ในปัจจุบันไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ในฐานะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยในการอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ในชีวิตประจำวัน การที่ราคาค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นย่อมกระทบต่อชีวิตประชาชน ในบทความนี้สถาบันปรีดี พนมยงค์ ขอพาไปทำความเข้าใจสถานการณ์และการปรับเปลี่ยนของราคาค่าไฟฟ้าในช่วงนี้
โครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศไทย
อุตสาหกรรมไฟฟ้าประกอบไปด้วยการผลิตไฟฟ้า การรับซื้อ การส่งไฟฟ้า (ค้าส่ง) และการจำหน่ายไฟฟ้า (ขายปลีก) ให้กับครัวเรือน ภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ในปัจจุบันตลาดธุรกิจผลิตไฟฟ้าประกอบด้วยผู้ประกอบธุรกิจหลายราย ทั้งในลักษณะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก
อย่างไรก็ดี ในตลาดการส่งไฟฟ้ากลับมีลักษณะเป็นการผูกขาดระบบสายส่งไฟฟ้า (Transmission System) โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว (Single Buyer) เนื่องจากการส่งไฟฟ้ามีลักษณะเป็นการผูกขาดตามธรรมชาติ (Natural Monopoly) อันเนื่องมาจาก กฟผ. เป็นผู้ครอบครองสายส่งไฟฟ้าที่มีโครงข่ายทั่วประเทศ ทำให้มีต้นทุนในการส่งไฟฟ้าถูกกว่าผู้ประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้ารายอื่นๆ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายไฟฟ้ารายอื่นอีก[1]
ประกอบกับธรรมชาติของธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่ไม่สามารถเก็บไฟฟ้าที่ผลิตไว้เป็นสต็อกเหมือนสินค้าอื่น จำเป็นต้องส่งไปยังลูกค้าหรือผู้ใช้ทันทีผ่านระบบส่ง[2] การขายส่งไฟฟ้าในปัจจุบันจึงต้องกระทำผ่าน กฟผ. ซึ่งจะขายไฟฟ้าดังกล่าวต่อการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายไฟฟ้าขั้นสุดท้ายในการรับซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. จากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก ที่ผลิตทั้งในและต่างประเทศ จะใช้วิธีการทำสัญญาระยะยาวและมีลักษณะเป็นการไม่ใช้ก็ต้องจ่าย (Take or Pay) ซึ่งแม้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในเวลานั้นจะลดลงจาก ณ เวลาที่มีการทำสัญญา และโรงงานไฟฟ้าลดการผลิตไฟฟ้าลง แต่ กฟผ. ยังคงต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้ผลิตในรูปแบบค่าความพร้อมจ่ายเพื่อสร้างแรงจูงใจเอกชนมาลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนคงที่สูงแทน[3] ซึ่งการจ่ายเงินในลักษณะดังกล่าวส่งผลให้ กฟผ. ต้องแบกรับต้นทุน ซึ่งจะส่งผลต่อราคาค่าไฟฟ้าที่จะถูกคิดกับประชาชน
การกำหนดราคาไฟฟ้า
ก่อนจะไปหาสาเหตุว่าทำไมราคาไฟฟ้าถึงแพงขึ้น เราจำเป็นต้องกลับมาทำความเข้าใจก่อนว่า โครงสร้างราคาไฟฟ้าในประเทศไทยถูกคิดอย่างไร ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศผันแปรตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยของความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 0.9 - 1.1 เท่าของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ[4] ซึ่งสะท้อนความสำคัญของไฟฟ้าต่อการดำรงชีวิตและต่อเศรษฐกิจ ทำให้การเปลี่ยนแปลงของราคาไฟฟ้าส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง
การเปลี่ยนแปลงราคาค่าไฟฟ้านั้นขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเผชิญ และต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการจำหน่ายไฟฟ้าแบบปลีกของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
อย่างไรก็ดี ตลาดไฟฟ้ามิได้มีลักษณะเช่นเดียวกันกับสินค้าและบริการอื่นๆ เนื่องจากตลาดไฟฟ้าเป็นตลาดที่มีความสำคัญทำให้รัฐบาลต้องเข้ามาควบคุมราคา เพื่อไม่ให้ราคาไฟฟ้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างอิสระจนกระทบกับผู้บริโภค โดยกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำกับดูแลสูตรค่าไฟฟ้าเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)[5] โดยโครงสร้างค่าไฟฟ้าถูกกำหนดโดยปัจจัยสำคัญ 4 ประการ ได้แก่[6]
- ค่าพลังงานไฟฟ้า (ค่าไฟฟ้าฐาน) ซึ่งคำนวณจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ค่าระบบส่งไฟฟ้า ค่าระบบจำหน่ายไฟฟ้า รวมถึงค่าเชื้อเพลิงและการรับซื้อไฟฟ้าตามนโยบายรัฐบาลต่างๆ โดยจะมีการปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าฐานทุก 3 – 5 ปี โดยในปัจจุบันค่าไฟฟ้าฐานอยู่ประมาณ 3.79 บาทต่อหน่วย อย่างไรก็ดี ในการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าฐานนี้จะมีการเรียกเก็บจากกิจกรรมการใช้ไฟฟ้าที่แตกต่างกัน เช่น บ้านอยู่อาศัย (ครัวเรือน) เป็นต้น ซึ่งกลุ่มบ้านอยู่อาศัยปัจจุบันเป็นกลุ่มที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดถึงร้อยละ 90 ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าฐานยังแบ่งย่อยได้เป็นอีก 2 ประเภทคือ อัตราปกติ และอัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้ ซึ่งกำหนดตามความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง/ต่ำในแต่ละช่วงเวลา
- ค่าไฟฟ้าผันแปร (Float time: Ft) ซึ่งเป็นอัตราที่คิดจากการลอยค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น ตามช่วงเวลาต่างๆ ที่ใช้เป็นกรอบในการคำนวณ
- ค่าบริการรายเดือน ซึ่งเก็บจากการดำเนินการจัดเก็บเงินค่าไฟฟ้า
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม อัตราร้อยละ 7
จุดสำคัญที่อยากให้ผู้อ่านทุกคนเน้นเป็นพิเศษ คือ ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่า Ft เนื่องจากค่าดังกล่าวมีผลสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคา
ทำไมราคาไฟฟ้าถึงแพงขึ้น
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างค่าไฟฟ้าครั้งสำคัญที่ทำให้ราคาไฟฟ้าแพงขึ้นมีสาเหตุมาจากการปรับเปลี่ยนค่า Ft ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งประเด็นหนึ่งที่ทำให้มีการปรับค่า Ft เนื่องจากก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าขาดแคลน จึงนำไปสู่การปรับค่า Ft ใหม่
ปัญหาก๊าซธรรมชาติขาดแคลนมีปัญหามาจาก 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยแรก ก๊าซธรรมชาติส่วนหนึ่งที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้ามาจากอ่าวไทย ซึ่งมีแหล่งผลิตหลักที่เอราวัณ จากการรายงานข่าวของสำนักข่าว WorkpointTODAY พบว่า ในปัจจุบันสถานการณ์เกี่ยวกับการผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ระหว่างรอยต่อการเข้าดำเนินการระหว่างกลุ่มบริษัทเชฟรอนที่ผู้รับสัมปทานรายเก่า และกลุ่มบริษัท ปตท. ที่เป็นผู้พัฒนาพื้นที่รายใหม่ ซึ่งรอยต่อนี้ทำให้การส่งก๊าซธรรมชาติไม่ต่อเนื่องและเกิดการขาดแคลน
ปัจจัยที่สอง ก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเป็นก๊าซธรรมชาตินำเข้ามาจากต่างประเทศ คือ ประเทศเมียนมาราวๆ ร้อยละ 34 เพื่อชดเชยก๊าซธรรมชาติที่ไม่เพียงพอจากการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า การผลิตก๊าซธรรมชาติของเมียนมาไม่สามารถผลิตได้ตามกำลังการผลิตเดิม และมีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นเข้ามาทดแทน
ทว่า ในปัจจุบันด้วยวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้ส่งผลต่อราคาก๊าซธรรมชาติทั่วโลก เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกหลักก๊าซธรรมชาติให้กับทวีปยุโรป ผลของการที่รัสเซียลดการขายก๊าซธรรมชาติให้กับทวีปยุโรปทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่น ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติแพงขึ้นทั่วโลก รวมถึงในทวีปเอเชีย ประกอบกับในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้ผู้ประกอบการผลิตก๊าซธรรมชาติชะลอตัวลง เนื่องจากความต้องการใช้พลังงานมีน้อย (ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน และสถานที่ราชการปิดเพื่อลดการเคลื่อนไหวและคนหันมา Work from Home) เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ความต้องการก๊าซธรรมชาติสูง ยิ่งทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติดีดตัวขึ้นสูงกว่าเดิม
พิจารณาลงไปในรายละเอียดเฉพาะบริบทของประเทศไทย เมื่อพิจารณามองย้อนกลับไปช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจาก กฟผ. ทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อพลังงานรายหลักจากโรงไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา การใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงมาก เนื่องจากห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน และสถานที่ราชการปิดเพื่อลดการเคลื่อนไหวและคนหันมา Work from Home เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้ในความเป็นจริงราคาค่าไฟฟ้าควรจะเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลมีนโยบายลดค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือประชาชน[7] รวมถึงรัฐบาลได้มีการคงอัตราค่า Ft ไว้เป็นระยะเวลาหนึ่ง ตั้งแต่ช่วงปี 2562 – 2564[8]
ปัญหาสำคัญ คือ การที่ไฟฟ้ามีราคาแพงขึ้นนั้น แม้จะมีการรณรงค์ให้มีการลดการบริโภคไฟฟ้าลงในฝั่งของภาคครัวเรือนก็อาจจะไม่ช่วยให้ราคาไฟฟ้าถูกลงมากเท่าใดนัก เนื่องจากไฟฟ้าเป็นสินค้าที่มีความจำเป็น ประกอบกับปัจจัยที่ทำให้ราคาไฟฟ้าแพงขึ้นมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือควบคุม สิ่งนี้จึงอาจจะเป็นคำถามทิ้งทายกลับไปหารัฐบาลว่า รัฐบาลจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร?
[1] คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ‘จุดไฟการแข่งขันให้ทั่วฟ้า: ถึงเวลาเปิดตลาดเสรีการซื้อขายไฟฟ้าในไทย’ (31 สิงหาคม 2564) https://www.econ.chula.ac.th/จุดไฟการแข่งขันให้ทั่ว/ สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2565.
[2] นรินทร์ ตันไพบูลย์, ‘แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2564-2566: ธุรกิจผลิตไฟฟ้า’ (ธนาคารกรุงศรี, 30 เมษายน 2564) https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Energy-Utilities/Power-Generation/IO/io-power-generation-21 สืบค้นเมือ 4 กันยายน 2565.
[3] คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เชิงอรรถ 1).
[4] นรินทร์ ตันไพบูลย์ (เชิงอรรถ 2).
[5] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 11 (1) และ (4); ดู สำนักงาน กกพ., ‘เอกสารการนำเสนอบทบาทหน้าที่ กกพ. การกำกับกิจการพลังงาน’ (สำนักงาน กกพ.) https://pdf.erc.or.th/file_upload/module/jbimages/3-บริการข้อมูลข่าวสาร/4-กองทุนมาตรา 97(5)/ข้อมูล%20บทบาท%20กกพ-และสนง-.pdf สืบค้นเมื่อ 22 กันยายน 2565.
[6] กฟผ., ‘อัตราค่าไฟฟ้า’ (กฟผ.) https://www.egat.co.th/home/egat-price/ สืบค้นเมื่อ 22 กันยายน 2565.
[7] BBC News ไทย, ‘โควิด-19: รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม ลดค่าไฟฟ้า 3 เดือน ให้ผู้ใช้ไฟฟ้า 22 ล้านราย’ (BBC News ไทย, 20 เมษายน 2563) https://www.bbc.com/thai/thailand-52352091 สืบค้นเมื่อ 22 กันยายน 2565; คณะผู้วิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, ‘วิเคราะห์มาตรการลดค่าไฟในช่วงวิกฤตโควิด-19’ (TDRI, 15 เมษายน 2563) https://tdri.or.th/2020/04/covid-11/ สืบค้นเมื่อ 22 กันยายน 2565.
[8] ดู การปรับอัตราค่า Ft ไฟฟ้า จาก สถิติ Ft ของ กกพ.; สำนักงาน กกพ. ‘อัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft)’ (สำนักงาน กกพ.) https://www.erc.or.th/th/automatic สืบค้นเมื่อ 22 กันยายน 2565.