Focus
- การเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณไทย เริ่มในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 26 ธันวาคม 2481 ในสมัยที่นายปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายปรีดีเสนอเรื่องการเปลี่ยนปีงบประมาณใหม่ให้ถูกต้องตามฤดูกาลโดยได้พิจารณาตัวอย่างจากประเทศอื่น ๆ กว่า 20 ประเทศ และไม่ได้กำหนดเวลางบประมาณตามปฏิทินหลวงหากได้มีการกำหนดตามฤดูกาล ภูมิประเทศ และภูมิอากาศ อาทิ ในประเทศอังกฤษนั้น ปฏิทินหลวงเริ่มต้นในเดือนมกราคมหากปีงบประมาณได้เริ่มในเดือนเมษายนด้วยเหตุผลคือเป็นฤดูใบไม้ผลิซึ่งเพิ่งเริ่มทำงานใหม่
ในสมัยรัฐบาลก่อนช่วงก่อนสงครามโลก ครั้งที่ ๒ เพียงไม่นานในปี ๒๔๘๑ จากรายรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๓/๒๔๘๑ (สามัญ) สมัยที่ ๒ ชุดที่ ๓ วันจันทร์ ที่ ๒๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เริ่มประชุมเวลา ๑๕.๓๓ นาฬิกา นายปรีดี พนมยงค์ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยรัฐบาลมีความประสงค์จะรีบเร่งการปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นการยุติธรรมแก่สังคม และในเรื่องนี้รัฐบาลหวังว่าจะสามารถทําให้เสร็จได้ในปี ๒๔๘๒
นายปรีดี ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2481-2484 โดยมีปณิธานในการทำงานตามหลัก 6 ประการ ในมิติทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์แก่ราษฎรทางนายปรีดีจะใช้เครื่องมือทางการคลังเพื่อสร้างความมั่นคงแก่การคลังในชาติ และบำรุงความสุขสมบูรณ์แก่ราษฎร โดยนายปรีดีแถลงต่อรัฐสภาว่าจะปรับปรุงระบบการเก็บภาษีให้เป็นธรรมแก่สังคม และได้บรรลุภารกิจในด้านการจัดเก็บภาษีอากรที่สำคัญไว้ ได้แก่
๑. ช่วยเหลือราษฎรที่ต้องแยกรับภาษีที่ไม่เป็นธรรม ด้วยการยกเลิกเงินภาษีรัชชูปการ และอากรค่านา (เงินส่วย) ซึ่งชาวนาต้องเสียแก่เจ้าศักดินา เป็นต้น
๒. จัดระบบเก็บภาษีอากรที่เป็นธรรมในระบอบประชาธิปไตย โดยสถาปนา “ประมวลรัษฎากร” (Revenue Code) เป็นแบบฉบับครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งรวมบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีอากรทางตรง
๓. ออกพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นภาษีก้าวหน้า กล่าวคือ ผู้ใดมีรายได้มากก็เสียภาษีมาก หากมีรายได้น้อยก็เสียภาษีน้อย และผู้ใดบริโภคเครื่องบริโภคที่ไม่จำเป็นแก่การดำรงชีพก็ต้องเสียภาษีอากรมากตามลำดับ เมื่อได้ปรับปรุงระบบภาษีอากรให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคมขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว อีกทั้งระบบการเงินของประเทศก็มีความมั่นคงด้วยทุนสำรองเงินตราอันประกอบด้วยทองคำและเงินตราต่างประเทศ นายปรีดีจึงได้รื้อฟื้นเรื่องการจัดตั้งธนาคารกลางหรือธนาคารแห่งชาติ ในปี 2483 หรือต่อมารู้จักกันในนาม “ธนาคารแห่งประเทศไทย” เพื่อทำหน้าที่เป็นธนาคารชาติของรัฐโดยสมบูรณ์
นอกจากนี้นายปรีดียังได้มีผลงานและแถลงต่อรัฐบาลว่ามีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนปีงบประมาณให้เหมาะสมแก่วิธีการไว้ดังนี้
"ขอแจ้งให้ทราบเสียด้วยว่า รัฐบาลมีความประสงค์ที่จะ เปลี่ยนปีงบประมาณให้เหมาะสมแก่วิธีการ คือจะเริ่มปีงบประมาณตั้งแต่ วันที่ 9 ตุลาคม หมดวันที่ ๓๐ กันยายน เพราะฉะนั้นในเรื่องการปรับ ปรุงภาษีอากรก็ดี ในเรื่องรัชชูปการก็ดี ก็จะพยายามทําให้เสร็จก่อน ที่จะได้ใช้วิธีการงบประมาณใหม่ หมายความว่าภาษีอากรแห่งงบ ประมาณใหม่ที่จะเริ่มในวันที่ ๑ ตุลาคมนั้น คิดจะเริ่มไปจากมูลฐานใหม่ ๑๖.๐๕ น."
นับตั้งแต่นั้นจึงมีการเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณใหม่ จากเดิมที่เริ่มต้นเดือนเมษายน-สิ้นเดือนมีนาคมปีถัดมาโดยเริ่มในเดือนตุลาคมจนถึงสิ้นเดือนกันยายนปีถัดไปและยังเป็นแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
นายปรีดีเสนอเรื่องการเปลี่ยนปีงบประมาณใหม่ให้ถูกต้องตามฤดูกาลโดยได้พิจารณาตัวอย่างจากประเทศอื่น ๆ กว่า 20 ประเทศ และไม่ได้กำหนดเวลางบประมาณตามปฏิทินหลวงหากได้มีการกำหนดตามฤดูกาล ภูมิประเทศ และภูมิอากาศ อาทิในประเทศอังกฤษนั้น ปฏิทินหลวงเริ่มต้นในเดือนมกราคมหากปีงบประมาณได้เริ่มในเดือนเมษายนด้วยเหตุผลคือเป็นฤดูใบไม้ผลิซึ่งเพิ่งเริ่มทำงานใหม่
นายปรีดี ยังได้ชี้แจงเรื่องนี้ต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๔๘๑ ไว้เริ่มต้นด้วยหลักการในการปรับปรุงภาษีอากรว่า
“รัฐบาลมีความประสงค์ที่จะทําการปรับปรุงภาษีอากร คือ หมายความ ว่าจะพยายามทําไปพร้อม ๆ กัน โดยเหตุว่าในเรื่องการภาษีอากรนั้นจะ ทําอย่างใดอย่างหนึ่ง ก่อนไม่ได้ ด้วยกัน ทั้งคู่ เพราะเหตุว่า การบํารุง ประเทศนั้น เราต้องใช้เงิน ถ้าไม่มีเงินเราก็ปรุงประเทศไม่ได้ การ ที่จะยกเลิก กันนั้นก็จําเป็นจะต้องจัดการ ปรับปรุงภาษีอากร ฉะนั้นจะต้องรอผลแห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงภาษีอากรซึ่งจะต้องเสนอมาในสภาฯ ซึ่งข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วว่าจะได้จัดการปรับปรุงให้ทันในปี พ.ศ. ๒๔๘๒”
โดยนายปรีดีชี้ว่า การปรับปรุงภาษีอากรเกี่ยวเนื่องกับความยุติธรรมทางสังคม
“...ยุตติธรรมแก่สังคมนั้นหมายความว่าเราจะต้องเพ่งเล็งถึง ประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นที่ตั้ง และต่อไปจะต้องพิจารณาถึง คนฉะเพาะหมู่ฉะเพาะเหล่าประกอบกัน และอีกประการหนึ่งในการที่เรา จะเลิกภาษีเงินรัชชูปการและไม่หาเงินรายได้ทางอื่นมาชดเชยโดยถือเอาว่าการคํานวณงบประมาณมีผิดเสมอนั้นข้าพเจ้าเห็นว่าเท่านี้ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอ เพราะเหตุว่าการบริหารราชการแผ่นดินนั้น...การจะให้บ้านเมืองก้าวหน้านั้นจําเป็นจะต้องมีเงิน เงินเอามาจากไหน ไม่ฉะเพาะแต่คณะรัฐบาล ๒๕ คนนี้ ขายเลหลังทั้งหมดก็ไม่สามารถจะช่วยให้บ้านเมืองเจริญได้ ก็จําเป็นจะต้องเอามาจากภาษีอากร และไม่ใช่จะให้ประชาชนเดือดร้อน เพื่อจะให้ยุตติธรรมแก่สังคมจริง ๆ...
รัฐบาลมีความปรารถนาที่จะฟังความเห็น จากท่านสมาชิกในการที่จะ ปรับปรุงภาษีอากร...”
และนายปรีดีกล่าวต่อว่า
“ในเรื่องการคลังนั้นข้าพเจ้าขอแถลงซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การที่จะปรับปรุงภาษีอะไรบ้าง หรือจะวางกฎเกณฑ์อย่างไรนั้น จะต้องขอรอไปให้กรรมาธิการซึ่งคณะรัฐบาลจะได้ตั้งขึ้นนั้นพิจารณาให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ขณะนี้ ต้องขอสงวนรายการละเอียดไว้ และอีกประการหนึ่งขอแถลงให้ทราบเสียด้วยว่า ตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงมาแล้ว
รัฐบาลปรารถนาจะได้รับความร่วมมือจากสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงอยากจะได้ฟังความเห็นจากสภาผู้แทนราษฎรเหมือนกันเมื่อถึงโอกาสแล้ว ข้าพเจ้าจะได้ร้องขอว่า ท่านผู้ใดมีความเห็นในเรื่องภาษีอากรบ้าง แต่ความ เห็นที่ท่านให้มานั้นขอให้เป็นความเห็นที่ท่านเห็นแก่ปวงชนชาวสยามไม่ใช่ขอให้ราษฎรอย่างเดียว ขอให้เห็นแก่รายได้ของประเทศ โดยมีอยู่อย่างนี้แล้ว อย่างโน้นจะเพิ่มอย่างไร ประกอบทั้งมีตัวเลขมาด้วย และเมื่อถึงโอกาสแล้ว
ข้าพเจ้าจะได้ขอร้องต่อท่านทั้งหลายว่ามีความเห็นอย่างไร และขอให้ท่านให้ความเห็นไปตามที่ข้าพเจ้าจะได้ร้องขอมา”
ทั้งนายปรีดีได้อธิบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณใหม่ที่เชื่อมโยงกับฤดูกาลไว้ดังนี้
“…การที่รัฐบาลจะต้องเปลี่ยนปีงบประมาณใหม่…คำนึงถึงดินฟ้าอากาศของประเทศสยาม…การงานของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ที่จะทำได้ภายนอกสถานที่ เช่นงานโยธาต่างๆ นั้น ก็มักจะทำได้ในระหว่างฤดูแล้ง และฤดูแล้งนี้ก็เป็นฤดูที่ติดต่อกันระหว่างเดือนธันวาคมถึงมิถุนายน…เดือนมกราคม ธันวาคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม เจ้าหน้าที่ก็จะต้องคอยเป็นห่วงงบประมาณ…เตรียมการทำงบประมาณ ถ้าหากว่าเราได้เปลี่ยนฤดูงบประมาณเช่นนี้แล้ว เราก็จะทำการงานภายนอกสถานที่ได้ เพราะไม่ต้องเกี่ยวข้องหรือเป็นห่วงถึงงบประมาณ
อีกประการหนึ่ง…ปีตามปฏิทินหลวงได้เสร็จสิ้น เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม…ถ้าหากว่างบประมาณเป็นไปตามเดิม [๑ เมษายน-๓๑ มีนาคม] แล้ว งบประมาณก็ใช้วันที่ ๑ เมษายน กว่ากระทรวงการคลังจะได้สั่งเสียไปยังเจ้าหน้าที่ต่างๆ และเดือนเมษายนก็เป็นเดือนที่หยุดราชการด้วย งบประมาณที่จะได้รับในจังหวัดต่างๆ ก็จะตกไปถึงในเดือนมิถุนายน หรือพฤษภาคม ก็เริ่มฤดูฝน ทำอะไรไม่ได้…
อีกอย่างหนึ่ง…รัฐบาลต้องการจะให้หนักไปในทางปฏิบัติ…จะต้องให้เจ้าหน้าที่ของเราออกไปควบคุมดูแลกิจการนอกสถานที่ให้มากยิ่งขึ้น…ฤดูที่สะดวกก็คือฤดูแล้ง เพื่อให้เห็นของจริงว่าเขาทำงานประการใด แต่ก็ต้องมาพะวงกับเรื่องงบประมาณ พอถึงฝนมาก็เป็นฤดูที่เราว่าง นี่ก็ไม่ตามฤดูกาลอีก
ประการต่อไป การที่จะคำนวณรายได้รายจ่ายของงบประมาณ…เราจะคำนวณกันได้ ก็โดยอาศัยหลักใหญ่ ซึ่งในปีหนึ่งพลเมืองส่วนมาก ซึ่งเป็นกสิกรได้ทำมาค้าขึ้นได้เพียงใด ในการที่เราจะรู้ได้ก็ต้องให้เสร็จฤดูกาลจริงๆ หมายความว่าให้เสร็จฤดูเก็บเกี่ยว”
สรุปที่ประชุมฯ ได้รับหลักการและอนุมัติให้ใช้เป็นกฎหมายปีงบประมาณแบบใหม่ คือ ๑ ตุลาคม ถึง ๓๐ กันยายน ซึ่งใช้กันอยู่ในปัจจุบันโดยเริ่มใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๘๒
หมายเหตุ :
- คงอักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น
ภาพประกอบ :
- สถาบันปรีดี พนมยงค์ และคลังสารสนเทศบัญญัติ
บรรณานุกรม
หลักฐานชั้นต้น :
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 3/2481 (สามัญ) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พุทธศักราช 2481 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม.