ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

พูนศุข พนมยงค์ : สตรีในประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์ไทย

2
มกราคม
2566

ความสำคัญ

“ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มิใช่เป็นเพียงบุคคลหนึ่งที่มีชื่อผ่านเข้ามาในประวัติศาสตร์ในฐานะเป็นภริยาของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เท่านั้น แต่ชีวิตของท่านผู้หญิงเป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งด้วยทีเดียว…”

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

กำเนิดศรีสตรี

บุตรคนที่ 5 ของมหาอำมาตย์ตรี พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) กับคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตฯ (สกุลเดิม สุวรรณศร) ถือกำเนิดเมื่อวันอังคารขึ้น 14 ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน ร.ศ. 130 เวลา 7 นาฬิกา 20 นาที ตรงกับวันที่ 2 มกราคม ปฏิทินขณะนั้นเป็น พ.ศ. 2454 (ต่อมาใน พ.ศ. 2483 รัฐบาลยุคนั้นได้ประกาศพระบรมราชโองการใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่แทนวันที่ 1 เมษายนที่เคยใช้มาแต่เดิม จึงทำให้วันที่ 2 มกราคม ร.ศ.130 เปลี่ยนให้เป็น พ.ศ. 2455) ณ จวนผู้ว่าราชการเมือง (จังหวัด) สมุทรปราการ ริมปากแม่น้ำเจ้าพระยาเยื้องพระสมุทรเจดีย์ ขณะนั้นพระยาชัยวิชิตฯ ยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระสมุทบุรานุรักษ์ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรปราการได้พาบุตรีผู้นี้ขณะมีอายุเพียงไม่กี่เดือนเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขณะประทับแรมที่พลับพลาในบริเวณจวนผู้ว่าฯ เพื่อขอรับพระราชทานชื่อ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชนามว่า “พูนศุข” เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2455

ท่านผู้หญิงพูนศุข มีพี่น้องร่วมอุทร 12 คน คือ

  1. นางพิศ อดิศักดิ์อภิรัตน (พิศ บุนนาค)
  2. หลวงวิชิตอัคนีนิภา (ขาว ณ ป้อมเพชร์)
  3. นายเข็ม ณ ป้อมเพชร์
  4. นางสารี ศรีราชบุรุษ (สารี ปุณศรี)
  5. ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
  6. นางอัมพา สุวรรณศร
  7. นางเพียงแข สุนทร-วิจารณ์
  8. นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร์
  9. นางอุษา สุนทรวิภาต
  10. ด.ญ. เภา ณ ป้อมเพชร์
  11. นายอานนท์ ณ ป้อมเพชร์
  12. นายชาญชัย ณ ป้อมเพชร์

พระยาชัยวิชิตฯ (ขำ) คุณหญิงเพ็งฯ กับลูกหลาน ณ บ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม พ.ศ. 2474

บรรพบุรุษอยุธยา

บรรพบุรุษของท่านผู้หญิงพูนศุข มีเทือกเถาเหล่ากออยู่ในกรุงเก่าซึ่งปัจจุบันคือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งยังรับราชการเป็นขุนนางรักษากรุงเก่า มีนิวาสถานอยู่บริเวณป้อมเพชร ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงทรงพระราชทานนามสกุลแก่ตระกูลนี้ว่า “ณ ป้อมเพชร์” (na Pombejra) บรรพบุรุษผู้ปรากฏมีชื่อเสียงได้แก่ปู่ทวด และปู่คือพระพิทักษ์เทพธานี (ด้วง) และพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค)

โดยเฉพาะเจ้าคุณปู่พระยาไชยวิชิตฯ ก่อนจะดำรงตำแหน่งสุดท้ายเป็น “ผู้รักษากรุงเก่า” เคยมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์ไทยในยุคแรก กล่าวคือ เมื่อครั้งท่านยังมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางชั้นผู้น้อยที่หลวงวิเศษสาลี ข้าราชการสถานทูตสยามประจำกรุงลอนดอน ท่านได้ร่วมกับพระบรมวงศ์ 4 พระองค์ และข้าราชการสถานทูตสยามประจำกรุงลอนดอนและประจำกรุงปารีส 7 ท่านกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ขอให้ทรงสถาปนาระบบราชาธิปไตยจำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2428 (ค.ศ. 1885) ประวัติบรรพบุรุษส่วนนี้เป็นความภาคภูมิใจของท่านผู้หญิงพูนศุข และลูกหลานสืบมา

นายปรีดี พนมยงค์ เคยเล่าถึง “ผู้รักษากรุงเก่า” นักประชาธิปไตย ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ท่านนี้ว่า “ขณะที่ปรีดีเรียนอยู่ในชั้นประถมนั้น เคยได้ยินบิดา (นายเสียง พนมยงค์) สนทนากับชาวนาที่ปรับทุกข์ถึงความเดือดร้อนในการทำมาหากิน บิดาได้บอกแก่ชาวนานั้นๆ ถึงการที่ท่านได้ยินเจ้าคุณกรุง (พระยาไชยวิชิตฯ (นาค) ) เล่าให้ฟังว่า ที่อังกฤษมีสภาผู้แทนราษฎร คือสภาที่ราษฎรเลือกผู้แทนไปประชุม ผู้ใดมีความทุกข์ร้อนอย่างใด ก็แจ้งแก่ผู้แทนของตนไปขอร้องรัฐบาลได้”

ส่วนบิดาของท่านผู้หญิงพูนสุข มีความเจริญก้าวหน้าในทางราชการ จนกระทั่งมีบรรดาศักดิ์สุดท้ายที่พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรก และคนเดียวในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยที่ก่อนหน้านี้ บุคคลผู้เป็นแม่กองก่อสร้างเรือนจำลหุโทษ ถนนมหาไชย ทั้งยังเป็นผู้บัญชาการคนแรกของทัณฑสถานแห่งนี้ คือ พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค) เจ้าคุณปู่ของท่านนั่นเอง

ดังนั้น ภายหลังเมื่อท่านผู้หญิงพูนศุขถูกกล่าวหาว่าเป็น “กบฏ” และถูกตำรวจนายหนึ่งขู่ว่าจะพาไปคุกขณะที่ท่านขอตาม นายปาล พนมยงค์ บุตรคนโตของท่านไปยังเรือนจำแห่งนั้น ท่านจึงตอบกลับอย่างไม่สะทกสะท้านว่า

“ไม่ต้องเอาคุกมาขู่ ปู่ฉันเป็นคนสร้างคุกนี้เอง”

 


ถ่ายเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2495 ขณะที่ตำรวจนำไปศาลอาญาเพื่อขออำนาจฝากขัง ข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร

 

นอกจากบรรพบุรุษในฝ่ายของบิดาแล้ว บรรพบุรุษในฝ่ายของมารดาที่ท่านผู้หญิงพูนศุข ให้ความเคารพนับถือมากคือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม ซึ่งเป็นน้าชายเท้ๆ ของคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิต (สกุลเดิม “สุวรรณศร”) ผู้เป็นมารดาของท่านผู้หญิงพูนศุข แล้วมาเกี่ยวดองเป็นพี่เขยบิดาของท่านอีกชั้นหนึ่ง กล่าวคือเจ้าพระยายมราชเป็นสามีของท่านผู้หญิงตลับ (สกุลเดิม ณ ป้อมเพชร์) ผู้มีศักดิ์เป็นพี่สาวต่างมารดาของพระยาชัยวิชิตฯ

มหาอำมาตย์นายก “เจ้าพระยายมราช” เป็นตำแหน่งสูงสุดในราชการปกครองมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาท่านเจ้าคุณเคยตามเสด็จไปประเทศอังกฤษเพื่อถวายการสอนภาษาไทยและเป็นผู้อภิบาลพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 5 ถึง 4 พระองค์ โดยหนึ่งในจำนวนนี้คือ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ ซึ่งต่อมาทรงครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

ประสบการณ์ 1 ปีในต่างแดนกอปรกับปณิธานรับใช้บ้านเมืองอย่างสุดความสามารถ ทำให้ท่านเจ้าคุณยมราชสร้างความเจริญให้แผ่นดินสยามมากมายในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ กระทรวงนครบาล และกระทรวงมหาดไทย ฯลฯ จึงเป็นที่พอพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ถึงกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “บ้านศาลาแดง” ณ ตำบลศาลาแดง อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร

ท่านผู้หญิงพูนศุขมีความผูกพันกับ “บ้านศาลาแดง” เป็นพิเศษ ความเมตตาที่ “คุณตาศาลาแดง” มีต่อหลานๆ บ้านป้อมเพชร์ สถิตย์อยู่ในความทรงจำของท่านผู้หญิงเสมอมา ซึ่งได้ทำให้ท่านได้เริ่มเห็นโลกอันกว้างใหญ่จากความรู้ที่ได้จาก “คุณตาศาลาแดง” ในวันตรุษสงกรานต์รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ เพื่อเป็นสิริมงคลตลอดศกใหม่นั้น ผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ครอบครัวท่านผู้หญิงไปกราบรดน้ำขอพรคือ “คุณตาศาลาแดง” หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ท่านเจ้าคุณยมราชได้ดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็น ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8

ในวัยเยาว์ได้ติดตามรับใช้บิดามารดาใกล้ชิดจึงได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบรมวงศานุวงศ์และได้พบขุนนางผู้ใหญ่ ทำให้ท่านผู้หญิงรับรู้จดจำเรื่องราวที่เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์หลายแผ่นดิน ทั้งยังสามารถสาธยายความเป็นมาของสกุลใหญ่ๆ ในอดีตได้อย่างแม่นยำ จนนายปรีดี พนมยงค์ ยกให้เป็นเอ็นไซโคลปีเดีย (Encyclopaedia) หรือสารานุกรมประวัติบุคคลประจำครอบครัว

บิดามารดาของท่านผู้หญิงพูนศุข สอนให้บุตรธิดารู้หน้าที่ ทำงานบ้านเป็น และห่างไกลอบายมุขโดยห้ามการพนันทุกชนิดเข้าบ้านไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยให้ถือคติว่า “ถ้าไม่จน อยู่อย่างจน จะไม่จน ถ้าไม่รวย อยู่อย่างรวย จะไม่รวย”

ท่านเจ้าคุณบิดามีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์และทันสมัย ได้ฝึกบุตรธิดาให้มีความกล้าหาญ ไม่กลัวสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ เช่น “ผี” ในค่ำคืนยามมืดสนิท ท่านจะพาลูกๆ เดินจากบ้านถนนสีลม ผ่านตรอกป่าช้า (ซอยสุสาน) ไปถนนสาทรเหนือ โดยมีท่านผู้หญิงพูนสุข ขณะนั้นยังเด็กมาก เดินรั้งอยู่ท้ายแถวพี่น้อง

ประสบการณ์วัยเยาว์ครั้งนั้นเอง มีคุณค่าอย่างมหาศาลต่อชีวิตในยามวิกฤตของท่านอีกหลายสิบปีต่อมาในยามที่นายปรีดีประสบความล้มเหลวในการดำเนินการ “ขบวนการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย” เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 แล้วท่านผู้หญิงพูนศข ต้องเดินผ่านป่าช้าแถวถนนสีลมกลับมาบ้านป้อมเพชร์ หลังจากเยี่ยมนายปรีดีที่บ้านฉางเกลือ ฝั่งธนบุรี

“บิดาข้าพเจ้าเป็นผู้ที่มีความคิดทันสมัย ไม่หลงงมงายในสิ่งที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ แล้วการฝึกฝนเช่นนี้ทำให้ข้าพเจ้าไม่กลัวเกรงในอิทธิพลมืด แข็งแกร่งที่จะเผชิญกับมรสุมทางการเมืองในเวลาต่อมา...

ข้าพเจ้านึกถึงการฝึกฝนเดินผ่านป่าช้าเมื่อเด็กๆ นึกถึงพระคุณของบิดาข้าพเจ้า ถ้าไม่มีการฝึกฝนครั้งกระโน้น ข้าพเจ้านึกไม่ออกว่าตนเองจะรวบรวมความกล้าที่จะเดินผ่านป่าช้าในความมืดในวันนั้นได้อย่างไร”

ท่านผู้หญิงพูนศุข เดินผ่านป่าช้าฝ่าความมืดใน “วันนั้น” มิใช่เพื่อต่อสู้กับความกลัวผีเหมือนเมื่อครั้งเป็นเด็กหญิง แต่ต้องต่อสู้กับภัยมืดจากสายลับตำรวจและอิทธิพลของเผด็จการที่คอยสะกดรอยตามคุกคามเธอผู้พยายามปกป้องสามีนักอภิวัฒน์ของเธออย่างถึงที่สุด

การศึกษาในโรงเรียน

พ.ศ. 2461 ท่านเริ่มเข้าเรียนชั้น Preparatory หรือชั้นเตรียมประถม โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ โดยเรียนแผนกภาษาอังกฤษ แต่ก็ได้เรียนวิชาภาษาฝรั่งเศส คณิตศาสตร์ ภาษาไทย การฝีมือ คัดลายมือ ดนตรี ฯลฯ

เมื่อเรียนถึงชั้น Standard 7 ขณะอายุ 17 ปี ได้ลาออกจากโรงเรียนมาแต่งงานกับนายปรีดี

แม้นว่าจะแต่งงานมีครอบครัวแล้ว ท่านผู้หญิงพูนสุขคงขวนขวายหาความรู้ต่อไป ท่านเคยเรียนภาษาฝรั่งเศสเพื่อยกระดับทักษะ ที่สมาคมฝรั่งเศส (Aliance Francaise) ร่วมชั้นกับนายจำกัด พลางกูร อดีตเสรีไทยตัวแทนผู้มีอำนาจเต็มของรู้ธ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยไปปฏิบัติหน้าที่ติดต่อฝ่ายสัมพันธมิตรที่เมืองจุงกิง ประเทศจีน นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายกนต์ธีร์ ศุภมงคล อดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศ

ชะตากรรมร่วม ปรีดี - พูนศุข

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2471 นางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์ ได้เข้าสู่พิธีมงคลสมรสกับนายปรีดี พนมยงค์ (อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) อายุ 28 ปี ซึ่งสำเร็จดุษฎีบัณฑิตกฎหมายและประกาศนียบัตรชั้นสูงทางเศรษฐศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส

อันที่จริงท่านผู้หญิงพูนศุข และนายปรีดี พนมยงค์ มีสายสัมพันธ์เป็นเครื่อญาติห่างๆ กล่าวคือมีเชียดร่วมกัน ดังนั้นเมื่อนายปรีดีเข้ามาเรียนโรงเรียนกฎหมายในกรุงเทพฯ จึงได้รับความอุปถัมภ์ให้พักอาศัยอยู่ภายในบริเวณบ้าน ณ ป้อมเพชร์ ที่ถนนสีลมในฐานะญาติ แม้เมื่อนายปรีดีไปเรียนที่ฝรั่งเศสและถูกเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสในเวลานั้นกลั่นแกล้งให้ส่งกลับประเทศไทย หากไม่ได้ท่านเจ้าคุณบิดาของท่านผู้หญิงพูนศุข แนะนำนายเสียงบิดาของนายปรีดีให้ทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 แล้ว นายปรีดีก็อาจจะเรียนไม่สำเร็จเป็นดอกเตอร์อองดรัวก็ได้

หลังจากแต่งงานแล้ว ครอบครัวพนมยงค์ของปรีดี - พูนศุข ก็ได้ปลูกเรือนหออยู่ภายในบริเวณบ้าน ณ ป้อมเพชร์ ถนนสีลม อยู่หลายปี ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านพูนศุข สร้างบนที่ดินที่บิดามารดายกให้ลูกๆ อยู่กันในบริเวณ “ป้อมเพชร์นิคม” ถนนสีลม จนมีบุตรธิดาด้วยกัน 6 คน คือ

  1. น.ส. ลลิตา พนมยงค์
  2. นายปาล พนมยงค์
  3. น.ส. สุดา พนมยงค์
  4. นายศุขปรีดา พนมยงค์
  5. นางดุษฎี บุญทัศนกุล
  6. นางวาณี สายประดิษฐ์

 


ลูกทั้ง 6 คน
(ยืน) ศุขปรีดา สุดา ลลิตา ปาล
(นั่ง) วาณี ดุษฎี
 

 

นายปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง “ชีวิตและการงาน ปรีดี - พูนศุข” ว่า

“ชะตากรรม (destiny) ของพูนศุขภายหลังสมรสแล้วนั้น จึงพลอยเป็นไปตามชะตากรรมของปรีดี ส่วนชะตากรรมของปรีดีนั้นก็ขึ้นอยู่กับผลกรรมแห่งการงานทาง 'อภิวัฒน์' ที่รับใช้ประเทศชาติและราษฎรไทยเพื่อที่จะก้าวหน้าไปตามทางแห่งการกู้อิสรภาพของมนุษย์ให้พ้นจากการถูกเบียดเบียน และเพื่อให้ชาติไทยมีเอกราชและประชาธิปไตยสมบูรณ์”

ผู้หญิงคนหนึ่งผู้กำเนิดในตระกูลขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ยิ่งได้แต่งงานกับดุษฎีบัณฑิตหนุ่มนักเรียนนอกด้วยแล้ว ก็น่าจะคาดหมายได้ว่า เธอผู้นั้นจะมีชีวิตครอบครัวที่ราบรื่น โรยด้วยกลีบกุหลาบแห่งลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ในความเป็นจริง เธอมีชีวิตคู่กับผู้ชายคนหนึ่งผู้เป็น “นักอภิวัฒน์” ใต้ดิน กว่าจะมารู้ในอีก 4 ปีต่อมาว่าเขาเป็น “มันสมอง” ของกลุ่มผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ชะตากรรม

ของเธอก็ได้หล่อหลอมเป็นชะตากรรมเดียวกับสามีนักอภิวัฒน์ของเธอไปแล้วอย่างแยกออกจากกันไม่ได้จนตราบชั่วชีวิต

ความตื่นรู้ทางการเมืองครั้งแรก

หลังจากเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 มีลูกศิษย์ของนายปรีดี พนมยงค์ ชื่อนายซิม วีระไวทยะ ได้มาติดต่อท่านผู้หญิงพูนศุขที่บ้านสีลม เพื่อขอเสื้อผ้าของนายปรีดีสำหรับไปผลัดเปลี่ยน แล้วแจ้งให้ทราบว่านายปรีดีจะไม่กลับบ้านในช่วงนี้ เพราะต้องทำภารกิจสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญและจัดตั้งรัฐบาลในระบอบการเมืองใหม่อยู่ในพระที่นั่งอนันตสมาคม

ท่านผู้หญิงพูนศุข ซึ่งในเวลานั้นเป็นเพียงแม่บ้านลูกอ่อนคนหนึ่งซึ่งไม่ประสีประสาทางการเมือง รู้สึกตกใจมากและประหลาดใจว่า จะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อเธอเพิ่งไปส่งสามีที่หัวลำโพงเมื่อวานนี้ เพื่อไปบวชให้บิดาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ไม่เพียงเป็นวันเปิดหน้าประวัติศาสตร์การเมืองใหม่ของไทยเท่านั้น แต่เป็นวันที่เปิดปฐมทัศน์การเมืองใหม่ของแม่บ้านคนหนึ่งซึ่งเป็นคู่ชีวิตของผู้อภิวัฒน์ซึ่งเปรียบเสมือนครูใหญ่ที่ให้บทเรียนทางการเมืองบทแรกแก่ภรรยาอันเป็นที่รัก ซึ่งปรากฏอยู่ในจดหมายถึงภรรยาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2475

 

พระที่นั่งอนันตสมาคม
วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕

พูนศุข น้องรัก

ขอโทษอย่างมากที่ต้องพูดปดในวันนั้นว่าจะไปอยุธยาฯ เพราะถ้าบอกความจริงก็เกรงว่าจะมาจากบ้านไม่ได้ และผลร้ายก็จะเกิดขึ้นเปนแม่นมั่น คือทางเจ้าหน้าที่ได้คิดจะทำการจับกุมฉันในวันรุ่งขึ้น เวลา ๑๐ นาฬิกาเท่าที่ได้ทราบมา การที่ทำอะไรไป ทั้งนี้ก็เพื่อเห็นแก่ชาติและราษฎรเปนส่วนมาก เห็นว่าเกิดมาครั้งเดียว เมื่อมีโอกาสทำได้ก็ควรทำ ไม่ควรบำเพ็ญตนให้เป็นคนหนักโลก ที่ไม่บอกมาแต่ต้นก็เพราะกลัวว่าจะตกใจ และเมื่อทำตกใจแพร่งพรายออกไปก็จะเสียการที่คิดไว้ทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่างก่อนลงมือกระทำก็ได้เปนห่วงและคิดไว้ว้าถ้าตายลงไปก็คงพอมีเงินเลี้ยงลูกและเธอ โดยมีประกันชีวิตร์และเงินสดในธนาคารที่ได้โอนให้เมื่อก่อนหน้ากระทำการสักสองสามวัน เรื่องโรงพิมพ์ต้องขอให้ช่วยดู ที่สั่งเขาไปนั้นไม่หมายความว่าจะเอาตราไปทำอะไร ให้เอาตราไปรับเงิน C.O.D. เพื่อส่ง C.O.D. เท่านั้นแล้วให้นำเงินมามอบเธอ นับประสาอะไรเงินและ C.O.D. เงินตั้งหมื่นห้าพันฉันยังโอนให้ได้ นอกจากนั้นเงินเดือนก็ให้เขาเอามาให้ทั้งหมดไม่ได้ชักหรือหักไว้ ค่าส่ง C.O.D.

วิจิตร์ว่าจะต้องใช้เงินราว ๓๐๐ บาท ฉันไม่ให้มากวนเธอ ให้วิจิตร์เขาเอาจากหลวงประกอบ ไม่พอให้เขาเอาเงินเขาทดรอง หักเหลือเท่าใดให้ส่งเธอเท่านั้น ขอเธออย่าเข้าใจผิด ให้เข้าใจเสียใหม่ต่อไปการโรงพิมพ์ทั้งหมดเธอจะต้องดูและบัญชาการทั้งนั้น ที่ไม่บอกมาแต่ต้นเพราะฉันไม่มีเวลาจริงๆ งานเหลือมือทำแทบไม่ไหว เผอิญขณะนี้ว่างลงหน่อยก็มีเวลาพอเขียนหนังสือมา คิดถึงเธอและลูก ตั้งใจจะมาบ้านแต่เห็นว่าเวลานี้ควรอยู่ที่นี่กับทหารดีกว่า ขอให้เธอนึกว่าฉันบวช เพราะก่อนลงมือได้เคยถามแล้วว่าถ้าฉันบวชสัก ๔ เดือน เธอจะว่าอย่างไร เธอก็ตอบเต็มใจ การที่ทำทั้งนี้ยิ่งกว่าการบวช เราได้กุศล ผลบุญที่ทำให้ชาติย่อมได้สืบต่อไปจนบุตร์หลาน ภรรยาก็มีส่วนร่วมอยู่ด้วย ความจริงบ่นถึงทุกวันกับหัวหน้าทหารที่นี่ว่า เธอเองคงเศร้าโศก แต่จะทำอย่างไรได้ เมื่อเราทำการเพื่อชาติ และในชีวิตร์ของคนอีกหลายร้อยล้าน หามีโอกาสไม่ ไม่ช้าเมื่อเรียบร้อยแล้ว เราคงอยู่กันเป็นปกติต่อไป ขอให้คิดถึงชาติและราษฎรให้มากๆ การทั้งหลายฉันได้เริ่มมาแต่ปารีศ เมื่อมุ่งทางนี้อยู่แล้วจะสละเกียรติยศทิ้งเสียอย่างไรได้ การเมืองก็การเมือง การส่วนตัวก็ส่วนตัว พวกบ้านมาทีไร หรือเมื่อมีใครไปเยี่ยมกลับมาก็ถามข่าวคราวทุกข์ศุขเสมอ คิดถึง หนู [ลลิตา-ลูกสาวคนโต] และปาน [ปาล -ลูกชายคนโต] อยู่เปนนิตย์เหมือนกันไม่ใช่นิ่งเฉยเสีย

เรื่องโรงพิมพ์เธอต้องรับควบคุมต่อไป
คิดถึงเสมอ

ปรีดี

 

หลังจากบทเรียนแรก ท่านผู้หญิงพูนศุขก็ได้ผ่านบทเรียนอีกมากหลายในมหาวิทยาลัยชีวิตทางการเมืองอันผันผวนของสามี ทำให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนแปลงจากแม่บ้านซึ่งวันๆ หนึ่งต้องง่วนอยู่กับการเลี้ยงลูกต้องคอยดูแลครอบครัว ช่วยครอบครัวทำมาหาเลี้ยงชีพ กลายมาเป็นผู้หญิงที่มีความตื่นรู้ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ปรารถนาให้ผู้หญิงมีบทบาททางการเมืองโดยพฤตินัยเท่าเทียมกับผู้ชาย ก่อนละสังขารราว 2 เดือน ท่านได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กับบทบาททางการเมืองของสตรีไว้ว่า

“หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ได้ให้สิทธิชายหญิงทัดเทียมกัน ถ้าจะเปรียบกับประเทศฝรั่งเศส แม่แบบประชาธิปไตยของโลก ไทยเราก็ถือว่าให้สิทธิสตรีก่อนเสียอีก

… …

เมื่อก่อนนี้ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ผู้ชายเดินนำหน้า แต่ปัจจุบันควรเดินคู่กันไป ผู้หญิงไหนจะต้องช่วยครอบครัวทำมาหาเลี้ยงชีพ ไหนจะต้องเลี้ยงลูก

ฉันเห็นใจคนเป็นแม่ในยุคนี้มาก ก็เหมือนที่ฉันได้กล่าวไปและสังคมยังไม่ให้การยอมรับบทบาทของผู้หญิงเท่าที่ควรจะเป็น

แต่ทั้งนี้ผู้หญิงไทยก็ต้องยกระดับตนเองทุกๆ ด้าน พร้อมที่จะรับตำแหน่งรับผิดชอบบ้านเมือง ผู้หญิงเป็นเพศที่ละเอียดอ่อน แต่ก็เข้มแข็ง สามารถผนึกกำลังกันตรวจสอบการบริหารบ้านเมืองของทุกกลุ่มที่เข้ามาแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ เป็นประตูขวางกั้นมิให้เกิดการคอร์รัปชัน หรือทุจริตในตำแหน่งหน้าที่การงานของสามีและบุคคลต่างๆ ที่จะแทรกแซงเข้ามาในครอบครัวของผู้บริหาร สิ่งนี้ฉันคิดว่าสำคัญมากที่จะทำให้การเมืองของบ้านเราก้าวไปสู่ยุคของคุณธรรมครองเมือง

 

 

 

ที่มา : สันติสุข โสภณสิริ, สตรีในประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์ไทย, ใน หวนอาลัย พูนศุข พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: วี. พริ้นท์ (1991), 2551), หน้า 13 - 24.