ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

The Crown: พิจารณายุคสมัยของควีน บนหนทางของการปกเกล้าไม่ปกครอง

12
กันยายน
2565
ภาพ : ใบปิดซีรีส์ The Crown
ภาพ : ใบปิดซีรีส์ The Crown

 

เดอะคราวน์ (The Crown) เป็นซีรีส์ที่ถ่ายทอดเรื่องราว (ที่ปรับแต่ง) ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษในยุคสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ยาวนานและเต็มไปด้วยเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย สะท้อนบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในยุคสมัยใหม่ที่สถาบันกษัตริย์ที่อยู่มาอย่างยาวนานในหลายประเทศค่อยๆ ล้มหายไป สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ บทบาทของสถาบันกษัตริย์อังกฤษในระบอบประชาธิปไตยภายใต้การนำของสมเด็จพระราชินีนาถฯ สะท้อนผ่านซีรีส์เรื่องนี้

 

การปกเกล้าที่ไม่ปกครอง

ก่อนที่จะกล่าวถึงเนื้อหาของซีรีส์เดอะคราวน์นั้น อาจจะต้องเข้าใจระบบการเมืองของประเทศอังกฤษในปัจจุบันเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันกษัตริย์อังกฤษ

สถาบันกษัตริย์อังกฤษ ผ่านช่วงเวลาสำคัญทางการเมืองมาอย่างยาวนาน และค่อยๆ ถูกลดบทบาทในการปกครองลงมาตามการพัฒนาของระบอบประชาธิปไตยแบบอังกฤษ ตั้งแต่มีความพยามให้กษัตริย์ลงนามใน มหากฎบัตร (Magna Carta)[1] จนถึงการประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง ค.ศ. 1689 (Bill of Rights 1689)[2] กระบวนการทางการเมืองเหล่านี้ค่อยๆ จำกัดอำนาจของสถาบันกษัตริย์ลงมาให้อยู่ในสถานะที่สุดท้ายแล้วสถาบันกษัตริย์ไม่ได้มีอำนาจในการปกครองโดยตรงในทางการเมือง การจะกระทำการใดๆ จะต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการให้กระทำแทน[3]

นอกจากนี้ กระบวนการเหล่านี้ยังรวมถึงการลดอำนาจของสถาบันการเมืองที่เป็นส่วนประกอบของระบอบเก่าที่รายล้อมรอบๆ สถาบันกษัตริย์อย่างเช่นขุนนาง (Lord) และสภาขุนนาง (House of Lord) ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ค่อยๆ เปลี่ยนสถาบันกษัตริย์อังกฤษมาอยู่ในฐานะ ‘ผู้ปกเกล้าไม่ใช่ปกครอง’

การอยู่ในฐานะ ‘ปกเกล้าไม่ปกครอง’ นี้ หมายถึง การที่สถาบันกษัตริย์จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องในทางการเมือง โดยทำให้สถาบันกษัตริย์พ้นไปจากหรือปราศจากเรื่องทางการเมืองต่างๆ โดยดำรงบทบาทเป็นเพียงผู้แทนในฐานะสัญลักษณ์ของรัฐ แต่ทรงไม่มีบทบาทที่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองใดๆ[4] ซึ่งสิ่งนี้เป็นเสมือนกระดูกสันหลังของระบอบประชาธิปไตยที่มีประมุขของรัฐ[5]

 

เรื่องราวของสมเด็จพระราชินีนาถฯ ในซีรีส์

 

โอลิเวีย โคลแมน รับบทเป็น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
โอลิเวีย โคลแมน รับบทเป็น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

 

เมื่อพิจารณาเรื่องราวในซีรีส์เดอะคราวน์ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จพระราชินีนาถฯ ตั้งแต่ก่อนจะทรงขึ้นครองราชย์สมบัติต่อจากพระราชบิดา คือ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ในซีซันที่ 1 จนมาถึงซีซันที่ 4 ที่ฉายในปัจจุบัน

 

จิลเลียน แอนเดอร์สัน รับบทเป็น มาร์กาเรต แทตเชอร์
จิลเลียน แอนเดอร์สัน รับบทเป็น มาร์กาเรต แทตเชอร์

 

ซีรีส์เล่าถึงผู้หญิง 3 คน คือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2, มาร์กาเรต แทตเชอร์ และ เลดี้ไดอาน่า (เจ้าหญิงไดอาน่า) เส้นเรื่องส่วนใหญ่นั้นตรงกับเหตุการณ์ในความเป็นจริง แม้จะมีการดัดแปลงบางส่วนด้วยการตีความต่อมุมมองที่มีต่อประวัติศาสตร์บ้าง อย่างไรก็ดี ตลอดซีรีส์เรื่องนี้จะเห็นได้ว่า ในหลายๆ ตอนนั้นสมเด็จพระราชินีฯ จะต้องเผชิญกับความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการดำรงสถานะพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรของพระองค์ สิ่งหนึ่งที่ซีรีส์สะท้อนให้กับผู้ชมได้รับรู้ก็คือ การดำรงบทบาทความเป็นกลางของสถาบันกษัตริย์ และการเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์

 

เอ็มมา คอร์ริน รับบทเป็น เจ้าหญิงไดอาน่า
เอ็มมา คอร์ริน รับบทเป็น เจ้าหญิงไดอาน่า

 

ในเรื่องการดำรงบทบาทความเป็นกลางทางการเมืองนั้น หากพิจารณาตลอดทั้งซีรีส์จะเห็นได้ว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่เนื้อเรื่องพยายามจะนำเสนอ ตั้งแต่ในซีซันที่ 1 ตอนที่ 2 ซึ่งมีฉากที่อดีตนายกรัฐมนตรีแอนโทนี อีเดน ที่ในขณะนั้นยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าจอร์จที่ 6 และขอให้พระองค์ทรงเกลี่ยกล่อมให้นายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลล์ ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องมาจากอายุที่มากและทำให้การบริหารราชการของประเทศไม่มีประสิทธิภาพ

ในฉากนี้ซีรีส์ได้อธิบายถึงบทบาทสำคัญของสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักรว่า ทรงจะต้องเป็นกลางทางการเมือง โดยจะต้องสนับสนุนรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน และได้ทรงพูดถึงสิทธิของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญว่า ทรงจะต้องทรงรับคำปรึกษาจากนายกรัฐมนตรี ส่งเสริมและสนับสนุนนายกรัฐมนตรี และตักเตือนนายกรัฐมนตรี และสถานะของการเป็นกษัตริย์นั้นจะต้องแยกออกจากความสัมพันธ์ส่วนตัวทั้งหมด ซึ่งประเด็นนี้เป็นการอธิบายจุดยืนทั้งหมดที่ในเรื่องจะนำเสนอว่า สถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร

ประเด็นนี้เรื่องความเป็นกลางทางการเมืองได้ถูกเน้นย้ำอีกหลายๆ ครั้งผ่านบทสนทนาของตัวละครในเรื่อง อาทิ ในบางฉากจะเห็นได้ว่า สมเด็จพระราชินีนาถฯ ไม่ทรงเห็นด้วยกับการบริหารราชการของนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะในช่วงของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกอย่าง มาร์กาแรต แทตเชอร์ หลายฉากซีรีส์จะแสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงตรัสกับผู้ใกล้ชิดและพระบรมวงศานุวงศ์ที่สนิท อย่างในซีซันที่ 3 ของเรื่อง ซึ่งเป็นตอนที่มีความพยายามจะก่อรัฐประหารรัฐบาลของ แฮโรลด์ วิลสัน (Harold Wilson) จากพรรคแรงงาน ซึ่งกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้าและความน่าเชื่อถือของนายกรัฐมนตรีในเวลา ทำให้ชนชั้นสูงของประเทศมีความวิตกกังวลและได้มีความพยายามที่จะประชุมกันเพื่อนำมาสู่การวางแผนรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลของ แฮโรลด์ วิลสัน เพื่อจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยมีการชักชวน ลอร์ด เมานต์แบตเทน (Lord Mountbatten) เป็นผู้นำการต่อต้านรัฐบาล

ลอร์ด เมานต์แบตเทนมีสถานะเป็นพระญาติสนิทฝั่งเจ้าชายฟิลลิป ดยุคแห่งเอดินเบิร์กพระราชสวามีของสมเด็จพระราชินีนาถฯ ซึ่งในซีรีส์จะเห็นได้ว่า บทสนทนาของตัวละครระหว่างลอร์ด เมานต์แบตเทน และสมเด็จพระราชินีนาถฯ สื่อไปในทางว่า สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงตำหนิลอร์ด เมานต์แบตเทน และทรงยืนยันที่จะสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และได้เสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาต่อไป โดยจะไม่ทรงใช้อำนาจเข้าแทรกแซงทางการเมือง หรือลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหาร[6] ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่สถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยไม่ควรจะทำ

นอกเหนือจากการดำรงบทบาทในทางการเมืองอย่างเป็นกลางแล้ว อีกสิ่งที่ซีรีส์ได้หยิบมาเล่า คือ ความพยายามปรับปรุงสถาบันกษัตริย์ให้ประชาชนสามารถที่จะเข้าถึงได้มากขึ้น

ในอดีต เพื่อเป็นการป้องกันมิให้สถาบันกษัตริย์สูญเสียความเป็นกลางทางการเมือง พระราชดำรัสหรือพระบรมราชโองการที่จะทรงตรัสบางสิ่งกับสาธารณชนทั้งหมดจะต้องถูกตรวจสอบโดยรัฐบาลหรือคนของรัฐบาล (ฝ่ายราชเลขาธิการในพระองค์) ว่า การกระทำดังกล่าวสามารถจะกระทำได้หรือไม่ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ต้องรับสนองพระบรมราชโองการ จึงเป็นหน้าที่สำคัญที่จะต้องพิจารณาพระราชกระแสรับสั่งต่างๆ[7] โดยปกติสมเด็จพระราชินีนาถฯ จะมีพระราชดำรัสใดๆ จะทรงอ่านจากบทพูดที่ได้ทรงเตรียมไว้เป็นอย่างดีและจะทรงพิถีพิถันกับบทพูดดังกล่าวเสมอ เพื่อป้องกันมิให้การสื่อสารดังกล่าวคาดเคลื่อนไป

ในจุดนี้ ซีรีส์ได้หยิบนำประเด็นเรื่องพระราชดำรัสในวันคริสต์มาสของสมเด็จพระราชินีนาถ มาเล่าถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์ของ จอห์น กริกก์ (John Grigg) หรือ ลอร์ด อัลทรินก์แฮม (Lord Altrincham) ซึ่งในความเป็นจริงเวลานั้น จอห์น กริกก์ ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์พระราชดำรัสของสมเด็จพระราชินีนาถฯ เนื่องในวันคริสต์มาสที่ถ่ายทอดสดผ่านทางวิทยุในปี ค.ศ. 1956 ที่นำมาสู่การปรับเปลี่ยนพระราชดำรัสในวันคริสต์มาสในปี ค.ศ. 1957 เป็นการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก (ก่อนหน้านี้พระองค์ไม่ประสงค์จะถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์) และเป็นพระราชดำรัสที่มีความเป็นทางการน้อยลง โดยพูดเรื่องราวที่สรุปจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา และมีลักษณะที่สะท้อนตัวตนของพระองค์มากกว่าที่เคยเป็นมา แต่ยังคงวางตัวอย่างเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งเป็นการน้อมรับความคิดเห็นของประชาชนมาปรับปรุงพระองค์

ส่วนในซีรีส์ให้บทพูดแก่จอห์น กริกก์ โดยเขาแสดงความเห็นต่อพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชินีนาถฯ ว่า พระราชดำรัสมีลักษณะที่เป็นทางการและไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในเวลานั้น รวมถึงยังสะท้อนภาพของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ล้าสมัยไปแล้ว ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์รูปแบบของการมีพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชินีนาถฯ จึงนำไปสู่การได้สนทนาระหว่างจอห์น กริกก์ กับสมเด็จพระราชินีนาถฯ แม้ว่าในฉากดังกล่าวจะไม่เคยเกิดขึ้นในความเป็นจริง[8]

ณ จุดนี้ในบทความแสดงออกถึงความพยายามปรับปรุงภาพของสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ในสถานะที่น่าเชื่อถือและรับมือกับกระแสนิยมที่มีผลลบต่อสถาบันกษัตริย์

 

เรื่องราวของสมเด็จพระราชินีนาถฯ นอกซีรีส์

สถานะของสมเด็จพระราชินีนาถฯ ตั้งอยู่บนรอยต่อของยุคสมัยระหว่างการรักษาจารีตประเพณีเดิมที่สืบทอดมาอย่างต่อเนื่องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและยุคสมัย

ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องราวที่ซีรีส์ได้บอกเล่าเกี่ยวกับสถานการณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถฯ ในซีรีส์แล้ว มีการกระทำอีกหลายครั้งของสมเด็จพระราชินีนาถฯ ซึ่งสะท้อนความตื่นตัวของสถาบันในการรับมือกับการเมือง ตัวอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อเจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ค พระราชโอรสองค์ที่ 2 ของสมเด็จพระราชินีนาถฯ ได้ทรงมีเรื่องอื้อฉาวที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์และมีการฟ้องร้องดำเนินคดีในปี ค.ศ. 2021 สมเด็จพระราชินีนาถฯ ได้ทรงให้สำนักพระราชวังบักกิงแฮมประกาศถอดยศทหารและการเป็นองค์อุปถัมภ์องค์กรต่างๆ คืนแด่พระราชมารดา ภายหลังจากการเผชิญคดีอื้อฉาวที่สั่นคลอนราชวงศ์อย่างคดีล่วงละเมิดทางเพศ[9]

การกระทำในลักษณะดังกล่าวเป็นการตอบรับสถานการณ์และความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้มีกระบวนการบางประการที่แสดงความรับผิดชอบของสถาบันกษัตริย์ที่มีต่อสังคม

สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ คือ ราชสมบัติที่สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงรับสืบทอดมาจากพระบิดาและบรรพกษัตริย์พระองค์ก่อนๆ ไม่เพียงแต่เป็นการสืบทอดราชสมบัติเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์และภาพแทนความเลวร้ายของระบอบจักรวรรดินิยมในอดีต

อย่างไรก็ดี อาจจะกล่าวได้ว่า ช่วงระยะเวลาที่ครองราชย์สมบัติมาตลอด 70 ปี ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีการปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากที่สุดพระองค์หนึ่งอย่างเห็นได้ชัด

 

The Crown

 

เดอะ คราวน์ (The Crown) เป็นภาพยนตร์นวนิยายชุดทางโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระราชประวัติของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรและเหตุการณ์สำคัญที่เกิดในรัชกาลของพระองค์ สร้างและเขียนโดยปีเตอร์ มอร์แกนเป็นหลัก อำนวยการสร้างโดย Left Bank Pictures และ Sony Pictures Television สำหรับเน็ตฟลิกซ์ผู้เขียนพัฒนาจากภาพยนตร์เรื่อง The Queen (2006) และโดยเฉพาะละครเวทีเรื่อง The Audience (2003) ปัจจุบัน The Crown มีจำนวน 4 ซีซัน จำนวน 40 ตอน สามารถรับชมได้ที่ช่อง NETFLIX

 

ภาพประกอบบทความจาก The Crown

 

[1] see Doris Mary Stenton, ‘Magna Carta’ (Encyclopedia Britannica, 23 August 2022) https://www.britannica.com/topic/Magna-Carta accessed on 11 September 2022.

[2] see Britannica, ‘Bill of Rights’ (Encyclopedia Britannica, 19 March 2020) https://www.britannica.com/topic/Bill-of-Rights-British-history accessed on 11 September 2022.

[3] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘พาสปอร์ตกับพระราชอำนาจ: ทำความเข้าใจสถานะกษัตริย์ของสหราชอาณาจักรในระบอบประชาธิปไตย’ (Way Magazine, 17 กุมภาพันธ์ 2565) https://waymagazine.org/passport-and-royal-prerogative/ สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2565.

[4] เพิ่งอ้าง.

[5] ดู เกื้อ เจริญราษฎร์, ‘เหตุใดต้องยกเลิกอำนาจของกษัตริย์ ในการแสดงความคิดเห็นเรื่องการเมืองในที่สาธารณะ’ (ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, 25 พฤศจิกายน 2563) https://tlhr2014.com/archives/23454#_ftn1 สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2565.

[6] ดู รายละเอียดของสถานการณ์ดังกล่าวเพิ่มเติมได้จาก เสมียนอารีย์, ‘เบื้องหลังการ (เกือบจะ) รัฐประหารของอังกฤษ ในซีรีส์ The Crown’ (ศิลปวัฒนธรรม, 9 กันยายน 2565) https://www.silpa-mag.com/history/article_56836 สืบค้นเมื่อ  11 กันยายน 2565.

[7] ดู เกื้อ เจริญราษฎร์ (เชิงอรรถ 5); เขมภัทร ทฤษฎิคุณ (เชิงอรรถ 3).

[8] ดู รายละเอียดเพิ่มเติมจาก ตรีนุช อิงคุทานนท์, ‘ลอร์ด อัลทรินก์แฮม: ผู้ติเตียนราชินีอังกฤษ เพราะไม่อยากเห็นราชวงศ์ล่มสลาย’ (The People, 22 พฤษภาคม 2565) https://www.thepeople.co/read/23343 สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2565.

[9] ณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ, ‘ย้อนเส้นทางปมพัวพันคดีอื้อฉาวของเจ้าชายแอนดรูว์ เป็นมาอย่างไร?’ (The Standard, 14 มกราคม 2565) https://thestandard.co/key-messages-prince-andrew-scandal/ สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2565.