ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง: ฐานที่มั่น, เขตปลดปล่อย

8
มกราคม
2565

ปลายเดือนธันวาคม ค.ศ.1949 (2492) หลังจากรอนแรมเดินทางบุกป่าฝ่าดงขึ้นเขาลงห้วยผ่านดินแดนลาวตัดเข้าสู่เวียดนาม เจ้าสุพานุวง ก็ได้มาถึงฐานที่มั่นจังหวัดเง่ห์อาน ในเวียดนาม ณ ที่นั่น ท่านได้พบกับ สหายหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานคณะกรรมการลาวต่อต้านเขตภาคตะวันออกและภาคกลาง

'สหายหนูฮัก' เป็นชาวลาว เกิดที่มุกดาหาร รวบรวมจัดตั้งชาวลาวในสะหวันนะเขตต่อสู้เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสมาช้านาน จึงมีความสัมพันธ์สนิทสนมกับขบวนการเวียดมินห์ และเป็นสหายลาวรุ่นแรกๆ ที่เข้าเป็นสมาชิกแห่งพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน บทบาทของสหายผู้นี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสหายนำของพรรคคนอื่นๆ

บทบาทภายใน “พรรคประชาชนลาว” ซึ่งต่อมาก็คือ “พรรคประชาชนปฏิวัติลาว” ท่านเป็นกรรมการประจำแห่งกรมการเมืองของพรรคฯ มาตลอด อันเนื่องจากประสบการณ์ในการจัดตั้งวางรูปแบบองค์กรให้มีความเข้มแข็ง และเป็นที่ยอมรับนับถือจากสหายทั่วทั้งพรรค

ในปี ค.ศ.1992 (2535) หลังจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวสถาปนาขึ้น ท่านได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานประเทศ เมื่อครบวาระแล้วก็เป็นที่ปรึกษาอาวุโสของพรรคฯ จวบจนกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 2008 (2551)

นอกจากนี้ เจ้าสุพานุวงยังได้พบกับ สหายสีชนะ สีสาน แกนนำอีกท่านหนึ่งที่รับผิดชอบด้านโฆษณาประชาสัมพันธ์ เนื่องจากมีความรู้ทั้งในด้านทฤษฎี ประวัติศาสตร์และศิลปะอย่างกว้างขวาง

 

เจ้าสุพานุวงเยี่ยมคารวะประธานโฮจิมินห์ที่บิ๊กบ่อ หลังจากสร้างตั้งแนวลาวอิสระ และรัฐบาลลาวต่อต้านเมื่อปี ค.ศ. 1950
เจ้าสุพานุวงเยี่ยมคารวะประธานโฮจิมินห์ที่บิ๊กบ่อ หลังจากสร้างตั้งแนวลาวอิสระ และรัฐบาลลาวต่อต้านเมื่อปี ค.ศ. 1950

 

สหายสีชนะ ชาวสะหวันนะเขต บิดาเป็นชาวฝรั่งเศสจากเกาะคอร์ซิกา มารดาเป็นชาวลาว หลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากรของไทยขณะนั้นเดินทางตรวจดูการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมจึงได้พบกับเด็กหนุ่มสีชนะ ปรากฏว่าเมื่อพูดคุยรู้สึกถูกอกถูกใจเพราะสีชนะพูดภาษาฝรั่งเศสได้คล่องแคล่ว หลวงวิจิตรฯ ติดต่อนำพามากรุงเทพฯ ให้ทำงานที่กรมศิลปากร ให้เรียนดนตรีไทยวิชาตีระนาดกับ อาจารย์มนตรี ตราโมท ขณะเดียวกันทำให้สีชนะมีโอกาสค้นคว้าพงศาวดารประวัติศาสตร์สัมพันธ์สยามกับอาณาจักรล้านช้างในหอพระสมุดแห่งชาติ เพิ่มพูนความรู้รอบด้านให้กับตน

สีชนะทำงานด้านการแถลงข่าว เท่ากับว่าเป็นโฆษกตัวจริงเสียงจริงของแนวลาวรักชาติ เคยถูกจับกุมพร้อมเจ้าสุพานุวงและได้ร่วมแหกคุกออกมาได้อย่างปลอดภัย ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีดูแลงานด้านวัฒนธรรมและแถลงข่าว

นอกจากมีความรอบรู้ทฤษฎีแห่งมาร์กซ์-เลนินแล้ว ท่านยังมีสุนทรีย์ในอารมณ์ของศิลปิน ประกอบกับเป็นนักดนตรีจึงแต่งเพลงเชิดชูอุดมการณ์อภิวัฒน์และรับใช้ประชาชนรากหญ้าไว้หลายเพลง บทเพลงมีชื่อเสียงและขับร้องกันทั่วไปคือเพลง เย็นสบายชาวนา

นับตั้งแต่ปลายปี ค.ศ.1949 (2492) เป็นต้นมา สถานการณ์ระหว่างประเทศเอื้อประโยชน์แก่ขบวนการอภิวัฒน์ของลาว โดยเฉพาะเมื่อ ประธานเหมาเจ๋อตง ผู้นำพาพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับชัยชนะทั่วจีนแผ่นดินใหญ่จนสาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1949 (2492)

ยุทธการชายแดนเวียดนามในปี ค.ศ.1950-1951 (2493-2494) ทำให้กองทัพประชาชนเวียดนามที่ขยายมาจากกองกำลังเวียดมินห์ มีเขตปลดปล่อยขยายกว้างออกไปตลอดแนวเขตที่ติดต่อกับจีนและลาว

ดังนั้น เมื่อเจ้าสุพานุวงมาถึงเขตที่มั่น ทางฝ่ายขบวนการต่อต้านของผู้รักชาติลาวจึงได้จัดให้มีการประชุมใหญ่ ในระหว่างวันที่ 13-15 สิงหาคม ค.ศ.1950 (2493) ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยกองกำลังลาวอิสระ, ผู้แทนชนชาติหมู่น้อย (ชนเผ่า) ลาวสูงและลาวเทิง ฯลฯ รวม 150 ท่านที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้จัดตั้งองค์กรแนวร่วมใช้ชื่อว่า “แนวลาวอิสระ” มีเจ้าสุพานุวงเป็นประธาน ท่านหนูฮัก, ท่านสิงกะโป และผู้รักชาติอื่นๆ เป็นกรรมการ

ในขณะที่ สหายไกสอน พมวิหาน ได้รวบรวมชาวพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนที่ส่วนใหญ่เป็นเวียดนาม รวมทั้งคนหนุ่มชาวลาวในแขวงหัวพัน, แขวงพงสาลี และจากแขวงต่างๆ ทั่วประเทศ และยังเกลี้ยกล่อมทหารลาวชั้นผู้น้อย, ชั้นประทวนที่ฝรั่งเศสเกณฑ์มารักษาป้อมตามบริเวณแขวงหัวพันและพงสาลี ให้เกิดจิตสำนึกทางการเมืองเพื่อเข้าร่วมต่อสู้กู้ชาติ ปรากฏว่าทหารลาวเหล่านี้พร้อมอาวุธประจำกายได้เข้าร่วมในกองกำลัง สหายคนหนึ่งในจำนวนนี้ต่อมารับผิดชอบภารกิจอภิวัฒน์มากขึ้นจนภายหลังปลดปล่อยได้ทำหน้าที่ผู้บริหารประเทศ

 

คณะกรรมการศูนย์กลางแนวลาวรักชาติ ที่ได้รับเลือกตั้งจากกองประชุม ปี ค.ศ. 1950 (แถวหน้าจากช้าย) ท่านไกสอน พมวิหาน, เจ้าสุพานุวง, ท่านพูมี วงวิจิด, ท่านไฟด่าง ลอเบลียยาว และเจ้าสุก วงสัก (แถวหลังจากซ้าย) ท่านสิงกะโป สีโคดจุนละมาลี, ท่านหนูฮัก พูมสะหวัน,ท่านมา ไขคำพิทูน และท่านสีทน กมมะดำ
คณะกรรมการศูนย์กลางแนวลาวรักชาติ ที่ได้รับเลือกตั้งจากกองประชุม ปี ค.ศ.1950 (2493)
(แถวหน้าจากช้าย) ท่านไกสอน พมวิหาน, เจ้าสุพานุวง, ท่านพูมี วงวิจิด, ท่านไฟด่าง ลอเบลียยาว และเจ้าสุก วงสัก
(แถวหลังจากซ้าย) ท่านสิงกะโป สีโคดจุนละมาลี, ท่านหนูฮัก พูมสะหวัน,ท่านมา ไขคำพิทูน และท่านสีทน กมมะดำ

 

กองกำลังภายใต้การบังคับบัญชาของสหายไกสอน ใช้ชื่อว่า ‘กองลาดชะวง’ ที่ก่อตัวและเกิดขึ้นเมื่อประมาณกลางเดือนมิถุนายน ค.ศ.1948 (2491) มีสมาชิกเริ่มต้น 25 คน ทำการศึกษาการเมืองที่มุ่งเน้นเรื่องกู้ชาติ เรื่องทำสงครามที่เป็นธรรม ฝึกฝนวิชาการรบจากทหารลาวที่ถูกฝรั่งเศสเกณฑ์มาใช้งาน และกลับใจมาร่วมกับฝ่ายอภิวัฒน์

การขยายกำลังสู่มวลชนด้วยยุทธวิธีแห่งหน่วยโฆษณาประกอบอาวุธที่ทางเวียดมินห์ใช้มาแล้วอย่างได้ผล กองลาดชะวงได้นำมาประยุกต์ปฏิบัติอย่างได้ผลดีเช่นกัน ทำให้มีคนหนุ่มจากแขวงหัวพันและพงสาลีเข้าร่วมเป็นจำนวนไม่น้อย

จนกระทั่งถึงวันที่ 20 มกราคม ค.ศ.1949 (2492) จากมติที่ประชุมใหญ่บรรดาเผ่า ประกอบด้วยพนักงานพื้นฐาน ทหาร และคณะผู้แทน 17 บ้านจากฐานที่มั่นได้ประชุมกันที่บ้านกอวาน เมืองเชียงค้อ แล้วท่านไกสอน พมวิหาน ได้แถลงจัดตั้งกองทัพลาวอิสระขึ้นอย่างเป็นทางการ และก็ได้ถือเอาวันที่ 20 มกราคม เป็นวันกำเนิดกองทัพประชาชนลาว

องค์ประกอบสำคัญเพื่อก้าวไปสู่ชัยชนะของการอภิวัฒน์ลาวได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว กล่าวคือ มีพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนในเวลานั้นซึ่งเป็นพรรคมาร์กซ์-เลนินเป็นพรรคนำ ประการต่อมามี “แนวลาวอิสระ” อันเป็นองค์กรแนวร่วมที่รวบรวมประชาชนทั่วทั้งประเทศ ทั่วทุกชนเผ่า และประการสุดท้ายมีกองกำลังติดอาวุธจัดตั้งขึ้นเป็นกองทัพประชาชน

และความสำเร็จก้าวใหญ่ที่สำคัญที่สุดของการปลดปล่อยประเทศได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อเจ้าสุพานุวงได้พบและร่วมงานกับท่านไกสอน ในเขตฐานที่มั่นแขวงหัวพัน

บุคคลทั้งสองมีบทบาทสำคัญเท่าเทียมกัน ต่างจากเวียดนามที่ประธานโฮจิมินห์ชี้แนะนำพาอย่างโดดเด่น ท่านทั้งสองนำการอภิวัฒน์ลาวนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 (2493) ผ่านระยะเวลาแห่งการต่อสู้ทรหดอดทนเป็นเวลาร่วม 25 ปีจนประสบชัยชนะในที่สุด

สหายไกสอน พมวิหาน เกิดวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ.1920 (2463) จึงมีอายุอ่อนกว่าเจ้าสุพานุวง 11 ปี บิดาท่านเป็นชาวเวียดนาม มารดาชาวสะหวันนะเขต วัยหนุ่มศึกมาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยฮานอยระยะหนึ่งแล้วเข้าสู่ขบวนการเวียดมินห์อย่างเต็มตัว เนื่องจากมีความรับผิดชอบสูงมีความสามารถในการจัดตั้งองค์กร สติปัญญาเฉลียวฉลาด จึงเข้าใจในทฤษฎีการเมืองลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ที่ประยุกต์เข้ากับการต่อสู้กับฝรั่งเศสและเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนตั้งแต่วัยหนุ่ม มีภาระหน้าที่รับผิดชอบสูงขึ้นตามลำดับ

การเป็นคนลาวเชื้อสายเวียดนาม ทางพรรคฯ จึงได้มอบหมายหน้าที่ในการเคลื่อนไหวจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธของขบวนการกู้ชาติลาวตั้งแต่ปี ค.ศ.1948 (2491) จัดตั้งและสร้างกองกำลังลาดชะวงเข้าเป็นกองกำลังแห่ง “แนวลาวอิสระ” ในกลางปี ค.ศ.1950 (2493) ซึ่งทำให้เกิดความร่วมมือใกล้ชิดอย่างดียิ่งกับท่านสุพานุวง

เจ้าสุพานุวงเข้าปฏิบัติการในฐานที่มั่นเมื่อปี ค.ศ.1950 (2493) ได้ศึกษาทฤษฎีการเมืองตามหลักการและแนวทางของพรรคฯ ซึ่งท่านเห็นพ้องและมีความเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว ประกอบกับความมุ่งมั่นบรรลุหน้าที่ ท่านจึงได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนในช่วงปลายปีนั้น

การเข้าพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน นับเป็นบาทก้าวชีวิตอันยิ่งใหญ่ที่ท่านได้สลัดทิ้งเชื้อสายเจ้าศักดินามารับใช้มวลชนผู้ถูกกดขี่อย่างเต็มตัว สื่อมวลชนตะวันตกจึงขนานนามให้ท่านว่า “เจ้าชายแดง” (The red prince) ต่อจากนี้ไปท่านมิได้เป็น “เสด็จเจ้าสุพานุวง” แต่จะเป็น “สหายสุพานุวง” หรือ “ท่านสุพานุวง” หรือ “ลุงสุพานุวง” ถึงแม้ว่าบางคนยังคงเรียกท่านว่าเจ้าสุพานุวงอยู่ก็ตาม

รัฐบาลลาวต่อต้านที่จัดตั้งขึ้นจากแนวร่วม “แนวลาวอิสระ” โดยมีท่านสุพานุวงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ได้ประกาศนโยบายสำคัญคือ ต่อสู้เพื่อโค่นล้มพวกล่าเมืองขึ้น สร้างประเทศลาวให้เป็นเอกราช ปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชาชนให้อยู่ดีกินดี ฯลฯ

ขณะที่ประธานโฮจิมินห์มอบหมายให้ นายพลหวอเหงียนย้าป เป็นแม่ทัพเข้าเปิดยุทธการ “เดียนเบียนฟู” ตั้งแต่กลางปี ค.ศ.1953 (2496) เป็นต้นมา การปิดล้อมกองทัพฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟูติดชายแดนลาวทางด้านพงสาลีนั้นกองทหารเวียดนามได้ร่วมมือกับกองกำลังลาวต่อต้าน พร้อมพลอาสาสมัครเวียดนามเข้าสนธิกำลังเปิดยุทธการปลดปล่อยแขวงหัวพันและพงสาลี ในวันที่ 8 เมษายน ค.ศ.1953 (2496) ภายได้การนำของสหายไกสอน, สหายสิงกะโป ขณะที่ท่านสุพานุวงดูแลรับผิดชอบในกองบัญชาการใหญ่

การปลดปล่อยแขวงหัวพันและแขวงสาลีได้รับความสำเร็จอย่างงดงาม ทำให้ฝ่ายรัฐบาลลาวต่อต้านและแนวลาวอิสระมีเขตปลดปล่อยของตนเองในปลายปีนั้น และนอกจากนี้ยังร่วมมือกับเวียดนามปิดล้อมสกัดกั้นทางหนีของฝรั่งเศสในสมรภูมิเดียนเบียนฟู ซึ่งต่อมาเวียดนามได้ชัยชนะเด็ดขาดในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1954 (2497)

พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ประกอบด้วยชาวคอมมิวนิสต์เวียดนาม, ลาว และเขมร ในการต่อสู้กับฝรั่งเศสศัตรูร่วม ต่อมาเพื่อความเหมาะสมสมัชชาของพรรคฯ มีมติให้แยกออกเป็นพรรคลัทธิมาร์กซ์-เลนินของแต่ละประเทศ เวียดนามตั้งชื่อว่า “พรรคลาวดง” (พรรคแรงงาน) แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม” จนกระทั่งทุกวันนี้

ชาวคอมมินิสต์ลาวได้จัดตั้ง “พรรคประชาชนลาว” ขึ้นในวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ.1953 (2496) สหายไกสอน พมวิหาน เป็นเลขาธิการพรรคฯ, สหายสุพานุวง, สหายหนูฮัก และผู้นำอีกบางท่านเป็นสมาชิกประจำแห่งกรมการเมือง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคประชาชนปฏิวัติลาว”

ส่วนเขมรนั้นไม่มีข้อมูลการจัดตั้งพรรคที่พอเชื่อถือได้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม พอลพต หรือ เอียงสารี แต่ดูแล้วค่อนข้างห่างเหินออกไปหลังจากที่ ซวนหงอกมินห์ ผู้นำคอมมิวนิสต์เขมรถูก เจ้าสีหนุ จัดการให้สูญหายไปจากโลก

แนวลาวอิสระเติบใหญ่ขยายตัวจนถึงปลายปี ค.ศ.1956 (2499) จึงได้รับชื่อใหม่ว่า “แนวลาวรักชาติ” กองกำลังติดอาวุธของลาวก็ใช้ชื่อว่า “กองกำลังปเทดลาว”

ท่านสุพานุวงในตำแหน่งประธานแนวลาวอิสระ และนายกรัฐมนตรีรัฐบาลลาวต่อต้าน กับสหายไกสอน พมวิหาน เลขาธิการพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ได้ร่วมทำงานต่อสู้กู้ชาติ

ชื่อเสียงของท่านสุพานุวงรู้จักกันทั่วไป เนื่องจากศึกท่าแขก ความรู้ความสามารถในการเจรจากับชาติตะวันตก ด้วยความรอบรู้เชี่ยวชาญทั้งภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษ ตอนที่เป็น ร.ม.ต.ว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยประกาศเอกราชยุคแรก อีกทั้งการถือกำเนิดจากเชื้อสายเจ้าชั้นสูงแห่งราชวงศ์ล้านช้าง

ส่วนเลขาธิการไกสอน พมวิหาน ชื่อเสียงของท่านยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เพียงแต่สหายแกนนำชาวเวียดนามแห่งพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนรู้ชัดในฝีไม้ลายมือ ดังนั้น การทำงานให้พรรคฯ ในตำแหน่งเลขาธิการพรรคจึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ด้วยการบริหารจัดตั้งเข้มแข็งมีประสิทธิภาพ วางแผนการเพิ่มพูนความรู้ทางทฤษฎีให้กับสมาชิก สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้พรรคประชาชนปฏิวัติลาวเติบใหญ่ขึ้น นั่นก็คือการร่วมงานของทั้งสองท่านก่อให้เกิดคุณูปการอันยิ่งใหญ่แก่ประเทศชาติและประชาชนลาว

อย่างไรก็ตาม ภายหลังประเทศได้รับการปลดปล่อย และท่านทั้งสองถึงอสัญกรรมไปแล้ว ได้มีลูกศิษย์ลูกหาและผู้แวดล้อมท่านไกสอนพยายามโฆษณาแถลงผลงานของท่านให้ดูประหนึ่งว่าท่านไกสอนเหนือกว่าท่านสุพานุวง ทำให้ชาวลาวคิดไม่ตกในเรื่องนี้ จนกระทั่งในปัจจุบัน ก็เป็นที่น่ายินดีว่า พรรคฯ และประชาชนลาวได้เชิดชูเกียรติท่านสุพานุวง และก็ต้องถือว่าท่านทั้งสองมีบทบาทสำคัญต่อประเทศชาติ ดำรงเกียรติยศสูงสุดไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

ครอบครัวของท่านไกสอนเกี่ยวดองกับตระกูล “หนุนภักดี” อันเป็นตระกูลในแวดวงการเมืองไทยมาสมัยหนึ่ง ซึ่งก็ต้องรวมทั้งตระกูล “คราประยูร” ด้วย กล่าวคือน้องสาวของท่านไกสอนชื่อ สวรรค์ทอง พมวิหาน แต่งงานกับ นายยุทธ หนุนภักดี ธรรมศาสตร์บัณฑิตและอดีตเสรีไทย ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ไต่เต้าจากนายอำเภอ ปลัดจังหวัดหนองคายและเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหลายแห่ง

 

ท่านหนูฮัก พูมสะหวัน, ท่านไกสอน พมวิหาน, เจ้าสุพานุวง, ท่านเจ้าสุก วงสัก และท่านพูมี วงวิจิด
ท่านหนูฮัก พูมสะหวัน, ท่านไกสอน
พมวิหาน, เจ้าสุพานุวง, ท่านเจ้าสุก วงสัก
และท่านพูมี วงวิจิด

 

ท่านไกสอน พมวิหาน หัวหน้ากองตะลุมบอนลาวเหนือ ค.ศ.1948
ท่านไกสอน พมวิหาน หัวหน้ากองตะลุมบอนลาวเหนือ ค.ศ.1948

 

ครั้งหนึ่งผู้นำระดับสูงของลาวได้กล่าวถึง พลเอกสุจินดา คราประยูร ไว้ว่า เป็นผู้ที่ทำให้ทั้งทหารไทยกับทหารลาวมีความเข้าใจกันอย่างดียิ่ง

สหายนำท่านอื่นๆ ได้ปรากฏเป็นที่รู้จักได้แก่ ท่านพูมี วงวิจิด ชาวพวน เชียงขวาง ผู้เป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้ปลดปล่อยประเทศ ประวัติของท่านมีความเป็นไปและเป็นมาน่าสนใจอยู่ไม่น้อย จากบันทึก “ในความทรงจำ” ของท่าน ตั้งแต่วัยเยาว์เรียนหนังสือเก่ง มีความรู้ทางภาษาฝรั่งเศสดีมากจนสอบได้เป็นล่ามและเข้าทำงานกับฝรั่งเศส กระทั่งเป็นเจ้าเมือง และเจ้าแขวงหัวพันผู้มีอายุน้อยที่สุดจนได้รับทินนาม “พญา”

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านได้เข้าร่วมขบวนการกู้ชาติ เมื่อฝรั่งเศสกลับเข้ามาท่านต้องหลบหลีกไปทำงานในไร่ยาสูบฝั่งไทย ที่อำเภอเชียงแสน ถูกดุด่าว่ากล่าวจากเจ้าของไร่ที่ใช้แรงงานท่านเยี่ยงทาส ท่านก็อดทน ไม่ปริปากหรือแสดงว่าตัวท่านเป็นใคร มาจากไหน ทั้งนี้เพื่อความยึดมั่นในความตั้งใจอันสูงส่ง อุทิศตนเพื่อกอบกู้ชาติ หลังจากรับการศึกษาทฤษฎีมาร์กซ์-เลนิน จนได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน เป็นการสละชนชั้นจากขุนนางศักดินามารับใช้ประชาชน

ท่านมีความรู้ความสามารถคับแก้ว มีความอ่อนน้อมถ่อมตนกับผู้คนได้ทุกผู้ทุกนาม โดยเฉพาะในวงการพุทธศาสนาลาว ท่านมีความเคารพนับถือพระเถระผู้ใหญ่จนได้รับความเอ็นดูจากพระสงฆ์องค์เจ้าเหล่านั้น หลังจากการสถาปนาประเทศท่านได้รับเลือกเป็นประธานประเทศต่อจากประธานสุพานุวง

ท่านสาลี วงคำซาว ผู้มีความสามารถในการจัดตั้งมวลชนพื้นฐานและบรรดาสหายแห่งแกนนำอีกหลายท่านก็เข้าร่วม

นอกจากนี้ก็มีผู้นำชนเผ่าที่มีชื่อเป็นที่รู้จักก็เข้าร่วมในแนวลาวอิสระเพราะเชื่อมั่นในตัวท่านสุพานุวงเป็นพิเศษ ได้แก่ ท่านไฟด่าง ลอเบลียยาว ผู้นำชาวม้งในเขตเชียงขวาง คนละพวกกับวังเปา หรือ นายพลวังเปา ที่เป็นหัวหน้าชนเผ่าม้งฝ่ายขวา ผู้อยู่ภายใต้การบงการของจักรวรรดินิยมอเมริกามาตลอด จนประสบความพ่ายแพ้ต้องอพยพไปอเมริกาและส่งลูกสมุนเข้ามาก่อกวนรัฐบาลลาวในปัจจุบัน ซึ่งกำลังก็ลดถอยลงไปจนหมดสิ้นอิทธิพลแล้ว ชนเผ่าม้งมีชีวิตอยู่บนภูเขาทางการจึงเรียกว่า “ลาวสูง”

ส่วนหัวหน้าชนเผ่าที่เป็น “ลาวเทิง” และเข้าร่วมกับท่านสุพานุวงคือ ท่านสีทน กมมะดำ มีเขตปฏิบัติการทางภาคใต้ของลาว บริเวณที่ราบสูงโบโลเวน ผู้ต่อสู้กับฝรั่งเศสมาตั้งแต่สมัยบิดามารดาปู่ย่าตายาย ที่ในสมัยนั้นเชื่อถือว่าเป็นผู้มีคาถาอาคม หนังเหนียว ยิงฟันไม่เข้า ท่านสีทนเป็นนักรบที่เด็ดเดี่ยว กิตติศัพท์ของท่านสร้างความหวาดกลัวในหมู่ศัตรู

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1950 (2493) เป็นต้นมา เมื่อฝ่ายกู้ชาติจัดตั้งพรรคนำอภิวัฒน์ คือ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว แนวลาวอิสระ ซึ่งใช้ชื่อใหม่ว่า แนวลาวรักชาติ อันเป็นองค์กรแนวร่วมของประชาชนอันกว้างใหญ่ กองกำลังปเทดลาวซึ่งเป็นกองกำลังสู้รบและขยายออกเป็นกองทัพประชาชนลาวองคประกอบดังกล่าวทำให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น บรรดาแกนนำหลายท่านที่ได้มาร่วมประชุมในเขตปลดปล่อย เมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน แล้วต่างแยกย้ายออกสู่ชนบทตามความสันทัดจัดเจนของตน เพื่อสร้างฐานที่มั่นและขยายเป็นเขตปลดปล่อยทั่วประเทศ จนทำให้แนวลาวรักชาติสามารถมีพื้นที่ฐานที่มั่นและเขตปลดปล่อยร่วมครึ่งหนึ่งของแผ่นดินลาว ทั่วดินแดนอินโดจีนต่อจากนั้นเป็นต้นมา ฝรั่งเศสพ่ายแพ้เกือบจะทุกสมรภูมิจึงพยายามเจรจาหย่าศึก แต่ก็เป็นเรื่องที่สายเกินไปแล้ว

ชัยชนะของเวียดนามต่อฝรั่งเศสในสมรภูมิเดียนเบียนฟูเมื่อกลางปีค.ศ.1954 (2497) ส่งผลให้การเจรจาที่เจนีวาบรรลุข้อตกลงหยุดยิง และเวียดนามยึดครองพื้นที่ตั้งแต่ทางเหนือของเส้นขนานที่ 17 ขึ้นไป แต่ที่เจนีวาไม่เพียงแต่เจรจาปัญหาเกี่ยวกับเวียดนามเท่านั้น ปัญหาของลาวและเขมรก็ได้หยิบยกขึ้นสู่การเจรจาด้วยเช่นกัน

ฝรั่งเศสยินยอมมอบเอกราชให้ลาว แต่ก็เป็นลาวฝ่ายที่รับใช้ฝรั่งเศสตั้งรัฐบาลที่เวียงจันทน์ โดยจักรวรรดินิยมอเมริกาเริ่มเข้ามามีบทบาทและแทรกแซงมากขึ้นทำให้การเจรจายืดเยื้อเป็นเวลาร่วม 3 ปี

กล่าวคือในวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1957 (2500) รัฐบาลผสมเพื่อความปรองดอง มีเจ้าสุวันนะพูมาเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีป้องกันประเทศ ท่านสุพานุวง เป็น ร.ม.ต. กระทรวงแผนการก่อสร้าง ท่านพูมี วงวิจิด เป็นรัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการและแถลงข่าว ท้าวกะต่าย ดอนสะโสลิด เป็นรัฐมนตรีกระทรวงภายใน และท่านผุย ชนะนิกอน (พี่ชายท่านอุ่น) เป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ได้จัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. ฐานที่มั่น, เขตปลดปล่อย, ใน, เรียนรู้ประวัติศาสตร์ลาวผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง, (กรุงเทพฯ: แม่คำผางการพิมพ์, 2553), น. 96-106

บทความที่เกี่ยวข้อง: