ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

รางวัลรองชนะเลิศ 'ทุนปาล พนมยงค์' 2565 : นายนภควัฒน์ วันชัย "มุมมอง SDGs เพื่อการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์"

19
พฤษภาคม
2565

รางวัลรองชนะเลิศ 'ทุนปาล พนมยงค์' 2565 : นายนภควัฒน์ วันชัย ชั้นปี 1 คณะศิลปศาสตร์

มุมมอง SDGs เพื่อการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์

บทนำ

การพัฒนา “ระบบ” หรือ “ระบอบ” ของประชาธิปไตยสำหรับประเทศไทย ถือว่าเป็นพัฒนาการที่สำคัญโดยค่อนข้างค่อยเป็นค่อยไปหรือแม้กระทั่งหยุดชะงักในบางเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ อย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในยุคที่ประชาธิปไตย “เบ่งบาน” 

จนนำมาสู่ยุคสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตย ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการสลายการชุมนุม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นต้น ไม่ว่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร แต่รากฐาน “ความคิด” ถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวางรากฐานระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย (สยาม ณ ขณะนั้น) โดย ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ณ วันที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 (ปฏิทินเก่า) โดยเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะถือว่าเป็นมรดกของความคิดประชาธิปไตยที่มีความสำคัญ โดยหากจะมองในแนวคิดเบื้องต้นนี้ ตามความหมายของ “ประชาธิปไตย” คือ อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน 

แต่สำหรับชนชั้นนำในสมัยนั้นยังไม่มีประสบการณ์ในด้านการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงหรือการเปลี่ยนผ่านจากสิ่งหนึ่งไปสู่สิ่งหนึ่ง ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน แต่ถึงกระนั้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่เราจะพัฒนาระบบสังคมให้มีก้าวหน้า และ ทันสมัยมากยิ่งขึ้น การที่เราจะพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและการมีประสบการณ์ในระบอบประชาธิปไตย ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง 

แต่จนมาถึง ณ ปัจจุบัน ประชาธิปไตยของประเทศไทยก็ยังอยู่กับที่ ไม่ว่าจะเป็น สภาพสังคมหรือความคิดของสังคมโดยรวมและความเข้าใจต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงแล้วอะไรคือสิ่งที่แท้จริง? ถึงแม้เราจะมีบทเรียนมากมายในเหตุการณ์และประสบการณ์ต่างๆ ของต่างประเทศหรือภายในประเทศ แต่ประวัติศาสตร์ก็ไม่เคยเป็นเช่นนั้นถึงแม้ว่าจะมีบทเรียน ถือเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งที่บทความนี้ จะเป็นการเปิดประเด็นสู่การพัฒนาประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เพราะอันเนื่องมาจากการพัฒนาสู่สังคมสมัยใหม่ ปัจจัยทางด้านเทคโนโลยีที่มีความสำคัญอย่างมากต่ออิทธิพลด้านแนวคิดต่อการรับรู้ของผู้คนในสังคมสมัยใหม่ หรือแม้กระทั่งการเชื่อมโยงกับโลกภายนอก หรือ โลกาภิวัตน์ จนนำมาสู่ SDGs 17 ประการ ที่ถือว่าเป็นข้อเสนอ ต่อการพัฒนาในประเทศ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่มี “ความหวัง” ว่าโลกจะสามารถดีขึ้นได้ภายในปี 2573

โดยเป้าหมายเบื้องต้นนี้คือการเรียกร้องให้การยุติความยากจน การปกป้องโลก ความสงบสุข และความมั่นคง เพื่อที่จะหวังว่ารุ่นต่อไปของมนุษย์จะสามารถใช้ชีวิตที่ดีขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ แนวคิดต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของ SDGs ถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากที่จะผนวกกับแนวคิดการพัฒนาประชาธิปไตยของ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เพื่อที่จะเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ที่จะสามารถสอดคล้องไปกับแนวทางดังกล่าวได้ 

ถึงแม้ว่าแนวคิดดังกล่าวเบื้องต้นต่อการพัฒนาประเทศของ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ จะเกิดขึ้นอยู่ในช่วงทศวรรษ 2470 แต่ถึงกระนั้นแนวคิดดังกล่าวยังมีความร่วมสมัยเป็นอย่างมาก และ “คำอธิบาย” ทางประวัติศาสตร์ก็ถือคลี่คลายลง ถึงแม้กระนั้น “แนวคิด” ต่าง ๆ จะมีการหักล้างและไม่ลงรอยกัน แต่อย่างไรก็ตาม การปรับวิธีคิด และ การแลกเปลี่ยน ก็จะสามารถนำมาซึ่งการพัฒนาได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น

Sustainable Development Goals: SDGs ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย

เป้าหมายที่สำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศ คือ เป้าหมายที่ 16 (Goal 16: Peace Justice and Strong Institution) เพื่อส่งเสริมสังคมโดยสงบสุข สามารถให้ทุกคนนั้นสามารถเข้าถึงความยุติธรรมและการสร้างสถาบันที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพ ในทุกระดับ (SDGMove, 2016) ในทัศนะของผู้เขียน การพัฒนาระบบประชาธิปไตยในประเทศไทย “สถาบัน” ถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะอันเนื่องมาจากการบริหารจัดการหรือกลไกของรัฐที่ถือว่า เป็นการบริหารแบบ Top Down ที่มาจากส่วนบนลงล่าง ด้วยเหตุนี้การพัฒนาดังกล่าวจะต้องทำให้สถาบัน มีความเข้มแข็งและต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมการทำงาน แต่ถึงกระนั้น ย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เพราะอันเนื่องมาจาก การบริหารแบบเก่า ก็มิอาจสามารถสอดรับการเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 21 ที่ถือว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยแนวทางนโยบายนั้น ถ้าหากมีการนำนโยบายการบริหารปฏิบัติจากล่างขึ้นบน (Bottom Up) โดยให้ความสำคัญกับประชาชนโดยมีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบายไปสู่การปฏิบัติเป็นวงกว้าง (สุปราณี ธรรมพิทักษ์, 2561) 

เพราะอันเนื่องมาจากการบริหารแบบ บนลงล่าง นั้นอาจจะตอบโจทย์ในยุคที่มีการบริหารแบบรวมศูนย์ผนวกกับสภาพแวดล้อมของสังคมในสมัยนั้น แต่ถ้าหากเป็น ณ ศตวรรษที่ 21 ที่มีการเปลี่ยนทางด้านสังคมและเศรษฐกิจไปเป็นอย่างมหาศาล รวมไปถึงความหลากหลายของผู้คนในสังคม การบริหารงานแบบล่างขึ้นบนอาจมีประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างสถาบันของประเทศที่เข้มแข็ง และตอบโจทย์ต่อโลกในสมัยใหม่

เพราะการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมนั้นถือว่ามีความหลากหลายในแง่ของมิติทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย เมื่อมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมนำไปสู่การดำเนินนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมก็ย่อมที่จะสามารถทำให้ประชาธิปไตยของประเทศไทยสมบูรณ์ได้ หากแต่กระบวนการดังกล่าวย่อมต้องค่อยเป็นค่อยไป หากจะเอาตัวอย่างที่ชัดเจนยิ่งขึ้นสำหรับประสบการณ์ที่ผ่านมาในประเทศไทย คือ การร่างรัฐธรรมนูญ 2540 โดยถือว่ารัฐธรรมนูญ 2540 มีมาตรฐานในการจัดร่างรัฐธรรมนูญในหมวดของสิทธิเสรีภาพ 

เช่น สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เสรีภาพในทางวิชาการ และสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ องค์กรอิสระ เช่น องค์กรอิสระทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยเป็นผลมาจากการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 (iLaw, 2562) จากตัวอย่างเบื้องต้นที่ผู้เขียนยกตัวอย่างมา สะท้อนให้เห็นถึงยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปี 2540 โดยมีเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจตามมมา หรือ เหตุการณ์ต้มยำกุ้ง ที่เกิดฟองสบู่โดยมีการลอยเงินบาท เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 (BBC, 2017) 

ด้วยเหตุนี้ถือว่าปัจจัยในด้านเหตุการณ์ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงของประเทศ จากกรณีเบื้องต้น ของการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ถือว่าเป็นตัวอย่างสำคัญหากจะนำมาเปรียบเทียบกับสังคมยุคสมัยใหม่แล้ว ถือว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยภายในประเทศ เพราะถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญต่อการวางรากฐานแนวคิดเบื้องต้น และการยอมรับความหลากหลายของสังคม

การลดความรุนแรงในทุกรูปแบบ การค้ามนุษย์ การทุจริต หรือการส่งเสริมข้อบังคับสำคัญในการใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัตินั้นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับเป้าหมายที่ 16 (Science, Mahidol. ม.ป.ป.) จากการยกเป้าหมายเบื้องต้นมานี้ มีความเกี่ยวข้องกับระบอบประชาธิปไตยอย่างไร เพราะอันเนื่องมาจากความรุนแรงย่อมไม่ใช่ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมประชาธิปไตย การค้ามนุษย์ถือเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างมาก 

เพราะประชาธิปไตย ให้ความเคราพการแก่สิทธิความเป็นมนุษย์และกับบุคคลจะละเมิดมิได้ การทุจริตในทุกระบบการปกครองของประเทศย่อมมีการทุจริตเกิดขึ้น แต่ถ้าหากเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตยแล้วย่อมต้องมีการตรวจสอบในการทำงานของภาครัฐ เพราะทรัพยากรในทางเศรษฐกิจย่อมมีจำกัด การแบ่งผลประโยชน์ย่อมต้องมีการกระจายที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย 

ด้วยเหตุนี้ในทัศนะของผู้เขียนนั้นย่อมมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาระบบการเมือง กฎหมาย และความยุติธรรมของสังคม นอกจากนั้น รากฐานแนวคิดที่สำคัญเบื้องต้นนี้ย่อมต้องผ่านกระบวนการทางประวัติศาสตร์ถึงจะสามารถสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยได้ ในขณะเดียวกันมุมมองของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ต่อความหวังในสังคมนั้น สะท้อนมุมมองที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะอันเนื่องมาจากการตื่นตัวทางการเมืองที่เยอะขึ้นในสังคมไทย ณ การเลือกตั้งเมื่อ 2562 ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งในปีดังกล่าวจะเป็นการเลือกตั้งที่มีผู้เสียเปรียบและในสังคมเผด็จการรวมศูนย์ไปที่กองทัพ 

ถึงแม้กระนั้น การรับรู้ข่าวสารที่มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ ฉะนั้นกระแสของการเปลี่ยนแปลง Vote for Change ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นที่เรียบร้อย ในขณะเดียวกันสภาพของสังคมไทยในปัจจุบัน คือระบอบเผด็จการทหาร Military Authoritarianism ระบอบเผด็จการอำนาจนิยม อำนาจผูกขาดกับกองทัพ (อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา, 2019) 

จากมุมมองเบื้องต้น สภาพของสังคมไทยนั้นถือว่ายังไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะอันเนื่องมาจากการผูกขาดทางอำนาจไว้กับกองทัพ ถ้าหากมองในมิติด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว กองทัพ ถือว่าอยู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานโดยคติของกองทัพนั้นคือ การปกป้องชาติ โดยมองภาพของตนเองนั้นคือผู้ที่จะสามารถแก้ไข “ความขัดแย้ง” ภายในประเทศได้ ด้วยเหตุนี้การพัฒนาการประชาธิปไตยของประเทศไทยนั้นจะใช้การดำเนินการใน SDGs อย่างเดียวมิได้ โดยต้องอาศัยมิติทางวัฒนธรรม การเมือง และสังคมเข้ามาศึกษาทำความเข้าใจและหาทางออกรวมกัน โดยสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งและถือว่าเป็นประสบการณ์อย่างมากคือ เหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา เพราะอันเนื่องมาจากสังคมไทยมิเคยได้รับประสบการณ์ในสังคมของประชาธิปไตย โดยเฉพาะชนชั้นนำและชนชั้นกลาง-สูง ที่วัฒนธรรมบางอย่างยังฝังรากถึงของสังคม โดยเฉพาะในสมัยของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ณ สมัยนั้น สฤษดิ์ได้มีนโยบายการชูเชิดสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเอง กับการฟื้นฟูกระแสบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากประชาชน (วรรธิกา ตันติรัตน์ไพศาล, 2532. น. 161) 

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เบื้องต้น การพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยถือว่าค่อนข้างล่าช้าและค่อยเป็นค่อยไป แต่เนื่องด้วยกระแสของสังคมยุคปัจจุบันก็ย่อมที่จะสามารถเปลี่ยนผ่านได้ง่ายผนวกกับความหลากหลายของสังคมในศตวรรษที่ 21 นี้ก็ย่อมมี “ความหวัง” ผนวกกับแนวทางการพัฒนา SDGs (เป้าหมายที่ 16) ที่จะสามรถพัฒนาแนวทางทั้ง “วิธีการ” และ “การแก้ไข” ให้กับสังคมไทยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตสำนึกของประชาธิปไตยที่จะอยู่ในคนในสังคม เป็นต้น

แนวคิดรากฐานเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของอาจารย์ ปรีดี พนมยงค์

เนื่องจากอาจารย์ปรีดี นั้นศึกษาจากที่เรียนมหาวิทยาลัยก็อง ณ ประเทศฝรั่งเศสในด้านกฎหมายหลังจากนั้นก็ได้สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ณ มหาวิทยาลัยปารีส  ได้รับปริญญารัฐ “ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย” (สุพจน์ ด่านตระกูล, 2552) ถ้าดูสภาพแวดล้อมที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เมื่อครั้งยังหนุ่มได้รับการศึกษาและเล่าเรียนนั้น เหมือนกระนั้นได้ไปดูสภาพแวดล้อมบ้านเมืองของต่างประเทศ และมีความรู้สึกว่าอยากทำให้ประเทศชาตินั้นมีความก้าวหน้า และเป็นประชาธิปไตย ดั่งเมื่อได้มีการประชุม ณ ที่ประชุมเปิดสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับการมอบอำนาจการปกครองแผ่นดินต่อที่ประชุมไว้ว่า “บัดนี้ธรรมนูญและสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ตั้งขึ้นสำเร็จแล้ว ข้าพเจ้าขอมอบการปกครองแผ่นดินที่ได้ยึดไว้ให้แก่สภาต่อไป แต่บัดนี้” (สุพจน์ ด่านตระกูล, 2552. น. 22) 

การเปิดการประชุมสภาต่อคำพูดของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ นั้นสะท้อนให้เราเห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มาสู่ระบอบประชาธิปไตย จากการยึดอำนาจโดยใช้กองทัพเป็นแกนสำคัญ กระนั้นอำนาจดังกล่าวก็มาตกอยู่กับ “รัฐสภา” ซึ่งถือว่ารัฐสภาซึ่งจะต้องเป็นผู้แทนของราษฎร ด้วยเหตุนี้แนวคิดดังกล่าว “รัฐสภา” จึงเปรียบเสมือน การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในทางการเมืองนั้นย่อมแก้ไขด้วยระบบรัฐสภา ด้วยการหาข้อมติหรือข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาของประเทศ จึงถือว่าเป็นการ “อภิวัฒน์” ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนผ่านมาสู่ความเจริญ เป็นต้น

ในทางการเมืองนั้นย่อมกล่าวไว้แล้วข้างต้นว่า “รัฐสภา” คือหนทางแห่งการแก้ไขปัญหาของชาติและถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบประชาธิปไตย ด้วยหลักฐานเบื้องต้นที่ตอกยำข้อสรุปดังกล่าวอย่างชัดเจนคือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 มาตรา 1 ระบุว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”  (พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว, 2475) 

จากการมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเบื้องต้นนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดสำคัญต่อการพัฒนาของประเทศ ด้วยวิถีแห่งประชาธิปไตย เพราะอันเนื่องมาจากการวางโครงสร้างที่สำคัญเป็นอย่างหนึ่งต่อการวางรากฐานต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและการเตรียมความพร้อมของสังคมประชาธิปไตยนั้นคือ การวางแผนทางด้านการศึกษา โดยการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) เพื่อเตรียมความพร้อมกับระบอบดังกล่าว และเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของหลัก 6 ประการ คือ “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” และการเปิดตลาดวิชาเพื่อให้ราษฎรที่มิได้มีเงินมากนักสามารถเข้าเรียนได้ (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2563) 

ด้วยเหตุนี้ย่อมต้องการที่จะให้ผู้คนนั้นสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการนำคนเข้าสู่ระบบการปกครองแบบใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับสังคมสยามเป็นอย่างมาก เพราะอันเนื่องมาจากสภาพสังคม ณ สมัยนั้น (ทศวรรษ 2470) มีความเหลื่อมล้ำสูง และในขณะเดียวกันก็ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาสินค้ามีราคาสูง โดยเฉพาะข้าวเป็นหลัก และปัจจัยภายในสังคมมีการแบ่งชนชั้นอย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความชัดเจนอย่างยิ่งคือ การครองที่ดิน เพราะมีแต่ชนชั้นสูงเท่านั้นที่มีการครองที่ดินเยอะและราษฎรทั่วไปนั้นก็มิอาจสามารถขยับฐานะของตนเองได้ ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

“เค้าโครงเศรษฐกิจ” ถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญต่อการพัฒนาของสยาม เพราะอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้นตกต่ำเป็นอย่างมาก ประเด็นทางด้านเศรษฐกิจในฐานะรัฐบาลใหม่จึงต้องเร่งแก้ไขเป็นอันดับต้นๆ และสิ่งที่ตามมาคือ “เค้าโครงเศรษฐกิจ” หรือ สมุดปกเหลือง ได้ถือกำเนิดขึ้น เค้าโครงเศรษฐกิจนี้ย่อมส่งปัญหาในภายหลัง แต่ในที่นี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงแนวคิดเพียงเท่านั้น โดยรายละเอียดเบื้องต้นในเค้าโครงนั้น เช่น แผนการจัดตั้งธนาคารแห่งชาติ แผนงานจัดตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ประกันสังคม (สุพจน์ ด่านตระกูล, 2552. น. 68) 

โดยรายละเอียดเบื้องต้นนี้ ย่อมหมายถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในยุคสมัยนั้นถือว่าเป็นหลักประกันสำหรับราษฎรโดยเฉพาะ ตามเค้าโครงเศรษฐกิจบางส่วนนี้ก็ถูกล้มล้างไปเพราะเนื่องจากความคิดที่ว่า เค้าโครงเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดี นั้นเหมือน “คอมมิวนิสต์” จากกรณีนี้เองที่ทำให้แผนการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือ “เค้าโครงเศรษฐกิจ” ต้องถูกยกเลิกไปในที่สุด 

ถึงแม้ว่าเค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้จะได้รับข้อวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมาย แต่ในทัศนะของผู้เขียนเองนั้นกลับมองว่า ในบางส่วนของเค้าโครงเศรษฐกิจมีประโยชน์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แผนงานจัดตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งถือว่ามีความก้าวหน้าเพราะคำว่า “สภา” จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างตัวแทนระหว่างกลุ่มคนในการเมืองระบอบเก่าและระบอบใหม่ ได้เข้าหากัน หาข้อสรุปต่อการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน ทั้งนี้เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งสำหรับสังคม ณ สมัยนั้น แต่ในทีนี้เราก็ปฏิเสธมิได้ว่า เราจะมีบทเรียนหรือประสบการณ์ ก็ต่อที่เมื่อเหตุการณ์เหล่านั้นได้ผ่านมาแล้วโดยที่เรามิอาจคาดการณ์ได้

ด้วยเหตุนี้แนวคิดต่างๆ ที่สำคัญเบื้องต้นของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเมือง เศรษฐกิจหรือสังคม และการศึกษา ย่อมเป็นสิ่งที่จะเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยที่จะส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน และจะเป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาประเทศ ถ้าหากเปรียบกับสังคมสมัยใหม่นั้นถือว่า สังคมไทยมาไกลเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตัวของการศึกษา คมนาคม อำนาจของท้องถิ่น และเศรษฐกิจ 

แต่โจทย์ใหม่ที่สำคัญนั้นสำหรับยุคใหม่ มิใช่เพียงแค่เรื่องที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ข้างต้น แต่เป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ การกระจายอำนาจของสังคม การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม การผูกขาดอำนาจของรัฐบาลซึ่งรวมศูนย์ไว้ที่กองทัพ รวมไปถึงสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน เป็นต้น ปัญหาที่มากมายนี้ย่อมยากที่จะแก้ไข แต่สิ่งหนึ่งที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้วางรากฐานไว้นั้นคือ การแก้ปัญหาด้วยระบอบประชาธิปไตย 

ดังที่อาจารย์ปรีดี นั้นกล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ของผู้แทนสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2523 ไว้ว่า “ระบอบปกครองที่ให้อำนาจเด็ดขาดแก่หัวหน้าคณะการเมืองและหัวหน้าคณะรัฐบาลใดๆ ก็ดีนั้น มิเพียงแต่เป็นระบอบที่ผิดต่อระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเท่านั้น หากยังเป็นระบอบที่ผิดต่อ “ราชธรรม” แห่งระบอบพระมหากษัตริย์ด้วย” (ปรีดี พนมยงค์, 2564) สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์อย่างซื่อตรง และผิดแปลกจากการปกครองด้วยระบบประชาธิปไตย ถ้าหากอำนาจนั้นรวมศูนย์ผูกขาดเพียงบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มใดเพียงหนึ่งกลุ่ม ก็ย่อมไม่ใช้วิธีทางประชาธิปไตยในทัศนะของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ นี้คือรากฐานที่สำคัญที่สังคมยังต้องการพัฒนาในด้านนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันทางการเมือง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญหลักและในขณะเดียวกันทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันสร้างสังคมประชาธิปไตย

การเปรียบเทียบ SDGs ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยกับเจตนารมณ์ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์

จากการยกตัวอย่างจากหัวข้อเบื้องต้นนี้ไม่ว่าจะเป็น SDGs 17 ประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผู้เขียนยก เป้าหมายข้อที่ 16 เป็นหมุดหมายสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทย ในขณะเดียวกันแนวคิดหรือเจตนารมณ์ของอาจารย์ปรีดี ก็มีรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยเช่นกัน ถ้าหากเปรียบเทียบกันแล้ว การสร้างสังคมประชาธิปไตยย่อมมีความสอดคล้องกันอย่างร่วมสมัยอย่างมาก ถ้าหากจะนำ SDGs 17 ประการนำมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายข้อที่ 16 ซึ่งเน้นในเรื่องของ “สังคมโดยสงบสุข สามารถให้ทุกคนนั้นเข้าถึงความยุติธรรมและการสร้างสถาบันที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพ ในทุกระดับ” ซึ่งหมายถึงความเป็นธรรมของสังคม การสร้างหลักประกันว่าประชาชนจะสามารถเข้าถึงข้อมูล มีการป้องกันเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยดำเนินการกฎหมายทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ (16.10) และหลักประกันกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีตัวแทนที่ดีของผู้คนในสังคม ในทุกระดับการตัดสินใจ (16.7) 

ด้วยเหตุนี้ด้วยแนวคิดเบื้องต้นที่ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างมานั้นย่อมสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้อย่างชัดเจน เพราะอันเนื่องมาจากการให้คำสัมภาษณ์ ต่อทิศทางการปกครองของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไว้เพียงกลุ่มเดียวย่อมไม่ใช่วิธีทางประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้การพัฒนาประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์นั้น ต้องอาศัยหลากหลายปัจจัยและกลไกทางสังคมหรือการมีส่วนร่วมของคนในสังคม เพื่อที่จะสามารถสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้ กล่าวโดยง่าย คือ หากใช้มุมมองใดมุมมองหนึ่งต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ย่อมมิอาจสามารถทำให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยได้ แต่ถ้าหากใช้วิธีการที่หลากหลายหรือการบูรณาการ ย่อมจะสามารถสร้างสังคมประชาธิปไตยได้ ด้วยเหตุนี้ แนวคิดของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ถึงแม้จะกินเวลายาวนานบนเส้นทางประวัติศาสตร์ ถึงกระนั้นก็ย่อมมีความร่วมสมัยและการวางรากฐานทางความคิดที่สำคัญอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ในขณะเดียวกัน แนวคิดของ SDGs ซึ่งถือว่ามีความทันสมัยเป็นอย่างมากเพราะเนื่องจากเป้าหมายนี้ก็เพื่อที่รักษาโลกของเรา และรวมไปถึงการพัฒนาทางด้านสังคมภายในประเทศ

แนวคิดของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เปรียบเสมือนรากฐานที่สำคัญต่อบทเรียนสำหรับประสบการณ์ในประเทศไทยของวิถีแห่งประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันแนวคิดของ SGDs เปรียบเสมือน ส่วนเสริมที่จะสามารถนำมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ในระยะยาว ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า “มีความหวัง” ต่อกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศไทย เพราะอันเนื่องมาจากภาวะทางการเมืองไทย ณ ปัจจุบันนี้ “มีปัญหา” จากอดีต ที่ยังฝังรากลึกและวัฒนธรรมการเมืองไทยที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง ถึงแม้จะเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย แต่ถึงกระนั้นด้วยพลังของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่แตกต่างจากสมัยก่อน 

กล่าวโดยง่ายนั้นคือ การผูกขาดทางด้านข้อมูลมิได้ตกอยู่ในมือของรัฐ แต่การเสพเลือกข้อมูลนั้นมีเสรีภาพ อย่างที่มิอาจเคยเกิดขึ้น นี้คือสิ่งใหม่สำหรับการเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทย ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาการและเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการก้าวต่อไปของประชาธิปไตยยุคใหม่

บทสรุป : มุมมอง SDGs เพื่อการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์

จากมุมมองเบื้องต้นซึ่งถือว่าเป็นข้อเสนอของ SDGs คือ “ข้อเสนอแห่งสภาวะสมัยใหม่” กับรากฐานแนวคิดที่สำคัญสำหรับประสบการณ์ของสังคมไทยโดยอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ คือ “ว่าด้วยรากฐานกรอบคิดในสภาวะร่วมสมัย” หากนำสองสิ่งเหล่านี้มาเชื่อมโยงสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยนั้น ถือว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่และมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เพราะว่ากระแสทางการเมืองในสังคมไทยในปัจจุบันจะมิได้เหมือนเดิมแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม “ความรุนแรง” คือสิ่งที่มิใช่ทางเลือกในวิถีประชาธิปไตย โดยแม้ว่าความรุนแรงในสังคมไทยจะมีมาอย่างยาวนานโดยเฉพาะเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง แต่ถึงกระนั้น การศึกษาประวัติศาสตร์นั้นไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ใดอดีต เราควรจะตั้งเป้าไปที่การปลดปล่อยตนเองจากการเกาะกุมของอดีตมิใช่เพื่อกังขังตัวเองไว้ในอดีต (นำชัย ชีววิวรรธน์ และ ธิดา จงนิรามัยสถิต, 2562. น. 92) สังคมไทยนั้นยังต้องเรียนรู้เกี่ยวกับ “ความทรงจำ”

รายการอ้างอิง

  •  ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (26 มิถุนายน 2563). ปรีดี พนมยงค์ กับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (1).
  • สถาบันปรีดี พนมยงค์. https://pridi.or.th/th/content/2020/06/318
  • ปรีดี พนมยงค์. (16 กันยายน 2564). ทัศนะของนายปรีดีต่อการสถาปนาอำนาจเผด็จการ หลังรัฐประหาร 2490.
  • สถาบันปรีดี พนมนงค์. https://pridi.or.th/th/content/2021/09/83
  • พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 (27 มิถุนายน 2475).
  • ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 49 หน้า 167.
  • ยูวัล โนอาห์ แฮรารี. (2562). โฮโมดีอุส ประวัติย่อของวันพรุ่งนี้ (ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ และ ธิดา จงนิรามัยสถิต, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: ยิปซี กรุ๊ป
  • สุพจน์ ด่านตระกูล. (2552). ชีวิตและงานของ ดร.ปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.
  • สุปราณี ธรรมพิทักษ์. (2561). มุมมองเชิงทฤษฎีของการนำนโยบายไปปฏิบัติ. รมยสาร, 16(2), 506.
  • วรรธิกา ตันติรัตน์ไพศาล. (2532). กระบวนการเสริมสร้างอำนาจทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์. [วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/48830
  • อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา. (22 เมษายน 2019). Post Election War ประชาธิปไตยยังมีความหวัง? คุยกับประจักษ์ ก้องกีรติ. The momentum. https://themomentum.co/post-election-war-interview-prajak-kongkirati/
  • BBC. (28 มิถุนายน 2017). ย้อนรอย 20 ปีวิกฤตเศรษฐกิจ. https://www.bbc.com/thai/thailand-40434491
  • iLaw. (13 ตุลาคม 2562). รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นอย่างไร ใครๆ ก็พูดถึง. https://www.ilaw.or.th/node/5426
  • SDGMove. (7 ตุลาคม 2016). Goal 16: Peace Justice and Strong Institution. https://www.sdgmove.com/2016/10/07/goal-16-peace-justice-and-strong-institution/
  • Science, Mahidol. (ม.ป.ป.) เป้าหมาย SDGs 17 ประการ. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2565, จาก https://science.mahidol.ac.th/sdgs/sdgs-17/