ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

โอวาทของผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ประจำปี พ.ศ. 2482

9
กรกฎาคม
2565

ท่านมหาบัณฑิตและบัณฑิตทั้งหลาย 

ข้าพเจ้ามีความยินดีมากในการที่ได้เห็นท่านสำเร็จการศึกษาเป็นผู้รับปริญญาโทและตรี เป็นแบบฉบับสำหรับเตือนใจนักศึกษาทั้งหลายให้ระลึกถึงความอุตสาหะมานะว่า ถึงแม้จะต้องตรากตรำในเบื้องต้นก็ดี หากปฏิบัติบากบั่นเรื่อยไปในที่สุดก็จะบรรลุผลผลอันพึงพอใจ

นับแต่นี้ไปมหาวิทยาลัยฯ ได้รับรองวิทยฐานะของท่านแล้ว โดยเปิดเผยและประกอบด้วยเกียรติยศ เกียรติยศที่ได้มอบให้ท่านในโอกาสนี้เปรียบประดุจมณีมีค่าอันท่านพึงถนอมด้วยความระมัดระวังอย่างสูง ข้าพเจ้าแน่ใจว่าทุกท่านไม่ปรารถนาให้เกียรติยศอันมีอยู่ในตัวท่านต้องประสบความเสื่อมทรามในอนาคต แต่ความปรารถนาที่จะให้เกียรติยศมั่นคงถาวรอยู่ชั่วกาลนานนั้น จะสำเร็จสมผลได้ด้วยการปฏิบัติตนให้ตั้งอยู่ในที่ที่ชอบ

ในโอกาสที่เป็นฤกษ์ชัยแห่งการศึกษาของท่านคราวนี้ ข้าพเจ้าใคร่จะกล่าวเตือนให้ท่านมีสติ ขออย่าให้ลุ่มหลงทะนงในความดีซึ่งท่านบำเพ็ญมาแล้ว อันความดีความชอบในอนาคตกาลนั้นยังจะมีให้ท่านยึดเหนี่ยวอีกไม่สิ้นสุด ท่านไม่ได้ทนลำบากเพื่อมาชะงักหยุดประกอบความดี ท่านได้อุตส่าห์ศึกษามามากหลายก็เพื่อใช้วิชาเป็นเครื่องประกอบความดีงามต่อไป

เรื่องความดีความงามนี้ ข้าพเจ้ามิได้หมายความถึงความดีความงามเฉพาะตัวท่านแต่ละคนเท่านั้น แต่หมายความถึงความงามของหมู่คณะด้วย นับตั้งแต่ความดีงามของมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งเป็นสำนักศึกษาของท่าน ตลอดจนความดีความงามของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นขอท่านจงแสดงตนให้เป็นที่ไว้วางใจได้ว่า ท่านจะไม่ทำลายความดีงามอย่างสูงดังกล่าวนี้ด้วยกาย วาจา ใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่พึงตั้งตนอยู่ในวิถีทางที่จะทำนุบำรุงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น ขอท่านจงแสดงตนให้เป็นที่ไว้วางใจได้ว่า ท่านจะไม่ทำลายความดีงามอย่างสูงดังกล่าวนี้ด้วยกาย หรือวาจา ใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่พึงตั้งตนอยู่ในวิถีทางที่จะทำนุบำรุงชาติศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญของประชาชนชาวไทยให้สถิตสถาพรอยู่ชั่วกาลนาน

 

ที่มา : สนิท ผิวนวล. “คำกล่าวเปิดการอบรมของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย” ใน “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง”, (กรุงเทพฯ: เดือนตุลา. 2543), หน้า 61 - 62.