วันนี้ เรามาพบกันในวันครบรอบ 79 ปีของการประกาศสันติภาพ ของ ท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ เป็นการประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยฯในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกาศให้การประกาศสงครามของรัฐบาลไทยต่อสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 เป็นโมฆะ
ภาคเช้า เรา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงาน Pridi talks ครั้งที่ 27 ณ หอประชุมศรีบูรพา เพื่อถอดบทเรียน นำไปสู่ สันติภาพในสามจังหวัดชายแดนใต้ ช่วงบ่าย สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับ กทม. จัดฉายภาพยนตร์ เรื่อง “สาย สีมา” และ กิจกรรมเสวนา “ประวัติศาสตร์เสรีไทยใน 16 นาที” ณ หอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ
เราจัดกิจกรรมเชิดชูสันติภาพ ไม่ใช่งานใหญ่โตอะไร แต่มันมีความหมายอย่างมากต่อมนุษยชาติและประเทศของเรา ในท่ามกลาง ไฟของสงครามและความขัดแย้งปะทุอยู่หลายพื้นที่ของโลก ในประเทศไทยของเราก็อาจเกิดเหตุขัดแย้งรุนแรง หรือ สงครามได้หากไม่สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น ไม่ศึกษาบทเรียน ไม่ถอดบทเรียนเพื่อทำในสิ่งที่ลดความเสี่ยงต่าง ๆ
การที่ “ประเทศไทย” ของเราจะมีบทบาทในการสร้างสันติภาพในระดับโลกภายใต้ระบบพหุขั้วอำนาจได้นั้น
บ้านเมืองเราต้องมีสันติธรรมเสียก่อน ประเทศที่มีรัฐประหารติดอันดับโลก
ไม่ว่าจะรัฐประหารโดยผู้นำกองทัพ หรือ รัฐประหารโดยตุลาการ หรือ ใช้วิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญแบบไทยไทยในการล้มล้างเสียงของประชาชน ย่อมไม่เกิดเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยอันเป็นเงื่อนไขจำเป็นพื้นฐานในวางสถานะของไทย บนเวทีโลก ในการส่งเสริม สันติภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย
ความไม่สามารถในการสร้างสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สะท้อนจากความรุนแรงและก่อการเหตุร้ายที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ในพื้นที่
ความล้มเหลวในการพัฒนาสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในไทย ดูได้จากการยุบพรรคก้าวไกล และการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเศรษฐาเกิดขึ้นโดยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เกิดขึ้นที่รัฐสภา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเสียงของประชาชนแต่อย่างใด
สิ่งนี้บ่งชี้ถึงการถอยหลังของประชาธิปไตยแบบไทยไทย เสียงของประชาชนไม่มีความหมาย เป็นเพียงองค์ประกอบเล็ก ๆ ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางของประเทศ การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทบทวนบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเป็นสิ่งที่จะต้องกระทำอย่างเร่งด่วน
สันติภาพ เป็นคู่แฝดกับ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน สงครามเป็นคู่แฝดกับระบอบอำนาจนิยมในทุกรูปแบบ
ความพยายามของ วู้ดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัย Princeton ได้พยายามสร้างระเบียบการเมืองระหว่างประเทศใหม่ผ่าน “สันนิบาตชาติ” หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง
แต่การสร้างสันติภาพตามอุดมคติมิได้เกิดขึ้น บทเรียนมีการศึกษาไว้มากมาย แต่ มนุษยชาติมักซ้ำรอยความผิดผลาดในอดีตด้วยความประมาท ด้วยความไม่สำนึกว่า เหตุการณ์อาจลุกลามบานปลายเกินควบคุมได้
สถานการณ์ความขัดแย้งและปัญหาต่าง ๆ มีความซับซ้อนยุ่งยาก ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ ในที่สุดสงครามโลกครั้งที่สองก็ปะทุขึ้น
ท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ในช่วงเวลาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำหน้าที่เป็น รัฐมนตรีคลัง ได้เป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนต์ “พระเจ้าช้างเผือก” เพื่อเป็นสื่อสันติภาพต่อชาวโลก ท่ามกลาง เชื้อไฟแห่งสงครามใหญ่ที่กำลังปะทุขึ้น
วันนี้ เมื่อ 79 ปีที่แล้ว (16 สิงหาคม 2488) ท่าน ดร. ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ 8 ได้ออก “ประกาศสันติภาพ” อันมีใจความสำคัญว่าการประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 นั้น “เป็นโมฆะ”
ไม่ผูกพันกับประชาชนชาวไทย เนื่องจากเป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง
ณ วันนี้ แม้นสงครามเย็นจะสิ้นสุดไปแล้วพร้อมกับการล่มสลายลงของสหภาพโซเวียต
สงครามเย็นสิ้นสุดไปแล้วหลายทศวรรษ สงครามโลกครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ 83 ปีที่แล้ว
พวกเราอยู่ในยุคสมัยที่ปลอดจากสงครามโลก มีความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าช่วงเวลาใด ๆ ของประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
แต่โลกก็ไม่เคยสิ้นสงครามและความขัดแย้งรุนแรง สงครามยังปะทุขึ้นเป็นระยะ ๆทั่วโลก
แม้นในประเทศเราเอง ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ก็ยังมีอยู่ รัฐไทยต้องดำเนินการแก้ปัญหาด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้เกิดเงื่อนไขที่นำไปสู่การแทรกแซงจากภายนอก หรือ ยกระดับไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในระดับนานาชาติ ภาวะดังกล่าวอาจนำไปสู่การแทรกแซงของมหาอำนาจได้
สงครามเย็นรอบใหม่กำลังกลับมา สงครามการค้าสงครามเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาอาจเป็นสัญญาณแรกแห่งความขัดแย้งรุนแรงในศตวรรษที่ 21
ขณะที่ สงครามระหว่างระบอบปูตินรัสเซีย กับ ยูเครน ยังคงไม่มีท่าทีจะจบสิ้นเมื่อไหร่อย่างไร สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสก็ขยายความขัดแย้งรุนแรงเพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง
การเติบโตขึ้นของแนวคิดและระบอบอำนาจนิยมในหลายประเทศ อาจนำมาสู่สงครามและความขัดแย้งในอนาคตได้ มีการละเมิดต่อมนุษยธรรมมากมายในสงครามที่เกิดขึ้นทั่วโลก
“ความมุ่งหวังที่จะควบคุมสงครามให้เคารพหลักมนุษยธรรมไม่ควรถูกยกเลิกเพียงเพราะการบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถครอบคลุม ต้องไม่ปล่อยให้ “ผู้นำที่ไร้ความปราณีและกระหายสงคราม” ขึ้นสู่การมีอำนาจ
เราต้องถอยจากการเมืองของชนชั้นนำ โดยชนชั้นนำและเพื่อชนชั้นนำ เป็น การเมืองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ทั้งในประเทศไทยและในโลก สันติภาพถาวรจึงเกิดขึ้นได้
ในประเทศไทย เราควรปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่าง รัฐ กับ ประชาชน จากแนวคิดแบบสั่งการ Top-down เป็น ความสัมพันธ์แบบปรึกษาหารือและการมีส่วนร่วม
ระบบการเมืองและเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนผ่านจากการที่ “สหรัฐอเมริกา” เป็น มหาอำนาจนำเพียงหนึ่งเดียว มาเป็น ระบบพหุขั้วอำนาจ มากขึ้น
การแข่งขันเชิงอำนาจเพื่อครองความเป็นเจ้า (Hegemony) ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคอาเซียน ย่อมส่งผลต่ออนาคตของประเทศไทยพอสมควร การจัดวางฐานะทางยุทธศาสตร์ต่อดุลอำนาจระหว่าง จีน กับ สหรัฐอเมริกา จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ
การมีนโยบายต่างประเทศอย่างสร้างสรรค์ มุ่งสู่การมีสันติภาพทั้งภายนอกประเทศและภายในประเทศเป็น “ความจำเป็น” พื้นฐานในการสร้าง “สันติธรรมประชาธิปไตย” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
เราต้องสมานความขัดแย้งภายในให้ได้ ผู้คนในสามจังหวัดชายแดนใต้ต้องอยู่อย่างสงบสุข มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ภารกิจของนักต่อสู้เพื่อสันติภาพต้องเดินหน้าต่อไป การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม และ ประชาธิปไตยต้องขับเคลื่อนต่อไปเพื่อเป็นหลักประกันแห่งสันติภาพและเสรีภาพ
การแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า สันติสุขของมนุษยชาติยังต้องดำเนินต่อไปอย่างแข็งขัน
ในหลายสังคม มีการต่อสู้กันระหว่าง Deep State รัฐพันลึก กับ ขบวนการของประชาชน
อย่างในบางประเทศ อย่างประเทศไทย คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งยุบพรรคก้าวไกล โดยให้เหตุผลว่า การเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นความพยายามล้มล้างการปกครองฯ นั้น
มีข้อที่น่ากังวลว่าเป็นการตีความใช้อำนาจและดุลพินิจ จนอาจเป็นการแทรกแซงการทำหน้าที่ของรัฐสภา ล้ำเกินขอบเขตแห่งหลักการแบ่งแยกอำนาจ และขัดต่อหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ยึดถือมติทางการเมืองของประชาชนเป็นสำคัญ
การยุบพรรคการเมืองหลายครั้ง และ ส่วนใหญ่เป็นพรรคที่ประชาชนนิยมและเลือกเข้ามาจำนวนมาก เท่ากับ ทำลายอำนาจประชาชนในการกำหนดทิศทางประเทศ ทำลายความหวังประชาชนในการเปลี่ยนแปลงประเทศ
อนึ่ง การเสนอแก้ไขกฎหมายตามกระบวนการขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้แทนราษฎร และไม่ควรนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว อาจทำให้สาธารณชนตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการดำรงอยู่ขององค์กรที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน องค์กรนี้กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
นอกจากนี้ กระบวนการทางตุลาการของไทย ก็สุ่มเสี่ยงต่อการถูกเพ่งเล็งจากสาธารณชนด้วยเช่นกันว่า ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการคุกคามผู้มีความเห็นแตกต่างทางการเมือง ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายหลักนิติธรรมและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนหรือไม่
เราคงไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่มี “การสูญเสียชีวิต” ของผู้คน ฉะนั้น เราต้องรักษาพื้นที่การต่อสู้โดยสันติวิธี ด้วยการรักษาพื้นที่ “สิทธิมนุษยชน” เอาไว้ ไม่ให้ใครละเมิด เพราะนี่คือ พื้นฐานขั้นต่ำสุดในการรักษา “สันติธรรม” เอาไว้ได้
หวังว่า สักวัน ผู้นำประเทศต่าง ๆ จะเลิกใช้ สงคราม ผู้นำประเทศไทย จะเลิกใช้ นิติสงคราม เพื่อเป็นทางออกของปัญหาขัดแย้งต่าง ๆ
รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=bX35ndG_MPg&t=76s
หมายเหตุ :
- คงรูปแบบการสะกดและการเว้นวรรคไว้ตามต้นฉบับ
ที่มา : PRIDI Talks #27: 79 ปี วันสันติภาพไทย : “ถอดบทเรียน 2 ทศวรรษไฟใต้ : เพื่อเส้นทางสู่สันติภาพ” วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567 เวลา 10.30-12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์