ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

กกต. ผู้เล่นทางการเมือง กับความน่ากังวลในการเลือกตั้ง 2566

20
พฤษภาคม
2566

Focus

  • ปัญหาการเตรียมการเลือกตั้งที่พบ เช่น การเลือกตั้งล่วงหน้ามีการเตรียมการบางแห่งไม่ดีพอ เพราะมีคนไปใช้สิทธิจำนวนมาก อากาศร้อน เกิดโกลาหลจนใช้สิทธิไม่ได้ กกต. ควรแก้ปัญหาโดยจัดสถานเลือกตั้งใหม่ และการเลือกตั้งนอกเขตมีปัญหาการจ่าหน้าซองจดหมายผิดทำให้ซองเดินทางด้วยไปรษณีย์กลับไปที่เขตเดิม เสมือนไม่ได้เลือกตั้งนอกเขต

  • ระบบการรายงานผลคะแนนใหม่ที่ใช้เป็นครั้งแรก ปี 2562 พบการรายงานคะแนนผิดพลาด ล่าช้า มีปัญหา และไม่มีคำอธิบายมาจนถึงทุกวันนี้ สำหรับปีนี้ กกต. มีระบบการรายงานผลคะแนนแบบใหม่ โดยมีข้อดี เช่น ใช้เจ้าหน้าที่กรอกน้อยลงน่าจะทำผิดได้มีน้อยลง และ ใช้ Google Drive ที่เชื่อมั่นได้มากกว่าแอปพลิเคชันที่ กกต. จะทำขึ้น และข้อเสีย เช่น แม้กระบวนการกรอกนั้นโปร่งใส แต่จะไม่รู้ว่าใครกรอกและไม่รู้ว่ากรอกตรงหรือไม่ รวมถึงการสรุปคะแนนที่จะไม่ประกาศพร้อมกันระหว่างคะแนนที่ได้กับบัตรเสีย และบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน

  • ต้องการอาสาสมัคร 100,000 คน ขึ้นไปในการไปสังเกตการณ์ที่คูหาเลือกตั้ง หากมีสิ่งผิดให้ทักท้วงเพื่อปกป้องคะแนนเสียงของประชาชนและเก็บไว้เป็นหลักฐาน

 

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ : ตอนนี้ 3 ขาเลือกตั้งไม่ใช่มีแต่นักการเมืองลงเลือกตั้ง ไม่ได้มีแต่ประชาชนที่ไปหยั่งเสียงเลือกตั้ง มันมีอีกขาหนึ่ง คือ ขาคนคุมกฎ ขา กกต. เอาอย่างไร เพราะว่า กกต. ไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะจับผิดอย่างที่ รศ.ดร.พวงทอง บอก กกต. มีหน้าที่เป็น service provider ต้องทำให้การเลือกตั้งง่าย สะดวก และสามารถที่จะเข้าถึงทุกฝ่าย มันมีอะไรผิดปกติกับขา กกต. ไหมครับ คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เลือกตั้งล่วงหน้ามีปัญหาอะไรไหม หรือทำให้เกิดความน่ากังวลอย่างไร 

 

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

วันที่ 18 เมษายน 2566 เป็นวันแรกที่ประธาน กกต. ปรากฏตัวต่อสาธารณะ ซึ่งไม่ถึง 1 เดือนก่อนการเลือกตั้ง ในวันนั้น กกต. จัดงาน kick off สู่การเลือกตั้ง เมื่อท่านประธานขึ้นเวที ท่านอ่านอะไรประมาณ 3 ย่อหน้า แล้วก็เดินลงไป คือคุณเป็นประธาน กกต. kick off ไปสู่การเลือกตั้งไม่ถึง 1 เดือน คุณไม่มีอะไรอยากจะพูดกับประชาชนคนไทยหน่อยเหรอ ไม่มีอะไรอยากจะถือโอกาสนี้บอกประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันเถอะ ระบบเลือกตั้งใหม่นะ บัตร 2 ใบ ใบหนึ่งเลือกคนที่รัก ใบหนึ่งเลือกพรรคที่ชอบ หรือมีอะไรต้องรู้บ้าง

 

 

สำหรับเลือกตั้งล่วงหน้ามี 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ 1 เรารู้อยู่ว่ามีคนลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า 2,300,000 คน แล้วเรารู้อยู่แล้วว่าในหลายๆ ที่มีคนไป 50,000 40,000 30,000 คน หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง สำนักงานเขตบางกะปิ มีคนไป 50,000 คน ผมไปดูที่บางละมุง-พัทยา มีคนลงทะเบียน 29,000 คน เรารู้แล้วว่าคนจำนวนขนาดนี้ไปถึงจะต้องโกลาหล แล้วมันก็โกลาหลจริงๆ รถติด แดดร้อน คนต่อคิวเป็นลม ใช้สิทธิไม่ได้แล้วกลับบ้าน เสียไปเท่าไหร่ไม่รู้ นี่เป็นสิ่งที่เตรียมการล่วงหน้าได้ มหาวิทยาลัยรามคำแหงอากาศร้อน ใครไม่รู้บ้าง ท่านแค่โทรหา The Mall Group ขอไปจัดในเดอะมอลล์บางกะปิได้ไหม แก้ปัญหาได้แต่ไม่เห็นทำ

ประเด็นที่ 2 การจ่าหน้าซองจดหมายผิด มองเห็นอยู่แล้วว่ามีโอกาสผิดพลาดได้ แล้วก็ผิดจริง ผิดไม่พอ ประชาชนฉลาดกว่า ประชาชนเตือนแล้วว่าผิด เจ้าหน้าที่ยังบอกว่า “ไม่ ถูกแล้ว” หลายเขตประชาชนทักท้วง แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมยังคิดว่าตัวเองทำถูกอยู่ ผมไม่ได้ตำหนิเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ แต่ไม่มีใครอธิบายให้เจ้าหน้าที่เลยว่าซองนี้คืออะไร ตามความเข้าใจมันง่ายมาก เพราะนี่คือการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต คนไม่สะดวกกลับบ้าน สุดท้ายซองนี้ต้องเดินทางด้วยไปรษณีย์กลับไปที่เขต เพื่อไปนับที่เขต แต่เจ้าหน้าที่ไม่มีความรู้พอ แล้วเจ้าหน้าที่เขียน เขตไหน? ก็เขียนเขตที่เจ้าหน้าที่นั่งอยู่ตรงนั้น ประชาชนทักท้วงเสร็จ แต่เขาก็บอกว่าถูกแล้ว ซึ่งมันก็วนมาส่งที่เดิม แล้วจะเลือกตั้งนอกเขตทำไม

ประเด็นที่ 3 กกต. ได้ออกแบบระบบการรายงานผลคะแนนใหม่ ที่ใช้เป็นครั้งแรก ปี 2562 เราพบการรายงานคะแนนผิดพลาด ล่าช้า มีปัญหา และไม่มีคำอธิบายมาจนถึงทุกวันนี้ ปีนี้ กกต. จึงคิดว่าถ้ารายงานด้วยเทคโนโลยี เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติซึ่งอาจจะเป็นชาวบ้าน อาจจะเป็นข้าราชกระทรวงมหาดไทย อายุ 60 ปี ที่ถูกขอร้องให้มาทำหน้าที่กัน ก็จะใช้เทคโนโลยีไม่เป็น จะกรอกผิด ล่าช้า มีปัญหาอีก เขาจึงไม่ใช้เทคโนโลยีแล้วกัน

 

 

ระบบการรายงานคะแนนของปีนี้ ทุกหน่วยนับคะแนนจนเสร็จแล้วจะมีเอกสารที่เรียกว่า ใบ ส.ส. 5/18 สรุปทุกอย่าง แล้วใบนั้นจะทำเป็น 3 ชุด คือ ชุดที่ 1 ติดไว้หน้าหน่วย ชุดที่ 2 ใส่ไว้ในหีบ และชุดที่ 3 จะถูกนำส่งจากหน่วยไปที่สำนักงาน กกต. เขต ในห้องสำนักงาน กกต. เขต จะมีเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งไม่รู้ว่ากี่คน และไม่รู้ว่าชื่ออะไรบ้าง รับใบเหล่านี้มาแล้วพิมพ์ลงไปในเทคโนโลยีที่เรียกว่า Google Drive แล้วถึงจะส่งให้สื่อมวลชน เรานั่งอยู่บ้านดูทีวีแล้วรู้ว่าใครชนะ

ระบบนี้มีข้อดี และข้อเสีย อย่างละ 3 ประการ

ข้อดี 3 ประการ ได้แก่

  • ข้อที่ 1 คือ คนกรอกน้อยลง แปลว่าคนจะทำผิดได้มีน้อยลง และกรอกอยู่ในห้องที่ไฟสว่างก็น่าจะผิดน้อยลง 
  • ข้อที่ 2 คือ ใช้ Google Drive คงไม่ล่ม เราเชื่อมั่นใน Google Drive มากกว่าเชื่อมั่นในแอปพลิเคชันที่ กกต. จะเขียนขึ้น
  • ข้อที่ 3 คือ ตามระเบียบเขาบอกว่าภายใน 5 วันหลังจากเลือกตั้ง เขาจะเอาภาพถ่าย ส.ส. 5/18 ทุกใบขึ้นเว็บไซต์ของ กกต. จังหวัด ซึ่งดี แต่ขอทักท้วงว่าเว็บไซต์ กกต.จังหวัด ไม่ได้อัปเดตมาตั้งแต่ปี 2562 อย่างระเบียบ กกต. เขาสั่งว่าสถานที่นับคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าให้ประกาศเขตใครเขตมัน กกต. เขตจะประกาศเขตไหนก็ประกาศ ไปดูเว็บไซต์แต่มันไม่มีเลย

ผมยังตั้งคำถามว่า 5 วัน หลังเลือกตั้งให้โอกาสว่าเขาอาจจะทำก็ได้ เพราะระเบียบเขียน 5 วัน หลังจากเลือกตั้ง คะแนน ส.ส. 5/18 จะขึ้นจริงหรือเปล่า เดี๋ยวจะไปลองดู

ข้อเสีย 3 ประการ ได้แก่

  • ข้อที่ 1 คือ การที่คนกรอกมีจำนวนน้อยลงนั้นดีในแง่ที่ผิดพลาดน้อย แต่ถ้ากระบวนการกรอกนั้นโปร่งใส พอมือน้อยลงแทนที่เราจะจับมือใครดมได้ แต่พอไม่บอกว่าคนที่เป็นคนกรอกเป็นใคร ทำงานที่ไหน เข้าไปดูไม่ได้ กระบวนการนี้ จากที่ดีคือถ้าผิด/ถูก จะรู้ว่าใคร กลายเป็นไม่รู้แล้วว่าใคร และไม่รู้ว่ากรอกตรงหรือเปล่า ถ้ากรอกแล้วผลออกมา บางคนได้เยอะผิดปกติ หรือน้อยกว่าปกติ เราก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะใคร
  • ข้อที่ 2 กกต. ประกาศแล้วว่าจะรายงานผลตั้งแต่ 18.30-23.00 น. แต่ 1.30 ชั่วโมงก่อนหน้านั้นไม่มีคะแนน แต่ 23.00 น. จะต้องเสร็จ ถ้าไม่เสร็จเขาผิดคำมั่นสัญญา ไม่ได้เขียนในกฎหมายแต่เขาประกาศเช่นนี้ โดยคะแนนที่เราเห็นในคืนวันที่ 14 พฤษภาคมไม่รวมบัตรเสีย และไม่รวมบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน เขาไม่ได้บอกเหตุผลว่าอีก 2 ช่องทำไมเขาไม่ใส่ลงไป เขาจะเอา ส.ส. 5/18 มายื่นให้ที่สำนักงาน กกต. เขต
  • ข้อที่ 3 เมื่อสำนักงาน กกต. เขต รับมาแล้วกรอกลงไป คำถามคือทำไมไม่กรอกไปทีเดียวเลย รออะไร?

ในคืนวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม เรารับประกันได้ว่า กกต. จะรายงานผลที่ 94% แล้วหยุด แต่ทุกหน่วยนับเสร็จแล้ว คะแนน 100% เป็นกระดาษเดินทางมาถึง กกต. เขต เรียบร้อย แล้วอีก 6% คือประมาณ 2,000,000 กว่าคะแนน เดี๋ยวเขานับเสร็จเรียบร้อยแล้วจะแจ้งให้ทราบทีหลัง

ผมก็ไม่รู้ว่าทำไมเขาทำอย่างนั้น แต่ผมรู้ว่าปี 2562 เรามีประสบการณ์ไม่ดี เราไม่ค่อยเชื่อมั่นกับผลที่ออกมา แล้วเราก็มีประสบการณ์จากวันที่ 7 พ.ค. 2566 มาตอกย้ำว่า เขาไม่ได้พยายามทำอะไรให้ดีขึ้น เขาไม่ได้จัดการระดับโครงสร้างให้ดี แล้วก็ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติไปเผชิญเอา

ถ้าทุกอย่างราบรื่น ทุกหน่วยนับเสร็จรายงานผลตอน 20.00 น. แล้วทุกคนรู้คะแนน 100% จบ มันโกงยาก แต่ถ้ามีความไม่เรียบร้อย มีคนไม่เข้าใจ ใบ ส.ส. 5/18 บางทีเดินทางมาด้วยมอเตอร์ไซค์ เกิดรถล้มมาไม่ถึง อันนี้สมมตินะครับ google drive คงไม่ล่ม แต่ถ้ากระบวนการมีความล่าช้า ความผิดพลาด มันมีสิ่งที่อธิบายไม่ได้ คนที่ไม่สุจริตเขาจะกระทำการอยู่โดยแอบหลังม่านของสิ่งที่อธิบายไม่ได้เหล่านั้น ดังนั้นก็เชิญชวนทุกท่านไป protect our vote ปกป้องคะแนนเสียงของทุกคน

 

 

เรารู้ว่าในสภาวะที่บ้านเมืองไม่ปกติ ถ้าเราจะเพียงแค่เข้าคูหาเพื่อกากบาทแล้วคาดหมายว่าคะแนนของเราจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เรามองโลกในแง่ดีเกินไป ถ้าเรารู้ว่าบ้านเมืองยังไม่ปกติ และ กกต. ไม่ได้ตั้งใจทำให้ทุกอย่างเรียบร้อยอย่างเต็มที่ เราออกไปปกป้องคะแนนเสียง 17.00 น. ของวันที่ 14 พฤษภาคม เดินออกไปคูหาใกล้บ้าน ไปดูการนับคะแนนทุกแต้มด้วยตาของท่านเอง ถ้าผิดเล็กน้อย ทักท้วงได้ แก้ไขเปลี่ยนแปลงตรงนั้นให้ทุกอย่างมันถูกต้อง พอถูกต้องเสร็จเรียบร้อย ขอให้ทุกท่านถ่ายภาพกระดานนับคะแนนทุกใบ แล้วส่งมาที่ www.vote62.com

เราต้องการ 100,000 คน ขึ้นไป เพราะเรามีคูหามากกว่า 90,000 คูหา โดยที่ กกต. ไม่ยอมบอกว่าคูหาตั้งอยู่ที่ไหนบ้าง ผมก็บอกท่านไม่ได้ ท่านหาเอง ท่านเดินออกไปดูการนับคะแนน ท่านถ่ายภาพส่งมา เราจะมีคนช่วยคีย์แล้วสู้กับ กกต. ถ้าเขากรอกเสร็จเร็ว ถูกต้อง เรียบร้อยสมบูรณ์แบบและเรากรอกเสร็จเร็ว ถูกต้องเรียบร้อย สมบูรณ์แบบเช่นกัน อันนี้เราเสมอตัว ถ้าเขากรอกช้า มีปัญหา คะแนนไม่มา ภาพที่พี่น้องถ่ายมาเรารู้ก่อนแล้วมันถูกต้องกว่า คราวนี้หลังเลือกตั้งได้เห็นกัน เรื่องใหญ่ เดี๋ยวว่ากัน

 

 

กิจกรรมนี้เราต้องการแรงพี่น้องประชาชนทุกท่าน แล้วเราทำแบบออแกนิค ผมจัดการทุกท่านไม่ได้ ผมไม่ได้บอกว่าใครต้องไปไหน ไปทำอะไรอย่างไร ผมบอกทุกท่านไม่ได้หมด ท่านรู้ว่านับคะแนนตรงไหน ท่านเดินออกไปปกป้องคะแนนเสียงของท่านด้วยตัวเอง

ผมอ่านประวัติศาสตร์มาเล็กน้อย ผมเข้าใจว่าสมัยท่านอาจารย์ปรีดี นำประชาธิปไตยมาใหม่ๆ การเลือกตั้งมีอุปสรรคกว่าทุกวันนี้อีก ยกหีบหนี เปลี่ยนหีบทั้งหีบ ยกหน่วย เอาทหารมา ฯลฯ

เราผ่านอะไรกันมาเยอะ พ่อแม่พี่น้องที่นั่งอยู่ในห้องวันนี้ผมดูแล้วรุ่นพี่ผมทั้งนั้น ผ่านมามากกว่าผม แล้วผมเชื่อว่าเราเห็นพัฒนาการของการเลือกตั้งให้โปร่งใสและเชื่อถือได้มาหลายยุคหลายสมัย แล้วเราเห็นการเลือกตั้งที่ดีขึ้นบ้าง แล้วก็ถอยหลังกลับไปบ้าง อย่างเมื่อก่อนมีกระบวนการยกหีบหนี เพราะเวลาที่เขาเลือกตั้งเสร็จเขาต้องเอาหีบไปรวมนับที่เดียว ก็ยกหีบไปที่อื่นแล้วเอาหีบอื่นมาเปลี่ยน เราเปลี่ยนแปลงกติกาได้ ต้องนับตรงนั้น กาตรงไหน หย่อนตรงนั้น นับตรงนั้นเท่านั้น และนับให้คนดู นี่ก็เปลี่ยนและพัฒนามาบ้าง

ปรากฏว่าปี 2562 นับตรงนั้นแหละ แต่สิ่งที่อธิบายไม่ได้คือ ไปบวกตรงไหน ไปรวมหน่วยอย่างไร แล้วคะแนนออกมาเพี้ยน ปี 2566 เราก็ต้องพัฒนา ถ้าเขาจะเอาไปรวมในห้องที่คนเห็นไม่ได้ เราก็ต้องไปเก็บหลักฐานหน้างานมา เราต้องรวมกันเอง มันก็ต้องสู้กันไปแบบนี้เพื่อให้ระบบการเลือกตั้งมันพัฒนาไปเรื่อยๆ ถึงวันนี้ผมก็เชื่อมั่นว่ากิจกรรมนี้น่าจะมีคนไปร่วมกันเป็นแสน แต่พอหรือเปล่าไม่รู้ แล้วครบทุกหน่วยหรือเปล่าไม่รู้ ผมรับผิดชอบไม่ไหว ผมไม่สามารถจะบอกได้ว่าใครต้องไปหน่วยไหนจนครบแสนหน่วย 

 

 

ผมเป็นมนุษย์ธรรมดา ผมใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย เพราะฉะนั้นก็ต้องกราบขอความร่วมมือทุกท่านช่วยกันเอง ก็ต้องช่วยกันแบบนี้ ท่ามกลางความไม่ไว้วางใจ กกต. ท่ามกลางความไม่พยายามเปิดเผยข้อมูล นี่คือสิ่งที่เราต้องทำ แล้วหลังเลือกตั้ง เรารู้ว่า ส.ว. ยังอยู่ เรารู้ว่าอำนาจต่อรองความพยายามจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยยังอยู่ งานของเรายังไม่หมด แต่ 14 พฤษภาคม นี้ คืองานใหญ่

 

 

รับชมบันทึกการเสวนาย้อนหลัง : PRIDI Talks #20: “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง

 

ที่มา : ยิ่งชีพ อัชฌานนท์. การอภิปรายใน PRIDI Talks #20: “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.30 – 12.35 น. ณ ชั้น 9 สถาบันไทยคดีศึกษา อาคารอเนกประสงค์ 1 ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์