ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความหลากหลายทางเพศในรัฐธรรมนูญไทย และก้าวใหม่ของสื่อบันเทิง

15
มกราคม
2566

 

สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่นอกจากในทางกฎหมายแล้ว หลักสูตรทางการศึกษา ความเชื่อทางการศึกษา เนื้อหาการศึกษา และการปฏิบัติต่อกันในสถานศึกษา ล้วนเป็นการศึกษาที่ไม่ได้เอื้อต่อสิทธิมนุษยชนและความหลากหลาย 

 

 

มนุษย์มีความหลากหลายมากมายแต่ปรากฏว่าสุขศึกษาเราตามไม่ทัน กดขี่ กดทับ สร้างมายาคติ และเหมารวม (Stereotype) มนุษย์ในรูปแบบต่างๆ มาในรูปแบบของ “ความรู้ การศึกษา และตำราเรียน” ซึ่งแน่นอนทำให้เกิดความกดดัน ความกดทับของความเป็นมนุษย์

เมื่อก่อนเราจะรู้สึกว่า “เราเป็นตัวประหลาดหรือเปล่า?” เราเรียนหนังสือ อยู่ในโรงเรียน เจอตำราเรียน เจอคุณครู เจอเพื่อน จะบอกเราเสมอว่า “เราเป็นตัวประหลาด” เราจะบอกตัวเองว่าในการที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ควรสงบเสงี่ยมเจียมตัวและบอกตัวเองว่า “ได้แค่นี้ก็ดีแล้ว” โดยที่เราไม่เคยตั้งคำถามกับคำว่า “สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการที่เป็นมนุษย์เท่ากับคนอื่น เราได้เท่ากับคนอื่นหรือยัง”

เพราะฉะนั้น เมื่อเติบโตมาด้วยคำถามเหล่านี้ เราพยายามหาคำตอบตลอดเวลาแน่นอน สิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้มานั่งอยู่ตรงนี้ มาถามหาสิ่งที่ควรได้ตั้งแต่เกิด มาถามหาสิ่งที่ควรได้ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เรามีความแตกต่างกับทุกคนในสังคมในโลกนี้ตรงไหน ทำไมถึงไม่มีกฎหมายรองรับ แล้วทำไมหลักสูตรการศึกษา การเรียน การสอน จนทุกวันนี้ยังไม่เปิดรับในความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

ดิฉันเคยไปเป็นวิทยากรที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง นั่งคู่กับคณบดีและบังเอิญในวันนั้นพิธีกรเป็น lgbtq+ ผมยาวคนหนึ่ง ซึ่งเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ เลยถามอาจาร์ยคณบดีว่า “อนาคตของพิธีกรคนนี้ สูงสุดในการจบคณะนี้ และเขาสามารถมีความฝันที่จะดำเนินอาชีพ ในการที่อยู่จุดสูงสุดของคนจบการศึกษานิติศาสตร์อยู่ตรงไหน?” คณบดีตอบไม่ได้ เลยตั้งคำถามต่อว่า “คณะที่สอนวิชาที่พูดถึงความยุติธรรมและกฎหมาย ทำไมยังตอบไม่ได้ ในเมื่อเขาสอบเข้ามาด้วยความรู้ความสามารถ แต่จบออกไปทำไมเขาไม่มีสิทธิที่จะได้เป็นอย่างที่ตัวเองอยากเป็นและเท่าคนอื่น”

 

บทบาทที่เป็นตัวเป็นตนของการต่อสู้ ความเป็นผู้แทนราษฎร และการอยู่ในแวดวงบันเทิง เราเห็นความเท่าเทียมทางเพศเป็นอย่างไรบ้าง

ก่อนหน้านี้จนถึงปัจจุบัน ไม่เคยคิดว่าเกิดมาแล้วอยากจะมีอาชีพเป็นนักการเมือง หรือจะเป็น ส.ส. แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ มีคำถามอยู่ตลอดเวลา เราทำหนังเรื่อง Insect In the backyard (แมลงรักในสวนหลังบ้าน) ที่ตัวละครเอกเป็น LGBT เหมือนกับตัวเอกที่ทุกคนเคยเห็นในภาพยนตร์หรือในละครทั่วไป ซึ่งไม่ใช่ตัวตลก มีชีวิตเป็นของตัวเอง

เราพูดถึงปัญหาสังคมที่ตั้งอยู่กลางบ้าน แต่ทุกคนทำเป็นไม่เห็น ความรู้ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ ไม่ได้ถูกสอน เพราะฉะนั้นจึงเป็นกำแพงใหญ่มากที่ตั้งอยู่กลางบ้าน ซึ่งคนในครอบครัวเดียวกันมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกันด้วยซ้ำ

 

 

เมื่อทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมาก็โดนแบน ต้องต่อสู้ในชั้นศาล ศาลบอกว่าหนังของเรานั้นผิดศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งการต่อสู้ตรงนั้นยิ่งสร้างคำถามกับตัวเองตั้งแต่เด็กตลอดว่า “เราแตกต่างกับทุกคนตรงไหน” เราไม่เข้าใจสิ่งเหล่านั้นมาตลอด และยังมาถูกแบนอีก

ในการต่อสู้เรื่อง Freedom of Expression ที่เราต้องการ เราเป็นศิลปินและผู้กำกับ เราต้องการแสดงออกในสิ่งที่คิด สิ่งที่เห็น และสิ่งที่มองโลกใบนี้ผ่านภาพยนตร์ของเรา สิ่งนี้สะสมมาเรื่อยๆ ก็มาถูกกระตุ้นโดยพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นคนมาบอกว่า “พี่กอล์ฟ ตอนนี้กำลังหาว่าที่ผู้สมัครที่เป็นทั้งสองอย่างเป็นทั้งคนที่ทำงานศิลปะด้วย ทั้ง LGBT ที่จะไปสร้างพื้นที่อยู่ในสภาผู้แทนราษฎร” เราคิดว่า “เราหรอ?” ทุกคนเคยเห็นเหรอ ส.ส. เป็นกะเทยแต่งหญิง? ไม่มีเคยมีใครเห็น เราก็ไม่เคยเห็น เราไม่ได้ถูก Inspired หรือ Role model ไม่มีอะไรที่สังคมจะบอกได้เลยว่ากะเทยคนหนึ่งเข้ามายืนพูดในสภาและเป็นตัวแทนกะเทยที่มีล้านๆ คนในประเทศนี้ที่ยังถูกกดทับอยู่

ตรงนั้นมันจุดประกายให้รู้สึกว่า “หรือว่าต้องสมัคร?” เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีใครพูดหรือไปยืนอยู่ตรงนั้น เลยตัดสินใจสมัคร ทั้งที่จริงๆ เป็นคนที่หวงชีวิตส่วนตัวมาก เพราะรู้ว่าเมื่อเราเข้าไปยืนอยู่ตรงนั้นจะเจอกับอะไร ซึ่งแน่นอน ตั้งแต่วันที่สมัครจะเจอคำถามมากมาย เจอคำบูลลี่ หรือวินาทีที่เราไปเดินหาเสียง หรือปราศรัย แต่สิ่งที่รู้สึกว่ามีกำลังใจและลองสู้ต่อไป

เมื่อขึ้นเวทีปราศรัยแล้วมีพ่อแม่พี่น้องทั้งครอบครัวที่มีลูกหรือคนที่เป็น LGBT มายืนรอต่อแถวเพื่อให้ได้จับมือหรือกอดเราและบอกว่า “ฝากด้วยนะพี่ ฝากด้วยนะ อยากเห็นพี่เข้าไปอยู่ในสภา อยากมีคนที่มีปากมีเสียงแทนเราก่อนหน้านี้ไม่มี”

ตอนนั้นบอกตรงๆ ว่า พรรคอนาคตใหม่ก็ไม่รู้ว่าเราจะได้เป็น ส.ส. ได้อย่างไร ยังไม่เห็นทาง สิ่งที่มีพ่อแม่พี่น้องมากอด เล่าความรู้สึกให้เราฟัง ตอนนั้นเรารู้สึก “ลองดูอีกสักตั้งนึง ลองดูอีกสักนิดหนึ่ง”

บอกตรงๆ การเข้าไปในพรรคอนาคตใหม่ เล่าได้เลยเพราะผ่านมาแล้ว ไม่ใช่ง่าย คนในพรรคก็ยังไม่ได้เข้าใจเสียทุกคน คนในพรรคยังติดภาพกะเทยในแบบที่เคยเห็น คนในพรรคก็ยังไม่เข้าใจว่าการมี ส.ส. กะเทยมันจะเป็นอย่างไร หรือแม้กระทั่งตอนเป็น ส.ส. แล้ว สิ่งที่เจอในข่าวที่ถูกปฏิบัติตัวอยู่ในสภาก็ดี ถูกบูลลี่ก็ดี คนตรวจการบ้านว่าเราแต่งตัวเรียบร้อยหรือเปล่า สิ่งที่เราโดน Sexual harasment ต่างๆ นานา ที่เราเข้าไปยืนอยู่ตรงนั้น

เราพยายามบอกกับสื่อตลอดเวลาว่า “เราไม่ได้เข้าไปเป็นสีสัน” เพราะคนจะมองว่าเป็นกะเทยเข้าไปเป็น ส.ส. ก็เข้าไปเป็นสีสัน “No เราไม่ได้มาเป็นสีสัน เราเป็น ส.ส. เราเป็นประชาชนคนไทยที่มีอยู่อีกเป็นล้านๆ คน ที่เขาไม่มีใครไปพูดแทนที่เขาอยู่ตรงนั้น” 

 

 

เราต้องทำความเข้าใจและพยายามบอกทุกคนอยู่ตลอดเวลา เข้าไปเป็น ส.ส. ตอนนั้น 2 ปี ก่อนที่จะโดนเด้งออกมาด้วยอาชีพที่เป็นผู้กำกับ ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเป็นผู้ถือหุ้นสื่อ เลยโดนเด้งออกมาจากสภา แต่แน่นอนตลอดระยะเวลาที่เป็น ส.ส. อยู่ในสภา บอกได้เลยว่าเป็นอาชีพที่ไม่ชอบ และไม่เคยอยากเป็น และตอนนี้ก็ไม่คิดอยากจะกลับไปเป็นอีก แต่สิ่งที่ภาคภูมิใจ คือ ตอนที่เป็น ส.ส. ไม่มีสักวินาทีที่ไม่คิดถึงผลประโยชน์ของประชาชน ไม่เคยไม่คิดถึงการแก้กฎหมายสมรสเท่าเทียมซึ่งเป็นอุดมการณ์แรกที่ตั้งใจ ต้องเข้ามาแก้กฎหมายนี้ให้ได้ และพยายามรวบรวมกันแก้กฎหมายสมรสให้เป็น “สมรสเท่าเทียม” ให้ได้ จนทุกวันนี้ไม่มีใครไม่รู้จักคำว่า “สมรสเท่าเทียม”

ดีใจที่ทุกม็อบมีธงสีรุ้ง ดีใจที่ทุกคนไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย พูดคำว่า “สมรสเท่าเทียม” อาจจะไม่มีใครรู้จักเราเลยก็ได้ แต่ดีใจและภูมิใจ ที่ได้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมขึ้นมา แล้วเอาเข้าสภา ตอนนี้ก็ต้องลุ้นว่าจะเป็นอย่างไรต่อ และสิ่งที่ภาคภูมิใจแม้จะเป็นอาชีพที่ไม่ได้อยากเป็น คือ ตอนที่เราเป็น ส.ส. และเราได้ไปงานต่างประเทศ เจอกับคนที่เป็น LGBT ทำงานศิลปะด้วย เขาบอกว่าเขาตามข่าว และวินาทีที่เขารู้ว่าเราได้เป็น ส.ส. กะเทย ได้เป็น ส.ส. LGBT เขาบอก “รู้ไหม คุณไม่ได้แค่ Represent แค่ LGBT ไทยนะ แต่คุณเป็น ส.ส. ของ LGBT ทั้งโลก”

 

การเกิดขึ้นของความเท่าเทียมทางเพศที่แฝงอยู่ในเนื้อหา รวมไปถึงการจัด Rating เพื่อเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ บทเรียนต่อเรื่องนี้และพัฒนาการที่ควรเป็นไปในข้างหน้าควรเป็นอย่างไร

หากวัดจากจุดเริ่มต้นของ Insect in the backyard (แมลงรักในสวนหลังบ้าน) ที่โดนแบน เมื่อเล่าเรื่องครอบครัวที่เป็น LGBT, การเรียนรู้สังคม, การเรียนรู้ตัวเอง และ Coming of age ผ่านความหลากหลายทางเพศในสังคม

ณ เวลานั้นสิบปีก่อนกับปัจจุบันนี้ที่มีซีรีส์วาย แน่นอนว่าการมาถึงของซีรีส์วายในยุคแรกๆ จะเห็นว่าเป็นคนละเรื่องกับ LGBT Rights มีหลายคนบอกว่า “มันคนละเรื่องกัน” แต่สำหรับตัวเองและปัจจุบันนี้ การมาของซีรีส์วายสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศในสังคมได้ค่อนข้างดีเลย เพราะอย่างน้อยต่อให้บอกว่า “ผู้ชายสองคนที่รักกันอยู่ในซีรีส์วาย เขาไม่ใช่คนมีความหลากหลายทางเพศ เพราะเขารักผู้หญิงคนอื่น แต่เขามารักกันแค่สองคน” แต่เราบอกว่า “นั่นแหละ ถูกแล้ว” เพราะความหลากหลายทางเพศนั้นต้องรวมไปถึงความลื่นไหลทางเพศด้วย

การตีกรอบว่า “ความหลากหลายทางเพศเฉพาะเพศเดียวกัน หรือเกิดมารักเพศเดียวกันเลย” ไม่ใช่ คนที่เป็นผู้ชายรักทั้งเพศชายและเพศหญิง รักหลายเพศ หรือคนที่เป็นหญิง ที่เป็นหญิงรักหญิง หรือรักผู้ชายด้วย แน่นอนว่าทั้งหมดคือร่มของ LGBT และการมาของซีรีส์วายคือการสร้างภาพจำ การสร้างความเป็นปกติ ให้เห็นภาพเหล่านี้เป็นปกติผ่านสื่อบันเทิงต่างๆ การสร้างภาพเหล่านี้เป็นการ Simplify ให้สังคมเห็นภาพเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ เมื่อเป็นเรื่องปกติแล้วครอบครัวที่ได้ดู เพื่อนที่ได้ดู คนที่ได้ดู ก็จะเริ่มเข้าใจมากขึ้น

การมาของซีรีส์วายไม่ได้เล่าแค่คนสองคน เริ่มต้นอาจจะเล่าเรื่องคนที่รักเพศเดียวกันแค่สองคน แต่คนสองคนนั้นมีเพื่อน ซึ่งเป็นการพูดถึงความเข้าใจของกลุ่มเพื่อนที่เข้าใจเพื่อนซึ่งเป็นคนรักเพศเดียวกัน คนเหล่านั้นอยู่ในโรงเรียน สถานศึกษา ที่ทำงาน นั่นก็คือความเข้าใจของคนที่อยู่ในแวดล้อมนั้น แล้วจึงเริ่มมาพูดถึงความเข้าใจของคนในครอบครัว นี่คือการ Naturalize สังคม ทำให้สังคมเข้าใจและเห็นภาพได้ง่ายขึ้น นี่คือการมาถึงของซีรีส์วาย

 

 

ปัจจุบันที่ทำซีรีส์วายไม่ได้ใส่แค่ความเข้าใจของ Community แต่ใส่เรื่องสิทธิด้วย เช่นเรื่องล่าสุดคือเรื่อง “คาธ” (The Eclipse Series) แรกๆ ที่ฉายไป คนดูซีรีส์วายอาจจะรู้สึกว่าหนักเกินไปในการใส่เรื่องการประท้วงของนักเรียน การเรียกร้องสิทธิของนักเรียน การพูดถึง LGBT Rights ในโรงเรียน แต่ปรากฏว่าก็เริ่มทำความเข้าใจกับสังคมมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศไทย เพราะมี International Fan เขาเทียบเคียงกับสถานการณ์ในประเทศของเขาเอง แล้วเกิดเป็นกลุ่มที่พูดคุยกับซีรีส์เรื่องนี้กับประสบการณ์และสังคมในประเทศของเขาเอง มีการเปิด Space ใน Twitter เพื่อจะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และ Heal ใจกันกับเรื่องที่เกิดขึ้นและเทียบเคียงกับประสบการณ์ของเขากับในซีรีส์ 

 

 

สิ่งเหล่านี้สังคมโลกต้องการ เราต้องการเปิดพื้นที่ให้เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยนทางความคิด แลกเปลี่ยนความรู้สึก แล้วเอาประสบการณ์ร่วมเหล่านั้นมาหาวิธีการแก้ไข้ปัญหาร่วมกัน จากซีรีส์เรื่องหนึ่งก็ไปไกลกว่านั้นมากแล้ว ซึ่งมั่นใจว่าในอนาคตเราจะพูดถึงประเด็นสังคมผ่านซีรีส์วายมากขึ้น

สิ่งที่ประทับใจล่าสุด คือ การมอบรางวัลของซีรีส์วาย เป็นการขึ้นไปรับรางวัลของซีรีส์เรื่องอื่นที่เราไม่ได้ทำ แต่ซีรีส์ทั้งสองเรื่องที่ขึ้นไปรับรางวัลนั้นเป็นซีรีส์ที่ผู้สร้างพูดถึงสมรสเท่าเทียม มีฉากที่ฉายอยู่บนจอแล้วตัวละครพูดถึงสมรสเท่าเทียม เราภูมิใจลึกๆ ว่าได้สร้างภาพจำใหม่ๆ ผ่านซีรีส์วาย และเห็นว่าสังคมได้เข้าใจประเด็นสมรสเท่าเทียมมากขึ้นนิดหนึ่งก็ยังดี

แน่นอนว่าการทำสื่อและซีรีส์ต่างๆ จะต้องมีการควบคุมดูแลซึ่งเราต่อสู้เรื่องการเซ็นเซอร์ การมาของ Rating น่าจะเพียงพอสำหรับการกำหนดขอบเขตอายุของความเหมาะสมต่างๆ แต่กฎหมาย Rating ในประเทศไทยยังมีการเซ็นเซอร์และแบนอยู่ ซึ่งเราต่อสู้เรื่องสิทธิในการแสดงออก (Freedom of Expression) ของคนทำงานสื่อและศิลปินมาโดยตลอด และทุกวันนี้เราก็ยังต่อสู้ เราเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมาย แต่กฎหมาย Rating ยังสอดไส้ประเด็นและการแบนอยู่ เพราะฉะนั้นเรามองว่ากฎหมาย Rating ควรจะมีมาเพื่อส่งเสริมสนับสนุนในการที่เราจะทำงานศิลปะ ไม่ใช่มาตีกรอบจำกัดเสรีภาพทางความคิด เราใช้กฎหมายนี้มาตั้งแต่ 2551 จนถึงปัจจุบัน ควรจะถึงเวลาที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุน

หากเรากล่าวว่าเราพยายามต่อสู้เพื่อใช้ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft power) ให้ประเทศไทยพัฒนาธุรกิจ เศรษฐกิจ และประเทศ ผ่านซอฟต์พาวเวอร์ แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นเราต้องแก้กฎหมายเซ็นเซอร์ให้ได้ก่อน หากเรายังเปลี่ยนทัศนคติของคนที่คิดว่ารู้ดีและฉลาดกว่าคนอื่นในประเทศนี้ แล้วคอยแต่นั่งคิดแทนคนว่าเห็นภาพนั้นไม่ได้ ภาพนี้ไม่ได้ “อยากจะบอกว่าคนดูไม่ได้โง่เหมือนคุณ”

 

 

 

 

 

 

 

รับชมบันทึกการเสวนาย้อนหลัง : PRIDI Talks #19: 111 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

 

ที่มา : ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ใน PRIDI Talks #19: 111 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ “สิทธิมนุษยชนกับความเท่าเทียมทางเพศในรัฐธรรมนูญไทย” วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม 2566 14.00 - 17.00 น. ณ สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซอยงามดูพลี