สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ไม่เพียงแต่สร้างผลกระทบต่อชีวิต ความเป็นอยู่ และทรัพย์สินของประชาชนชาวยูเครน แต่สถานการณ์ของสงครามนั้นยังได้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงให้กับโลกมากขึ้นในยุคแห่งความไม่แน่นอน จากการศึกษาของ ‘วิจัยกรุงศรี’ พบว่า สถานการณ์สงครามมีความเป็นไปได้ใน 3 ลักษณะ คือ
1) การสู้รบยุติภายในเดือนมีนาคม ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรยังคงมีต่อไปจนสิ้นปี 2022
2) การสู้รบยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาส 2 ทำให้ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้น และ
3) การสู้รบยืดเยื้อจนถึงกลางปี 2022 ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้รัสเซียตอบโต้ด้วยการยุติการส่งออกสินค้าพลังงานไปยุโรป
อย่างไรก็ดี ภายหลังจากสถานการณ์ยืดเยื้อมาจนใกล้จะสิ้นเดือนแล้ว อาจจะสรุปได้ว่าสถานการณ์สงครามระหว่างยูเครน-รัสเซียอาจจะไม่จบลงภายในเร็วๆ นี้ แม้จะมีความพยายามที่จะเจรจาต่อรองกันระหว่างรัสเซีย-ยูเครนตลอด ซึ่งการบานปลายของสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบหลักทั้งหมด 4 ด้าน ดังนี้
1) ด้านการค้าและการขนส่ง เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนจากราคาน้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น
2) ด้านความมั่นคงด้านพลังงาน เนื่องจากสาเหตุเดียวกันกับประการก่อน
3) ด้านเสถียรภาพของราคาสินค้า เนื่องจากการปรับตัวของราคาน้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติ ทำให้ราคาสินค้ามีการปรับเปลี่ยนอย่างไม่คงที่ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งของเงินเฟ้อในตลาดพลังงาน
4) ด้านรายได้และตลาดการเงิน เนื่องจากผลกระทบของเงินเฟ้อที่ทำให้กำลังซื้อลดลง
นอกจากนี้ จากการศึกษาของ ‘วิจัยกรุงศรี’ ยังได้คำนวณหาผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย พบว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2565 นี้ มีแนวโน้มที่จะหดตัวลงจากกรณีฐาน 0.5% 1.3% และ 2.9% ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นจากในกรณีฐาน 1.3% 2.0% และ 3.6% ตามลำดับ ในส่วนของเศรษฐกิจไทย พบว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวช้ากว่าที่คาดไว้ในกรณีฐานะ 0.4% 1.1% และ 2.4% ตามลำดับ ส่วนอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้ 1.4% 2.3% และ 3.5% ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกของประเทศไทยหดตัวกว่าในกรณีฐาน 1.1% 3.0% และ 4.7% ตามลำดับ
โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบสูงและโดยตรงของประเทศไทย ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง ภาคขนส่ง โรงกลั่นน้ำมัน การขนส่งทางเรือ และอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้มีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภทโลหะและพลังงาน
ส่วนอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ ธุรกิจน้ำตาล เสื้อผ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องหนัง โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ประโยชน์จากราคาที่สูงขึ้นและการเบี่ยงเบนทางการค้า เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าต่างๆ
‘วิจัยกรุงศรี’ ยังได้ชี้ต่อไปอีกว่า สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้น เมื่อประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่เพิ่งฟื้นจากวิกฤติโควิด-19 และปัญหาเงินเฟ้อที่กำลังเร่งตัว การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการคว่ำบาตร อาจจะซ้ำเติมความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก และเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก
ผลกระทบต่อชีวิตประชาชนคนไทยมากที่สุดก็คือ การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมัน และอาจจะปรับตัวขึ้นไปจนถึงช่วงเกือบครึ่งปีหลัง จากการวิเคราะห์ของ ‘ดร.กิริฎา เภาพิจิตร’ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ระบุว่า ผลกระทบของปัญหารัสเซีย-ยูเครน มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเฉลี่ย 120 – 130 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลต่อต้นทุนราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น และเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาขยายตัวถึง 5.28% โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งปีหลังเฉลี่ย 90-100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยจะไม่ต่ำไปกว่านี้แน่นอน เพราะสหรัฐฯ เพิ่มการผลิตน้ำมันเชลออยล์ เพื่อลดแรงกดดันราคาน้ำมันที่เกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
นอกจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ปรับตัวแพงขึ้นไปด้วยก็คือ ราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้า ได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
ราคาสินค้าด้านพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้นนี้จะส่งผลกระทบให้ราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ค่อยปรับตัวสูงขึ้นตามเป็นลำดับ เนื่องจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่ใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในด้านการบริโภคในชีวิตประจำวันทั้งในรูปแบบของไฟฟ้า ยานพาหนะ และการหุงหาอาหาร นอกจากนี้ ในด้านของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อการผลิตสินค้าและขนส่งสินค้า
ย้อนกลับมาดูทิศทางของนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ‘นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวถึงสถานการณ์พลังงานของประเทศว่า รัฐพยายามช่วยเหลือค่าครองชีพด้วยการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร แต่ภายหลังจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบให้ราคาพลังงานโลกปรับตัวสูงขึ้นทุกชนิด ราคาขายปลีกในประเทศไม่ว่าจะเป็นน้ำมันสำเร็จรูปอย่างเบนซินและดีเซลที่ปรับตัวขึ้นสูงที่สุดในรอบ 14 ปีนั้น รัฐบาลยังคงจะดำเนินการตรึงราคาน้ำมันดีเซลต่อไป
การพยายามตรึงราคาน้ำมันดังกล่าวไว้ให้ได้นานที่สุดนั้นก็ขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดของกองทุนน้ำมันฯ โดยปัจจุบันกองทุนน้ำมันสามารถที่จะแบกรับภาระการตรึงราคาไว้ได้เพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้กองทุนน้ำมันฯ สามารถดำเนินการตรึงราคาน้ำมันต่อไปได้ จึงต้องหาสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมันฯ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้สามารถกู้เงินได้ถึง 30,000 ล้านบาท (โดยในปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ มีกระแสเงินสด 20,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน 10,000 ล้านบาท) ซึ่งกระทรวงพลังงานอาจจะเสนอขยายกรอบการกู้เงินดังกล่าวให้ถึง 40,000 ล้านบาท
นอกเหนือจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นแล้ว ประเทศไทยในขณะนี้กำลังประสบกับสถานการณ์ที่เรียกว่า Stagflation ซึ่งเป็นสภาวะที่ราคาสินค้าและบริการ และค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจยังซบเซาฝืดเคือง และมีอัตราว่างงานสูง ซึ่งสภาวะดังกล่าวถือเป็นเรื่องร้ายแรงในทางเศรษฐกิจ ‘ดำรงเกียรติ มาลา’ The Standard อธิบายว่า การที่คนมีรายได้โตช้ากว่าค่าครองชีพจะทำให้เกิดการรัดเข็มขัดไม่อยากบริโภค ผู้ประกอบการจะขายสินค้าได้ลดลง ทำกำไรได้ลดลง ทำให้ไม่เกิดการจ้างงานหรือลงทุนขยายกิจการ และในท้ายที่สุดอาจต้องปลดคนงานออก เมื่อคนไม่มีรายได้ตกงานมากเข้าๆ การบริโภคก็ยิ่งย่ำแย่ วนเป็นลูปที่ยากจะแก้ไข
การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในรอบกว่า 13 ปี โดยเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมกราคม 2555 จาก 3.23% มาเป็น 5.28% ซึ่งถือว่าเป็นกรอบเงินเฟ้อที่สูงกว่ากรอบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเป้าหมายเอาไว้ว่าเงินเฟ้อประเทศไทยควรอยู่ที่ 3% ติดต่อกันสองเดือน ปัจจัยหนึ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็มาจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รากยาวมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะมองว่าสถานการณ์เงินเฟ้อเป็นสถานการณ์ชั่วคราวและอาจคลี่คลายตัวได้ แต่หากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนยังคงมีปัญหาอยู่อย่างต่อเนื่องปัญหาดังกล่าวอาจจะไม่คลี่คลายโดยเร็ว
ในแง่ของการบรรเทาสถานการณ์ต่างๆ ในประเด็นเรื่องเงินเฟ้อนั้นในช่วงเวลานี้ ‘ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตรชัย’ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้แสดงความคิดเห็นต่อ The Standard ว่า จริงอยู่ว่าปัญหาเงินเฟ้อที่มาจากต้นทุน คงแก้ไม่ได้ด้วยการขึ้นดอกเบี้ย (ขึ้นดอกเบี้ยไป รัสเซียคงไม่เลิกรบ หรือน้ำมันคงไม่ถูกลง) และด้วยเศรษฐกิจที่ยังอยู่ไกลจากระดับศักยภาพ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงพอจะเน้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และไม่ขึ้นดอกเบี้ยไปก่อน แต่ปัญหาคือยิ่งเงินเฟ้อสูงเป็นปัญหาที่ยาวนานขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเงินเฟ้อเข้าไปอยู่ในการคาดการณ์ของทุกฝ่าย การปรับค่าจ้างแรงงาน ค่าเช่าบ้าน และราคาสินค้าคงบวกเอาการคาดการณ์เงินเฟ้อใส่ลงไปด้วย แบบที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Wage Price Spiral ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อค้างในระดับสูงและลงยาก
ในด้านพลังงานนั้นได้มีข้อเสนอแนะเป็นจำนวนมากให้กับรัฐบาลดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาราคาพลังงาน วิธีการต่างๆ ที่มีการนำเสนอในปัจจุบันมีอยู่ 3 วิธีการสำคัญๆ ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้
การพยุงราคาน้ำมันต่อไปตามแนวทางที่กระทรวงพลังงานเสนอ อย่างไรก็ดี วิธีการดังกล่าวนั้นอาจจะไม่เหมาะสมและไม่ประสบความสำเร็จ ‘ฉัตร คำแสง’ นักวิชาการของ 101 Public Policy การอุดหนุนราคาน้ำมันแบบหน้ากระดานโดยผ่านกองทุนน้ำมันฯ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ โดยเฉพาะเวลาที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน เพราะไม่ตรงจุดและงบประมาณจะบานปลายจนไปเบียดบังการดำเนินนโยบายด้านอื่นๆ ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยรัฐบาลอาจจะนำเงินที่ไปใช้อุดหนุนนี้ไปใช้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบเช่นกันจากทั้งวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน
การอุดหนุนด้านปริมาณ/รายได้โดยตรงต่อกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่มีการเสนอให้รัฐบาลดำเนินการ ‘ดร.นณริฎ พิศลยบุตร’ นักวิชาการอาวุโส ด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุ หนึ่งในแนวทางที่รัฐบาลควรนำมาใช้แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน จากผลกระทบ ของราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น คือ การช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ด้วยการ มอบส่วนลดค่าน้ำมันทุกประเภทให้ผู้ถือบัตร ทุกคน โดยไม่จำกัดอาชีพ
การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล วิธีการนี้เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่มีการนำเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้มีการสนับสนุนจากทั้งด้านสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และในกลุ่มนักวิชาการบางส่วน นอกจากนี้ วิธีการดังกล่าวได้มีแนวทางจากต่างประเทศเริ่มทดลองใช้แล้ว เช่น ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี วิธีการดังกล่าวนี้ก็มีข้อกังวลจากฝั่งนักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะ ‘ดร.นณริฎ พิศลยุบตร’ ชี้ว่า การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาท/ลิตรในปัจจุบัน ทำให้ภาครัฐ และหน่วยงานท้องถิ่นต้องสูญเสียรายได้ถึง วันละ 230 ล้านบาท หรือ ปีละ 7-8 หมื่นล้านบาท หากในอนาคตมีการปรับลดภาษีเพิ่มเต็มเพดานอีกเกือบ 6 บาท จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้เพิ่มอีกวันละ 500 ล้านบาท หรือ ปีละ 150,000 ล้านบาท และที่สำคัญการปรับลดภาษีน้ำมัน ยังทำให้เกิดการเหลื่อมล้ำ เพราะเป็นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซลเท่านั้น
การสนับสนุนการลงทุนในพลังงานทางเลือกและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อประหยัดพลังงาน และหันไปใช้พลังงานสะอาดแทน โดยวิธีการนี้อาจจะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวของประเทศโดยการเปลี่ยนแปลงแหล่งพลังงานและเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง
‘ฉัตร คำแสง’ ได้แสดงความคิดเห็นว่า เมื่อมองไปในระยะยาวประเทศไทยอาจจะต้องจำเป็นต้องลงทุนอีกมาก เพื่อลดการพึ่งพารถยนต์ตลอดจนพลังงานฟอสซิล ซึ่งมีราคาแพง ผันผวน และสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมาก โดยประเทศไทยควรดำเนินการเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานทางเลือกพร้อมทั้งเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานให้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ในด้านของการขนส่ง รัฐบาลจะต้องมีนโยบายส่งเสริมการปรับตัวสู่ยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพและใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น เช่น การเปลี่ยนผ่านสู่รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น อีกทั้งประเทศไทยควรพัฒนาระบบขนส่งที่เป็นโครงกระดูกหลักของประเทศ (backbone) ได้แก่ ระบบขนส่งสินค้าทางราง เพราะมีต้นทุนค่าขนส่งถูกกว่าระบบรถบรรทุก โดยจะต้องทำให้เกิดความครอบคลุม และเปิดให้เอกชนเข้ามาเช่าใช้รางเพื่อเดินรถไฟได้โดยสะดวก จนทำให้เกิดการเดินรถอย่างสม่ำเสมอ
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
- กรุงเทพธุรกิจ, ‘ทีดีอาร์ไอประเมินราคาน้ำมันลด ครึ่งปีหลัง’ กรุงเทพธุรกิจ (11 มีนาคม 2565) 1.
- กรุงเทพธุรกิจ, ‘วิกฤติพลังงาน น้ำมัน-ก๊าซ-ค่าไฟฟ้า’ (กรุงเทพธุรกิจ, 7 มีนาคม 2565) https://www.bangkokbiznews.com/business/992049 สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2565.
- กัญณัฏฐ์ บุตรดี, ‘กองทุนน้ำมันฯ อั้นไม่ไหวยื่น “คลัง” ลดภาษีสรรพสามิตร’ (กรุงเทพธุรกิจ, 23 มกราคม 2565) https://www.bangkokbiznews.com/business/984028 สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2565.
- ฉัตร คำแสง, ‘5 คำถาม-คำตอบเรื่องวุ่นๆ ของการอุ้มดีเซล’ (The 101.World, 16 มีนาคม 2565) https://www.the101.world/diesel-oil/ สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2565.
- ดำรงเกียรติ มาลา, ‘Stagflation คืออะไร? เศรษฐกิจไทยเสี่ยงแค่ไหนในการเผชิญภาวะดังกล่าว’ (The Standard, 10 มีนาคม 2565) https://thestandard.co/stagflation/ สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2565.
- ไทยพับลิก้า, ‘ภาวะเงินเฟ้อส่งผลกระทบกับเราอย่างไร’ (ThaiPublica, 5 พฤษภาคม 2561) https://thaipublica.org/2018/05/kkp-financial-literacy-16/ สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2565.
- ไทยพับลิก้า, ‘Oil Shock กระแทกเศรษฐกิจ ทำเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นชั่วคราว แต่การฟื้นตัวไม่สะดุด’ (ThaiPublica, 18 มีนาคม 2565) https://thaipublica.org/2022/03/bot-piti-disyatat-talks-on-inflation/ สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2565.
- ประชาชาติธุรกิจ, ‘เศรษฐกิจไทยติดกับดักน้ำมันแพง ปล่อยขึ้นค่าไฟ-ก๊าซหุงต้ม’ (ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์, 12 มีนาคม 2565) https://www.prachachat.net/economy/news-884898 สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2565.
- พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย, ‘Stagflation เงินเฟ้อสูงแต่เศรษฐกิจไม่ดี ความท้าทายต่อธุรกิจและธนาคารกลาง’ (The 101.World, 6 ตุลาคม 2564) https://www.the101.world/stagflation-challenge/ สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2565.
- รชฏ เลียงจันทร์, ‘ผลกระทบของวิกฤติรัสเซีย-ยูเครนต่อเศรษฐกิจไทย’ (วิจัยกรุงศรี, 11 มีนาคม 2565) https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/Russia-Ukraine-Impacts สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2565.
- ศุกพิณรัศ วงศ์สินศิริกุล และคณะ, ‘เงินเฟ้อโลกไปไกล เงินเฟ้อไทยน่าห่วงหรือไม่?’ (ธนาคารแห่งประเทศไทย, 4 มกราคม 2565) https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_4Jan2022.aspx สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2565.
- ประชาชาติธุรกิจ, ‘นิวซีแลนด์ ลดภาษีน้ำมัน 5 บาทต่อลิตร ช่วยค่าครองชีพประชาชน’ (ประชาชาติธุรกิจ, 15 มีนาคม 2565) https://www.prachachat.net/world-news/news-886480 สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2565.
- PRIDI Economic Focus
- รัสเซีย
- ยูเครน
- สงคราม
- เศรษฐกิจ
- Covid-19
- วิจัยกรุงศรี
- สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
- TDRI
- กิริฎา เภาพิจิตร
- ดำรงเกียรติ มาลา
- พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตรชัย
- ธนาคารแห่งประเทศไทย
- The Standard
- กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
- ฉัตร คำแสง
- 101 Public Policy
- นณริฎ พิศลยบุตร
- สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
- กรุงเทพธุรกิจ
- กัญณัฏฐ์ บุตรดี
- ไทยพับลิก้า
- ประชาชาติธุรกิจ
- รชฏ เลียงจันทร์
- ศุกพิณรัศ วงศ์สินศิริกุล