ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

วิธีส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตย : เสนอให้รัฐจ่ายค่าป่วยการให้ราษฎรที่มาลงคะแนน และชนรุ่นใหม่จะมีทางได้เป็นผู้แทนในทางปฏิบัติหรือไม่

21
พฤศจิกายน
2564

-4-

เสนอให้รัฐจ่ายค่าป่วยการให้ราษฎรที่มาลงคะแนน

4.1 นอกจากนี้ผมคิดขึ้นเองว่าน่าจะทดลองทำเป็นประวัติการณ์ของโลกบ้างว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงคนใดมาลงคะแนนก็จะได้รับค่าป่วยการจากรัฐบาลครั้งละ 10 บาท ผมคะเนว่าในจำนวนพลเมืองไทยร่วม 40 ล้านคนนั้น มีจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงประมาณ 20 ล้านคน รัฐก็ใช้เป็นค่าป่วยการของราษฎร 20 ล้านบาท ซึ่งไม่น่าเสียดาย เพราะเท่ากับคืนเงินที่เก็บภาษีอากรมาจากราษฎรคืนให้คนละ 10 บาทในวันเลือกตั้ง

ถ้าหากเอาเงินที่รัฐบาลยึดได้จากผู้ทำลายประชาธิปไตยตั้งแต่สฤษดิ์เป็นต้นมา จนถึงถนอมประภาสที่รัฐบาลควรยึดได้ก็ประมาณพันๆ ล้านบาท รัฐบาลเอาคืนราษฎรคราวละ 200 ล้านบาทต่อการเลือกตั้งครั้งหนึ่งในรอบ 9 ปี ก็เป็นอันว่าในรอบ 100 ปี นี้มีการเลือกตั้ง 25 ครั้งก็มีเงินพอคืนให้ราษฎรได้โดยตรง ชนรุ่นปัจจุบันนี้ก็จะปลูกฝังนิสัยประชาธิปไตยได้มั่นคง แล้วถ่ายทอดให้ชนรุ่นใหม่ในอีก 100 ปีข้างหน้าโน้นให้พัฒนาต่อไปได้

การคืนเงินให้ราษฎรโดยตรงตามวิธีที่ผมเสนอมานี้เป็นประโยชน์กว่าที่รัฐบาลจะเอาเงินที่ยึดได้จากผู้ทุจริตไปใช้ในงบประมาณประจำของรัฐบาลซึ่งเรียกอย่างคนไทยว่า “เบี้ยหัวแตก” โดยกระทรวงนั้นกระทรวงนี้จะขอแบ่งเอาไป

4.2 ผมเห็นอีกว่าวิธีที่รัฐจ่ายค่าป่วยการให้ผู้มีสิทธิออกเสียงมาลงคะแนนนั้นยังจะช่วยป้องกัน มิให้ผู้สมัครเริ่มโกงตั้งแต่ต้นโดยวิธีจ่ายค่าพาหนะเป็นสินน้ำใจให้ผู้มาลงคะแนน

-5-

ชนรุ่นใหม่จะมีทางได้เป็นผู้แทนในทางปฏิบัติหรือไม่

5.1 นักศึกษาบางคน ขอให้ผมอธิบายวิธีเลือกตั้งของเยอรมัน ผมได้ตอบว่าผมเพียงแต่เคยเรียนทางตำรา เมื่อครั้งผมเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศส อันตรงกับสมัยที่ประเทศเยอรมันใช้รัฐธรรมนูญฉบับ “ไวมาร์” (Weimar) ซึ่งเป็นวิธีที่ Victor d' Hondt คิดขึ้นโดยปรับปรุงจากวิธีของ C.C.G. Andrae ชาวเดนมาร์ก เมื่อระบอบนาซีเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1933 แล้วไม่มีการเลือกตั้ง จนกระทั่งตั้งสหพันธรัฐแล้วนำวิธีก่อนนาซีนั้นกลับมาใช้โดยปรับปรุงใหม่ วิธีนี้เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Proportional Representation” อักษรย่อ P. R. เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “Representation Proportionnelle” ย่อ R.P. คือ การถัวเฉลี่ยผู้แทนตามพรรค (ตามฉบับเดิมที่คนเดนมาร์กคิดขึ้นนั้นให้เฉลี่ยแก่ผู้สมัครไม่สังกัดพรรคด้วย)

ถือกันว่าเป็นยุติธรรมดีสำหรับการเลือกตั้งระบบพรรค แก้วิธีการยุ่งยากในการคำนวณ คือ มีผู้มีสิทธิออกเสียงคนหนึ่งมีสิทธิออกเสียง 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 สมาชิกกึ่งหนึ่งของรัฐสภาได้รับเลือกจากเขตมีผู้แทนได้คนเดียว ส่วนตำแหน่งที่เหลือแบ่งกันตามส่วนเฉลี่ยจากเขตมีผู้แทนได้หลายคน จำนวนผู้แทนที่พรรคหนึ่งๆ ได้ในเขตที่มีผู้แทนได้คนเดียวนั้น ให้หักออกจากจำนวนรวมของตำแหน่งผู้แทนเพื่อจะได้ตำแหน่งจากการเลือกตั้งตามบัญชี (ลิสท์) ของพรรค ขอให้นักศึกษาถามผู้รู้ช่วยอธิบายเพิ่มเติมให้แจ่มแจ้งด้วย ส่วนการปฏิบัตินั้น ผมไม่เคยมีโอกาสไปดูมาจึงอธิบายไม่ได้ ขอให้นักศึกษาถามผู้มีประสบการณ์ช่วยอธิบายด้วย

แม้วิธีนี้จะยุติธรรมสำหรับการเลือกตั้งระบบพรรค แต่ราษฎรอังกฤษแห่งประเทศแม่ประชาธิปไตย ก็ยังขึ้นไม่ถึงวิธีดีเลิศนี้ ผมวิตกว่าราษฎรไทยที่แม้มีสิทธิออกเสียงครั้งเดียวในการเลือกตั้งสมัยหนึ่งๆ นั้น ก็ยังไม่ค่อยไปออกเสียงกันตามวิธีจัดตั้งหน่วยดังกล่าวแล้ว ถ้าจะให้มาออกเสียง 2 ครั้ง ในสมัยเดียวกันจะบ่นว่าอย่างไรบ้างผมก็ไม่ทราบ นอกจากจะใช้วิธีให้ค่าป่วยการตามที่ผมเสนอในข้อก่อน

5.2 ผมวิตกถึงเยาวชนรุ่นใหม่ว่า ถ้ารัฐธรรมนูญใหม่ที่ยืนยันจะเอาการเลือกตั้งที่บังคับให้ผู้สมัครสังกัดพรรคให้จงได้ และกฎหมายเลือกตั้งก็ต้องอนุโลมวิธีอเมริกันหรือเยอรมันแล้ว ท่านทั้งหลายที่เป็นพลังใหม่กำลังเจริญงอกงามนั้น ท่านจะมีทางได้รับเลือกเป็นผู้แทนในทางปฏิบัติหรือไม่

5.3 ผมได้กล่าวถึงผลทางปฏิบัติของการเลือกตั้งระบบพรรคที่มีสองพรรคใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพรรคตัวแทนนายทุนด้วยกันทั้งคู่เพื่อผูกขาดอำนาจรัฐไว้เพื่อพวกของตนโดยอาศัยวิธีการเลือกตั้งที่ได้ผลกีดกันพรรคที่เกิดใหม่มิให้ก้าวหน้าต่อไปได้

ส่วนในสหพันธรัฐเยอรมนีซึ่งใช้วิธีเลือกตั้งเยอรมันดังกล่าวแล้ว ได้ผลทำให้พรรคใหญ่พรรคที่มีชื่อพ่วงท้ายว่า “ดีโมแครท” และพรรคย่อมพรรคหนึ่งพ่วงท้ายชื่อด้วยคำว่า “ดีโมแครท” เช่นกัน แปลตามคำพ่วงท้ายก็คือ “ประชาธิปไตย” ด้วยกัน หากเพื้ยนกันในคำนำหน้า (ผมขอเอาชื่อที่แปลเป็นภาษาอังกฤษมากล่าวไว้เพื่อความสะดวก)

  • ก. พรรค “โซเชียล ดีโมแครท” แปลเป็นไทยว่า “สังคมประชาธิปไตย”
  • ข. พรรค “คริสเตียน ดีโมแครท” แปลเป็นไทยว่า “คริสเตียนประชาธิปไตย”
  • ค. พรรค “ฟรี ดีโมแครท” แปลเป็นไทยว่า “เสรีประชาธิปไตย”

พรรคเยอรมันดังกล่าวนั้น ได้ขุมพลังที่เป็นมรดกสืบทอดมาจากพรรคที่มีอยู่ก่อนในอดีต ขุมพลังนี้อาจเป็นพวกนายทุน พวกกรรมกร รวมทั้งพวกนิยมเผด็จการนาซีของฮิตเลอร์ที่แทรกเข้ามาในพรรคฝ่ายขวา โดยเปลี่ยนเพียงยูนิฟอร์มเก่ามาใช้ป้ายยี่ห้อใหม่ที่แสดงภายนอกว่า “ประชาธิปไตย”

เยาวชนเยอรมันที่มีอุดมคติมั่นคงในระบอบประชาธิปไตยแท้จริงของมวลราษฎรนั้น ไม่มีทางที่จะได้รับเลือกเข้ามาเป็นผู้แทนในรัฐสภา คือ จำต้องสนับสนุนพรรคที่มีอุดมคติก้าวหน้าบ้าง เช่น พรรคโซเชียลดีโมแครทที่มีอุดมคติแห่งขบวนการสังคมนิยมสากล ไม่ใช่มีแต่ชื่อว่าสังคมนิยม ก็ยังดีกว่าจะปล่อยให้พรรคที่แม้ชื่อท้ายว่าประชาธิปไตยแต่เป็นตัวแทนของอภิสิทธิ์ชน

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญเยอรมันฉบับปัจจุบันยังมีความเป็นประชาธิปไตยพอสมควร พรรคเล็กพรรคน้อยจะมีอุดมคติสังคมนิยมแท้จริง หรือ เป็นคอมมิวนิสต์ก็ได้ หากไม่มีทางชนะการเลือกตั้งโดยวิธีเลือกตั้งชนิดถัวเฉลี่ยคะแนน

5.4 ส่วนในประเทศไทยนั้น ถ้าหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดำเนินตามแนวทางฉบับ 2492 โดยมีผู้กล่าวว่าเป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่สุดที่กำหนดอุดมการณ์ของสังคมไทยเอาไว้เป็นสังคมเสรีนิยม ท่านก็ไม่อาจตั้งพรรคที่มีนโยบายอย่างอื่นนอกจากวิธีเสรีนิยมเท่านั้น ตามที่อ้างว่าอุดมการณ์ของสังคมไทยเป็นสังคมเสรีนิยมนั้นขัดต่อประวัติศาสตร์ของชาติไทย

ผมเคยกล่าวไว้ในปาฐกถาต่อนักเรียนอังกฤษ เมื่อ 28 ก.ค. 2516 ว่า พระองค์เจ้าองค์หนึ่งท่านเห็นว่าสังคมนิยมทำได้ในเมืองไทยซึ่งเป็นสิ่งเคยทำมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยานั่น ซึ่งผมเห็นว่าท่านรับสั่งตรงตามที่ปรากฏในกฎหมายสมัยอยุธยา และยิ่งกว่านั้นขัดต่อความจริงที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เมื่อครั้งทรงเป็นเสนาบดีมหาดไทยที่เสด็จไปตรวจราชการภาคอีสานทรงพบสภาพความเป็นอยู่ของชนบทแห่งหนึ่ง ซึ่งพระองค์ทรงเขียนในรายงานว่าเปรียบเหมือน “โซเชียลิสต์” ทั้งนี้เป็นสภาพตามธรรมชาติของคนไทยเอง โดยขณะนั้นยังไม่มีทางรถไฟ หรือ ทางถนนรถยนต์ หรือ ทางเครื่องบินไป คนไทยเหล่านั้นจึงมิได้รับอิทธิพลลัทธิสังคมนิยมที่แพร่มาจากต่างด้าว (ผมได้กล่าวเรื่องสมเด็จองค์นี้ไว้ในหนังสือว่าด้วยความเป็นอนิจจังของสังคม)

เราต้องดูความจริงว่า ถ้าเป็นเสรีนิยมแล้วผู้ที่สามารถใช้สิทธิในทางปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนั้น เช่น ในการสมัครรับเลือกตั้งก็จะมีแต่คนมีทุน หรือรับเงินจากนายทุนเป็นส่วนมากที่สามารถชนะในการเลือกตั้ง ตามที่ผมยกตัวอย่างไว้ในปาฐกถาของผมที่อังกฤษแล้ว ดังนี้ จึงทำให้เกิดความไม่เสมอภาคในทางปฏิบัติ บทบัญญัติกำหนดแนวนโยบายของรัฐให้เป็นแต่ในทางเสรีนิยมอย่างเดียวจึงขัดกับลัทธิประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปวงชน ถ้าเราเคารพปวงชนแท้จริงแล้วก็ต้องให้เสรีภาพแก่ปวงชนว่าจะสมัครใจใช้ลัทธิอะไร ยิ่งเขียนห้ามสังคมนิยมไว้ สังคมนิยมก็จะมาถึงเร็วโดยวิธีทางอื่นนอกรัฐสภา

ฉะนั้น ควรให้ทุกคนมาสู้กันทางรัฐสภาอย่างเสรีจะเหมาะกว่า ขอให้ดูราชอาณาจักรอื่นบ้าง เช่น เบลเยียม เนเธอแลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ อังกฤษ ญี่ปุ่น ฯลฯ เขาก็ยอมให้ลัทธิต่างๆ สู้กันอย่างเสรีในรัฐสภา บางครั้งฝ่ายสังคมนิยมชนะก็มิได้ลบล้างสถาบันกษัตริย์ ถ้ารัฐบาลสังคมนิยมทำไม่ดีก็ต้องถูกราษฎรเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เป็นเสรีนิยมในคราวเลือกตั้งครั้งต่อไป

 

ที่มา: ปรีดี พนมยงค์. เสนอให้รัฐจ่ายค่าป่วยการให้ราษฎรที่มาลงคะแนน และ ชนรุ่นใหม่จะมีทางได้เป็นผู้แทนในการปฏิบัติหรือไม่, ใน, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2535), น. 97-99

บทความที่เกี่ยวข้อง: