ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สันติวิธีในฐานะทางออกต่อปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย

15
กุมภาพันธ์
2566

ในกรณีสังคมไทยนั้น ปัญหาที่สำคัญมาจากแนวคิดแบบอำนาจนิยม โดยเฉพาะค่านิยมที่สนับสนุนให้เกิดการใช้อำนาจ รวมทั้งการสอนให้คนยอมจำนนกับอำนาจแทนที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจเหล่านี้ การที่อำนาจกระจุกตัวอยู่กับบุคคล หรือกลุ่มบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนั้น ประชาชนต้องเป็นฝ่ายดึงอำนาจของตัวเองกลับมาแต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรง

“นักสันติวิธี” นั้นจำแนกความรุนแรงออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ ความรุนแรงทางกายภาพ อันได้แก่ หนึ่ง การทำร้ายร่างกายกันและกันโดยตรง สอง ความรุนแรงเชิงโครงสร้างอันหมายถึงระบบสังคมที่ส่งผลให้ความเป็นมนุษย์ของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลสูญสิ้นที่มาจากโครงสร้างทางสังคมอันเปี่ยมไปด้วยความรุนแรงเข้ามากดทับ หรือภายใต้สังคมแบบรวมศูนย์อำนาจผ่านโครงการพัฒนา เช่น การกำหนดที่ตั้งของโครงการเขื่อนโดยไม่มองว่าพื้นที่ชุมชนเดิมเป็นอย่างไร ต้องการอะไร มีผลทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเกิดเปลี่ยนแปลงไปฉับพลัน

และส่วนที่สาม คือ ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม อันได้แก่การสอนให้คนยึดถือความรุนแรงในการเข้าไปแก้ไขปัญหาตั้งแต่วิถีชีวิตในระดับครอบครัวไปจนถึงในระดับสังคม เช่น การที่สังคมไทยมีวัฒนธรรมของการใช้ความรุนแรง เป็นสังคมที่ชมเชยคนหรือให้รางวัลคนน้อยกว่าการลงโทษหรือตำหนิติเตียน เป็นสังคมซึ่งสนใจเรื่องความผิดพลาดมุ่งตำหนิมากกว่าชมเชย ซึ่งวัฒนธรรมแบบนี้เป็นข้อจำกัดต่อความพยายามในการต่อสู้แบบสันติวิธี (นารี เจริญผลพิริยะ, 2551)

ในทัศนะของนารีนั้น สังคมไทยแทบไม่รู้จักสันติวิธี ในเชิงค่านิยมและทัศนคติของคนในสังคมไทยนั้นมี 2 อย่างที่อาจจะถือเป็นคติใหญ่ๆ ของคนไทย คือ หากไม่ยอมจำนนก็ต่อสู้และเมื่อคิดต่อสู้ก็คือการใช้ความรุนแรง ไม่มีใครที่มีความคิดถึงการต่อสู้แบบที่เรียกว่า “สันติวิธี”

กล่าวคือการไม่จำเป็นต้องยอมจำนนแต่ขณะเดียวกันเมื่อต่อสู้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง อย่างนี้จึงจะถือเป็นเหมือนการนำทางสายกลางมาใช้ซึ่งบอกออกมาเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนได้ยาก การยอมจำนนบ้าง โต้ตอบบ้าง ไม่ถือเป็นทางสายกลาง เพราะการต่อสู้แบบสันติวิธี คือ การเดินทางสายกลาง ถือเป็นการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงกับคู่กรณี การยอมจำนนไม่เรียกว่า สันติวิธี บางครั้งบางคนเข้าใจอย่างนั้น เราสามารถต่อสู้ได้โดยไม่ใช้ความรุนแรงและไม่ใช่การยอมจำนนเพราะการยอมจำนนคือ การสนับสนุนให้อีกข้างหลงระเริงไปกับการใช้อำนาจ

“คุณลองคิดดูสิว่าหากคุณมีคู่กรณีแล้วเขาใช้ความรุนแรงกับคุณ คุณมีแนวโน้มจะไม่ให้ความร่วมมือกับคู่กรณีของคุณ เรื่องของความขัดแย้งหากเรามองความขัดแย้งด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน มีศักดิ์และสิทธิ์ในความเป็นมนุษย์เหมือนกัน การแก้ไขปัญหาจึงจะได้รับความร่วมมือ หากไม่ได้รับการเปิดโอกาสให้ร่วมแก้ปัญหา ไม่เปิดโอกาสให้แสดงความเห็น หรือสร้างการมีส่วนร่วมใดๆ ผลซึ่งจะตามมาจะเป็นการแก้ปัญหาที่อยู่ภายใต้การตอบสนองของกลุ่มบุคคลเฉพาะฝ่าย 

เมื่ออีกฝ่ายตกอยู่ในภาวะยอมจำนน เขาจะเก็บความรู้สึกเอาไว้ ปัญหาที่ตามมา คือ การสุมปัญหาเอาไว้ในใจและพยายามแสวงหาช่องทางเพื่อตอบโต้ด้วยวิธีการที่รุนแรงกว่า เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ หรือข้าราชการใช้อำนาจกับประชาชนมานาน ถึงวันหนึ่งเมื่อประชาชนลุกขึ้น ไม่ยอม การแก้ไขปัญหาจึงไม่อาจแสวงหาทางออกหรือเกิดความร่วมมือร่วมกันได้”

แต่โดยแท้จริงแล้ว พลังของสันติวิธีอยู่ที่การเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง และพยายามในการแก้ไขความขัดแย้งดังกล่าวโดยไม่ใช้ความรุนแรงและหลีกเลี่ยงเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงทั้งของฝ่ายตนและฝ่ายคู่กรณี ดังนั้นสันติวิธีจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ก็ต่อเมื่อคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายให้ความร่วมมือ และตระหนักชัดในวิธีการแห่งสันติหรือสามฝ่าย หรือจะกี่ฝ่ายก็ตามที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งละเลยเรื่องนี้ การแก้ปัญหาก็จะไม่สมบูรณ์

ในคู่มือสันติวิธีสำหรับนักปฏิบัติการไร้ความรุนแรงนั้น ไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์ (2533: 26) ได้เสนอความแตกต่างระหว่างความรุนแรงกับสันติวิธี ทั้งในแง่เป้าหมาย ทัศนคติ หลักการและวิธีการเอาไว้ว่า เป้าหมายของความรุนแรง คือการทำให้คู่กรณีสยบหรือยอมแพ้ต้องดูถูกเหยียดหยาม ทำร้าย ต้อนเข้ามุมหรือทำลายคู่กรณี ขณะที่เป้าหมายของสันติวิธี คือการมุ่งแก้ปัญหาทำงานร่วมกับคู่กรณีหรือเปลี่ยนทัศนะของเขาให้มีความเข้าใจเพื่อหาข้อยุติที่ทั้ง 2 ฝ่ายพอใจ

ในแง่ทัศนคตินั้น ความรุนแรงจำเป็นต้องอาศัยความเกลียดชังและหวาดกลัวคู่กรณีเพื่อปลุกให้เกิดความโกรธซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเข้าทำร้าย ขณะที่สันติวิธีต้องการความกล้าและการควบคุมตัวเอง บางครั้งต้องเต็มใจที่จะยอมรับความเจ็บปวดจากการกระทำของคู่กรณีโดยไม่ตอบโต้กลับไป

ส่วนในแง่ของหลักการและวิธีการนั้น ความรุนแรง จำเป็นต้องอาศัยการโจมตีอย่างรุนแรง เพื่อว่าคู่กรณีจะไม่มีทางเลือกนอกจากยอมแพ้ อาศัยการกระทำการเพื่อให้ตนเองไม่เจ็บปวด แต่อาจทำทุกวิถีทางเพื่อให้ผู้อื่นเจ็บปวด ใช้ทุกอย่างเท่าที่มีเพื่อให้ได้ชัยชนะเร็วที่สุด เน้นการประชาสัมพันธ์ที่อาจบิดเบือนสัจจะหากว่าเป็นประโยชน์แก่ตน หรือปกปิดการกระทำผิดพลาดของตน ทำให้เกิดความเกลียด และความกลัวคู่กรณี อาศัยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่เหนือกว่าในการต่อสู้

ขณะที่สันติวิธีต้องอาศัยหลักการและวิธีการที่ตรงกันข้ามอันได้แก่ การทำให้ผู้รุกรานอยู่ในสถานการณ์ลำบาก ถ้าหากพวกเขายังใช้ความรุนแรงต่อไปจะกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบ การเสนอทางเลือกหลายๆ ทางเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายไม่เสียหน้าและสามารถมีข้อยุติได้ การปฏิเสธความรุนแรงอย่างสิ้นเชิงและเต็มใจที่จะรับความเจ็บปวด แต่จะไม่ทำความเจ็บปวดแก่ผู้อื่นการพยายามยืนหยัดและอดทนเพื่อให้บรรลุถึงข้อยุติที่ชอบธรรม และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เน้นการสื่อสารโดยรักษาสัจจะและทำให้เกิดความกระจ่างชัดเท่าที่จะทำได้เพื่อสร้างความเห็นใจและความเข้าใจที่ถูกต้องในหมู่ประชาชนและคู่กรณี แสดงความเคารพและใส่ใจคู่กรณี อาศัยคุณภาพจิตใจที่เหนือกว่า และความคิดสร้างสรรค์ในการต่อสู้แบบสันติวิธีภายใต้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง

ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้บริบทสังคมปัจจุบันที่การใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ ฝ่ายที่เริ่มใช้ความรุนแรงก่อน มักจะเป็นฝ่ายที่เสียความชอบธรรม ดังนั้นการนิยามผู้กระทำ หรือเหยื่อของความรุนแรงก็ยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น ต่างฝ่ายต่างก็นำเสนอภาพที่ตัวแทนของฝ่ายตนตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงต่อสื่อมวลชน เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่ตนเอง และทำลายความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม จนดูเหมือนว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็เตรียมพร้อมที่จะยั่วยุให้อีกฝ่ายใช้ความรุนแรง ความได้เปรียบเสียเปรียบ กลับไปขึ้นอยู่กับการยั่วยุ เร่งเร้า กดดันให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้กระทำการใช้ความรุนแรง และบันทึกหลักฐานของการเป็นผู้ถูกกระทำไว้ สิ่งเหล่านี้เริ่มมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ในบริบทของการสร้างความชอบธรรมจากตรรกะของการใช้และหรือการไม่ใช้ความรุนแรง

เมื่อพิจารณาในแง่นี้ การต่อสู้ของขบวนการชาวบ้านนั้นได้สะท้อนรูปธรรมของการต่อสู้แบบสันติวิธี ภายใต้บริบทที่เผชิญทั้ง ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมและความรุนแรงทางกายภาพ (การถูกทำร้ายและการฆาตกรรม) โดยเน้นหลักการที่สำคัญ อันได้แก่ การต่อสู้ร่วมกันของชาวบ้าน โดยปราศจากผู้นำคนหนึ่งคนใดมาครอบงำขบวนการต่อสู้ของชาวบ้าน การรณรงค์แบบสันติวิธีเพื่อลดความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐและการให้อภัยคู่กรณี การหาแนวร่วมอย่างกว้างขวางด้วยการเสนอความจริง และเปิดกว้างให้มีการเรียนรู้โดยประสบการณ์จริง

การรวมพลังของชาวบ้านที่เป็นกลุ่มปัญหาเล็กๆ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและการใช้ธรรมในการจัดการปัญหาโดยแม้จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นแต่ก็มีการปรึกษาหารือและเน้นความใจกว้างไม่กล่าวร้าย กล่าวโทษกัน (วัชรี เผ่าเหลืองทอง, ความคิดบางเรื่องจากวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์, 10 ธันวาคม 2550)

โดยในทัศนะของวนิดาแล้ว ข้อที่ควรระวังในการใช้ปฏิบัติการสันติวิธีของขบวนการชาวบ้านก็คือ สันติวิธีไม่ใช่การต่อสู้ที่จะรับประกันความสำเร็จ ที่สำคัญอาจนำมาซึ่งความรุนแรงต่อตัวผู้ที่ใช้ได้ ประเด็นนี้สำคัญเพราะว่าผู้คนที่เข้าร่วมขบวนการต่อต้านนโยบายของรัฐบาลเป็นคนธรรมดาสามัญ มีทั้งพ่อเฒ่าแม่แก่ ลูกเล็กเด็กแดง ดังนั้นความปลอดภัยของพวกเขาเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดของขบวนการเคลื่อนไหว เพราะเขาเป็นมนุษย์ และเป็นพี่น้องของเราทุกคน

ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของขบวนการเคลื่อนไหวที่เลือกใช้สันติวิธี และ เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องปกป้องคุ้มครองชีวิตของพวกเขา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เราอาจต้องยอมพ่ายแพ้ทางการเมืองเพื่อรักษาชีวิตของประชาชน เพราะชีวิตเมื่อสูญเสียไปแล้วย่อมไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ ขณะที่ขบวนการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน แม้จะพ่ายแพ้แต่ก็สามารถสะสมกำลังและเริ่มต้นเรียกร้องใหม่ได้ (คำสัมภาษณ์ของวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์, 12 มิถุนายน 2543)

 

ที่มา : นฤมล ทับจุมพล, สันติวิธีในฐานะทางออกต่อปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย, ใน, ขบวนการชาวบ้าน กับ การต่อสู้แบบสันติวิธีในสถานการณ์ความขัดแย้ง, (กรุงเทพฯ: สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2552), น. 24 - 30.