๑๑ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ณ ลานปรีดี พนมยงค์ หน้าตึกโดม
กราบเรียน ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และ ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติและมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อท่านผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่ระลึกของพวกเราชาวธรรมศาสตร์ ที่มีต่อท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์
แม้ว่าดิฉันเองจะไม่ได้มีโอกาสได้รับความเมตตาจากท่านผู้ประศาสน์การโดยตรง เช่นหลายๆ ท่านในที่นี้ แต่โดยที่ดิฉันเป็นคนไทย เป็นผู้หญิงและเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดิฉันสามารถกล่าวได้อย่างเต็มที่ว่า ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากคุณูปการของท่านผู้ประศาสน์การที่มีต่อสังคมไทย ที่ให้โอกาสผู้หญิงให้ได้รับสิทธิทัดเทียมชาย และต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ท่านผู้ประศาสน์การได้วางรากฐานไว้กับพวกเรา และความสำนึกในพระคุณของท่านนั้น ดิฉันเองได้ถือเป็นขวัญกำลังใจเสมอมาในการที่พากเพียรกระทำในสิ่งที่ตนเชื่อว่าเป็นอุดมการณ์ของชาวธรรมศาสตร์ร่วมกันที่จะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม
ในหัวข้อการพูดในวันนี้เรื่อง “ผู้หญิงหรือสตรีกับประชาธิปไตย” เนื่องจากปีนี้เป็นปีสตรีไทย ซึ่งดิฉันเข้าใจว่าคณะผู้จัดงานคงเห็นเป็นโอกาสอันดีที่จะได้นำเรื่องนี้มาพูดและประกอบกับเป็นวาระ ๖๐ ปีประชาธิปไตย ที่ท่านผู้ประศาสน์การ ได้วางรากฐานไว้ ดิฉันเองถือเป็นวาระมหามงคลทีเดียวที่ได้มีโอกาสมาพูดเรื่องนี้ในวาระนี้ ที่จริงหัวข้อว่า “สตรีกับประชาธิปไตย” นั้นคงสามารถตีความหมายได้หลายมุมมอง ดิฉันเชื่อว่าการที่คนเราจะตีความหมายในเรื่องใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับข้อมูล ประสบการณ์และแนวคิดของแต่ละบุคคลที่มีอยู่ต่อเรื่องนั้น
สำหรับดิฉันเองเนื่องจากมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับเด็กเกี่ยวกับสตรี ก็คงจะใช้มุมมองจากการทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเป็นพื้นฐาน ซึ่งดิฉันคิดว่ามุมมองที่ดิฉันจะพูดในวันนี้กับหัวข้อเรื่อง “สตรีกับประชาธิปไตย” นั้นคงจะกล่าวในทำนองที่ว่า เราคงจะมีมุมมองได้ทั้งด้านบวกและด้านลบในเรื่อง “สตรีกับประชาธิปไตย”
ในมุมมองด้านบวกก็คงจะมองว่า ศักยภาพของสตรีนั้นมีต่อการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างไรและผู้หญิงควรจะมีบทบาทอย่างไรในการพัฒนาและร่วมอยู่ในขบวนการประชาธิปไตย ส่วนมุมมองในด้านลบก็คือเราจะต้องมาสำรวจตรวจดูว่า ในสังคมไทยเรายังมีจุดอ่อนอะไรที่เป็นอุปสรรคหรือข้อจำกัดที่ทำให้ผู้หญิงไม่ได้มีโอกาสหรือมีส่วนร่วมในการพัฒนาประชาธิปไตยเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามดิฉันคิดว่า หัวข้อการพูดเรื่องสตรีกับประชาธิปไตยในวันนี้ก็คงจะสะท้อนได้ตามสมควรว่าสังคมคงจะเริ่มคาดหวังกับบทบาทของสตรีให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประชาธิปไตยมากขึ้น
เพราะว่าสังคมไทยยังคงชินอยู่กับการมองเรื่องการเมืองว่าเป็นเรื่องที่ผู้หญิงไม่ควรเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้อง ยิ่งกว่านั้นในสภาพความเป็นจริงของบ้านเมืองเราในขณะนี้มีสภาพการหลายๆ อย่างที่ทำให้คนรู้สึกมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเมืองโดยมองว่าเป็นเรื่องสกปรก เป็นเรื่องที่มีแต่การแย่งชิงผลประโยชน์ เป็นเรื่องที่มีแต่ทุจริตประพฤติมิชอบหรือมีการสาดโคลนใส่กันหรือพวกปากประชาธิปไตยแต่ใจเผด็จการ หรือมีการสร้างสถานการณ์หลอกลวงตบตาประชาชนโดยคิดว่าชาวบ้านคงไม่รู้เท่าทัน สิ่งเหล่านี้ ก็ยิ่งทำให้ผู้หญิงไม่กล้าที่จะเข้ามาในแวดวงของเรื่องการเมืองมากขึ้น
ท่านผู้ฟังที่เคารพ ในความคิดของดิฉันในทัศนคติที่ดิฉันได้เกี่ยวข้องกับเรื่องผู้หญิงและเด็ก ดิฉันก็มองเริ่มต้นที่ครอบครัว ดิฉันคิดว่าการเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องนอกบ้าน แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในบ้าน ตั้งแต่คน ๒ คนมาอยู่ด้วยกันเป็นสังคมครอบครัวแล้วค่อยๆ ขยายไปถึงโรงเรียนหรือไปถึงชุมชน บทบาทในครอบครัวที่สมาชิกสามารถประสานความพอใจ ไม่พอใจกันได้ สามารถที่จะเจรจาตกลงกันได้ ทำให้ครอบครัวมีความสงบสุขนั้น
ดิฉันถือว่าบทบาทนั้นเป็นบทบาททางการเมืองซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ในระดับครอบครัวมาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมองข้ามความสำคัญตรงนี้กันไป มักจะมองข้ามไปถึงเรื่องการเมืองคือเรื่องลงสมัครผู้แทนราษฎรหรือการเลือกตั้งที่มีอยู่เป็นครั้งคราวกันไปเลย ฉะนั้น ดิฉันคิดว่าการที่คนเราจะเรียนรู้บทบาททางการเมืองนั้นคงจะเริ่มต้นที่ครอบครัว ปัญหาอยู่ที่ว่าบรรยากาศความสัมพันธ์ในครอบครัวนั้นจะเป็นแบบอำนาจฝ่ายชายเหนือกว่า หรือจะเป็นแบบประชาธิปไตย ที่ทั้งสองฝ่ายมีบทบาทความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนมากกว่า
ประชาธิปไตยนั้นมีคนวิจารณ์กันว่าปัจจัยที่เป็นอุปสรรคของการพัฒนาประชาธิปไตยก็คือความยากจน ความด้อยการศึกษา เหล่านี้มีส่วนถูกต้องแต่คงไม่ใช่ทั้งหมด
ในการทำงานเรื่องเด็ก ดิฉันได้ไตร่ตรองจากประสบการณ์ที่พบและมาคิดอยู่เสมอว่า ทำไมเมืองไทยเรา ๖๐ ปีมาแล้ว แต่ความรับรู้และความเข้าใจเรื่องพื้นฐานแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยนั้นยังดูสับสนจับต้นชนปลายไม่ติดและเป็นอยู่เสมอมา เมื่อไปทำงานด้านเด็กก็พยายามดูในแง่มุมนี้ ดิฉันอยากจะกล่าวว่า ปัจจัยเงื่อนไขสำคัญที่จะเอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตยที่แท้จริงแล้ว น่าจะอยู่ที่วิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็ก ขบวนการขัดเกลาเชิงสังคมที่สังคมแวดล้อมมีต่อเด็ก บรรยากาศในสังคมที่เปิดโอกาสให้เด็กใช้ความคิดเห็นของตนได้อย่างเสรีเหมาะสมตามวัย
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเขาจะได้มีโอกาสพัฒนาตนเอง พัฒนาขีดความสามารถที่จะเรียนรู้ ที่จะประสานประโยชน์กับผู้อื่น ที่จะสามารถอยู่กับผู้อื่นได้แม้จะอยู่ในท่ามกลางความหลากหลายทางความคิด โดยมีหลักการประชาธิปไตยและหลักการสันติวิธีเป็นวิธีการ เหตุการณ์วิกฤตที่เพิ่งคลี่คลายไปในระดับหนึ่งจากอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้มีการพูดกันมากว่า ได้ทำลายเศรษฐกิจ ทำลายภาพพจน์ต่างๆ นานา ของสังคมไทย แต่ดิฉันเห็นว่า สิ่งที่น่าจะมองและน่าจะคิดดูกันให้ดีในมุมบวกด้วย ซึ่งดิฉันเห็นว่าโอกาสที่เด็กไทย คนไทยที่จะได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย ครรลองของประซาธิปไตย
วิถีชีวิตของผู้คนในสังคมในกติกาประชาธิปไตยนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาโดยเฉพาะในช่วงอาทิตย์ที่แล้วนั้นเป็นเหตุการณ์และกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้ได้ทำความเข้าใจ ได้มีส่วนร่วมอย่างสูง คนไทยไม่ว่าจะเป็นเพศ วัยอาชีพอะไร จะให้ความสนใจที่จะรับรู้และทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดในสังคมเรา และพยายามมีจุดร่วมในสันติวิธี ถึงแม้ว่าจะมีขบวนการ มีสถานการณ์อะไรบางอย่างที่ขุ่นข้องที่ขุ่นเคืองใจอยู่ แต่ก็มีความพยายามร่วมกันที่จะใช้สันติวิธี เพราะฉะนั้นวันนี้เราจึงยังคงมาพบกันได้
ดิฉันคิดว่าถ้าเด็กไทยสามารถเติบโตขึ้นมาในบรรยากาศที่มีโอกาสเรียนรู้และฝึกที่จะมีส่วนร่วมในการที่จะตัดสินชะตาชีวิตของตัวเองแล้ว ก็จะเป็นพื้นฐานที่แท้จริงของการปลูกฝังกติกาที่เป็นประชาธิปไตยอย่างเป็นวิถีชีวิตในสังคมเรา
ดิฉันได้พบงานวิจัยหลายชิ้นที่พูดถึงการเลี้ยงดูเด็กไทยที่ดิฉันถือว่าเป็นประเด็นพื้นฐานคือมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ตรงกัน ยืนยันว่าผู้ใหญ่ พ่อแม่ ในครอบครัวไทยนั้นยังคงยึดมั่นอยู่กับการเลี้ยงดู อบรม ที่ถือตัวเอง คือถือผู้ใหญ่เป็นหลัก เน้นบทบาทของผู้ใหญ่เป็นหลัก และยังใช้การดุด่าว่ากล่าวสั่งให้ทำตามให้เชื่อฟังในวิธีการที่จะเปิดโอกาสให้เด็กได้สะท้อนความคิดเห็น แสดงความคิดเห็นพัฒนาขึ้นเป็นลำดับนั้นมีน้อยมาก และถ้าจะมองขยายออกไปถึงบทบาทเด็กในโรงเรียน จากการติดตามผลของสภาการศึกษาแห่งชาติก็พบข้อเท็จจริงที่น่าห่วงใยว่ากระบวนการเรียน การสอนของครูบาอาจารย์ในการศึกษาของเราทุกระดับนั้นยังมีปัญหาอยู่มาก
กล่าวคือ ในระดับก่อนประถม พฤติกรรมการสอนของครูก็ยังเน้นตัวเองเป็นศูนย์กลาง ผู้เรียนไม่ได้มีโอกาสที่จะเล่นตามวัยของตัว ผู้สอนก็ยังคงสั่งให้ทำโน่น ทำนี่ตามสิ่งที่ตนคิดว่าถูกต้อง
ในระดับประถมขึ้นมา ครูก็ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการสอน ยังคงยึดตัวครูเป็นศูนย์กลางแล้วก็เน้นบรรยากาศของการตั้งคำถาม และฟังนักเรียนอ่าน
ลองขึ้นมาดูถึงระดับมัธยม ก็ยังพบอีกว่าวิธีการของครูก็ยังไม่แตกต่างจากระดับประถมนั่นเอง นอกเหนือไปจากนั้น การจัดการศึกษาก็ยังไม่สามารถเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนตามแนวที่ตัวถนัดหรือสนใจ แล้วยังเน้นวิชาการมากกว่าปฏิบัติ
ทีนี้ลองมาดูถึงระดับอุดมศึกษา ดิฉันมีความเสียใจที่จะกล่าวว่า การศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้น กระบวนการเรียนการสอนก็ยังเน้นในเนื้อหาสาระวิชา ซึ่งผู้เรียนต้องจดจำท่องมาสอบ ไม่มีเวลาที่จะทำความคิด ความเข้าใจ แล้วยังเน้นการบรรยายเหมือนอยู่ในระดับโรงเรียนนั่นเอง ผู้เรียนจึงขาดวุฒิภาวะ ขาดโอกาสที่จะพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพและหลายๆ เรื่องก็มีผลต่อไปถึงการมีอคติของนักศึกษาที่มีต่ออาจารย์ที่มีการเรียนการสอนเช่นนั้น ซึ่งผลที่ร้ายแรง ประการหนึ่งก็คือ ผู้เรียนจึงไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร พูดมาถึงตรงนี้ ดิฉันอยากจะตั้งข้อสงสัยว่าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเราเวลานี้ กระบวนการเรียนการสอนนั้นยังเป็นเช่นที่รายงานผลการวิจัยออกผลมาหรือเปล่า ก็ฝากไว้กับท่านคณาจารย์ที่จะได้กรุณาทบทวนว่า ในฐานะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเราเป็นแหล่งรวมพลังของผู้คนที่จะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประชาธิปไตยสืบทอดเจตนารมณ์ของท่านผู้ประศาสน์การนั้น เราเองได้ใช้กระบวนการเรียนการสอนที่มันเอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตยเช่นว่าหรือเปล่า
ยิ่งกว่านั้นถ้าเราจะมองดูประเด็นเรื่องการเลี้ยงดูอบรมเด็กโดยเจาะลงไปถึงเด็กหญิง ดิฉันจะค่อยเข้าใกล้ไปสู่หัวข้อมากขึ้น เราก็จะพบว่าสังคมไทยถึงจะเรียกว่าผ่านมาแล้ว ๖๐ ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถือว่ามีหลักการพื้นฐานของความเสมอภาคของบุคคล ไม่ว่าหญิงชาย แต่ปรากฏว่าสังคมไทยก็ยังให้คุณค่าของเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง ข้อเท็จจริงที่สนับสนุนการพูดประเด็นนี้ของดิฉันก็คือ เรามีงานวิจัยทั่วประเทศและตั้งคำถามว่าถ้าท่านมีลูก ๒ คน ชาย ๑ หญิง ๑ และท่านสามารถให้ลูกเรียนต่อได้เพียงคนเดียว ท่านจะให้ใครเรียน
ปรากฏว่ากว่าร้อยละ ๗๐ จะตอบว่าให้ลูกชายโดยให้เหตุผลว่า ลูกชายนั้นจะเป็นผู้บวช เป็นหัวหน้าครอบครัวและเป็นผู้สืบสกุล สิ่งเหล่านี้เราจะเห็นได้ว่าผู้หญิงนั้นได้ถูกให้คุณค่าด้อยกว่าชายมาตั้งแต่ระดับครอบครัวและเป็นที่น่าสังเกตว่า ร้อยละ ๗๐ ที่ให้คำตอบเหล่านั้น มิได้มีความแตกต่างในระดับการศึกษา หรือในระดับอายุของผู้ตอบก็ดี และยิ่งกว่านั้นก็ยังมีข้อมูลรองรับอันเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากเรื่องนี้ก็คือ ผู้หญิงที่ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษานั้นมีเป็น ๒ เท่าของชาย และยิ่งกว่านั้นถ้าดูโอกาสที่จะได้เรียนต่อจากระดับประถมถึงมัธยม ก็พบว่าหญิงมีโอกาสน้อยกว่าคือ เพียงร้อยละ ๔๗ ต่อ ๕๓
ถ้ามองดูในเรื่องค่านิยมของสังคมต่อไปจากประเด็นการให้คุณค่าชายเหนือกว่าหญิงดังที่กล่าวแล้ว ก็ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ไม่น่าจะมองข้ามไปก็คือ ค่านิยมดั้งเดิมที่จำแนกบทบาท ชาย หญิงชัดเจนว่า ชายจะต้องเป็นผู้นำหญิงจะต้องเป็นผู้ตาม ชายเป็นผู้ที่เข้มแข็ง และหญิงต้องอ่อนแอพึ่งพาเหล่านี้ ดิฉันคิดว่าการเลี้ยงดูเด็กที่สั่งสมบ่มเพาะขึ้นมาในพฤติกรรมต่างๆ ในระดับครอบครัวเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นการจำกัดพัฒนาการของเด็กหญิงและรวมถึงชายด้วยเป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมคนไทยเราถึงเป็นประชาธิปไตยกันไม่ได้สักที
นอกเหนือที่เราได้วิเคราะห์ถึงบทบาทของสถาบันบางสถาบันเช่นสถาบันทหารก็ดี อะไรเหล่านี้ เราอาจจะต้องพิจารณาให้ลึกละเอียดไปถึงสถาบันครอบครัวด้วยละกระมังว่า ถ้าเราจะต่อสู้ให้ถูกวิธี ก็อาจจะเริ่มที่จุดเล็กๆ จากการเลี้ยงดูเด็ก จากคนที่ทำงานด้านเด็กก็คงจะมองอะไรเกี่ยวกับเด็กๆ แต่ว่าเรื่องของเด็กไม่เล็กอย่างที่คิดนะคะ
สิ่งที่ดิฉันมองนอกเหนือจากวิธีการเลี้ยงดูเด็กที่เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะเอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตยแล้ว จากนี้ต่อไปดิฉันจะมองถึงว่า บทบาทของสตรีที่มีต่อขบวนการประชาธิปไตยนั้น สตรีไทยจะมีศักยภาพหรือมีจุดอ่อนอย่างไร เนื่องจากตอนบ่ายจะมีการอภิปรายอีกหัวข้อหนึ่งคือ “สตรีไทยกับการเมือง”
ดิฉันก็เลยคิดว่า ประเด็นที่ดิฉันจะพูดตรงนี้คงจะไม่เกี่ยวกับผู้หญิงกับการเมืองโดยตรงมากนัก ดิฉันพยายามจะมองบทบาทของหญิงในแนวที่เป็นวิถีชีวิตที่จะนำไปสู่การสั่งสมบ่มเพาะอุดมการณ์ร่วมกันมากกว่า โดยมองถึงบทบาทรวมๆ ไปเป็นพื้นฐาน ในองค์กรเอกชนที่ทำงานเรื่องผู้หญิง เราตระหนักดีว่า การพัฒนาตนเองโดยเฉพาะของผู้หญิงให้เต็มศักยภาพ ให้เต็มความสามารถของบุคคลซึ่งจะนำไปสู่การพึ่งพาตัวเองให้ได้ ไม่ใช่อ่อนแอและต้องพึ่งพาผู้ชายหรือการที่จะพัฒนาการมีส่วนร่วมของหญิงให้เข้าไปมีบทบาททุกส่วนในขบวนการพัฒนาประเทศนั้น เป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการของพวกเราที่ทำงานกันมา เพราะเราเข้าใจดีว่าจุดอ่อนหรือจุดจำกัดโดยการที่ไม่ได้รับความเสมอภาคของเด็กหญิง และสตรีนั้นยังมีอยู่ในสังคมเป็นอันมาก
ทีนี้ถ้าเรามามองถึงบทบาทของหญิงแล้ว ก็คงจะลองดูแนวนโยบายทางสังคมของประเทศว่าได้มองสิ่งเหล่านี้อย่างไร เราก็จะพบว่าจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในแผนที่ ๑ และแผนที่ ๒ นั้น ไม่พูดถึงบทบาทของสตรีเลย และไม่ค่อยมองปัญหาของสังคมเท่าไร พอมาถึงแผนพัฒนาฉบับที่ ๓ ก็มามองบทบาทของสตรีในฐานะเป็นแม่
เพราะฉะนั้นการพัฒนาอะไรต่างๆ ก็มุ่งเน้นในเรื่องอนามัยแม่และเด็ก และในเรื่องสวัสดิการ แม่และเด็ก หรือการวางแผนครอบครัวที่มีสตรีเป็นกลุ่มเป้าหมาย แล้วก็เกณฑ์สตรีไปทำหมันเป็นหลัก ล่วงมาถึงแผนพัฒนาฉบับที่ ๔ โดยอิทธิพลของปีสตรีสากล จึงได้มีการพูดในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมว่าเป็นความจำเป็นที่จะเร่งรัดบทบาทของสตรีทั้งในด้านสุขภาพอนามัย ทั้งในด้านการศึกษาและในด้านประกอบอาชีพ พอมาถึงแผนพัฒนาฉบับที่ ๕ ได้มีการให้ความสำคัญสูงกับกลุ่มสตรีว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายพิเศษ มีความลำดับความสำคัญเช่นเดียวกับเยาวชน เพราะถือว่าเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่จะทำให้มีส่วนร่วมที่จะพัฒนาประเทศด้วย วิถีทางที่จะต้องการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากที่สุดนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาบทบาทสตรีให้ชัดเจนและพยายามที่จะให้สตรีมีส่วนร่วมทั้งในระดับครอบครัว ชุมชนและสังคม ก็นับว่าเป็นแนวโน้ม และเป็นนิมิตหมายที่ดีของนโยบายสังคมในระดับประเทศ
ดิฉันได้เรียนไปเมื่อกี้นี้ว่าการพูดวันนี้ของดิฉันจะไม่เน้นในเรื่องการเมืองมากนัก ทีนี้จะเน้นอะไร ดิฉันจะมองว่าในระยะ ๔-๕ ปีที่ผ่านมานี้ ได้มีแนวโน้มชัดเจนที่จะเรียกร้องบทบาทสตรีในด้านสำคัญๆ หลายด้าน นอกเหนือไปจากการที่เป็นที่เข้าใจว่า จะต้องระดมสตรีเข้ามามีส่วนร่วมทุกด้านแล้วก็ตาม แต่ก็มีจุดเน้นที่ค่อนข้างชัดเจนบางเรื่อง กล่าวคือในเรื่องของการพัฒนาชุมชน ในเรื่องของการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สันติภาพและการเมือง ทั้ง ๔ ประเด็นนี้ ดิฉันคิดว่าเป็นปัญหาสังคมที่จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจและต้องการการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนทั้งนั้น ซึ่งการเลือกบทบาทของสตรีใน ๔ ด้านนั้น ดิฉันคิดว่ามันเป็นพื้นฐานของการมีวิถีชีวิตตามครรลองประชาธิปไตยอยู่มากทีเดียว ดิฉันถือโอกาสขออนุญาต ที่จะค่อยๆ เรียนข้อเท็จจริงต่อท่านโดยลำดับนะคะ
ประเด็นแรกที่เกี่ยวกับสตรีกับการพัฒนาชุมชนนั้น องค์กรเป็นจำนวนมากที่ทำงานเรื่องผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรทางด้านราชการหรือองค์กรเอกชนก็ตาม ได้พบและมีความเห็นสรุปตรงกันว่า ผู้หญิงนั้นมีความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมายมากกว่าชาย เพราะว่าผู้หญิงไม่ได้ไปเที่ยวเตร่ กินเหล้าเมายา และผู้หญิงเองมีความพร้อมที่จะเรียนรู้อยู่อีกมาก ขอให้ได้มีโอกาสและปัจจัยที่สนับสนุนที่ถูกวิธี ดิฉันต้องขอประทานโทษที่ต้องกล่าวข้อมูลอันนั้นออกมา ซึ่งดูเหมือนจะตำหนิติเตียนบทบาทของฝ่ายชาย แต่เป็นข้อมูลจากงานวิจัยที่เราได้ทำมาจริง เพราะฉะนั้นท่านคงจะอภัยนะคะ แต่อย่างไรก็ตาม อันนั้นเป็นข้อดีที่เรายกมากล่าวในขณะเดียวกันก็มีข้อด้อยค่ะ
กล่าวคือบทบาทผู้หญิงในการพัฒนาชนบทที่เราหลงใหลได้ปลื้มกันว่าบัดนี้ผู้หญิงได้มีส่วนร่วมมากแล้ว ถ้าเราลองไปดูบทบาทการมีส่วนร่วมของผู้หญิงให้ชัดก็จะพบว่าการมีส่วนร่วมของผู้หญิงนั้น ยังอยู่ในระดับที่ไม่มีคุณภาพ กล่าวคือยังมีบทบาท เช่น ไปทำกับข้าวให้เวลามีกิจกรรม หรือมีโครงการพัฒนาในพื้นที่ จะมีการบริจาคทรัพย์หรือแรงงานในโครงการพัฒนาชุมชนต่างๆ เราถือว่าไม่มีคุณภาพเพียงพอเพราะการมีส่วนร่วมที่มีคุณภาพที่แท้จริงนั้นคงจะต้องก้าวขึ้นมาสู่ระดับของการตัดสินใจ จึงจะเป็นจุดหมายปลายทางที่เราต้องการ นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าการรวมกลุ่มของสตรีนั้นยังไม่ได้ผลและไม่สามารถดำเนินงานอย่างต่อเนื่องได้เพราะว่าขาดกิจกรรมอันเหมาะสมที่รองรับ อย่างไรก็ดีถ้าเรามองดูผลวิเคราะห์ของงานวิจัยต่อไปเกี่ยวกับเรื่องสตรีที่กรมพัฒนาชุมชนไปทำงานวิจัยใน ๗๙ หมู่บ้านเราก็จะพบข้อมูลที่น่าสนใจอันหนึ่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งมีว่า ตัวแปรที่มีความสำคัญสูงที่จะกระตุ้นให้ผู้หญิงมามีส่วนร่วมในการพัฒนานั้น จะอยู่ที่โอกาสที่ผู้หญิงจะได้ทำความเข้าใจ จะได้รับรู้ในวัตถุประสงค์การดำเนินงานขององค์กรที่เข้าไปทำงานนั้นแต่ต้นอยากเข้ามามีบทบาทร่วมด้วยไม่ใช่เป็นการสั่งหรือไม่ใช่เป็นการที่ศูนย์กลางจะสั่งไปเสร็จนะคะ
นอกจากนั้นแล้วเมื่อเร็วๆ นี้มีงานวิจัยที่น่าสนใจมาก อีกประการหนึ่งคือเป็นงานวิจัยของสถาบันประชากรและชุมชนกระทำร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย ได้ทำการวิจัยใน ๑๖ หมู่บ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รวบรวมบทบาทและความสามารถของสตรีไทยในงานพัฒนาชนบท ผลการศึกษาบอกว่า มีประการสำคัญที่ดิฉันจะนำมาเรียน ๓ ประการนะคะ
ประเด็นแรก บอกว่าชาวบ้านที่มีโอกาสได้คิด โต้เถียง ได้ตัดสินใจจะทำให้เขามีความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงชุมชนของเขา พากเพียรให้สำเร็จมากขึ้น
ประเด็นที่ ๒ งานวิจัยบอกว่า สตรีที่เข้ามามีบทบาทร่วมมองปัญหาของชุมชนนั้น จะมีแนวการมองปัญหาที่ไม่เหมือนกับชาย กล่าวคือ ผู้หญิงจะมองปัญหาด้านสังคม จะมองเรื่องเด็ก เยาวชน จะมองเรื่องสุขภาพอนามัยจะมองเรื่องสังคมส่วนรวมของตนในชุมชนของตนมากกว่าชาย ซึ่งมักจะมองเรื่องอาชีพ การทำมาหากินและรายได้เป็นหลัก ก็ทำให้เราได้มีการอภิปรายในประเด็นนี้กันมากว่าจะเป็นข้อดีแน่นอนถ้าหากว่าได้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ เพราะว่าเมื่อมุมมองของชายและหญิงที่มีพื้นเพมาจากประสบการณ์และข้อมูลที่ต่างกัน จะทำให้การมองสังคมมีความสมดุลรอบด้านมากขึ้นนะคะ
ประเด็นที่ ๓ งานวิจัยก็ยังชี้ว่าสตรีนั้นมีฝีมือในการจัดการ สามารถที่จะหาข้อยุติที่เหมาะสมและมีความละเอียดอ่อนที่จะมองว่า ในการทำงานนั้นๆ อาจมีอุปสรรคอะไรในวันข้างหน้า เป็นการเตรียมการวางแผนไว้ ซึ่งผู้ชายโดยทั่วไปไม่ค่อยจะมองตรงจุดนี้ เพราะว่าผู้ชายตัดสินใจอะไรแล้วก็ตัดสินใจไปเลยอะไรทำนองนี้เป็นต้นนะคะ
ข้อสังเกตเกี่ยวกับงานวิจัยหรือสรุปประสบการณ์ของพวกเราเกี่ยวกับสตรีที่กล่าวทั้งหมดนั้น ดิฉันคิดว่าเป็นจุดสำคัญที่จะนำไปใช้ประโยชน์ ที่จะนำมาทำแผนพัฒนาบทบาทของสตรี โดยเฉพาะการพัฒนาบทบาทการมีส่วนร่วมที่มีคุณภาพ แต่ดิฉันคิดว่าคงจะต้องยกระดับการมีส่วนร่วมจากการที่จะเป็นผู้รับประโยชน์ ผู้รับบริการ ผู้ให้ข้อมูล หรือผู้ร่วมดำเนินการ ไปสู่ระดับที่มีคุณภาพที่สุดคือ ผู้ตัดสินใจด้วยในทุกระดับ ที่ได้กราบเรียนมาแล้วนะคะ
ทีนี้บทบาทของสตรีลำดับถัดไปที่ดิฉันจะนำมาพูดกันในที่นี้ก็คือ ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันทั้งสังคมไทยและสังคมโลกเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาที่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนิเวศวิทยา ไม่ว่าจะเป็นด้วยความไม่รู้ หรือจากความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ของตน นับวันจะทวีความรุนแรง ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ในชนกลุ่มต่างๆ หรือแม้กระทั่งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและอำนาจรัฐ
ดิฉันคิดว่าปัญหาเหล่านี้คงจะต้องมีการแก้ไข ด้วยมาตรการที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสังคมส่วนรวมเป็นหลักและคงจะต้องใช้เหตุผลและอหิงสาเป็นวิธีการ เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้ทำให้พวกเราคิดว่า คงจะเป็นอย่างนี้ละกระมังที่ทำให้สังคมได้เริ่มหันมาเรียกร้องให้สตรีมีบทบาทร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ถ้าเราดูในระดับสากล ก็พบว่ายุทธศาสตร์ไนโรบีเพื่อความพัฒนาก้าวหน้าของสตรี ได้พูดในเรื่องของบทบาทของสตรีกับสิ่งแวดล้อมไว้มากมาย ที่จะต้องการให้สตรีนั้นได้มีส่วนร่วมเข้ามาดูแลรักษาสภาพแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ดูแลรักษาระบบนิเวศวิทยา ตลอดจนควบคุมดูแลความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมต่างๆ นานา
ดิฉันคิดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม ความจริงไม่ใช่เป็นปัญหาของผู้หญิงเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของทุกคนในสังคมร่วมกัน เพราะฉะนั้นการที่จะมองปัญหาเรื่องบทบาทของสตรีกับสิ่งแวดล้อมนั้น ดิฉันเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาให้เกิดความชัดเจนว่า คงจะไม่ได้มีความหมายเหมือนกับการวางแผนครอบครัวที่มุ่งตัวผู้หญิงเป็นเป้าหมายแต่ฝ่ายเดียว แต่ในการมองปัญหาเรื่องสตรีกับสิ่งแวดล้อมนั้นควรจะมองบทบาทของสตรี ในฐานะที่สตรีมีศักยภาพที่จะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่สตรีจะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรของชาติในทุกๆ ระดับ
ประเด็นถัดไปที่เกี่ยวกับบทบาทของสตรีในหัวข้อที่ ๓ ที่คิดว่าเป็นเรื่องที่สังคมเรียกร้องมากขึ้น คือ บทบาทของสตรีกับสันติภาพ
เราคงตระหนักดีว่า ปัจจุบันนี้ภัยคุกคามต่อสันติภาพของโลกนานารูปแบบ รวมทั้งประเทศไทยเราเองก็มีแนวโน้มที่มีปัญหารุนแรง ท้าทายมากขึ้น จึงได้มีการเรียกร้องสตรีเข้ามามีส่วนร่วม ดิฉันอยากจะเชิญชวนท่านให้มองว่า ในขณะที่สังคมเรียกร้องให้สตรีเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องการรักษาสันติภาพ การระงับความรุนแรงในสังคมนั้น ตัวสตรีเองเผชิญอะไร
เรามีงานวิจัยใน กทม. พบว่า สตรีและเด็กส่วนหนึ่งกำลังเผชิญปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งสังคมมักจะถือว่าเป็นปัญหาปกปิด เพราะฉะนั้นเราจะไม่ค่อยได้ทราบกันว่าเป็นปัญหาที่สังคมควรจะได้ใส่ใจ ข้อมูลจากงานวิจัยดังกล่าวนั้นบอกว่า ผู้ชายทำร้ายผู้หญิง โดยผู้ทำร้ายและผู้ถูกทำร้ายส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาต่ำ มีอาชีพรับจ้างใช้แรงงานมากกว่าอาชีพอื่นๆ และในรายที่เกิดความรุนแรงนั้น ๑ ใน ๔ ลูกในครอบครัวหรือเด็กในครอบครัวนั้นโดยเฉพาะอายุระหว่าง ๕ ถึง ๑๐ ปี ก็ถูกผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัวนั้นด้วย
ซึ่งประเด็นเหล่านี้ผู้หญิงต้องอดทนในสภาพจำยอมอย่างปราศจากทางเลือกและความช่วยเหลือจากสังคมภายนอก ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากเราไปดูครอบครัวที่มีความร่มเย็นเป็นสุข เราก็จะพบบรรยากาศที่ชายหญิงมีความสัมพันธ์ฉันเพื่อน ฉันคู่คิด ร่วมกันตัดสินใจ และที่สำคัญก็คือผู้หญิงก็มักจะมีความสามารถและมีบทบาทที่จะเป็นผู้ประสานประโยชน์ของสมาชิกในครอบครัวที่จะประนีประนอมให้เกิดประโยชน์สุขของครอบครัวเป็นหลัก เราคงจะกล่าวได้ละกระมังว่า ศักยภาพของผู้หญิงเช่นนี้ เป็นศักยภาพทางด้านการเมืองในระดับครอบครัวที่เราควรจะพัฒนากว้างขวางออกไปสู่ระดับชุมชนและสังคมมากขึ้น และที่สำคัญก็คือดิฉันอยากจะกล่าวว่า ปัญหาสตรีกับสันติภาพนั้น ความหมายคงจะมีกว้างขวางและไม่สามารถจะพิจารณาแยกไปจากความสัมพันธ์ของชายหญิงที่เริ่มมาจากครอบครัวได้
บทบาทที่สำคัญ ประเด็นที่ ๔ ที่เห็นว่าน่าจะเป็นเรื่องใกล้กับหัวข้อการพูดที่สุดก็คือ บทบาททางการเมืองของสตรี ในระยะหลังๆ นี้ สังคมได้มีแนวโน้มที่จะยอมรับว่าสตรีควรจะมีบทบาทร่วมในทางการเมืองมากขึ้น ทางสหประชาชาติเองได้เผยแพร่ข้อมูลบอกว่า ผู้หญิงในประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่เจริญแล้วนั้น การที่ผู้หญิงก้าวขึ้นมาในระดับชั้นนำ มักจะมีภูมิหลังในด้านการศึกษาวัฒนธรรม ประสบการณ์ที่พูดต่อสาธารณชน ต่อโอกาสที่จะได้อภิปรายโต้เถียงในประเด็นทางการเมืองเป็นอันมาก และระบุว่าแนวโน้มที่สตรีจะมีบทบาททางการเมืองนั้นมีสูงขึ้น และสังคมก็ยอมรับบทบาทของนักการเมืองสตรีมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเปรียบเทียบสัดส่วนกับชายนั้น ก็คงจะต้องยอมรับว่ายังมีน้อยอยู่ ในขณะเดียวกันถ้าเรามองเหตุการณ์ในประเทศที่กำลังพัฒนา งานวิจัยได้ชี้ว่าผู้หญิงที่ก้าวขึ้นมาในระดับชั้นนำในตำแหน่งทางการเมืองนั้น เรามักจะได้ข้อสรุปว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาแต่ว่าเป็นเรื่องกรณียกเว้น
ทีนี้ถ้าเรามามองดูประเทศไทยเราเองก็เช่นกันได้มีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันตรงกันว่าผู้หญิงที่มีจำนวนน้อยมากที่จะเป็นนักการเมืองชั้นนำอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองในระดับชาติหรือในระดับท้องถิ่นก็ตามนั้น มักจะมีภูมิหลังมาจากการที่ได้มีประสบการณ์ที่ครอบครัว เช่น สามีหรือบิดาได้เป็นนักการเมือง หรือเป็นผู้นำในชุมชน เช่น เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาก่อน
เพราะฉะนั้น โอกาสที่สตรีได้เรียนรู้ ได้มีโอกาส ได้รับฟัง ได้ทำความเข้าใจอันนั้น ก็เป็นการสร้างศักยภาพทางการเมืองให้ผู้หญิงเหล่านั้น อนึ่ง ถึงแม้ว่าจะมีแนวโน้มว่าสตรีไทยเริ่มก้าวเข้ามาสู่บทบาททางการเมืองในระดับท้องถิ่นมากขึ้น เราจะลองมองดูตัวเลขกันสักนิดนะคะ ก็จะพบว่าเรามีกำนันหญิงในปัจจุบันนี้ ๖๑ คน มีผู้ใหญ่บ้าน ๖๘๒ คน มีเทศมนตรี ๙ คน สมาชิกสภาจังหวัด ๙๐ คน สมาชิกสภาเทศบาล ๑๒๐ คน และเป็นกรรมการหมู่บ้าน ๑๒๐,๒๑๔ คน อย่างไรก็ดี สัดส่วนถ้าเราดูแล้ว เมื่อเทียบกับชายนั้นยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก
สำหรับในระดับชาตินั้น เรามี สส. หญิงอย่างมากที่สุดก็ ๑๓ คน คือเมื่อปี ๒๕๒๖ การเลือกตั้งเมื่อ ๒๒ มีนาคม ที่ผ่านมาเรามี ส.ส. หญิงเพียง ๑๒ คนเท่านั้น เพราะฉะนั้นเมื่อประเมินบทบาทของสตรีทางด้านการเมืองในภาพรวมต่างๆ ซึ่งดิฉันคิดว่าในภาคบ่ายคงจะมีอีกกลุ่มที่มีการอภิปรายที่คงลงไปในรายละเอียดที่น่าสนใจโดยกว้างขวางยิ่งขึ้น ดิฉันจะพูดแต่เพียงว่าในเรื่องของภาพรวมนั้น การมีส่วนร่วมของสตรีไทยทางการเมืองยังไม่มีพลังเพียงพอที่จะกำหนดการตัดสินใจ โดยเฉพาะในเรื่องการจัดสรรทรัพยากรของประเทศชาติ ซึ่งเป็นอำนาจทางการเมืองนั้นได้ และเราหวังว่าการจัดสรรทรัพยากรนั้นก็คงจะต้องตั้งอยู่บนหลักความชอบธรรม และผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนโดยแท้
มาถึงตรงนี้แล้ว ดิฉันมีข้อมูลที่น่าสนใจ และคิดว่าท่านผู้ฟังอาจจะยังไม่ได้ทราบว่า มีงานวิจัยผลงานของสตรีในระดับท้องถิ่นอยู่หลายเรื่อง และสามารถสรุปประเด็นที่สำคัญมาดังนี้ ในส่วนที่เป็นศักยภาพของสตรี เราจะพบว่าในประเด็นแรกนั้น ก็คือว่าสตรีที่มาจากการเลือกตั้งนั้นจะเน้นในการวางแผน ไปพบปะประชาชนชาวบ้านและก็มีความเสียสละมากกว่าผู้ที่มาจากการแต่งตั้ง ตรงประเด็นท้ายนี้คงจะไม่เฉพาะผู้หญิงหรือผู้ชายนะคะ
ใครก็ตามที่มาจากการเลือกตั้ง คงจะต้องเข้าถึงประชาชนมากกว่าผู้ที่มาจากการแต่งตั้ง จะเห็นได้ว่าคุณสมบัติทั้ง ๒ ประการของสตรีผู้นำทางการเมืองนั้นล้วนแล้วแต่เป็นพื้นฐานครรลองประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหาก็ดี การจัดสรรประโยชน์หรือการอุทิศตนก็ดีหรือการเข้าถึงประชาชน รู้ถึงทุกข์สุขของชาวบ้าน และชี้แจงให้ชาวบ้านได้รับรู้ และเข้าถึงปัญหาเรื่องราวต่างๆ ของบ้านเมือง ดิฉันคิดว่าเป็นศักยภาพของผู้หญิงที่ไม่ควรถูกมองข้ามไป และควรที่จะพัฒนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของงานวิจัยก็คือว่า การที่ผู้หญิงจะได้รับการยอมรับในบทบาทผู้นำต่างๆ ดังกล่าวนั้น เราพบว่าชุมชนที่เจริญแล้วและคนรุ่นหนุ่มสาวนั้น จะให้การยอมรับสตรีเร็วกว่า มากกว่าชุมชนที่ล้าหลังและกลุ่มผู้สูงอายุ เช่นกันนะคะ ต้องขอประทานโทษที่สมาคมเราตรงนี้จะมีผู้สูงอายุมากกว่ากลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวนะคะ และอันนี้ก็เป็นข้อมูลที่มาจากงานวิจัยที่แท้จริง
แม้กระทั่งงานวิจัยด้านรัฐศาสตร์นะคะ ก็มีหลายชิ้นที่ยืนยันตรงกันว่า คนที่เริ่มมีอายุมากขึ้น คือยิ่งแก่ขึ้นก็มีแนวโน้มในอำนาจนิยมมากขึ้น ก็ฝากเป็นข้อมูลให้ท่านเก็บไปคิดด้วยว่าเป็นความจริงหรือเปล่า หรืออาจจะมองย้อนที่ตัวท่านเองก็ได้นะคะ ดิฉันคิดว่าการที่ผู้หญิงจะก้าวขึ้นไปสู่ระดับการตัดสินใจในระดับต่างๆ นั้น คงจะต้องผ่านกระบวนการที่ได้กล่าวในตอนต้นว่ามีโอกาสเพียงไรตั้งแต่เล็ก แต่น้อยที่ถูกเลี้ยงดูมาด้วยวิธีการอะไร ประเด็นนี้คงไม่ใช่เฉพาะเด็กหญิง คงเป็นเรื่องรวมทั้งเด็กหญิงเด็กชาย ที่เป็นประเด็นค่านิยมเท่านั้นที่มองปัญหาเด็กชายและหญิงโดยให้คุณค่าต่างกันนั้นต่างหากที่ตอกย้ำที่ทำให้ผู้หญิงเอง ยิ่งยากยิ่งขึ้นที่จะถูกพัฒนาให้เข้ามาสู่การเป็นสมาชิกสังคมที่อยู่ในกติกาประชาธิปไตย
ทีนี้มองกลับไปถึงบทบาทการเมืองของสตรีที่เป็นรูปธรรมบางตัวอย่างที่เราคงยังไม่ทันลืมกัน คือ เมื่อปี ๒๕๒๙ ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อล้มล้างประธานาธิบดีมาร์คอสของฟิลิปปินส์ ซึ่งบทบาทของสตรีในตอนนั้น เห็นได้ว่า ผู้หญิงได้ใช้แนวทางสันติวิธีที่มีอิทธิพลอย่างมหาศาลในการต่อสู้ในครั้งนั้น แถวหน้าสุดของขบวนการต่อสู้คือผู้หญิงที่คุกเข่าลงประจันหน้ากับรถถังและแม่ชีก็ได้มีบทบาทร่วมอยู่ในกำแพงมนุษย์เหล่านั้นด้วย หรือแม้แต่สตรีวัย ๗๐ กว่า ๘๐ กว่าขึ้นไปก็ยังมีส่วนร่วมในการที่จะขอร้องทหารไม่ให้ฆ่าฟันคนในชาติเดียวกัน และการขอร้องนั้นก็เป็นผลสำเร็จซึ่งนำไปสู่การคลี่คลายสถานการณ์ของฟิลิปปินส์เองด้วยในเมืองไทยเราเองเหตุการณ์ที่ผ่านไปเร็วๆ นี้ ความพยายามของเราที่จะใช้สันติวิธี ก็จะมีผู้หญิงมีส่วนร่วมอยู่ด้วยทุกบทบาท มีส่วนร่วมระดับที่จะลุกขึ้นมาเป็นวิทยากร พูดจา ทำความรู้ความเข้าใจ ปลุกจิตสำนึกประชาชน และเช่นกันก็จะไปถึงระดับฉากที่จะทำอาหาร นำเสบียงขึ้นมาสู่กลุ่มที่ทำการต่อต้านอยู่แนวหน้า โดยสรุปก็มองว่าบทบาทของสตรีในด้านการเมืองของเราได้แสดงมามากต่อมากในการที่จะมีแนวทางสันติวิธีและก็ได้มีบทบาทร่วมอยู่ในบทบาททุกระดับ
เหตุการณ์เมื่อ ๑๔ ตุลาคมก็ดี หรือ ๖ ตุลาคม ก็ดี หรือแม้แต่บทบาทการประท้วงของแรงงานสตรีที่มีต่อนายจ้าง หรือบทบาทของชาวสลัมที่ประท้วงการขับไล่ของตำรวจก็ดีนั้น ด่านหน้าคือผู้หญิงทั้งสิ้น พูดมาถึงตอนนี้ทำให้ดิฉันนึกถึงคำพูดของมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ คือ มหาตมคานธี ที่กล่าวไว้ว่า “เราดูถูกเพศหญิงว่าเพศอ่อนแอ แต่นี่ไม่ยุติธรรม ถ้าความเข้มแข็งหมายถึงพลกำลังอันหักโหม ก็แน่ละที่หญิงจะมีพลกำลังน้อยกว่าชาย แต่ถ้าความเข้มแข็งหมายถึงอำนาจทางจริยธรรม ผู้หญิงก็เหนือกว่า อดทนกว่า กล้าหาญกว่า ถ้าหากสันติวิธีจะเป็นกฎกณฑ์ของเรา อนาคตก็จะอยู่กับผู้หญิง”
ดิฉันคิดว่า สังคมที่มีแนวโน้มของสถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้สังคมเรียกร้องบทบาทของสตรีที่คุ้นเคยต่อความอ่อนโยน พยายามจะแก้ปัญหาด้วยวิธีสันติวิธี ไม่นิยมการใช้อำนาจเหล่านี้ละกระมัง ที่จะทำให้สังคมยอมรับผู้หญิงให้ก้าวออกมานอกบ้านกันมากขึ้น นอกจากนี้ ดิฉันมีประเด็นที่เป็นแนวโน้มของสตรีที่น่าสนใจอีกอันหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญที่ดิฉันคิดว่าค่อนข้างมากทีเดียว
กล่าวคือ ถ้าท่านลองดูอัตราส่วนของผู้ชายน้อยกว่าผู้หญิงที่เข้าสู่ระบบราชการและอัตราส่วนของการลาออกของชายที่มากกว่าผู้หญิงที่ลาออกจากระบบราชการนั้นย่อมมีความหมายว่าในอนาคต ผู้หญิงจะอยู่ในระบบราชการมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าข้อเท็จจริงในปัจจุบัน จะมีว่าโอกาสที่ผู้หญิงจะก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งสูงๆ ยิ่งขึ้นนั้นยังยากอยู่ และมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับชาย แต่ถ้าหากแนวโน้มของอัตราส่วนดังกล่าวนั้นยังเป็นเช่นนั้น ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สังคมจะต้องตระหนักและมองดูให้ดีว่า บทบาทของผู้หญิงที่จะก้าวเข้ามาสู่ของระบบราชการนั้นพึงได้รับการสนับสนุนพัฒนาอย่างไร เพราะว่าไม่ใช่ปัญหาเรื่องผู้หญิงเท่านั้นแต่มันเป็นปัญหาระบบบริหารราชการงานเมืองที่มีพื้นฐานอยู่บนประโยชน์สุขของประชาชนเป็นส่วนใหญ่ ดิฉันก็ฝากประเด็นนี้เป็นข้อคิดไว้ให้แก่ที่ชุมชนนี้ด้วย
ดิฉันคิดว่ามีเรื่องที่น่าสนใจอีกนิดในเรื่องบทบาทของสตรีก็คือ เมื่อเร็วๆ นี้เราได้มีองค์กรกลางเกิดขึ้นในสังคมไทยเพื่อสอดส่องดูแลการเลือกตั้งของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๕ ภารกิจดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้นคงจะต้องมีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ข้อมูลต่างๆ ออกมาเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลต่อประชาชน แต่การที่ดิฉันได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในองค์กรกลางครั้งนี้นั้น ดิฉันคิดว่ามีภาพที่เป็นที่น่าพอใจ และมีข้อสังเกตที่เป็นจุดดี จุดด้อยของบทบาทสตรี
ในส่วนที่เป็นข้อดีก็อยากจะเรียนว่าบทบาทของผู้หญิงที่เข้าไปอยู่ในองค์กรกลางนั้นได้เคียงบ่าเคียงไหล่กับชายมาทุกระดับ ท่านอธิการบดีนรนิติ อยู่ในที่นี้ด้วย ท่านคงเป็นพยานอย่างดีว่า ผู้หญิงอยู่ในทุกระดับขององค์กรกลางนะคะและที่น่าสังเกตอีกเช่นเคย คือว่า ถ้าไปมองดูภาระงานในเรื่อง การเงิน การจัดการ ธุรการ หรือการบริหาร ผู้หญิงอีกเช่นกันที่ต้องรับทำหน้าที่นี้ เพราะผู้ชายจะปฏิเสธ บอกว่างานจุกจิกไม่ชอบทำ ก็เป็นเรื่องที่ทำไม่เป็นอะไรทำนองนี้เป็นต้น ซึ่งผู้หญิงก็จำยอมที่จะรับทำเพื่อให้งานที่เป็นคณะเป็นหมู่สามารถที่จะเคลื่อนตัวไปด้วยดี อย่างไรก็ดี ผู้หญิงก็อยู่ทั้งแนวหน้าและแนวหลัง
มีกรณีที่น่าตกใจก็คือ ข้อมูลจากกรณีศึกษาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีรายงานเบื้องต้นที่น่าสังเกตบอกว่า ผู้หญิงในหมู่บ้านได้เข้ามาเป็นหัวคะแนนมากขึ้น เหตุผลที่ผู้หญิงได้เข้ามาเป็นหัวคะแนนมากขึ้นก็มาจากผู้หญิง ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกก็คือกลุ่มที่สามีเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แต่เนื่องจากสามีต้องเกร็งในบทบาทขององค์กรกลางก็เลยต้องลดบทบาทของตน ดังนั้นทางออกก็คือ ใช้ผู้หญิงให้เป็นตัวแทนที่จะดำเนินภารกิจที่จะเป็นหัวคะแนนในชุมชนต่อไป
กลุ่มผู้หญิงกลุ่มที่ ๒ ที่จะมีบทบาทเป็นหัวคะแนนคือ กลุ่มผู้หญิงโครงการพัฒนาต่างๆ ที่อาจจะเป็นองค์กรเอกชนก็ดีหรือหน่วยงานของรัฐก็ดีไปพยายามให้เกิดการรวมกลุ่ม ก็กลายเป็นที่หอมหวลของ ส.ส. ทั้งหลายที่จะไปใช้ประโยชน์จากสตรีเหล่านั้น โดยมีความเห็นว่า กลุ่มผู้หญิงนั้นค่อนข้างที่จะไว้ใจได้ ซื่อสัตย์และมักจะไม่ได้อพยพแรงงาน อยู่ในพื้นที่ เพราะฉะนั้นการที่จะไปติดต่อเป็นหัวคะแนนก็ค่อนข้างมีความเชื่อถือได้ เหล่านี้เป็นข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ จากองค์กรกลางที่ดิฉันคิดว่าน่าจะนำมากราบเรียนให้ท่านทราบเป็นเบื้องต้นไว้
ประการสำคัญที่สุดที่ควรกล่าวเกี่ยวกับภารกิจขององค์กรกลางก็คือ ดิฉันเห็นว่าการเลือกตั้งจะบริสุทธิ์ยุติธรรมได้ก็ต่อเมื่อ ประชาชนมีความเข้าใจ มีทัศนคติที่ดีและมีพฤติกรรม คือ การมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการของการเลือกตั้ง และการที่ประชาชนจะทำได้เช่นนั้นก็ต้องได้รับการปลูกฝัง ขัดเกลาวิถีการดำเนินชีวิตภายใต้บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นมาตรการระยะยาว ที่จะต้องดำเนินการอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง มิใช่ทำชั่วครั้งชั่วคราวจะมารณรงค์ติดโปสเตอร์ สติกเกอร์ ชั่วขณะก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น ยิ่งกว่านั้น ดิฉันคิดว่าทุกฝ่ายทุกสถาบันในสังคมจะต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถาบันทางการเมืองและบรรยากาศทางการเมืองก็จะต้องเปิดโอกาส ให้เวทีแก่ประชาชนด้วย
ดิฉันคิดว่า ผลการดำเนินงานในเชิงป้องปรามการทุจริตในการเลือกตั้งขององค์กรกลางนั้นจะยังไม่บังเกิดผลเด่นชัดให้เห็นทันตาทันใจของประชาชนทั้งหลาย แต่สิ่งที่เกิดแน่นอนแล้วก็คือจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะรักและหวงแหนการใช้สิทธิ์ของตนอย่างเหมาะสม สิ่งเหล่านี้เป็นคุณค่ามหาศาลที่จะต้องพัฒนาให้สืบทอดต่อเนื่องไป
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ดิฉันขอสรุปว่าเมื่อเราพิจารณา ประชาธิปไตยในความหมายกว้างคือเป็นทั้งวิถีชีวิต อุดมการณ์และรูปแบบการเมืองการปกครองแล้ว เราได้พบข้อจำกัดบทบาทสตรีต่อการสร้างเสริมประชาธิปไตยอยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นด้วยอิทธิพลของการเลี้ยงดูอบรม การขัดเกลาเชิงสังคมก็ตาม ตลอดจนการตอกย้ำซ้ำเดิมค่านิยมในสังคมที่ยังให้คุณค่าชายเหนือหญิง
แต่ในขณะเดียวกันด้วยศักยภาพสตรีที่มีอยู่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งนั้น ได้ปรับบทบาทดั้งเดิมของตนขึ้นมา พยายามที่จะพัฒนาตนเอง และพยายามที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจทั้งในระดับ ครอบครัว ชุมชน สังคม และระดับชาติมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของคนในสังคมประชาธิปไตย และอยากจะกล่าวในท้ายสุดว่าหากสังคมส่วนรวมจะได้ปรับเปลี่ยนวิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็ก ได้ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงในครอบครัว ได้สร้างบรรยากาศแวดล้อมที่เป็นประชาธิปไตย ได้ทำความเข้าใจถึงปัญหาของสตรีและปรับเปลี่ยนค่านิยมที่ให้คุณค่าเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยคำนึงถึงความสามารถที่แท้จริงของคนแต่ละคนที่สามารถพัฒนาได้แล้ว ดิฉันคิดว่าจะเปิดโอกาสให้สตรีได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยให้บังเกิดผลโดยเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้สมดังเจตนาของท่านผู้ประศาสน์การท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่ได้อุทิศตนและเสียสละมาตลอดชีวิตของท่านในอันที่จะสร้างสรรค์ประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเราต่อไป
ดิฉันขอจบการพูดเรื่องสตรีกับการพัฒนาประชาธิปไตย ไว้เพียงเท่านี้ ขอขอบคุณ
ที่มา: ศรีสว่าง พัววงศ์แพทย์, ปาฐกถาวันปรีดีฯ เรื่อง สตรีกับประชาธิปไตย ใน วัน “ปรีดี พนมยงค์” 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536), น. 141-157.