ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ห่วงโซ่แห่งความชอบธรรม : หลักการเพื่อคืนอำนาจสู่ประชาชน

21
กุมภาพันธ์
2566

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2526 สิ่งที่ เรียกว่า “ประชาธิปไตย” มีพัฒนาการแบบลุ่มๆ ดอนๆ ตลอดมา คือมีความพยายามของการสร้างระบอบประชาธิปไตยเสรีสากล และล้มระบอบด้วยวิธีการรัฐประหาร และนำมาสู่ระบอบเผด็จการสลับกันไปมาตลอดเวลา ดังนั้น แนวคิดเรื่องเราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไรจึงไม่เพียงพอ และผู้เขียนจึงเสนอแนวคิดในทางเสริมกันว่า “เราจะต่อต้านเผด็จการ โดยส่งเสริมประชาธิปไตยเสรีสากลอย่างไร”

“ประชาธิปไตย” (Democracy) หมายถึง ระบอบการเมืองการปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ[1]

FES ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยโดยเสรีสากล ด้วยการนำเสนอแนวคิด Democratic Control of the Armed Forces (DCAF) หรือการควบคุมกำลังทางทหารด้วยประชาธิปไตย กล่าวคือ ในรัฐที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตัวแทนของระบอบที่ผ่านการเลือกตั้ง เป็นผู้มีอำนาจเหนือ และควบคุมกำลังทางทหาร ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการทำงานของ FES ด้วยการเผยแพร่แนวคิด DCAF นี้ สู่เจ้าหน้าที่ทหาร พลเรือน นักวิชาการ และ นักศึกษาสายสังคมศาสตร์ ผู้เขียนจึงเห็นว่า เมื่อสังคมไทย ตระหนักและเห็นพ้องกับการส่งเสริมประชาธิปไตยมากขึ้น ระบอบนี้จะลงหลักปักฐานได้อย่างมั่นคงตลอดไป

ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเก้ททิงเกน (Gottingen) ได้นิยามคำว่า “ประชาธิปไตย” หมายถึง “ประชาชนเป็นใหญ่ อำนาจของรัฐนั้นย่อมเป็นของประชาชน” คำสอนว่าด้วยรัฐและหลักกฎหมายมหาชน วรเจตน์ ภาคีรัตน์ พิมพ์ครั้งที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2557 โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ซึ่งนิยามนี้สอดคล้องกับ นิยามโดย ดร.ปรีดี พนมยงค์ ประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึงการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ (หน้า 452 หนังสือ ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานและพจนานุกรมสำหรับเรียนกระทรวงศึกษาธิการซึ่งได้ให้ความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” อันเป็นสัญญาณของปวงชนไว้ว่า “แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่” (หน้า 363) และนิยามคำว่า “เผด็จการ” หมายความว่า การใช้อำนาจบริหารเด็ดขาด

ดร.ปรีดี บรรยายว่า “การต่อสู้เผด็จการนั้นต้องใช้เวลายืดเยื้อยาวนาน ซึ่งท่านทั้งหลายจะต้องปลงให้ตกในการนี้” และย้ำเตือนข้อเสนอใน “การลบล้างอิทธิพลและซากของเผด็จการนาซี” (denazification) คือภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเยอรมนีได้กวาดล้างพวกนาซีออกจากตำแหน่งที่สำคัญและอบรมนิสัยให้ชาวเยอรมันชำระซากทัศนะนาซีให้หมดไปมากที่สุด เพื่อประเทศเยอรมันจะได้ปกครองตามระบบประชาธิปไตย (หน้า 487) และในย่อหน้าสุดท้ายในหนังสือ ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย มีใจความว่า

“ผมขอให้ท่านทั้งหลายระลึกอีกอย่างหนึ่งว่า ในบรรดาบุคคลแห่งฝ่ายต่อต้านเผด็จการนั้นย่อมมีความแตกต่างในจุดหมายปลายทางแห่งระบบสังคม ฉะนั้นจึงควรพิจารณาว่าความต้องการเบื้องต้นที่ตรงกันคืออะไร แลัวสถาปนาความสามัคคีตามพื้นฐานนั้นก่อน ผมสังเกตว่าเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นิสิตนักศึกษานักเรียนโดยความสนับสนุนของมวลราษฎรได้สามัคคีกันเพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ ฉะนั้นถ้าสามัคคีกันต่อไป เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบเบื้องต้นก็จะเป็นคุณูปการแก่การต่อต้านเผด็จการให้สำเร็จได้”

ในการต่อต้านเผด็จการสมัยใหม่ ค่อนข้างสับสนและยุ่งยาก เมื่อพิจารณาอย่างผิวเผิน ประชาชนอาจมองไม่เห็นถึงองค์กรที่มีลักษณะเป็นเผด็จการ กล่าวคือ ดูดี มีคุณธรรม และมีท่ามีเข้าใจ รับฟังต่อเสียงส่วนใหญ่ บางกรณีอาศัยความชอบธรรม บ่อยครั้งก็จะอาศัยคำว่า “นิติธรรม” ซึ่งคนไทยแปลว่า Rule of Law โดยนิติธรรมแบบไทยๆ สามารถแทรกแซงและดำรงอยู่ในระบอบเผด็จการสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืน โดยลดทอนกระบวนการหรือพิธีการสำคัญของการเลือกตั้ง หรือการเลือก และตั้งผู้แทนของเจ้าของอำนาจอธิปไตย คือ ประชาชนเข้าไปออกบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อมาใช้จำกัดสิทธิ เสรีภาพ ของเจ้าของอำนาจอธิปไตยนั่นเอง วาทกรรมที่ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง 4 วินาที ในคูหาเลือกตั้งจึงเป็นเครื่องมือของฝ่ายเผด็จการที่ล้มระบอบประชาธิปไตยเสรีสากล ซึ่งวาทกรรมนี้นำเสนอโดยคำว่า “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” นั่นเอง แทนที่จะใช้คำว่า “ล้มการเลือกตั้ง”

ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่ ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักกฎหมายมหาชน ได้พร่ำสอนว่าเราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร โดยส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย คือ “ห่วงโซ่แห่งความชอบธรรม” กล่าวคือ ทุกองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐจะต้องมีห่วงโซ่แห่งความชอบธรรมในการใช้อำนาจรัฐนั้น ย้อนกลับไปสู่ประชาชนเจ้าของอำนาจให้ไม่ว่าโดยทางตรง (เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติ) หรือทางอ้อม (เช่น ฝ่ายบริหารที่เลือกโดยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร) ดังนั้น เราสามารถใช้ทฤษฎี ห่วงโซ่แห่งความชอบธรรมนั้น เป็นบททดสอบเข้าไปจับ การกระทำ หรือองค์กรทุกองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐ คืออำนาจปกครอง ว่า สามารถย้อนกลับไปหาประชาชนได้ไหม? ถ้าห่วงโซ่นั้นขาดตอนลง ก็แสดงว่า เป็นอำนาจในระบอบเผด็จการนั่นเอง เมื่อพิจารณาจากบริบทของไทยก็เห็นชัดว่า อำนาจอธิปไตยได้แบ่งแยกการใช้อำนาจเป็น 3 ฝ่าย คือ นิติบัญญัติ บริหาร และ ตุลาการ

ฝ่าย “นิติบัญญัติ” นั้น ห่วงโซ่แห่งความชอบธรรมสั้นและตรงมากที่สุด คือการเลือกและตั้งตัวแทนของเจ้าของอำนาจไปทำหน้าที่นิติบัญญัติ หรือออกกฎหมายมาบังคับใช้กับสังคมจึงไม่มีปัญหา คนไทยมักง่ายกับคำนี้ “เลือกตั้ง” โดยไม่เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของคำนี้ ผู้เขียนทุกครั้งที่มีโอกาสบรรยายให้นักศึกษาและสื่อมวลชนฟังก็จะเน้นย้ำเสมอว่า ประชาชนเลือกและตั้งตัวแทนของตนเองไปทำหน้าที่ออกกฎหมาย เพื่อกำจัด สิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนเจ้าของอำนาจ อำนาจนิติบัญญัตินี้สั้นและตรงที่สุด เมื่อประชาชนตั้งแล้วไม่จำต้องมีองค์กรใดมาตั้งผู้แทนราษฎรอีก นี่เป็นมุมมองทางกฎหมายมหาชนที่ชัดเจนและได้ถูกละเลยลืมเลือนไป เพราะความรับรู้ทางสังคมทั่วไปกับผู้แทนราษฎรจะเน้นไปที่การแก้ปัญหาปากท้องและความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก จึงเป็นหน้าที่ของนักกฎหมาย ในระบอบประชาธิปไตยเสรีสากลที่ต้องเน้นความสำคัญของการเลือกและตั้งให้มั่นคงให้ได้

“ฝ่ายบริหาร” ภายใต้ระบอบรัฐสภา ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่มาจากการลงคะแนนเสียงของฝ่ายนิติบัญญัติเลือกหัวหน้าฝ่ายบริหาร หรือนายกรัฐมนตรี และกษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญบัญญัติ มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้สมควรได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ฝ่ายบริหารจึงมีห่วงโซ่แห่งความชอบธรรมทางอ้อม ฝ่ายบริหารอยู่ได้ด้วยความไว้วางใจของฝ่ายนิติบัญญัติ และถ่วงดุลอำนาจนี้ด้วยอำนาจในการยุบรัฐสภา ความเข้าใจรับรู้ของสังคมในอำนาจฝ่ายบริหาร ที่เรียกง่ายๆ ว่าคณะรัฐมนตรีมีมากพอในสังคมไทย รัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีจึงเป็นบุคคลสาธารณะที่บริหารประเทศด้วยความเห็นชอบของประชาชน

จึงเหลือองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยเดียว ที่ไม่มีห่วงโซ่แห่งความชอบธรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม คือ ฝ่ายตุลาการ (ศาลยุติธรรม) เพราะเป็นระบบปิดที่ไม่มีตัวแทนที่พอเพียงของประชาชนเจ้าของอำนาจ เข้าไปยึดโยงการใช้อำนาจนั้น ประเดียวที่สามารถอ้างได้ก็คือ การใช้ผลผลิตของฝ่ายนิติบัญญัติที่เรียกว่า กฎหมายในการตัดสินคดีพิพาท จึงเป็นหน้าที่ของผู้เลื่อมใสระบอบประชาธิปไตยเสรีสากล ที่ต้องมุ่งประเด็นว่า จะทำอย่างไรให้แห่วงโซ่แห่งความชอบธรรมปรากฏเป็นจริงได้ในฝ่ายตุลาการ การยึดโยงอำนาจตุลาการให้กลับมาสู่เจ้าของอำนาจที่แท้จริง คือราษฎร

ในทรรศนะของผู้เขียน เป็นสิ่งที่การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่เปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตยสากล ยังทำไม่สำเร็จ อุดมคติของผู้ใช้อำนาจตุลาการต้องตระหนักว่าเป็นอำนาจที่มาจากประชาชน ต้องมีอุดมคติในทางปกป้องและส่งเสริมประชาธิปไตย ต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย กฎหมายที่จำกัดอำนาจรัฐ ดังนั้น การส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายตุลาการต้องไม่ละเมิดอำนาจประชาชนเจ้าของอำนาจประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นเอง

ที่มา : เอกชัย ไชยนุวัติ, เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร (ภาคต่อ), ใน Democracy, Constitution and Human Rights, รวมบทความทางวิชาการภาษาไทย อังกฤษ และเยอรมัน ในวาระ 70 ปี วรวิทย์ กนิษฐะเสน, (Bangkok: German-Southeast Asian Center of Excellence for Public Policy and Good Governance, 2017), หน้า 206 - 210.

หมายเหตุ :

  • บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก หนังสือ ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย” พิมพ์ครั้งที่ 1 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2626 จำนวน 5,000 เล่ม
  • ตั้งชื่อบทความโดยกองบรรณาธิการ

[1] หน้า 55 หนังสือ กรอบแนวคิดหลักสูตรการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย Thai Civic Education ธันวาคม 2556) สนับสนุนโดย มูลนิธิฟรีดิช เอแบร์ท (FRIEDRICH EBERT STIFTUNG : FES) ผู้เขียนขอขอบคุณ ประเทศเยอรมนี และ มูลนิธิ FES ที่จัดทำหนังสือเล่มนี้ เพราะผู้เขียนได้ใช้เอกสารนี้ เพื่อสื่อสารกับสื่อมวลชนและนักศึกษาในหลายโอกาส