ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

สุขสันต์วันเกิด ดร.ป๋วย ออมสินของขวัญในวัย 38 ปี และหน้าที่การงานของคนตรงในประเทศคด

9
มีนาคม
2566

หนึ่งในรายชื่อของนักเศรษฐศาสตร์ชาวไทยที่หลายคนรู้จักจะต้องมีชื่อของ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือ อาจารย์ป๋วย ปรากฏขึ้นมาในความคิด ด้วยบทบาทที่มีความสำคัญต่อวงการเศรษฐศาสตร์ไทย ทั้งในฐานะคณบดีของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

การเข้าไปดำรงตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้ อาจารย์ป๋วยได้สร้างความน่าเชื่อถือให้กับตำแหน่งโดยยึดถือหลักการในการทำงาน ทำให้อาจารย์ป๋วยได้รับการยอมรับในฐานะเทคโนแครต (technocrats) ตัวอย่างในอุดมคติ และเป็นที่มาของประโยคที่ว่า “คนตรงในประเทศคด”

ชีวิตการทำงานของอาจารย์ป๋วยมีความน่าสนใจในหลายๆ ด้าน เนื่องจากตำแหน่งของอาจารย์ป๋วยมีส่วนให้ต้องไปกระทบกระทั่งกับฝ่ายการเมืองมาโดยตลอด

 

ออมสินจากนายกรัฐมนตรีของขวัญแห่งการชื่นชม

เมื่อกลับจากการศึกษาในประเทศอังกฤษในปี พ.ศ. 2492 อาจารย์ป๋วยทำงานใน 2 หน่วยงานหลักไปพร้อมๆ กัน คือ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย[1]

 

 

ชีวิตรับราชการของอาจารย์ป๋วยผูกพันอยู่กับกระทรวงการคลัง โดยเริ่มต้นจากรับราชการในกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ในตำแหน่งเศรษฐกร ก่อนจะก้าวหน้าในหน้าที่การงานในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการคลังของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญการคลัง กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนสายสามัญชั้นพิเศษ ในเวลานั้นจึงนับได้ว่าอาจารย์ป๋วยเป็นข้าราชการหนุ่มไฟแรงและมีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน

ในระหว่างที่อาจารย์ป๋วยกำลังรับราชการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญการคลัง กระทรวงการคลัง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้มอบออมสินให้กับอาจารย์ป๋วยเป็นเงินจำนวน 497 บาท เนื่องในโอกาสวันเกิดอายุ 38 ปี ในปี พ.ศ. 2497[2]

 

“ด้วยท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม มีความยินดีมอบออมสินเพื่อเป็นของขวัญเนื่องในโอกาสคล้ายวันเกิดของท่าน เป็นเงินจำนวน 497 บาท (สี่ร้อยเก้าสิบเจ็ดบาทถ้วน)”

 

 

ออมสินที่ได้รับจากจอมพล ป. และท่านผู้หญิงพิบูลสงครามนี้เป็นหลักฐานของการยอมรับในความสามารถและความยึดมั่นในหลักการของอาจารย์ป๋วยที่มีในสายตาของจอมพล ป. มาโดยตลอด

 

เทคโนแครตมืออาชีพที่กล้าทักท้วงสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ช่วงเวลาที่อาจารย์ป๋วยปฏิบัติงานในกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นช่วงที่ประเทศกำลังฟื้นตัวจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจในเวลานั้น โดยในช่วงประมาณ 2495 จนถึง 2500 นี้ จอมพล ป. ในฐานะนายกรัฐมนตรีในเวลานั้นมีเป้าหมายที่จะปรับปรุงระบบเศรษฐกิจการคลังการธนาคารของไทย โดยมีบุคคลสำคัญที่เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันก็คือ หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ ผู้ว่าการธนาคารชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) และประธานกรรมการบริหารสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ และพระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้นเป็นผู้ให้การสนับสนุนสำคัญ[3] ซึ่งอาจารย์ป๋วยได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้ และเข้าไปทำหน้าที่สำคัญในการขัดผลประโยชน์ของกลุ่มนายทหาร

ในปี พ.ศ. 2496 อาจารย์ป๋วยได้เลื่อนขึ้นมารับตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเมื่อเข้ารับตำแหน่งก็ได้รับมอบหมายให้สอบสวนความผิดของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ตำแหน่งยศในขณะนั้นเป็นพลเอก) ต้องการจะซื้อเพื่อเป้าหมายในการควบคุมธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศ จึงต้องการที่จะให้อาจารย์ป๋วยในฐานะรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เอาผิดธนาคารดังกล่าว ซึ่งอาจารย์ป๋วยได้ยืนยันกับพลเอกสฤษดิ์ ในเวลานั้นถึงสองครั้งว่าจะต้องทำตามหน้าที่โดยยึดถือว่า “...คำเสนอของจอมพลสฤษดิ์นั้น เราทำให้ไม่ได้ จะเสียชื่อ...” [4] และได้เสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีลงโทษปรับธนาคารพาณิชย์นั้นเป็นจำนวนเงินหลายล้านบาทตามสัญญา ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบด้วย

 

“...คำเสนอของจอมพลสฤษดิ์นั้น เราทำให้ไม่ได้ จะเสียชื่อ...”

 

ผลของการยึดมั่นในหลักการนี้ทำให้อาจารย์ป๋วยถูกทำให้พ้นจากตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในวันที่ 25 ธันวาคม 2496 หลังจากได้ดำรงตำแหน่งมาเป็นระยะเวลา 7 เดือนเศษ โดยกลับไปรับราชการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการคลัง กระทรวงการคลังตามเดิม

อย่างไรก็ดี อาจารย์ป๋วยเมื่อกลับมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการคลัง กระทรวงการคลังได้ไม่นาน พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ก็ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังอีกตำแหน่ง ควบกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและอธิบดีกรมตำรวจ

พลตำรวจเอก เผ่า ได้วางแผนจะให้บริษัทหนึ่งมาพิมพ์ธนบัตรไทยแทนบริษัทโทมัส เดอลารู จำกัด ของประเทศอังกฤษ โดยบริษัทดังกล่าวได้กล่าวหาว่าบริษัทโทมัส เดอลารู จำกัด ไม่มีคุณสมบัติมากพอที่จะพิมพ์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้อาจารย์ป๋วยในฐานะเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาอย่างเที่ยงธรรมโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประเทศ

อาจารย์ป๋วยและคณะได้พิจารณาว่าบริษัทโทมัส เดอลารู จำกัด นั้นมีคุณสมบัติใช้ได้ในราคาที่ไม่แพง แม้จะไม่ได้มีคุณสมบัติสูงเมื่อเทียบเท่ากับหนึ่งในสี่บริษัทที่คัดเลือกมาเปรียบเทียบ ซึ่งรวมถึงบริษัทที่พลตำรวจเอกเผ่าต้องการให้มารับสิทธิพิมพ์ธนบัตรแทน

อาจารย์ป๋วยจึงได้นำข้อสรุปทั้งหมดนำเสนอต่อพระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งคุณพระมีความคิดเห็นไปไในทิศทางเดียวกัน และมอบหมายให้อาจารย์ป๋วยเขียนรายงาน ซึ่งในระหว่างนั้นพลตำรวจเอกเผ่าได้ทราบว่า อาจารย์ป๋วยรายงานความเห็นอย่างไร แล้วจึงได้ให้ผู้จัดการบริษัทดังกล่าวมาเจรจาเพื่อให้แก้ไขรายงานเสียใหม่ แต่อาจารย์ป๋วยได้ปฏิเสธที่จะแก้ไขรายงานดังกล่าว รวมถึงได้เขียนรายงานเพิ่มเติมโดยกล่าวถึงเรื่องที่ผู้จัดการบริษัทได้มาขอพบและขอให้แก้ไขรายงาน

เมื่อทำรายงานเสร็จสิ้นอาจารย์ป๋วยจึงได้นำเสนอรายงานต่อคณะรัฐมนตรี โดยแนะนำให้ยังคงใช้บริษัท โทมัส เดอลารู จำกัด ต่อไป พร้อมกับในการกล่าวรายงานยังได้ทิ้งท้ายว่า

 

“...ถ้าคณะรัฐมนตรียังคลางแคลงใจเรื่องความปลอดภัยอยู่จะใช้บริษัทอเมริกันที่ 2 (บริษัทที่มีคุณภาพสูง — เพิ่มเติมโดยผู้เขียน) ผมก็ว่าแล้วแต่จะพิจารณา แต่ถ้าหากจะตัดสินใจให้บริษัทอเมริกันที่ 1 (บริษัทที่พลเอกเผ่าแนะนำ — เพิ่มเติมโดยผู้เขียน) พิมพ์ธนบัตรไทยต่อไปแล้ว ผมก็จะอยู่รับราชการต่อไปไม่ได้ เพราะผู้จัดการได้มาบริภาษผม และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นบริษัทที่เลวจริงๆ...”[5]

 

เมื่อจอมพล ป. ได้รับทราบรายงานก็ได้กล่าวแก่พระบริภัณฑ์ยุทธกิจว่า “...ไอ้ลูกศิษย์คุณพระนี่มันจองหองจริง คำหนึ่งมันก็จะลาออก สองคำมันก็จะลาออก...”[6] ซึ่งก็เป็นการกล่าวในสัพยอกที่ปนไปด้วยความเมตตาและชื่นชมในจุดยืนของอาจารย์ป๋วย ซึ่งในท้ายที่สุดคณะรัฐมนตรีก็ได้ลงมติให้ตามรายงานของอาจารย์ป๋วย และจอมพล ป. จึงได้ให้คนยกเลิกนัดที่จะให้บริษัทอเมริกันที่ 1 เข้าพบ ซึ่งเรื่องนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับพลตำรวจเอกเผ่าเป็นอย่างมาก

 

ความเชื่อมั่นในความสามารถทางวิชาการ

นอกจากบทบาทในวงราชการแล้ว อีกบทบาทหนึ่งของอาจารย์ป๋วยที่สำคัญก็คือ ในฐานะนักวิชาการ ความชื่นชมในความสามารถของอาจารย์ป๋วย ที่จอมพล ป. มีให้ ส่วนหนึ่งก็แสดงผ่านการได้รับเชิญเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์สาขาเศรษฐศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลายครั้ง โดยในช่วงปี พ.ศ. 2497 จอมพล ป. พิบูลสงคราม มิได้ดำรงตำแหน่งเพียงนายกรัฐมนตรี แต่ยังควบตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

งานวิทยานิพนธ์ชิ้นหนึ่งที่อาจารย์ป๋วยมีโอกาสได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์คือ วิทยานิพนธ์ของนายประคัลภ์ น้ำทิพย์ นักศึกษาปริญญาโทภาค 2 ทางเศรษฐศาสตร์ ในหัวข้อ บทบาทของรัฐบาลในการให้ทุนเพื่อพัฒนาการเศรษฐกิจ[7]

 

 

บทบาทของอาจารย์ป๋วยที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิชาการมีมาโดยตลอดผ่านการรับเชิญบรรยายต่างๆ และงานปาฐกถา โดยอาจารย์ป๋วยได้เข้าไปมีบทบาทกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มากขึ้น ภายหลังจากเมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อธิการบดีในเวลานั้นได้ทรงขอให้อาจารย์ป๋วยไปช่วยงานมหาวิทยาลัยที่เริ่มต้นด้วยการดำรงตำแหน่งคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2507 จนถึงช่วงปี พ.ศ. 2514[8]

เรื่องราวของอาจารย์ป๋วยยังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าสนใจ รวมถึงความกล้าหาญในการยืนหยัดในประเทศที่บิดเบี้ยวแห่งนี้ การเดินตามรอยอาจารย์ป๋วยจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ หากแต่ไม่ใช่เพื่อมองในฐานะผู้นำเทคโนแครต หรือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ตามรอยอาจารย์ในแง่มุมของคนที่อุทิศชีวิตเพื่อสังคม เข้าใจภูมิหลัง ความคิด และวิถีการดำรงชีวิตของคนตรงในประเทศคด

หมายเหตุ :

ผู้เขียนขอขอบคุณภาพและเอกสารประกอบบางส่วนที่เป็นจดหมายส่วนบุคคลของอาจารย์ป๋วย จากคอลเล็กชันจดหมายเหตุของ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ท่านผู้สนใจสามารถขอดูเอกสารดังกล่าวได้ที่ห้องสมุดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง

 

 


[1] รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ‘ตามรอยอาจารย์ป๋วย’ (สรรนิพนธ์รังสรรค์, 31 กรกฎาคม 2561), สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2566.

[2] จดหมายจากสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรียน นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ลงวันที่ 9 มีนาคม 2497.

[3] ป๋วย อึ๊งภากรณ์, อัตชีวประวัติ: เหลียวหลัง แลหน้า (พิมพ์ครั้งที่ 2, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2559) 116 – 117.

[4] เพิ่งอ้าง 118 – 119.

[5] เพิ่งอ้าง 122.

[6] เพิ่งอ้าง 122.

[7] หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ 411/2497 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2479 เรื่อง ขอเชิญเป็นอาจารย์ผู้แนะนำการทำวิทยานิพนธ์.

[8] รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ (เชิงอรรถ 1).