ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

สภาพเศรษฐกิจการเมืองสยาม ก่อนอภิวัฒน์ 2475

14
มิถุนายน
2565

การทำนาเป็นรากฐานสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจสังคมสยาม ตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์อันยาวนาน การปลูกข้าวเพื่อส่งออกและการค้าภายในเป็นกิจกรรมหลักทางเศรษฐกิจ โดยในช่วงต้นของ พ.ศ. 2400 สินค้าส่งออกทางการเกษตรมีสัดส่วนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด สังคมเกษตรกรรมช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นจึงต่อเนื่องยาวนานจนถึง พ.ศ. 2490

สังคมภาคเกษตรในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ถือเป็นสังคมที่ประกอบไปด้วยชาวนาอิสระจำนวนมาก และชาวนาเหล่านี้ก็สามารถจับจองพื้นที่ในการเพาะปลูกได้ สังคมในลักษณะดังกล่าวสะท้อนถึงวัฒนธรรมแห่งการพึ่งตนเอง ให้คุณค่ากับความเสมอภาค และยึดถือประเพณีช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

การส่งออกข้าว น้ำตาล และสินค้าเกษตรอื่นๆ เริ่มเติบโตแบบก้าวกระโดดหลังจากสยามได้ลงนามใน “สนธิสัญญาเบาว์ริง”

สยามส่งออกข้าวเพียง 15,000 กว่าตันในปี 2393 จนถึงปี 2403 ปริมาณส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 62,000 ตันต่อปี และในช่วงทศวรรษที่ 2470 การส่งออกข้าวก็เพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ตันต่อปี

การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างของการผลิตข้าว จากการผลิตเพื่อยังชีพด้วยวิถีเศรษฐกิจพอเพียงแบบดั้งเดิม กลับเป็นการผลิตเพื่อส่งออก ส่งผลให้พ่อค้านักธุรกิจและรัฐบาลเข้ามามีบทบาทเพิ่มการลงทุนในภาคเกษตรมากขึ้น สังคมชาวนาอิสระที่มีวัฒนธรรมแบบเสมอภาคจึงค่อยๆ เสื่อมโทรมลง จนแบ่งแยกเป็นชาวนาร่ำรวยเจ้าของทุนซึ่งครอบครองผืนดินขนาดใหญ่ กับชาวนายากจนไร้ที่ดิน

การเพิ่มจำนวนคนในสังกัดและเพิ่มจำนวนประชากร เป็นทั้งความจำเป็นทางเศรษฐกิจและการเมือง การผลิตภาคเกษตรต้องการแรงงานจากไพร่ทาสจำนวนมาก และเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้แรงงาน จึงต้องมีระบบเกณฑ์แรงงาน ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้มีการปรับปรุงระบบการจดทะเบียนไพร่โดยวิธีสักที่ข้อมือ และจัดส่งข้าราชการไปตรวจสอบดูว่า ใครข้อมือขาวให้ตามล่ามาสักข้อมือเพื่อจะได้เข้าระบบบังคับเกณฑ์แรงงาน มีการสึกพระให้ออกมาเป็นไพร่เพื่อเพิ่มกำลังแรงงาน หากพระรูปนั้นไม่ผ่านการทดสอบความรู้ของพระสงฆ์

การค้าทั้งต่างประเทศและในประเทศ อยู่ในการควบคุมของชนชั้นนำและราชสำนัก

“การศึกสงครามช้างญวน ช้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ช้างฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่ควรจะเรียนเอาไว้ ก็ให้เอาอย่างเขาแต่อย่าแผ่ให้นับถือเลื่อมใสไปที่เดียว” นี่คือพระราชกระแสของรัชกาลที่ 3 เกี่ยวกับการต่างประเทศก่อนที่พระองค์จะสวรรคตไม่นานนัก

ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน จักรวรรดินิยมตะวันตกกำลังไล่ล่าประเทศเมืองขึ้นในแถบเอเชีย ประเทศสยามก็เริ่มได้รับแรงกดดันให้ทำสนธิสัญญาทางการค้ากับจักรวรรดินิยมเหล่านี้

หากมีใครสักคนถามว่า ระบบทุนนิยมของสยามเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ในความเห็นของผู้เขียน มองว่าระบบทุนนิยมไทยเริ่มก่อรูปชัดเจนหลังการเกิดขึ้นของสนธิสัญญาเบาว์ริง

สนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้าระหว่างอังกฤษกับสยาม ได้มีการลงนาม เมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 โดยมีเซอร์จอห์น เบาว์ริง ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำฮ่องกง เป็นหัวหนัาคณะอังกฤษ มีเจ้าพระยาประยูรวงศ์ เป็นผู้แทนในการเจรจาฝ่ายไทย ว่าอำนาจสิทธิขาดในการตัตสินใจอยู่ที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

หลังสนธิสัญญาเบาว์ริง สยามได้จัดทำสนธิสัญญากับหลายประเทศโดยยึดสนธิสัญญาเบาว์ริงเป็นต้นแบบ แต่ส่วนใหญ่สยามมักเป็นฝ่ายเสียเปรียบเพราะมีอำนาจต่อรองน้อยกว่ากลุ่มประเทศมหาอำนาจตะวันตก สยามทำสนธิสัญญา “แฮริส” กับสหรัฐอเมริกา และสนธิสัญญา “มองติญญี” ในปีถัดมาหลังจากสนธิสัญญาเบาว์ริงบรรลุผล ต่อจากนั้นก็ได้ทำสัญญากับเดนมาร์ก โปรตุเกส ญี่ปุ่น รัสเซีย และประเทศยุโรปอีกหลายประเทศ ซึ่งเนื้อหาของสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมได้ถูกแก้ไขในสมัยที่ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม “รัฐบาล” อันหมายถึง “ราชสำนัก” ได้ออกประกาศชี้แจงถึงประโยชน์ที่ได้จากการทำสนธิสัญญากับฝรั่ง โดยแนวทางการชี้แจงในเวลานั้นมีหลายข้อคล้ายกับที่เราชี้แจงเหตุผลในการเปิดเสรีทางการค้าในปัจจุบัน เวลานั้นมีการชี้แจงประชาชนว่า การทำสนธิสัญญากับฝรั่งเป็นโอกาสที่ชาวสยามจะได้เรียนรู้และเลียนแบบอุตสาหกรรมของประเทศที่เจริญแล้ว การผลิตที่ทันสมัยจะทำให้เราได้บริโภคสินค้าที่ถูกลง เก็บภาษีได้มากขึ้น มีการลงทุนและมีงานทำมากขึ้น

สาระสำคัญของสนธิสัญญาเบาว์ริง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งแบบแผนการค้าระหว่างประเทศ โครงสร้างการผลิต โครงสร้างการส่งออก ฐานะทางการคลัง สภาพทางสังคมและการเมือง สนธิสัญญาเบาว์ริงให้สิทธิทางการค้าและสิทธิพิเศษนอกราชอาณาจักรแก่ชาวอังกฤษ การค้าขายกับชาวต่างชาติไม่ถูกจำกัดเฉพาะกลุ่ม แต่ได้ขยายวงกว้างมากขึ้นและอาจสรุปได้ว่าการทำสนธิสัญญาฉบับนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการค้าแบบผูกขาดมาเป็นระบบเสรี

ระบบการจัดเก็บภาษีก็มีการเปลี่ยนแปลง ตามเงื่อนไขในสนธิสัญญาระบุให้เก็บภาษีสินค้าขาเข้าทุกประเภทเพียงร้อยละ 3 ส่วนสินค้าขาออกให้เสียเพียงครั้งเดียวตามพิกัดอัตรากำหนดไว้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับฐานะการคลังของสยามหลังสนธิสัญญาเบาว์ริวก็คือ รายได้ลดลงของพระคลังข้างที่

อย่างไรก็ดี รัฐบาลก็เก็บภาษีจากเอกชนได้มากขึ้น เพราะการค้าของเอกชนได้เติบโตขึ้นจากการติดต่อค้าขายโดยตรงกับต่างชาติโดยไม่ต้องผ่านราชสำนักเช่นในอดีต ธุรกิจการค้าอันเฟื่องฟูทำให้เกิดชนชั้นพ่อค้านายทุน จากเดิมที่การค้าถูกผูกขาดโดยชนชั้นปกครอง โครงสร้างการส่งออกสินค้าก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป การค้าข้าวเจริญรุ่งเรืองจนรัฐบาลต้องมีนโยบายขุดคลองเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นนาข้าว มีการยกเลิกสิทธิพิเศษของพ่อค้าชาวจีน และยอมให้ชาวยุโรปประกอบธุรกิจในกรุงเทพฯ  อย่างเท่าเทียมกับชาวจีน ผลของสนธิสัญญาจึงมีส่วนช่วยคานอำนาจระหว่างพ่อค้าจีนกับยุโรป

ไม่เพียงเท่านั้น ราชสำนักและรัฐบาลยังได้กำไรจากการค้าฝิ่น ซึ่งแต่เดิมสยามห้ามซื้อขายฝิ่นเพราะถือเป็นของผิดกฎหมาย แม้จะมีการลักลอบทำกันอย่างแพร่หลาย ทว่า หลังจากเกิดสนธิสัญญา ถึงแม้การค้าฝิ่นจะเป็นเรื่องถูกกฎหมายก็ยังมีการระบุไว้ไม่ให้ขายฝิ่นอย่างเสรี ต้องขายให้กับเจ้าภาษีแต่ผู้เดียว

มีการอนุญาตให้คนในบังคับของไทยเป็นลูกจ้างฝรั่งได้ จึงเกิดอาชีพรับจ้างแรงงานขึ้น ขณะที่ผู้ปกครองยินยอมให้มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่ฝรั่ง บรรดากงสุลทั้งหลายจึงขยายอิทธิพลด้วยการขยายคนในบังคับของตัวเองให้มากขึ้น ซึ่งคนเหล่านี้ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายของสยาม และไม่ต้องเสียภาษีให้สยาม แต่รัฐบาลสยามก็ได้จำกัดอิทธิพลฝรั่งด้วยวิธีกำหนดเขตการให้สัมปทานป่าสัก ปฏิเสธการทำสวนยางพาราในพื้นที่ขนาดใหญ่  บริษัทฝรั่งจะลงทุนทำเหมืองแร่ก็ไม่ได้รับความสะดวกในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

การปฏิรูปให้ทันสมัยในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ได้ทำแบบเร่งรีบ โดยใช้เวลายาวนานถึง 35 ปี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบางระดับของโครงสร้างทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างกว้างขวาง ทั้งยังสร้างโอกาสให้ชนชั้นขุนนางหรือข้าราชการยุคใหม่และชนชั้นพ่อค้าได้เติบโต

จากข้อมูลวิจัยของ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ ดร.คริส เบเกอร์ พบว่า ในระหว่าง พ.ศ. 2443 ถึง พ.ศ. 2463 รัฐบาลมีรายได้จากภาษีรัชชูปการและค่าเช่านาสูงถึง 15 ล้านบาท สร้างรายได้ให้กับรัฐบาลอย่างมหาศาล

ชาวนารายย่อยจำนวนมากเดือดร้อนจากภาษีและค่านา จึงเลี่ยงภาษีโดยการบุกเบิกที่ดินใหม่ๆ แต่ราชสำนักได้ใช้จ่ายเงินจำนวนมากในการสร้างพระราชวังจึงไม่สามารถลดภาษีและค่านา ชาวนาจำนวนมากเดือดร้อนและไม่สามารถชำระค่านาและภาษี จึงได้มีการถวายฎีกา ชาวนารายย่อยจำนวนมากถูกยึดที่นา และถูกห้ามไม่ให้ทำนาในที่ที่มีการค้างชำระอยู่ ชาวนาจำนวนมากจึงมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ชาวนาเหล่านี้ถูกเบียดขับกลายสภาพเป็นชาวนารับจ้างหรือชาวนาไร้ที่ทำกินในที่สุด

พระยาสุริยานุวัฒน์ ผู้ถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรกของไทย ได้อธิบายถึงวงจรแห่งความยากจนของชาวนา โดยชี้สาเหตุไปที่การถูกเอารัดเอาเปรียบด้วยการกดราคาพืชผลและบ้างก็ให้จ่ายดอกเบี้ยแพง จึงไม่มีเงินลงทุนสร้างยุ้งฉางหรือใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ดีกว่าเดิม ขณะที่รัฐบาลในยุคสมัยรัชกาลที่ 6 ยังไม่เห็นความจำเป็นของการลงทุนทางเทคโนโลยีด้านเกษตร

หนังสือ "ทรัพยศาสตร์" จึงถือเป็นตำราทางเศรษฐศาสตร์ฉบับแรกๆ ซึ่งเขียนโดย พระยาสุริยานุวัฒน์ ซึ่งสร้างความไม่พอพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ 6 และไม่ต้องการให้มีการเผยแพร่มากนัก เนื่องจากไม่ทรงยอมรับว่าชาวนายากจนและทุกข์ยาก เพราะอุดมการณ์แบบราชาชาตินิยมของรัชกาลที่ 6 ได้สร้างภาพชาวนาให้สุขสบายภายใต้การปกครองของพระองค์

เบนจามิน เอ. บัทสัน นักประวัติศาสตร์ชื่อดังอีกท่านหนึ่ง ได้เขียนถึงความยุ่งยากและซับซ้อนในสมัยรัชกาลที่ 6 ว่า[1]

“ทรงปฏิเสธการอภิเษกสมรสอยู่หลายปี และเมื่อตัดสินพระทัยแล้วก็ทรงมีปัญหายุ่งยากในชีวิตสมรส พระองค์ไม่ค่อยจะให้ความสนพระทัยกับพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายขุนนางในระบบเดิมๆ ข้าราชสำนักที่แวดล้อมพระองค์ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายซึ่งมีเบื้องหลังไม่แน่ชัด การที่พระองค์ทรงตั้งกองกำลังกึ่งทหารที่เรียกว่า “ทหารเสือป่า” ทำให้เกิดเป็นปฏิปักษ์กับกองทัพ ผลก็คือได้มีการวิพากษ์วิจารณ์พระเจ้าแผ่นดินกับแวดวงของพระองค์อย่างมาก ทำให้เกียรติภูมิของสถาบันกษัตริย์เสื่อมคลายลงอย่างมาก ... ปี พ.ศ. 2455 และ ปี พ.ศ. 2460 ได้มีฝ่ายตรงข้ามก่อการกบฏเพื่อล้มล้างราชบัลลังก์”

ในสมัยรัชกาลที่ 6 นั้น มีปัญหาหนักทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจสะสมมาอย่างต่อเนื่อง และได้ปะทุเป็นวิกฤตการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 7

หนังสือพิมพ์ “บางกอกไทมส์” ซึ่งเป็นหนังสือแนวอนุรักษ์นิยม ได้วิจารณ์การบริหารงานสมัยรัชกาลที่ 6 อย่างอ้อมๆ ว่า

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เพิ่งเสด็จสวรรคตนั้น ไม่ได้ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินธรรมดา รัชสมัยของพระองค์เป็นปัญหาต่างๆ ให้นักประวัติศาสตร์ของประเทศนี้ได้ศึกษาและขบคิด”

หากพิจารณาเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อื่นๆ ก็จะได้พบข้อเท็จจริงบางประการที่ทำให้เราได้ข้อสรุปในช่วงปี 2464 คือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลความว่า ขอให้ทรงฟื้นฟูรัฐมนตรีสภาขึ้นมาช่วยปรับปรุง และแก้ไขภาวะเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น พร้อมทูลขอให้พระองค์ลงมาเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

แต่ทว่าไม่มีการตอบสนองใดๆ จากราชสำนักในเวลานั้น

สถานการณ์ความยากลำบากทางเศรษฐกิจ เมื่อเสริมเข้ากับความขัดแยังในหมู่ชนชั้นนำ ได้กลายเป็นเชื้อไฟอย่างดีสำหรับการปฏิวัติ ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ก่อตัวมากว่า 3 ชั่วอายุคน คือนับแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แม้ความพยายามเหล่านั้นจะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ก็ได้ก่อให้เกิดการปฏิรูปในสังคมสยาม ในขณะที่กลุ่มพลังต่างๆ ในสังคมมีลักษณะประณีประนอมสูง จึงไม่มีการเสียเลือดเนื้อเช่นการเปลี่ยนแปลงในสังคมอื่นๆ

ทว่า สยามก็ไม่อาจหลีกหนีกฎธรรมชาติที่ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ยิ่งในสภาวะที่มีความฝืดเคืองทางการเงิน ความยากลำบากทางเศรษฐกิจ และความขัดแย้งภายในเสนาบดี ย่อมนำไปสู่ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งก่อนการอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475 ประเทศสยามมีทั้งปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งสภาวะทางเศรษฐกิจฝืดเคืองมักนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสมอ และสยามไม่อาจสามารถหลุดพันจากสัจธรรมข้อนี้ไปได้

ในระหว่างที่ซีกโลกตะวันตกประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงต้นทศวรรษ พ.ศ. 2473 สยามก็ประสบปัญหาหนี้สินและขาดดุลงบประมาณอย่างหนัก พร้อมกับภาวะข้าวยากหมากแพง แต่สยามก็สามารถประคองตัวมาได้จากวิกฤตการณ์ จากทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศอย่าง เซอร์ เอ็ดเวิร์ด คุก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางเศรษฐกิจก็ยังมีความผันผวนสูง เดือนมีนาคม พ.ศ. 2475 รัฐบาลรัชกาลที่ 7 ได้ตัดสินใจปรับลดเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงเพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณที่สะสมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเก็บภาษีเงินเดือนว่าไม่ยุติธรรม เพราะไม่มีตัวแทนของประชาชนในสภาร่วมตัดสินใจ มีบทความมากมายลงตีพิมพ์แสดงความไม่พอใจภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น อาทิ มีบทความลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์อิสระ เรียกร้องชนชั้นสูงให้นำเอาทรัพย์สินมาลงทุนในกิจการที่เกิดประโยชน์ แทนที่จะใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยด้วยการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาบั่นทอนเศรษฐกิจของชาติ

ผู้ที่รับภาระหนักจากภาษีเงินเดือนก็คือข้าราชการระดับกลาง และลูกจ้างบริษัทต่างชาติ ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบเห็นจะเป็น “พวกเจ้า” รวมทั้งกลุ่มพ่อค้าที่ทำการค้ากับราชสำนัก

ปัญหาทางเศรษฐกิจไม่มีเรื่องไหนส่งผลกระทบต่อการเพิ่มเชื้อเพลิงแห่งการปฏิวัติมากเท่ากับการปลดข้าราชการจำนวนมากออกจากระบบ และการตัดลดงบประมาณกองทัพ รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องเข้มงวดทางการคลัง เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาลที่สะสมยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6

จากข้อมูลสถิติรายปีของสยาม กระทรวง พระคลังมหาสมบัติ พบว่า ข้าราชการจำนวน 86,500 คน ถูกปรับเงินเดือนให้ลดลงอย่างมากในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้า อยู่หัวขึ้นครองราชย์ท่ามกลางปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจและการเมือง และความเสื่อมถึงขีดสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กระทั่งขุนนางคนสำคัญในสมัยพระพุทธเจ้าหลวงอย่าง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เคยเอ่ยว่า

“เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ (พระเจ้าอยู่หัว) ทรงได้รับมรดกน่าเศร้า เพราะพระราชวงศ์ตกต่ำ ราษฎรหมดความเคารพเชื่อถือ สมบัติเกือบหมดพระคลัง รัฐบาลฉ้อฉล การบริหารราชการยุ่งเหยิง”

ดร.เบนจามิน เอ. บัทสัน เขียนวิเคราะห์ไว้ในหนังสือ The End of the Absolute Monarchy in Siam ว่า

“ต้นปี ค.ศ. 1931 (พ.ศ. 2474) ได้มีการเพิ่มภาษีการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย และหนังสือพิมพ์บางกอกไทมส์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีอิทธิพลได้แสดงความวิตกว่า วิกฤติเศรษฐกิจอาจนำไปสู่วิกฤติสังคม โดยแนะนำว่าควรเพิ่มภาษีผู้มีฐานะมั่งคั่งให้มากขึ้น

ในเดือนมีนาคม รัฐบาลจึงตัดสินใจลดเงินเดือนข้าราชการทั้งหมด เพื่อรับมือปัญหาที่ยากลำบากในความพยายามที่จะลดการขาดดุลของปีงบประมาณ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ตกลงกันไว้ว่า วิธีนี้จะเป็นวิธีสุดท้ายที่จะนำมาใช้ถ้าจำเป็น

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้ทรงคัดค้านการลดเงินเดือนครั้งนี้ โดยทรงอ้างว่าสถานการณ์ยังไม่จำเป็นถึงเช่นนั้น เพราะผลร้ายของการลดเงินเดือนจะทำลายขวัญและกำลังใจข้าราชการ แต่คณะเสนาบดีได้ลงคะแนนเสียง 7 ต่อ 4 เห็นด้วยกับการลดเงินเดือน”

ดร.เบนจามิน เอ. บัทสัน ยังตั้งข้อสังเกตว่า ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจชาวต่างชาติได้เสนอให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินเพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณ แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง เนื่องจากภาษีประเภทนี้กระทบต่อเชื้อพระวงศ์เป็นอันมาก รัฐบาลจึงนำเอาเงินแท่งออกมาขาย ซึ่งการตัดสินใจเช่นนั้นเป็นความผิดพลาดทางนโยบายอย่างยิ่ง

นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกก็อยู่ในภาวะย่ำแย่ อังกฤษยกเลิกระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบเดิม ส่งผลกระทบต่อเงินบาทที่ผูกติดไว้กับค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษ และเมื่ออังกฤษยกเลิกการใช้ทองคำเป็นมาตรฐานในระบบอัตราแลกเปลี่ยน เสนาบดีของสยามก็ได้มีการประชุมกันทันทีในวันรุ่งขึ้น และมีมติเป็นเอกฉันท์ตามข้อเสนอของกระทรวงพระคลังว่า สยามควรใช้ทองคำเป็นมาตรฐานในระบบอัตราแลกเปลี่ยน

การยึดมั่นถือมั่นในระบบอัตราแลกเปลี่ยนมาตรฐานทองคำของรัฐบาลในเวลานั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากหอการค้านานาชาติและสถาบันการเงิน เกิดกระแสการถกเถียงในหมู่ผู้บริหารประเทศและที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจชาวต่างชาติ ถึงความจำเป็นในการลดค่าเงินบาท

อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อสรุปเกิดขึ้นในทางนโยบายว่าควรจะทำอย่างไร รัชกาลที่ 7 ได้ทรงอนุมัติให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาเรื่องดังกล่าว ประกอบด้วยขุนนางสยาม 3 ท่าน ที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ 3 ท่าน คณะกรรมการชุดนี้มีกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้มีความเห็นสนับสนุนการลดค่าเงินบาทเป็นประธาน

คณะกรรมการมีความเห็นร่วมกันว่า สยามควรเลิกใช้ระบบมาตรฐานทองคำ และเสนอให้ลดค่าเงินอยู่ที่ 11 บาทต่อปอนด์สเตอร์ลิง โดยก่อนหน้านี้เงินบาทเคยแข็งขึ้นไปแตะระดับ 8.3 บาทต่อปอนด์ และจากปัญหาวิกฤติค่าเงินปอนด์ อังกฤษต้องตัดสินใจออกจากระบบมาตรฐานทองคำ สมาชิกของกรรมการชุดนี้สองท่านมีความเห็นว่า ควรลดค่าเงินมากกว่านี้ คือให้ลดลงไปที่ระดับ 13 บาทต่อปอนด์ ได้แก่ หม่อมเจ้าสิทธิพร และพระยาอินทรมนตรี (เอฟ. เอช. กาล์ย)

ผลสุดท้ายได้ตัดสินใจลดค่าเงินมาอยู่ที่ 11 บาทต่อดอลลาร์ การลดค่าเงินในครั้งนั้นส่งผลดีต่อเกษตรกรและการผลิตข้าวเพื่อส่งออก เพราะก่อนหน้าการลดค่าเงิน รายได้โดยเฉลี่ยของชาวนาสยามลดลงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เมื่อรายได้ลดลงมากขนาดนั้น ย่อมทำให้การค้าหยุดชะงัก เนื่องจากชาวนาไม่มีกำลังซื้อ ชาวนาจำนวนไม่น้อยมีหนี้สินล้นพ้นตัว คิดจะขายที่ดินใช้หนี้ก็ทำไม่ได้เพราะราคาที่ดินตกต่ำลงกว่า 6 เท่า จะใช้ที่ดินทำนาก็ไม่ได้กำไรเท่าที่ควรเพราะราคาข้าวตกต่ำ ความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจมีให้เห็นโดยทั่วไปในเขตชนบทของสยาม ทองคำถูกระดมเข้ากรุงเทพฯ เพื่อส่งออกต่างประเทศ

การลดค่าเงินบาททำให้รายได้ชาวนากระเตื้องขึ้น แต่กลับสร้างปัญหาอีกด้านหนึ่งก็คือ ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าราชการและชนชั้นกลางจะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ

นอกจากปัญหาเรื่องค่าเงินบาทแล้ว ปัญหาการขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาลกลายเป็นปมปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญ นำมาสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในหมู่ขุนนางชั้นสูงซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ปัญหาทางเศรษฐกิจก็ขยายวงสู่ความขัดแย้งทางการเมือง อันนำมาสู่การลาออกของสมาชิกคนสำคัญในคณะเสนาบดีและอภิรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

เสนาบดีที่ลาออกไปถูกตั้งข้อสงสัยว่า เป็นผู้ให้การสนับสนุนต่อการอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475 อย่างลับๆ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน ขณะที่พระองค์เจ้าบวรเดชผู้ที่รัฐบาลยุคนั้นสงสัยว่าจะเป็นหัวหน้าคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กลับกลายเป็นหัวหนัาคณะผู้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียเอง แต่กระทำการไม่สำเร็จจึงกลายเป็น “กบฏบวรเดช”

คู่ความขัดแย้งสำคัญเห็นจะได้แก่ พระองค์เจ้าบวรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม กับ พระยาโกมารกุลมนตรี เสนาบดีกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงคมนาคมยังมีปัญหาขัดแย้งกับกระทรวงกลาโหมหลายเรื่อง เช่น ปัญหาเรื่องควรจะรวมหรือแยกการบินทหารและการบินพลเรือนออกจากกัน และใครควรจะคุมกิจการการบินของชาติ

งบก่อสร้างทางการทหารจำนวนมากไม่ได้นำเสนอตามขั้นตอน นำมาสู่ความยุ่งยากต่อการจัดสรรงบประมาณ

ปัญหาความขัดแย้งได้มาถึงจุดเดือดในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2474 หนึ่งปีก่อนการปฏิวัติ ความขัดแย้งยังคงวนเวียนเกี่ยวข้องอยู่กับการจัดการงบประมาณ พระองค์เจ้าบวรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เสนอขอขึ้นเงินเดือนให้นายทหาร 322 นาย เสนาบดีกระทรวงการคลังแสดงจุดยืนคัดค้านในส่วนของนายทหารที่ขึ้นเงินเดือนโดยชั้นยศเท่าเดิม ซึ่งมีอยู่ 91 นาย จากทั้งหมด 322 นาย

กระทรวงกลาโหมยืนยันข้อเสนอตัวเอง ทำให้กระทรวงต่างๆ ต้องการจะทำอย่างเดียวกันบ้าง ด้วยสถานะทางการคลังเวลานั้นไม่อาจตอบสนองข้อเสนอของเหล่าเสนาบดี ในที่สุดจึงมีการลงมติ ปรากฏว่าผลออกมาให้ยกเลิกการขึ้นเงินเดือนตามข้อเสนอของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

พระองค์เจ้าบวรเดชยื่นใบลาออกในวันที่ 3 มิถุนายน 2474 เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการตัดสินใจดังกล่าว และแสดงความรับผิดชอบต่อผู้ใต้บังคับบัญชา

ต่อมา ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจชาวต่างชาติอย่างนายฮอล แพทช์ และเสนาบดีกระทรวงการคลัง ก็ลาออกหลังจากประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ

อย่างไรก็ตาม มาตรการของรัฐบาลใช่ว่าจะไม่เป็นผลดีต่อสถานการณ์เอาเสียเลย เพียงแต่ผลของมันช้ากว่าความอดทนของผู้คนที่ต้องการจะเห็นความเปลี่ยนแปลง

 

ที่มา

  • ตัดตอนมาจาก. อนุสรณ์ ธรรมใจ. “สภาพเศรษฐกิจการเมืองสยามก่อนอภิวัฒน์ 2475”, ใน, “ปรีดี พนมยงค์ : รัฐบุรุษผู้อภิวัฒน์ . (กรุงเทพฯ: กรุงเทพ, มีนาคม 2552)
 

[1] เบนจามิน เอ.บัทสัน อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม