ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ทำไมสันติวิธีจึงเป็นการต่อต้านที่สำคัญในศตวรรษที่ 21

20
กุมภาพันธ์
2566

กล่าวกันว่า หัวใจของการปฏิเสธอำนาจที่ไม่ชอบธรรมในยุคการเมืองสมัยใหม่ คือไม่ยอมรับต่อการใช้ความรุนแรงในการปกครอง นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา การศึกษาเรื่องระบอบเผด็จการอำนาจนิยม อธิบายว่า ปัจจุบัน ระบอบเผด็จการและอำนาจนิยมได้จำแลงกลายมาสู่ระบอบลูกผสม (Hybrid Regime) อันมาจากการเปลี่ยนแปลงจากระบอบเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ในหลายประเทศ นับตั้งแต่ยุคหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา

การปกครองในระบอบนี้ถูกจัดให้อยู่ในฐานะที่เป็นการผสมผสานระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการ เช่น ในกรณีของพม่า หลังจากที่มีการถ่ายโอนอำนาจผ่านการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ในปี 2008[1] ที่แม้จะเปิดให้มีการเลือกตั้ง แต่กลับพบว่ามรดกของเผด็จการที่ปกครองพม่ามายาวนานหลายสิบปี กลับไปซุกซ่อนอยู่ในโครงสร้างสถาบันทางการเมือง หรือในกรณีของกัมพูชา ซึ่งแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สงครามกลางเมืองยุติลงได้ในทศวรรษ 1990 เป็นต้น

แต่รัฐบาลถัดจากนั้น มีแนวโน้มการใช้อำนาจเผด็จการผ่านการแก้ไขกติกาการเลือกตั้ง มีอิทธิพลต่อการแต่งตั้งฝ่ายตุลาการ เป็นต้น สิ่งที่น่าสนใจคือ แล้วประชาชนผู้ถูกกดขี่ในศตวรรษที่ 21 ใช้เครื่องมืออะไรในการต่อต้านอำนาจนั้น และพวกเขาใช้เครื่องมือนั้นอย่างไร

สันติวิธีจากอีกฟากของยุโรป

“สันติวิธี” หรืออาจจะเรียกว่า “ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง” (Nonviolent Action) เป็นบรรดาวิธีการต่อต้านอำนาจที่กดขี่ อาทิ การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ การไม่ให้ความร่วมมือ การด่าทอ ประณาม ไปจนถึงการปะทะด้วยการไม่ใช้กำลังเชิงกายภาพ การเคลื่อนไหวเช่นนี้ทรงพลังมากยิ่งขึ้น ในระบอบเผด็จการตอนปลาย โดยเฉพาะกรณีของขบวนการเยาวชนของเซอร์เบียที่ชื่อ “Otpor”[2] ขบวนการเยาวชนนี้ ได้กลายเป็นต้นแบบ ให้แก่การเคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มระบอบเผด็จการที่ตกค้างมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น โดยหลายประเทศในยุโรปตะวันออกต้องเผชิญกับความทุกข์ทนนี้ อาทิ ยูเครน อาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย และเบลารุส

เหล่าเยาวชนที่นั่น ปรากฏตัวขึ้นในฐานะที่ใช้ปฏิบัติการแบบสันติวิธี ในการต่อสู้กับเผด็จการสโลโบดัน มิโลเซวิช (Slobodan Milošević) โดยอาศัยการจัดตั้งขบวนการแบบหลวมๆ โดยมีองค์กรร่ม (umbrella organization) คอยผนึกเจตนารมณ์ร่วม ทำให้การต่อสู้ของพวกเขาที่มีหลากหลายตั้งแต่การใช้ศิลปะ และสร้างชุดความหมายร่วมกันจนสามารถดึงเอาเยาวชนเข้าเป็นแนวร่วมจำนวนมาก และการประท้วงครั้งแรกก็เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัย ที่สำคัญมันเกิดขึ้น ณ คณะคณิตศาสตร์ ที่คนทั่วไปมักเชื่อกันว่ามีความรู้ทางการเมืองน้อยกว่าคณะทางสังคมศาสตร์

แต่ความรู้สึกถึงการไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็เป็นสิ่งสากล ที่ไม่ว่าคุณจะอยู่ในตำแหน่งใดของสังคมก็สามารถรับรู้ถึงความรู้สึกถูกกดขี่เอาเปรียบได้

Otpor กลายเป็นขบวนการที่มีสมาชิกเป็นคนรุ่นใหม่กว่า 4 หมื่นคนทั่วประเทศ คนเหล่านั้นสามารถนำการชุมนุมได้ต่อเนื่องยาวนาน ท่ามกลางสถานการณ์การปราบปรามของระบอบอำนาจนิยมที่เกิดขึ้นตั้งแต่จตุรัสสาธารณะ โบสถ์ มหาวิทยาลัย ไปจนถึงโรงเรียน ถึงที่สุดพวกเขา ก็สามารถระดมผู้เข้าร่วมการชุมนุมได้กว่า 7 แสนคน จนนำไปสู่การโค่นล้มเผด็จการได้อย่างเด็ดขาด ด้วยการอาศัยกิจกรรมทางการเมืองพื้นฐานอย่างการเลือกตั้งเป็นวันสำคัญ (Election Day)

ในการเลือกตั้งปี 2000 พวกเขาระดมคนมาแสวงหาความเห็นพ้องต้องกัน นั่นคือการโค่นล้มมิโลเซวิช และระหว่างการหาเสียง ได้มีการชูแคมเปญ “Gotov je” (เขาจบแล้ว!) และ “Vreme Je!” (ได้เวลาแล้ว!) เพื่อระดมความไม่พอใจต่อมิโลเซวิช จนขยายเป็นวาระระดับชาติร่วมกัน[3]

แนวโน้มของการต่อต้านด้วยสันติวิธี

“สันติวิธี” ในที่นี้มีฐานะเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมือง คือการมุ่งเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มิใช่ปฏิบัติการที่ไร้ซึ่งเจตจำนงทางการเมือง ฉะนั้นแล้ว หากเราพิจารณาจากการเคลื่อนไหวของหนุ่มสาวในเซอร์เบีย เราจะพบว่าพวกเขาอาศัยยุทธวิธีที่หลากหลายมากกว่า 10 รูปแบบ ตั้งแต่การอดอาหาร การขัดขวางกิจกรรมปกติของกลไกรัฐ การเดินขบวน แม้กระทั่งการปฏิเสธอำนาจรัฐด้วยการอยู่นิ่งเฉยเมื่อรัฐออกคำสั่ง เป็นต้น

สอดคล้องกับข้อเสนอของ นักสันติวิธีคนสำคัญอย่าง Gene Sharp[4] ที่เห็นว่าสันติวิธีคือ “การรบ” ที่ผู้เข้าร่วมระบุได้ว่าปฏิบัติการของตนมีเป้าหมายเพื่ออะไร และจะทำอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ฉะนั้น เมื่อพิจารณาข้อเสนอจากแง่มุมนี้จะเห็นว่า หากผู้ที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ประสงค์จะสร้างสังคมที่เป็นธรรม การกดขี่หรือใช้ความรุนแรงตอบโต้โดยตรงแบบที่เผด็จการทำ จึงมิใช่มรรควิธีที่เป็นคุณในระยะยาวต่อเป้าหมายทางการเมือง

ในยุคหลัง ปฏิบัติการสันติวิธียกระดับไปจนถึงสิ่งที่เรียกว่า “การแทรกแซงอำนาจรัฐแบบสร้างสรรค์” (Constructive Method of Nonviolent Intervention)[5] ซึ่งขบวนการที่ใช้วิธีการนี้จำเป็นต้องเสนอทางเลือกของสังคมเมื่อถึงเวลาที่ระบอบเผด็จการถูกโค่นลงซึ่งแตกต่างจากระบอบเดิม นอกจากนั้นวิธีการเช่นนี้ยังเรียกร้องให้มีการปฏิวัติโครงสร้างทางสังคมแบบเดิมที่เป็นฐานอำนาจให้เกิดระบอบที่เคยกดขี่

ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงตามแนวทางนี้จึงมีลักษณะถอนรากถอนโคนมากกว่าเพียงเปลี่ยนตัวผู้นำของรัฐบาล การต่อสู้ตามแนวทางนี้จึงมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเพียงวันเดียวหากแต่เป็นการสะสมชัยชนะในระดับสังคม กรณีของเยาวชน Otpor ก็เช่นเดียวกัน กว่าที่การเลือกตั้งจะมาถึง พวกเขาใช้สันติวิธีเคลื่อนไหว ปรับปรุงแก้ไขตัวเองเป็นเวลาหลายปี จนสุกงอมเพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลง เมื่อเวลามาถึง

งานวิจัยที่พอจะยืนยันแนวโน้มข้างต้นได้บ้าง คือการศึกษาของ Maria Stephan และ Erica Chenoweth[6] ซึ่งสำรวจข้อมูลการชุมนุมประท้วงระหว่างปี 1900 ถึง 2006 ซึ่งคิดเป็นการต่อสู้และเคลื่อนไหวทางการเมืองรวมทั้งสิ้น 323 กรณี เพื่อชี้ให้เห็นว่าเหตุใด การต่อต้านด้วยสันติวิธีแบบอารยะจึงประสบผลสำเร็จ ทั้งสองเสนอว่า ปฏิบัติการแบบไม่ใช่ความรุนแรงหรือสันติวิธีมีประสิทธิภาพในการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองถึง 2 เท่า ด้วยการระดมการสนับสนุนจากประชาชนที่เห็นอกเห็นใจต่อการต่อสู้

สิ่งสำคัญที่พบได้จากรายละเอียดของการต่อสู้ด้วยสันติวิธีคือ การลดอุปสรรคในการถูกปราบ ไปจนถึงการโน้มน้าวให้ฝ่ายที่ก้าวหน้าของในหมู่เผด็จการเฉื่อยชาในการกดปราบฝ่ายต่อต้านไปจนกระทั่งหันมาสนับสนุนฝ่ายต่อต้านได้

“สันติวิธี” จึงนับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ท่ามกลางการเมืองแบ่งขั้วในสังคมไทย เพราะสันติวิธีเป็นทั้งวิธีการและเป้าหมายในการต่อสู้ทางการเมืองในตัวมันเอง เพื่อที่ว่าสังคมไทยจะเดินไปยังจุดที่ความรุนแรงทางการเมืองเป็นสิ่งน่ารังเกียจ โดยไม่ส่งต่อระบอบที่บิดเบี้ยวไปยังคนรุ่นหลังและควรจบในรุ่นเรา

 

[1] Kipgen, Nehginpao. “Militarization of Politics in Myanmar and Thailand,” International Studies 53, 2, (December 2017): 153 – 172. Kipgen, Nehginpao. “Militarization of Politics in Myanmar and Thailand,” International Studies 53, 2, (December 2017): 153 – 172.

[4] Gene Sharp, Waging Nonviolent Struggle: 20th Century Practice and 21st Century Potential. Boston, MA: Porter Sargent, 2005

[5] Sharp, Gene. The Politics of Nonviolent Action. Boston, MA: Porter Sargent, 398-400.

[6] Stephan, Maria J. and Erica Chenoweth. Why Civil Resistance Works: The Strategic Logic of Nonviolent Conflict. New York: Columbia University Press, 2011.