ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

รางวัลชนะเลิศ 'ทุนปาล พนมยงค์' 2565 : นายอติรุจ ดือเระ "มุมมอง SDGs เพื่อการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์"

19
พฤษภาคม
2565

รางวัลชนะเลิศ 'ทุนปาล พนมยงค์' 2565 : นายอติรุจ ดือเระ ชั้นปี 4 คณะรัฐศาสตร์  

มุมมอง SDGs เพื่อการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์

1. บทนำ

“ประชาธิปไตย” เป็นคำที่ถูกถกถึงความหมายอย่างแพร่หลายแตกต่างกันไปตามแต่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลจะนิยาม บ้างก็ยึดโยงเข้ากับความเข้าใจของตนและบ้างก็ยึดโยงเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่อำนาจปกครอง อย่างไรก็ดีนอกจากข้อคิดต่างข้างต้นแล้วมาตรวัดความเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์กลับยังเป็นอีกประเด็นที่มีวิธีคิดแตกต่างกัน หากกล่าวถึงในระดับสากล ณ ปัจจุบันการวัดดัชนีประชาธิปไตย โดย Economist Intelligence Unit (EIU) นับว่าเป็นเกณฑ์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยแบ่งการพิจารณาออกเป็น 5 มิติ ได้แก่ กระบวนการเลือกตั้งและพหุนิยม, เสรีภาพพลเมือง, การทำงานของรัฐบาล, การมีส่วนร่วมทางการเมือง, และวัฒนธรรมทางการเมือง ขณะที่ในไทยแนวคิดว่าด้วยประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่เด่นชัดและถูกกล่าวถึงอย่างต่อเนื่องก็คือประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามแนวคิดของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งบทความนี้มุ่งนำเสนอเป็นหลัก

ทั้งนี้ การนำเสนอของบทความผู้เขียนได้หยิบนำ SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาคลี่เปิดเพื่อส่องขยายแง่มุมที่สอดรับและหนุนเสริมกับการพัฒนาประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามแนวคิดของปรีดี พนมยงค์ โดยแบ่งประเด็นการนำเสนอเป็น 5 ส่วน ได้แก่ 1. ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยสมบูรณ์ 2. ความเข้าใจเรื่อง SDGs 3. มุมมอง SDGs ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ  4. มุมมอง SDGs ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยทางการเมือง และ 5. มุมมอง SDGs ต่อการพัฒนาทัศนะประชาธิปไตย

 2. ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยสมบูรณ์

ประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามแนวคิดของปรีดี พนมยงค์ ปรากฏอยู่ในหลายแหล่งศึกษาตั้งแต่งานเขียน บทสัมภาษณ์ บทความ ไปจนถึงปาฐกถา เช่นปาฐกถาเรื่องอนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปแบบใด พ.ศ. 2516 ณ สามัคคีสมาคม ประเทศอังกฤษ ปรีดี พนมยงค์ ได้เน้นย้ำว่าสังคมใดๆ นั้นย่อมประกอบด้วยระบบเศรษฐกิจ การเมือง และทัศนะสังคม ด้วยเหตุที่ว่านี้การมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จึงต้องประกอบด้วย ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยทางการเมือง และทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยซึ่งเป็น “หลักนําทางจิตใจ” สําหรับความสัมพันธ์เชื่อมโยงขององค์ประกอบทั้ง 3 ข้างต้น ปรีดี พนมยงค์ ชี้ให้เห็นว่าการมีระบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้นทุกองค์ประกอบจะต้องถูกขับเคลื่อนควบคู่กันไปเพื่อให้ระบบการเมืองและระบบสังคมได้ดุลยภาพในทุกมิติ 

กล่าวคือการมีระบบประชาธิปไตยทางการเมืองนั้นจําเป็นต้องตั้งอยู่บนฐานของระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้กระบวนการต่าง ๆ ทางการเมือง เช่นการเลือกตั้งตกอยู่ภายใต้ผู้กุมอํานาจในทางเศรษฐกิจ ในทิศทางตรงกันข้าม การมีประชาธิปไตยทางการเมือง แต่ขาดซึ่งประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจนั้น ย่อมทำให้อำนาจทางการเมืองตกอยู่ใต้บงการของผู้กุมอํานาจทางเศรษฐกิจ โดยลักษณะที่ว่านี้สะท้อนได้ดีผ่านกระบวนการเลือกตั้ง (วรรณภา ติระสังขะ, 2019, ออนไลน์)

เช่นนั้นหากพิจารณาตามหลักคิดของปรีดี พนมยงค์แล้วประชาธิปไตยจะสมบูรณ์ได้ย่อมจำเป็นต้องประกอบด้วยสามมิติสำคัญ ได้แก่ หนึ่ง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ประชาชนต้องมีเสรีภาพในการค้าขายอย่างเสมอภาค เป็นธรรม ไร้ซึ่งการผูกขาดทางเศรษฐกิจหรือการเอื้อประโยชน์ทุนใหญ่ ส่วนประชาชนที่ประกอบอาชีพอื่นนอกจากการค้าขาย ก็ต้องสามารถเข้าถึงแหล่งงาน ได้รับการจ้างงานที่เป็นธรรมทั้งค่าจ้าง สวัสดิการ และเวลาในการทำงาน  สอง ประชาธิปไตยทางการเมือง 

กล่าวคือ ประชาชนต้องสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างเสรี อีกทั้งระบบโครงสร้างและกระบวนการทางอำนาจก็ต้องยึดโยงกับเสียงของประชาชน ไม่เปิดทางให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดมีอภิสิทธิ์เหนือระบบกฎหมายหรือครอบงำระบบทางการเมือง แต่องค์กรหรือสถาบันทางการเมืองทั้งหลายต้องสามารถถูกตรวจสอบได้ เช่นนั้นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตยในมิตินี้จึงคือการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยคือเป็นรัฐธรรมที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างและเนื้อหาก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนและสังคมส่วนรวมอย่างแท้จริง สาม ทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยเชิงวัฒนธรรม 

กล่าวคือ ประชาชนพึงมีทัศนะและค่านิยมที่ส่งเสริมให้สังคมมีประชาธิปไตยสมบูรณ์ อาทิ ทัศนะที่ให้คุณค่าและความสำคัญกับเรื่องเสรีภาพทางการเมือง ทัศนะว่าด้วยการต่อต้านระบบอุปภัมภ์ หรือ ทัศนะที่คัดค้านการผูกขาดทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งทัศนะในลักษณะเช่นนี้จะช่วยขับเคลื่อนประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและการเมืองให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ดังเช่นที่ปรีดี พนมยงค์ ได้เน้นย้ำในบทความเรื่องจงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม ให้ตระหนักว่าการได้มาซึ่งระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้น ทุกคนจะต้องยึดถือทัศนะให้มั่นคงบนรากฐานแห่งทัศนะประชาธิปไตยสมบูรณ์ บุคคลใดยึดถือทัศนะกึ่งประชาธิปไตยก็จะได้เพียงระบบกึ่งประชาธิปไตย บุคคลใดยึดถือทัศนะที่ตกค้างมาจากระบบทาสก็จะได้เพียงระบบการปกครองเช่นระบบทาส และท้ายที่สุดจะเป็นกําลังเกื้อกูลให้ระบบเผด็จการที่ปกครองสังคมเยี่ยงทาสกลับฟื้นขึ้นมาดังในอดีตของมนุษยชาติ (เพิ่งอ้างถึง)

เมื่อหวนพิจารณาสังคมไทยปัจจุบันด้วยมาตรวัดความสมบูรณ์แห่งประชาธิปไตยทั้งตามหลักเกณฑ์ขององค์กรสากลและตามแนวคิดของปรีดี พนมยงค์ แล้ว พบว่าประชาธิปไตยไทยยังห่างไกลคำว่าสมบูรณ์  เนื่องจากรายงานดัชนีประชาธิปไตยประจำปี 2021 ของ Economist Intelligence Unit (EIU) หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของ The Economist ระบุว่าไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประชาธิปไตยบกพร่อง โดยจากคะแนนเต็ม 10 ในแต่ละข้อได้คะแนนในส่วนของกระบวนการการเลือกตั้งและความเป็นพหุนิยมไป 7.0 คะแนน, การทำงานของรัฐบาล 5.0 คะแนน, การมีส่วนร่วมทางการเมือง 6.67 คะแนน, วัฒนธรรมการเมือง 6.25 คะแนน และเสรีภาพของพลเมือง 5.29 คะแนน (Matichon Online, 2022)  

คะแนนเหล่านี้สะท้อนอย่างเชื่อมโยงกับมาตรวัดตามแนวคิดของปรีดี พนมยงค์ กล่าวคือในมิติประชาธิปไตยทางการเมืองและวัฒนธรรมยังมีความสมบูรณ์อยู่ในระดับที่น้อย ขณะที่ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจอาจพิจารณาได้จากข้อมูลของ CS Global Wealth Report  ที่นับเฉพาะด้านความมั่งคั่ง จะพบว่าในปี 2016 คนไทย 1% แรก คือประมาณ 5 เเสนคน มีทรัพย์สินรวม 58.0 % ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ ขณะที่ปี 2018 คน 1% มีทรัพย์สินรวมเพิ่มเป็น 66.9% (อันดับ 1 โลกไทยเบียดรัสเซีย, 2561, ออนไลน์ ) หรือจากข้อมูลเงินฝากในธนาคารพานิชย์ ณ เดือน ธันวาคม ปี 2019 ก็บ่งชี้ว่าร้อยละ 87.6 ของบัญชีเงินฝากบุคคลธรรมดามียอดฝากไม่ถึง 5 หมื่นบาท และมีเพียงร้อยละ 1.3 เท่านั้นที่มีเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาท สะท้อนว่าประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจยังขาดพร่อง

3. ความเข้าใจเรื่อง SDGs

เมื่อประเมินเห็นแล้วว่าการพัฒนาประชาธิปไตยไทยชะงักงันด้วยปัญหาข้างต้น การนิ่งเฉยให้วงจรดังกล่าวหมุนวนต่อไปย่อมเสี่ยงที่จะก่อแรงกระแทกให้ประชาธิปไตยอ่อนแอลงเป็นแน่ เช่นนั้นการมองหาแนวทางพัฒนาประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ จึงเป็นภารกิจที่คนในสังคมไทยพึงกระทำร่วมกัน โดยหากเพ่งมองให้ไกลออกไปสู่กระแสการพัฒนาของสังคมโลกในทศวรรษปัจจุบันแล้วจะพบว่า Sustainable Development Goals (SDGs) หรือ เป้าหมายการการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นหนึ่งในแนวทางที่น่าสนใจในอันจะหยิบจับมาใช้ควบคู่ไปกับการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทยเราได้ 

เพราะนอกจากจะช่วยให้ไทยก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับนานาประเทศด้วยความเข้าใจและเป้าหมายเดียวกันแล้ว เป้าหมายของ SDGs หลายข้อยังสอดรับการหลักการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดี พนมยงค์ อาทิ เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืนและการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน สอดคล้องกับหลักคิดเรื่องประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่เน้นให้คนทุกคนมีงานทำและเสรีภาพในการค้าขายถ้วนหน้าและเป็นธรรม หรือเป้าหมายที่ 16 ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม ก็สอดคล้องกับหลักคิดประชาธิปไตยทางการเมือง เป็นต้น

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นควรกล่าวด้วยว่า SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือเป้าหมายการพัฒนาที่กำหนดขึ้นโดยองค์กรสหประชาชาติโดยอาศัยกรอบความคิดที่มองการพัฒนาเป็นมิติ (Dimensions) ในทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งประกอบด้วย 17 เป้าหมาย โดยสามารถจัดกลุ่ม ตามปัจจัยที่เชื่อมโยงกันใน 5 มิติ (5P) ได้แก่ 

1) การพัฒนาคน ให้ความสำคัญกับการขจัดปัญหาความยากจนและความหิวโหยและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 

2) สิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศเพื่อพลเมืองโลกรุ่นต่อไป 

3) เศรษฐกิจและความมั่งคั่ง ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและสอดคล้องกับธรรมชาติ 

4) สันติภาพและความยุติธรรม ยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีสังคมที่สงบสุข และไม่แบ่งแยก และ 

5) ความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ออนไลน์)

4. มุมมอง SDGs ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ

การพัฒนาสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์มิติแรกคือมิติทางเศรษฐกิจ  โดยพึงพิจารณาในสองระดับ กล่าวคือ ระดับแรกการเข้าถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค โดยประชาชนทุกคนต้องสามารถเข้าถึงแหล่งงาน ประกอบอาชีพค้าขายหรืออื่น ๆ ได้โดยมิถูกกีดกัน ระดับต่อมาคือการทำงานต้องได้รับค่าจ้างอย่างเป็นธรรมและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ต้องเป็นไปอย่างเสรี ไม่เผชิญกับดักแห่งการผูกขาด ซึ่งมุมมองของ SDGs ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจทั้งสองระดับดังกล่าวปรากฏอยู่ในหลายเป้าหมาย เป้าหมายแรกคือ เป้าหมายที่ 8 กล่าวคือ ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง มุ่งเน้นให้เศรษฐกิจต่อหัวประชากรเติบโตอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการจ้างงานที่เหมาะสมและให้ผลตอบแทนที่ยุติธรรม ลดสัดส่วนของเยาวชนที่ไม่มีงานทำ ไม่มีการศึกษาและไม่มีทักษะ รวมถึงปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกกลุ่ม (ชล บุนนาค, 2016, ออนไลน์)

เป้าหมายต่อมาคือเป้าหมายที่ 10 “ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ” โดยมุ่งเน้นให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างไม่เลือกปฏิบัติผ่านการใช้นโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคม และการมีกฎหมายที่ส่งเสริมการขจัดความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เกิดการเติบโตของรายได้ในกลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่ยากจนที่สุด (ชล บุนนาค, 2016, ออนไลน์)

ในแง่มุมมองว่าด้วยการขจัดความยากจน ปรากฏชัดอยู่ในเป้าหมายที่ 1 “ขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่” โดยมุ่งเน้นให้ใช้ระบบและมาตรการคุ้มครองทางสังคมและสร้างหลักประกันเรื่องสิทธิของการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ บริการพื้นฐาน รวมถึงกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินและทรัพย์สิน (ชล บุนนาค, 2016, ออนไลน์) นอกจากมุมมองข้างต้นแล้ว SDGs ยังมีมุมมองที่หนุนเสริมความเสมอภาคทางเพศทางเศรษฐกิจอีกด้วย โดยเป้าหมายที่ 5 ว่าด้วยการบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและให้อำนาจของผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน ที่มุ่งเน้นสร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และโอกาสเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ การควบคุมที่ดิน การบริการทางการเงิน และการรับมรดก (“เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ,” หน้า 5-6)

กล่าวได้ว่าเป้าหมายของ SDGs ข้างต้นล้วนมีมุมมองที่สอดรับกับการพัฒนาประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจตามแนวคิดของปรีดี พนมยงค์ อย่างเด่นชัด เนื่องจากมีเป้าหมายที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือมุ่งให้เกิดความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ให้คนกินดีอยู่ดีและได้รับการตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นรากฐานให้พวกเขาลืมตาอ้าปากและขยับขยายการใช้สิทธิของตนภายใต้ระบอบประชาธิปไตยได้เต็มที่มากขึ้น

5. มุมมอง SDGs ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยทางการเมือง

มิติต่อมา คือ มิติประชาธิปไตยทางการเมือง โดยพิจารณาแง่มุมสำคัญ ๆ ในสามเรื่องคือการมีเสรีภาพทางการเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมือง และรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป้าหมายของ SDGs ที่มีมุมมองสอดรับกับเรื่องดังกล่าว ได้แก่ เป้าหมายที่ 16 “ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ” 

โดยนอกจากจะมุ่งเน้นให้การลดความรุนแรงและยุติการข่มเหงมนุษย์แล้ว ยังให้ความสำคัญกับการมีเสรีภาพและการมีส่วนร่วมในทางการเมือง การขจัดการทุจริตด้วยการพัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส รวมถึงการส่งเสริมหลักนิติธรรมให้คนทุกคนเข้าถึงระบบยุติธรรมอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ยังมีมุมมองที่หนุนเสริมเรื่องความเสมอภาคทางการเมืองโดยไม่กีดกันด้วยเหตุแห่งเพศ ดังปรากฏในเป้าหมายที่ 5 ว่าด้วยการบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและให้อำนาจของผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน มุ่งเน้นให้ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบต่อผู้หญิง ให้ยอมรับและให้คุณค่าต่อการทำงานแบบไม่ได้รับค่าจ้าง โดยจัดเตรียมบริการสาธารณะและนโยบายคุ้มครองทางสังคมให้ (เพิ่งอ้างถึง)

อย่างไรก็ดี การจะมีเสรีภาพและมีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ดังกล่าว ประการสำคัญที่สุดคือต้องมีกฎกติกาซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยก่อน กล่าวคือสารัตถะของรัฐธรรมนูญจะต้องระบุถึงการให้เสรีภาพและการมีส่วนร่วมในทางการปกครองแก่ประชาชนทั้งการพูด เขียน และวิธีอื่นใดอย่างเต็มที่ ไม่เปิดช่องโหว่ให้เอื้อต่อการเล่นแร่แปรธาตุตัวบทเพื่อควบคุมการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามมา

6. มุมมอง SDGs ต่อการพัฒนาทัศนะประชาธิปไตย

มิติสุดท้าย คือ ประชาธิปไตยเชิงวัฒนธรรม พิจารณาในแง่มุมของการปลูกฝังและปรับเปลี่ยนทัศนะของประชาชนให้ยึดถือและเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย โดยทั้งด้วยการเล็งเห็นว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบที่ดีอย่างไร ก่อให้เกิดสิทธิและเสรีภาพอันจะเป็นประโยชน์ต่อตัวปัจเจกและสังคมโดยรวมอย่างไร ซึ่งการจะปลูกฝังทัศนะเช่นนี้จนพัฒนาเป็นวัฒนธรรมทางสังคมได้ย่อมต้องอาศัยการให้การศึกษาเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ครอบคลุม และเข้าถึงได้ง่าย แนวทางเช่นนี้สอดคล้องกับ SDGs ในเป้าหมายที่ 4 “สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต” 

กล่าวคือแม้มิได้ระบุชัดว่าเน้นส่งเสริมให้เกิดการศึกษาเรื่องประชาธิปไตย แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการกระจายโอกาสทางการศึกษาดังกล่าวคือการแผ้วทางให้การปลูกฝังเรื่องประชาธิปไตยขับเคลื่อนสู่ความเข้าใจของเยาวชนและพลเมืองทั่วไปได้ง่ายและทั่วถึงมากขึ้น ทั้งผ่านหนังสือเรียนหรือกิจกรรมในโรงเรียน ในทางกลับกันหากเยาวชนหรือพลเมืองอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็ย่อมจะยากทั้งต่อการเข้าใจประชาธิปไตย การดำเนินกิจกรรมประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจและการเมือง

7. บทสรุป

แม้ว่าจะกล่าวถึงประชาธิปไตยในมิติต่างๆ โดยแยกส่วนกัน กระนั้นในเชิงปฏิบัติตามแนวคิดของปรีดี พนมยงค์ จำเป็นต้องขับเคลื่อนทุกส่วนไปด้วยกันเนื่องด้วยต่างส่วนต่างช่วยหนุนเสริมกัน อธิบายให้ชัดคือ การพัฒนาประชาธิปไตยทางการเมืองด้วยการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย จะก่อเกิดให้เสรีภาพและความเสมอภาคในทางเศรษฐกิจและการเมืองแก่พลเมือง โดยสามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ไม่ถูกกีดกันด้วยอคติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ขณะที่การพัฒนาประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่เอื้อให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นย่อมหนุนเสริมให้คนเข้าถึงทรัพยากรของรัฐที่พึงได้รับมากขึ้น และมีกำลังกายกำลังทรัพย์ที่จะเข้าถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง และการศึกษาที่ดีซึ่งจะช่วยเสริมสร้างทัศนะประชาธิปไตยเกิดขึ้นอีกทอดหนึ่ง ขณะที่การพัฒนาประชาธิปไตยเชิงวัฒนธรรมนั้นนับว่ามีความสำคัญยิ่งยวดเพราะจะเป็นรากฐานให้ประชาธิปไตยทางการเมืองและเศรษฐกิจนั้นดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน คือแม้จะผ่านไปกี่ชั่วอายุคน แต่หากพลเมืองของสังคมนั้นยังมีทัศนะนิยมระบอบประชาธิปไตย ก็ย่อมจะได้ผู้นำที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตยและมีสำนึกของความเป็นประชาธิปไตยด้วย

บรรณานุกรม

  • ชล บุนนาค. “Goal 1: No Poverty”. (6 ตุลาคม 2016). SDG Move TH. สืบค้นจาก https://sdgmove.wordpress.com/2016/10/06/goal-1-no-poverty/
  • ชล บุนนาค. Goal 8: Decent Work and Economic Growth. (6 ตุลาคม 2016). SDG Move TH. สืบค้นจาก https://shorturl.asia/VPM5w
  • ชล บุนนาค. “Goal 10: Reduced Inequality”. (6 ตุลาคม 2016). SDG Move TH. สืบค้นจาก https://sdgmove.wordpress.com/2016/10/07/goal-10-reduced-inequality/
  • โครงการปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย. รวมข้อเขียนของปรีดี พนมยงค์. (กรุงเทพ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526). หน้า 71--38. อ้างถึงใน วรรณภา ติระสังขะ, “ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดี พนมยงค์”. (17 กันยายน 2563). สถาบันปรีดี พนมยงค์.สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/09/420
  • “เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษฉบับเต็ม”. สืบค้นจาก https://shorturl.asia/60vuq
  • อันดับ 1 โลก ไทยเบียด ‘รัสเซีย’ ขึ้นแชมป์เหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ. (6 ธันวาคม 2561). ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/society/1438630
  • Matichon Online. “อีไอยู ชี้ไทย ประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์ คะแนนยังต่ำติดอันดับ 72 โลก พบอันดับต่ำกว่าติมอร์ฯ ติดอันดับ 6 อาเซียน” (10 กุมภาพันธ์ 2022). สืบค้นจาก https://shorturl.asia/pjM29