เดือนตุลาคมของไทยทุกปี มักถูกจดจำทั้งในฐานะเดือนแห่งชัยชนะของประชาธิปไตย โดยมีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อันเป็นการขับไล่ระบอบเผด็จการทหารเป็นจุดอ้างอิง ขณะเดียวกันก็มักเป็นเดือนแห่งความทรงจำว่าด้วยการก่ออาชญากรรมโดยรัฐ โดยมีเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาและประชาชน ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นสิ่งที่ให้หวนระลึกถึง
เวลาผ่านไปหลายทศวรรษ มีแง่มุมการศึกษาเหตุการณ์หลังอยู่หลายประการ ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ หนึ่ง เป็นประวัติศาสตร์ความรุนแรงทางการเมืองที่ยังไม่มีผู้ได้รับการลงโทษ และ สอง เป็นเหตุการณ์ที่ฉีกหน้ากากสังคมเมืองพุทธ โดยมีรูปแบบความรุนแรงที่อัปลักษณ์ที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยยุคใกล้
ในวาระนี้ ผู้เขียนต้องการนำเสนอตัวแบบการชำระล้างสะสางประวัติศาสตร์ความรุนแรง โดยอาศัยแรงบันดาลใจจากขบวนการต่อสู้ของประชาชนชาวเกาหลีใต้ ในการอธิบาย ด้วยเหตุผลว่า ประการแรก เกาหลีใต้มีประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคล้ายคลึงกับไทย นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ประการที่สอง เกาหลีใต้พิสูจน์ให้เห็นถึงความหวังในการไม่ย้อนกลับไปยังความผิดพลาดในอดีต
ทั้งสองเหตุผลนี้ ควรค่าแก่การไตร่ตรองต่อคนรุ่นหลังของไทย เนื่องจากในทางหนึ่ง แม้ประเทศไทยจะมีประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเช่นเดียวกับเกาหลีใต้ ทว่า ความสำเร็จในการป้องปรามการรัฐประหาร และความรุนแรงทางการเมืองของไทย กลับเผชิญความล้มเหลว จนถึงปัจจุบัน
จากอำนาจนิยมสู่เผด็จการเต็มรูปแบบ
หลังการได้รับชัยชนะบนเวทีการเลือกตั้งของ ปัก จุง ฮี ในปี 1967-1971 แนวโน้มของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็หันหน้าไปสู่ลักษณะอำนาจนิยมมากขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการนำพาประเทศพ้นจากภัยคอมมิวนิสต์ในทศวรรษที่ 1960 จนนำมาสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอนุญาตให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระ จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่ให้มีการผูกขาดอำนาจผู้นำสูงสุดของประเทศ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขทางเศรษฐกิจก็อุ้มชูให้ปัก จุง ฮี ได้รับความนิยมมากขึ้น จากประเทศที่ติดหล่มสงคราม ค่อยๆ ทยานขึ้นมาเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรม
แต่ก็ดังที่ เซอร์ จอห์น แอคตัน เคยกล่าวไว้ว่า “Power tends to corrupt, absolute power corrupt absolutely” “อำนาจด้วยตัวมันเองมีแนวโน้มที่จะฉ้อฉล ฉะนั้นยิ่งอำนาจเด็ดขาดเท่าไร ความฉ้อฉลจะยิ่งสมบูรณ์” ในปี 1972 ปัก จุง ฮี ประกาศกฎอัยการศึก เพื่อใช้ปกครองประเทศ ไม่ต่างไปจากรัฐบาลคณะรัฐประหาร ยกเลิกสมัชชาแห่งชาติ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญยูชิน ให้แก่ประธานาธิบดีในการควบคุมรัฐสภา
ความลำพองต่ออำนาจเช่นนี้ ทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจ จนนำมาสู่การปราบปรามผู้ต่อต้านหลายร้อยคน จากผู้นำที่นำความเจริญสู่ประเทศ กลายเป็นฆาตกรในเวลาต่อมา
เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ในปี 1979 ปัก จุง ฮี ถูกสังหาร กลุ่มอำนาจที่ก่อตัวในหน่วยงานความมั่นคง เริ่มฉวยโอกาสกระชับอำนาจ นายพล ชุน ดู ฮวาน ใช้กำลังกองทัพเข้ายึดอำนาจ และขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ประชาชนหลายเมืองต่างออกมาประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร เหตุการณ์ที่น่าจดจำเกิดขึ้นที่เมืองกวางจู เมื่อนักศึกษา คนหนุ่มสาว และประชาชนออกมาประท้วง ด้วยการยึดสถานที่ราชการ หลังจากที่ทหารสังหารประชาชนไปหลายร้อยคน ด้วยหวังว่าการฆ่าประชาชน จะรักษาความสงบได้
ท่ามกลางเมฆหมอกมีแสงสว่างอยู่ปลายฟ้า
กล่าวได้ว่าตลอดทศวรรษ 1980 ประชาชนชาวเกาหลีใต้ต้องทนทุกข์อยู่ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการทหาร ซึ่งความรุนแรงทางการเมืองมิได้มีเพียงการสลายการชุมนุมเท่านั้น หากยังเต็มไปด้วยการคุกคาม การอุ้มหาย การซ้อมทรมาน ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล และมีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์
เราพอจะทราบกันว่า การตีตราผู้คน แล้วใช้อำนาจเผด็จการจัดการ เป็นบาดแผลที่เกิดขึ้นทุกมุมโลก ตั้งแต่ชิลี แอฟริกาใต้ อิหร่าน พม่า ไทย ไปจนถึงคาบสมุทรเกาหลี ข้อกล่าวหานี้ กลายเป็นใบอนุญาตให้ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร มีงานวิชาการไม่น้อยอธิบายเรื่องนี้ไว้ แต่หากกล่าวเฉพาะกับกรณีเกาหลีใต้แล้ว เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย พวกเขาอาศัยแรงผลักดันหลายประการที่เอื้อแก่การคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อที่สูญเสียชีวิต ทรัพย์สินและโอกาสในชีวิต เมื่อเวลามาถึง
หนึ่งในแรงผลักดันนั้นคือ การตรากฎหมายพิเศษ (Special Act on May 18 Democratization Movement) เพื่อคืนชีวิตให้กับผู้เรียกร้องประชาธิปไตย กฎหมายฉบับนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลพลเรือน หลังจากประชาชนลุกขึ้นสู้อีกระลอกในปี 1987
ส่งผลให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ โดยรัฐบาลพลเรือนให้คำมั่นสัญญาแก่ประชาชน ว่าจะคืนความเป็นธรรมให้กับเหยื่อที่ถูกปราบปรามตลอด 2 ทศวรรษ ภายใต้อำนาจของรัฐบาลทหาร
กระบวนการของสถาบันทางการเมือง ดำเนินไปพร้อมๆ กับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน เช่น ในปี 1994 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและญาติผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องให้มีการค้นหาความจริงและดำเนินคดีกับชุน ดูฮวานและพวกในข้อหากบฏ ฆาตกรรม และทรยศต่อชาติ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลที่ช่วงแรกมีท่าทีวางเฉยหรือถ่วงทานการเอาผิดนายพล ชุน ดูฮวาน กับพวก ก็ไม่สามารถทนต่อกระแสได้ จนต้องตามกฎหมายพิเศษเพื่อเอาผิดอดีตผู้นำเผด็จการ นอกจากนั้น การตราเป็นกฎหมาย ยังมีการรับรองโดยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสถาบันทางการเมืองหนึ่งที่สำคัญ โดยชี้อย่างเป็นคุณต่อกระบวนการประชาธิปไตยไว้ว่า การตรากฎหมายพิเศษไม่ขัดต่อหลักการเอาผิดย้อนหลัง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เงื่อนไขทางการเมืองเปิดกว้างมากขึ้น
เมื่อถึงตรงนี้ กระบวนการเอาผิดผู้นำที่กระทำความรุนแรงต่อประชาชน จึงเปลี่ยนไปสู่กระบวนการประชาธิปไตยนั่นคือ ไม่เพียงแค่เอาผิดผู้นำเผด็จการ แต่กระทำไปพร้อมๆ กับคืนความจริงและความเป็นธรรมให้เหยื่อผู้สูญเสียทั้งในทางการเมือง นั่นคือ การตรากฎหมายเอาผิด การเยียวยาเหยื่อผู้สูญเสีย การคืนเกียรติและศักดิ์ศรีให้แก่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตย แม้เวลาจะผ่านไปสักกี่สิบปีก็ตาม