ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

พัฒนาการการต่อสู้และความเท่าเทียมที่ยังไม่เท่ากัน

13
มกราคม
2566

 

สิ่งที่มักจะสังเกตและใช้เวลานาน ที่จะพยายามเข้าใจ พยายามวิเคราะห์ คือช่องว่างระหว่างส่วนของรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ว่า “ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน” และเห็นด้วยกับคุณชานันท์ที่ว่าในรัฐธรรมนูญบทต่อๆ ไปก็ยังสมบูรณ์ และห่วงว่าการที่กฎหมายไม่สะท้อนถึงความเป็นจริงของชีวิตทุกคนในเชิงปฏิบัติและในการใช้ชีวิตร่วมกัน ในเชิงการเขียนประวัติศาสตร์ และในเชิงการสอนการเรียน จะไม่เท่าเทียมเหมือนกัน ทุกคนจะไม่เข้าถึงสิทธิเสรีภาพเช่นกัน

 

 

บทบาทในฐานะนักวิชาการ ครู และอาจารย์ในสถาบันการศึกษา อาจารย์มองพัฒนาการเรื่องความเท่าเทียมทางเพศอย่างไร ในต่างประเทศสอนหนังสือกันแบบไหน อย่างไร

คิดว่าน่าจะควรพูดตั้งแต่ต้นว่า มหาวิทยาลัยแม้แต่ที่ดิฉันสอนที่ University of Wisconsin-Madison ค่อนข้างอนุรักษนิยมสูงมากเป็นสถาบันที่เปลี่ยนแปลงยาก คิดว่าบทบาทสำคัญของคนที่เป็นครู คือ ปกป้องนักศึกษาและช่วยสร้างพื้นที่ให้นักศึกษามีพื้นที่ปลอดภัยเพื่อจะได้แสวงหาสิ่งที่อยากเจอในชีวิต ก็เลยขอให้เล่าประสบการณ์สอนความหลากหลายทางเพศ โดยงานที่ดิฉันเรียนและเขียนเป็นหลักคือประวัติศาสตร์การเมือง ประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้าย ประวัติศาสตร์กฎหมาย 

 

 

ตอนเรียนปริญญาตรีก็ไม่เคยเรื่องความหลากหลายทางเพศศึกษา แต่หลังจากที่ย้ายไป University of Wisconsin-Madison ประมาณ 5 ปีก่อนก็เจอว่าโดยเฉพาะนักศึกษาปริญญาตรี คนที่อายุ 18-19 ปี เขาพูดตลอดว่าเขาอยากเรียนคลาสที่โฟกัสในชีวิตของเขาเองและอยากจะอ่านประวัติศาสตร์ของคน LGBTQIA+ ในเอเชีย ซึ่งเขาอยู่ในภาคเอเชียศึกษา สิ่งที่ทำได้คือเรียนรู้พร้อมกัน เลยสอนวิชาที่ตอนนี้ได้สอนสองรอบและบอกนักศึกษาตั้งแต่ต้นว่า “มาสอนไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ” จริงๆ สอนประวัติศาสตร์การเมืองหรือกฎหมาย ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ แต่ดิฉันยังเป็นนักเรียนเหมือนกัน 

 

ในชั้นเรียนนั้น สารภาพกับนักศึกษาว่าไม่เคยศึกษาด้านนี้ แต่บอกนักศึกษาว่าเป็นคนที่ผ่านประสบการ์ณเรื่องแบบนี้เหมือนกัน ว่าตอนที่เราเรียนมัธยมก็ตระหนัก เราเป็นผู้หญิงที่รักผู้หญิง จึงเข้าใจว่าตอนที่ไม่เคยเห็นคนที่เหมือนเรา ในตำราประวัติศาสตร์ที่อ่าน ทำให้เรารู้สึกอย่างไร และสิ่งที่เจอคือการสอนวิชานั้นเป็นวิชาที่ยากที่สุดและสนุกที่สุดในเวลาเดียวกัน สิ่งที่ทำให้ยากที่สุดคือเนื้อหาการสอนวิชานี้เป็นสิ่งที่กระทบต่อความรู้สึกส่วนตัว และสิ่งที่ทำให้สนุกที่สุดคือตอนที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักศึกษา

 

 

มิติสากลและการเปรียบเทียบในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือในประเทศที่ใกล้ประเทศไทย เช่น ไต้หวัน ฯลฯ พัฒนาการของความเท่าเทียมเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเป็นอย่างไรบ้าง แล้วเขาต่อสู้อะไรกันอยู่หรือเปล่า

ควรจะเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงสถานการณ์ในไทยนิดหน่อย โดยเฉพาะสถานการณ์ของสมรสเท่าเทียมนั้นยากมาก หากยังไม่อ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 2 ปีก่อน รีบไปอ่านนะคะ อ่านแล้วคงรู้สึกกลุ้มใจมากทั้งในฐานะของการตีความกฎหมาย น่าจะสังเกตเห็นอะไรบางอย่างจากวิธีการเขียนของคณะตุลาการ สิ่งที่ทำให้รู้สึกกลุ้มใจและเป็นห่วงเรื่องกฎหมายจากการอ่านคำวินิจฉัยนั้น คือ เหมือนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่เข้าใจคำว่า “ความเท่าเทียมกัน” หากจะสรุปการวิจารณ์อาจเป็นอย่างนั้น

 

 

คือเป็นคดีที่ผู้หญิงสองคนพยายามไปจดทะเบียนสมรสที่เขต เจ้าหน้าที่บอกว่าทำไม่ได้ เพราะว่าระบบต้องมีคนหนึ่งมีเพศที่เป็นผู้หญิง และคนหนึ่งที่เป็นผู้ชาย หากเป็นผู้หญิงสองคนนั้นไม่ได้ สองคนนั้นเลยอุทธรณ์และส่งคำร้องเรียนไปเรื่อยๆ จนถึงศาลรัฐธรรมนูญ จริงๆ แค่ต้องอ่านเพียงไม่กี่มาตราของรัฐธรรมนูญ ตามความหมายก็จะต้องบอกว่าคนที่เป็นเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสด้วยกันได้นั้น ไม่ควรจะยาก แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับตีความยาวมากว่ามีหลายสาเหตุที่ทำให้ไม่ได้

สิ่งที่น่าเกลียดคือไม่ใช่แค่ปฏิเสธคำร้องเรียนของผู้หญิงสองคน แต่ในเวลาเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญให้บทบาทกับตัวเองว่า ในการกำหนดว่าครอบครัวนั้นคืออะไร ซึ่งเหมือนกับว่านั่นเป็นบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ อีกสิ่งหนึ่งที่รู้สึกว่าเศร้าและกลุ้มใจเรื่องความเข้าใจทางกฎหมายของคณะตุลาการ คือ เขาเปรียบเทียบคนรักเพศเดียวกันเป็นคล้ายๆ สัตว์ และเขียนสิ่งนี้ในคำวินิจฉัยของศาล คิดว่าเป็นคำวินิจฉัยที่แย่มาก 

 

 

ที่จริงมีกรณีคล้ายกันในไต้หวันและสหรัฐฯ เหมือนกัน คดีแทบจะเหมือนกัน คือมีคู่รักเพศเดียวกันที่ไปร้องเรียนศาลฎีกาในทั้งสองประเทศว่าในสายตาของรัฐนั้น การที่คนเพศเดียวกันแต่งงานกันไม่ได้ เป็นสิ่งที่ผิดกับรัฐธรรมนูญ ทั้งสองกรณี ศาลฎีกาในสหรัฐฯ และไต้หวันได้ตีความว่าผิดหลักต่อความหมายของความเท่าเทียมกัน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลังจากที่มีคำวินิจฉัยแบบนั้นการต่อสู้เพื่อทำให้การสมรสเท่าของคนที่รักเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่เป็นจริง แต่ก็ไม่ง่าย เพราะในไต้หวันสภามี 2 ทางเลือก คือแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือหากไม่ได้ทำอย่างนั้นก็ต้องผ่าน พ.ร.บ. ซึ่งสภาเลือกทำเรื่องที่ 2 ในหลายๆ แง่ หลายคนไม่ค่อยพอใจเพราะคิดว่าน่าจะดีกว่าถ้าไปแก้รัฐธรรมนูญโดยตรง เพราะว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในแต่ละประเทศ หากจะมีความก้าวหน้าควรจะมีในนั้น

ที่สหรัฐฯ เอง ไม่ได้เปลี่ยนรัฐธรรมนูญเพราะรัฐธรรมนูญสั้นมาก แต่คำวินิจฉัยของศาลฎีกาก็กลายมาเป็นกฎหมายเหมือนกัน ในช่วงนี้สภากำลังผ่าน พ.ร.บ. เรื่องสมรสเท่าเทียม เพราะกลัวฝ่ายขวาจัดที่อยู่ในคณะตุลาการ ถ้าให้วิเคราะห์วิจารณ์ศาลฎีกาที่สหรัฐก็จะพูดตรงๆ ว่าแย่มาก คนที่อยู่ในสภาเลยคิดว่าต้องมี พ.ร.บ. พิเศษ เพื่อปกป้องสิทธิของคนที่รักเพศเดียวกันที่จะได้แต่งงานกัน

 

จากพัฒนาการการต่อสู้แบบนี้ในต่างประเทศ และเมื่อมองสังคมไทยก็เห็นการต่อสู้ จนเข้าไปสู่การเสนอกฎหมายในสภา อีกแง่มุมหนึ่งในหลายประเทศก็รับรองสิทธิแล้ว กระบวนการเรียนรู้เหล่านี้ สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง เห็นอะไรบ้างที่เป็นไปได้หรือเป็นไม่ได้ในสังคมไทย

รู้สึกว่าประเทศไทยก้าวหน้ามาก รู้สึกตื่นเต้นอย่างที่คุณธัญญ์วารินกล่าวว่าตอนที่ไปชุมนุมก็มีธงสีรุ้ง และมีคนที่รักเพศเดียวกันอย่างชัดมากที่เป็นผู้นำ สิ่งที่น่าสนใจมากและเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นเต้นสำหรับการเคลื่อนไหวทางการเมืองใน 2-3 ปีที่ผ่านมา คือ สิทธิเสรีภาพของ LGBTQIA+ กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากและก้าวหน้าจริงๆ เพราะว่าในบางกรณีเช่นที่สหรัฐอเมริกาเอง ประชาชนไม่ค่อยสนใจไปร่วมการเคลื่อนไหวของ LGBTQIA+ เพราะว่าจริงๆ แล้วในเรื่องการเมืองทางอื่นค่อนข้างอนุรักษนิยม ค่อนข้างขวา ก็เลยคิดว่าจะต้องมองว่าการเคลื่อนไหวด้านสิทธิของคนที่รักเพศเดียวกันก็ควรเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวางเหมือนกัน

 

 

 

 

รับชมบันทึกการเสวนาย้อนหลัง:

 

ที่มา : ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ใน PRIDI Talks #19: 111 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ “สิทธิมนุษยชนกับความเท่าเทียมทางเพศในรัฐธรรมนูญไทย” วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม 2566 14.00 - 17.00 น. ณ สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซอยงามดูพลี