ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

PRIDI’s Law Lectures: ประเทศ แผ่นดิน รัฐ

1
มิถุนายน
2566

Focus

  • “ประเทศ” “แผ่นดิน” หรือ “รัฐ” เป็นชื่อเรียกสภาพแห่งการที่มนุษย์ได้รวมกันและมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีสิทธิและหน้าที่ดังเช่นบุคคลธรรมดาสามารถตกลงกับนานาประเทศอื่นในนามของประเทศนั้นๆ และมีหน้าที่ต้องเคารพตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือตามประเพณีระหว่างประเทศ แต่กระนั้น คำว่าประเทศ แผ่นดิน หรือรัฐ (Etat ในภาษาฝรั่งเศส หรือ State ในภาษาอังกฤษ) นั้น ต่างกับนัยของคำว่า “ชาติ” (Nation) อันหมายความถึงคณะบุคคลซึ่งมีเชื้อสาย พูดภาษาและขนบธรรมเนียมเช่นเดียวกันแต่มิใช่นิติบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ
  • รัฐอาจเป็นรัฐเดี่ยว (Etat simple) ที่หมายถึงรัฐซึ่งการใช้อำนาจสูงสุดทั้งภายนอกภายในได้รวมอยู่แห่งเดียวไม่แยกย้าย เช่น ประเทศสยาม ประเทศญี่ปุ่น ประเทศฝรั่งเศส หรือเป็นรัฐรวม (Etat composé) ที่หมายถึงหลายรัฐได้มารวมกันแต่การใช้อำนาจสูงสุดในแต่ละรัฐย่อยมีความมาก-น้อยต่างกัน เช่นสวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา
  • รัฐอาจมีเอกราชเต็มที่และไม่เต็มที่โดยรัฐที่มีเอกราชเต็มที่อาจใช้อำนาจทั้งภายนอกและภายในโดยไม่ต้องฟังคำบังคับบัญชาของรัฐอื่น เช่น ญี่ปุ่น สยาม จีน เปอร์เซีย ตุรกี ส่วนรัฐที่ไม่มีเอกราชเต็มที่ อาจเป็นได้โดย: (ก) ตกอยู่ในความอารักขา (Etat protégé) ที่อำนาจทั้งภายนอกและภายในส่วนมากตกอยู่แก่รัฐผู้พิทักษ์ เช่น ประเทศเขมร ซึ่งตกอยู่ในความอารักขาของฝรั่งเศส (ข) ส่งบรรณาการให้แก่รัฐอื่น พบมากในทวีปเอเชีย และในทวีปยุโรป เช่น รัฐอางดอร์ (Andorre) (ค) รัฐซึ่งอำนาจภายนอกโดยมากตกอยู่แก่รัฐอื่น แต่บางอย่างมีสิทธิใช้ได้โดยลำพัง ส่วนอำนาจภายในมีเต็มที่ เช่น แคนาดา และแอฟริกาใต้

 

หมายเหตุกองบรรณาธิการ : คำชี้แจงของนายปรีดี พนมยงค์ ในการจัดพิมพ์คำอธิบายกฎหมายปกครอง

เนื่องจาก คำอธิบายกฎหมายปกครองของข้าพเจ้าเป็นคำสอนของข้าพเจ้าในปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฉะนั้นจึงมีข้อความที่พ้นสมัยแล้วหลายประการที่ไม่เหมาะสมแก่สภาพสังคมภายหลัง พ.ศ. 2475 แต่ก็อาจมีหลักการสำคัญที่เป็นแนวประชาธิปไตยที่คุณพัฒน์เลื่อมใส

อย่างไรก็ตาม คำอธิบายกฎหมายปกครอง ของข้าพเจ้านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์แห่งการอภิวัฒน์เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ คือใน พ.ศ. 2474 เป็นปีที่ใกล้กับวาระที่จะทำการอภิวัฒน์ดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงยุติธรรมให้เป็นผู้สอนกฎหมายปกครอง ซึ่งเป็นวิชาใหม่เพิ่งใส่ไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนกฎหมาย ข้าพเจ้าได้ถือโอกาสนั้นทำการสอนเพื่อปลุกจิตสำนึกนักศึกษาในสมัยนั้นให้สนใจในแนวทางประชาธิปไตย และในทางเศรษฐกิจซึ่งถือว่าเป็นรากฐานของสังคม ส่วนกฎหมายเป็นแต่โครงร่างเบื้องบนของสังคมเท่านั้น

“คำปรารภ” ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2513 เพื่อพิมพ์ใน คำอธิบายกฎหมายปกครอง
(พิมพ์ในโอกาสพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจตรี พัฒน์ นีลวัฒนานนท์, 2513)

 

มนุษย์ที่รวมกันอยู่เป็นประเทศจำต้องมีการปกครอง ก่อนที่จะศึกษาถึงระเบียบแห่งการปกครอง เราควรทราบถึงข้อความทั่วไปอันเกี่ยวแก่สภาพแห่งการที่มนุษย์ได้รวมกันอยู่เป็นประเทศนั้นเสียก่อน

ประเทศ แผ่นดิน รัฐ (ฝรั่งเศส Etat อังกฤษ State)

การที่มนุษย์รวมกันอยู่เป็นประเทศและมีรัฐบาลปกครองนี้ ตามนัยแห่งกฎหมายระหว่างประเทศถือว่าการรวมกันเช่นนั้นมีฐานะเป็นนิติบุคคล กล่าวคือมีสิทธิและหน้าที่เหมือนดั่งบุคคลธรรมดาคนหนึ่ง เช่นสิทธิในการมีทรัพย์สิน ในการเข้าตกลงกับนานาประเทศอื่นโดยใช้นามของประเทศนั้นเอง และมีหน้าที่ต้องเคารพตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือตามประเพณีระหว่างประเทศ (ให้ดู คำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลของผู้สอน ณ โรงเรียนกฎหมาย พ.ศ. 2472-2473 และ คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 ถึงมาตรา 1287 พ.ศ. 2471- 2472)

ศัพท์ใช้เรียกนิติบุคคลเช่นนั้นมีอยู่หลายคำ เช่นคำว่า ประเทศ แผ่นดิน รัฐ

แต่ศัพท์เหล่านี้เราจะยืนยันว่า คำไหนถูกกว่าคำไหนยังไม่ได้ กับทั้งความคิดในการสมมติคณะบุคคลที่รวมกันเช่นนี้ เป็นนิติบุคคลนั้นก็พึ่งเกิดขึ้นไม่ช้านัก

คำว่า ประเทศ แผ่นดิน หรือรัฐ ตามนัยที่มุ่งจะให้ตรงกับคำว่า Etat ในภาษาฝรั่งเศส หรือ State ในภาษาอังกฤษนั้น ให้เข้าใจว่าต่างกับนัยของคำว่า Nation ตามกฎหมายฝรั่งเศส หรือซึ่งจะแปลเป็นไทยก็คือ “ชาติ”

ชาติ (Nation) หมายความถึงคณะบุคคลซึ่งมีเชื้อสายอันเดียวกัน พูดภาษาเหมือนกันขนบธรรมเนียมเหมือนกัน แต่คณะของบุคคลเช่นนี้ มิอาจเป็นนิติบุคคลในกฎหมายระหว่างประเทศ เช่นในรัฐที่มีหลายชาติรวมกัน แต่ละชาตินั้นหาได้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศไม่ เช่น ออสเตรียฮังการี[1] ก่อนสงครามรวมกันเป็นรัฐหนึ่งเป็นนิติบุคคลหนึ่ง แต่ชาติออสเตรียและชาติฮังการียังคงมี แต่มิได้นับว่าเป็นนิติบุคคลในกฎหมายระวางประเทศ รัฐใดที่มีฝูงชนชาติเดียวเท่านั้นแล้วความต่างกันในเรื่องรัฐและชาติจึงเกิดขึ้นได้ยาก

รัฐต่างๆ ในโลกนี้มีหลายชนิด และอาจแบ่งแยกพิจารณาได้หลายสถาน

 

ส่วนที่ 1
รัฐเดี่ยวและรัฐรวม

ข้อ 1 รัฐเดี่ยว (Etat simple)

หมายถึง รัฐซึ่งการใช้อำนาจสูงสุดทั้งภายนอกภายในได้รวมอยู่แห่งเดียวไม่แยกย้าย เช่น ประเทศสยาม ประเทศญี่ปุ่น ประเทศฝรั่งเศส

ข้อ 2 รัฐรวม (Etat composé)

หมายถึง การที่หลายรัฐได้รวมกัน แต่การใช้อำนาจสูงสุดได้แยกจากกัน สุดแต่มากและน้อย เราอาจสังเกตได้ว่ารัฐรวมนั้นอาจเป็นได้หลายประการ

ก. หัวหน้าประเทศเป็นบุคคลเดียวกัน (Union personnelle)

ทั้งนี้หมายถึงรัฐซึ่งต่างก็ใช้อำนาจสูงสุดของตนเองทั้งภายนอกภายในไม่มีขึ้นแก่กัน แต่หัวหน้าประเทศ เช่น พระเจ้าแผ่นดินเป็นบุคคลคนเดียวกัน เช่น ประเทศเบลเยียมกับประเทศคองโกระหว่าง ค.ศ. 1885 ถึง ค.ศ. 1895 ซึ่งพระเจ้าเลโอโปลที่ 2 เป็นพระเจ้าแผ่นดินเบลเยียมและประเทศคองโกด้วย โดยประเทศคองโกไม่ได้เป็นประเทศราชของเบลเยียม

ข. อำนาจภายนอกร่วมกันแต่อำนาจภายในแยกจากกัน (Union réelle)

เช่น ประเทศนอร์เวย์[2] และสวีเดน ก่อนที่ประเทศนอร์เวย์แยกออกเป็นเอกราชและทุกวันนี้ให้ดูลักษณะของประเทศเดนมาร์ก[3] กับไอซ์แลนด์[4]

ค. รัฐซึ่งได้ร่วมกันมอบอำนาจภายนอกไว้แก่คณะกลางเป็นผู้ใช้แทนในนามของรัฐซึ่งรวมกันนั้น แต่ต่างรัฐ ยังคงเป็นเอกราชเต็มที่ (Confédération des Etats)

รัฐชนิดนี้คล้ายสมาคมระหว่างรัฐ ยังไม่ใช่สหรัฐ (Etat fédéral) ทีเดียว คืออำนาจภายนอกยังคงมีอยู่ เว้นแต่จะต้องมอบหมายให้คณะกลางซึ่งไม่ใช่รัฐบาลกลาง เช่น คอนเฟเดเรชันเยอรมัน ก่อนสถาปนาอาณาจักรเยอรมัน ส่วนรัฐต่างๆ ในสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งยังใช้นามว่าคอนเฟเดเรชันนั้น แต่เดิมก็มีลักษณะเช่นนั้นจริง แต่บัดนี้ได้กลับกลายมามีสภาพคล้ายสหรัฐ (Etat fédéral) มาก

ง. สหรัฐ (Etat fédéral)

สหรัฐ คือหลายๆ รัฐรวมกันตั้งรัฐกลางขึ้นเป็นผู้ถือและใช้อำนาจภายนอก เช่นการต่างประเทศและอำนาจภายในบางอย่าง เช่นการทหาร การไปรษณีย์ ฯลฯ แทนรัฐอื่นๆ ส่วนอำนาจภายในอย่างอื่นนั้นต่างรัฐก็มีอำนาจเต็มที่ เช่นสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

 

ส่วนที่ 2
รัฐเอกราชเต็มที่และไม่เอกราชเต็มที่

ถ้าจะพิจารณาถึงความเป็นเอกราชของประเทศว่าจะเต็มที่หรือไม่แล้ว เราอาจแยกรัฐออกได้เป็น 2 ประเภท

  1. รัฐเอกราชเต็มที่
  2. รัฐไม่เอกราชเต็มที่

ข้อ 1 รัฐเอกราชเต็มที่

รัฐชนิดนี้คือรัฐที่อาจใช้อำนาจทั้งภายนอกภายในได้โดยไม่ต้องฟังคำบังคับบัญชาของรัฐอื่น เช่นในทวีปเอเชีย[5] มี ประเทศญี่ปุ่น สยาม จีน เปอร์เซีย ตุรกี ส่วนการเกรงใจกันในระหว่างประเทศนั้นอาจมีได้ แต่เมื่อไม่ปรากฏโดยเปิดเผยว่ารัฐใดจะต้องฟังคำบังคับบัญชาของรัฐอื่นแล้ว ก็ยังถือว่ารัฐนั้นเป็นเอกราชเต็มที่

ข้อ 2 รัฐไม่เอกราชเต็มที่

รัฐซึ่งมีความเอกราชไม่เต็มที่นั้นอาจเป็นได้โดยหลายสถาน

ก. โดยตกอยู่ในความอารักขา (Etat protégé) อำนาจทั้งภายนอกภายในส่วนมากตกอยู่แก่รัฐซึ่งเป็นผู้พิทักษ์ เช่นประเทศเขมร ซึ่งตกอยู่ในความอารักขาของประเทศฝรั่งเศส

ข. รัฐซึ่งต้องส่งบรรณาการให้แก่รัฐอื่น

รัฐเช่นนี้ในสมัยโบราณมีมากในทวีปเอเชีย ในสมัยนี้ในทวีปยุโรปยังมีบ้าง เช่น รัฐอางดอร์ (Andorre) ซึ่งอยู่ระวางสเปน[6] กับฝรั่งเศส ต้องชำระเงินปีละ 960 แฟรงก์ให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส และ 460 แฟรงก์แก่สังฆราชอือร์เจล[7]

ค. รัฐซึ่งอำนาจภายนอกโดยมากตกอยู่แก่รัฐอื่น แต่บางอย่างมีสิทธิใช้ได้โดยลำพังเอง ส่วนอำนาจภายในมีเต็มที่ (Dominion) รัฐชนิดนี้ เช่น แคนาดา[8], แอฟริกาใต้, นิวซีแลนด์ ฯลฯ ซึ่งใช้อำนาจภายนอกบางอย่าง เช่นการเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติ

ง. นอกจากนี้การไม่เป็นเอกราชเต็มที่ยังอาจมีอีกหลายอย่าง มากบ้าง น้อยบ้าง ซึ่งควรศึกษาโดยละเอียดในกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

หมายเหตุ :

  • ตั้งชื่อบทความใหม่โดยกองบรรณาธิการ
  • ปรับอักขรวิธีเป็นปัจจุบัน

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์, “ประเทศ แผ่นดิน รัฐ,” ใน คำอธิบายกฎหมายปกครอง (พระนคร: สำนักงานทนายพิมลธรรม, ม.ป.ป.) น. 25-29.

     

    [1] ต้นฉบับเขียนว่า เอาสเตรียฮุงการี

    [2] ต้นฉบับเขียนว่า นอรเวย์

    [3] ต้นฉบับเขียนว่า ดันมาร์ก

    [4] ต้นฉบับเขียนว่า อิสแลนด์

    [5] ต้นฉบับเขียนว่า อาเซีย

    [6] ต้นฉบับเขียนว่า สเปญ

    [7] ต้นฉบับเขียนว่า อืร์เจล

    [8] ต้นฉบับเขียนว่า แคนนาดา