ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง: ศึกป้องกันเมืองท่าแขก

18
ธันวาคม
2564

หลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเมื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจากสายงานการข่าวและกองกำลังลาวอิสระ ทำให้ทราบอย่างแน่ชัดว่าฝรั่งเศสจะยกกำลังเข้าลาวโดยผ่านจากเวียดนามมาทางเส้นทางหมายเลข 9 เข้ายึดสะหวันนะเขต และมุ่งตีเมืองท่าแขก ปราการสุดท้ายก่อนยึดเวียงจันทน์

เจ้าสุพานุวง รีบรุดลงไปบัญชาการป้องกันเมืองท่าแขก นับเป็นการบัญชาการรบครั้งแรกของเจ้าชายวิศวกร-นายช่างการทาง ซึ่งสามารถหลับตาเห็นการรุกของฝ่ายข้าศึกได้ทะลุปรุโปร่งทุกเส้นทาง

ท่าแขก เป็นเมืองเอกของแขวงคำม่วน ตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงจังหวัดนครพนมฝั่งไทย ทางกายภาพแขวงคำม่วนใหญ่กว่าเขตปกครองระดับจังหวัดของประเทศไทยเล็กน้อย อาณาเขตทิศตะวันออกติดกับเวียดนามภาคกลาง ทิศเหนือติดกับแขวงบอลิคำไซ ทิศใต้ติดกับแขวงสะหวันนะเขต เส้นทางคมนาคมทางน้ำอาศัยแม่น้ำโขงเดินทางไปเวียงจันทน์ทางเหนือ และสะหวันนะเขตทางใต้ได้อย่างสะดวกสบาย ส่วนทางบกก็มีเส้นหลักหมายเลข 13 จากสะหวันนะเขตลัดเลาะตามแนวแม่น้ำโขงผ่านท่าแขกแล้วมุ่งเหนือไปเวียงจันทน์ ส่วนเส้นทางจากด้านตะวันออกคือเส้นทางหมายเลข 8,12 และ 9 เชื่อมต่อกับเส้นทางหมายเลข 13 เข้าสู่ท่าแขกได้เช่นกัน เมืองท่าแขกจึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดที่ฝรั่งเศสต้องยึดให้ได้

 

บัญชาการสู้รบ
บัญชาการสู้รบ

 

สำหรับกองกำลังป้องกันท่าแขกมีการรวบรวมประสานงานกันคือ

1. ท่านสิงกะโป สีโคดจุนละมาลี อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมท่าแขก ชื่อของท่านไม่เหมือนชาวลาว ทำให้คนทั่วไปหรือนักการทหารตะวันตกเข้าใจว่าเป็นนายทหารต่างชาติมาช่วยรบ แต่ข้อเท็จจริงจากปากคำของท่านเองเล่าว่า คุณตาต่อสู้กับนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสจนต้องหลีกลี้หนีภัยไปยังเกาะสิงค์โปร์ ครั้นสงบลงได้กลับท่าแขกพอดีกับหลานตาเกิด ท่านจึงตั้งชื่อให้ว่า “สิงกะโป” เป็นอนุสรณ์ชีวิตช่วงต่อสู้กับนักล่าอาณานิคม

เจ้าสุพานุวงอาวุโสกว่าท่านสิงกะโป 3 ปีเศษ ดังนั้น ในการพบกันครั้งแรกที่ท่าแขก ท่านสิงกะโปจึงขอเป็น “น้องฮัก” ตามธรรมเนียมประเพณีก็ถือได้ว่าเป็นน้องแท้ๆ ที่ใกล้ชิดมาก ท่านสิงกะโปนับถือและเชื่อมั่นเจ้าสุพานุวงว่าจะนำพากู้ชาติบ้านเมืองได้สำเร็จ “อ้าย” กับ “น้องฮัก” สองท่านนี้สู้รบร่วมกันอย่างโชกโชนจวบจนบรรลุชัยชนะ

ในฐานะครูและผู้อำนวยการโรงเรียนผู้ชื่นชอบกีฬามวย ทำให้ท่านสิงกะโปรวบรวมคนหนุ่มเมืองท่าแขกจัดตั้งกองกำลังลาวอิสระได้หลายร้อยคน ทันทีที่สงครามสงบท่านก็รีบเจรจากับทหารญี่ปุ่นที่รอคอยการปลดอาวุธจากฝ่ายสัมพันธมิตร ชี้แจงให้เห็นถึงการกิจกู้ชาติของลาวและชักชวนขอความร่วมมือไม่ให้ขัดขวางการเคลื่อนไหวของลาวอิสระ พร้อมทั้งขอรับอาวุธส่วนหนึ่งจากทหารญี่ปุ่น การเจรจาได้รับผลสำเร็จด้วยดีทำให้กองกำลังลาวอิสระมีอาวุธทรงประสิทธิภาพ เพิ่มกำลังใจและความฮึกเหิมในการต่อสู้

ประวัติชีวิตของ ท่านสิงกะโป หรือ นายพลสิงกะโป เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจศึกษา วีรบุรุษท่านนี้ร่วมกอบกู้เอกราชชาติลาวเคียงคู่อยู่กับเจ้าสุพานุวง สุพจน์ ด่านตระกูล ได้เรียบเรียงขึ้นในหนังสือชื่อว่า นายพลสิงกะโปกับการอภิวัฒน์ในประวัติศาสตร์ลาวฯ”

2. กองกำลังอาสาสมัครเวียดนามโพ้นทะเล เนื่องจากทั้งเมืองท่าแขกและจังหวัดนครพนม มีชาวเวียดนามอาศัยอยู่จำนวนไม่น้อย ส่วนใหญ่ต่อสู้กับฝรั่งเศสในประเทศตนจนต้องอพยพหลบหนีการปราบปรามของเจ้าอาณานิคมมาตั้งรกรากอยู่ในเขตนี้ แม้กระทั่งประธานโฮจิมินห์ก็เคยมาเคลื่อนไหวที่บ้านนาจอก จังหวัคนครพนม ในราวปี ดังนั้น เมื่อมีการจัดตั้งขบวนการเวียดมินห์ขึ้นในปี ค.ศ. 1941 อันเป็นองค์กร แนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนในการต่อสู้กับฝรั่งเศส องค์กรนี้จึงขยายงานมายังท่าแขกและนครพนม

ผู้บัญชาการกองอาสาสมัครเวียดนามคือ ท่านเหงียนแจ้ง ผู้มากด้วยประสบการณ์ในการสู้รบมาแล้วจากเวียดนาม บุคคลนี้ร่วมรบกับกองกำลังลาวอิสระที่ต่อมาพัฒนาเป็นขบวนการปเทดลาวและกองประชาชนลาว จนได้รับยศพลโทแห่งกองทัพประชาชนเวียดนาม ต่อมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงป้องกันประเทศ มีบทบาทสร้างสัมพันธ์อันดีกับผู้นำแห่งพรรคประชาชนปฏิวัติลาว

กองกำลังอาสาสมัครเวียดนามยังได้รับการสมทบจากพี่น้องเวียดนามที่ถูกจับกุมในประเทศไทย ต่อมาได้รับการปล่อยตัวจากคุกบางขวางก่อนสงครามจะสิ้นสุดลงเพียงเล็กน้อย ชาวเวียดนามกลุ่มนี้ยังชักชวนหนุ่ม “ดึ๊ก” “บ่าวนา” จากบ้านป่ามะคาบ จังหวัดพิจิตร ที่อยู่ในสายจัดตั้งของเวียดนาม แต่ชีวิตระหกระเหินต้องเดินทางแสวงโชคในเมืองบางกอก โดยพักอาศัยอยู่วัดญวน “โลกานุเคราะห์” รับจ้างผลิตตะปู ให้กับกองทัพญี่ปุ่นได้รับค่าแรงวันละไม่กี่บาท ให้เข้าร่วมเส้นทางและก็เป็นเส้นทางอภิวัฒน์อันสดใสของหนุ่มผู้นี้ด้วย

“ดึ๊ก” ผ่านการฝึกอาวุธเป็นพลพรรคเสรีไทยแห่งค่ายภูพาน จังหวัดสกลนคร ของ นายเตียง ศิริขันธ์ มีหน้าที่สำคัญในการสู้รบป้องกันเมืองท่าแขก ทำหน้าที่ประสานงานเป็นล่ามให้กองกำลังอาสาสมัครเวียดนามและหน่วยกำลังลาวอิสระ จากนั้นกรำศึกทั่วทุกสมรภูมิในแผ่นดินลาว ทั้งสงครามต่อต้านเจ้าอาณานิคม, ต่อต้านจักรวรรดินิยมและลูกสมุนลาวฝ่ายขวา ท่านได้รับแต่งตั้งให้รับผิดชอบงานบริหารด้านต่างๆ มาโดยลำดับ

จนกระทั่งทุกวันนี้ยังดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดคนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

3. นายเตียง ศิริขันธ์ หัวหน้าพลพรรคเสรีไทยสายอีสาน มีส่วนร่วมสนับสนุนการต่อสู้กู้เอกราชของลาว ซึ่งในบรรดาพลพรรคที่เข้าฝึก อาวุธมีชาวลาวเข้าร่วมด้วย บางคนเรียกขานว่า “เสรีลาว”

นายเตียงมอบหมายให้นายจำลอง ดูแลประสานงานกับท่านสิงกะโปในการสู้รบที่ท่าแขก ทั้งนี้เพราะในสมัยที่ยังหนุ่มแน่นบุคคลทั้งสองตระเวนต่อยมวย ทั้งในลาวและภาคอีสานของไทยจนกระทั่งได้ “ผูกเสี่ยว” เป็นเพื่อนฮักมิตรแท้กัน

 

ภาพจิตรกรรมเจ้าสุพานุวงถูกฝูงบินสปิตไฟร์กราดยิงกลางแม่น้ำโขง
ภาพจิตรกรรมเจ้าสุพานุวงถูกฝูงบินสปิตไฟร์กราดยิงกลางแม่น้ำโขง

 

เมื่อประเทศลาวปลดปล่อย นายพลสิงกะโปรับตำแหน่งรัฐมนตรี ในรัฐบาลชุดแรกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ท่านถามหาครอบครัวของคุณจำลองผู้ถูกพวกเผด็จการสังหารในปี ค.ศ.1949 (2492) ว่า บรรดาลูกๆ คุณจำลองอยู่ที่ใดบ้าง เดือดร้อนประการใดหรือไม่ ซึ่งนี่ก็คือความหมายของการเป็นเสี่ยว

นายเตียงยังมอบหมายให้น้องชายคือ เรืออากาศโท พีระ ศิริขันธ์ ผู้จบจาก ร.ร.นายร้อย จปร. รุ่นเดียวกับ พลตำรวจเอก ศรีศุข มหินทรเทพ อดีตอธิบดีตำรวจ เข้าช่วยในด้านการรบด้วย ส่วนแกนนำเสรีไทยท่านอื่นๆ ได้แก่ นายทองอินทร์, นายถวิล ก็ร่วมกันและแบ่งงานสนับสนุนลดหลั่นกันไป อาทิเช่น พันตรีสีห์พนม อดีตนายทหารกองทัพบก ชาวจังหวัดร้อยเอ็ด ดูแลรับผิดชอบเขตชายแดนติดต่อฝั่งโขง เป็นต้น

เห็นได้ว่าการประสานงานของกองกำลังป้องกันท่าแขกเป็นไปอย่างพร้อมเพรียง ขวัญและกำลังใจดีเยี่ยม ยิ่งได้ผู้บัญชาการทหารคือเจ้าสุพานุวงมาบัญชาการอย่างใกล้ชิด แม้เป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงแต่ก็มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ได้รับความยอมรับนับถือและเชื่อมั่นอย่างสูง กระทั่ง เจ้าเวียงคำ ชายาของท่านกำลังตั้งครรภ์บุตรคนที่ 6 คือ เจ้าเทิดเกียรติ ก็เข้าประกอบส่วนเตรียมการ สู้รบพร้อมกับ นางเกิดมี ภรรยาท่านสิงกะโป

ทั้งสองช่วยกันอำนวยการหน่วยยุวนารี ปฏิบัติภารกิจด้านเสบียงอาหาร รักษาพยาบาลวัฒนธรรม-บำรุงขวัญนักรบ ลำเลียงกระสุน และ ช่วยด้านการสื่อสาร

กองกำลังกู้ชาติเคยผ่านแต่การสู้รบแบบจรยุทธ์ขาดประสบการณ์สู้รบเต็มรูปแบบ มีอาวุธหลงเหลือจากญี่ปุ่นบ้าง อาวุธจากเสรีไทยบ้างก็เป็นส่วนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับฝ่ายตรงข้าม จึงกล่าวได้ว่าเพราะขวัญและกำลังใจในสงครามที่เป็นธรรมเท่านั้นที่สามารถต่อกรกับศัตรูได้

หลังจากจัดตั้งกองกำลังป้องกันท่าแขกขึ้นแล้ว คณะกองบัญชาการได้ปรึกษาหารือกัน และวางแผนงานออกเป็นสองขั้นตอน คือ รุกและรับ

การรุก คือ ใช้กำลังประกอบอาวุธโจมตีศัตรูในเขตรอบนอก เพื่อทำให้ศัตรูอ่อนตัวและระส่ำระส่าย ในขณะเดียวกันส่งเสริมขวัญและกำลังใจให้กับนักรบและประชาชนเมืองท่าแขก

ส่วน การรับ หมายถึงการเตรียมการทางยุทธวิธี มีการขุดสนามเพลาะ 3 วงแหวน เชื่อมต่อกันทั้งใจกลางเมืองและรอบเมือง มีการตั้งบังเกอร์และแบ่งพื้นที่กันรับผิดชอบระหว่างท่านสิงกะโปกับท่านเหงียนแจ้ง การขุดสนามเพลาะ 3 วงแหวนได้ระดมกันทำทั้งกลางวันและกลางคืน ใช้เวลาถึง 45 วัน 45 คืนจึงแล้วเสร็จ

ในขั้นตอนรุกในทางการทหารนั้น ปรากฏว่าท่านสุพานุวงท่านสิงกะโป และเหงียนแจ้ง ได้นำกองทหารผสมลาว-เวียด ออกรบกับข้าศึกตามจุดนอกเมืองหลายครั้ง ทั้งการรบใหญ่และรบย่อย

 

สหายเลถังวรุย (คนหน้า) ผู้ใช้ร่างของตัวบังคมกระสุนปืนให้แก่เจ้าสุพานุวง
สหายเลถังวรุย (คนหน้า) ผู้ใช้ร่างของตัวบังคมกระสุนปืนให้แก่เจ้าสุพานุวง

 

จากการรบกับข้าศึกหลายครั้งได้แสดงให้ประจักษ์ว่า เจ้าสุพานุวงไม่ใช่ปัญญาชนที่เปรื่องปราดในวิชาการเท่านั้น หากยังเป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถเช่นเดียวกับบรรพบุรุษของท่าน สมกับคำลาวที่พูดกันว่า “อันว่าแนวหมากไม้ หากหล่นบ่ไกกกดอก” หรือ “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” ตามคำพังเพยของไทย

โดยการชี้นำของพรรคฯ เจ้าสุพานุวงประธานกองบัญชาการได้เรียกประชุมคณะกรรมการป้องกันตัวเมืองท่าแขก และชี้แจงสถานการณ์ทางการทหารของฝรั่งเศสที่ได้บุกเข้ายึดเมืองสะหวันนะเขต และกำลังเตรียมเข้ายึดเมืองท่าแขก เพื่อคณะกรรมการรับทราบและตัดสินใจ ท่านกล่าวว่า

เมื่อเทียบกำลังของฝรั่งเศสที่นอกจากได้รับความสนับสนุนจากทหารจีนเจียงไคเช็คและทหารอังกฤษแล้ว ยังได้รับกำลังเพิ่มเติมมาจากไซ่ง่อนที่ยังสดอยู่และมีอาวุธยุทธภัณฑ์ที่เหนือกว่า ทางเลือกของกองกำลังรักชาติท่าแขกมีอยู่ 2 ทาง คือยอมจำนนต่อกองกำลังของศัตรูที่เหนือกว่า หรือสู้เพื่อเกียรติยศและศักดิ์ศรีของคนลาว สู้อย่างที่บรรพบุรุษต่อสู้มาแล้วและพ่ายแพ้มาแล้ว และก็ถูกขึ้นต่อสู้ใหม่จนกว่าได้ชัยชนะ

ต่อคำปรึกษาหารือเพื่อชี้ชะตากรรมเมืองท่าแขกที่เสนอโดยเจ้าสุพานุวง ท่านสิงกะโป หัวหน้ากองกำลังรักชาติเมืองท่าแขก ได้ลุกขึ้นตอบในทันทีด้วยน้ำเสียงเด็ดเดี่ยวและเข้มแข็งว่า

“เราจะขอสู้จนเลือดหยาดหยดสุดท้าย”

และไม่ทันที่ท่านสิงกะโปจะพูดประโยคต่อไป เสียงคำว่า สู้ สู้ สู้ ได้ดังกระหึ่มไปทั่วห้องประชุม

ที่นี้ หันกลับมาดูฝ่ายเจ้าอาณานิคมบ้าง ฝรั่งเศสได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษในฐานะเจ้าอาณานิคมด้วยกัน เพราะฝรั่งเศสบอบช้ำมากจากผลพวงของสงครามจึงยอมถอนอิทธิพลของตนจากตะวันออกกลาง อันได้แก่ ซีเรีย, เลบานอน ในขณะที่อังกฤษจะครอบครองอินโดจีนอีก ซึ่งตามข้อตกลงฝ่ายสัมพันธมิตรให้ทหารอังกฤษเข้าปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในอินโดจีนทางใต้ของเส้นขนานที่ 16 ลงมา ด้วยเหตุนี้ทำให้ฝรั่งเศสสามารถเข้ายึดไซ่ง่อนได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว พร้อมๆ กับกองกำลังเวียดมินห์ถอนตัวออกจากตัวเมืองใหญ่เข้าสู่ฐานที่มั่นในชนบท

ฝรั่งเศสทำศึกขับเคี่ยวกับเวียดนามไม่ได้ผลมากนัก ครั้นเมื่อลาวประกาศเอกราชขึ้นมาอีก ฝรั่งเศสเห็นว่าปล่อยไว้ไม่ได้แล้ว ประกอบกับมีทัศนะว่าลาวหัวอ่อน จึงต้องรีบเผด็จศึกก่อนที่ทั้งสามชาติในอินโดจีนจะผนึกกำลังเข้มแข็งยิ่งขึ้น

เมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดค่ายทหารที่เซโนพร้อมทั้งสนามบินทหารแล้ว อังกฤษได้ส่งเครื่องบินขับไล่สปิตไฟร์ (Spitfire) หนึ่งฝูง 4 ลำมาช่วยรบ

เครื่องบินขับไล่สปิตไฟร์นี้มีเกียรติประวัติในสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะเป็นเครื่องบินขับไล่ที่มีประสิทธิภาพสูงมากในสมัยนั้น สามารถยิงเครื่องบินขับไล่ชั้นยอด เมสเซอร์ชมิตต์ (Messerschmitt) ของเยอรมนีตกในการโรมรันพันตูเหนือน่านฟ้าเกาะอังกฤษจำนวนมาก จนเป็นที่มาของชื่อ “การต่อสู้เหนือเกาะอังกฤษ” (The Battle of Britain) จนกระทั่ง เซอร์วินสตัน เชอรชิลล์ นายกอังกฤษได้กล่าวยกย่องนักบินสปีตไฟร์ว่า เราเป็นหนี้บุญคุณคนจำนวนหยิบมือนื้อย่างมหาศาล ฉะนั้น หากจะวิเคราะห์เครื่องบินสปิตไฟร์และนักบินที่เข้ามาปฏิบัติการในลาวนั้นเป็นฝรั่งเศสหรืออังกฤษ พิจารณาแล้วไม่น่าจะเป็นฝรั่งเศส

บทบาทของสปิตไฟร์ในสมรภูมิท่าแขก มีนัยยะทางประวัติศาสตร์อย่างใหญ่หลวง ทำให้นึกไปถึงอดีตนายกเชอรชิลล์ ที่แท้แล้วเป็นตัวแทนของพวกล่าอาณานิคมที่ใครคนหนึ่งในบ้านเรายกย่องเสียเต็มประดา ทั้งๆ ภายหลังสงคราม อังกฤษภายใต้อิทธิพลของเชอร์ชิลล์บีบเมืองไทยเสียจนแทบจะต้องตกเป็นเมืองขึ้น

กองกำลังทหารฝรั่งเศสที่เข้าตีท่าแขกมี 3 กองพัน ประกอบด้วยนายทหารสัญญาบัตร ทหารชั้นประทวน พลทหารที่กะเกณฑ์มาจากแอฟริกาและแอลจีเรีย รวมทั้งทหารฝรั่งเศสที่หลบหนีจากการจับกุมของทหารญี่ปุ่น และทหารลาวที่ถูกเกณฑ์มา

ฝรั่งเศสมีอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยเพียบพร้อม นอกเหนือจากเครื่องบินแล้วยังมียานยนต์หุ้มเกราะ อาวุธประจำกายทหารราบครบเครื่อง ทั้งยังปรามาสว่าการรบกับลาวอิสระเป็นเรื่องไม่ยากเย็น แต่บทพิสูจน์แห่งสมรภูมิท่าแขกจะเป็นเรื่องที่ฝรั่งเศสจักต้องจารจารึกไปอีกนาน

15 มีนาคม ค.ศ. 1946 (2489) ฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองสะหวันนะเขต หลังสัประยุทธ์กับกองกำลังผสมลาว-เวียด ฝ่ายหลังถอนกำลังข้ามมาฝั่งไทยที่มุกดาหารและอีกส่วนหนึ่งไปตั้งฐานที่มั่นจรยุทธ์ในเขตเซโปน, ลาวบาว ติดพรมแดนเวียดนาม

16 - 20 มีนาคม กองทหารฝรั่งเศสเคลื่อนกำลังจากทิศใต้ ทิศตะวันออกและทิศเหนือเพื่อปิดล้อมเมืองท่าแขก ทำให้ท่าแขกเหลือทางออกอยู่ด้านเดียวคือทิศตะวันตกติดแม่น้ำโขง มีจังหวัดนครพนมทางฝั่งไทยอยู่ตรงข้าม

กองกำลังผสมป้องกันเมืองท่าแขกมีเจ้าสุพานุวงเป็นผู้บัญชาการ พร้อมด้วยท่านสิงกะโปและท่านเหงียนแจ้ง รองผู้บัญชาการ ได้ต่อสู้กับทหารฝรั่งเศสอย่างกล้าหาญ ทำการผลักดันให้ข้าศึกต้องถอยร่นจากเขตเมืองได้หลายครั้ง

ฝ่ายข้าศึกไม่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนเลยว่า ต้องประสบกับการต่อต้านที่ดุเดือดเช่นนี้ ทั้งๆ ที่นักรบกู้ชาติอ่อนด้อยประสบการณ์ ยุทโธปกรณ์ขาคแคลน ไม่ทันสมัย มีเพียงกำลังใจอันสูงส่งที่มุ่งมาดในการต่อสู้กู้ชาติเท่านั้นที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้

กระนั้นก็ตามการโจมตีเผด็จศึกของฝรั่งเศสก็กำลังจะเริ่มขึ้นเพื่อยึดท่าแขกให้ได้ ทางคณะกรรมการป้องกันท่าแขกจึงติดต่อกับข้าหลวงประจำจังหวัดนครพนม เพื่อขออพยพผู้หญิง คนชราและเด็กให้เข้าไปลี้ภัยชั่วคราว ซึ่งได้รับการตอบสนองด้วยดี

21 มีนาคม ย่ำรุ่ง 06.00 น. เครื่องบินตรวจการจากฐานเซโนบินโฉบต่ำเข้ามาบริเวณเมืองท่าแขก พร้อมทิ้งใบปลิวคำสั่งผู้บัญชาการทหารฝรั่งเศสให้ฝ่ายต่อต้านยอมจำนนเสียโดยดี และมอบอาวุธยุทธภัณฑ์ให้กองทหารฝรั่งเศส รวมทั้งเปิดทางให้เข้าครอบครองและดำเนินการปกครอง หาไม่แล้วต้องถูกโจมตีปราบปรามจนสิ้นซาก นักรบฝ่ายต่อต้านเก็บใบปลิวไปมอบให้เจ้าสุพานุวง ท่านคาดการณ์ไว้แล้วว่าฝรั่งเศสจะต้องมาในรูปนี้จึงไม่ได้เอาใจใส่ต่อคำขู่ กลับออกคำสั่งให้รองผู้บัญชาการทั้งสองท่านและผู้บังคับหน่วยต่างๆ พร้อมรับเต็มอัตราศึก ทั้งมีคำสั่งให้หน่วยสอดแนมแนวหน้าติดตามการเคลื่อนไหวของข้าศึกอย่าง ใกล้ชิด

07.00 น. โดยไม่รอการตอบสนองคำขู่ในใบปลิว ทหารฝรั่งเศสเปิดฉากบุกโจมตีทันที ฝูงบินสปิตไฟร์ระลอกแรกทิ้งระเบิด 2 ลูกลงบริเวณตลาดเช้าขณะชาวบ้านกำลังจับจ่ายข้าวของ พร้อมทั้งยิงปืนกลใส่ผู้คนอย่างเมามัน มีชาวบ้านบาดเจ็บล้มตายจำนวนหนึ่ง ตามติดด้วยหน่วยปืนใหญ่ยิงถล่มเข้ามาในตัวเมือง แล้วยานยนต์หุ้มเกราะนำหน้าทหารราบตีฝ่าแนวป้องกันฝ่ายกู้ชาติ

 

เครื่องบินสปิตไฟร์
เครื่องบินสปิตไฟร์

 

ทหารแนวลาวรักชาติในสนามเพลาะกลางสมรภูมิรบ
ทหารแนวลาวรักชาติในสนามเพลาะกลางสมรภูมิรบ

 

12.00 น. การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด ฝูงบินสปิตไฟร์กลับมาอีกเป็นเที่ยวที่ 3 บริเวณคุ้มหวอบัวบาน ห้องแถว 8 ห้องพังพินาศ หมอกควันมืดคลุ้ง เสียงหมูหมาเป็ดไก่ตื่นตระหนก หลายตัวแหลกกระจุยกระจายด้วยฤทธิ์ระเบิด ผู้คนก็ล้มตายในสภาพอเนจอนาถ ฝรั่งเศสยังไม่สามารถตีหักเข้ายึดเมืองได้

13.00 น. ฝรั่งเศสเสริมกำลังเข้าเพิ่มเติมจากกองบัญชาการสนามที่ตั้งอยู่เมืองมะหาไซ บุกโจมตีต่อเนื่องด้วยกำลังพลและกำลังยิงที่เหนือกว่าฝ่ายต่อต้านมากมาย ทำให้กำลังผสมลาว-เวียด อ่อนกำลังลง แนวต้านบางแห่งต้องถอยร่นโดยเฉพาะทางด้านเหนือ ทั้งนี้เพราะวางกำลังส่วนใหญ่ไว้ทางใต้ที่คาคว่าข้าศึกจะบุกเข้ามา

14.00 น. สถานการณ์เลวร้ายลงตามลำดับ กองกำลังของท่านสิงกะโปและท่านเหงียนแจ้ง ถูกตัดขาดจากกองบัญชาการของเจ้าสุพานุวงและถูกปิดล้อมโดยข้าศึก ทำให้ฝ่ายเสนาธิการของเจ้าสุพานุวงเสนอให้ท่านถอนตัวข้ามไปฝั่งไทย แต่เจ้าสุพานุวงปฏิเสธเพราะต้องการประเมินสถานการณ์และหน่วงเหนี่ยวข้าศึกที่กำลังปิดล้อมสองรองแม่ทัพอยู่ ในฐานะแม่ทัพท่านพร้อมจะสู้ตายร่วมกับนักรบทั้งหลาย

15.00 น. เจ้าสุพานวงได้รับรายงานเพิ่มเติมว่าทั้งท่านสิงกะโปและท่านเหงียนแจ้ง สามารถตีฝ่าวงล้อมข้าศึก และลงเรือข้ามแม่น้ำโขงสู่ฝั่งไทยได้อย่างปลอดภัย

16.00 น. ทหารฝรั่งเศสหมู่หนึ่งเล็ดลอดเข้ามาถึงโรงเรียนประถมใกล้ใจกลางเมืองท่าเแขก นักรบอภิวัฒน์ที่ประจำอยู่ในสนามเพลาะได้ทยานเข้าใส่ถึงขั้นตะลุมบอน และสังหารศัตรูได้หมดทั้งหมู่ แต่ถึงจะมีจิตใจรักชาติ กล้าหาญ เสียสละ ก็ไม่อาจฝืนความจริงที่ว่า น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ หรือที่คนลาวพูดว่า “เหล็กเหลือถ่าน” ไปได้ และประเทศชาติยังต้องการคนรักชาติ คนกล้าหาญ คนเสียสละ เพื่ออนาคตของประเทศชาติที่จะยังอยู่ต่อไปอีกแสนนาน ท่านสิงกะโปจึงสั่งความให้เจ้าสุพานุวงข้ามโขงก่อนศัตรูจะเข้าประชิดตัว โดยย้ำว่า “รักษาชีวิตไว้ในวันนี้ เพื่อรับใช้ชาติในวันหน้า”

ทหารฝรั่งเศสที่บุกถึงริมฝั่งโขง ได้ยิงปืนกราดใส่ผู้คนที่ยังค้างอยู่ล้มตายเป็นจำนวนมาก แล้วบังคับประชาชนที่รอดจากลูกกระสุนลากศพผู้เคราะห์ร้ายทิ้งลงแม่น้ำโขง ความโหดร้ายของฝรั่งเศสคงคำเนินต่อไป เมื่อประชาชนลากขนศพทิ้งหมดแล้วถูกบังคับให้ลงไปล้างตัวที่แม่น้ำโขง ขณะที่พวกเขากำลังล้างตัว พวกเศษมนุษย์ทหารฝรั่งเศสบนฝั่งก็กราดปืนใส่จนร่างจมน้ำหายไปพร้อมกับซากศพที่พวกเขาลากมาทิ้ง

เมื่อไม่สามารถรักษาท่าแขกได้แล้ว เจ้าสุพานุวงตัดสินใจลงเรือยนต์ที่คอยรับอยู่ เรือยนต์ประเภทนี้เป็นเครื่องเผาหัวที่เคยมีใช้ในบ้านเรา ก่อนจะมีการประดิษฐ์เรือหางยาวขึ้นในปัจจุบัน การเผาหัวให้เครื่องยนต์ติดต้องใช้เวลาพอสมควร ทันทีที่เรือเบนหัวออกจากฝั่ง ฝูงบินสปิตไฟร์จำนวน 4 ลำก็ผงาดอยู่บนท้องฟ้า มันปักหัวโจมตีด้วยการกราดปืนกลขนาด 20 ม.ม. ไปยังเรือของเจ้าสุพานุวง เครื่องยนต์ถูกทำลายดับสนิท เรือลอยเท้งเต้งกลายเป็นเป้านิ่งกลางลำน้ำโขง กระสุนปืนกลนัดหนึ่งพุ่งตัดตรงกลางหลังทหารพิทักษ์ที่โถมตัวเป็นเกราะทับร่างท่านสุพานุวงไว้ แล้วลูกกระสุนนัดนั้นยังพุ่งผ่านร่างท่านออกทางอกเบื้องซ้าย โลหิตไหลนอง ทหารพิทักษ์เสียสละชีวิตทันที ท่านสุพานุวงสลบพับไป เครื่องบินยังโฉบโจมตีระลอกแล้วระลอกเล่า

บัดนี้เท่ากับว่าเครื่องบินสปิตไฟร์ของอังกฤษ นักบินจะสัญชาติอังกฤษหรือฝรั่งเศสก็ได้สร้าง “วีรเวร” ในการเข่นฆ่าประชาชนขึ้นแล้ว อันตรงกันข้ามกับ “วีรกรรม” ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เคยสร้างไว้

กระสุนที่ผ่านร่างท่านสุพานุวงนั้นถ้าสูงเฉียงขึ้นไปไม่เกินสองนิ้วก็จะตัดขั้วหัวใจทันที เหมือนปาฏิหาริย์กระสุนทะลุออกไปโดยไม่กระทบอวัยวะสำคัญในร่างกาย เพียงแต่เสียโลหิตจำนวนมาก ขณะเรือยนต์มีสภาพเหมือนท่อนซุงลอยลำไปตามกระแสน้ำ ท่านสิงกะโปผู้อยู่ฝั่งนครพนมแล้ว ได้รวบรวมพลพรรคพร้อมเรือเล็กหลายลำออกไปช่วยลากจูงเข้าฝั่งไทย และก็ช่วยกันแบกท่านส่งโรงพยาบาลประจำจังหวัด

ข้าหลวงประจำจังหวัดนครพนมคือ นายถวิล สุนทรศารทูล ผู้เป็นแกนนำเสรีไทย สั่งการให้แพทย์เร่งดูแลรักษาบาดแผลอย่างเต็มที่ และรายงานด่วนเข้ากระทรวงมหาดไทย ทางกระทรวงที่มีรัฐมนตรีเป็นเสรีไทยสั่งกำชับไปยังข้าหลวงให้ดูแลรักษาอย่างดีที่สุด

นายถวิล ข้าหลวงฯ ผู้สนับสนุนการต่อสู้กู้ชาติลาว และในฐานะที่เป็นนักปกครองที่มีคุณธรรมสูงจึงได้รับการเคารพรักใคร่จากชาวไทย ชาวลาวและชาวเวียดนามผู้หนีร้อนมาพึ่งเย็น แต่ทางฝรั่งเศสไม่พอใจถึงกับประท้วงไปยังรัฐบาลไทยหลายครั้ง

 

อดีตคณะผู้บัญชาการป้องกันเมืองท่าแขก (จากขวาไปซ้าย) ท่านสิงกะโป ท่านสุพานุวง และท่านเหงียนแจ้ง
อดีตคณะผู้บัญชาการป้องกันเมืองท่าแขก (จากขวาไปซ้าย) ท่านสิงกะโป ท่านสุพานุวง และท่านเหงียนแจ้ง

 

ภายหลังประเทศได้รับการปลดปล่อย ท่านสีชนะ สีสาน กรรมการกลางแห่งพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ได้เรียนถามประธานสุพานุวงถึงบาดแผลจากกระสุนปืนเมื่อหลายสิบปีที่แล้วว่า ท่านรู้สึกนึกคิดอย่างไรกับแผลเป็นที่อยู่กับร่างท่าน และก็ได้รับคำตอบว่า “ประการที่หนึ่ง แผลเป็นทำให้เราภาคภูมิเกียรติที่ได้มีส่วนร่วมอันน้อยนิดของตนที่เข้าร่วมในการกู้ชาติ ประการที่สอง มันได้สะกิดใจเราอยู่เสมอว่าตัวเองต้องไปนำพาการอภิวัฒน์จนถึงที่สุด”

การรักษาตัวอยู่จังหวัดนครพนมของเจ้าสุพานุวงนั้น เนื่องจากบาดเจ็บสาหัส เวชภัณฑ์ต่างๆ ขาดแคลน เพราะสงครามโลกเสร็จสิ้นลงไปไม่นาน ดังนั้น พออาการเริ่มดีขึ้นเล็กน้อยจึงต้องเดินทางเข้ารักษาตัวในบางกอก

ก่อนที่ท่านจะออกจากโรงพยาบาลนครพนม ท่านสิงกะโปพร้อมด้วยท่านเหงียนแจ้งและท่านเหวียนตือกูยได้เข้าพบ เพื่อรับทราบความคิดเห็นและแนวทางในการต่อสู้ต่อไป เจ้าสุพานุวงพูดกับผู้เข้าพบว่า “ภาระหน้าที่อันรีบด่วนและสำคัญของพวกเราเวลานี้คือ รวบรวมกำลังอภิวัฒน์ให้เป็นกลุ่มก้อน แต่แยกย้ายกันอยู่เป็นกลุ่มย่อย อย่าไปรวมกันอยู่ในที่แห่งเดียวเป็นกลุ่มใหญ่ เพราะเวลานี้พวกเราอยู่บนผืนแผ่นดินไทยเพื่ออาศัยชั่วคราว และต้องให้การศึกษาอบรมจิตใจรักชาติ รักเอกราช เพื่อสืบทอดการเคลื่อนไหวต่อสู้”

นายพลสิงกะโปพูดในเวลาต่อมาว่า “คำเว้าของสหายสุพานุวงครั้งนั้นยังจำได้จนบัดนี้ และเอาอย่างตามคำเว้าของเพิ่น ประเทศชาติจึงได้เอกราช ประชาชนได้ประชาธิปไตย”

อนึ่ง ขณะที่อยู่โรงพยาบาลนครพนมก็ได้มีผู้เข้าเยี่ยมให้กำลังใจอยู่ตลอด เจ้าเวียงคำชายาได้เฝ้าพยาบาลอย่างใกล้ชิด, นายถวิล ข้าหลวงประจำจังหวัด, ท่านสิงกะโปและท่านเหงียนแจ้ง สองรองแม่ทัพที่ได้ตีฝ่าหลุดรอดมาได้ พันตรีสีห์พนม ผู้เข้ามาใช้พัดโบกวีคลายความร้อนข้างเตียงเพราะในขณะนั้นยังไม่มีเครื่องทำความเย็น รวมทั้งท่านสะหมาน วิยะเกด และบุคคลสำคัญอื่นๆ

ศึกเมืองท่าแขก ฝ่ายอภิวัฒน์สูญเสียทหารและประชาชนไป 3,000 กว่าคน ซากศพ 300 กว่าศพนอนระเนระนาดอยู่ในตัวเมือง ส่วนใหญ่แล้วถูกเครื่องบินขับไล่ยิงตายอยู่กลางลำน้ำโขง การรบที่ท่าแขกปิดฉากลงในวันที่เจ้าสุพานุวงบาดเจ็บนั่นเอง

ชาวลาวจากวัยกลางคนขึ้นไปจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ มีความเชื่อถือในคำทำนายโบร่ำโบราณว่า “ยามเมื่อแผ่นดินลาวต้องตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติจากแดนไกล ก็จะมีวันหนึ่งที่ทำให้เกิดขึ้นซึ่งวีรบุรุษ มหาบุรุษ เข้ากู้ชาติบ้านเมืองได้ในที่สุด”

บัดนี้มหาบุรุษผู้นั้นได้เกิดขึ้นแล้วจากการรบที่ท่าแขก คือ เจ้าสุพานุวง ถึงแม้ท่านบาดเจ็บสาหัส แต่เชื่อมั่นว่าจะรอดชีวิตกลับมากู้บ้านกู้เมืองได้ ชาวลาวจึงพร้อมกันสวดมนต์อวยชัยขอพรให้ท่านมีกำลังใจกายหายบาดเจ็บกลับมาเป็นมิ่งขวัญประชาชนลาว

ที่มา: ศุขปรีดา พนมยงค์. ศึกป้องกันเมืองท่าแขก, ใน, เรียนรู้ประวัติศาสตร์ลาวผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง, (กรุงเทพฯ: แม่คำผางการพิมพ์, 2553)

บทความที่เกี่ยวข้อง: