Focus
- ย้อนไปวันนี้เมื่อ 16 ปีที่แล้ว (12 พฤษภาคม 2566) เวลาราว 02.00 น. ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบด้วยโรคหัวใจล้มเหลว สิริอายุ 95 ปี 4 เดือน 9 วัน
- ชีวิตที่ผ่านเรื่องราวมากมายหลากหลายบทบาทของท่านผู้หญิงพูนศุข ทั้งในฐานะภรรยา แม่ และสตรีผู้เคียงข้างระบอบประชาธิปไตย
- บทความชิ้นนี้ประมวลคุณูปการที่ในช่วงชีวิตของผ่านผู้หญิงพูนศุขที่ได้ก่อสร้างไว้ให้สังคมและอนุชนรุ่นหลังได้สานต่อ
ท่านผู้หญิงพูนศุข ไม่เคยอวดอ้างว่าตนได้ผ่านกาลเวลาที่ทำงานเพื่อสังคม เพื่อราษฎรไทยมาเกือบชั่วชีวิต แต่การที่ท่านได้รับการเคารพนับถือจากบุคคลต่างๆ เป็นข้อพิสูจน์สำหรับอนุชนรุ่นหลังว่าท่านเป็นสตรีที่อยู่เบื้องหลัง ความมีเกียรติและสง่างามของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ผู้ที่ได้รับการยอมรับจากองค์การ UNESCO ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก
ท่านผู้หญิงยึดตามพุทธวจนะที่ว่า “ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้วย่อมไม่สูญหาย” ดังนั้น ท่านได้สืบทอดเจตนารมณ์ที่นายปรีดี ซึ่งเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้กระทำไว้ ท่านผู้หญิงรักและผูกพันกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และชาวธรรมศาสตร์ ซึ่งชาวธรรมศาสตร์ก็เคารพรักท่าน ในวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครบรอบปีที่ 64 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2541 ท่านได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติ และได้รับเข็มเกียรติยศ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2541 “ในฐานะภริยาผู้เป็นคู่ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาของท่านผู้ประศาสน์การ ได้กระทำไปโดยท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้มีจิตสำนึกในเรื่องประชาธิปไตยและการรับใช้ชาติอย่างแท้จริงและมั่นคง”
แม้จะสูงวัย อายุ 90 กว่าปีแล้ว ท่านผู้หญิงยังยืนหยัดอยู่กับหลักประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และความเสมอภาคในสังคมปรารถนาให้สังคมไทยบรรลุหลัก 6 ประการของคณะราษฎร พุทธศักราช 2475 จึงฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่ที่จะสืบสานเจตนารมณ์นี้ให้สัมฤทธิ์ผล
ท่านมักจะพูดเสมอว่า ตนเองยืนอยู่ข้างนักศึกษา ประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาคม 2535 ปรารถนาให้บ้านเมืองมีประชาธิปไตยสมบูรณ์
ก่อนท่านจะล่วงลับไปไม่นาน ท่านได้ปรารภกับนักกิจกรรมเพื่อสังคมหลายคนถึงความห่วงใยบ้านเมือง ท่านบอกว่าตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเห็นบ้านเมืองวุ่นวายเช่นนี้มาก่อนเลย และแสดงความห่วงใยเมื่อเกิดการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บ
ท่านผู้หญิงเป็นประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ก็ด้วยต้องการให้มูลนิธินี้เป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างอุดมการณ์ของนายปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย และคนรุ่นใหม่
โดยที่ท่านผู้หญิงพูนศุข เคยมีบทบาทร่วมกับนายปรีดี สนับสนุนและช่วยเหลือขบวนการกู้ชาติของประเทศเวียดนามและลาว ดังนั้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2538 ฯพณฯ เล ดึก อันห์ ประธานาธิบดีแห่งประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้มอบเหรียญมิตรภาพแด่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ที่ได้สร้างคุณูปการมากมายต่อภารกิจกอบกู้เอกราชของประเทศเวียดนาม[1] นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 ฯพณฯ คำไต สีพันดอน ประธานประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้มอบเหรียญชัยมิตรภาพแด่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในฐานะภริยาท่านปรีดี พนมยงค์ เพื่อจารึกผลงานคุณงามความดีของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่ให้ความช่วยเหลือการปฏิวัติลาวในระยะหนึ่งที่ขบวนการต่อสู้ของประชาชนลาวอยู่ในสภาพคับขัน[2]
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2548 ในโอกาสวันสตรีสากล องค์การสหประชาชาติ (UN) ณ กรุงเทพมหานคร ได้มอบรางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนาแห่งโลก ประจำปี 2548 แด่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
ที่มา : “เพื่อสังคม เพื่อราษฎรไทย” ใน ธรรมาลัย ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: ปาปิรุส พับลิเคชั่น, 2550) หน้า 87-91.
หมายเหตุ : ตั้งชื่อบทความใหม่โดยกองบรรณาธิการ