สิทธิของผู้หญิง คือ สิทธิมนุษยชน
เราทุกคนล้วนมีสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะมีชีวิตโดยไม่ถูกใช้ความรุนแรงหรือถูกเลือกปฏิบัติ สิทธิในการมีสุขภาพร่างกายและจิตใจด้วยมาตรฐานสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สิทธิที่จะได้รับการศึกษา สิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง และสิทธิในการได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียม
แต่ทั่วโลกยังมีผู้หญิงและเด็กผู้หญิงจำนวนมากที่ประสบกับการถูกเลือกปฏิบัติจากสาเหตุเพศกำเนิดและเพศสภาพ
ความเหลื่อมล้ำทางเพศเป็นรากฐานของปัญหาจำนวนมากที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอย่างเกินสัดส่วน เช่น ความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศ ได้รับค่าจ้างต่ำ ไม่ได้รับการศึกษา และบริการสุขภาพไม่เพียงพอ
ขบวนการสิทธิสตรีได้ต่อสู้อย่างอุตสาหะมาเป็นเวลายาวนานเพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำ โดยรณรงค์เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือลงสู่ท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้สิทธิของตนได้รับความเคารพ นอกจากนี้ ยังมีขบวนการรุ่นใหม่ที่แพร่หลายในยุคดิจิตอล เช่น โครงการรณรงค์ #MeToo ซึ่งเน้นให้เห็นความรุนแรงทางเพศและการคุกคามทางเพศที่ยังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
Amnesty International ทำงานกดดันผู้มีอำนาจให้เคารพต่อสิทธิของผู้หญิง ผ่านการวิจัย การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และการรณรงค์ต่างๆ เนื้อหาในหน้านี้พูดถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสิทธิสตรี สิทธิสตรีจริงๆ แล้วคืออะไร และ Amnesty International ทำงานอะไรบ้างในด้านนี้
เราต่อสู้เพื่ออะไร
เวลาที่พูดถึงสิทธิสตรี เราหมายถึงอะไร เราต่อสู้เพื่ออะไร ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของสิทธิของผู้หญิงซึ่งนักกิจกรรมรณรงค์ได้ต่อสู้กันมาเป็นเวลากว่าร้อยปีจนถึงปัจจุบัน
สิทธิของผู้หญิงในการออกเสียงเลือกตั้ง
ในช่วงศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 เริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงในการออกเสียงเลือกตั้ง โดยในปี ค.ศ. 1893 นิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกในโลกที่ให้สิทธิผู้หญิงออกเสียงเลือกตั้งระดับประเทศ ขบวนการนี้ได้เติบโตขยายไปทั่วโลก และด้วยความอุตสาหะของทุกคนที่เกี่ยวข้อง สิทธิของผู้หญิงในการออกเสียงเลือกตั้งจึงกลายเป็นสิทธิที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ค.ศ. 1979
อย่างไรก็ดี แม้จะมีความก้าวหน้าเช่นนี้แล้ว แต่กลับมีหลายที่ในโลกที่ผู้หญิงประสบความลำบากในการใช้สิทธินี้ ตัวอย่างเช่น ในซีเรีย ผู้หญิงถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง รวมถึงกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่
ในปากีสถาน แม้ว่าการออกเสียงเลือกตั้งจะเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง แต่ยังมีบางพื้นที่ที่ผู้หญิงถูกห้ามออกเสียง เพราะผู้มีอิทธิพลในชุมชนใช้ธรรมเนียมประเพณีชายเป็นใหญ่ของท้องถิ่น กีดกันไม่ให้ผู้หญิงเดินทางไปยังจุดลงคะแนนเสียงได้
ส่วนในอัฟกานิสถานเร็วๆ นี้ ทางการได้นำเอาระบบบังคับพิสูจน์ตัวตนด้วยภาพถ่ายมาใช้ตามจุดเลือกตั้ง ทำให้การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของผู้หญิงเกิดความยากลำบากในพื้นที่อนุรักษนิยมที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องปกคลุมใบหน้าในที่สาธารณะ
Amnesty International รณรงค์เพื่อให้ผู้หญิงทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองได้อย่างแท้จริง
สิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์
ทุกคนควรตัดสินใจได้ด้วยตนเองเกี่ยวกับร่างกายของตน ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทุกคนมีสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งหมายถึงสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพ เช่น การคุมกำเนิดและการทำแท้งปลอดภัยได้อย่างเสมอภาค ในการเลือกว่าจะแต่งงานหรือไม่ เมื่อไหร่ และกับใคร และในการตัดสินใจได้ว่า ต้องการมีลูกหรือไม่ และถ้าจะมี กี่คน เมื่อไหร่ และกับใคร
ผู้หญิงควรสามารถใช้ชีวิตได้ โดยไม่ต้องหวาดกลัวความรุนแรงจากเพศสภาพ รวมถึงการถูกข่มขืนและความรุนแรงทางเพศอื่นๆ การขลิบทำลายอวัยวะเพศหญิง ตลอดจนการบังคับให้แต่งงาน ตั้งครรภ์ ทำแท้ง หรือทำหมัน แต่หนทางยังอีกยาวไกลกว่าที่ผู้หญิงทุกคนจะสามารถมีสิทธิดังกล่าวนี้ได้
ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทั่วโลกจำนวนมาก ยังไม่สามารถเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายได้ ในหลายประเทศ ผู้ที่ต้องการหรือจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์กลับต้องตกอยู่บนทางสองแพร่งที่อันตรายระหว่างการต้องเสี่ยงชีวิตกับการเข้าคุก
ในอาร์เจนตินา Amnesty International ได้รณรงค์ร่วมกับนักพิทักษ์สิทธิมนุษยชนรากหญ้า เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายทำแท้งที่เข้มงวดของประเทศ แม้จะเกิดความก้าวหน้าสำคัญ แต่ก็ยังมีผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่ถูกกฎหมายทำอันตราย ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับร่างกายของตนเองได้
นอกจากนี้ เรายังได้รณรงค์อย่างประสบความสำเร็จในประเทศไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือ ทำให้มีการยกเลิกความผิดอาญาต่อการทำแท้งเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่ Amnesty International และองค์กรด้านสิทธิอื่นๆ ได้พยายามล็อบบี้กดดันมาเป็นเวลาหลายสิบปี
ในโปแลนด์ Amnesty International ได้ร่วมลงชื่อในถ้อยแถลงเพื่อประท้วงร่างกฎหมาย “หยุดการทำแท้ง” ร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชน และองค์กรสิทธิสตรีมากกว่า 200 องค์กร
ส่วนในประเทศเกาหลีใต้ เร็วๆ นี้ก็มีความก้าวหน้าในด้านสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์หลังจากที่ Amnesty International และองค์กรด้านสิทธิอื่นๆ รณรงค์มาเป็นระยะเวลาหลายปี โดยนำไปสู่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ที่สั่งให้รัฐบาลยกเลิกความผิดอาญาต่อการทำแท้งภายในประเทศ และให้ปฏิรูปกฎหมายทำแท้งที่เคยเข้มงวดมาก ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2020
ในเบอร์กินาฟาโซ Amnesty International สนับสนุนการต่อสู้ของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงต่อการบังคับแต่งงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้หญิงจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท
ในเซียราเลโอน Amnesty International ได้ทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการศึกษาสิทธิมนุษยชน ที่มุ่งเน้นประเด็นสิทธิมนุษยชนต่างๆ รวมถึงการขลิบทำลายอวัยวะเพศหญิง
ในซิมบับเว เราพบว่าผู้หญิงและเด็กผู้หญิงตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการท้องไม่พร้อมและมีความเสี่ยงมากกว่าปกติต่อการติดเชื้อเอชไอวี เพราะมีความสับสนอย่างแพร่หลายในสังคมเกี่ยวกับการให้ความยินยอมในเรื่องเพศ และการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศ ซึ่งหมายความว่า มีเด็กผู้หญิงที่ประสบกับการถูกเลือกปฏิบัติ เสี่ยงต่อการแต่งงานในวัยเยาว์ มีความยากลำบากทางเศรษฐกิจ และพบอุปสรรคในการได้รับการศึกษา
ส่วนในจอร์แดน Amnesty International ได้กระตุ้นให้ทางการหยุดเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ต่อระบบผู้คุ้มครองชาย ซึ่งเป็นโทษต่อผู้หญิงด้วยการควบคุมชีวิตและจำกัดเสรีภาพส่วนบุคคลของผู้หญิง รวมถึงการกักขังผู้หญิงที่ถูกกล่าวหาว่าออกจากบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือมีเพศสัมพันธ์นอกการแต่งงาน และการบังคับให้ต้องผ่านการทดสอบพรหมจรรย์อย่างน่าอับอาย
เสรีภาพในการเดินทาง
เสรีภาพในการเดินทาง คือ สิทธิที่จะไปในที่ต่างๆ ได้อย่างอิสระตามที่ต้องการ ไม่เพียงแค่ในประเทศที่อาศัยอยู่ แต่รวมถึงการไปเยี่ยมประเทศอื่นด้วย แต่ผู้หญิงจำนวนมากประสบกับความยากลำบากอย่างแท้จริงในเรื่องนี้ เพราะอาจไม่ได้รับอนุญาตให้มีหนังสือเดินทางของตนเอง หรือต้องขออนุญาตจากผู้ปกครองที่เป็นชายก่อนที่จะเดินทางได้
ตัวอย่างเช่น ในซาอุดิอาระเบีย เร็วๆ นี้มีการรณรงค์ให้ผู้หญิงขับรถได้สำเร็จ หลังจากที่ถูกห้ามมาก่อนหน้านี้เป็นระยะเวลาหลายสิบปี แต่แม้จะเกิดความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์นี้ แต่ทางการก็ยังตามรังควานและกักขังนักกิจกรรมสิทธิสตรีจำนวนมากเพียงเพราะเรียกร้องสิทธิของตนโดยสงบ
สตรีนิยมภาคตัดขวาง
สตรีนิยมภาคตัดขวาง คือ แนวความคิดว่าคนคนหนึ่ง อาจถูกเลือกปฏิบัติได้ด้วยหลายสาเหตุที่ทับซ้อนและตัดขวางซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุด้านเชื้อชาติ เพศ เพศวิสัย อัตลักษณ์ทางเพศ ชนชั้นทางเศรษฐกิจ และความพิการ และสาเหตุอื่นๆ วิธีหนึ่งในการทำความเข้าใจเรื่องนี้ คือ การมองจากสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง เช่น การศึกษาของเราในโดมินิกา พบว่าพนักงานบริการทางเพศ ผู้หญิงที่มักเป็นผู้หญิงผิวสีหรือผู้หญิงข้ามเพศหรือทั้งสองอย่างมักถูกทรมานและตามรังควานจากตำรวจ
สิทธิสตรีถูกละเมิดได้อย่างไร
ความเหลื่อมล้ำทางเพศสภาพ
ความเหลื่อมล้ำทางเพศสภาพ อาจรวมถึง
ความรุนแรงจากเพศสภาพ
ความรุนแรงจากเพศสภาพ คือ ความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ จากสาเหตุเพศวิสัย อัตลักษณ์ทางเพศ หรือลักษณะทางเพศ ความรุนแรงจากเพศสภาพมักเกิดกับผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอย่างเกินสัดส่วน
ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในพื้นที่ขัดแย้งตกอยู่ในความเสี่ยงมากเป็นพิเศษต่อความรุนแรง และในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ความรุนแรงทางเพศถูกใช้เป็นอาวุธสงครามอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น เราได้บันทึกหลักฐานเกี่ยวกับจำนวนผู้หญิงที่หลบหนีจากการโจมตีของกลุ่มโบโกฮารัมในไนจีเรียที่กลับต้องประสบกับความรุนแรงทางเพศและการข่มขืนโดยทหารไนจีเรีย
จากจำนวนผู้หญิงทั่วโลกที่เคยมีความสัมพันธ์ มี 30% ที่เคยประสบกับความรุนแรงทางร่างกายและ/หรือทางเพศจากคู่ของตน นอกจากนี้ ผู้หญิงยังมีความเป็นไปได้ที่จะตกเป็นเหยื่อการประทุษร้ายทางเพศรวมถึงการข่มขืนมากกว่า และมีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะตกเป็นเหยื่อของ “อาชญากรรมเพื่อศักดิ์ศรี”
ความรุนแรงต่อผู้หญิงนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ รัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองผู้หญิงจากความรุนแรงจากเพศสภาพ แม้แต่ทารุณกรรมภายในครอบครัวหลังประตูที่ปิดตาย
ความรุนแรงทางเพศและการคุกคามทางเพศ
การคุกคามทางเพศ หมายถึง พฤติกรรมทางเพศใดๆ ที่ไม่เป็นที่ต้องการ ซึ่งอาจเป็นการกระทำและการเข้าหาทางร่างกาย การเรียกร้องหรือขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย หรือการใช้ภาษาด้านเพศที่ไม่เหมาะสม
ความรุนแรงทางเพศ คือ การที่มีผู้ถูกประทุษร้ายร่างกายในทางเพศ แม้ว่าผู้ชายและเด็กผู้ชายก็อาจตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศได้ แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหนาสาหัสคือผู้หญิงและเด็กผู้หญิง
การเลือกปฏิบัติในการทำงาน
ผู้หญิงมักถูกเลือกปฏิบัติจากเพศสภาพในการทำงาน วิธีที่ช่วยทำให้เห็นภาพ คือ การดูที่ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง การได้รับค่าจ้างเท่ากันสำหรับการทำงานเดียวกันเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง แต่ผู้หญิงมักจะไม่ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมและเท่าเทียมอยู่อย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตัวเลขไม่นานมานี้ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงได้รับค่าจ้างประมาณ 77% ของค่าจ้างที่ผู้ชายได้รับจากการทำงานเดียวกัน การเลือกปฏิบัตินี้นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางการเงินตลอดชั่วชีวิตของผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระได้เต็มที่ และเสี่ยงต่อความยากจนสูงยิ่งขึ้นในภายหลัง
การเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุเพศวิสัยและอัตลักษณ์ทางเพศ
ในหลายประเทศทั่วโลก สิทธิของผู้หญิงถูกปฏิเสธด้วยสาเหตุเพศวิสัย อัตลักษณ์ทางเพศ หรือลักษณะทางเพศ โดยผู้หญิงที่เป็นหญิงรักหญิง รักสองเพศ ข้ามเพศ อินเตอร์เซ็กซ์ และไม่อยู่ในกรอบเพศ ต้องประสบกับความรุนแรง การกีดกัน การคุกคาม การรังควาน และการเลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ หลายคนยังประสบความรุนแรงขั้นร้ายแรง ซึ่งรวมถึงความรุนแรงทางเพศ หรือสิ่งที่เรียกว่า “การข่มขืนให้หาย” และ “การฆ่าเพื่อศักดิ์ศรี”
สิทธิสตรีกับกฎหมายระหว่างประเทศ
อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในทุกรูปแบบ (1979) เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศหลัก ที่พูดถึงการเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุเพศสภาพ และกำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิสตรีอย่างเฉพาะเจาะจง
อนุสัญญาฉบับนี้ ยังถือเป็นคำประกาศสิทธิของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในระดับนานาชาติ และกำหนดข้อผูกพันของรัฐที่ต้องปฏิบัติเพื่อให้ผู้หญิงสามารถมีสิทธิเหล่านี้ได้ อนุสัญญานี้มีรัฐให้สัตยาบันแล้วมากกว่า 180 รัฐ
ทำไมการยืนหยัดเพื่อสิทธิสตรีจึงเป็นเรื่องสำคัญ
สิทธิของผู้หญิง คือ สิทธิมนุษยชน แม้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่เราจะไม่สามารถมีสังคมที่มีเสรีภาพและความเท่าเทียมได้จนกว่าทุกๆ คนจะมีเสรีภาพและความเท่าเทียม หากผู้หญิงยังไม่สามารถได้รับสิทธิเช่นเดียวกับผู้ชาย ความเหลื่อมล้ำนี้ก็จะยังเป็นปัญหาของคนทุกคน
การคุ้มครองสิทธิสตรีทำให้โลกนี้ดีขึ้น
สหประชาชาติกล่าวว่า “ความเท่าเทียมทางเพศและการสร้างอำนาจให้ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงไม่ใช่เป็นแค่เป้าหมายในตัวเอง แต่ยังเป็นกุญแจไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เสรีภาพ และความมั่นคง” การศึกษายังแสดงให้เห็นความจริงที่ว่า สังคมจะดีขึ้นสำหรับทุกคน เมื่อสิทธิสตรีได้รับการปกป้องและเคารพอย่างจริงจัง
เราจะเข้มแข็งมากขึ้นถ้าร่วมมือกัน
แม้ว่าขบวนการระดับรากหญ้าจะทำงานอย่างเข้มแข็งเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเราทุกคนมาร่วมกันสนับสนุนสิทธิสตรี เราก็จะมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ด้วยการร่วมทำงานกับนักกิจกรรมรายบุคคลในภาคสนาม ตลอดจนการรณรงค์พุ่งเป้าของเราเอง ขบวนการสิทธิเช่น Amnesty International ก็สามารถเป็นหนึ่งในแนวหน้าในการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีได้
ที่มา : Amnesty International Thailand, สิทธิสตรี.
หมายเหตุ :
- บทความนี้ได้ทำการขออนุญาตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
- ตั้งชื่อบทความโดยกองบรรณาธิการ