“....เมื่อมีรัฐธรรมนูญมาตรา 61 ไว้แล้วเช่นนี้ ก็จำต้องมีผู้มีอำนาจชี้ขาดว่ากฎหมายบทใดขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ มิฉะนั้นมาตรา 61 นี้ก็จะไม่มีผล กฎหมายนั้นสภาผู้แทนราษฎรออกมาเอง จะกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรชี้ขาดว่าเป็นกฎหมายดีหรือไม่ได้อย่างไร จะว่าทางฝ่ายบริหารมีอำนาจชี้ขาดเองก็ไม่ได้ เพราะการวินิจฉัยกฎหมายไม่ใช่เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร เช่นนี้ใครเล่าจะมีอำนาจนอกจากศาล
ศาลเป็นหน่วยที่ตั้งขึ้นไว้สำหรับให้ความยุติธรรม เป็นการบำบัดทุกข์ร้อนให้แก่ประชาชน บุคคลทั้งหลายย่อมหวังในความยุติธรรมของศาลเป็นที่ตั้ง และก็เมื่อมีบทกฎหมายอันออกมาตัดเสรีภาพและขัดต่อรัฐธรรมนูญเช่นนี้ จะไม่ให้ศาลมีอำนาจแสดงเพื่อให้ความยุติธรรมแก่บุคคลผู้เกี่ยวข้อง หรือทางศาลไม่ประสงค์จะเข้าไปวินิจฉัยถึงกิจการของทางฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ก็ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ ในกรณีเช่นนี้...”
ส่วนหนึ่งจากคำพิพากษาศาลฎีกาคดีอาชญากรสงครามที่ 1/2489
“....ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า การตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น ถ้าปล่อยให้ศาลตีความแล้ว ศาลนั้นย่อมเป็นคณะบุคคลที่ประกอบขึ้นเพียงสองสามหรือสี่ถึงห้าคน ความคิดเห็นของบุคคลย่อมมีโอกาสที่จะผิดพลาดได้ แต่การตีความในรัฐธรรมนูญซึ่งสงวนไว้ให้แก่สภาผู้แทนราษฎรเป็นซึ่งองค์กรใหญ่ และเป็นบุคคลที่ราษฎรได้มอบความไว้เนื้อเชื่อใจแล้วว่าเป็นบุคคลซึ่งดูแลทุกข์สุข เป็นปากเสียงแทนตนได้ เพราะฉะนั้นหลักประกันนี้ก็จะทำให้การตีความในกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตามอำเภอใจ และกระทบกระเทือนเสรีภาพของราษฎร ...”
คำอภิปรายของ นายกิจจา วัฒนสินธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 8 เมษายน 2489
ในที่สุด ผลของคำพิพากษาคดีอาชญากรสงครามนั้น ศาลฎีกาได้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด 13 คน ไม่ใช่ด้วยเหตุผลว่าไม่ได้กระทำความผิด แต่เพราะด้วยว่าไม่อาจเอาผิดได้เนื่องจากกฎหมายที่ใช้ฟ้องจำเลยเป็นโมฆะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 เนื่องจากการกระทำที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้เป็นการกระทำก่อนวันใช้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ทั้งสิ้น และเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัตินี้เท่านั้น เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวเป็นโมฆะเสียแล้ว ก็ไม่สามารถลงโทษจำเลยตามกฎหมายอื่นที่ไม่ได้ฟ้องมาด้วยได้ ให้ยกฟ้อง โดยผู้เรียบเรียงคำพิพากษาคดีนี้คือ หลวงจำรูญเนติศาสตร์ ประธานศาลฎีกาในขณะนั้น
อันที่จริงปัญหาเรื่องการใช้กฎหมายอาญาที่มีผลเป็นการกำหนดความผิดและระวางโทษย้อนหลัง น่าจะเป็นปัญหาที่ได้มีการอภิปรายในสภาแล้ว แต่ก็เป็นการอภิปรายในขอบเขตของการขัดต่อกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 7 ที่บัญญัติว่า “บุคคลควรจะรับอาญาต่อเมื่อมันได้กระทำการอันกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติว่าเป็นความผิด และกำหนดโทษไว้”
แต่กฎหมายลักษณะอาญาซึ่งเป็นกฎหมายอาญาแม่บทที่เทียบเท่ากับประมวลกฎหมายอาญาในปัจจุบันก็เป็น กฎหมายในลำดับศักดิ์ (Hierachy of Norms) เดียวกันกับพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามนั่นเอง โดยตามหลักการเรื่องลำดับศักดิ์และการตีความกฎหมายแล้ว ในกรณีที่กฎหมายลำดับศักดิ์เดียวกันหากมีบทบัญญัติที่ขัดแย้งกัน ต้องถือว่ากฎเกณฑ์ที่เป็นบทบัญญัติเฉพาะแก่กรณีใดจะยกเว้นกฎเกณฑ์ที่เป็นบททั่วไป ซึ่งในที่นี้กฎเกณฑ์ที่ถือเป็นบทเฉพาะแก่กรณีนี้ คือ “พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม” นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาฎีกานี้ก็ยังมีปัญหาที่ถูกโต้แย้งได้ในเชิงการปรับบทกฎหมายอยู่มาก แม้หลักการเรื่อง “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ” (nulla poena sine lege) ถือเป็นหลักการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่ยอมรับนับถือว่าอยู่ในระดับเดียวกับหลักนิติธรรมที่สอดคล้องกับความยุติธรรมตามตรรกะเหตุผล
เพราะหากรัฐมุ่งประสงค์จะลงโทษทางอาญาต่อผู้อยู่ในปกครองแล้ว ก็จะต้องประกาศให้ทราบล่วงหน้าชัดเจนว่าการกระทำใดที่ถือเป็นความผิด และการกระทำผิดดังกล่าวนั้นมีระวางโทษเท่าใด เพื่อให้บุคคลได้รับรู้ระวังตัวไม่กระทำความผิดนั้น หรือเลือกว่าจะกระทำความผิดนั้นหรือไม่เมื่อชั่งตรองผลดีร้ายที่ตนจะได้รับก็ตาม แต่สำหรับในประเทศไทยในขณะที่ตัดสินคดีดังกล่าว หลักการนี้ยังไม่ได้รับการบัญญัติไว้ให้มีคุณค่าในระดับรัฐธรรมนูญ แต่เป็นหลักการที่ได้รับการบัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 7 ที่กล่าวไว้แล้วเท่านั้น
ดังนั้น แม้ว่าโดยความเป็นจริง กฎหมายอาชญากรสงครามจะเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเพราะขัดต่อหลักการดังกล่าว แต่โดยหลักเกณฑ์ทางกฎหมายนั้นก็ไม่ได้มีช่องที่จะทำลายหรือประกาศความไม่ชอบธรรมของมันลงได้เช่นนั้น
สำหรับรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2475 มาตรา 14 ที่ศาลฎีกาอ้างเป็นเหตุว่ากฎหมายอาชญากรสงครามมีข้อความขัดหรือแย้งด้วยนั้น ก็บัญญัติไว้เพียงว่า “ภายในบังคับแห่งบทกฎหมาย บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย เคหสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การโฆษณา การศึกษาอบรม การประชุมโดยเปิดเผย การตั้งสมาคม การอาชีพ” ซึ่งเป็นเรื่องการรับรองเสรีภาพทั่วไปๆ เท่านั้น มิได้กล่าวถึงหลักการห้ามมิให้ใช้กฎหมายที่มีโทษอาญามีผลย้อนหลังต่อบุคคลหรือรับรองหลักไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษแต่อย่างใด
กระนั้น ศาลฎีกาก็ได้ตีความแบบขยายความออกไปว่า เสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย ไม่ได้หมายเฉพาะแต่เพียงไม่ให้ใครมาทำอะไรแก่เรา แต่หมายรวมถึงเราจะทำอะไรก็ได้ด้วย หากการนั้นอยู่ภายในบังคับกฎหมาย และ “ภายในบังคับแห่งกฎหมาย” นี้ ต้องหมายถึงบทกฎหมายในเวลากระทำ เวลาพูด เวลาเขียน จะหมายถึงบทกฎหมายที่จะออกต่อไปภายหน้าด้วยไม่ได้ เพราะบทบัญญัติแห่งมาตรา 14 นี้เป็นหลักประกันซึ่งรัฐธรรมนูญได้ให้ไว้แก่ประชาชน หากจะแปลว่ารวมถึงกฎหมายอันจะมีมาในภายภาคหน้าแล้ว บุคคลผู้กระทำ ผู้พูด ผู้เขียน ฯลฯ จะรู้ได้อย่างไรว่าการกระทำของตนนั้นจะกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายหรือไม่ อันเป็นการทำลายหลักประกันของกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 7 ด้วย
จึงต้องนับว่าศาลฎีกาแปลความรัฐธรรมนูญมาตรา 14 ออกไปไกลกว่าตัวบทบัญญัติค่อนข้างมาก หากใครจะคิดว่าศาลฎีกาแปลความเพื่อจะ “ช่วย” คณะจำเลยทั้ง 13 รายก็พอจะเข้าใจได้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญยิ่งกว่า “ธง” ของคำพิพากษาดังกล่าว คือ “เหตุผล” ที่ศาลฎีกาใช้เพื่ออธิบาย “อำนาจ” ของตนในการ “ตีความ” ปัญหาข้อโต้แย้งทางรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม ด้วยการอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 58 ที่เป็นบทบัญญัติให้อำนาจศาลในการพิจารณาอรรถคดี ซึ่งจะต้องดำเนินการตามกฎหมายและภายใต้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์
ดังนั้น เมื่อศาลจะต้องใช้กฎหมายแล้ว ศาลจึงมีหน้าที่ในการแปลและตีความกฎหมาย แม้ว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 62 กำหนดว่า สภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิเด็ดขาดในการตีความรัฐธรรมนูญนั้น แต่ก็ไม่ใช่ข้อบัญญัติตัดอำนาจศาลไม่ให้ตีความรัฐธรรมนูญ
ศาลฎีกาจึงเห็นว่าตนเองมีอำนาจวินิจฉัยปัญหาว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ ด้วยเหตุผลสามประการ สรุปได้ว่า ประการที่หนึ่ง ศาลเป็นผู้ใช้กฎหมาย ย่อมเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาว่าสิ่งใดถือเป็นกฎหมายที่จะใช้พิจารณาในคดีนั้นได้หรือไม่ ประการที่สอง ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจที่มีการถ่วงดุลกัน สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจนิติบัญญัติในการออกกฎหมาย ศาลซึ่งมีอำนาจทางฝ่ายตุลาการต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าศาลจะเห็นว่ากฎหมายนั้นสมควรหรือเหมาะสมหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่เป็นกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรออกกฎหมายมาไม่ถูกต้องกับรัฐธรรมนูญหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลก็มีอำนาจแสดงความไม่ถูกต้องนั้นได้
เหตุผลประการสุดท้าย คือ เมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 61 กำหนดหลักการว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความแย้งหรือขัดแก่รัฐธรรมนูญถือเป็นโมฆะ ก็จำต้องมีผู้มีอำนาจชี้ขาดว่ากฎหมายบทใดขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ มิฉะนั้นมาตรา 61 นี้ก็จะไม่มีผล เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ออกกฎหมายนั้นมาเอง จะกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรชี้ขาดก็ไม่ได้ จะให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจชี้ขาดเองก็ไม่ได้เพราะไม่ใช่หน้าที่ เช่นนี้ก็ไม่ควรจะมีใครที่จะมีอำนาจนอกจากศาล ซึ่งเป็นหน่วยที่ตั้งขึ้นไว้สำหรับให้ความยุติธรรม โดยบุคคลทั้งหลายย่อมหวังในความยุติธรรมจากศาลเป็นที่ตั้ง ศาลจึงต้องมีอำนาจแสดงความยุติธรรมดังกล่าว แม้ว่าศาลจะไม่ประสงค์จะเข้าไปวินิจฉัยถึงกิจการของทางฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ก็ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้
มีข้อสังเกตว่า ศาลฎีกาได้ให้เหตุผลในลักษณะเดียวกับคำพิพากษาศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกา ในคดี Mulberry V. Medison ปี ค.ศ. 1803 ที่ใช้วินิจฉัยอำนาจของศาลฎีกาสหรัฐในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของรัฐบัญญัติที่ออกโดยรัฐสภาแทบทุกประการแทบทุกประการ
ผลของคำพิพากษาดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนความรู้สึกต่อฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร โดยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 20/2489 (สามัญ) สมัยที่ 2 ชุดที่ 4 วันที่ 8 เมษายน 2489 นายกิจจา วัฒนสินธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้อภิปรายสรุปได้ว่า การตีความของศาลฎีกาที่พยายามอธิบายมาตรา 14 ให้รวมถึงเรื่องการตรากฎหมายอาญาย้อนหลังใช้บังคับไม่ได้นั้นเป็นการตีความแบบขยายความเกินกว่าตัวบท ก้าวล่วงเข้ามาในอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 62 บัญญัติไว้โดยชัดเจนว่า สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญ จึงขอให้สภาผู้แทนราษฎรใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 62 เพื่อมีมติเกี่ยวกับอำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญตามมาตรา 61 และมาตรา 62 นี้
ด้วยเหตุนี้ นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภา ประกอบด้วย พระยาเทพวิทูร พระยาวิกรมรัตนสุภาษ พระยานลราชสุวัจน์ พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ และนายพิชาญ บุลยง (เรอเน กียอง) ได้ศึกษาและทำรายงานสรุปได้ว่า จากการค้นคว้าเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบการเปรียบเทียบกับหลักรัฐธรรมนูญของต่างประเทศในขณะนั้น เห็นว่า นอกจากสหรัฐอเมริกาที่เป็นเจ้าของคำพิพากษาในคดี Mulberry V. Medison ที่ศาลฎีกานำมาปรับบทเดินแนวตามในคดีดังกล่าว ต่างถือว่าอำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญนั้น เป็นอำนาจของฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร กรรมาธิการวิสามัญคณะดังกล่าวจึงสรุปว่า อำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 62 เป็นของสภาผู้แทนราษฎร
อนึ่ง ในขณะนั้น “ศาลรัฐธรรมนูญ” หรือองค์กรตุลาการทางรัฐธรรมนูญในรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ยังไม่เกิดขึ้น เช่น ศาลรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐเยอรมันจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1951 (พ.ศ. 2494) คณะตุลาการรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) หรือถึงจะมีบ้างก่อนหน้านั้นก็ยังมิได้มีบทบาทที่ชัดเจน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการพิเศษดังกล่าวจะได้ข้อสรุปออกมาเช่นนั้น
แม้จะได้ข้อสรุปมาเป็นรายงานดังกล่าวแล้ว แต่ในขณะนั้นก็อยู่ในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และต่อมาก็ได้ใช้บังคับเป็น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ซึ่งแม้จะยังสงวนสิทธิไว้ในมาตรา 86 ว่ารัฐสภาทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญ แต่ในกรณีที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นว่าบทกฎหมายนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นไว้ชั่วคราว แล้วให้รายงานความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการไปให้ “คณะกรรมการพิเศษ” ที่เรียกว่า “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” เพื่อพิจารณาวินิจฉัย โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีจำนวน 15 คน เป็นประธานตุลาการคนหนึ่ง และตุลาการอีก 14 คน ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งขึ้น
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญนี้จะต้องมีการแต่งตั้งใหม่ทุกครั้ง เมื่อได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน เพราะเหตุที่สภาผู้แทนหมดอายุ หรือถูกยุบ แสดงให้เห็นความเกี่ยวข้องว่าเป็นองค์กรของฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร รับมอบอำนาจจากรัฐสภาไปปฏิบัติงานตีความรัฐธรรมนูญในปัญหาเรื่องกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น หากเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐสภาชุดที่แต่งตั้งนั้นแล้ว ก็จะไม่มีผู้ที่ได้รับมอบอำนาจมาเหลืออยู่ในตำแหน่ง ต้องมีการแต่งตั้งกันใหม่โดยสภาชุดใหม่ ซึ่งก็เป็นเหมือนกับการยืนยันอยู่เช่นเดิมว่า อำนาจในการวินิจฉัยปัญหาทางรัฐธรรมนูญเป็นของรัฐสภา และองค์กรตุลาการทางรัฐธรรมนูญ (ที่ถือว่าประเทศไทยมีมาก่อนหลายประเทศในยุโรปด้วย) ก็เป็นองค์กรของฝ่ายรัฐสภา
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีพัฒนาการต่อมาในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรทุกฉบับ ในลักษณะของคณะกรรมการกึ่งตุลาการฝ่ายรัฐสภา แต่ในช่วงหลังจะมี “ตุลาการรัฐธรรมนูญโดยตำแหน่ง” เช่น กำหนดให้ ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทน ประธานศาลฎีกา อธิบดีศาลอุทธรณ์ (ปัจจุบันคือประธานศาลอุทธรณ์) อธิบดีกรมอัยการ (ปัจจุบันคืออัยการสูงสุด) เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญโดยตำแหน่งร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐสภาแต่งตั้งด้วย หรือในบางสมัย เช่นตามรัฐธรรมนูญปี 2517 กำหนด ให้ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ เสนอผู้ทรงคุณวุฒิของฝ่ายตนมาฝ่ายละสามคน มาเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นรูปแบบคล้ายคณะตุลาการรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสในปัจจุบัน
นอกจากนี้ อำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็เพิ่มเติมขึ้นจากการวินิจฉัยปัญหาเรื่องกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ตามที่ศาลส่งมา ให้สามารถตรวจพิจารณาร่างกฎหมายได้ด้วย และสามารถพิจารณาปัญหาในทางรัฐธรรมนูญอื่นๆ ที่เคยเป็นอำนาจตีความรัฐธรรมนูญของรัฐสภาเพิ่มขึ้น รวมถึงการวินิจฉัยคุณสมบัติของสมาชิกรัฐสภาและรัฐมนตรีด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า ในระหว่างนั้น คณะตุลาการรัฐธรรมนูญยังถือว่าเป็นคณะกรรมการกึ่งตุลาการของฝ่ายรัฐสภาอยู่
จนกระทั่งเมื่อมีการปฏิรูปการเมืองในปี 2540 มีการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ผู้ร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้นเห็นว่า องค์กรที่ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยปัญหาทางรัฐธรรมนูญของไทย สมควรมีลักษณะเป็น “องค์กรตุลาการ” แยกออกมาเป็นเอกเทศเต็มรูปแบบ มิใช่องค์กรกึ่งตุลาการในสังกัดรัฐสภาอีกต่อไป และนั่นคือกำเนิดของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” โดยการนำเอาหน้าที่ อำนาจ และโครงสร้างบางส่วนของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเดิมตามรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่ยังใช้รูปแบบของตุลาการรัฐธรรมนูญมาปรับปรุง
ในปัจจุบันไม่มีใครที่ไม่รู้จักองค์กรตุลาการที่เรียกชื่อว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงพลิกผันทางการเมืองไทยมาตลอดระยะเวลาวิกฤติการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอันผันผวนเข้มข้นที่สุดในระยะห้าถึงสิบปีนี้
ผู้เขียนหรือใครก็ตามคงไม่อาจพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน เว้นแต่เราจะมีตู้โทรศัพท์ติ๊งต่างของโดราเอมอนที่จะเข้าไปยกหูแล้วขอให้พาไปดูประเทศไทยที่ไม่เคยมีคดีอาชญากรสงครามในวันนั้น เช่นอาจจะไม่มีการดำเนินคดีใดๆ กับอาชญากรสงครามเลย หรือมีการดำเนินคดีต่ออาชญากรสงครามแล้ว แต่ศาลฎีกาก็พิพากษาลงโทษานุโทษไปตามความหนักเบาแห่งความผิดของแต่ละคน โดยไม่ชี้ว่าพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญในขณะนั้นแล้ว ในวันนี้เราจะมี “ศาลรัฐธรรมนูญ” ให้ลุ้นผลกันหรือไม่ว่าตกลงวาระของนายกรัฐมนตรีจะนับ 8 ปีกันเมื่อไรอย่างไร
แต่อย่างไรก็ตาม หากมาลองพิจารณากันแล้ว ด้วยระบบกฎหมายในโลกนี้จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “ตุลาการทางรัฐธรรมนูญ” (Constitutional Justice) ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเสมอ เพื่อทำหน้าที่ในการวินิจฉัยปัญหาทางรัฐธรรมนูญ เช่น กฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ การกระทำของรัฐหรือองค์กรต่างๆ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร
องค์กรตุลาการทางรัฐธรรมนูญในโลกนี้จะอยู่ในสองรูปแบบใหญ่ๆ คือ รูปแบบที่ให้เป็นอำนาจของศาลสูงสุดในฝ่ายศาลยุติธรรม เช่น กรณีของ “ศาลฎีกา” ของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือมาเลเซีย และกรณีการแยกเป็น “ศาลรัฐธรรมนูญ” เช่น ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนี ศาลรัฐธรรมนูญออสเตรีย ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้
มีข้อสังเกตว่า ประเทศที่มี “ศาลรัฐธรรมนูญ” นั้น มักจะเป็นประเทศที่ใช้ระบบ “ศาลคู่” ที่มีการแยกระบบของศาลในกฎหมายมหาชน คือ ศาลปกครองออกมาจากระบบศาลยุติธรรมที่ตัดสินคดีแพ่งอาญาอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ต้น เข่นนี้การมี “ศาลรัฐธรรมนูญ” ขึ้นมาอีกศาลหนึ่งในภายหลังก็สอดคล้องกับระบบดังกล่าว ส่วนประเทศที่มีศาลยุติธรรมเป็นศาลเดียวในการตัดสินอรรถคดีทั้งปวง ศาลสูงสุดในระบบศาลยุติธรรมนั้นก็ย่อมทำหน้าที่เป็นศาลที่ตัดสินข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญ คือทำหน้าที่เป็นตุลาการทางรัฐธรรมนูญได้ด้วย
ในกรณีของประเทศไทยเรานั้น ที่มาของเราออกจะพิเศษหน่อย กล่าวคือ ประเทศไทยเรานั้นแต่ไหนแต่ไรมา ก็มีศาลยุติธรรมเป็นศาลที่พิจารณาอรรถคดีทั้งปวงอย่างที่ตั้งใจจะให้เป็นระบบศาลเดี่ยว มีความพยายามจัดตั้งศาลปกครองอยู่หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งในรัฐธรรมนูญปี 2540 (มาจัดตั้งได้จริงในปี 2542)
แต่กระนั้น เราก็มีระบบ “ตุลาการรัฐธรรมนูญ” ทำหน้าที่วินิจฉัยปัญหาทางรัฐธรรมนูญเป็นพิเศษแยกต่างหากมาก่อน ตั้งแต่ปี 2489 ก่อนหลายประเทศในยุโรปเสียอีก และมีพัฒนาการเรื่อยมาจนมาสู่จุดสูงสุดเป็น “ศาลรัฐธรรมนูญ”
ทุกวันนี้ จึงน่าสนใจว่า ถ้าประเทศไทยไม่เคยมี “ตุลาการรัฐธรรมนูญ” มาก่อนเลยเพราะไม่เคยเกิดกรณีพิพาทเรื่องพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามเกิดขึ้น องค์กรที่ทำหน้าที่นี้ของประเทศไทยจะอยู่ในรูปแบบใด หรือแม้แต่จะเป็น “ศาลรัฐธรรมนูญ” จริง ๆ แต่ถ้าเป็น “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่ก่อตั้งมาโดยไม่ได้เกิดจากการต่อยอด ไม่ได้มีประสบการณ์และประวัติศาสตร์เบื้องหลังใดมาก่อนจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร
เรื่องนี้ถ้าอยากจะได้คำตอบแน่ชัด อาจจะต้องขอใช้บริการตู้โทรศัพท์ติ๊งต่างของโดราเอมอนจริงๆ นั่นแหละ
บทความที่แล้ว :
คดี “โมฆ (อาชญากร) สงคราม” อันเป็นต้นกำเนิด “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตอนที่ 1
บรรณานุกรม :
- อังคณา เกียรติศักดิ์นุกูล. (2533) คดีอาชญากรสงครามในประเทศไทย พ.ศ.2488-2489. คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : กรุงเทพฯ.
- ไพโรจน์ ชัยนาม. (2519) รัฐธรรมนูญ บทกฎหมายและเอกสารสำคัญในทางการเมืองของประเทศไทย. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : กรุงเทพฯ.
- กล้า สมุทวณิช (2557) . ขอบเขตอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน สถาบันพระปกเกล้า : กรุงเทพฯ.