ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

“โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง” ผลงานสำคัญชิ้นหนึ่งของ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์

25
เมษายน
2565

คำนำ

หลังจากที่ผมได้เขียนเรื่อง “เสรีไทยในจังหวัดตาก” ไปแล้ว ผมได้พิจารณาเห็นว่ายังมีเรื่องสำคัญของ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งท่านได้เริ่มบุกเบิกดำเนินงานไปเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำรายได้ให้รัฐอย่างสูงยิ่งจนทุกวันนี้คือเรื่อง “โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง” ผมไม่ใช่พนักงานยาสูบ แต่เป็นผู้ชายยาสูบมาตั้งแต่ พ.ศ. 2485 จนถึง พ.ศ. 2533  (เว้นปี พ.ศ. 2489-2492) มีเพื่อนอยู่ในวงการยาสูบอยู่หลายคน แต่ที่สำคัญคือ 3 ท่านที่ได้ตาม คุณหลวงชำนาญยุทธศิลป์ จากสำนักงานกลางบริษัทจังหวัด ไปโรงงานยาสูบเมื่อ พ.ศ. 2491 ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ปัจจุบันนี้ท่านเดียว คือ คุณอุระมิลา สัตยะมานะ (อดีตหัวหน้าฝ่ายกลาง) อีก 2 ท่านคือ คุณวิม อิทธิกุล (ธ.บ. รุ่นเดียวกับผม) และ คุณเศรณี จินวาลา (ต.ม.ธ.ก. รุ่น 2) และผมบังเอิญมีเรื่องสำคัญระหว่างผู้ขายส่งกับโรงงานยาสูบในระยะหนึ่ง 2-3 เรื่อง ทำให้ต้องแก้ไขกันทั้งระบบ ด้วยบารมีของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ท่านพ่อของชาวโดม งานซึ่งน่าจะลำบากมากนั้น จึงสำเร็จลงได้ในระยะเวลาอันสั้นเพียงเรื่องละ 2-3 วันเท่านั้น

ผมมีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับโรงงานยาสูบอยู่เพียง 2 เล่ม คือเรื่อง “ดร.ปรีดี พนมยงค์” ของ ไสว สุทธิพิทักษ์ และ “หนังสืองานศพของคุณสงวน ตุลารักษ์” ผมได้เคยอ่านประวัติโรงงานยาสูบในหนังสือ “ยาสูบ” รายเดือน คงจะได้ข้อมูลเพียงพอ ผมเห็นว่า ถ้าจะทำให้ดีได้ คงต้องเหนื่อยมากหน่อย โดยต้องไปค้นคว้าจากห้องสมุดของโรงงานยาสูบ และสอบถามจากท่านผู้ใหญ่ 2 ท่านของโรงงานยาสูบที่ผมรู้จักและยังมีชีวิตอยู่คือ คุณอุระมิลา สัตยะมานะ กับอีก 1 ท่านคือ คุณรัตน์ ศยามานนท์ (ต.ม.ธ.ก. รุ่น 2 อดีตรองผู้อำนวยการยาสูบ) ผมจึงได้ปรึกษากับอดีตเลขาธิการฯ ต.ม.ธ.ก. สัมพันธ์ท่านหนึ่ง โดยเกรงว่าจะมีผู้ที่รู้ดีกว่าผมจะเขียนขึ้นมาและเขม่นว่ายุ่งไม่ใช่เรื่อง แต่ผมได้รับคำสนับสนุนจากท่านที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น และคุณรัตน์ ศยามานนท์ ยังกรุณาแนะให้ผมไปพบถาม คุณเสรี ปานสุวรรณ (อดีต ผอ.ยาสูบ) แต่ผมไม่มีโอกาสไปปรึกษาท่าน

ส่วนตัวคุณรัตน์นั้นก็ได้แต่คุยกันทางโทรศัพท์ และอีกท่านหนึ่งซึ่งผมมีโอกาสคุยกับท่านทางโทรศัพท์เท่านั้น คือ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร์ ขอขอบพระคุณท่านที่ผมได้กล่าวนามและได้ให้กำลังใจผมมานั้นด้วยเป็นอย่างมาก

เดิมผมตั้งใจจะไปพบท่านผู้อำนวยการยาสูบคนปัจจุบัน เพื่อขอข้อมูลรุ่นหลังๆ และขอเข้าค้นประวัติเดิมในหนังสือยาสูบคาดไว้ว่าจะต้องใช้เวลาค้นคว้าและถ่ายเอกสารบ้างอีกหลายวัน แต่ด้วยบารมีของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ท่านพ่อที่เคารพยิ่งของผม คงจะเห็นเจตนาดี เห็นใจผมไม่ต้องให้ลำบากมากนัก ได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผมเป็นอย่างดียิ่งคือ ขณะที่ผมได้ไปพบ พลเอก องอาจ ชัมพูนทะ  ผอ. ยาสูบ กำลังมีธุระยุ่ง ได้สั่งให้เลขานุการส่งผมไปหาหัวหน้ากองประชาสัมพันธ์ คือ พ.ท. วิชาติ ฤกษะเสน ทันที สิ่งที่ผมดีใจอย่างคาดไม่ถึง ก็คือ ท่านทราบความประสงค์และรับนามบัตรของผมไปอ่านแล้ว รู้สึกว่าได้รับความยิ้มแย้มแจ่มใสอย่างเป็นกันเองขึ้นอีกมาก คือ ท่านบอกผมว่าท่านเป็นคนเมืองตากเช่นเดียวกัน และบอกผมว่าผมโชคดีมากๆ เพราะขณะนี้โรงงานกำลังต้องการข้อมูลอยู่ จึงได้ไปถ่ายเอกสารเรื่องนี้มาทั้งหมดที่มีอยู่แล้ว ประมาณ 50 กว่าหน้า ถามผมว่าจะพอมีค่าถ่ายเอกสารตามระเบียบโรงงานได้ไหม ผมยินดีจ่ายจึงได้ชุดนั้นมาทั้งหมด ผมจึงรู้ว่าคนเขียนคือ คุณรัตน์ ศยามานนท์ ที่ผมกล่าวมานั้นเอง และท่านยังได้ให้ข้อมูลผมมาอีก 1 ชุด ผมนำกลับมาพิจารณาแล้วเห็นว่าขาดข้อมูลอีกเรื่องหนึ่ง คือ ยอดบุหรี่ของต่างประเทศที่ไทยเราถูกบังคับให้นำเข้ามาขายตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ยังไม่มี เผอิญผมมีหลานชายเป็นนักวิทยาศาสตร์ กรมสรรพสามิต ผมจึงอาศัยรถเข้าไปแต่เช้าเพื่อขอพบหัวหน้ากองยาสูบ ด้วยบารมีของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ อีกนั่นแหละที่บันดาลความสะดวกให้ผมอย่างไม่คาดฝันอีกประการหนึ่ง โดยผมไม่ต้องไปพบหัวหน้ากองยาสูบตามที่ผมตั้งใจไว้ คือ หัวหน้าของหลานผมมีเพื่อนในกรมนี้ เพิ่งทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเรื่องเกี่ยวกับรายได้ของยาสูบทั้งหมดในปีนี้เองคือ นางสาวสุขุมา ศรีคราม นักวิชาการกรมสรรพสามิต มีข้อมูลเก็บสถิติไว้เป็นอย่างดีเล่มใหญ่ นำมาให้ผมยืมถ่ายเอกสารส่วนที่ผมต้องการไว้แล้วส่งคืนไป เรื่องนี้ผมได้โทรศัพท์บอก พ.ท.วิชาติฯ หัวหน้ากองประชาสัมพันธ์ ท่านจึงขอไปยังกรมสรรพสามิต ได้มาไว้เป็นสมบัติของโรงงานยาสูบ 1 เล่ม เป็นการตอบแทนท่านหัวหน้ากองใจดีได้ประการหนึ่ง

ผมนำข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณาอีกที คราวนี้ความหนักใจของผมต้องเปลี่ยนไป คือเดิมผมตั้งใจว่าเมื่อผมได้ข้อมูลของโรงงานมาแล้ว จะได้นำประสบการณ์ของตัวเองเรื่องยาสูบ ในเชียงใหม่และตาก ตอนต้นๆ เทียบปัจจุบัน และส่วนที่ตัวเองต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการของโรงงานด้วย ควรจะเป็นบทความที่นำลงในหนังสือปีนี้พอดี แต่เมื่อนำข้อมูลทั้งหมดที่ผมมีกับข้อมูลและสถิติของโรงงานยาสูบก็เพียงพอที่จะเขียนหนังสือเรื่องโรงงานยาสูบใหม่ได้อย่างดีอีก 1 เล่มทีเดียว จึงมาหนักใจว่าทำอย่างไรจึงจะย่อความให้สั้นที่สุดแต่ให้ได้ใจความครบถ้วนสมบูรณ์ดีที่สุดอย่างเหมาะสมได้

คุณรัตน์ ศยามานนท์ ได้เขียนเรื่องเริ่มต้นไว้ละเอียดดีมาก ตั้งแต่เริ่มมีโรงงาน ในเมืองไทย เรื่องของฝ่ายไร่ในเชิงวิชาการรวมทั้งเหตุการณ์ในภาวะสงครามอย่างละเอียด ฯลฯ จนถึง พ.ศ. 2491 ผมต้องย่อลงเหลือเพียง 3-4 หน้าเท่านั้น แถมข้อมูลของวิทยานิพนธ์พร้อมสถิติต่างๆ อีก 100 กว่าหน้า ผมเอามาเพียงสถิติเดียวเท่านั้น รวมทั้งตัวเลข รายการและราคาบุหรี่ แต่ละยุคสมัยมีมากมาย เมื่อรวบรวมแล้วเสร็จก็ยังยาวมากไปอีก ผมจึงต้องมาตรวจแก้ตัดลงไปอีกเพราะผมเขียนเรื่องนี้มีความมุ่งหวังเพียงอย่างเดียวคือมีเจตนาเทิดทูนท่าน ดร.ปรีดี พนมยงค์ ท่านพ่อผู้ให้กำเนิดของชาวโดม (ซึ่งมาเป็นพนักงานยาสูบอยู่มาก) ผู้มีพระคุณต่อประเทศชาติไทยเราเป็นอย่างดียิ่งในเรื่องยาสูบอันเป็นรายได้สำคัญยิ่งของรัฐ ทำรายได้ให้รัฐปีละหลายหมื่นล้านบาท และช่วยเกษตรกรชาวไร่ยาสูบในท้องถิ่นชนบทไม่น้อยกว่า 500,000 ครอบครัว ซึ่งเป็นผลดีมากแก่ประเทศชาติอยู่ในปัจจุบันนี้เท่านั้น 

 

“โรงงานยาสูบ” โดยใช้เครื่องจักร เริ่มมีเป็นแห่งแรกในไทย เมื่อ พ.ศ. 2469 ชื่อว่า “บูรพายาสูบ” ต่อมาได้มีอีกหลายบริษัทไม่ใหญ่นัก จนปี พ.ศ. 2475 มี “บริษัทยาสูบอังกฤษ-อเมริกัน (ไทย) จำกัด บี.เอ.ที.” เป็นโรงงานอุตสาหกรรมมวนบุหรี่อย่างใหญ่แห่งแรก และมีโรงงานเล็กๆ  อีกหลายโรงงานในระยะใกล้ๆ กัน ผมจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับประวัติของ “โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง” โดยสมควรดังนี้

1. ช่วงระยะ พ.ศ. 2481-2482

‘ดร.ปรีดี พนมยงค์’ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อ พ.ศ. 2481 ได้พิจารณาแก้ปัญหาเศรษฐกิจหลายประการ โดยเฉพาะในเรื่อง “ยาสูบ” นี้ได้เล็งเห็นว่าในต่างประเทศถือเป็นรายได้สำคัญมาก ธุรกิจบุหรี่ได้รับผลตอบแทนสูงที่สุดในโลก อัตราผลกำไรเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 35 (ซึ่งอย่างอื่นได้กำไรร้อยละ 10 ก็ดีแล้ว) คนไทยทำก็คงสู้ชาวต่างชาติไม่ได้ แต่ในขณะนั้นยังไม่มีกฏหมายควบคุมการค้ายาสูบเลย ท่านจึงให้ออก พ.ร.บ. ยาสูบ ฉบับแรก เมื่อ 23 มีนาคม 2481 มุ่งหมายที่จะบำรุงการเพาะปลูกยาสูบ คุ้มครองเกษตรกรในเรื่องราคา ควบคุมอุตสาหกรรมยาสูบ การจำหน่ายยาสูบ และให้รางวัลแก่ผู้ส่งยาสูบออกนอกราชอาณาจักร ฯลฯ นับว่าเป็นการกระทบกระเทือน แก่บริษัทต่างๆ มาก บริษัทเล็กๆ ที่มีฐานะไม่มั่นคงจึงจำต้องเลิกไป ผู้ผลิตบุหรี่เสียภาษีแต่น้อยแต่ได้กำไรมาก ท่านจึงคิดที่จะได้โรงงานเหล่านี้มาเป็นของรัฐ และรัฐทำการค้าผูกขาดแต่ผู้เดียว ท่านได้เรียกศิษย์คนหนึ่งคือ นายสงวน ตุลารักษ์ ให้ศึกษาเรื่องโรงงานยาสูบให้รู้จริงเสียก่อน

‘ดร.ปรีดี พนมยงค์’ ได้วางแผนโดยเริ่มซื้อโรงงานยาสูบไทยของห้างหุ้นส่วนบูรพายาสูบ จำกัด ที่สะพานเหลือง ถนนพระราม 4 มาดำเนินงานภายใต้การควบคุมของกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2482 จึงถือว่าเป็นต้นกำเนิดของโรงงานยาสูบ โดยมีชื่อว่า “โรงงานยาสูบไทยสะพานเหลือง” ซึ่งภายหลังเป็น “โรงงานยาสูบสรรพสามิต 2”

โรงงานบริษัท บี.เอ.ที. เริ่มผลิตบุหรี่ โดยตั้งโรงงานใหม่ที่บ้านใหม่ ถนนเจริญกรุง ได้ทดลองปลูกใบยาสูบพันธุ์เวอร์ยิเนียขึ้นในจังหวัดเชียงรายเป็นครั้งแรก ผลที่ได้รับเริ่มต้นถึง 3,000 ก.ก. ได้เป็นอย่างดีตั้งแต่ พ.ศ. 2477

ในขณะนี้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้เริ่มเจรจากับบริษัทต่างชาติ บี.เอ.ที และบริษัทชาวจีน เพราะขณะนั้นสงครามทางยุโรปกำลังรบติดพันกันอย่างหนัก มีเค้าว่าทางเอเชียคงจะเกิดในไม่ช้านัก นอกนั้นก็มีโรงงานนามยาง กวางฮก เฮาะฮวง ฮาฟมันน์ ฯลฯ โดยมีเงื่อนไขหลายประการเพื่อประโยชน์แก่รัฐและประชาชน ทั้งนี้ได้ทยอยจัดซื้อจนถึงปี 2482 เหลือเพียง 3 โรงเท่านั้น คือ บี.เอ.ที. และโรงงานชาวจีนอีก 2 โรง

2. ช่วงระยะ พ.ศ. 2483 - 2484

สถานการณ์สงครามในปี 2483 สงครามได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง บทบาทของญี่ปุ่นมหาอำนาจในเอเชียบูรพา ทำความประหวั่นพรั่นพรึงใจให้แก่บริษัทต่างชาติมากที่สุด ขอสรุปว่า ในกลางปี 2484 เมื่อกรุงมอสโคว์ถูกโจมตีหนักเป็นเวลาที่ญี่ปุ่นเริ่มเรียกร้องขอตั้งฐานทัพอากาศในอินโดจีน และต่อมาอีกไม่นานก็มีข่าวแน่ชัดว่า ญี่ปุ่นได้ชุมนุมกองทหารตลอดพรมแดนประเทศไทยแล้ว บริษัท บี.เอ.ที. จึงตัดสินใจยื่นข้อเสนอ ทาบทามขายกิจการทั้งหมดให้กับรัฐบาลทันที รัฐบาลตกลงรับซื้อกิจการของบริษัท บี.เอ.ที. ไว้ โดยทำบันทึกตกลงกันไว้ มีเงื่อนไขประการสำคัญประการหนึ่งก็ืคือ การชำระราคาโรงงานบุหรี่นั้นเป็นงวดๆ รัฐบาลเข้าดำเนินการโดยกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง จัดตั้งกองยาสูบ (โดยมี นายสงวน ตุลารักษ์ เป็นหัวหน้ากอง) เริ่มดำเนินการตั้งแต่ซื้อโรงงานแห่งแรกเมื่อ พ.ศ. 2484 และได้ซื้อไว้อีก 2 บริษัทคือ บริษัทกวางฮก และบริษัทเฮาะฮวงของชาวจีน

สำหรับบริษัท บี.เอ.ที. จำกัด มีเงื่อนไขประการสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ เมื่อรับไปแล้วในระยะแรกต้องมีเจ้าหน้าที่สำคัญ เช่น หัวหน้าฝ่ายและผู้ช่วยประมาณ 10 นาย จะให้ความร่วมมือดำเนินงานในฐานะหัวหน้างานส่วนต่างๆ ต่อไปจนสิ้นปี ภายใต้การดำเนินงานควบคุมกรมสรรพสามิต โรงงานยาสูบที่รัฐบาลรวมซื้อไว้ เรียกว่า “โรงงานยาสูบ กรมสรรพสามิต” เรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า “Thailand Tobacco Monopony” ขณะนั้นได้แบ่งโรงงานเป็น 4 ฝ่าย คือ ฝ่ายโรงงาน, ฝ่ายขาย, ฝ่ายบัญชี และฝ่ายไร่

เมื่อเหตุการณ์ตึงเครียด ดร.ปรีดี พนมยงค์ เห็นว่าจะหลีกกันไม่ได้แล้ว ท่านก็ได้พยายามนำเงินมาชำระค่าโรงงานที่ยังค้างอยู่จนครบ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2484 เป็นเวลา 2 วันก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะเข้าประเทศไทย และไทยถูกดึงเข้าสู่สงครามสุดที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ การบริหารงานในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อขณะนั้น ถ้าจะเปรียบก็คล้ายกับว่ากรมสรรพสามิตทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการ (สงวน ตุลารักษ์ เป็นผู้รับมอบหมายอีกขั้นหนึ่งโดยปริยาย) กิจการงานทุกอย่าง เจ้าหน้าที่ บี.เอ.ที. จะต้องนำเสนอรับความเห็นชอบก่อนทุกครั้งเสมอไป เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการค้ายาสูบให้รายได้เป็นของรัฐและช่วยประชาชนชาวไทยมิให้เสียเปรียบแก่ชาวต่างชาติเป็นอย่างมากนั้นอีกต่อไป ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรัฐมนตรีคลัง จึงได้ดำเนินการออก พ.ร.บ. ยาสูบฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2484 มีมาตราหนึ่งระบุอย่างแจ้งชัดว่า “การประกอบอุตสาหกรรมซิกาแรตเป็นการผูกขาดของรัฐ” และได้ออกกฤษฎีกาวางระเบียบการยาสูบ ทั้งโรงงานและฝ่ายไร่ เป็นการช่วยราษฎรผู้ผลิตด้วย กระทรวงการคลังได้องค์การโรงงานยาสูบแห่งประเทศไทยกู้ไปเป็นทุนหมุนเวียนเป็นเงิน 5,500,000.00 บาท แต่งตั้งให้ นายสงวน ตุลารักษ์ เป็นผู้อำนวยการยาสูบเป็นคนแรก ใช้ร่วมทุกโรงงานที่รับซื้อไว้ก่อนแล้วและที่ซื้อไว้ใหม่ทั้งหมด รวมทั้งโรงงานและกิจการยาสูบของสำนักงานกลางบริษัทจังหวัด (ซึ่งตั้งไว้แล้วเมื่อ พ.ศ. 2483) เข้ามาไว้ด้วยกันทั้งหมด

3. ช่วงระยะ พ.ศ. 2484-2487

การดำเนินงานในระยะนั้นต้องประสบกับปัญหายุ่งยากนานาประการ เช่น ประชาชนไม่นิยมเมื่อทราบว่า การประกอบอุตสาหกรรมยาสูบได้เปลี่ยนมือจากบริษัท บี.เอ.ที. จำกัด มาเป็นของกรมสรรพสามิต การขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ในการผลิต เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาและการกักตุนบุหรี่ที่เกิดขึ้น เมื่อทหารญี่ปุ่นเข้ายึดโรงงานผลิตบุหรี่ที่บ้านใหม่ และสำนักงานใหญ่ของกองการยาสูบโดยความเข้าใจผิด

ปลายปี พ.ศ. 2484 เจ้าหน้าที่ บี.เอ.ที. ซึ่งบริหารงานอยู่ในโรงงานยาสูบตามเงื่อนไข บางคนได้หลบหนีออกไปนอกประเทศ และบางคนถูกทหารญี่ปุ่นควบคุมตัวไว้ เป็นเหตุให้กิจการยาสูบในระยะนี้ต้องหยุดดำเนินการจนกระทั่งได้มีการเจรจาทางการเมืองให้ทหารญี่ปุ่นถอนตัวไปจากโรงงานแล้วกองการยาสูบกรมสรรพสามิต จึงได้จัดเจ้าหน้าที่ไทยเข้าดำเนินงานแทนเจ้าหน้าที่ บี.เอ.ที.

"โรงงานยาสูบ" โดยเจ้าหน้าที่ไทยบริหารกิจการยาสูบระหว่างสงคราม (พ.ศ. 2485-2488) ต้องเปลี่ยนสังกัดครั้งหนึ่งเมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกา การจัดวางระเบียบราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2485 ให้โอนโรงงานยาสูบ กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังไปสังกัดกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม แต่ต่อมาโรงงานยาสูบจึงได้กลับมาสังกัดกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังตามเดิม (เมื่อเดือนตุลาคม 2486) ในปี 2485 นี้ โรงงานได้รับความยุ่งยากเดือดร้อนมาก จากภัยทางอากาศไปจนถึงปี 2487 และน้ำท่วมใหญ่ในกลางปี 2485 กับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นมาก

ในกลางปี 2486 เดือนกรกฎาคม คุณสงวน ตุลารักษ์ ผู้อำนวยการยาสูบ จะเดินทางไปอินโดจีนด้วยตนเองโดยเป็นที่ทราบทั่วกันว่า เพื่อติดต่อซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการผลิตซึ่งกำลังขาดแคลนอยู่ในเวลานั้น แต่ไม่นานก็ทราบกันว่า คุณสงวน ตุลารักษ์ หลบหนีไปจุงกิงเพื่อไปติดตาม คุณจำกัด พลางกูร เสรีไทยคนแรกที่ออกเดินทางไปติดต่อเสรีไทยนอกประเทศ แล้วหายไปไม่ส่งข่าวกลับมาตามนัด คุณสงวน ตุลารักษ์ ได้ออกไปทั้งครอบครัว นายแดง คุณะดิลก นายวิขูลางศ์ นายกระจ่าง ตุลารักษ์ เพื่อดำเนินการแทนนายจำกัด พลางกูร ต่อไป

ในระยะแรกนั้นได้แต่งตั้งให้ นายยุกต์ อัศวรักษ์ เป็นผู้รักษาการแทน ต่อมาทางรัฐบาลได้แต่งตั้ง พ.อ. ก้าน จำนงภูมิเวท เป็นผู้อำนวยการคนที่ 2 สืบแทนต่อไป ในปีเดียวกันนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้งหนึ่งโดยเลื่อนแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ ผู้ช่วยฝ่ายต่างๆ อีกทุกฝ่าย

พ.ศ. 2487 ประเทศไทยได้ถูกรังควาญทางอากาศมากขึ้น โรงงานยาสูบจึงได้ดัดแปลงโกดังเฮาะฮวง ออกเป็นโรงงานผลิตบุหรี่อีกโรงหนึ่ง โดยแยกบุคคลและเครื่องจักรไปจากโรงบ้านใหม่เพราะวัสดุอุปกรณ์เครื่องจักรหายากมาก เป็นโรงงานยาสูบถนนวิทยุ รวมเป็น 3 โรงงาน เริ่มเปิดทำงานตั้งแต่ต้นปีนั้น แต่จำนวนบุหรี่ที่ผลิตในปีนี้ได้ลดน้อยลงไปมาก เพราะต้องขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ที่สำคัญยิ่ง เช่น กระดาษมวนและใบยา กระดาษมวนได้หมดลงในเดือนธันวาคมซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปี จึงต้องหยุดชะงัดลงอย่างเด็ดขาด เลยต้องผลิตยาเส้นแทน

4. ช่วงระยะ พ.ศ. 2488 - 2490

พ.ศ. 2488 โรงงานยาสูบต้องปิด 2 โรงงาน คงเปิดทำการผลิตที่โรงงานบ้านใหม่เพียงแห่งเดียว เนื่องจากเกิดความอัตคัตขาดแคลนในหมู่ประชาชนมากขึ้น การกักตุนเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อจำหน่ายใน “ตลาดมืด” และในที่สุดก็ต้องมีการ “ปันส่วน” กันขึ้น มีคำหนึ่งซึ่งถ้าเราจำกันจนติดปากแพร่หลายเข้าใจกันได้ดี คำนั้นก็คือ “เซ็งลี้” นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์อันไม่เคยปรากฏมาก่อน เช่น การ “จี้” เกิดขึ้น

สิงหาคม ญี่ปุ่นถูกถล่มด้วย “ระเบิดปรมาณู” 2 ลูกซ้อน ห่างกันเพียง 3 วัน เป็นผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องยื่นขอสงบศึกในวันรุ่งขึ้น และไทยเราก็ได้ประกาศ “วันสันติภาพ” ในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 นั้นเอง และได้ประกาศการเข้าสู่สงครามของไทยเป็น “โมฆะ” ด้วยฝีมือและผลงานของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ และชาวคณะ “เสรีไทย” ทั้งหมด ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวไทยส่วนใหญ่เกือบทั้งประเทศ

พ.ศ. 2489 เมื่อสิ้นสงครามแล้ว โรงงานงานยาสูบ กรมสรรพสามิต จึงติดต่อกับบริษัท บี.เอ.ที. จำกัด ขอดำเนินการตามสัญญาและเงื่อนไขการซื้อขายกิจการเมื่อ พ.ศ. 2484 ต่อไป และได้ตกลงกันเมื่อ 23 มกราคม 2486 บริษัท บี.เอ.ที. จำกัด ยินยอมให้โรงงานยาสูบยืมเจ้าหน้าที่ของบริษัทมาร่วมงาน โดยโรงงานยาสูบจะต้องจ่ายเงินเดือนให้เจ้าหน้าที่ บี.เอ.ที. และจ่ายค่าป่วยการให้แก่บริษัทฯ เดือนละ 2,000 ปอนด์ กับค่าธรรมเนียม 3 เพนนีต่อใบยาที่ใช้ผลิตบุหรี่ทุกกิโลกรัมอีกด้วย คณะเจ้าหน้าที่ บี.เอ.ที. เริ่มปฏิบัติงานในเดือนเมษายน 2489 ได้ทำการสำรวจงาน ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงรูปงานหลายอย่างเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กิจการยาสูบจึงเข้าสู่สภาพเรียบร้อยเป็นปกติ

ความจริงข้อตกลงเดิมที บริษัท บี.เอ.ที. เรียกร้องไว้ครั้งแรกตามที่ตกลงกันไว้เมื่อก่อนสงครามนั้น มีมากมิใช่น้อย แต่เราจำเป็นต้องขอรับความร่วมมือช่วยเหลือจากเขา เพราะเป็นบริษัทใหญ่มีการค้าบุหรี่ทั่วโลก  วัตถุดิบและเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอุตสาหกรรมประเภทนี้อยู่ในมือของเขาเป็นส่วนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลา 3 ปีข้างหน้านั้น เป็นเวลาที่วัตถุดิบกำลังอยู่ในความขาดแคลน เราอาจไม่สามารถติดต่อกับบริษัทอื่นใดได้ ในที่สุดก็เห็นพ้องต้องกันว่าเราจำเป็นต้องง้อเขา การเสียและการได้มีผลพอคุ้มกันไว้ไปแก้ไขกันในภายหน้าจึงตกลงทำตามสัญญาเดิมนั้นไปก่อน

เจ้าหน้าที่ของบริษัท บี.เอ.ที ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปงานไปหลายประการ ถึงแม้จะมีผลงานสมบูรณ์ตามที่เขาต้องการ แต่พนักงานทั่วไปเห็นว่าเขาไม่ยอมปรึกษาหารือจากเจ้าหน้าที่ชั้นรองลงไปเลย ถ้าปรึกษาหารือกันบ้าง ผลงานและความร่วมมือที่ควรจะได้รับก็คงจะต้องมีมากยิ่งขึ้นอีก

เมื่อเจ้าหน้าที่บริษัท บี.เอ.ที. เข้ามาดำเนินการได้เพียงชั่วระยะเวลาเพียง 3 เดือน เหตุการณ์ที่ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยาสูบคือ “สไตรค์” ได้เกิดขึ้น เพราะขณะนั้น ค่าของเงินตกต่ำลงมากมาย แต่ค่าครองชีพทวีสูงขึ้นหลายเท่า ส่วนรายรับยังเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อยเท่านั้น ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และสถานพยาบาลที่จะให้มีขึ้นโดยไม่คิดมูลค่า ก็ยังไม่ได้ก่อตั้งขึ้น พนักงานจึงเรียกร้อง 2 ข้อนี้ทางโรงงานไม่สนใจ พนักงานจึงหยุดงานเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ตำรวจเข้ามาไกล่เกลี่ยครั้งแรกโรงงานไม่ยอม พนักงานจึงหยุดงานไป 1 สัปดาห์ โรงงานยอมให้ความเห็นใจ พนักงานจึงได้กลับเข้ามาทำงานใหม่

โรงงานยังผลิตบุหรี่จากโรงงานแห่งเดียวตามเดิม แต่ผลิตได้มากขึ้น มีเหตุการณ์ อัคคีภัยครั้งใหญ่เกิดขึ้นได้เผาผลาญโกดังของโรงงานเฮาะฮวงวอดวายจนหมดสิ้น และในตอนปลายปี คุณเที่ยง จินดาวัฒน์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบคนที่ 5

พ.ศ. 2490 กิจการยาสูบเจริญรุดหน้าเป็นลำดับ ผลิตบุหรี่จากโรงงานยาสูบไทยเวอร์จิเนีย 1 (บ้านใหม่) เพียงแห่งดียว ได้เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว ทั้งนี้เพราะความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น โรงงานจึงได้ปรับปรุงโรงงานยาสูบไทยพื้นเมือง (สะพานเหลือง) เข้าช่วยด้วย

ในเดือนกันยายน โรงงานยาสูบประกาศเปลี่ยนชื่อโรงงานทั้ง 2 ดังนี้

  1. โรงงานไทยเวอร์จิเนีย 1 ให้ชื่อ “โรงงานยาสูบสรรพสามิต 1” (ชื่อย่อ ร.ย.ส. 1)
  2.  โรงงานไทยพื้นเมือง ให้ชื่อ “โรงงานยาสูบสรรพสามิต 2” (ชื่อย่อ ร.ย.ส. 2)

ปีนี้ได้มีการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกคือ พ.ต.โผน อินทรทัต ตั้งครั้งหลังคือ ดร.สิริพงศ์ บุญหลง

5. ช่วงระยะ พ.ศ. 2491 - 2499

ช่วงระยะนี้เป็นระยะที่ พลตรีหลวงชำนาญยุทธศิลป์ มาเป็นผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ (คนที่ 8) เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2491 ซึ่งเป็นปีที่มีการพัฒนาก้าวหน้ามากที่สุด ท่านโอนมาจากตำแหน่งผู้จัดการใหญ่สำนักงานกลางบริษัทจังหวัด และท่านได้นำผู้ติดตามย้ายมาด้วยคือ นายวิม อิทธิกุล (ธ.บ.) คุณอุระมิลา สัตยะมานะ และ คุณเศรณี จินวาลา (ต.ม.ธ.ก. รุ่น 2) ท่านได้นำโรงงานยาสูบสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ก้าวหน้าไปสู่ความเจริญมากมาย

1) ด้านการบริหารและด้านการผลิต

พ.ศ. 2491 ปีนี้เป็นปีที่ 3 หรือเป็นปีสุดท้ายของบริษัท บี.เอ.ที. ได้เข้ามาร่วมบริหารงาน โรงงานยาสูบซึ่งเคยเกือบตกต่ำสุด ตั้งแต่ตอนสงครามโลกก็ได้กลับดีขึ้นโดยลำดับ ฝ่ายบัญชีได้ประสบความยุ่งยากในภาวะสงคราม งบดุลซึ่งขาดตั้งแต่ปี 2487 - 2491 ได้รับการตรวจสอบถูกต้องแล้วก็มีคำสั่งให้จ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงานทุกคนโดยทันที ในด้านความเป็นอยู่ของพนักงานชั้นผู้น้อยได้รับการเอาใจใส่เหลียวแลจากกองอำนวยการโดยใกล้ชิดเพิ่มขึ้น ได้ปรับปรุงโรงอาหารและก่อสร้างส้วมใหม่ให้ถูกสุขลักษณะดีขึ้น

พ.ศ. 2492 ตอนต้นปี บริษัท บี.เอ.ที. ได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมอีกหลายอย่าง ทางโรงงานแจ้งว่ายินดีเพิ่มให้บางอย่าง ขอให้เลิกเก็บเงินค่าธรรมเนียมเดิมและลดเงินที่ขอเพิ่มมาใหม่นั้นด้วย เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ บริษัทได้ถอนเจ้าหน้าที่ออกไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2492 โรงงานยาสูบก็ได้บริหารงานด้วยคนไทยล้วน ๆ เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ ภายใต้การนำของ พลตรีหลวงชำนาญยุทธศิลป์ กับทีมงานทั้งเก่าและใหม่ของท่าน ท่านได้วางแผนเพื่อปรับปรุงโรงงานให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

พ.ศ. 2493 ขณะนั้นกองอำนวยการตั้งอยู่ ณ ตึกที่ทำการของฝ่ายวิทยาศาสตร์ ที่สะพานเหลืองคับแคบมาก จึงได้ไปเช่าตึกหลังใหม่ที่ประตูน้ำ (บริเวณอาคารร้านนารายณ์ภัณฑ์ ราชดำริห์ปัจจุบัน) และดัดแปลงให้เหมาะสมแล้วย้ายงานด้านธุรการไปอยู่นั่น ทำให้สะดวกต่อการสั่งงานดำเนินไปโดยรวดเร็วดียิ่งขึ้น

ในปีนี้โรงงานยาสูบได้ซื้อที่ดินที่ตำบลคลองเตย เนื้อที่ประมาณ 641 ไร่  จากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และต้องจ่ายเงินค่ารื้อถอนและชดเชยจำนวน 3 ล้านบาท ให้กับผู้เช่าที่ดินอยู่เดิม ซึ่งส่วนใหญ่เลี้ยงสัตว์และทำสวนผักประมาณ 750 หลังคาเรือน เมื่อที่ดินตอนในว่างลงก็ดำเนินการปลูกสร้างอาคารต่าง ๆ ตามกำลังงานและลำดับความจำเป็น ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังรวมหน่วยต่าง ๆ ของโรงงานยาสูบมาเป็นแห่งเดียวกันใน “เมืองยาสูบ” ให้ได้โดยเร็ว

ในระหว่างปี พ.ศ. 2491 - 2493 ผมจำได้ว่าคุณเสวตร เปี่ยมพงศ์ศานต์ ศ.ม. (มธก.) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังขณะนั้น ได้พิจารณาเห็นว่าการจำหน่ายยาสูบนี้ แม้ว่ารัฐบาลได้ภาษีจากโรงงานทางด้านภาษีสรรพสามิตแล้ว ควรได้ภาษี   การขายทางด้านสรรพากรให้ครบถ้วน เพราะการจำหน่ายบุหรี่นี้แบ่งเป็น 4 ช่วงคือ

1) ขายส่งจากโรงงานไปยังร้านขายส่งในจังหวัดหรือตัวแทนใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ
2) ขายส่งจากร้านขายส่งในจังหวัดหรือตัวแทนใหญ่ในกรุงเทพฯ ไปยังร้านขายส่งช่วงในเขตหรืออำเภอต่างๆ
3) จากร้านขายส่งช่วงไปยังร้านขายปลีก
4) จากร้านขายปลีกไปยังผู้บริโภค

การเก็บภาษีตามหลักของกรมสรรพากร ควรเก็บภาษีทุกขั้นตอนจึงจะเป็นการยุติธรรมต่อรัฐ ท่านได้พิจารณาเห็นว่า เมื่อโรงงานยาสูบเป็นรัฐวิสาหกิจผูกขาดของรัฐ เพื่อสะดวกแก่การจัดเก็บภาษี จึงเห็นสมควรให้โรงงานหักภาษีที่ควรจะเก็บทุกขั้นตอนนั้นไว้ที่โรงงานต้นทาง นำส่งกรมสรรพากรทุกๆ เดือนเสียก่อน โดยผู้ขายบุหรี่ทุกขั้นตอนไม่ต้องไปเสียภาษีการขายบุหรี่อีก และเป็นระเบียบปฏิบัติตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

พ.ศ. 2493 เนื่องจากในปี 2493 นี้ คณะผู้บริหารได้แก้ไขเป็นคณะของคนไทยล้วนๆ เริ่มต้นดีแล้ว มีรายได้ในปีนี้ประมาณ 1,949 ล้านบาท มีรายได้จากยาสูบเพียงแห่งเดียว 230 ล้านบาท หรือประมาณ 11.7% ของงบประมาณทั้งหมด นี่คือผลงานรายได้ชิ้นสำคัญเริ่มแรกจากความคิดริเริ่มของดร.ปรีดี พนมยงค์

พ.ศ. 2494 - 2495 เริ่มก่อสร้างอาคารต่างๆ ใน “เมืองยาสูบ” ตามความจำเป็น และที่ได้ที่ดินทยอยมาตามผังบริเวณที่ได้กำหนดไว้แล้วนั้น รวมทั้งโรงงานผลิตซิกาแรต ร.ย.ส. 3. ด้วย (เว้นตึกอำนวยการ) ติดตั้งเครื่องจักรของโรงงานผลิตเพิ่มขึ้น ตั้งเครื่องจักรทันสมัยทุกอย่าง เช่น เครื่องมวน เครื่องตัดใบ เครื่องทำความชื้นใบยา เครื่องบรรจุซอง และเดินเครื่องไฟฟ้าจ่ายไฟโรงอบใบยา และโรงงานผลิตยาสูบ ฯลฯ พร้อมทั้งส่งเสริมให้พนักงานคิดประดิษฐ์เครื่องมือทุ่นแรงขึ้นใช้เองบางชนิด แทนการสั่งซื้อจากต่างประเทศ และเปลี่ยนใช้น้ำมันเชื้อเพลงกับหม้อน้ำแทนการใช้ฟืน

พ.ศ. 2496 ย้ายศูนย์อำนวยการโรงงานยาสูบจากถนนราชดำริ เข้ามาอยู่ในอาคารหลังหนึ่งซึ่งสร้างเพื่อใช้เป็นโรงงานช่างกลเป็นการชั่วคราวในบริเวณ “เมืองยาสูบ” ที่คลองเตย ถนนพระราม 4 ซึ่งกำลังสร้างหน่วยต่างๆ และติดตั้งเครื่องจักรอยู่ภายในบริเวณนี้ เช่น โรงงานผลิตบุหรี่ โรงอบใบยา โรงงานช่างกล โรงพิมพ์ คลังเก็บสินค้า ฯลฯ ได้ปรับปรุงด้านธุรการ โดยจัดตั้งฝ่ายจัดซื้อและรักษาพัสดุ จัดหาพัสดุเครื่องมือเครื่องใช้ทุกประเภทของอุตสาหกรรมยาสูบ ติดต่อสั่งจากต่างประเทศดำเนินการออกของเก็บและคุมโกดัง รวมทั้งการเบิกจ่ายพัสดุต่างๆ

พ.ศ. 2497 เปิดโรงงานผลิตบุหรี่แห่งที่ 3 ขึ้นในบริเวณ “เมืองยาสูบ” แห่งนี้ โรงงานใหม่นี้สามารถผลิตบุหรี่ได้มากถึง 200 กว่าล้านมวน และยังเพิ่มชนิดของบุหรี่อีกด้วย คือการผลิตบุหรี่กระป๋องชนิดบรรจุ 50 มวน ปีนี้โรงงานยาสูบได้เปลี่ยนมาสังกัดกระทรวงการคลังโดยตรง ได้จัดตั้งฝ่ายช่าง โดยโอนงานซ่อมของโรงงานทั้ง 3 แห่งมาขึ้นตรงฝ่ายเพื่อก่อให้เกิดความคล่องตัวเร็วในการปฏิบัติงาน และทำหน้าที่ควบคุมซ่อมแซ่มเครื่องจักรเครื่องยนต์ทุกชนิด ตลอดจนสร้างเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น เครื่องทุ่นแรงไว้ใช้เองด้วย และได้จัดตั้งโรงพิมพ์ เพื่อพิมพ์เอกสารต่างๆ ที่ใช้ในกิจการของโรงงานยาสูบ เช่น ซองบุหรี่ แบบฟอร์ม ปฏิทิน และสิ่งพิมพ์ต่างๆ ฯลฯ

นอกเหนือจากนั้น ยังได้โอนงานขนส่งจากบริษัทผู้รับเหมาในเขตพระนคร-ธนบุรี มาดำเนินการเอง (ส่วนในต่างจังหวัดให้ ร.ส.พ. เป็นผู้รับขนส่งมาจนปัจจุบันนี้) เรื่องการขนส่งยาสูบในกรุงเทพฯ นี้แหละเป็นแนวคิดของคุณเศรณี จินวาลา ซึ่งผมได้กล่าวถึงในตอนแรกแล้วนั้น ได้เข้าเป็น “หัวหน้าแผนกยานพาหนะ” เป็นคนแรก ได้แสดงฝีมือและความสามารถทำรายได้ให้โรงงานยาสูบเพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างมาก จึงได้เลื่อนขึ้นโดยลำดับ และเป็นลูกหม้อของโรงงานยาสูบได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้อำนวยการยาสูบเป็นคนแรกด้วย

2) ด้านการพัฒนาบุคลากรและด้านการจำหน่าย

ได้มีการจัดส่งพนักงานไปดูงานในต่างประเทศเพิ่มเติมเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์นำมาพัฒนางานของโรงงานยาสูบ รวมทั้งให้ทุนแก่ผู้ที่ศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อจะมาเป็นกำลังสำคัญบริหารงานของโรงงานยาสูบต่อไป

ด้านการจำหน่าย ท่านเปลี่ยนนโยบายการขายบุหรี่ โดยมุ่งเน้นการกระจายหรือออกสู่ท้องตลาดให้ทั่วถึง เพิ่มปริมาณการจำหน่ายบุหรี่ทั้งในและนอกประเทศ และพยายามผลิตบุหรี่ให้มีต้นทุนต่ำแต่คุณภาพให้ดีที่สุด โดยให้ผลกำไรส่วนใหญ่ตกแก่โรงงานยาสูบ เพื่อนำรายได้ส่งรัฐให้มาก จึงทำให้โรงงานยาสูบสามารถขยายตลาดบุหรี่ออกไปอย่างกว้างขวางและทำรายได้เพิ่มขึ้นมากทุกปี

3) ด้านสวัสดิการของพนักงาน การกีฬาและการรักษาพยาบาล

สโมสรพนักงานยาสูบก่อตั้งขึ้นเมื่อ 1 มกราคม 2493 โดยเปลี่ยนจากร้านค้ากลางของโรงงานยาสูบ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความสามัคคี เพื่อการค้าให้ยุติธรรม เพื่อการกีฬาและบันเทิง เพื่อส่งเสริมศีลธรรมจรรยาและวัฒนธรรมและเพื่อส่งเสริมการกุศล ท่านได้เข้าเป็นนายกสโมสรฯ เป็นคนแรก จัดจำหน่ายอาหารกลางวัน เครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภคนานาชนิด ทั้งเงินสดและเงินผ่อนแก่พนักงาน

ท่านได้ส่งเสริมการกีฬา เพื่อการสังคมและความสวัสดิภาพของพนักงานโดยร่วมกับร้านค้ากลาง จัดหาสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค (ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงหลังสงครามหาได้ยากมาก) นำมาจำหน่ายให้พนักงานเพื่อบรรเทาในการครองชีพ ต่อมาเมื่อพ้นวิกฤตการณ์จึงให้ยุบเลิกไปและตั้งฝ่ายสวัสดิการขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาผู้ขัดข้องในเรื่องการเงินได้กู้ยืมเงินและผ่อนชำระกัน และยังให้กู้เงินเพื่อปลูกบ้านด้วย

พ.ศ. 2497 เมื่อมีแผนยานพาหนะขึ้น ได้จัดให้มีรถบริการรับ-ส่งพนักงานระหว่างบ้านกับที่ทำงานทั้งช่วงเช้าและเย็น และต่อมาได้มีกิจการใหญ่โตกว้างขวางขึ้นจึงยกฐานะเป็นกองขนส่ง

ด้านการรักษาพยาบาลนั้น เมื่อปี 2491 ได้ดำเนินการก่อสร้างสถานพยาบาลของโรงงานยาสูบขึ้นบนที่ดินเช่าบริเวณถนนสาธรใต้ เพื่อให้บริการรักษาพยาบาลพนักงานและครอบครัว พ.ศ. 2493 ได้ซื้อที่ดินแปลงนี้เนื้อที่ 5 ไร่ 3 งานเศษ พร้อมอาคารประมาณ 11 หลัง ทั้งนี้เพื่อตัดปัญหาเรื่องค่าเช่าซึ่งมีราคาสูงขึ้นทุกปี พร้อมทั้งได้หาเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าท่านห่วงใยสุขภาพของพนักงานและครอบครัวเป็นอย่างมาก ในขณะนั้นยังมีค่ารักษาพยาบาลอยู่บ้างตามความจำเป็น

ต่อมาท่านได้เลิกเก็บเงินสมทบบำรุงสถานพยาบาล เพื่อบริการหรือทุกอย่างแก่พนักงานยาสูบ และได้ปรับปรุงกิจการพยาบาลทั้งด้านการก่อสร้างและด้านการรักษาพยาบาล สามารถรับคนไข้ได้ 50 เตียง

พ.ศ. 2498 ได้มีการวางศิลาฤกษ์ตึกอำนวยการโรงงานยาสูบ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม (สำเร็จในปี 2501)

พลตรี หลวงชำนาญยุทธศิลป์ ซึ่งเป็นผู้นำทีมงานที่ตั้งใจทำงาน โดยรับต่อจากฝรั่งต่างชาติซึ่งแก้ไขไปแล้วเปลาะหนึ่ง ภายหลังเลิกจะขอเรียกร้องค่าเสียหายจากสงครามเพิ่มขึ้นอีก ท่านไม่ยอมง้อให้ช่วยอีกต่อไป เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2492 พัฒนาจนก้าวหน้าขึ้นเป็นอย่างมากดังที่ปรากฏอยู่แล้วนั้น ประวัติและผลงานของท่านได้เผยแพร่ไปแล้วอย่างกว้างขวาง ท่านเป็นตัวอย่างแห่งชีวิตของนักสู้อย่างสมบูรณ์แบบ ตำแหน่งสูงสุดของท่านเป็นถึงรัฐมนตรี แต่ตำแหน่งที่ต่ำที่สุดคือนักโทษการเมือง ซึ่งมีโทษร้ายแรงถึงประหารชีวิต และเพราะเหตุนี้ท่านได้คุ้นเคยเห็นอกเห็นใจกันมาตลอด เวลาแห่งความทุกข์คือ เสด็จในกรม กรมขุนชัยนาทนเรนทร์ฯ ซึ่งในสมัยต่อมาได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีและเป็นผู้ดูแลสำนักงานทรัพย์สินส่วนกษัตริย์ด้วย ทำให้การเจรจาซื้อที่ดินแปลงคลองเตยของโรงงานยาสูบสำเร็จลงได้ จนกลายมาเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของพนักงานยาสูบทั้งปวงอยู่ในเวลานี้ได้

ท่านได้ทำงานต่อสู้ชีวิตมาอย่างหนักรวมทั้งการต่อสู้เพื่อโรงงานยาสูบในชีวิตบั้นปลายครั้งสุดท้ายนี้ ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรมไปเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2499

6) ช่วงระยะ พ.ศ. 2500-2505

พ.ศ. 2501 ย้ายศูนย์อำนวยการจากอาคารโรงงานช่างกลมาอยู่ที่ตึกอำนวยการใหม่ ซึ่งได้รับการตั้งชื่อว่า “ตึกชำนาญยุทธศิลป์” เป็นอนุสรณ์ที่ระลึกถึงคุณความดีของท่าน ตั้งเป็นศรีสง่าหน้าโรงงานยาสูบคลองเตย เปิดทำการในปีนี้เป็นศูนย์อำนวยการยาสูบมาจนทุกวันนี้

7) ช่วงระยะ พ.ศ. 2505-2511

ระยะนี้เป็นระยะที่ท่านผู้อำนวยการโรงงานยาสูบคนที่ 11 คือ พล.อ. หลวงสุทธิสารรณกร เข้ามาบริหารงาน ระยะนั้นเป็นระยะที่การค้าบุหรี่ในโลกกำลังรุ่งเรือง ยอดขายพุ่งสูงลิ่วขึ้นมากทั้งต่างประเทศและในประเทศ ผู้สูบยังไม่ปรากฏอันตรายให้เห็นชัดเจนนัก ไทยเราห้ามบุหรี่นอกเข้าในประเทศเขาก็ไม่สนใจเท่าไรนัก ภายในประเทศก็ขายดีแข่งกันตั้งร้านค้าบุหรี่เพิ่มมากขึ้น แย่งกันค่าส่งบุหรี่ในร้านส่งช่วงและส่งร้านปลีก ขายตัดราคากันเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เป็นกันมานานหลายปีแล้ว พอเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ครั้งใด ก็มักมีนักการเมืองหรือพรรคพวกของนักการเมืองมายื่นขอตั้งผู้ขายส่งบุหรี่เพิ่มมากขึ้นทุกที ไม่ว่าจังหวัดนั้นจะมีร้านขายส่งอยู่แล้วหรือไม่ โรงงานเกรงใจก็มักตั้งให้

จนถึงปลายสมัยของหลวงสุทธิสารรณกร ท่านเป็นผู้ใหญ่มากและเคยเป็นอาจารย์ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ยิ่งสมัยนั้นอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเกรงใจใครอีก ท่านพิจารณาเห็นว่า ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้อีกต่อไป แทนที่จะเป็นผลดีต่อการค้าบุหรี่จะเป็นผลเสียมากขึ้นท่านจึงวางระเบียบใหม่ให้รัดกุมยิ่งขึ้นคือ

1) ถ้าจังหวัดหรือเขตบุหรี่ใดมีร้านขายส่งบุหรี่อยู่แล้ว จะไม่ตั้งร้านขายส่งบุหรี่อีก
2) ร้านขายส่งบุหรี่ใดมีข้อผิดระเบียบโรงงานยาสูบ ให้แก้ไขให้ถูกต้องภายใน 1 ปี ถ้ายังไม่แก้ไขภายในกำหนดจะสั่งเลิกร้านขายส่งนั้น ให้ร้านขายส่งที่เหลือดำเนินการต่อไป
3) ถ้าทำผิดทุกร้านให้เลิกทั้งหมด ประมูลตั้วร้านขายส่งใหม่
4) ถ้าร้านขายส่งที่เหลือให้ทดลองขาย 1 ปี ถ้าไม่สามารถทำยอดขายได้ดีได้ ให้ยกเลิกเช่นกัน

โรงงานยาสูบได้ถือปฏิบัติกันมาจนปัจจุบันนี้

พ.ศ. 2511 โรงงานยาสูบได้เปิดโรงงานผลิตบุหรี่โรงที่ 4 (ร.ย.ส. 4)

8) ช่วงระยะ พ.ศ. 2511-2517

ระยะนี้เป็นระยะที่ คุณเศรณี จินวาลา ได้เลื่อนเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ และได้เลื่อนเป็นรองผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ และ “บริษัทจังหวัด” ซึ่งผมเป็นกรรมการผู้จัดการคือ บริษัทตากจังหวัดพาณิชย์ จำกัด ถูกยกเลิกการค้ายาสูบ เมื่อ พ.ศ. 2489 และเพิ่งได้รับสิทธิตั้งใหม่เป็นร้านขายส่งยาสูบเมื่อ พ.ศ. 2492 เป็นแห่งที่ 2 ในจังหวัดตาก (เติมบริษัทจังหวัดเป็นร้านขายส่งทั้งจังหวัดมีสาขาทุกอำเภอ) จึงต้องขายแข่งแย่งลูกค้ากันเป็นอย่างมาก เพราะเป็นจังหวัดที่กว้างยาวใหญ่ มีแต่ป่าภูเขา มีชุมชนน้อยมาก ในช่วงนั้นผมจึงมีปัญหาและมีกิจจำเป็นมากต้องเข้าโรงงานยาสูบ โดยปกติตัวแทนร้านขายส่งบุหรี่นั้น ถ้ามีปัญหาก็ต้องไปปรึกษาผ่านฝ่ายขายขึ้นไปก่อน แต่เผอิญทั้งหัวหน้ากองกฎหมาย หัวหน้าฝ่ายกลาง และรองผู้อำนวยการยาสูบทั้ง 3 ท่านเป็นเพื่อนผม รวมทั้งนายตรวจบุหรี่แทบทุกคนรู้จักผมดี ทราบว่าขณะนั้นมีคนเขม่นผมหลายคน เผอิญงานที่ผมดำเนินไปเพื่อแก้ไขปัญหาของผมเองนั้นสำเร็จรวดเร็ว โดยเป็นประโยชน์ต่อร้านขายส่งยาสูบโดยส่วนรวมด้วยนั้น ทำให้ผมได้รับคำนินทาน้อยลงไปได้บ้าง

เรื่องมีอยู่ว่า มีเถ้าแก่ใหญ่ในเมืองตากคนหนึ่งและเป็นร้านขายส่งช่วงบุหรี่ของบริษัทด้วย คิดแกล้งจะให้สถิติการจำหน่ายของบริษัทตกต่ำลง โรงงานจะได้เลิกบริษัทจังหวัดเป็นตัวแทนขายบุหรี่ในเขตนี้เสีย เขาจึงสั่งบุหรี่จากกรุงเทพฯ เข้ามาขายในจังหวัดตาก ทำให้ยอดขายบุหรี่ของบริษัทตกต่ำ

ผมจำเป็นจะต้องแก้ปัญหาให้ทางกรมสรรพสามิตสั่งสรรพาสามิตจังหวัดตามระเบียบของโรงงานยาสูบ โดยจะต้องสั่งให้ร้านของส่งช่วงจะต้องซื้อจากร้านขายส่งใหญ่ในเขตคนเดียวเท่านั้นให้ได้ มิฉะนั้นบริษัทจะขายบุรี่ตามระเบียบยาสูบไม่ได้ถ้ามีผู้แกล้งร้านขายส่งใหญ่อยู่เช่นนั้น ผมจึงไปพบท่านรองผู้อำนวยการยาสูบคือ คุณเศรณี จินวาลา เล่าพฤติการณ์ให้ทราบ เพื่อขอหนังสือจากโรงงานไปขอให้กรมสรรพสามิตให้ออกคำสั่งให้สรรพสามิตจังหวัดยึดถือระเบียบของโรงงานยาสูบ โดยสั่งให้ร้านขายส่งช่วงยาสูบต้องสั่งซื้อยาสูบจากร้านขายส่งใหญ่ในจังหวัดเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ท่านรองฯ ได้เตือนผมว่า เขาจะทำให้หรือเพราะเขาไม่เคยได้ประโยชน์พิเศษอะไรจากพวกเราเลย ผมว่าผมรู้จักคุ้นเคยกับรองอธิบดีกรมสรรพสามิตท่านหนึ่งคือ คุณจรญ ประกาศสุขการ เป็น ธ.บ. รุ่นพี่ นิสัยดี ถ้าผมไปเล่าเหตุผลที่ผมจำเป็นต้องไปขอความช่วยเหลือนั้น ท่านคงจะเห็นใจทำให้ได้ คุณเศรณี จินวาลา จึงทำหนังสือถึงอธิบดีกรมสรรพสามิต ส่งมอบให้ผมถือไปทันที

วันรุ่งขึ้นผมจึงไปหาท่านรองอธิบดีกรมสรรพสามิตลูกโดมรุ่นพี่คนนั้น เล่าเหตุผลจำเป็นของผมให้ท่านทราบ ท่านรับทราบแล้วสั่งเจ้าหน้าที่ค้นดูระเบียบของกรมสรรพสามิต ออกคำสั่งไปยังทุกจังหวัดถือเป็นระเบียบปฏิบัติทันที ส่วนของจังหวัดตากนั้นท่านได้จัดทำให้ผมถือไปในวันนั้นเอง

ปัญหาบางประการที่ผมได้ช่วยแก้ไขให้โรงงานยาสูบได้โดยบังเอิญ ทำให้เป็นผลดีแก่โรงงานยาสูบและร้านขายส่งที่อยากจะปฏิบัติตามระเบียบโรงงานยาสูบแต่ทำไม่ได้เพราะเหตุนั้น นายตรวจบุหรี่ได้เล่าให้ผมฟังในภายหลังว่าได้ถูกถามเป็นการใหญ่ ในขณะนั้น คุณชวลิต ศรียานนท์ เป็นหัวหน้าสายตรวจบุหรี่ (ภายหลังได้เป็นผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายขาย) ได้ไปพบเหตุการณ์ที่จังหวัดตากพอดี เป็นผลดีแก่เอเย่นต์ที่สุจริตชื่นชอบเป็นอย่างมาก แต่เป็นที่เกลียดชังของเอเย่นต์ผู้ไม่สุจริตอย่างมากเช่นกัน เรื่องนี้จึงเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่โรงงานยาสูบที่เกี่ยวข้องรวมทั้งเอเย่นต์ต่างๆ รู้จักผมและ “บริษัทจังหวัด” เล็กๆ แห่งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมช่วยโรงงานยาสูบโดยส่วนรวมด้วย ตามความจำเป็นของผมในขณะนั้น และ “บริษัทตากฯ” ก็ได้ดำเนินการค้าบุหรี่จนปัจจุบันนี้

9. ช่วงระยะ พ.ศ. 2517-2523

ช่วงระยะนี้เป็นระยะที่ คุณเศรณี จินวาลา ได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้อำนวยการโรงงาน ยาสูบ (คนที่ 14) จนปลดเกษียณ

ในช่วงสมัยที่คุณเศรณี จินวาลา เป็นผู้อำนวยการยาสูบตอนต้นๆ นั้นมีเหตุการณ์สำคัญขึ้นในบริษัทต่างๆ ซึ่งทำให้กระทบกระเทือนถึงโรงงานยาสูบและตัวแทนซึ่งเป็นนิติบุคคลทั่วประเทศ คือเรื่องการเก็บภาษีการค่าซิกาแรตของโรงงานยาสูบ ได้เก็บภาษีต้นทางที่โรงงานยาสูบทุกขั้นตอนและโรงงานฯ ได้นำส่งชำระกรมสรรพสามิตทุกๆ เดือนมาแล้วนั้น สรรพสามิตจังหวัดตากได้เรียกผมไปพบให้ผมดูประมวลรัษฎากรฉบับใหม่ ชี้ให้ผมดูว่าเรื่องนี้จะทำได้เฉพาะต่อบุคคลธรรมดาเท่านั้น เพราะเขาแบ่งเรื่องการชำระภาษีเป็นหมวด เรื่องนี้มีอยู่เฉพาะในหมวดภาษีบุคคลธรรมดา ไม่มีในหมวดนิติบุคคล ฉะนั้นเรื่องนี้จึงใช้ไม่ได้สำหรับนิติบุคคล ขอให้ชำระภาษีไปก่อน แล้วค่อยขอรับคืนในภายหลังเมื่อได้รับอนุมัติให้ใช้ระบบบัญชีแบบนี้ต่อไปได้ มิฉะนั้นจะต้องถูกยื่นฟ้องตามกฎหมายบริษัทฯ จึงต้องยื่นชำระไป (ประมาณสี่หมื่นบาทเศษ)

ผมได้รายงานไปโรงงานยาสูบ และตามเรื่องไปพบ คุณวิม อิทธิกุล หัวหน้ากองกฎหมาย ผมต่อว่าทำไมทำให้พลาดได้ ได้รับคำตอบว่าไม่รู้เรื่องการทำประมวลรัษฎากรใหม่แยกเรื่องบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลออกจากกัน แต่รับเรื่องไปช่วยจัดการแก้ไขกับกรมสรรพากรให้ จึงได้รับการแก้ไขใหม่ โดยสั่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีตั้งงบยอดบัญชีการหักภาษีที่ส่งชำระทุกๆ เดือนนั้นให้รวบยอดแต่ละรายเป็นปีๆ ทุกวันสิ้นปีไปให้ทางบริษัทฯ ทุกแห่ง ทำให้ฝ่ายบัญชีต้องทำงานเพิ่มขึ้นอีกไม่ใช่น้อย จึงแก้ไขไปได้

เนื่องจากอุตสาหกรรมบุหรี่ซิกาแรตในประเทศไทยเป็นการผูกขาดโดยรัฐซึ่งโรงงานยาสูบเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง และอาจจะมีการขายบุหรี่ต่างประเทศได้ถ้าโรงงานมีความประสงค์

ในขณะนั้นเรื่องพิษภัยของบุหรี่ยาสูบได้ปรากฏแพร่หลายกันทั่วโลกแล้ว ยอดขายบุหรี่จึงตกลงมากแทบทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทย ในอเมริกาและยุโรปได้เกิดเรื่องร้ายแรงขึ้นก่อน จึงมีกฎหมายควบคุมขึ้นก่อนมากขึ้นโดยลำดับ โรงงานยาสูบจึงต้องดิ้นรนส่งบุหรี่ออกไปขายต่างประเทศในระยะนั้นผมได้ทราบข่าวว่าตัวแทนบุหรี่ต่างประเทศได้เข้าพบรัฐบาล เพื่อขอให้โรงงานยาสูบนำบุหรี่ต่างประเทศเข้ามาขายด้วย ถ้าเป็นเช่นนี้จะทำให้ยอดขายของโรงงานยาสูบและตัวแทนขายส่งลดลงมาก ท่านผู้อำนวยการฯ ก็ไม่อยากจะนำเข้ามาขาย แต่ท่านพูดฝ่ายเดียวรัฐบาลอาจจะไม่รับฟัง ท่านจึงอยากขอให้ช่วยเขียนความเห็นในเรื่องนี้ช่วยส่งให้โรงงานยาสูบเพื่อรวบรวมส่ง ร.ม.ต. คลังฯ เพื่อทักท้วงต่อไป ขณะนั้น ผมมีตำแหน่งประธานสภาจังหวัดตากด้วย จึงได้ชักชวนหลาย ๆ จังหวัดรีบส่งไปให้โรงงานยาสูบ ทำให้รอเรื่องการขายบุหรี่ต่างประเทศไปได้หลายปี

พ.ศ. 2517 รัฐบาลเริ่มมีนโยบายเกี่ยวกับบุหรี่ซิกาแรต ครั้งแรกได้มีระเบียบคำสั่งให้มีการตีพิมพ์คำเตือนจากข้อเสนอแนะของแพทย์สมาคม โดยผ่านทางคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่า “บุหรี่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ”

พ.ศ. 2519 กทม. ได้กำหนดเทศบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามสูบบุหรี่และติดเครื่องหมาย ห้ามสูบบุหรี่ในโรงภาพยนตร์และในรถเมล์ขนส่งรวม 5 ข้อ ถ้าฝ่าฝืนมีโทษปรับ 500-5000 บาท

พ.ศ. 2522 โรงงานยาสูบได้เปิดดรงงานผลิตบุหรี่โรงที่ 5 (ร.ย.ส.5) ใน “เมืองยาสูบ” ขึ้นอีก 1 โรง

10. ช่วงระยะ พ.ศ. 2524-2534

พ.ศ. 2525 มีการเปลี่ยนคำเตือนบนซองบุหรี่เป็น “บุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ”

พ.ศ. 2528 ห้ามสูบบุหรี่ในรัฐสภา

พ.ศ. 2529 ห้ามผู้โดยสารในรถสาารณะสูบบุหรี่ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 5,000 บาท

พ.ศ. 2531 ในระยะก่อนหน้านี้และในระยะนี้มีข่าวเกี่ยวกับเรื่องพิษของการสูบบุหรี่ขึ้นมากมายทั่วโลก ดูจะเป็นพิษมากกว่าเรื่อง “สุรา” เสียด้วยซ้ำไปเพราะการดื่มสุรานั้นถ้ารู้จักดื่มอย่างมีกาลเทศะพอสมควรก็อาจจะเป็นประโยชน์ได้ ส่วนการสูบบุหรี่นั้นพิษซึมเข้าไปทีละเล็กน้อยกว่าจะรู้สึกได้ก็มักจะสายเสียแล้ว ถ้าแก้ไขไม่ทันก็มักจะถึงสิ้นชีวิตในไม่ช้านัก ทางต่างประเทศที่เจริญแล้วจึงมีกฎควบคุมกันอย่างมากมาหลายปีแล้ว ไทยเราจึงเริ่มมีกฎควบคุมขึ้นในปี 2517-2529 มีออกมาควบคุมบังคับตามที่กล่าวมาแล้วรวม 2 ฉบับ ปีนี้มี 4 ฉบับ และยังมีในปีต่อไปอีกหลายฉบับซึ่งจะได้กล่าวในต่อไป

ในระยะ พ.ศ. 2531 นี้ รัฐมีแนวนโยบายจะย้ายโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ออกจากเขตกรุงเทพฯ เพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดต่างๆ ขณะนั้นโรงงานยาสูบกำลังมีรายได้ดีอยู่แล้ว และยังไม่มีอุปสรรคร้ายแรงใดๆ ในระยะนี้  มีเรื่องเป็นห่วงควรจะรีบดำเนินการอยู่อย่างเดียวคือ เรื่องโรงพยาบาลยาสูบ คือหลังจากคุณหลวงชำนาญยุทธศิลป์ ได้จัดซื้อที่ดินถนนสาธร จัดสร้างสถานพยาบาลยาสูบ ต่อมาในปี 2521 ได้ปรับปรุงฐานรากอาคารรักษาครั้งใหญ่ เสร็จเมื่อปี 2527 ไม่สามารถให้สมบูรณ์ได้ เนื่องจากใช้งานมา 40 ปีแล้ว จำเป็นจะต้องสร้างใหม่ให้เป็นตึกหลายชั้นเพื่อประโยชน์อื่นอีกด้วย

คงเป็นจากเหตุผลทั้ง 2 ประการนี้ โรงงานยาสูบจึงคิดจะหาซื้อที่ใหม่นอกเขตกรุงเทพฯ ให้พอทำ “เมืองยาสูบ” ใหม่ โดยรวมทุกโรงงานและโรงพยาบาลใหญ่แห่งใหม่ด้วย ไม่ไปไกลจากกรุงเทพฯนัก จึงจัดซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว ประมาณ 600 ไร่เศษ ไว้เรียบร้อยแล้ว จึงเสนอขออนุมัติต่อรัฐบาลเพื่องดส่งรายได้บางส่วน ทยอยจัดสร้างโรงงานตามความจำเป็นรีบด่วนก่อนหลัง แต่ไม่ได้รับคำสั่งอนุมัติ เพราะขณะนั้นรัฐยังต้องใช้เงินจำนวนมาก ยิ่งในระยะหลังนี้ยอดขายบุหรี่ลดลงมากด้วยเหตุผลหลายประการรวมทั้งการถูกต่างชาติบังคับให้ยาสูบต่างชาตินำเข้ามาขายในประเทศไทยด้วย คงจะยังไม่มีโอกาสย้ายไปอีกนาน โรงพยาบาลซึ่งกำลังจะพังจำเป็นต้องรีบเตรียมการเพื่อจัดสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ให้มีมาตรฐานสมบูรณ์อยู่ใน “เมืองยาสูบ” นี้ โดยเริ่มวางโครงการ แผนผัง และทำแบบแปลนตั้งแต่ พ.ศ. 2532

พ.ศ. 2532 ถนนรัชดาภิเษก อยู่ทางทิศเหนือของโรงงานยาสูบ ทางราชการได้ขอแบ่งที่ดินของโรงงานฯ ไปสร้างหอประชุมแห่งชาติ ศูนย์สิริกิติ์ประมาณ 47 ไร่ และได้ขอเพิ่มอีกในปี 2535 ประมาณ 5 ไร่ 3 งาน รวมประมาณ 53 ไร่เศษ

พ.ศ. 2532 ปีนี้ทางราชการได้วางระเบียบออกกฏเกี่ยวกับยาสูบ 5 ฉบับ

เรื่องบุหรี่ต่างประเทศนั้น หลังจากที่ได้มีการสั่งไม่อนุมัติให้มีการนำเข้าซึ่งได้กล่าว ไว้ในตอนที่ 9 แล้ว ต่อมาภายหลังได้มีการอนุญาตให้มีการนำเข้ามาวางจำหน่ายในประเทศได้อยู่ช่วงหนึ่ง แต่ถูกยกเลิกการนำเข้า เมื่อปี พ.ศ. 2524 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2530 ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยพยายามใช้กฎหมายการค้า มาตรา 301 กับประเทศไทย โดยการกล่าวหาว่าประเทศไทยกีดกันการค้าในอุตสาหกรรมบุหรี่ซิกาแรตและพยายามที่จะบีบบังคับให้ไทยเปิดตลาดบุหรี่ซิกาแรต ในที่สุดความขัดแย้งดังกล่าว ได้ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะลูกขุน ในข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดภาษีศุลกากรและการค้า (GATT) ซึ่งคณะลูกขุนได้ตัดสินให้ประเทศไทยเป็นฝ่ายแพ้ ต้องทำการเปิดตลาดบุหรี่ซิกาแรตโดยต้องมีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันทั้งบุหรี่ในประเทศและบุหรี่ต่างประเทศเพื่อมาจำหน่ายในประเทศไทยโดยถูกต้องตามกฎหมายเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2534

11. ช่วงระยะ พ.ศ. 2535-ปัจจุบัน

พ.ศ. 2535 ปีนี้ทางราชการได้มี พ.ร.บ. และระเบียบออกกฎเกี่ยวกับยาสูบ 3 ฉบับ

พ.ศ. 2536 โรงงานฯ ได้เตรียมการเพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลยาสูบแห่งใหม่ใน “เมืองยาสูบ” โดยใช้สถานที่ตั้ง ซึ่งเดิมเป็นสนามฟุตบอลของโรงงานยาสูบเนื้อที่ประมาณ 16.5 ไร่ เป็นโรงพยาบาลขนาด 120 เตียงเท่าเดิม ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อ 13 พฤษภาคม

พ.ศ. 2537 โรงงานยาสูบได้จัดงานฉลองครบรอบ 100 ปี พลตรีหลวงชำนาญยุทธศิลป์ ผู้นำความเจริญให้โรงงานยาสูบสู่จุดสูงสุดใน “เมืองยาสูบ” ก้าวหน้ารุ่งเรือง อยู่ในปัจจุบันนี้

พ.ศ. 2539 ได้ทำพิธีเปิดอาคารโรงพยาบาลใหม่เมื่อ 25 มิถุนายน เป็นอาคารขนาด 12 ชั้น ชั้นที่ 1-3 เป็นที่ตรวจรักษาผู้ป่วยนอก ที่ทำการบริการ และหน่วยงานสนับสนุน ชั้นที่ 4 เป็นห้องผ่าตัด ห้องคลอด หน่วยดูแลผู้ป่วยหนัก หน่วยดูแลทารกแรกเกิด และหน่วยไตเทียม ชั้นที่ 5 เป็นหน่วยโรงครัวและสโมสร ชั้นที่ 6-8 เป็นหอพักผู้ป่วยสูตินรีเวช กุมารเวช อายุรกรรมและศัลยกรรม ชั้นที่ 9-12 เป็นส่วนหอพักแพทย์และพยาบาล เพื่อแก้ปัญหาการปฏิบัติงานรักษาพยาบาลฉุกเฉินนอกเวลาทำการ

พ.ศ. 2540 ทางราชการได้วางระเบียบกฏเกี่ยวกับยาสูบอีก 3 ฉบับ

สรุปผลการบริหารงาน เริ่มต้นกำเนิดมา ท่านจะเห็นได้ว่า ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้วางแผนเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2481 เหมาะสมกับเหตุการณ์ระดับโลกได้ และมีผู้ร่วมมือบริการงานสานต่อมาได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าน พลตรีหลวงชำนาญยุทธศิลป์ ผู้ได้เข้ามาดำเนินงานในช่วงหัวต่อจากฝรั่ง บี.เอ.ที. ตั้งแต่ พ.ศ. 2491 เป็นระยะนานที่สุด ถึง พ.ศ. 2499 ได้เสาะหาที่ดินอันเหมาะสมจัดสร้าง “เมืองยาสูบ” ก้าวหน้าไปได้ด้วยดี ยังไม่ทันเสร็จสมบูรณ์ท่านก็ด่วนจากไปเสียก่อน เพิ่งมาเสร็จสมบูรณ์ในปี 2539 นี้เอง อาคารโรง ร.ย.ส.1 นั้นหลังจากสร้าง ร.ย.ส.5 เสร็จ จึงปิดโรงงาน ร.ย.ส.1 เป็นโกดังเก็บของไว้ก่อน ส่วนโรงงาน ร.ย.ส.2 สะพานเหลืองนั้นทางราชการได้ใช้เป็น “ศาลแรงงานกลาง” และต่อมาได้จัดสร้างเป็น “ส.น.ง. สรรพากรเขต 12” เพิ่มขึ้น ปัจจุบันผลิตยาสูบขึ้นในโรงผลิตยาสูบแห่งใหม่คือ โรง 3 โรง 4 และโรง 5 เท่านั้น

ปัจจุบันโรงงานยาสูบมีหน่วยงาน 14 ฝ่าย มีพนักงานประมาณ 7,000 คน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ส่วนภูมิภาคนั้นมีอยู่ในภาคเหนือและภาคอีสาน รวม 9 แห่ง คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ขอนแก่น (บ้านไผ่) นครพนมและหนองคาย

ผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2541 โรงงานยาสูบมีรายรับ 41,050.00 ล้านบาท รายจ่าย 38,608.72 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 4,441.31 ล้านบาท และโรงงานยาสูบได้ำส่งเงินรายได้แก่รัฐ.ในปีนี้เป็นรูปแบบต่างๆ อีก 7 รายการ รวม 32,698.28 ล้านบาท นี่คือผลงานสืบเนื่องมาจากความคิดริเริ่มของ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์

ในอารยประเทศที่ปรากฏพิษภัยของบุหรี่ ได้ออกมาชี้แจงบังคับแก่ประชาชนในถิ่นตนมานานแล้ว แต่ในเมืองไทยเราได้เริ่มออกกฎเกณฑ์บังคับแก่โรงงานบุหรี่ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เป็นต้นมาจนถึง พ.ศ. 2540 รวมกว่า 20 ฉบับเพื่อปรามการค้าและการสูบบุหรี่ ชักชวนให้เลิกสูบบุหรี่ให้มากที่สุด มีผู้งดสูบไม่ได้ พูดเชิงประชดกันว่า “เมื่อรัฐเห็นพิษภัยของบุหรี่ก็ควรเลิกโรงงานยาสูบเสียสิ มัวมาห้ามกันอยู่ทำไม” ท่านลองนึกดูว่าในด้านเศรษฐกิจจะเกิดอะไรขึ้นลองพิจารณาดูยอดการขายบุหรี่ตั้งแต่ไทยเราถูกบังคับให้บุหรี่ต่างประเทศเข้ามาขายในไทยเราตั้งแต่ พ.ศ. 2535 นั้น ไทยเราเสียผลประโยชน์ให้ชาวต่างประเทศมากเพียงใด โดยเฉพาะยอดในปี พ.ศ. 2541 นี้ลดลงมากด้วยเหตุหลายประการ และคงจะลดลงไปอีกมาก ไม่เฉพาะแต่การงดสูบบุหรี่ของคนไทยเราเท่านั้น ขอให้ช่วยกันพิจารณาาแก้ไขกันให้ดีๆ ด้วย

ในด้านเศรษฐกิจ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยนั้น ได้พิจารณาโดยรอบคอบ เห็นควรให้การผลิตบุหรี่เป็นอุตสาหกรรมผูกขาดของรับต่อไปดังเดิมอีก นอกจากนี้ยังได้พิจารณาด้วยว่า บุหรี่ไม่เป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิต คนเราไปสูบเองเพราะความอ่อนแอตามสังคมที่ฉาบฉวย จึงทำให้ราษฎรผู้บริโภคนั้นยอมเข้าไปเสียภาษีโดยไม่รู้ตัว ใครสูบมากก็เสียภาษีมาก ใครสูบน้อยก็เสียภาษีน้อย ใครไม่สูบก็ไม่ต้องเสียภาษี ประเภทนี้ราษฎรไม่เดือดร้อน แต่รัฐได้ภาษีมาก ยิ่งกว่านั้น

โรงงานยาสูบของรัฐยังจะได้ช่วยประเทศในการอาชีพปลูกยาสูบ และโรงงานของรัฐรับซื้อใบยาจากราษฎรเป็นการเพิ่มอาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่ราษฎรอีกประการหนึ่ง

เรื่องเกษตรกรรมเกี่ยวกับใบยาสูบ อันเป็นหัวใจสำคัญเกี่ยวกับการผลิตบุหรี่ของโรงงานยาสูบนี้เป็นเรื่องของ “ฝ่ายไร่” อันเป็นฝ่ายสำคัญยิ่งอีกฝ่ายหนึ่ง ผมนำมากล่าวในตอนท้ายนี้ ไม่ใช่เพราะผมเห็นว่ามีความสำคัญน้อยฝ่ายอื่น แต่เป็นเพราะฝ่ายนี้มีข้อมูลซึ่งคุณรัตน์ ศยามานนท์ ได้รวบรวมเชิงวิชาการไว้มากที่สุด ผมจึงได้สรุปไว้อย่างย่อๆ ให้เห็นความสำคัญของเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ซึ่งทางโรงงานยาสูบได้ตั้งสำนักงานยาสูบถึง 9 แห่งอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้นแล้วนั้น

เรื่องเกี่ยวกับใบยาสูบนี้ บริษัท บี.เอ.ที. ได้ทดลองนำมาปลูกในภาคเหนือเริ่มได้ผลขึ้นในระดับหนึ่ง เมื่อเริ่มต้นดำเนินการ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ทุ่มเทเวลาและความสามารถในเรื่องใบยาและโรงงานยาสูบนี้อย่างใกล้ชิด หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่ารัฐมนตรีคลังผู้นี้ได้ทดลองผสมยาสูบและทดลองสูบเอง จนรู้สึกค่อนข้างมึนเมา จนเกือบสิ้นปี พ.ศ. 2484 การชำระราคาโรงงานยาสูบที่รัฐจัดซื้อนั้นก็ยังไม่หมด เหตุการณ์ของโลกในเวลานั้นมืดมนลงทุกที ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้คำนึงถึงเหตุการณ์เหล่านี้อยู่ตลอดเวลา ท่านจึงหาเงินมาชำระจนครบก่อนที่ญี่ปุ่นจะบุกเข้าสู่ไทย จึงนับเป็นเคราะห์ดีของประเทศไทย พระสยามเทวาธิราชคุ้มครองหรือการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ อย่างใดก็ได้ ช่วยไม่ให้ชาติไทยเสียหาย รายได้ทางอ้อมจากประเภทต่างๆ    ที่กล่าวนี้ ได้ทำให้ประเทศไทย มีรายได้ขึ้นอีกเป็นอันมาก เป็นคุณประโยชน์แก่ราษฎรนานาประการ แหละนี่ก็คือ การมีรัฐบุรุษรู้จักใช้นโยบายภาษีให้เป็นคุณแก่ประเทศชาติ ราษฎรและประชาธิปไตย แม้จะได้ไม่เป็นที่ แต่ก็นับได้ว่าได้ผลเป็นอเนกอนันต์

โรงงานยาสูบส่งเสริมเกษตรกรด้านยาสูบในชนบทเป็นอย่างดีมากมาตั้งแต่เริ่มตั้งโรงงาน พ.ศ. 2482 โดยผ่าน “ฝ่ายไร่” ปัจจุบันมีความสำคัญยิ่งในการกระจายรายได้สูง เกษตรกรในส่วนภูมิภาค ขณะนี้มีอยู่กว่า 500,000 ครอบครัวในภาคเหนือและภาคอีสาน บนเนื้อที่ประมาณ 180,000 ไร่ โดยโรงงานยาสูบมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ด้วยการให้คำแนะนำตลอดจนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีเพาะปลูกที่ถูกต้อง ให้แก่เกษตรกร นับได้ว่าใบยาสูบเป็นพืชชนิดเดียวในประเทศไทยที่มีราคาประกันที่แน่นอน กำหนดไว้ล่วงหน้าก่อนการเพาะปลูกใบยาสูบจึงเป็นพืชเศรษบกิจที่มีราคาขายแน่นอน แต่ละครอบครัวจะเพราะปลูกยาสูบประมาณ 7-10 ไร่ ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน มีรายได้หลังการเก็บเกี่ยวประมาณ 1-2 แสนบาทต่อปี ดังนั้นการเพาะปลูกยาสูบจึงเป็นอาชีพที่ให้หลักประกันแก่เกษตรกรได้อย่างดี

จากผลที่โรงงานยาสูบได้ให้ความช่วยเหลือและพัฒนาชาวไร่ยาสูบอยู่ตลอดเวลา ให้ความรู้สมัยใหม่ครบวงจร ทำให้ชาวไร่ยาสูบมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากการเพาะปลูกใบยาและการรับจ้างแรงงาน จึงเห็นได้ว่าโรงงานยาสูบได้มีส่วนสำคัญยิ่งในการทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนภายในท้องถิ่นเป็นจำนวนมากมหาศาล อันมีผลไปสู่การพัฒนาสังคมและประเทศชาติด้วยเช่นกัน

ตลอดระยะเวลากว่า 5 ทศวรรษ โรงงานยาสูบได้มีปณิธานอันแน่วแน่ในการสนองนโยบายของรัฐเพื่อผลิตและจำหน่ายยาสูบให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดผู้บริโภคทุกระดับ รวมทั้งได้พัฒนาคุณภาพของยาสูบไทยแต่ละตราให้สอดคล้องกับรสนิยมของผู้บริโภคเป็นอย่างดี อาทิ ได้พยายามขจัดนิโคตินและทาร์ที่มีอยู่ในบุหรี่ให้ลดน้อยลง เพื่อเป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค โดยนำเทคโนโลยีอันทันสมัยเข้ามาใช้ในขบวนการผลิตทุกขั้นตอน โดยมีมาตรการในการลดพิษภัยของบุหรี่ อีกทั้งยัง  ห่วงใยผู้บริโภคบุหรี่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะอีกด้วย

ปัจจุบันนี้โรงงานผลิตบุหรี่ตามความต้องการของผู้บริโภคที่ยังหยุดสูบไม่ได้เท่านั้น ไม่มีเจตนาที่จะชัดชวนให้ใครมาสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันพนักงานยาสูบทุกคนต่างตระหนัก ถึงการคืนกำไรในทุกรูปแบบให้แก่สังคมมากที่สุด มุ่งดำเนินกิจกรรมให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ และปฎิบัติตามข้อบังคับของกระทรวงสาธารณะสุขอย่างเข้มงวด นอกจากนั้น โรงงานยาสูบยังได้พยายามผลิตบุหรี่ที่ใช้ ใบยาไทยใส่ซองส่งออกต่างประเทศให้มากที่สุด เพื่อชดเชยกับการนำเข้าของบุหรี่ต่าวประเทศซึ่งนำเข้ามาเพิ่มทุกปี

เรื่องการส่งบุหรี่ไปจำหน่ายต่างประเทศนี้ โรงงานยาสูบได้ส่งผ่านบริษัทผู้ส่งออก ในครั้งแรกกลุ่มเป้าหมายครั้งแรกเป็นกลุ่มประเทศอาเซียน ได้เปิดตลาดไปแล้วหลายประเทศ เช่น ลาว กัมพูชา พม่า บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ

โรงงานยาสูบมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. หลังจากตัดฝรั่งต่างชาติตามข้อผูกพันเดิม เข้าบริหารโดยคนไทยล้วน ๆ ได้ก้าวหน้าครบถ้วนใน “เมืองยาสูบ” จนถึงการสร้างตึกโรงงานยาสูบ เป็นตึกสูง 12 ชั้น เป็นถาวรวัตถุชิ้นหลังสุด โรงงานยาสูบได้พัฒนาการผลิตให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยได้ทำเครื่องจักรระบบใหม่เข้ามาใช้ในการผลิตแทนเครื่องจักรระบบเดิม ซึ่งช่วยลดการสูญเสียอันเกิดจากการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดต้นทุน ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดีเยี่ยมทัดเทียมกับต่างประเทศได้เป็นอย่างดีขึ้นมาก

เรื่องขวัญและกำลังใจของพนักงาน อันเป็นสิ่งสำคัญนอกเหนือจากประสิทธิภาพ ในการทำงาน โรงงานยาสูบได้ตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงได้ให้สวัสดิการต่างๆ นอกจากโรงพยาบาล ซึ่งเป็นแหล่งที่สำคัญที่สุดแล้ว ยังมีสโมสรฯ ไว้พักผ่อน การส่งเสริมด้านการออมทรัพย์ การให้ทุนการศึกษาแก่บุตรพนักงาน ฯลฯ เป็นต้น

กิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ในสังคมและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโรงงาน ยาสูบโรงงานยาสูบได้ดำเนินกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนำรายได้ส่งรัฐเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศโดยตรงปีละหลายหมื่นล้าน ในระยะหลังๆ นี้แล้ว ยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เทอดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ สนับสนุนศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ จัดให้มีสัปดาห์ส่งเสริมดนตรีไทยเดิม การบริจาคทรัพย์ให้มูลนิธิหรือองค์การสาธารณกุศลตลอดจนการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับทหารหาญอันเป็นรั้วของชาติ เมื่อถึงวาระพิเศษหรือโอกาสสำคัญต่างๆ ก็มีการจัดตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อให้บริการแก่ประชาชนในแหล่งชุมชนแออัด การร่วมมือกับสื่อมวลชนในการปลุกฝังจิตสำนึกเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสังคมไทยโดยได้ร่วมสนับสนุนรายการ “สำนึกไทย” ในสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ฯลฯ

ปัจจุบันนี้สถานที่ตั้งโรงงานตั้งอยู่บริเวณในกลางชุมชน จึงตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมด้วยดีเสมอมา จึงได้ปรับปรุงระบบการผลิตให้ทันสมัยและได้มาตรฐานอยู่เสมอ ทั้งในด้านสุขาภิบาลโรงงาน ควบคุมแมลงและสัตว์นำโรค ควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงอุปกรณ์ และกรรมวิธีการผลิตตลอดจนการขจัดกลิ่นควันละอองฝุ่น และได้จัดสร้างสรรค์สาธารณประโยชน์สำหรับสาธารณชน โดยเริ่มจากการจัดสวนไม้ดอกไม้ประดับ ในบรรยากาศที่รื่นรมย์ขึ้นริมบึงยาสูบ เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นสถานที่ออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพและพักผ่อนหย่อนใจ สร้างสวนหย่อมควบคุมคุณภาพน้ำของบึงยาสูบ จัดโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภายในโรงงานยาสูบได้เป็นที่เรียบร้อย

ในฐานะที่โรงงานยาสูบเป็นผู้นำด้าน “โรงงานผลิต” ได้รับเลือกเป็นโรงงานชั้นนำแห่งปี 2533 โรงงานยาสูบก็มิได้มุ่งหวังผลในเชิงธุรกิจในการผลิตและจัดจำหน่ายให้ได้มากเท่านั้น แต่ได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสุขภาพของผู้บริโภค สังคม และสภาพแวดล้อม ด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อลดพิษภัยให้สมดุลธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อความผาสุกของสังคม และเป็นแบบอย่างที่ดีให้โรงงานอื่นๆ ที่เริ่มพัฒนาต่อไป

เรื่อง “โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง” ตามที่ผมได้เรียนเสนอมานี้ท่านจะเห็นได้ว่า ผลงานเริ่มต้นเป็นของ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ผู้เริ่มก่อการปกครอง ผู้ได้รับอนุมัติให้เป็นบุคคลสำคัญแห่งโลก ซึ่งจะมีการฉลองอายุครบ 100 ปี ในปี 2543 นี้ ท่านเป็นผู้บุกเบิกเริ่มต้นตั้งขึ้นมาอย่างยากลำบากได้ทันเหตุการณ์ และพลตรีหลวงชำนาญยุทธศิลป์ ผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองร่วมกับท่าน ได้เข้ามาเป็นผู้ประสานงานต่อให้ “เมืองยาสูบ” เริ่มกำเนิดและได้พัฒนาก้าวหน้าจนครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งทางโรงงานยาสูบได้จัดงานฉลองครบอายุ 100 ปี ของท่านไปแล้วเมื่อ 2537 นั้น จึงขออัญเชิญคุณพระศรีรัตนตรัยพร้อมทั้งองค์พระสยามเทวาธิราชสิงสถิตเป็นใหญ่ในประเทศไทยนี้ได้โปรดประทานพรให้ดวงวิญญาณของท่านทั้ง 2 จงไปสู่สุคติในสรวงสวรรค์ชั้นสูงสุดในสัมปรายภพชั่วกัลปาวสาน และขอดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์ของท่านได้โปรดช่วยพิทักษ์คุ้มครองประเทศไทยและกิจการของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังนี้ แก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้สำเร็จลุล่วงให้ก้าวหน้าไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป

 

บรรณานุกรม

  • พยุง ย. รัตนารมย์. โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ผลงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ : ธรรมศาสตร์, 2552.