ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง: ความเป็นมาของอาณาจักรหลวงพระบางแห่งราชวงศ์ล้านช้าง

13
พฤศจิกายน
2564

‘พญาฟ้างุ่มแหล่งหล้าธรณี’ ได้รวบรวมผู้คนชาวลาวจากภาคใต้ในอาณาบริเวณสองฟากฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นอาณาจักรภายใต้การปกครองของพวกขอม พญาฟ้างุ่มตั้งตัวเป็นอิสระเมื่ออำนาจการปกครองขอมอ่อนแอและกำลังดำเนินไปสู่ความเสื่อมสลาย เช่นเดียวกับอาณาจักรสุโขทัยที่ได้สถาปนาขึ้นก่อนหน้านี้

ภายใต้การนำของพญาฟ้างุ่มที่นำผู้คนจากภาคใต้ของลาวโดยอาศัยลำน้ำโขงมุ่งขึ้นไปทางทิศเหนือ ผ่านจำปาศักดิ์ สะหวันนะเขต เวียงจันทน์ทำให้ชาวลาวเข้าร่วมขบวนการของท่านมากขึ้นทุกที่ รอนแรมขึ้นเหนือไปจนถึงชัยภูมิแห่งหนึ่งที่แม่น้ำคาง จากแนวเขาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือได้ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง จึงได้สถาปนาอาณาจักรล้านช้างขึ้นโดยท่านก็ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้ามหาชีวิตของลาว ผู้เป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ล้านช้างเมื่อปี ค.ศ. 1352 (พ.ศ. 1895) ต่อมาได้อัญเชิญ ‘พระบาง’ อันเป็นพระพุทธรูปที่ชาวลาวให้ความเคารพนับถือมาประดิษฐาน จึงให้เรียกชื่อเมืองว่า ‘นครหลวงพระบาง’

ระบอบเจ้ามหาชีวิตแห่งราชวงศ์ล้านช้าง สิ้นสุดลงเมื่อปี ค.ศ. 1975 เมื่อได้สืบทอดกันมา 623 ปี หลังจากแนวลาวรักชาติมีชัยชนะในการปลดปล่อยประเทศ และเจ้ามหาชีวิตองค์สุดท้ายยินยอมสละราชสมบัติเมื่อเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้น

อนุสาวรีย์เจ้าฟ้างุ่ม

เจ้ามหาชีวิตแห่งราชวงศ์ล้านช้างหลายพระองค์ ได้สร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้แก่ราชอาณาจักรลาว ในบางยุคสมัยก็มีความขัดแย้งและใช้กำลังเข้ารบพุ่งกับราชอาณาจักรอื่นที่ถือว่าเป็นเชื้อสายเผ่าพันธุ์เดียวกัน บางยุคสมัยก็เป็นพันธมิตรร่วมป้องกันการรุกรานจากพม่า เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้มีการจดจารึกบันทึกไว้ แต่ก็ยังต้องชำระประวัติศาสตร์ให้มีความถูกต้องยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นจึงยังไม่อาจขยายความให้ยืดยาวต่อไปได้ในเวลานี้

ความเป็นมาแห่งประวัติศาสตร์ลาวที่เริ่มเข้าสู่ยุคปัจจุบันนั้น ขอเริ่มต้น เมื่อกองกำลังจีนฮ่อแห่งมณฑลยูนนานผู้เข้าร่วมในขบวนการไท่ผิงมุ่งโค่นล้มราชวงศ์ชิงของจีน แต่ก็ต้องประสบความพ่ายแพ้ ในที่สุดได้ยกกำลังลงสู่ทิศใต้ ทำการปล้นสะดมเผาทำลายบ้านเมืองนับตั้งแต่บริเวณสิบสองจุไท เมืองแถง (เดียนเบียนฟู), เมืองแพร่, น่าน โดยเฉพาะเมืองหลวงพระบาง ถูกเผาจนแทบจะราบเป็นหน้ากลอง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นแม่ทัพ ยกกองทัพไปปราบฮ่อในบริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ภายใต้การปกครองของสยามจนได้รับชัยชนะ ขณะที่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสยึดเวียดนามเป็นเมืองขึ้นอย่างสิ้นเชิงในปี ค.ศ.1884 ก็ได้แต่จ้องหาจังหวะวิธีที่จะยึดเอาลาวเป็นเมืองขึ้น

ฝรั่งเศสให้ เมอร์ซิเออร์ โอกุสต์ ปาวี (August Pevie) หรือ ม. ปาวี นายช่างสำรวจวางสายโทรเลขเข้ามาในลาวตั้งแต่ปี ค.ศ.1886

การเข้าลาวของ ม. ปาวี เพื่อสำรวจเส้นทางลาวตอนเหนือ ในสมัยนั้นยังเป็นราชอาณาจักรลาวแห่งราชวงศ์ล้านช้าง ขึ้นตรงต่อศักดินาไทยสยาม การที่อังกฤษยึดเอาพม่าเป็นเมืองขึ้นทำให้พวกล่าอาณานิคมฝรั่งเศสจักต้องมีการตกลง เพื่อแบ่งเขตการปกครองทางลาวตอนเหนือที่มีเขตแดนติดกับพม่า

ด้วยความดีความชอบของ ม. ปาวี และอุบายขอทำสัญญากับไทยตั้งกงสุลขึ้น ทำให้เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นกงสุลฝรั่งเศสประจำหลวงพระบาง หลังจากนั้นทำให้อาณาจักรหลวงพระบางเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสไม่ขึ้นต่ออาณาจักรสยามอีกต่อไป

ต่อมาด้วยการอ้างว่าลาวไม่สามารถปกป้องตนเองจากภัยรุกรานของพวกจีนฮ่อ สยามก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ รวมทั้งการถือเอาหลักฐานตามจดหมายเหตุของเวียดนาม ที่ระบุว่าลาวเคยเป็นเมืองขึ้นของเวียดนามมาก่อน ดังนั้น ด้วยข้อกล่าวอ้างทั้งหลายทั้งปวงที่ฝรั่งเศสขึ้นแต่งขึ้นมา ทำให้ลาวต้องตกเป็นอาณานิคม

ฝรั่งเศสได้คงให้ลาวมีระบอบกษัตริย์ แต่อำนาจการปกครองประเทศอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของฝรั่งเศสทั้งหมด การมีระบอบกษัตริย์เกือบไม่มีความหมาย ลาวถูกเรียกชื่อเป็นทางการจากเจ้าอาณานิคมว่าเป็นรัฐภายใต้การอารักขาของฝรั่งเศส

เจ้ามหาอุปราชบุนคง
 
หม่อมคำอ้วน

‘เจ้าบุนคง’ มหาอุปราชเจ้าวังหน้า ทรงดำรงตำแหน่งอันดับที่ 2 รองจากเจ้ามหาชีวิต ฝรั่งเศสเห็นว่ามีความสามารถ จึงมอบหมายให้เข้ามาร่วมงาน ถึงแม้ว่าจะมีความเห็นที่ตรงไปตรงมา ไม่ค่อยเป็นที่สบอารมณ์ฝรั่งเศสนักก็ไม่อาจทำอะไรท่านได้ อีกทั้งยังเชิญท่านเสด็จไปปารีส และได้มีโอกาสพบกับประธานาธิบดีฝรั่งเศสในสมัยนั้น

‘เจ้าเพ็ดชะลาด’ โอรสองค์แรกของเจ้าบุนคง ประสูติในปี ค.ศ.1890 ปีเดียวกับปีเกิดของ โฮจิมินห์ ท่านผ่านการศึกษาจากสถาบันปกครองอาณานิคมที่กรุงปารีส และกลับมาทำงานในส่วนงานบริหารประเทศลาวของฝรั่งเศส ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งมหาอุปราช (ขึ้นแทนพระบิดาในปี ค.ศ.1941)

ตลอดเวลาที่รับราชการกับเจ้าอาณานิคม มหาอุปราชเจ้าเพ็ดชะลาดก็เช่นเดียวกับพระบิดาของพระองค์ ที่ยึดมั่นในความถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ถึงกับครั้งหนึ่งฝรั่งเศสดำริที่จะให้ลาวใช้ตัวอักษรโรมันในภาษาลาว ท่านคัดค้านอย่างเต็มที่จนเป็นผลสำเร็จทำให้ชาวลาวเคารพนับถือท่านมากยิ่งขึ้น แสดงออกถึงจิตใจรักชาติและรอคอยโอกาสในการกอบกู้เอกราชและอิสรภาพ

ขณะที่ประเทศลาวยังอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์ป่านานาชนิด เสด็จเจ้าเพ็ดชะลาดทรงเป็นนักนิยมไพร ออกป่าล่าสัตว์อยู่เสมอ เดินป่าไปทั่วประเทศเพื่อพบปะผู้คนด้วยตัวท่านเอง ชาวบ้านทั่วไปร่ำลือว่าท่านมีคาถาอาคม สามารถสะกดสัตว์ร้าย เช่น เสือ และช้างได้ สิ่งเหล่านี้เท่ากับเป็นการเตรียมต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติ

เมื่อญี่ปุ่นยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อสัมพันธมิตร ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 เจ้าเพ็ดชะลาดได้จากหลวงพระบางลงมาที่เวียงจันทน์เพื่อร่วมมือกับผู้รักชาติทั้งหลายเตรียมการประกาศเอกราช ท่านได้ส่งโทรเลขถึง ‘เจ้ามหาชีวิตสีสว่างวง’ ให้เป็นผู้ประกาศเอกราชของลาว แต่เจ้ามหาชีวิตกลับออกแถลงการณ์ว่า “ลาวยังเป็นประเทศในอารักขาของฝรั่งเศส”  ลาวจะไม่ทำการเปลี่ยนแปลงใดๆ โดยไม่มีการปรึกษาหารือกับฝรั่งเศสก่อน เท่ากับว่าเจ้าเพ็ดชะลาดกับเจ้ามหาชีวิตมีความเห็นขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่เจ้าเพ็ดชะลาดมีความประสงค์ยกย่องให้เจ้ามหาชีวิตเป็นผู้ประกาศเอกราชของลาว แต่เจ้ามหาชีวิตยังมีความเกรงกลัวฝรั่งเศสอยู่มาก ทำให้บรรดาผู้รักชาติมีความรู้สึกผิดหวังไปตามๆ กัน

เจ้ามหาชีวิตส่งโทรเลขถึงเจ้าเพ็ดชะลาดในเดือนตุลาคม ปลดท่านออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และถอดยศจากการเป็นเจ้ามหาอุปราช

เจ้ามหาอุปราชเพ็ดชะลาด  เจ้าสุวันนะพูมา
 
เจ้าสุพานุวง

“รัฐบาลลาวอิสระ” ได้จัดตั้งขึ้นอย่างรวดเร็วโดยการรวบรวมจากชาวลาวผู้รักชาติเจ้าสามพี่น้อง คือ เจ้าเพ็ดชะลาด, เจ้าสุวันนะพูมา และ เจ้าสุพานุวง ที่เดินทางมาจากฮานอยก็ได้มีโอกาสพบปะกัน และร่วมจัดตั้งรัฐบาลครั้งแรก ทั้งยังเข้าร่วมเป็นรัฐมนตรี

ชาวไทยท่านหนึ่งได้เข้าร่วมคณะรัฐบาลลาวอิสระในฐานะเลขาธิการคณะรัฐมนตรี บุคคลผู้นี้คือ คุณอัมพร สุวรรณบล ต่อมาก็ได้เป็น ส.ส.ร้อยเอ็ดอยู่ระยะหนึ่ง

รัฐบาลลาวอิสระไม่อาจต้านทานกองกำลังทหารฝรั่งเศสที่กลับมายึดครองได้อีก จึงถอยไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในไทย ซึ่งก็ได้รับการดูแลอนุเคราะห์จากรัฐบาลไทยยุคหลังสงคราม ที่คณะรัฐมนตรีส่วนหนึ่งเป็นอดีตแกนนำขบวนการเสรีไทย ก่อนที่สภาพการณ์ในประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปภายหลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490)

ปลายปี ค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2489) เจ้าเพ็ดชะลาด ลี้ภัยเข้ามาในไทย รมต.ว่าการกระทรวงมหาดไทยสมัยนั้น คือ หลวงเชวงศักดิ์สงคราม (พ.อ. ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม) ได้ถวายการต้อนรับเจ้ามหาอุปราชลาว และได้มอบหมายให้ ร.ต.อ.เชื้อ สุวรรณศร เลขา รมต. เป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด สุภาพสตรีหม้ายมีชื่อว่า คุณอภิณพร ยงใจยุทธ ก็เข้ามาถวายการต้อนรับ และได้เป็นชายาคนสุดท้ายของเจ้าเพ็ดชะลาด หม่อมอภิณพรผู้เป็นอาของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพไทยและเป็นที่รู้จักกันทั่วไป มักกล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า ท่านมีความเกี่ยวดองกับราชวงศ์ชั้นสูงของลาว แต่ก็ไม่สู้แน่ใจนักว่าพลเอกชวลิต ติดตามและเข้าใจการเคลื่อนไหวของลาวในยุคนั้นอย่างไร

เหตุการณ์ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกในภูมิภาคได้เข้ามาเคลื่อนไหวเพื่อภารกิจกู้ชาติของตน โดยเห็นว่าประเทศไทยรัฐบาลไทยในสมัยนั้นได้มีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้รักความเป็นธรรม ดังนั้น ชาติต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม, ลาว, อินโดนีเซีย, เขมร, พม่า ต่างก็ได้อาศัยดินแดนไทยเคลื่อนไหวภารกิจกอบกู้เอกราช

เสด็จเจ้าเพ็ดชะลาดเสนอให้มีการตั้งสหภาพแห่งเอเชียอาคเนย์ (Union of South East Asia) ผู้ติดตามข่าวคราวของฝ่ายตะวันตกในเรื่องนี้ทึกทักว่าเป็นความคิดของ นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีไทย เพราะมีผลงานโดดเด่นในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย แต่แท้ที่จริงแล้วจากปากคำของนายปรีดี เจ้าเพ็ดชะลาดเป็นผู้เสนอให้ก่อตั้งขึ้น ส่วนนายปรีดีให้การสนับสนุนเพราะเห็นว่าเมื่อสามารถก่อตั้งได้ ในอนาคตก็จะเป็นประโยชน์ต่อการดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีของประเทศสมาชิก ดังเช่นปัจจุบันได้เกิดกลุ่มประเทศอาเซียนขึ้น

‘เจ้าเพ็ดชะลาด’ ได้รับนิรโทษกรรมและกลับเวียงจันทน์ในวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500) ได้รับการต้อนรับจากชาวเวียงจันทน์อย่างอบอุ่นและล้นหลาม เป็นโอกาสให้เจ้าพี่เจ้าน้องทั้งสามได้ร่วมกันทำงานแก้ไขปัญหาประเทศชาติอีกครั้ง มีการเจรจารวมกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายปเทดลาว เข้าเป็นกองทัพแห่งชาติ แต่เรื่องนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะทางฝ่ายที่รับมอบเอกราชมาจากฝรั่งเศสต้องการปลดอาวุธกองกำลังปเทดลาวทั้งสิ้น ก่อนการเข้าร่วมในกองทัพแห่งชาติซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะยอมทำตามเช่นนั้น เพราะเท่ากับเป็นการพ่ายแพ้ และเมื่อถูกหักหลังก็ต้องถูกทำลาย

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500) เจ้าเพ็ดชะลาดเสด็จไปเยือนซำเหนือเขตปลดปล่อยของแนวลาวรักชาติ และได้เยี่ยมเยือนเจ้าสุพานุวง ทำให้ท่านมองเห็นและเชื่อว่าฝ่ายแนวลาวรักชาติที่ได้ผ่านการต่อสู้ด้วยอาวุธมาแต่ต้นจักได้รับชัยชนะในขั้นสุดท้ายอย่างแน่นอน

‘เจ้ามหาอุปราช’ ผู้ลี้ภัยอยู่ในเมืองไทยถึง 11 ปี เมื่อกลับคืนสู่ลาวได้เพียง 2 ปีเศษ ก็ได้สิ้นชีพิตักษัย เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502) สิริรวมอายุได้ 70 ปี ประชาชนลาวมีความเศร้าเสียใจอย่างยิ่งในการจากไปของบุรุษผู้เปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของชนชาติด้วยความกล้าหาญชาญชัย และทุกวันนี้รูปของเจ้าเพ็ดชะลาด ยังติดอยู่ตามบ้านเรือนของชาวลาวทั่วประเทศ

โอรสเจ้ามหาอุปราชอีกท่านหนึ่ง คือ เสด็จเจ้าสุวันนะพูมา ประสูติในปี ค.ศ. 1901 (พ.ศ. 2444)เป็นน้องชายต่างมารดาของเสด็จเจ้าเพ็ดชะลาด และมีอายุต่างกัน 11 ปี หลังจากศึกษาชั้นมัธยมที่ฮานอยแล้วก็ไปศึกษาต่อกรุงปารีส ขณะศึกษาก็ได้รับแนวคิดในการกู้ชาติบ้านเมืองเช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวที่ชาติของตนต้องตกเป็นอาณานิคมของต่างชาติ ถึงแม้จะถือกำเนิดในชาติตระกูลอันสูงศักดิ์ แต่ท่านยึดแนวทางสายกลางในการแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมือง เมื่อจบการศึกษาก็กลับมาทำงานกับผู้ปกครองฝรั่งเศสในลาว

การจำนนของญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) คณะลาวอิสระ ซึ่งเจ้าสุวันนะพูมาอยู่ในฐานะสมาชิกแกนนำ ได้เข้ายึดอำนาจประกาศเอกราช ทั้งเจ้าสุวันนะพูมาและเจ้าสุพานุวงได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดแรก ทำให้ได้ร่วมงานกับเจ้าพี่เจ้าเพ็ดชะลาด ซึ่งต้องถือว่าเป็นการเปิดฉากการร่วมมืออย่างสวยสดงดงามของโอรสทั้งสามของเจ้ามหาอุปราชบุนคง

แม้ว่าฝรั่งเศสได้กลับมาครอบครองลาวอีกครั้ง กลุ่มแนวลาวอิสระส่วนหนึ่งภายใต้การนำของเจ้าสุพานุวงทำการต่อสู้กับฝรั่งเศสต่อไป อีกส่วนหนึ่งยอมจำนนต่อเล่ห์เพทุบายฝรั่งเศสที่ประกาศว่าจะหยิบยื่นเอกราชให้ลาวเอง เจ้าสุวันนะพูมาตกอยู่ในฐานะลำบาก จะหันไปร่วมรบกับเจ้าน้องสุพานุวงก็ยังไม่มีความมั่นใจอะไร จึงลี้ภัยมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ระยะหนึ่ง ภายหลังได้รับนิรโทษกรรมกลับไปลาว แต่ท่านก็มิได้เข้าร่วมกับพวกลาวฝ่ายขวาที่ยอมจำนน และต่อมาก็เป็นเครื่องมือจักรวรรดินิยมอเมริกา ซึ่งเริ่มเข้ามาแทนที่ฝรั่งเศส

เจ้าสุวันนะพูมายืนหยัดแนวนโยบายสันติภาพ ความเป็นกลาง อย่างเคร่งครัด ซึ่งแนวทางของท่านนี้ในบางครั้งก็ถูกโจมตีว่าไม่เป็นกลางจริง อ่อนข้อให้ฝ่ายขวาไปบ้าง อ่อนข้อให้กับแนวลาวรักชาติไปบ้าง ทั้งนี้และทั้งนั้นท่านมิได้หวั่นไหวต่อคำตำหนิวิจารณ์ต่างๆ นานา

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500) ถึงปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) เป็นเวลา 18 ปี ที่ได้พิสูจน์ตัวเจ้าสุวันนะพูมาที่ต้องปฏิบัติภารกิจอันหนักอึ้ง ท่านสามารถกลับมาเป็นหลักให้แก่ฝ่ายแนวลาวรักชาติในช่วงสุดท้ายแห่งการปลดปล่อย จนประสบชัยชนะในที่สุด ทำให้เห็นการสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ถึงท่านจะมีชีวิตอยู่ต่อมาภายหลังอีกไม่กี่ปี แต่เกียรติประวัติของเจ้าสุวันนะพูมา ยังคงได้รับการยกย่องตลอดไป

โอรสองค์สุดท้องของเจ้ามหาอุปราชบุนคง กับ หม่อมอ้วน ได้แก่ เจ้าสุพานุวง ท่านประสูติเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1909 (พ.ศ. 2452) จึงมีอายุอ่อนกว่าเจ้าพี่เสด็จเจ้าเพ็ดชะลาดถึง 19 ปี และอ่อนกว่าเจ้าพี่สุวันนะพูมา 8 ปี

เจ้าชายทั้งสามองค์ มีบทบาทในการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้แก่ลาว สำหรับเจ้าสุภานุวง ผู้มีชาตกาล 100 ปี ในปี ค.ศ. 2009  (พ.ศ. 2552) ถือว่าเป็นวีรบุรุษแห่งชาติผู้โดดเด่นที่สุด แม้จะเกิดในราชวงศ์อันสูงศักดิ์ ท่านได้สละฐานันดรแห่งชนชั้นของท่านมาเป็นสามัญชน และก็เป็นสามัญชนผู้ยิ่งใหญ่

 

ที่มา: ศุขปรีดา พนมยงค์. ความเป็นมาของอาณาจักรหลวงพระบางแห่งราชวงศ์ล้านช้าง, ใน, เรียนรู้ประวัติศาสตร์ลาวผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง, (กรุงเทพฯ: แม่คำผางการพิมพ์, 2553), น. 25-34