำหรับบ้านเมืองภูเขา

ลุงสุพานุวงเวลานั้นมีอายุ 32 ปี รูปโฉมอันสง่าองอาจของท่านได้ทำให้ดูหนุ่มกว่าอายุ หน้าอกกว้าง รูปร่างล่ำสัน และเป็นคนคล่องแคล่วใบหน้าแสดงลักษณะว่าฉลาด มีแววตาอันแหลมคม อ่อนหวานแต่เด็ดขาด ท่านเดินมากับป้าเวียงคำ คู่ร่วมชีวิต ซึ่งเป็นสุภาพสตรีผิวนวล รูปร่างสมส่วน มีแววตาอันมีเสน่ห์ มีเรือนผมดำเหลื่อมและอ่อนนุ่ม ทั้งคู่เหมาะสมกันเหมือนกิ่งทองใบหยก ท่านทั้งสองอยู่ในชุดสีขาว ท่านลากรถเล็กที่มีเด็กน้อยผู้น่ารักนั่งอยู่ ขณะนั้นท่านมีลูกชายเพียง 2 คน คือเจ้าอริยะและเจ้าอนุวง

เสียงของลุงที่เมืองเซโปนยังคงฝังอยู่ในดวงใจของปวงประชาชนตลอดมา ลุงสุพานุวงได้กล่าวดังนี้

“แผ่นดินของลาว คนลาวต้องเป็นเจ้าของ ฉะนั้นพวกเราทุกคนต้องสามัคคีกัน ร่วมแรงกันต่อสู้รู้ชาติอันแสนรักของพวกเราคืนมาให้ได้ ลาวกับเวียดนามมีความมุ่งมาดปรารถนาอันเดียวกัน คือ ความเป็นเอกภาพแห่งชาติ และสิทธิประชาธิปไตยที่แท้จริง มีศัตรูตัวเดียวกัน คือ พวกล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศส ที่จะกลับคืนมายึดครองประเทศของเราทั้งสองอีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นประชาชนลาว กับประชาชนพี่น้องเวียดนามต้องสามัคคีกันต่อสู้ เอกราชของลาวจงเจริญ ความสามัคคีลาว-เวียดนามจงเจริญ สันติภาพของโลกจงเจริญ”

ลุงสุพานุวง ห่วงใยสุขภาพของพนักงานอยู่เสมอ พูดตรงไปตรงมา ทำผิดท่านตำหนิ ทำถูกท่านชมเชย แต่จุดหนักท่านชอบคนพูดจริงทำจริง ท่านไม่ชอบคนทำงานครึ่งๆ กลางๆ หรือหยิบโหย่ง

สุพานุวงเป็นคนเปิดเผย ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ มือของท่านพร้อมที่จะจับมือกับผู้ที่หวังดีต่อท่าน ท่านไม่รีรอแต่ประการใด ท่านยินดีอธิบายปัญหาต่างๆ ให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าใจ แม้จะเสียเวลาการงานของท่านเพียงใดก็ตาม และท่านเกลียดคนดีแต่พูดแต่ไม่ทำเป็นที่สุด

“พูดแล้วต้องเฮ็ด เฮ็ดให้สุด ขุดให้ถึง ผิดถูกค่อยว่ากัน สิ่งใดดีส่งเสริมมันขึ้น สิ่งใดไม่ดีต้องแก้ไข ทั้งเฮ็ดทั้งเรียนคู่กันไป ความผิดไม่ใช่ความชั่ว ความชั่วคือไม่เปลี่ยนแปลง”

จากเซโปนบนทางหลวงหมายเลข 9 เข้าสู่เมืองสะหวันนะเขต ชายฝั่งแม่น้ำโขงที่อยู่ตรงข้ามจังหวัดมุกดาหาร ท่านก็ได้ขวนขวายประชาชนชาวสะหวันนะเขตเช่นเดียวกับที่ได้ขยายงานรวบรวมผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ และก็ได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดีเช่นกัน

จากสะหวันนะเขต เจ้าสุพานุวงมุ่งสู่เมืองท่าแขก ตรงข้ามตัวจังหวัดนครพนม โดยเส้นทางหมายเลข 13 ลัดเลาะ ไปตามฝั่งโขง เมืองท่าแขกนี้ถือว่าสำคัญที่สุดเพราะการกลับมาของทหารฝรั่งเศส ภายใต้การอุ้มชูดูแลของอังกฤษจะใช้เส้นทางจากไซ่ง่อนเดินทัพเข้ายึดครอง แล้วจะเคลื่อนพลไปตีเวียงจันทน์ในที่สุด หากแต่ขณะนั้น เมืองท่าแขกภายใต้การนำของ ท้าวสิงกะโป สีโคดจุนละมาลี ครูสอนหนังสือผู้ได้รับความเคารพรักจากลูกศิษย์ลูกหาเป็นอันมาก สามารถจัดตั้งกองกำลังลาวอิสระเพื่อชาติได้แล้ว ซึ่งต่อมาคือ นายพลสิงกะโป นายพลคนแรกของกองกำลังปเทดลาว

 

เจ้าสุพานุวงขณะปราศรัย
เจ้าสุพานุวงขณะปราศรัย

 

กองกำลังปเทดลาว
กองกำลังปเทดลาว

 

การพบปะกันครั้งแรกของเจ้าสุพานุวงและนายพลสิงกะโปในปลายปี ค.ศ. 1945 ถือเป็นมิตรภาพอันยั่งยืนโดยมิเสื่อมคลายของสองสหายร่วมรบร่วมอุดมการณ์จนลาจากโลกไป

การจัดตั้ง ขบวนการเวียดมินห์ ในเขตเมืองท่าแขกก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เจ้าสุพานุวงได้พบกับแกนนำผู้รับผิดชอบ และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการร่วมมือต่อต้านฝรั่งเศส เพราะคาดคะเนสถานการณ์แล้วว่า ถึงอย่างไรฝรั่งเศสต้องยกกำลังเข้าตีท่าแขกเพื่อเข้ายึดเวียงจันทน์ ในที่สุดฝ่ายรัฐบาลลาวอิสระเตรียมพร้อมด้วยการร่วมมือร่วมใจกับ ขบวนการเวียดมินห์ และ พลพรรคเสรีไทยชาวอีสานของกลุ่มนายเตียง ที่เข้าร่วมเมื่อการศึกเกิดขึ้น

12 ตุลาคม ค.ศ. 1945 ลาวประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการและจัดตั้งรัฐบาล เจ้าสุพานุวงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองกำลังลาวอิสระ

ภายในกำแพงนครเวียงจันทน์ เจ้าสุพานุวง ได้ปรึกษาหารือปัญหาต่างๆ กับเสด็จพี่ทั้งสององค์คือ เจ้าเพ็ดชะลาด และ เจ้าสุวันนะพูมา ในเวลานั้นก็ต้องถือว่าผู้รักชาติชาวลาวที่ร่วมในการกู้ชาติต่างสนิทสนมกลมเกลียวเพื่อภารกิจอันสูงส่งที่ภาคภูมิใจของทุกคน

ภาระหน้าที่ของท่านในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คือ ติดต่อเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนซึ่งกันและกันกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะรัฐบาลเวียดนาม ภายหลังการประกาศเอกราช รัฐบาลไทยหลังสงครามที่แกนนำเสรีไทยเป็นรัฐมนตรีหลายคนก็ได้ให้การสนับสนุนทุกวิถีทางเช่นกัน รวมทั้งบรรดาประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังต่อสู้ให้หลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคม เช่น พม่า, อินเดีย, อินโดนีเซีย และเขมร

หากแต่ว่าทางด้านเขมรดูจะไม่มีอะไรคืบหน้า เพราะสีหนุสามารถควบคุมสถานการณ์ร่วมกับฝรั่งเศสได้หมด กล่าวถึงที่สุดหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังไม่มีความสำคัญเร่งด่วนเท่ากับหน้าที่ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองกำลังลาวอิสระที่จักต้องปกป้องผืนแผ่นดินลาวต่อต้านการกลับมายึดครองของฝรั่งเศส

สำหรับคณะรัฐมนตรีชุดแรกภายหลังการประกาศเอกราช ได้แก่

  • พญาคำเม้า วิไล ——— นายกรัฐมนตรี (อดีตเจ้าแขวงเวียงจันทน์)
  • พันตรีสิงห์ รัตนสมัย ——— รัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศ
  • เจ้าสมสนิท ——— รัฐมนตรีว่าการกระทรวงภายในและยุติธรรม
  • เจ้าสุพานุวง ——— รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองกำลังลาวอิสระ
  • พญาอุ่นเฮือน นอละสิง ——— รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม
  • ท่านอุ่น ชนะนิกอน ——— รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ
  • เจ้าสุวันนะพูมา ——— รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง
  • ท่านกะต่าย ดอนสะโสลิด ——— รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเงิน
  • ท่านหยุย อภัย ——— รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
  • ท่านเกือง ปทุมชาด ——— รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ
  • ท่านทัม ไชยสิดเสนา ——— รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

โดยมี เจ้าเพ็ดชะลาด เป็นที่ปรึกษารัฐบาล และ นายอัมพร สุวรรณบล ครู ป.ม. จากร้อยเอ็ดเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ภาระหน้าที่ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองกำลังลาวอิสระของเจ้าสุพานุวงก็คือการป้องกันดินแดนประเทศลาว ซึ่งฝรั่งเศสได้รับการอุปถัมภ์จากอังกฤษภายใต้ข้อตกลงของฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในอินโดจีนใต้เส้นขนานที่ 16 ทหารฝรั่งเศสและอังกฤษได้อาศัยข้อตกลงดังกล่าวเข้ายึดเมืองไซ่ง่อนคืนจากฝ่ายเวียดมินห์ ที่จำเป็นต้องถอนตัวออกไปสู่ชนบทเพื่อถนอมกำลังไว้ แต่ฝรั่งเศสเองก็ไม่อาจกำชัยชนะขั้นเด็ดขาดกับเวียดนามได้ จึงมีการเจรจากันหลายครั้งหลายหน ที่สุดประธาน โฮจิมินห์ต้องเดินทางไปเจรจาถึงประเทศฝรั่งเศส

เมื่อเอาชนะเวียดนามไม่ได้ง่ายๆ จึงปรับแผนเข้าปราบลาวที่มีประชากรน้อยนิดแทน ฝรั่งเศสจัดกำลังจากไซ่ง่อนและดานัง บุกเข้าลาวจากทางหมายเลข 9 ผ่านด่านชายแดนลาวบาวเข้าปลดอาวุธญี่ปุ่นที่ฐานทัพเซโน (SENO) อันเป็นฐานทัพสำคัญที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้นก่อนสงครามเพื่อควบคุมลาวภาคกลาง เวียดนามภาคกลาง และเขมร

คำว่า เซโน (SENO) ย่อมาจากภาษาฝรั่งเศส S=Sud แปลว่าทิศใต้ E=Est แปลว่าทิศตะวันออก N=Nord แปลว่าทิศเหนือ และ O=Ouest แปลว่าทิศตะวันตก ทั้งหมดคือเหนือ, ใต้, ออก, ตก นั่นเอง ผู้ใดควบคุมฐานทัพนี้ได้ก็เท่ากับครอบคลุมลาวเกือบทั้งประเทศ เซโนมีสนามบินทหารที่ทางฝรั่งเศสพร้อมสำหรับการ โจมตีทางอากาศด้วย

 

ในระหว่างการขวนขวายประชาชน
ในระหว่างการขวนขวายประชาชน

 

วันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1946 ฝรั่งเศสสามารถยึดเมืองสะหวันนะเขตได้ด้วยการสนับสนุนจากอังกฤษ, จีนก๊กมินตั๋ง และ เจ้าบุนอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ เจ้าศักดินาแขวงจำปาศักดิ์

เมื่อฝรั่งเศสยึดเมืองสะหวันนะเขตได้เพียงอาทิตย์เดียว ศึกใหญ่ในการป้องกันเมืองท่าแขกกำลังจะระเบิดขึ้น พี่น้องกองกำลังผสมลาว-เวียดที่เมืองสะหวันนะเขตจำต้องทิ้งเมือง ส่วนหนึ่งข้ามโขงมาฝั่งไทยและกลับขึ้นไปป้องกันเมืองท่าแขก อีกส่วนหนึ่งที่เป็นชาวเซโปนก็กลับไปบ้านเมืองของตนเพื่อสร้างฐานการอภิวัฒน์ในชนบท

 

ที่มา: ศุขปรีดา พนมยงค์. ยกแรกของการประกาศเอกราช, ใน, เรียนรู้ประวัติศาสตร์ลาวผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง, (กรุงเทพฯ: แม่คำผางการพิมพ์, 2553), น. 65-72

บทความที่เกี่ยวข้อง: