ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ประชาธิปไตยจะยั่งยืน : เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) กับการสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

13
พฤษภาคม
2565

ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีการกล่าวถึง “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ SDGs เป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบของชื่อกิจกรรม งานเสวนา และการกล่าวขึ้นอย่างลอยๆ ในการเปิดงานของหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐต่างๆ[1] ตามวาระและโอกาส  อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงมากขึ้นในประเทศไทย

ทว่า สิ่งนี้อาจจะสวนทางกับท่าทีของรัฐบาลและนโยบายหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในประเทศ เมื่อพิจารณาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้วจะเห็นได้ว่า เป้าหมายดังกล่าวมีลักษณะเป็นกรอบกว้างๆ ที่บรรจุหลักการจำนวน 17 หลักการ ที่องค์การสหประชาชาติกำหนดขึ้นมา[2] จะเห็นว่าเป้าหมายส่วนใหญ่นั้นสอดรับกับแนวคิดประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นบรรทัดฐานร่วมกันของประชาคมโลกในการพัฒนา[3] เพื่อให้สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน

 

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในฐานะเป้าหมายของการพัฒนาอย่างรอบด้าน

“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นโจทย์ใหญ่ที่องค์การสหประชาชาติกำหนดขึ้นมาในปี พ.ศ. 2558 โดยมีประเทศสมาชิกตกลงที่จะปฏิบัติตาม 193 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย

 

แผนภาพเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ด้าน

 

ที่มา : SDG Move.
ที่มา : SDG Move.

 

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประกอบไปด้วยกรอบกว้างๆ จำนวน 17 ประการ (ภาพที่ 1) ซึ่งถ้าจับกลุ่มของกรอบต่างๆ แล้วจะทำให้เราสามารถจำแนกกรอบดังกล่าวได้เป็น 5 กลุ่ม ดังนี้[4]

  • กลุ่ม People ที่ว่าด้วยเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้คน (เป้าหมายที่ 1, 2, 3, 4, 5)
  • กลุ่ม Prosperity ที่ว่าด้วยเรื่องความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและครอบคลุม (เป้าหมายที่ 7, 8, 9, 10, 11)
  • กลุ่ม Planet ที่ว่าด้วยเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (เป้าหมาย 6, 12, 13, 14, 15)
  • กลุ่ม Peace ที่ว่าด้วยเรื่องสันติภาพ สถาบันที่เข้มแข็ง และความยุติธรรม (เป้าหมาย 16)
  • กลุ่ม Partnership ที่ว่าด้วยเรื่องการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 17)

 

ประชาธิปไตยจะยั่งยืนได้ต้องเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์

“ประชาธิปไตย” เป็นระบอบการปกครองที่ให้ความสำคัญกับประชาชนในฐานะที่ประชาชนเป็นที่มาของอำนาจและเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง แม้ว่าในเชิงการเมืองสมัยใหม่อาจจะให้ความสำคัญกับการช่วงชิงความหมายของประชาธิปไตย[5] แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชาธิปไตยยังคงเป็นเรื่องที่ยึดโยงกับประชาชนเสมอ และประชาธิปไตยที่แท้จริงจะต้องเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์

ประชาธิปไตยสมบูรณ์จะต้องประกอบไปด้วยประชาธิปไตยทางการเมือง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และทรรศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย[6] ซึ่งประชาธิปไตยทั้ง 3 ด้านนั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกัน การจะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้นั้นจะต้องประกอบไปด้วยประชาธิปไตยทั้ง 3 ด้านประกอบกัน[7] โดยประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจนั้นเป็นพื้นฐานสำคัญ เพราะการมีประชาธิปไตยทางการเมืองนั้นจำเป็นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ การจะทำให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพได้อย่างแท้จริง รัฐบาลจำเป็นต้องตอบสนองความต้องการพื้นฐานในเชิงกายภาพของประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถที่จะตอบสนองทางการเมืองได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลกับสถานภาพทางเศรษฐกิจ[8]

เมื่อพิจารณากรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ด้านแล้ว จะเห็นได้ว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในแต่ละด้านนั้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตพื้นฐานทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งอาจจะเทียบได้กับการให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยในทั้ง 3 ด้าน ดังปรากฏตามตารางเปรียบเทียบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับประชาธิปไตยสมบูรณ์

 

ตารางเปรียบเทียบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับประชาธิปไตยสมบูรณ์

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 5 กลุ่ม ประชาธิปไตยสมบูรณ์
กลุ่ม People ที่ว่าด้วยเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้คน ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ
กลุ่ม Prosperity ที่ว่าด้วยเรื่องความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ
กลุ่ม Planet ที่ว่าด้วยเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และทรรศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย
กลุ่ม Peace ที่ว่าด้วยเรื่อง สันติภาพ สถาบันที่เข้มแข็ง และความยุติธรรม ประชาธิปไตยทางการเมือง
กลุ่ม Partnership ที่ว่าด้วยเรื่องการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และทรรศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย
ที่มา : ผู้เขียน

 

อย่างไรก็ดี การมองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นควรมองในลักษณะที่ว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเครื่องมือและกลไกในการขับเคลื่อนประชาธิปไตยที่สมบูรณ์[9] เพราะโดยสภาพไม่เพียงแต่สารัตถะของการพัฒนาที่ยั่งยืนเท่านั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศ แต่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนยังเป็นกลไกสำคัญที่ใช้ในการสร้างแรงกดดันของรัฐบาลให้ปฏิบัติตามและดำเนินการตามพันธกรณีที่ได้เข้าผูกพันตามกรอบของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน[10] หากเพียงแต่ว่ารัฐบาลนั้นจะมีความรับผิดชอบ (accountability)  ทว่า เรื่องดังกล่าวอาจจะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่มีวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

ในทางทฤษฎีอาจจะกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยสมบูรณ์กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นมีลักษณะเกื้อกูลกันอยู่ ดังจะเห็นได้ว่า ประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นเป็นกรอบพื้นฐานในทางการเมืองบนพื้นฐานของการยึดถือประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งการจะปฏิบัติตามกรอบเป้าหมายแต่ละเป้าหมายได้นั้นก็ต้องยึดถือประชาชนเป็นส่วนกลาง ในขณะเดียวกันกรอบดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนในทางการเมือง ในส่วนของประชาธิปไตยนั้นจะเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้จะต้องมีความยั่งยืน

 

มองภาพย้อนกลับมาที่ประเทศไทย

กลับมาที่ภาพของรัฐบาลไทยที่ได้เข้าผูกพันและรับเรื่องดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของรัฐบาลประเทศไทย และถึงขนาดว่าช่วงหนึ่งประเทศไทยเคยชูนโยบายว่า ประเทศไทยจะมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา แต่ที่ผ่านมาเราจะพบว่า ประเทศไทยนั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ขัดกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแทบทั้งสิ้น

ตัวอย่างเช่น สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้มีคนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้น หรือการเข้าไม่ถึงสวัสดิการรักษาพยาบาล[11] ซึ่งสะท้อนว่ารัฐบาลกำลังบกพร่องในการดำเนินการตามกรอบที่ 1 ขจัดความยากจน[12] และกรอบที่ 3 การสร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย[13] หรือการยอมรับให้มีการผูกขาดในธุรกิจค้าปลีก[14] และกำลังจะเกิดการผูกขาดในธุรกิจโทรคมนาคม[15] ซึ่งจะไม่สอดคล้องกับกรอบที่ 8 ในเรื่องของส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน[16] หรือกรณีร้ายแรงที่สุดคือ การออกมาเปิดเผยของพลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ซึ่งออกมาเปิดเผยเรื่องขบวนการค้ามนุษย์และถูกบีบให้ต้องลี้ภัยออกจากประเทศ[17] ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเราไม่ได้ดำเนินการสอดคล้องกับกรอบที่ 16 ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผลรับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ[18]

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ปัจจุบันนี้รัฐบาลได้พยายามเพียงพอแล้วหรือไม่ในการดำเนินการตามเป้าหมาย หรือเป็นเพียงคำสัญญาที่ขอเวลาไปเรื่อยๆ เมื่อพิจารณาปัญหาในข้างต้นอาจจะพอได้คำตอบอยู่บ้างว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนแบบไทยๆ นั้น คือ ภาพสะท้อนของความล้มเหลวในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ทำให้การพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นวาทกรรมทางการเมืองของรัฐบาลเพื่อใช้ในการหาเสียงและสร้างความนิยมแบบขายฝัน

ในสถานการณ์ที่ประเทศเป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งๆ กลางๆ และมีผู้นำรัฐบาลที่ไม่ยึดโยงใดๆ กับประชาชนและพร้อมอย่างเต็มที่ในการลอยนวลพ้นผิดกับทุกๆ เรื่อง จึงเป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

 


[1] กรมประชาสัมพันธ์ ‘นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงผ่านกิจกรรม SDG Moment มุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่าน ระบบสาธารณสุข โมเดลเศรษฐกิจ BCG และการพัฒนาด้าน Digital ในการประชุม UNGA สมัยที่ 76’ (กรมประชาสัมพันธ์, 21 กันยายน 2564) https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/39/iid/43120 สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565.

[2] SDG Move ‘ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ SDGs’ (SDG Move) https://www.sdgmove.com/aboutsdgs/ สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565.

[3] สัมภาษณ์ ชล บุนนาค, อาจารย์ประจำ, คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (ทางอิเล็กทรอนิกส์, 29 เมษายน 2565) สัมภาษณ์โดยสถาบันปรีดี พนมยงค์.

[4] อ้างแล้ว (เชิงอรรถ 2).

[5] ประจักษ์ ก้องกีรติ, ‘ประชาธิปไตยของฉัน ของท่าน และของเธอ’ http://v-reform.org/wp-content/uploads/2014/01/Democracy.-Rj.Prajak.pdf สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565.

[6] วรรณภา ติระสังขะ, ‘ประชาธิปไตยสมบูรณ์ ของปรีดี พนมยงค์’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 17 กันยายน 2563) https://pridi.or.th/th/content/2020/09/420 สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565.

[7] เพิ่งอ้าง; เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘มโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 15 มิถุนายน 2563) https://pridi.or.th/th/content/2020/06/304 สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565.

[8] เพิ่งอ้าง.

[9] อ้างแล้ว (เชิงอรรถ 3).

[10] เพิ่งอ้าง.

[11] ธนัญชัย แก้วโสวัฒนะ ‘สิทธิเข้า(ไม่)ถึงวัคซีนของคนไร้บ้าน’ (workpoint today, 22 มิถุนายน 2564) https://workpointtoday.com/photo-essay-สิทธิเข้าไม่ถึงวัคซี/ สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565.

[12] SDG Move, ‘SDG 101’ (SDG Move) https://www.sdgmove.com/sdg-101/ สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565.

[13] อ้างแล้ว (เชิงอรรถที่ 12).

[14] กนกนัย ถาวรพานิช, ‘ดีลควบรวม ‘ซีพี’ กับ ‘เทสโก้ โลตัส’ : รัฐประหารทางเศรษฐกิจที่ยังมาไม่ถึง?’ (the 101.world, 15 เมษายน 2563) https://www.the101.world/cp-and-tesco/ สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565.

[15] ฉัตร คำแสง, ‘5 เรื่องเล่า vs 5 เรื่องจริง ดีลควบรวมทรู+ดีแทค และบทบาทของ กสทช.’ (the 101.world, 2 พฤษภาคม 2565) https://www.the101.world/5-narratives-vs-5-facts-about-dtac-true-merger/ สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565.

[16] อ้างแล้ว (เชิงอรรถที่ 12).

[17] BBC News ไทย, ‘พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย เมื่อขอลี้ภัยในออสเตรเลียปลายปี 2558’ (BBC, 23 กุมภาพันธ์ 2565) https://www.bbc.com/thai/thailand-60481194 สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565.

[18] อ้างแล้ว (เชิงอรรถที่ 12).