ความเดิมตอนที่แล้ว: ศุขปรีดาเล่าเรื่อง: ฐานที่มั่น, เขตปลดปล่อย
.
ผลแห่งข้อตกลง “เจนีวา” ที่ลงนามกันเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1954 (2497) โดยเฉพาะที่เป็นปัญหาเกี่ยวข้องกับลาวนั้นได้ข้อตกลงร่วมกันคือ
1. ฝ่ายลาวต่อต้านต้องนำกำลังที่มีอยู่ทั้งหมดไปรวมไว้ที่แขวงหัวพันและแขวงพงสาลี ตามเวลากำหนดภายใน 90 วัน
2. ฝ่ายลาวต่อต้านนำกำลัง 2 กองพัน จำนวนพลกองพันละ 750 นาย เข้ารวมกับกองกำลังเวียงจันทน์เพื่อเป็นกองทัพแห่งชาติ และจะได้รับยศทหารตามความเป็นจริง
3. กำลังที่ยังเหลืออยู่ใน 2 แขวงดังกล่าว รัฐบาลผสมแห่งชาติจะต้องรับผิดชอบในการส่งกลับคืนภูมิลำเนาเดิม หรือถ้าประสงค์จะเข้าทำงานกับรัฐบาลผสมแห่งชาติก็จะได้รับการสนับสนุน
4. ฝ่ายลาวต่อต้านในคณะรัฐบาลผสมแห่งชาติจะ ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง
5. หลังจากจัดตั้งรัฐบาลผสมแห่งชาติแล้วจะจัดเลือกตั้งทั่วไปเพื่อจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติต่อไป
การเจรจายืดเยื้อถึง 2 ปีกว่า ทั้งนี้เพราะอเมริกาปฏิเสธการร่วมลงนามในข้อตกลงเจนีวามาตั้งแต่ต้น โดยมี นายจอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส รมต.ต่างประเทศอเมริกาพยายามขัดขวางทุกวิถีทาง อเมริกาได้เข้าแทนที่ฝรั่งเศสในลาวอย่างเต็มตัว มีการใช้เงินซื้อพวกฝ่ายขวาในเวียงจันทน์ เพราะเห็นว่าถ้ากำลังฝ่ายแนวลาวรักชาติเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเป็นภยันตรายอันใหญ่หลวง และกลุ่มประเทศแห่งค่ายสังคมนิยมจะขยายไปมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องรีบจัดการโดยอาศัยกำลังของฝ่ายขวาที่ยังพอมีอำนาจอยู่หาทางทำลายล้างแนวลาวรักชาติ
ท่านผุย ชนะนิกอน ในฐานะ รมต.ต่างประเทศฝ่ายขวาเวียงจันทน์ จึงได้รับคำสั่งจากอเมริกาเจ้านายมิให้ลงนามในข้อตกลงกับแนวลาวรักชาติ จนกระทั่งเจ้าสุวันนะพูมานายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งให้ ท้าวกุ วอละวง เป็นผู้ลงนามแทน อันเป็นเหตุให้อเมริกาไม่พอใจอย่างยิ่ง และสั่งให้ลูกสมุนในไทยส่งมือปืนเข้าไปสังหารท้าวอย่างเหี้ยมโหด
ประวัติของ ท่านผุย ชนะนิกอน ในฐานะผู้นำลาวขวา ฝ่ายปะติกาน (“ปฏิกิริยา”) ประวัติศาสตร์ลาวได้จารึกในฐานะผู้ทรยศขายชาติคนสำคัญ อนึ่ง ตระกูล “ชนะนิกอน” สมัยก่อนการสถาปนาประเทศในปี ค.ศ.1975 (2518) นั้นเรียกว่ายิ่งใหญ่มาก ใครก็อยากใช้นามสกุลนี้เป็นยันต์กันผี แม้กระทั่งเศรษฐีชาวจีนในลาวผู้หนึ่งที่เป็นตัวแทนจำหน่ายบุหรี่ต่างประเทศและเจ้าของโรงงานผลิตบุหรี่ในลาวก็ยังขอนับญาติใช้นามสกุล “ชนะนิกอน”
ด้วยความเป็นอนิจจัง ทางการลาวในปัจจุบันได้ยึดคืนวิสาหกิจของชาวจีน สกุล “ชนะนิกอน” ไปแล้วอย่างเรียบร้อย
ท่านสุพานุวง ประธานแนวลาวรักชาติมีบทบาทใหม่ในด้านการเจรจากับฝ่ายขวา ภาระหน้าที่นี้ย่อมแตกต่างจากการเคลื่อนไหวร่วมกัน ทุกฝ่ายต่อสู้เพื่อเอกราช แตกต่างจากการบัญชาการรบในศึกป้องกันเมืองท่าแขก แตกต่างจากจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในไทย จนกระทั่งการต่อสู้เคลื่อนไหวก่อสร้างฐานที่มั่น-เขตปลดปล่อยดังที่ผ่านมา
ท่านสุพานุวง กับ ท่านพูมี วงวิจิด ร่วมงานกันอย่างใกล้ชิด ทั้งสองรู้จักพวกฝ่ายขวาเป็นอย่างดี ชนิดที่ว่า “รู้เช่นเห็นชาติ” ทำให้เล่ห์เพทุบายต่างๆ ของฝ่ายนั้นถูกสกัดยับยั้งไม่อาจดำเนินต่อไปได้ และก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การลงนามในข้อตกลงต้องยืดเยื้อออกไป ส่วน ท่านสิงกะโป รับผิดชอบเจรจาเรื่องการรวบรวมกองทัพทั้งสองฝ่ายซึ่งไม่อาจตกลงกันได้สหายแกนนำอื่นๆ ก็มีส่วนร่วมตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย การตกลงใดๆ ก็จะผ่านแนวลาวรักชาติและมติของพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นที่สุด
เห็นได้ว่าการนำรวมศูนย์ที่เป็นเอกภาพได้ยกระดับขึ้นสู่การมีประสิทธิภาพ และเป็นที่ชัดแจ้งแล้วว่า ท่านสุพานุวง กับ ท่านไกสอน พมวิหาน ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่อย่างแน่วแน่บนพื้นฐานแห่งความสามัคคี
ปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. 1957 (2517) ภายหลังลงนามในข้อตกลงเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และเพื่อปฏิบัติตามพันธะแห่งข้อตกลง กำลังที่เหลือของแนวลาวรักชาติ 2 กองพันคือ กองพันที่ 1 มี พันตรีอุ่นเฮือน ขาวพัน เป็น ผ.บ.พัน มีจำนวนพล 750 นาย ตั้งอยู่ที่เมืองเชียงเงิน ทางใต้แขวงหลวงพระบาง กองพันที่ 2 มี พันตรีจำเนียน บุนรักสา เป็น ผ.บ.พัน มีจำนวนพล 750 นาย เช่นกัน ตั้งมั่นบริเวณทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง ทั้ง 2 กองพันอยู่ในบังคับบัญชาของ พันโทปาน มาลัยทอง และ พันโทท้าวตู้ กำลังดังกล่าวต้องเข้าร่วมกับทางเวียงจันทน์
การนำกำลังเข้าร่วมกับฝ่ายขวาย่อมกระทบกระเทือนจิตใจนักรบอภิวัฒน์ให้เกิดความท้อแท้ ท่านสุพานุวงจึงทำความเข้าใจกับบรรดา นักรบเหล่านั้นด้วยการร่วมประชุมชี้แจงแนวทาง
ท้าวบัวหาน รองมลิ ผู้ร่วมในการประชุมได้บันทึกเนื้อหาที่จับจิตจับใจไว้ดังนี้ “จุดประสงค์ของการอภิวัฒน์และเป้าหมายของการต่อสู้ของพวกเราคือ เพื่อปลดปล่อยประเทศชาติอย่างสมบูรณ์ ด้วยการขับไล่จักรพรรดินิยมผู้รุกราน เพื่อสันติภาพ เอกราช อิสรภาพและเพื่อเอกภาพแห่งชาติ ก้าวไปถึงโค่นอำนาจการปกครองของรัฐบาลหุ่นล้มล้างระบอบราชาธิปไตย สถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้นแทน
“ปัจจุบัน ถึงแม้ว่ากำลังอภิวัฒน์ของพวกเราได้เติบใหญ่และได้รับชัยชนะเพิ่มมากขึ้นแล้วก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบดูกำลังระหว่างพวกเรากับฝ่ายตรงกันข้าม เห็นว่าพวกเรายังไม่อาจปลดปล่อยประเทศชาติได้ในทันทีทันใด พวกเรายังต้องสืบต่อการต่อสู้ สร้างสมกำลังอภิวัฒน์ในทุกด้าน ก่อนอื่นจะต้องทำให้ประชาชนเผ่าต่างๆ และคนลาวทุกชั้นคน รับรู้ถึงแนวทางนโยบายอันถูกต้องเป็นธรรมของขบวนการอภิวัฒน์เรา และเข้าร่วมขบวนการอภิวัฒน์อย่างเอาจริงเอาจัง เพราะว่ากำลังแรงมหาศาลอยู่ที่ประชาชน พวกเราจะทำอย่างไรเพื่อให้สงครามกู้ชาติได้กลายเป็น สงครามประชาชน หรือเป็นภารกิจของมหาชนอันแท้จริง
“ปัจจุบัน ประชาชนเผ่าต่างๆ ทั่วประเทศ เช่นที่อยู่ตามท้องนา ตัวเมือง มีกรรมกร นักเรียน นักศึกษาปัญญาชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่ยังไม่รู้ถึงแนวทางนโยบายของการอภิวัฒน์เรา ในเวลาเดียวกัน ศัตรูระดมโฆษณาใส่ร้ายป้ายสีแนวลาวรักชาติบิดเบือนความจริง เพื่อปิดหูปิดตาประชาชน พวกเขาทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนกลัวกำลังอภิวัฒน์ และต่อต้านการอภิวัฒน์
“ในเมื่อกำลังของพวกเรายังอ่อน พวกเราก็ต้องต่อสู้ด้วยยุทธวิธีใหม่ ดังนั้น ศูนย์กลางจึงได้กำหนดหน้าที่และวิธีปฏิบัติใหม่คือ ไม่จำเป็นจะปกปักรักษาเพียงแต่สองแขวงที่รวมได้แล้วเท่านั้น แต่ต้องต่อสู้ให้ได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวแห่งชาติขึ้น ดำเนินแนวทางสันติภาพ เป็นกลาง มอบสองแขวงให้ขึ้นกับรัฐบาลผสมชั่วคราวแห่งชาติ จัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนเพิ่มเติม โดยมีตัวแทนของแนวลาวรักชาติร่วมสมัครรับเลือกตั้ง
“ส่วนกำลังอภิวัฒน์ของพวกเรา เป็นต้นว่าผู้ปฏิบัติงาน นักรบ และฝ่าย ‘แนว’ (ฝ่ายปกครอง) จะเลือกเอาเพียงแต่ 1,500 คน เพื่อเข้าร่วมในกองทัพแห่งชาติ เหลือจากนั้นให้กลับคืนท้องถิ่น โดยเรียกว่าเป็นกองหนุนและพลเมืองดี”
พอลุงสุพานุวงพูดจบประโยคดังกล่าว มองไปทางไหนก็หงอยเหงาเศร้าโศก บางคนก็เช็ดน้ำตา บางคนก็ร้องไห้กระซิกกระซี้ ในจำนวนนี้มีข้าพเจ้ารวมอยู่ด้วยผู้หนึ่ง เมื่อเห็นบรรยากาศเงียบเหงาเช่นนั้น ลุงสุพานุวงก็หยุดครู่หนึ่ง แล้วพูดต่อไปว่า
“ขอให้พวกสหายและอ้ายน้องลูกหลานเข้าใจว่า ที่ศูนย์กลางทำเช่นนี้ไม่ใช่พวกเรายุบเลิกกำลังอภิวัฒน์แล้วไปยอมจำนนต่อศัตรูอย่างใดดอก ต้องเข้าใจว่าศูนย์กลางได้เปิดแนวรบแบบใหม่ นั่นคือ การแยกย้ายกำลังอภิวัฒน์ไปสู่ทุกซอกทุกมุมของประเทศ เพื่อดำเนินการโฆษณา เผยแพร่แนวทางนโยบายอันถูกต้องเป็นธรรม อันเป็นจุดหมายปลายทางของการอภิวัฒน์ในหมู่ประชาชนเผ่าต่างๆ ในขบวนข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักเรียน นักศึกษา และปัญญาชน เพื่อแยกศัตรู ช่วงชิงรวบรวมกำลังอภิวัฒน์ให้เติบใหญ่กว่าเก่า ผ่านการโฆษณามาขวนขวายจัดตั้งกำลัง เมื่อเห็นว่าสภาพการณ์มันได้สุกงอมแล้ว ศูนย์กลางจะเรียกร้องให้พี่น้องลูกหลานนำพาประชาชนลุกขึ้นต้านกับพวกปะติกาน ตามแนวทางนโยบาย และมติคำสั่งของศูนย์กลาง”
เมื่อทุกคนได้ฟังลุงสุพานุวงพูดเช่นนี้ ใครๆ ก็ยิ้มแย้มแจ่มใส และโล่งอกโล่งใจ ข้าพเจ้าเองก็เช่นเดียวกับคนอื่นๆ เห็นบรรยากาศสดชื่นแจ่มใส ลุงสุพานุวงก็มีความเบิกบานเช่นเดียวกัน ลุงพูดต่อไปว่า
“เป็นอันแน่นอนที่สุด ในสนามรบก็มีหลายคนจะสามารถสร้างผลงานอันดีเด่น สร้างตนเป็นหลักแหล่งแก่นสารของการอภิวัฒน์นำหน้าพาทางขบวนการอภิวัฒน์ของมหาชน ได้รับความรักเชื่อถือจากมหาชนสามารถสร้างพื้นฐานการอภิวัฒน์ สร้างกำลังอภิวัฒน์จากหนึ่งขึ้นเป็นร้อยๆ และหมื่นๆ แต่พวกเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเสียหายได้ เช่น อาจมีผู้ถูกศัตรูจับกุมคุมขัง ทุบตีทรมาน หรือประหารชีวิต พร้อมกันนั้น ก็จะมีผู้แปรธาตุเปลี่ยนสี ถูกศัตรูซื้อจ้างกลายเป็นผู้ทรยศต่อการอภิวัฒน์ ทรยศต่อเพื่อนอภิวัฒน์ ต่อต้านการอภิวัฒน์ ต้านกับประชาชน ก็อาจมีจำนวนหนึ่ง เนื่องจากกลัวการเสียสละหรือเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่า ก็อาจจะนอนอยู่กับบ้านเฉยๆ โดยไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ
“ไม่ว่าสนามรบใดๆ และขบวนการใดๆ มันก็มีได้มีเสีย ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้แต่อย่างไรก็ตาม ลุงและศูนย์กลางมีความเชื่อมั่นอย่างหนักแน่นว่า พวกเราต้องได้รับชัยชนะ และชัยชนะจะต้องใหญ่กว่าเก่า กำลังอภิวัฒน์ และรากฐานการอภิวัฒน์จะต้องใหญ่และกว้างขวางกว่าเก่า
“พวกสหายและอ้ายน้องลูกหลานอย่าลืมว่า ศัตรูมันมีกลอุบาย เล่ห์เหลี่ยม มันจะฉวยโอกาสนี้ดับสูญกำลังอภิวัฒน์ของพวกเรา พวกมันได้วางคำขวัญไว้ว่า ‘ต้องล่อเสือจากป่า' ตัดเล็บถอนเขี้ยวออกหมดแล้วก็จัดตั้งกำลัง แล้วบีบคอให้มันตายไปทีละคน และดับสูญอย่างสิ้นเชิง"
“เมื่อรับรู้เข้าใจแล้ว ข้าพเจ้าก็เช่นเดียวกับทุกๆ คนที่หมดทุกข์ และความอึดอัดใจ ใครๆ ก็ต้องตัดสินใจปฏิบัติหน้าที่อันหนักหน่วงแต่มีเกียรติสง่างามที่ชั้นบนมอบหมายให้ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นที่สุดว่ามันต้องเป็นไปตามคำพูดของลุงสุพานุวงในวันนี้อย่างแน่นอน”
ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. รัฐบาลแห่งความปรองดองแห่งชาติครั้งที่หนึ่ง “รัฐบาลผสมแห่งชาติ”, ใน, เรียนรู้ประวัติศาสตร์ลาวผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง, (กรุงเทพฯ: แม่คำผางการพิมพ์, 2553), น. 107-113
บทความที่เกี่ยวข้อง: