พ.ศ. 2565 นอกจากจะเป็นปีครบวาระ 90 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ยังประจวบตรงกับพรรษาที่ 90 ของการก่อตั้งสวนโมกขพลาราม[1] ที่ “พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ)” หรือผู้คนรู้จักมักคุ้นในฉายา “พุทธทาสภิกขุ” มหาหนุ่มเปรียญธรรม 3 ประโยค ในวัย 26 ปี ริเริ่มปรับปรุงวัดร้างในบ้านเกิด จ.สุราษฎร์ธานี ให้เป็นรมณียสถานแด่ผู้ใฝ่ธรรม ท่านได้เข้าพำนักครั้งแรกที่นี่ในพรรษาที่ 7 ช่วงวันวิสาขบูชากลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2475[2] ก่อนหน้าวันเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงเดือนเศษ
ท่านพุทธทาสให้สัมภาษณ์ถึงปฏิกิริยาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองยามนั้นไว้ว่า
“นายธรรมทาส (น้องชาย) เขาเกณฑ์ให้ผมพูดเทศน์ครั้งหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครอง เทศน์เป็นลักษณะว่าประชาธิปไตยน่ะเข้ารูปเข้ารอยกันกับหลักพระพุทธศาสนา (หัวเราะ) ผมก็ว่าไปตามนั้นแหละ ว่าประชาธิปไตยเหมือนกับการปกครองสงฆ์ ในพุทธศาสนาพระสงฆ์เป็นใหญ่ ประชุมสงฆ์ ลงมติแล้ว ก็ถือเป็นเด็ดขาด แล้วก็ทุกคนมีเสรีภาพ มีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน สรุปความว่าพูดให้เห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยนั้นยิ่งตรงกับหลักพุทธศาสนา ชาวบ้านพวกนั้นเขาจะฟังถูกที่ไหน ชาวบ้านแบบนี้ฟังถูกไม่กี่คน แม้แต่พุทธศาสนา เขายังไม่ค่อยรู้ แล้วประชาธิปไตยก็ยิ่งแปลก เป็นของแปลก”
ครั้นเมื่อผู้ถามปุจฉาต่อว่า
“อย่างนี้แสดงว่าสมัยนั้นอาจารย์กับคุณธรรมทาสก็เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง 2475”
พระท่านวิสัชนาว่า
“(หัวเราะ) ไม่มีความคิดว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จำเป็นจะต้องยอมรับสภาพสถานการณ์ว่าเป็นอย่างนั้น เพื่อจะให้ประชาชนชาวบ้านไม่ตกใจ แตกตื่น ก็พูดทำนองนั้น เราก็ไม่ตื่นเต้น มันมีบ้าง ตื่นเต้นในทางที่มันแปลกออกไป ไม่ตื่นเต้นถึงขนาดใหญ่โต เราก็เคยได้ยินได้ฟังกันอยู่ก่อนหน้านู้นแล้วว่า เมืองนอกเขามีระบอบประชาธิปไตย เดี๋ยวนี้ก็เข้ามาถึงเมืองเรา ไม่รู้สึกไปในทางไม่ดี รู้สึกมันจะเป็นไปในทางดี แต่ก็ไม่ได้มองบุคคล เหมาว่าประชาธิปไตยนี้คงจะดี”[3]
ข้อความที่ท่านพุทธทาสว่า “เทศน์ครั้งหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ผู้เขียนสันนิษฐานว่าคือเทศนาที่แสดง ณ โรงเรียนสารภีอุทิศ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ภายหลังหลวงพิบูลสงครามขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีวาระแรกไม่ถึงสองอาทิตย์ หรือภายหลังปฏิวัติสำเร็จและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2475 ไปแล้วถึง 6 ปี
บริบทเหตุการณ์ขณะนั้น รัฐบาลใหม่ของหลวงพิบูลฯ (ต่อมาคือ จอมพล ป.) กำลังจะเริ่มประกาศนโยบายรัฐนิยมอันรวมถึงการเปลี่ยนชื่อ “สยาม” เป็น “ประเทศไทย” และเริ่ม การฉลองวันชาติครั้งแรก 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ร่วมกับการประกาศความเป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์อันเป็นผลสำเร็จจากการแก้สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับนานาชาติที่สยามถูกเอารัดเอาเปรียบตลอดสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ปาฐกถาชิ้นสำคัญนี้ ท่านพุทธทาสแสดงไว้ในรูปแบบร้อยแก้วขนาดยาวประกอบแทรกร้อยกรองในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญของเรา”[4] ความยาว 6 หน้า บันทึกด้วยเครื่องพิมพ์ดีดและลายมือลงบนกระดาษฟุลสแก๊ป มีใจความสมบูรณ์ดังต่อไปนี้ (คัดสำเนาตามคำสะกดต้นฉบับ)
ร้อยแก้ว
รัฐธรรมนูญของเรา
ข้าแต่ท่านผู้เปนประธาน และท่านผู้ฟังทั้งหลายซึ่งมีความเคารพและความรักในรัฐธรรมนูญ. ข้าพเจ้าขอแสดงความเคารพต่อท่าน.
ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเปนเกียรติยศ และรู้สึกปลื้มใจอย่างยิ่ง ในการที่ได้มาเปนผู้กล่าวคำสดุดีหรือพรรณนาพระคุณของรัฐธรรมนูญอันศักดิ์สิทธิ์ ในที่นี้. เราควรที่จะกล่าวถ้อยคำสรรเสริญบุญคุณของบิดามารดาครูอาจารย์อยู่เสมอๆ ฉันใด ประชาชาติทุกๆ คน ก็ควรที่จะรำลึกหรือสำนึกถึงคุณของรัฐธรรมนูญ อันเราได้รับอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ให้เสมอฉันนั้น.
ตามธรรมดาคนเรา ถ้ารู้สึกซึมซาบถึงจุดสำคัญของความที่บิดามารดาเปนผู้มีบุญคุณอยู่เพียงใด ก็คงไม่มีวันที่จะประพฤติล่วงเกินต่อท่าน แม้ในบางคราวที่เผอิญมีโทษะจัดเกิดขึ้้น. เมื่อไม่ล่วงเกินต่อสิ่งที่อำนวยประโยชน์สุขแก่ตนเช่นนี้ ทางมาแห่งคุณงามความดีก็จะเปิดขึ้นโล่งเตียนสำหรับเรา. และเราจะเห็นสมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า “ความกตัญญูกตเวทีเปนเครื่องหมายของคนดี” โดยไม่ต้องสงสัย.
โดยทำนองเดียวกันนี้ ที่เราพึงประพฤติให้ถูกต้องและเหมาะสมต่อรัฐธรรมนูญ. ทั้งนี้ เพราะว่าเรากำลังได้รับความร่มเย็น เสรีภาพ และความมีอิสสระภาพในการปกครองตัวเราเอง เพิ่มมากขึ้นๆ เริ่มแต่เราได้รับรัฐธรรมนูญเป็นลำดับๆ มา อันเราเชื่อได้โดยประจักษ์แล้วว่า มันเปนอานุภาพของรัฐธรรมนูญนั่นเอง.
เรายิ่งเคารพและรักรัฐธรรมนูญมากขึ้นๆ ทุกๆ คราวที่เราได้ประจักษ์ในผลใหม่ๆ ของรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญก็กำลังอำนวยอวยให้ สูงขึ้นๆ สมกับที่พวกเราภักดีต่อรัฐธรรมนูญมากขึ้นๆ ดุจกัน.
ฉนั้นเปนการสมควรแล้ว ที่จะย้ำความเข้าใจอันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ให้ชัดเจนแจ่มใสโชติช่วงอยู่ในหัวใจของชาวเราทุกคน และให้มองเห็นเลอียดสุขุมยิ่งขึ้นเปนลำดับๆ.
ในนามแห่งโรงเรียนประชาบาล... ... ... ... .... .... ข้าพเจ้าขอกล่าวสดุดี และพรรณนาพระคุณของรัฐธรรมนูญอันศักดิ์สิทธิ์ ตามความรู้สึกอันแท้จริง ดังที่จะได้กล่าวสืบไป
เรากล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญ คือ แกนกลางแห่งความดำรงชาติ. ประเทศชาติของเราจะต้องหมุน หรือต้องการจะหมุน ไปสู่ยอดสุดแห่งความเจริญ ซึ่งหมายถึงความสุขอย่างเสรีทุกประการ. ข้าพเจ้าไม่จำเปนที่จะต้องถามท่านว่ามีความปรารถนาเช่นนี้หรือไม่ หรือสงสัยผู้ใดผู้หนึ่งว่า จะไม่มีความปรารถนาเช่นนี้ เพราะข้าพเจ้าเชื่อและไว้ใจในความรักชาติ ของพวกเราทุกๆ คน.
แต่ว่าการหมุน ต้องมีแกนกลางของมันเปนเครื่องทรงตัว เช่นเดียวกับลูกข่างหรือตัวจักรมีแกนกลางเปนเครื่องยึดเหนี่ยวของมัน มิฉนั้นก็หมุนไปไม่ได้. โดยทำนองเดียวกันนี้ ประเทศชาติของเราที่จะหมุนไปหายอดสุดของความเจริญก็ต้องอาศัย รัฐธรรมนูญ เปนแกนกลางอันสำคัญ มิฉะนั้นก็จะหมุนไปไม่ได้.
เราจะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญก็คือหัวใจแห่งชาตินั่นเอง. ไร้รัฐธรรมนูญ ก็คือไร้หัวใจ. ถ้ารัฐธรรมนูญถูกละเลยทอดทิ้ง ก็มีความหมายว่า หัวใจของชาติเปนพิษ หรือเกิดโรคขึ้นเสียแล้ว เพราะความโง่เขลาของเจ้าของ. หน้าที่ของเราจึงมีว่า เราจักต้องช่วยกันหล่อเลี้ยงรัฐธรรมนูญหรือหัวใจของเรา ให้สดชื่นอยู่เสมอไป, และยิ่งขึ้น.
ที่ว่ารัฐธรรมนูญเปนแกนกลางแห่งความดำรงชาติ เพราะเปนกติกาภายในชาติ เพื่อให้ส่วนประกอบ ของชาติทุกๆ ส่วน ต่างส่วนต่างทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง และสัมพันธ์กันเป็นดี. พลเมืองทุกคนเปนหน่วยหนึ่งๆ ของชาติ หรือส่วนประกอบส่วนหนึ่งๆ. ทุกๆ หน่วย มีความรับผิดชอบ และส่วนได้ส่วนเสียร่วมกัน. มีความเปนอยู่เปนอันเดียวกัน. ถ้าเกิดส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่อง หรือทำผิดพลาดในหน้าที่ของตน ส่วนนั้นก็จะกลายเปนพิษขึ้นทำลายส่วนรวมในที่สุด ส่วนรวมคือชาติ จะอ่อนแอ และล่มจมได้ในที่สุด.
รัฐธรรมนูญเปนอาณัติอันศักดิ์สิทธิ์ ที่เราให้ไว้ต่อกัน หรือสัญญาไว้ต่อกัน ในอันที่จะจงรักภักดีกัน ร่วมมือกันดำรงชาติคือตัวเราเอง. การสามารถร่วมมือกันปกครองตัวเองเช่นนี้ เปนเครื่องหมายอันแสดงว่า เราได้ละจากความเปนป่าเถื่อน เพราะผู้ที่ยังเปนป่าเถื่อน จะเปนผู้มีความรู้สามารถปกครองตัวเอง ไม่ได้เปนอันขาด. ตามแง่นี้ รัฐธรรมนูญก็คือเกียรติยศ. มันเปนเกียรติยศของชาติ คือตัวเราเอง ซึ่งเปนสิ่งที่จะต้องถนอมยิ่งกว่าชีวิต. ชีวิตที่ไร้เกียรติยศ ย่อมเท่ากับความไม่มีชีวิต. ชาติที่ไร้รัฐธรรมนูญ ก็คือชาติที่ไร้เกียรติยศนั่นเอง เพราะธรรมชาติได้ประสิทธิประสาสน์ความสามารถในการปกครองตัวเองมาให้แล้ว ตนก็หาสามารถปกครองตัวเองไม่. ชาติที่ไร้เกียรติยศนั้น เท่ากับไม่มีชาตินั้นอยู่ในโลก.
ความมีอยู่แห่งรัฐธรรมนูญของเรา จึงเท่ากับความมีอยู่แห่งเกียรติยศของเรา ซึ่งหมายถึงความที่เรามีอยู่กับเขาชาติหนึ่ง ในโลกนี้. ความมีอยู่ได้ของเรา ย่อมขึ้นอยู่แก่ความมีอยู่ได้ของรัฐธรรมนูญ ความมีอยู่แห่งรัฐธรรมนูญ ย่อมขึ้นอยู่กับความที่เราทุกคนพากันรักและประพฤติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายถึงการประพฤติตามอาณัติที่เราให้ไว้ต่อกัน ในอันจะจรรโลงชาติให้รุ่งเรืองนั่นเอง.
รัฐธรรมนูญคืออาณัติอันถูกต้องและศักดิ์สิทธิ์ ที่เราได้พร้อมกับสถาปนาขึ้นโดยตัวเราเอง และเพื่อเราเอง. โดยอาณัติอันนี้, ทั้งพระมหากระษัตริย์ รัฐบาลและราษฎร ต่างฝ่ายต่างจะสามารถทำหน้าที่ของตนๆ โดยอาการที่จะประสานสัมพันธ์กัน, ยังผลคือ ความเก่งกล้าสามารถ และความสงบสุข ให้เกิดขึ้นแก่เราทุกคน ไม่ว่าชายหญิงเด็กผู้ใหญ่. ถ้าไร้อาณัตินี้ ย่อมแปลว่า ยังมีบางคนที่ยังโง่จนถึงกับไม่รู้จักค่าของการปกครองตัวเอง จักมีภาวะที่น่าสมเพชเวทนาเกิดขึ้นในชนหมู่นั้น ดังที่ระบอบแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตามประวัติศาสตรอันนานไกล ได้แสดงให้เห็นมาแล้ว. ในขณะที่คนพวกหนึ่งเป็นอย่างสัตว์เลี้ยง คนอิกพวกหนึ่งเป็นเหมือนผู้เลี้ยงสัตว์ หรือยิ่งไปกว่า. ภาวะเช่นนี้จักไม่มีในระบอบแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งเปนระบอบที่ทำหญิงชายทุกๆ คน ให้มีชีวิตของตนเอง ไม่มีบางคน หรือบางเพศ ที่ต้องตกเปนสัตว์เลี้ยงของผู้อื่น. เมื่อเปนเช่นนี้ ความกลมเกลียวก็จะเปนสิ่งที่สนิทสนมมีกำลังอันมหึมา รักษาความเปนเอกราชย์ของตนไว้ได้มั่นคงตลอดกาลนาน ซึ่งขอสรุปความตอนนี้ไว้เปนใจความว่า
รัฐธรรมนูญเปนอาณัติการจัดชาติ
ให้เก่งกล้าสามารถและสุขได้
เปนดวงชีพเราจริงทั้งหญิงชาย
ถ้าหากไร้รัฐธรรมนูญสูญชาติแท้
เราคิดสืบไปว่า ทำไมเราจะถึงกับสูญชาติ ถ้าเราไร้รัฐธรรมนูญ? ทั้งนี้เพราะว่า รัฐธรรมนูญช่วยให้เราได้รับอิสสรภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ อันเปนเครื่องชูใจให้เราเข้มแข็ง และสมัครตายร่วมกันได้อย่างสนิท ไม่รังเกียจเกี่ยงงอนกัน หรือมีทางได้เปรียบเสียเปรียบกันในเรื่องสิทธิและหน้าที่. นานาประเทศได้ยอมรับรองความเปนเอกราชย์ของเราอย่างสมบูรณ์ โดยการยอมแก้สัญญาทางพระราชไมตรีทุกๆ ข้อที่ยังไม่เปนการยุติธรรม และไม่รับรองความเปนเอกราชย์ของเราอย่างเต็มเปี่ยม.
อิกประการหนึ่ง เขายอมรับรองเราในทางวัฒนธรรมหรืออารยธรรม ว่าสยามได้เปนประเทศหนึ่ง ในบรรดาอารยประเทศ ยกตัวขึ้นมาพ้นจากความเปนประเทศป่าดง ซึ่งโลกถือกันว่าเปนภัยต่อความสงบและวัฒนธรรมของโลก. เหล่านี้ เปนผลอันเผล็ดออกมาจากรัฐธรรมนูญและความสามารถในการปกครองตนตามแบบรัฐธรรมนูญ.
การปกครองที่มิใช่ระบอบรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมแยกเอาพระเจ้าแผ่นดินกับรัฐบาลไว้อิกแพนกหนึ่งห่างหากจากราษฎร ไม่ประสานกลมกลืนกัน โดยที่ถือว่าราษฎรยังโง่อยู่ ยังไม่ควรมีสิทธิมีเสียงในการปกครองบ้านเมือง. แต่เมื่อความจริงมีอยู่ว่า ราษฎรส่วนมากได้เจริญด้วยการศึกษา ย่อมทนอยู่ไม่ได้ ในการที่จะไม่คัดค้านหรือทักท้วง หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีความเสียอกเสียใจ ในเมื่อรู้สึกว่าตนไม่มีสิทธิอันสมควรในการปกครองตัวเอง คือมีส่วนในการออกนิติบัญญัติของประเทศชาติ. ความเสียใจหรือน้อยใจอันนี้เอง เมื่อระอุมากขึ้น การแตกแยกกันเองภายในชาติก็พลันอุบัติขึ้นทันที เปนโอกาศให้ทำลายกันเองให้อ่อนแอ จนในที่สุดตกไปเปนเหยื่อของชาติอื่น และสูญชาติเพราะเหตุนี้.
อันการปกครองแบบรัฐธรรมนูญนั้น รัฐบาลกับราษฎร เปนอันเดียวกัน. รัฐบาลก็คือราษฎรส่วนหนึ่ง ที่ราษฎรส่วนใหญ่มอบหน้าที่ให้บริหารการงานของขาติไป ภายใต้ความควบคุมของราษฎรส่วนใหญ่นั่นเอง. รัฐบาลจะทำสิ่งใดลงไปได้ ก็ต้องโดยความยินยอมของราษฎร. แต่ความระแวงในรัฐบาล หรือรู้สึกว่ารัฐบาลเปนศัตรูของราษฎรนั้น ยังคงระแวงอยู่หัวใจของราษฎรทั้งหลาย ทั้งนี้เพราะติดมาแต่สมัยโบราณกาล ที่ราษฎรกับรัฐบาลเปนคนละส่วน ซึ่งรัฐบาลในสมัยเช่นนั้น มักปกครองหรือใช้วิธีเฉือนจากส่วนหนึ่งไปเจือให้อิกส่วนหนึ่ง ซึ่งปราศจากสมภาพและภราดรภาพ.
ในประวัติศาสตรอันนานไกล ก็ได้เคยแสดงให้เห็นว่า เคยมีรัฐบาลบางรัฐบาลที่เปนภัยต่อราษฎร คือเปนบ่าวเปนนายแก่กันและกัน ทั้งไร้ความยุตติธรรมด้วย. เมื่อเปนเช่นนี้ การระแวงก็เกิดขึ้นภายในใจของราษฎร และรู้สึกเปนเขา เปนเรา เปนฝักฝ่ายกันขึ้นมา, และการระแวงอันนี้ ยังคงมีอยู่กระทั่งบัดนี้ ซึ่งเราได้เปลี่ยนการปกครองไปอิกรูปหนึ่งแล้ว. ในการเลือกผู้แทนราษฎร ข้าพเจ้าเคยได้ยินบางตนกล่าวว่า เขาไม่เลือกผู้มีชื่อคนนั้น เพราะเมื่อเขาได้รับเลือกแล้ว เขาจะพยายามเปนรัฐมนตรี และดำเนินงานที่เปนปรปักษ์กับราษฎร. การเข้าใจเช่นนี้ย่อมผิดมาก. ถ้าหากว่าราษฎรได้เข้าไปเปนรัฐมนตรีเปนจำนวนมาก ก็ย่อมแปลว่ามีการประสานกันมากยิ่งขึ้นเท่านั้น และฝ่ายราษฎร ก็ยิ่งได้ความปกครองตัวเองมากขึ้นเพียงนั้น.
ลองนึกดูทีหรือว่า ถ้ารัฐมนตรีทั้งคณะ เปนพวกผู้แทนที่ราษฎรเลือกขึ้นไปทั้งหมด การปกครองก็จะยิ่งถูกใจราษฎรมากขึ้นเพียงใด. ฉนั้นทางที่ถูก ราษฎรควรเลือกคนที่มีความรู้สามารถเปนรัฐมนตรีได้ต่างหากส่งเข้าไปเปนผู้แทน แทนการที่จะเลือกอย่างเห็นแก่พวกของเองถ่ายเดียว.
เมื่อทำได้เช่นนี้ รัฐธรรมนูญซึ่งมีจุดหมายจะประสานรัฐบาลกับราษฎรให้เปนกลุ่มก้อนอันเดียวกัน ก็จะสัมฤทธิผลได้ยิ่งขึ้นและง่ายขึ้น. รัฐธรรมนูญมีความจริงและความบริสุทธิ์ประเสริฐในตัวเองมากพอแก่การที่จะทำประเทศชาติให้เปนสุข ยังขาดอยู่ก็แต่ที่ราษฎรเราเอง มีความรู้ในระบอบของรัฐธรรมนูญไม่พอ และประพฤติยังน้อยไป ในการที่จะส่งเสริมให้รัฐธรรมนูญได้มีโอกาศประสิทธิผลเต็มเปี่ยมเสียโดยเร็ว.
รัฐบาลคือคนพวกหนึ่ง ที่เราจัดไว้เพื่อบริหารงาน เพราะเปนพวกที่มีความรู้ความสามารถในการบริหาร. ส่วนราษฎรทุกๆ คน เปนเจ้าของงาน คือเจ้าของประเทศ. รัฐบาลได้รับมอบการงานให้ไปจัดทำ อย่างที่ต้องรับผิดชอบ. ส่วนราษฎรเปนผู้ควบคุม โดยการจัดตั้งสภาผู้แทนขึ้น สำหรับเจรจากับฝ่ายรัฐบาล. ถ้าจะให้รัฐบาลได้โอกาศบริหารให้เต็มที่ตามที่ต้องรับผิดชอบ ราษฎรก็ต้องให้ความวางใจอย่างเต็มที่. ถ้าปล่อยให้รัฐบาลทำ ก็ต้องวางใจรัฐบาล ถ้าไม่วางใจ ก็อย่าให้ทำ.
ทั้งนี้เพราะว่ารัฐบาลจะทำไปไม่ได้เลย ไม่สามารถรับผิดชอบอย่างใดเลย ในเมื่อไม่ได้รับความไว้วางใจและโอกาศ ถึงจะตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมา ก็ย่อมทำนองเดียวกันอิก ในที่สุดก็จะแตกแยกกัน ซึ่งย่อมหมายถึงความที่ชาติแตก. เพราะฉนั้นเราควรมองเห็นให้ชัดเจนที่สุดว่า รัฐบาลกับราษฎร จะต้องประสานกันอย่างสนิทสนมเพียงไร. เมื่อรัฐธรรมนูญสามารถเป็นหลักกลาง ดึงโยงความประสานอันนี้มาให้ได้แล้ว ก็ควรที่จะได้รับความเคารพรักอย่างยิ่ง เพื่อชาติจะได้ไม่แตกแยก และสูญสลาย, ซึ่งขอสรุปความในตอนนี้ไว้ เป็นใจความว่า
รัฐธรรมนูญก่อให้เกิดการประสาน
ระหว่างราษฎร์กับรัฐบาลสนิทแน่
เกิดความรักความไว้ใจไม่ผันแปร
ยอมพลีแม้ ชีพเพื่อเกื้อชาติกัน.
ตามที่กล่าวมาถึงเพียงนี้ เราจะเห็นได้ว่าการดำรงชาติอยู่ได้ของพวกเรา ย่อมเกิดจากการที่เราประสานกันสนิทเปนกลุ่มก้อนเดียวกัน. รัฐธรรมนูญของเราบ่งไว้ชัดว่าประชาชาติสยามเปนกลุ่มก้อนเดียวกัน จะแบ่งแยกมิได้ และมีสิทธิเสรีเสมอกันทุกคน. ข้อนี้ย่อมตรงกันกับหลักแห่งการปกครองสงฆ์ ของพระพุทธเจ้าอันเป็นสาสดาของพวกเรา. สังฆธรรมนูญของพระผู้มีภาคเจ้านั้น ย่อมถือว่าสงฆ์มีสิทธิเท่ากันหมด ในการออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ในที่ประชุมสงฆ์.
ถ้าสงฆ์แม้เพียงองค์เดียวค้านขึ้น ญัตตินั้นก็ต้องล้มเลิกไป ต้องหาทางใหม่จนไม่มีใครค้าน จึงจะใช้ได้. ที่เราจะเห็นว่าตามหลักของพระพุทธเจ้า ก็นิยมสมภาพและเสรีภาพยิ่งนัก. ภิกษุสงฆ์ที่เข้ามาบวช จะเปนผู้มาจากตระกูลสูงต่ำ หรือเปนกระษัตริย์มาก็ตาม เมื่อบวชในธรรมวินัยนี้แล้ว ย่อมไม่มีสิทธิพิเศษอันใด ในเพราะความที่มีตระกูลสูงนั้น มีสิทธิเสมอกันกับภิกษุอื่นๆแม้ที่เปนยาจกมาบวชแลทั้งจะต้องเคารพภิกษุยาจกมาบวชนั้น ถ้าหากว่าเปนผู้บวชทีหลังเขาแม้เพียงวันเดียว โดยที่ถือหลักว่า ใครบวชก่อนเปนพี่ ใครบวชหลังเปนน้อง, และมีบิดาร่วมกันคือพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว.
เมื่อใครเจ็บป่วยลง หน้าที่ย่อมเกิดขึ้นตามพระวินัย คือทุกคนต้องช่วยพยาบาลรักษา ไม่ว่าจะเปนเพื่อนที่รู้จักกันหรือไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แม้พระองค์เอง ก็ได้ทรงพยาบาลภิกษุไข้อยู่บ่อยๆ. นี่เราจะเห็นได้ว่า ภราดรภาพก็คือหลักอันหนึ่งของพุทธสาสนา. ตามพระวินัย เมื่อใครจะโจทใครด้วยอธิกรณ์อันใด ผู้จะโจทเขา ก็ต้องขอโอกาศต่อผู้ที่จะถูกโจทนั้นเสียก่อน เพื่อพูดหรือโจทกันอย่างผู้มีอิสสรภาพและเสรีภาพเท่ากันทั้งสองฝ่าย เว้นแต่เมื่อผู้ทำผิดนั้นจะดื้อดึงไม่ยอม จึงจะเสนอเรื่องให้สงฆ์เปนผู้โจทเสียเอง แต่ถึงอย่างนั้นก็จัดทำไปอย่างเคารพสิทธิของจำเลยเสมอ. นี่เราจะเห็นว่าตามหลักพุทธสาสนา ก็นิยมอิสสรภาพและเสรีภาพเปนอย่างยิ่ง.
เท่าที่ยกมาเปนตัวอย่าง เราพอที่จะวางใจได้อย่างหนึ่งว่า ระบอบรัฐธรรมนูญนี้ ช่างเหมาะสมกลมกลืนกันสนิทแท้ กับหลักแห่งพุทธศาสนา ซึ่งเปนของมีประจำอยู่ในสายเลือดของเราทุกๆ คนมาตั้งแต่บรรพบุรุษ. การปกครองตามระบอบแห่งรัฐธรรมนูญ จึงตรงกับความต้องการแห่งธาตุของจิตรใจเรายิ่งนัก และเหมาะแก่เกียรติยศแห่งความเปนพุทธบริษัทของเราอย่างไม่มีอะไรเปรียบ. นักปราชญ์ชื่อ นิชิเรน กล่าวว่า เมื่อใดทุกๆ ประเทศในโลกอันกว้างใหญ่นี้ มีการปกครองชาติตรงตามหลักพุทธศาสนา เมื่อนั้นโลกจะประกอบด้วยสันติสุขอย่างทั่วถึง.
สยามได้เคยเปนตัวอย่างอันดียิ่ง ในการที่เปนชาติแรกในโลก ซึ่งได้รัฐธรรมนูญมาโดยมิต้องเสียเนื้อเลือดแลกเปลี่ยนเอา เหมือนชนชาติอื่นในประวัติศาสตร. นี่ย่อมเปนเกียรติยศอย่างยิ่งแก่พุทธสาสนาและแก่สยามเอง ซึ่งยกพุทธสาสนาขึ้นเปนสาสนาของชาติ. เราจึงกล่าวได้ในที่สุดอิกชั้นหนึ่งว่า ระบอบแห่งรัฐธรรมนูญนี้ เหมาะแล้วสำหรับพวกเรา เพราะลงกันได้กับสาสนาของเรา ซึ่งเคยช่วยชาติเราให้รักษาเอกราชไว้ได้อย่างปลอดภัยมาโดยลำดับๆ กระทั่งถึงวันได้รัฐธรรมนูญมาโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อเช่นนี้ ก็โดยเหตุที่พุทธสาสนาได้เข้าสิงเปนธาตุแห่งจิตรใจของเรามา จนเราได้ชื่อว่าเปนพุทธบริษัททุกหยดเลือดก็กล่าวได้. และมันไม่เปนการกล่าวที่เกินความจริงไปเลย ถ้ากล่าวว่า พุทธสาสนาคือสาสนาแห่งรัฐธรรมนูญ. และพวกเราควรที่จะถือสาสนารัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหลักลงเปนอันเดียวกันกับพุทธสาสนาอย่างน่าเลื่อมใสยิ่งนัก ขอสรุปความในตอนนี้ว่า
รัฐธรรมนูญตรงตามธาตุแห่งจิตรใจ
ของชาวไทยผู้ถือพุท-ธสาสน์มั่น
เปนดวงแก้วส่องทางอย่างเดียวกัน
เพื่อสุขสันต์ส่วนรวมร่วมน้ำใจ.
แม้ชาติไทยตัวน้อยด้อยศักดา
แต่อาจกล่าวได้ว่ามีธรรมใหญ่
รัฐธรรมนูญก็คือธรรมนำรัฐไป
สู่สุขได้จึ่งน่าชมสมชื่อเอย”
ต่อไปนี้ข้าพเจ้าขอเชิญชวนท่านทั้งหลายให้เพ่งจิตรพิจารณาดูความเปนสิ่งสูงสุดและศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญอยู่เสมอๆ ว่าจะสามารถอำนวยผลให้เกิดขึ้นดังกล่าวแล้วได้เพียงไร น่าเคารพรักเพียงไร แล้วและย้อมจิตรของท่านให้มั่นอยู่ด้วยความรักอันนั้น จนสามารถพลีชีพเพื่อรักษาร่มโพธิ์ไทรแห่งชาติได้จงทุกเมื่อเทอญ. และข้าพเจ้าขอกล่าวคำสรุปความของข้าพเจ้าซ้ำอิกครั้งหนึ่งว่าสวัสดี!
ร้อยกรอง
รัฐธรรมนูญของเรา
รัฐธรรมนูญ คืออาณัติ การจัดชาติ
ให้เก่งกล้า สามารถ และสุขได้
เปนดวงชีพ เราจริง ทั้งหญิงชาย
ถ้าหากไร้ รัฐธรรมนูญ สูญชาติแท้
รัฐธรรมนูญ ก่อให้เกิด การประสาน
ระหว่างราษฎร์ กับรัฐบาล สนิทแน่
เกิดความรัก ความไว้ใจ ไม่ผันแปร
ยอมพลีแม้ ชีพเพื่อ เกื้อชาติกัน
รัฐธรรมนูญ ตรงตามธาตุ แห่งจิตรใจ
ของชาวไทย ผู้ถือพุทธ อย่างเดียวกัน
เปนดวงแก้ว ส่องทาง อย่างเดียวกัน
เพื่อสุขสันติ ส่วนรวม ร่วมน้ำใจ
แม้ชาติไทย ยังน้อย ด้อยศักดา
แต่อาจกล่าว ได้ว่า มีธรรมใหญ่
รัฐธรรมนูญ ก็คือธรรม นำรัฐไป
สู่สุขได้ จึงน่าชม สมชื่อแล้ว
เพราะฉะนั้น เราท่าน ทั้งหญิงชาย
ผู้สืบสาย “เมืองทอง” จงผ่องแผ้ว
ยอมพลีชีพ จงรัก พิทักษ์แนว
แห่งรัฐธรรม- นูญแน่ว ทุกคนเอย.
สวัสดี
๒๗ ธันว.๒๔๘๑.
หมายเหตุ :
- อักขรวิธี สะกดตามที่ปรากฏในเอกสารชั้นต้นของพุทธทาสภิกขุ
- เอื้อเฟื้อภาพประกอบโดยผู้เขียนและหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
[1] นริศ จรัสจรรยาวงศ์ และ สุกัญญา เจริญวีรกุล, พุทธทาส กับ คณะราษฎร 90 พรรษสวนโมกข์ 90 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง จุดเชื่อมต่อ https://www.the101.world/buddhadasa-bhikkhu-revoluiton-2475/
[2] อัตชีวประวัติระบุ 12 พฤษภาคม 2475 ส่วนวันวิสาขบูชาปีนั้นคือ 19 พฤษภาคม ดู พระประชา ปสนฺนธมฺโม สัมภาษณ์, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา เล่ม 3, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2529, (เคล็ดไทย), น.696.
[3]พระประชา ปสนฺนธมฺโม สัมภาษณ์, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา เล่ม 3, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2529, (เคล็ดไทย), น.564-565.
[4] บทความบันทึก พ.ศ. 2473 ถึง พ.ศ. 2481 เอกสารจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ BIA5.1/2 กล่อง 1 [14]-[19] จุดเชื่อมต่อ https://shorturl.asia/qCoa5